fbpx
สีจิ้นผิงอ่านหนังสืออะไร?

สีจิ้นผิงอ่านหนังสืออะไร?

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

ทุกๆ ปี ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จะกล่าวอวยพรปีใหม่แก่ประชาชนจีน โดยถ่ายทอดสดจากห้องทำงานในทำเนียบประธานาธิบดี

สิ่งหนึ่งที่ชาวเน็ตจีนไม่เคยพลาด ก็คือ การขยายภาพชั้นหนังสือด้านหลังโต๊ะทำงานของสีจิ้นผิง เพื่อมาวิเคราะห์กันในโซเชียลมีเดียว่า ท่านประธานสีช่วงนี้อ่านหนังสืออะไรบ้าง?

ผู้นำของจีนมักระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นและความชอบส่วนบุคคล ทำให้คนจีนมักต้องคาดเดาหรือวิเคราะห์จากสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ชั้นหนังสือของท่านผู้นำก็กลายมาเป็นสิ่งหนึ่งที่ชาวจีนให้ความสนใจ โดยเฉพาะคนจีนที่ชอบอ่านหนังสือ และกำลังหาหนังสือใหม่ๆ อ่านไม่ให้ตกเทรนด์

สีจิ้นผิงอ่านหนังสืออะไร?

เรื่องที่คนฮือฮากันมากในปีนี้ ก็คือ บนชั้นหนังสือท่านผู้นำ มีหนังสือเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) อยู่ถึง 2 เล่มด้วยกัน โดยเป็นหนังสือแปลจากภาษาอังกฤษ สะท้อนความมุ่งมั่นของผู้นำจีนที่จะขับเคลื่อนให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกด้านเทคโนโลยี AI ภายในปี ค.ศ. 2025 โดยรัฐบาลจีนทุ่มและส่งเสริมงบวิจัยด้านนี้ไม่อั้น เพราะเชื่อว่าผู้ใดกุมเทคโนโลยี AI ได้ ผู้นั้นกุมอนาคต

หนังสือเล่มแรกชื่อ The Master Algorithm: How the Quest for the Ultimate Learning Machine Will Remake the World ของ Pedro Domingos (พิมพ์ครั้งแรก ปี ค.ศ. 2015) ซึ่งเป็นหนังสือที่ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ AI และผลกระทบต่อธุรกิจและสังคม โดย Bill Gates เองก็เคยแนะนำให้อ่านเล่มนี้

The Master Algorithm: How the Quest for the Ultimate Learning Machine Will Remake the World ของ Pedro Domingos

ส่วนอีกเล่มคือ Augmented: Life in the Smart Lane ของ Brett King (พิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ. 2016) เป็นหนังสือที่พยายามฉายภาพอนาคต 25 ปี ต่อจากนี้ ซึ่งผู้เขียนบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่จะพลิกโฉมหน้าโลกยิ่งกว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วง 250 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี 4 ด้าน ได้แก่ Artificial Intelligence, Experience Design, Smart Infrastructure และ Health Tech

Augmented: Life in the Smart Lane ของ Brett King

นอกจากนี้ ชั้นหนังสือของสีจิ้นผิง ยังมีหนังสือด้านเศรษฐกิจการเมืองที่น่าสนใจหลายเล่ม โดยเว็บข่าวด้านเศรษฐกิจของจีนได้เลือกมารายงาน 5 เล่ม ทั้งหมดเป็นหนังสือแปลจากต่างประเทศ

เล่มแรก คือ Capital in the Twenty-First Century ของ Thomas Piketty (พิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ. 2014) ซึ่งนับว่าน่าสนใจมากที่เล่มนี้อยู่บนชั้นหนังสือของสีจิ้นผิง เพราะเป็นหนังสือที่พยายามวิเคราะห์ต้นรากปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนที่กว้างมากขึ้นทุกทีในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำก็เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมจีนเช่นกัน

Capital in the Twenty-First Century ของ Thomas Piketty

เล่มที่สอง คือ Capital and Collusion: The Political Logic of Global Economic Development ของ Hilton L. Root (พิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ. 2005) ซึ่งเป็นหนังสือที่วิเคราะห์ว่าเหตุใดประเทศกำลังพัฒนาจึงไม่สามารถสะสมทุนได้ดังเช่นประเทศพัฒนาแล้ว โดยเป็นการวิเคราะห์จากมุมมองสถาบันและแรงจูงใจทางการเมือง

Capital and Collusion: The Political Logic of Global Economic Development ของ Hilton L. Root

เล่มที่สาม คือ Money Changes Everything: How Finance Made Civilization Possible โดย William N. Goetzmann (พิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ. 2016) ซึ่งเป็นหนังสือที่อธิบายประวัติศาสตร์ของระบบการเงินโลก เพื่อตอบคำถามว่าเหตุใดระบบการเงินจึงเป็นกลไกขับเคลื่อนโลกสมัยใหม่

Money Changes Everything: How Finance Made Civilization Possible โดย William N. Goetzmann

เล่มที่สี่ คือ Theorists of Economic Growth from David Hume to the Present โดย W.W. Rostow (พิมพ์ครั้งแรก ปี ค.ศ. 1992) ชาวเน็ตจีนหลายคนให้ความสนใจกับเล่มนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นเล่มที่หนาที่สุดในชั้น จึงโดดเด่นอย่างชัดเจนในภาพของสีจิ้นผิง เล่มนี้เนื้อหาค่อนข้างหนัก แม้แต่การแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาจีนก็ต้องอาศัยทีมนักวิชาการด้านเศรษฐกิจการเมืองชั้นนำของจีน เรียกได้ว่าเป็นหนังสือคลาสสิกเล่มหนึ่งในวงวิชาการเศรษฐกิจการเมือง

Theorists of Economic Growth from David Hume to the Present โดย W.W. Rostow

เล่มที่ห้า คือ The Gray Rhino: How to Recognize and Act on the Obvious Dangers We Ignore ของ Michele Wucker (พิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ. 2016) ชาวเน็ตจีนมองว่าท่านผู้นำสีจิ้นผิงคงกลัววิกฤตในจีนจะปะทุโดยไม่ทันตั้งตัว (ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเมืองหรือเศรษฐกิจ) หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับภัยร้ายในสังคมที่คนเราน่าจะคาดเดาได้ แต่กลับทำเป็นหลงลืมหรือมองไม่เห็น จนภัยเงียบค่อยๆ ก่อตัวเป็นวิกฤตลุกลาม เล่มนี้ยังเป็นหนังสือแปลที่ขายดีเป็นอันดับ 1 ของประเทศจีนในปีที่ผ่านมาอีกด้วย

The Gray Rhino: How to Recognize and Act on the Obvious Dangers We Ignore ของ Michele Wucker

นอกจากหนังสือด้านเทคโนโลยี และด้านเศรษฐกิจแล้ว ชั้นหนังสือของสีจิ้นผิง ยังมีหนังสือคลาสสิกจำนวนมาก หนังสือคลาสสิกภาษาจีน มักเป็นวรรณคดีจีน หนังสือประวัติศาสตร์ ตำราพิชัยสงคราม ส่วนหนังสือคลาสสิกของต่างชาติ (ฉบับแปลจีน) ได้แก่ War and Peace, The Old Man and the Sea, The Odyssey, Les Miserables เป็นต้น

สังคมจีนตั้งแต่โบราณเป็นสังคมที่ยกย่องนักอ่านและนักเรียน ในระบบวัฒนธรรมขงจื๊อ ชนชั้นสูงที่สุดของสังคม คือ ปัญญาชนที่มีการศึกษาและรอบรู้วรรณกรรมคลาสสิก ด้วยรากฐานทางวัฒนธรรมเช่นนี้ เราจึงเห็นคนจีนในปัจจุบันสนใจหนังสือคลาสสิกทั้งของจีนและตะวันตก หนังสือคลาสสิกสำคัญของตะวันตกล้วนมีแปลเป็นภาษาจีน และหาได้ตามร้านหนังสือทั่วไป นอกจากนั้น คนจีนเองก็ยังสนใจหนังสือใหม่ๆ ที่เป็นเทรนด์ความรู้ในโลกยุค 4.0 สอดรับกับสังคมจีนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากชั้นหนังสือของสีจิ้นผิง ก็คือ หนังสือด้านการเมืองเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ในชั้นหนังสือตามภาพ สีจิ้นผิงมีหนังสือคลาสสิก เพื่อแสดงความเป็นปัญญาชน มีหนังสือเกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อแสดงว่ามีวิสัยทัศน์ และมีหนังสือด้านเศรษฐกิจการเมือง เพื่อแสดงว่าจีนยังจะเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายอันดับ 1 ต่อไป เพื่อไล่ให้ทันความเจริญของตะวันตก (แถมหนังสือส่วนใหญ่ในเรื่องเหล่านี้ยังเป็นหนังสือแปลเพื่อเรียนรู้ข้อคิดและประสบการณ์จากโลกตะวันตกอีกด้วย) นับว่าจีนเปิดกว้างทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องระบบการเมือง

เรื่องชั้นหนังสือของสีจิ้นผิงนี่ดังไปถึงสหรัฐฯ นะครับ โดยสื่อสหรัฐฯ รายงานข่าวนี้ พร้อมเปรียบเทียบกับห้องทำงานของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ไม่มีชั้นหนังสือ และโต๊ะทำงานของทรัมป์ที่ไม่มีหนังสือแม้แต่เล่มเดียว มีแต่กองนิตยสารกองใหญ่ โดยทั้งกองก็ล้วนแต่เป็นนิตยสารที่มีทรัมป์ขึ้นปกหรือมีเรื่องของทรัมป์อยู่ด้านใน!!

MOST READ

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

Life & Culture

8 Sep 2021

คนกระโปกแห่งยุคสมัย 199x ทำไมเด็กเจนวายไม่ยอมโต

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงสาเหตุสำคัญว่าเพราะอะไร ‘ชาวมิลเลนเนียลส์’ ถึงไม่อาจเติบโตได้อย่างที่ใจหวัง

พิมพ์ชนก พุกสุข

8 Sep 2021

Life & Culture

24 Dec 2018

‘สิงโตนอกคอก’ กับมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล เขียนถึงเรื่องสั้น ‘สิงโตนอกคอก’ ของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ที่ตั้งคำถามกับประเด็นจริยธรรม เชื่อมโยงกับมุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล

24 Dec 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save