fbpx

เยือนอเมริกาในเวลาประกาศอิสรภาพจากโควิด (1) – วิลเลียมสเบิร์ก เมืองหลวงแห่งแรกของเวอร์จิเนีย

ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้เขียนซึ่งพิจารณาตัวเองแล้วว่าเป็นผู้ชายวัยฉกรรจ์อายุสามสิบกลางๆ ไม่มีโรคประจำตัวอื่นใด ดูท่าโอกาสที่จะได้คิวรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไทยคงเป็นไปได้ยาก ผนวกกับการไม่ได้ออกเดินทางไปต่างประเทศมาปีกว่า ก็เริ่มรู้สึกอึดอัด ไม่มีเรื่องจะเขียน แถมวีซ่าท่องเที่ยวอเมริกาที่มีอยู่เดิมก็ยังไม่หมดอายุ และเมื่อพลิกไปดูหน้าหนังสือเดินทางเล่มใหม่ที่ว่างเปล่าเลยตัดสินใจเดินทางไปฉีดวัคซีนที่สหรัฐอเมริกา แทนที่จะรอแบบไม่เห็นอนาคตอยู่ที่เมืองไทย

ต้องเล่าก่อนว่าในช่วงที่เตรียมเดินทาง สถานการณ์โควิดในสหรัฐอเมริกาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการฉีดวัคซีนที่ได้ผล จนประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมประกาศอิสรภาพจากโรคโควิด-19 ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2021 และมีแผนจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่

ด้วยเหตุนี้ แผนการเดินทางของผู้เขียนจึงวางไว้ให้สอดคล้องกับงานฉลองประกาศอิสรภาพของอเมริกา และไหนๆ ก็ได้ไปเยือนอเมริกาในช่วงเวลาสำคัญทั้งที เลยถือโอกาสนี้ตามย้อนรอยการตั้งถิ่นฐานของชาวอาณานิคมดั้งเดิมก่อนจะเป็นอเมริกาตามประวัติศาสตร์ไปด้วยเสียเลย โดยเฉพาะในรัฐเวอร์จิเนียที่ได้รับสมญานามว่าเป็น ‘มารดาของประธานาธิบดี’ เพราะมีเมืองเก่าแก่และประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับเสรีภาพและการประกาศอิสรภาพของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นอาณานิคมเจมส์ทาวน์ ยอร์กทาวน์ อ่าวเชซาพีก ริชมอนด์ โดยเมืองหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางการปกครองในยุคก่อน ที่ถือว่าเป็นเมืองโบราณซึ่งเก็บบรรยากาศยุคแรกตั้งอาณานิคมได้ดีที่สุดคือ วิลเลียมสเบิร์ก (Colonial Williamsburg)

วิลเลียมสเบิร์กเป็นย่านเมืองเก่าสมัยศตวรรษที่ 17-18 ตั้งอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย ก่อตั้งขึ้นในราวๆ ปี 1699 หลังจากที่อาณานิคมเจมส์ทาวน์ได้ขยายตัวและขยับขึ้นมา เนื่องจากเรียนรู้ที่จะแลกเปลี่ยนค้าขายกับชาวอเมริกันพื้นเมืองเผ่าโพวาตัน จากการเป็นบ้านไร่ปลูกใบยาสูบและอ้อยในชื่อมิดเดิล แพลนเทชัน (Middle Plantation) ในเวลาถัดมา เมืองเล็กๆ ก็ได้ขยายเติบโตจนกลายเป็นเมืองใหญ่

วิลเลียมสเบิร์กจึงเป็นเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นฐานที่มั่นทางทหารและการเมืองการปกครอง เหล่าผู้อพยพจัดตั้งอาณานิคมเพื่อย้ายมาอาศัยอยู่ร่วมกันในเมืองใหม่ที่พรั่งพร้อมไปด้วยทรัพยากร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างอาณานิคมเจมส์ทาวน์ ยอร์กทาวน์ และท่าเรือนอร์ฟอล์กของอ่าวเชซาพีก

ในศตวรรษที่ 18 วิลเลียมสเบิร์กเป็นศูนย์กลางการปกครองและเมืองหลวงของอาณานิคมรัฐเวอร์จิเนีย ภายในเมืองมีอาคารรัฐสภาท้องถิ่น ศาล และยังมี ‘จวนข้าหลวงใหญ่ต่างพระเนตรพระกรรณของกษัตริย์อังกฤษ’ ตั้งอยู่ในเมือง ทำให้การค้าและชีวิตของชาวเมืองรุ่งเรืองตามมาเป็นลำดับ จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอเมริกาขึ้นในปี 1776

ย้อนไปเมื่อปี 1775 ลอร์ดคอร์นวอลลิส ข้าหลวงใหญ่ประจำรัฐเวอร์จิเนีย เกิดความขัดแย้งกับสภาชาวเมือง (Council of the  Burgesses) ในเรื่องการเสียภาษีหลายอย่างและการบังคับให้สละอาวุธ ทำให้เหล่าสมาชิกแกนนำของสภาเมืองแห่งเวอร์จิเนีย เช่น จอร์จ วอชิงตัน (บ้านอยู่ที่เมาท์เวอร์นอน, อาร์ลิงตัน) โทมัส เจฟเฟอร์สัน (บ้านอยู่ที่มอนติเซลโล, ชาร์ล็อตส์วิลล์) หันไปเจรจาเพื่อเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏสิบสามอาณานิคม และร่วมกันลงนามประกาศอิสรภาพต่ออังกฤษ ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 ในที่สุด

เพราะความผิดพลาดของลอร์ดคอร์นวอลลิส ทำให้อาณานิคมที่เคยจงรักภักดีต่ออังกฤษมาโดยตลอดอย่างเวอร์จิเนียหันไปเป็นศัตรู และแม่ทัพที่เก่งกาจที่สุดของเวอร์จิเนีย อย่างจอร์จ วอชิงตัน ก็ได้ตัดสินใจหันปลายกระบอกปืนชี้เข้าใส่กองทัพอังกฤษด้วยเช่นกัน

ในปี 1781 หลังศึกยอร์กทาวน์เสร็จสิ้น ลอร์ดคอร์นวอลลิสพ่ายแพ้ต่อกองทัพภาคพื้นทวีปของสิบสามอาณานิคม ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงก่อตั้งขึ้นอย่างสมบูรณ์และสถาปนาเป็นประเทศที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ด้านอาคารศูนย์กลางการปกครองของอาณานิคมวิลเลียมสเบิร์กอย่างจวนข้าหลวงใหญ่และสภาแคปิตอลถูกเผาทำลายโดยฝีมือของทหารฝรั่งเศสพันธมิตร รัฐเวอร์จิเนียจึงจำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงเข้าไปในฝั่งภาคพื้นทวีปมากขึ้น เพื่อป้องกันการโจมตีของทัพเรือ และกลายเป็นเมืองริชมอนด์ในปัจจุบัน

ทางฝั่งเมืองวิลเลียมสเบิร์กก็เสียความสำคัญทางการเมืองการปกครองไป เหลือไว้เพียงการเป็นเมืองการค้าระหว่างทางจากท่าเรือ แต่เพราะเหตุผลนี้เองที่ทำให้อาคารเก่าแก่ของวิลเลียมสเบิร์กรอดพ้นการเผาทำลายในยุคสงครามกลางเมืองอเมริกา และยืนยงเป็นหลักฐานการก่อตั้งอาณานิคมยุคต้นของอังกฤษในทวีปอเมริกามาจนถึงทุกวันนี้

เขตเมืองเก่าวิลเลียมสเบิร์กได้รับความสนใจบูรณะฟื้นฟูจากกลุ่มองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร และในปี 1993 คุณพ่ออธิการ W.A.R Goodwin เจ้าอาวาสประจำโบสถ์ บรูตัน พาริช เชิร์ช โบสถ์อันเก่าแก่แห่งเมืองวิลเลียมสเบิร์ก ก็ได้รณรงค์หาทุนเพื่อฟื้นฟูวิลเลียมสเบิร์กให้คืนสู่ภาพแห่งความรุ่งเรืองเฉกเช่นในอดีตอีกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานของประวัติศาสตร์และความก้าวหน้าในเสรีภาพของอเมริกา

โดยการฟื้นฟูครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทุนอย่างเงียบๆ จาก จอห์น ดี ร็อกกีเฟลเลอร์ จูเนียร์ ซึ่งคอยซื้อบ้านเก่าที่เจ้าของไม่สามารถซ่อมแซมได้ หรือไม่ประสงค์จะอยู่อาศัยมาฟื้นฟู จนสามารถบูรณะเมืองให้กลับมาเป็นเหมือนสมัยศตวรรษที่ 18 ได้ในที่สุด โดยมีอาคารในเขตเมืองเก่าทั้งหมดกว่า 500 หลัง และแบ่งเป็นอาคารดั้งเดิมบูรณะใหม่ 88 หลัง ซึ่ง ณ เวลานี้ก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกประวัติศาสตร์ของชาติไปเรียบร้อยแล้ว

ในเวลาถัดมา ตระกูลร็อกกีเฟลเลอร์ได้จัดตั้ง ‘มูลนิธิบริหารเขตโคโลเนียลวิลเลียมสเบิร์ก’ เพื่อดูแลทำนุบำรุงและขายตั๋วให้คนทั่วไปได้มาเข้าชมเมืองเก่าแห่งนี้ ภายในเมืองมีการตระเตรียมพนักงานแต่งกายในชุดย้อนยุคอาณานิคมไว้สำหรับบอกเล่าประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น (แอบกระซิบว่าพนักงานทุกคนอินกับบทบาทมาก) เช่นกิจกรรมบอกเล่าประวัติศาสตร์ประจำวัน หรือการขี่รถม้าย้อนยุค ก็สามารถสัมผัสประสบการณ์ดังกล่าวได้ที่นี่

นอกจากนี้บรรดาร้านรวงต่างๆ ตั้งแต่ร้านเสื้อผ้า เครื่องเงิน นาฬิกา ร้านตีเหล็ก ช่างรองเท้า โรงเตี๊ยม ร้านอาหาร ยันร้านน้ำชากาแฟ ก็ถูกทำให้ย้อนกลับไปเหมือนเมื่อสมัยศตวรรษที่ 18 ทั้งหมด รวมถึงยังมีการสร้างอาคารจวนข้าหลวงใหญ่และสภาเมืองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ส่วนกิจกรรมเด็ดที่ทำให้เหล่าผู้มาเยือนต่างตื่นตาตื่นใจก็คงหนีไม่พ้นกิจกรรมทัวร์เล่าเรื่องสยองขวัญในยามค่ำคืน ที่บอกเลยว่าเล่นเอาขนหัวลุกกันสุดๆ !

แต่สำหรับผู้เขียนขอยกตำแหน่ง MVP ประจำเมืองเก่าแห่งนี้ให้กับเหล่าพนักงานที่มาแสดงจำลองประวัติศาสตร์ (historical reenactment) เป็นคนยุคอาณานิคมศตวรรษที่ 18 เพราะนอกจากจะอารมณ์ดี แล้วยังแม่นประวัติศาสตร์ ทุกคนสามารถเล่าเรื่องเสมือนกับว่าตนเองเป็นคนยุคนั้นจริงๆ สาเหตุอาจเป็นเพราะว่าพนักงานส่วนใหญ่ที่มาทำงานพาร์ทไทม์ ล้วนเป็นนักศึกษาจากวิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรี่ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ ที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดอันดับ 2 ของอเมริกา โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1693 ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย หากเราเดินเข้าไปถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น แล้วพวกเขาจะเล่าประวัติศาสตร์ให้ฟังแบบน้ำไหลไฟดับ

โคโลเนียลวิลเลียมสเบิร์กถือเป็นเขตเมืองเก่าดั้งเดิมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกา และยังเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิตผสมผสาน ระหว่างการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และเมืองที่คนสมัยใหม่ใช้ชีวิตเป็นปกติ เช่นในวิทยาลัยวิลเลียมแอนด์แมรี่ทางตะวันออกของเมืองเก่า รวมถึงยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย เป็นเหตุให้เมืองแห่งนี้ได้รับความนิยมลำดับต้นๆ ของรัฐเวอร์จิเนีย ทั้งจากกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักเรียนที่มาทัศนศึกษาจากทั่วอเมริกา

ในช่วงที่ผู้เขียนเดินทางไปท่องเที่ยว ยอดผู้ติดเชื้อของอเมริกาลดลงจนเหลือหลักร้อย บางวันเหลือหลักหน่วย ทำให้งานเทศกาล การจัดคอนเสิร์ต และการเฉลิมฉลองต่างๆ เริ่มกลับคืนมาดังปกติ หน้าร้านค้าติดป้ายยินดีต้อนรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว (Fully Vaccinated) โดยไม่ต้องสวมหน้ากาก ร้านอาหารเองก็เต็มแน่นคึกคักไปด้วยผู้คน และประกาศรับสมัครพนักงานใหม่แทบทุกที่

เช่นในยามเย็นวันเสาร์ของวิลเลียมสเบิร์ก ก็มีงานคอนเสิร์ตเล็กๆ ของวงแจ๊สเครื่องเป่าทองเหลือง โดยนักร้องนำกล่าวเปิดคอนเสิร์ตอย่างอบอุ่นใจว่า

“At last, we have overcome all the hardship to be together again.”

“ในที่สุดแล้ว เราก็ได้ก้าวข้ามความยากลำบากทั้งมวลมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง”

โคโลเนียลวิลเลียมสเบิร์กเดินทางมาได้ง่ายทั้งทางรถยนต์ รถไฟแอมแทรก รถบัสเกรย์ฮาวนด์ โดยใช้เวลาเดินทางจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพียง 2 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น และห่างจากเมืองหลวงของรัฐเวอร์จิเนียอย่างริชมอนด์แค่ 40 นาที ที่นี่มีโรงแรมในทุกราคาให้พัก หรือจะไปเช้าเย็นกลับจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ย่อมได้ เพราะตัวเมืองมีขนาดไม่ใหญ่และสามารถเดินได้ทั่วภายในวันเดียว

หรือหากสนใจอยากศึกษาประวัติศาสตร์อเมริกาเพิ่มเติม ที่นี่ก็ยังเป็นฐานในการสำรวจสามเหลี่ยมประวัติศาสตร์ก่อตั้งอเมริกาอย่าง เจมส์ทาวน์ ยอร์กทาวน์ ได้อีกด้วย โดยเสียค่าเข้าชมเป็นรายวัน หรือหากสนใจพ่วงกับโรงแรมที่พัก ก็มีแพคเกจทัวร์หลากหลายให้เลือกสรรกันตามสะดวก

เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่คนรักประวัติศาสตร์ไม่ควรพลาดจริงๆ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save