fbpx

สยองวิทยา ผวาศาสตร์

มีใครชอบหรือเสพติด ‘ความกลัว’ บ้างไหมครับ?

คนทั่วไปไม่น่าจะชอบความกลัวสักเท่าไหร่ เพราะเป็น ‘อารมณ์ลบ’ ทำให้รู้สึกไม่สบายอกสบายใจ ไม่สบายเนื้อสบายตัว ทำให้เกิดความเครียดขมึงและสยองขวัญสั่นประสาท แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนจำนวนมากที่ชอบดูหนังสยองขวัญที่มีผี ปีศาจ สัตว์ประหลาด และสิ่งลึกลับชวนพรั่นพรึง

มีคำอธิบายอะไรไหมว่า ทำไมคนจำนวนมากจึงชอบเสพความหวาดกลัวและยอมควักเงินจ่ายซื้อความสุขชนิดแปลกประหลาดเช่นนี้

สร้างความสยองให้เป็นศาสตร์

นักจิตวิทยาชื่อ เกลนน์ ดี. วอลเทอร์ (Glenn D. Walters) ระบุว่ามีปัจจัยพื้นฐานอยู่หลายอย่างที่ดึงดูดผู้ชมภาพยนตร์จำพวกนี้ ปัจจัยแรกคือเนื้อเรื่อง บรรดาผู้สร้างภาพยนตร์เชี่ยวชาญในการสอดใส่ความลึกลับ การสืบสวน หรือค้นหาความจริง ความประหลาดใจ และเรื่องชวนช็อกไว้ในเนื้อหา ทั้งหมดนี้สร้างความขมึงเกรียวทางอารมณ์ให้กับผู้ชมตลอดเวลา

นอกจากนี้ ตัวช่วยซึ่งจำเพาะกับศาสตร์การสร้างภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสงเงา เครื่องแต่งตัว การแต่งหน้า เสียงที่สั่นประสาทกระตุ้นอารมณ์ หรือสเปเชียลเอฟเฟกต์ที่สมจริงล้วนมีส่วนร่วมในการเร้าอารมณ์ให้ค่อยๆ นำไปสู่การเผยเรื่องราวไคลแมกซ์ของภาพยนตร์เรื่องนั้นในท้ายที่สุด

และในระหว่างการรับชมหนังสยองขวัญ ประสาทของเราจะตื่นตัวมาก การปรากฏตัวอย่างปุบปับของอะไรก็ตามสร้างความตื่นเต้นได้ไม่มากก็น้อย หรือความเงียบอย่างยาวนานก็กระตุ้นให้เราตื่นตัวได้มากและยาวนานเช่นกัน เพราะในชีวิตจริงคนยุคปัจจุบันแทบจะหาสถานที่สงบเงียบเชียบได้ยากเต็มทีและมีความคุ้นชินกับเสียงพื้นหลังดังๆ อยู่ตลอดเวลา

ความเงียบจึงเป็นอาวุธแบบหนึ่งของหนังผี

แต่ปัจจัยอย่างสุดท้าย เราอาจจะคาดไม่ถึงกันสักเท่าไหร่นัก เมื่อสิ่งที่ล่อหลอกให้เรา ‘อิน’ หรือรู้สึกร่วมไปกับเนื้อหาในหนังคือ การต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์บางอย่างกับชีวิตจริงนอกโรงหนังของเรา เช่น ความกลัวตาย ความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ หรือไม่ก็ความสัมพันธ์ในบางแง่มุมกับเรื่องราวทางสังคม วัฒนธรรม หรือศาสนา

ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น ในประเทศเกาหลีใต้ซึ่งขึ้นชื่อได้ว่ามีการแข่งขันเรื่องการเรียนสูงมากประเทศหนึ่งของโลก เป็นผลให้มีอัตราส่วนการฆ่าตัวตายสูงตามไปด้วย โดยแต่ละปีจะมีนักเรียนชั้นมัธยมฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึกโรงเรียนอยู่เรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีภาพยนตร์เกี่ยวกับเด็กนักเรียนหญิงที่ฆ่าตัวตายแล้วกลับมาแก้แค้นพวกเพื่อนๆ ที่เคยรังแกพวกเธอ โดยปรากฏตัวในลักษณะผีผู้หญิงผมยาว มีใบหน้าซีดขาว ออกมาให้ได้รับชมกันบ่อยครั้ง

หนังทำนองนี้ถือเป็นหมวดหนังทำเงินทีเดียว และคนก็สนใจดูเพราะมีพื้นหลังทางสังคมที่วนเวียนอยู่กับเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

อันที่จริงมีผู้พยายามหาความเชื่อมโยงและพบว่าภาพยนตร์ในแต่ละยุคสะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของยุคสมัยนั้นๆ เช่น อเล็กซ์ อะโก (Alex Ago) แห่ง UCS School of Arts ที่เชื่อว่าภาพยนตร์เรื่อง 28 Days Later สะท้อนความกลัวสมัยใหม่เกี่ยวกับการทดลองทางชีววิทยา ขณะที่ ก็อตซิลล่า – Godzilla ซึ่งสร้างครั้งแรกในปี 1954 ก็สะท้อนให้เห็นความกลัวเรื่องการแผ่รังสีนิวเคลียร์ ซึ่งในเรื่องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนเกิดเป็นก็อตซิลล่าขึ้นมา

หรืออย่างหนังในซีรีส์ Friday the 13th เมื่อแรกสร้างในทศวรรษ 1980 ก็เป็นช่วงเวลาที่เกิดความรุนแรงในสังคมอเมริกันสูงมาก คนทั่วไปต่างอกสั่นขวัญแขวนกับเรื่องฆาตกรต่อเนื่องที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ขณะที่หนังซอมบี้อย่าง The Serpent and the Rainbow ก็สะท้อนความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ ก่อนที่เรื่องของซอมบี้จะถูกนำเล่าใหม่อีกครั้งในยุคปรมาณูผ่านเรื่อง Night of the Living Dead

อาจจะพอสรุปได้ว่า หัวใจของหนังสยองขวัญทุกเรื่องคือ ‘การต่อสู้เพื่อเอาชนะความกลัวตาย’ นั่นเอง

รางวัลแห่งความกลัว

ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ แฮโรลด์ ดอร์กไซฟ์ (Harold Dornsife) แห่ง USC Dornsite College of Letters, Arts and Sciences วิเคราะห์ไว้ว่าเหตุที่เราชอบเรื่องราวสยองขวัญ เพราะเราชอบความแปลกใหม่ที่ฉีกไปจากประสบการณ์ประจำวันที่ซ้ำซากจำเจ ความกลัวจึงเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เบี่ยงเบนเราออกจากเรื่องเดิมๆ ที่พบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

แต่ที่สำคัญคือ เราแน่ใจว่าเราปลอดภัยจากเหตุการณ์สยองขวัญตรงหน้า  

เพราะขณะที่เรากำลังกลัวแต่รู้ว่าอย่างไรก็ปลอดภัยแน่ๆ อยู่นั้น สมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) ที่ควบคุมส่วนอารมณ์ความรู้สึกจะตื่นตัวราวกับกำลังเจอกับเรื่องน่ากลัวในชีวิตจริง (หรือในกรณีของเด็กๆ นั้น การเข้าไปในบ้านผีสิงจึงทำให้กลัวได้อย่างจริงๆ จังๆ เพราะสมองส่วนนี้จะได้รับการกระตุ้นจนถึงขีดสุด)

โดยระหว่างที่เรารับรู้ว่าจะปลอดภัยแน่ๆ เพราะเป็นเพียงการชมภาพยนตร์ ร่างกายจะหลั่งสาร ‘เอนดอร์ฟิน’ ที่ทำให้เกิดความสุขสำราญใจ พร้อมๆ กันนั้นก็ยังหลั่งสาร ‘โดปามีน’ ซึ่งเป็นสารที่เชื่อมโยงกับสมองส่วนศูนย์กลาง เรียกได้ว่าเป็นการให้รางวัลกันแบบสองเด้งเลยทีเดียว

ด้วยเหตุผลข้างต้นนี่เอง น่าจะช่วยอธิบายได้ว่าทำไมวัยรุ่นหรือคนวัย 20 ต้นๆ จึงชมชอบดูหนังตระกูลนี้เป็นพิเศษ เพราะคนกลุ่มนี้มีการหลั่งฮอร์โมนออกมาในปริมาณมาก จึงรู้สึกและเข้าถึงความกลัวและความสุขระคนกันได้อย่างจริงจังมากกว่าช่วงวัยอื่น

นี่ยังไม่นับเรื่องที่วัยนี้ต้องการพิสูจน์ตนเองว่า โตแล้วและไม่กลัวผีหรือสัตว์ประหลาดอีกต่อไป ซึ่งร่างกายก็ออกจะไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่

เส้นแบ่งความสยองขวัญ

เรื่องที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือภาพยนตร์สยองขวัญที่ดีจะมี ‘เส้นแบ่ง’ ที่ชัดเจน กล่าวคือไม่ทำให้สมจริงจนเกินไป คนดูจะต้องรู้ว่าสิ่งที่เห็นอยู่นั้นเป็นเรื่องไม่จริง เพราะเมื่อใดที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกสมจริงมากจนเกินไป ก็จะทำให้เสียอรรถรสไปทันที หรือทำให้เครียดแทนที่จะตื่นเต้นสยองขวัญอย่างที่ควรจะเป็น

ซึ่งเรื่องนี้เคยเกิดกับภาพยนตร์เรื่อง เปรตเดินดินกินเนื้อคน (Cannibal Holocaust) ปี1980 ที่อ้างว่าเป็นการถ่ายทำชนเผ่ากินคน ขณะลงมือทรมาน ข่มขืน และฆ่าคนจริงๆ (ซึ่งไม่เป็นความจริง) ทำให้ผู้ชมจำนวนมากเกิดความรู้สึกขยะแขยงมากกว่าจะเกิดความรู้สึกสนุกไปด้วย  

มีการทดลองที่ทำให้พบว่า เมื่อวัดอัตราการเต้นหัวใจของผู้ชมขณะชมภาพยนตร์สยองขวัญ เหล่าผู้ชมจะมีอัตราการเต้นหัวใจตอบสนองต่อความน่ากลัวเป็นรูปตัวอักษร U กลับหัว ซึ่งแปลความได้ว่า หากหนังสร้างความสะพรึงได้ไม่มากพอ คนก็จะไม่รู้สึกสนุกตื่นเต้นเท่าที่ควร แต่ในทางกลับกันหากมีการกระหน่ำใส่ความสยดสยองเข้าไปจนเห็นความแหวะแบบอล่างฉ่างล้นเกิน เช่นตามในหนังเกรดบีทั่วไปๆ คนก็จะเกิดความรู้สึกว่าไม่สนุกตามมาเช่นกัน

การหาจังหวะจะโคนที่จะใส่ความน่าตื่นเต้น ตกใจกลัวเป็นระยะๆ อย่างไม่มากไม่น้อยจนเกินไปจึงเป็นหัวใจของหนังสยองขวัญ   

สยองจนรู้ว่า…

มีคนรีวิวข้อสรุปเกี่ยวกับหนังสยองขวัญที่ได้จากงานวิจัยมากมายไว้อย่างน่าสนใจ สมควรนำมาเล่าต่อดังนี้ ผู้ชายชมชอบและสนุกกับหนังสยองขวัญได้มากกว่าผู้หญิง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้หญิงมีแนวโน้มจะเกิดความขยะแขยงและความวิตกกังวลใจได้ง่ายกว่าและมากกว่าผู้ชาย

นอกจากนี้ เมื่ออายุมากขึ้น คนทั่วไปจะรู้สึก ‘อิน’ กับหนังสยองขวัญน้อยลง สงสัยว่าเจอความสยองขวัญจากคนด้วยกันจนชาชิน!  

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ เด็กที่รู้จักคุ้นเคยกับวัตถุหรือตัวกระตุ้นความกลัวต่างๆ เช่น สัตว์ดุร้ายอย่างงูหรือจระเข้  จะมีอารมณ์กลัวต่อสิ่งที่เห็นน้อยลง แต่ยังจะสนุกตื่นเต้นไปกับหนังได้ อันที่จริงสนุกมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะไม่ค่อยมีความกลัวมาบดบังแล้ว  

ข้อสรุปที่ผมว่าน่าสนใจที่สุดคือ คนที่มีความรู้สึกร่วม (empathy) กับคนอื่นได้มาก มักสนุกกับหนังสยองขวัญได้น้อยลง ขณะที่คนที่ไม่ค่อยรู้สึกรู้สาความรู้สึกคนอื่น และเป็นคนกลัวง่ายกับกลัวได้มาก จะเป็นกลุ่มที่สนุกไปกับหนังสยองขวัญได้มาก และชมชอบดูหนังประเภทนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้าจะมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่กลัวหนังสยองชนิดที่จะดูหนังทีต้องเอามือมาบังไว้ (ไม่หมด…เหลือรูให้พอมองลอดได้) แต่ก็ยังขยันหาหนังผีมาดูอยู่นั่นเอง  

ยังมีคำถามที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น หนังสยองขวัญส่งผลระยะยาวหรือไม่ และถ้าเป็นผลเสียจะแก้ไขได้อย่างไร หรือหนังสยองขวัญช่วยปลดปล่อยความเครียด และนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างหรือไม่ หรือหนักไปทางทำให้เครียด (แม้จะสนุก) กันแน่ ฯลฯ 

มีความลึกลับดำมืดของหนังสยองขวัญอีกมากให้วิจัยและค้นหาคำตอบครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save