fbpx
พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ของใครกันแน่?

พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ของใครกันแน่?

ดัชนีชี้วัดความสุขประชากรในเมืองขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง ห้างสวยแอร์เย็น รถไฟฟ้าไร้โฆษณา หรือจริงๆ มนุษย์เมืองล้วนต้องการพื้นที่สาธารณะที่เป็น ‘สาธารณะ’ จริงๆ

พื้นที่สาธารณะหมายเลข 0 : สหรัฐอเมริกา

หากเป็นคนที่ไม่ตกข่าวต่างประเทศว่าด้วยการเมืองโลกในขณะนี้มากจนเกินไป คุณจะพบว่าสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาตอนนี้มันช่างเผ็ดร้อน แซ่บกันวันต่อวัน ไม่แพ้ดราม่าของสามเมนเทอร์จากเดอะเฟซไทยแลนด์ทุกเย็นวันเสาร์เลยทีเดียว (แถมยังมีเรื่องให้เมาท์วันต่อวันอีกต่างหาก – มันส์ชนะขาดลอย)

เดี๋ยววันนี้ท่านประธานาธิบดีทรัมป์เซ็นคำสั่งนั้น วันต่อมาประชาชนก็ไปประท้วงตรงนี้ ตั้งแต่สนามบิน ลามไปจนถึงบนท้องถนน เพราะทุกวันคือรันเวย์สำหรับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ราวกับว่าในดีเอ็นเอของชาวอเมริกัน เอะอะไม่พอใจอะไร ก็ตั้งกลุ่มประท้วงกันเสียอย่างนั้น

การประท้วงมันเป็นเรื่องธรรมดาขนาดนั้นเลยเหรอ?

คำตอบคือ…ก็ใช่น่ะสิ!

การประท้วงถือเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตามระบอบประชาธิปไตยที่อยู่ในรากฐานความคิดและการใช้ชีวิตของคนอเมริกันมาแต่ไหนแต่ไร แต่อีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่ทำให้การออกมาเดินขบวนประท้วงเป็นเหมือนเรื่อง ‘ปกติธรรมดา’ คือการใส่ใจพัฒนาและออกแบบพื้นที่สาธารณะภายในเมือง ไม่ใช่แค่ให้ดูเก๋อย่างในฝันของสถาปนิก แต่ยังต้องมี ‘ฟังก์ชัน’ ด้วย

และฟังก์ชันที่ว่า-ก็คือการเป็นพื้นที่ให้ทุกคนมีสิทธิ์ ‘ส่งเสียง’ อย่างที่พวกเขาต้องการ

นิวยอร์กซิตี้

ก่อนเหล่าเพื่อนหญิงพลังหญิงชาวนิวยอร์กจะรวมตัวประท้วงทรัมป์กับแคมเปญ Women’s March ที่เริ่มต้นจากสาวๆ ในวอชิงตันดีซี เหล่าแก๊งดีไซน์เนอร์และสถาปนิกหัวกะทิของนิวยอร์กได้ร่วมกันส่งจดหมายถึงนายกเทศมนตรี Bill De Blasio เพื่อแชร์ไอเดียในการ ‘รีดีไซน์’ พื้นที่สาธารณะของนิวยอร์กเสียใหม่ ให้รองรับกับสิทธิการแสดงออกที่ปลอดภัยของพลเมือง รวมถึงจะทำอย่างไรให้เอื้อต่อการออกมาเดินขบวนของคนที่สนใจ-ให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

ฟังดูไม่ ‘สงบเรียบร้อย’ เอาเสียเลย!

ตัวอย่างข้อเสนอบางส่วนของพวกเขาก็เช่น ให้เมืองสนับสนุนงบประมาณดูแลพื้นที่สาธารณะใหญ่เล็ก เพื่อให้ชาวนิวยอร์กเกอร์มีที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้และเป็นเจ้าของร่วมกัน / ขยายพื้นที่สุดฮิตในการประท้วงให้กว้างและเป็นมิตรกับคนเดินถนนมากขึ้น (เช่นที่ Columbus Circle หรือ Union Square) / เพิ่มการสนับสนุนให้กับระบบจักรยานสาธารณะ ที่เป็นส่วนสำคัญในการเดินขบวนประท้วงมาตั้งแต่ยุค 70s / ขยายถนน 5th Avenue สุดเก๋ให้เอื้อกับการเดินมากขึ้น เพราะนี่คือสัญลักษณ์ของนิวยอร์กซิตี้นี่คุณ!

ทั้งหมดทั้งปวง สรุปสั้นๆ ได้ว่า ข้อเสนอนี้คือการเพิ่มความสำคัญกับ ‘ปฏิสัมพันธ์ของคน’ ลดความคับคั่งของรถราอันเป็นอุปสรรค สร้างคุณค่าคำว่า Freedom of Expression ให้กลายเป็นรูปธรรมด้วยการทำให้มันเกิดขึ้นจริงๆ

อันที่จริงแล้ว ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการสร้างพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสวนหย่อม สวนป่า หรือจัตุรัสกลางเมือง ก็คือเรื่องของสุขภาพ ที่ไม่ใช่สำหรับแค่นักวิ่งหรือคนที่มาเต้นแอโรบิค แต่รวมถึงคนธรรมดาๆ ที่แค่ได้เดินเข้ามาในพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ ก็ช่วยลดความเครียด ทำให้อารมณ์ดีขึ้น แฮปปี้ขึ้น แถมยังช่วยให้มนุษย์ก้มทั้งหลายได้เงยหน้าจากจอมือถือได้อีกต่างหาก (ยืนยันด้วยผลการวิจัยจากสวีเดนและแคนาดา)

สำคัญที่สุด พื้นที่ที่จะได้ผลแบบนั้น ไม่ใช่แค่การเอาต้นไม้ไปแปะเหมือนในเกมเดอะซิมส์ แต่ยังต้องสร้าง ‘คุณค่า’ บางอย่างให้กับผู้คนและเมืองด้วย

สำหรับนิวยอร์กเกอร์และอเมริกันชนทั้งหลาย คุณค่าของพื้นที่ คือการเสริมคุณค่าความเป็นเสรีชนของพวกเขาให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น

จากไคโรถึงเนปิดอว์

ในทางตรงกันข้าม การออกแบบเมืองใช่ว่าจะสร้างขึ้นเพื่อ ‘ทุกคน’ เสมอไป

ประวัติศาสตร์การทำให้พื้นที่สาธารณะของเมืองกลายเป็นพื้นที่แสนขลุกขลัก ไม่เอื้อต่อเสรีภาพการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนมีให้เห็นทั่วไปในประเทศที่ปกครองแบบ ‘เผด็จการ’

แม้จะกว้างในทางกายภาพ แต่ก็แคบเหลือทนในการแสดงออก

จัตุรัสทาฮีร์ ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ มีความหมายว่า จัตุรัสแห่งการปลดปล่อย แต่นับตั้งแต่การปฏิวัติอียิปต์จากระบอบราชาธิปไตยในปี 1952 คำว่า Liberation ของจัตุรัสแห่งนี้ไม่เคยได้แสดงอานุภาพความหมายของมันจนกระทั่งปี 2011 เมื่อการปฏิวัติ (โดยประชาชน) เพื่อโค่นล้มอำนาจของ ปธน. ฮอสนี มูบารัก เป็นผลสำเร็จ

นั่นเพราะมูบารักรู้ว่าพลังของ ‘พื้นที่สาธารณะ’ มีผลโดยตรงต่อพลังจากการรวมตัวของประชาชน

จัตุรัสแห่งนี้ถูกใช้เป็นเพียงวงเวียนให้รถผ่าน มีการสร้างรั้วกั้นไม่ให้ประชาชนได้เดินผ่าน เมื่อรวมกับกฎหมายห้ามชุมนุมในที่สาธารณะของรัฐบาล ยิ่งทำให้จัตุรัสแห่งการปลดปล่อยแห่งนี้ไม่เคยได้ทำหน้าที่ที่แท้จริงของมันเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ตามประสารัฐบาลอำนาจนิยม

ไม่ใกล้ไม่ไกลที่ประเทศพม่า บ้านพี่เมืองน้องของเรา ตัวอย่างของรัฐที่เข้ามาจัดการกับการวางผังเมืองเพื่อเสริมอำนาจของตัวเองมีให้เห็นที่เมืองหลวงใหม่อย่าง เนปิดอว์

อะไรที่ทำให้รัฐบาลทหารพม่าย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปที่เมืองลึกลับแห่งนี้ นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า คำตอบอาจอยู่ที่ปริมาณของคนที่อยู่อาศัยในเนปิดอว์ที่น้อยยิ่งกว่าน้อย จนยากจะลุกฮือขึ้นมาประท้วง หรือถ้าจะมีใครที่เปรี้ยวพอจะสู้ การออกแบบถนนที่กว้าง 20 เลน ขนาบข้างด้วยบ้านของเหล่าผู้มีอำนาจ ไม่มีจัตุรัสหรือพื้นที่ใดๆ ที่จะให้ประชาชนรวมตัว แปลว่าการประท้วงที่เมืองหลวงใหม่แห่งนี้มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก 

แล้วกรุงเทพฯ ล่ะ

หันกลับมามองที่เมืองหลวงของเรา พื้นที่ 1,568.737 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ มี ‘พื้นที่สาธารณะ’ ว่างพอสำหรับการแสดงออกอะไรบ้างไหม

ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพิ่งแถลงข่าวประกาศความสำเร็จในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวท่ามกลางหมู่ห้างสรรพสินค้าและคอนโดมิเนียมได้มากถึง 21,875 ไร่ หรือคิดเป็นพื้นที่ 6.14 ตารางเมตรต่อคน (จากค่ามาตรฐานสากลที่ 15 ตารางเมตรต่อคน)

จริงอยู่ที่ว่า พื้นที่สีเขียวในความหมายของกรุงเทพมหานคร (aka ซับเซ็ตย่อยของรัฐ) หมายถึงพื้นที่ให้ชาวกรุงได้หายใจเต็มปอดมากขึ้น มีที่ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ คลายเหนื่อยจากควันรถยนต์ และเสียงโฆษณาในรถไฟฟ้าได้มากกว่าเดิม พูดอีกอย่างคือ ‘มีความสุข’ ได้มากกว่าเดิม

แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ‘ฟังก์ชัน’ ของ ‘พื้นที่สาธารณะ’ เท่านี้ เป็นฟังก์ชันที่ ‘เพียงพอ’ แล้วหรือยัง หรือเราควรต้องคิดถึง ‘ความสาธารณะ’ ในอีกระดับหนึ่ง คือการเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนทั่วไปสามารใช้เพื่อ ‘ส่งเสียง’ ออกมาได้ด้วย

 

อำนาจที่เข้ามาออกแบบและจัดการพื้นที่สาธารณะ-ควรเป็นอำนาจแบบไหน
และสิทธิขั้นพื้นฐานของเราแต่ละคนในการใช้ ‘พื้นที่สาธารณะ’ ควรเป็นอย่างไร
บางทีนั่นอาจเป็นคำถามที่สำคัญ

 

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ The Secret to a Happy, Healthy City? Places for People to Protest ของ Aarian Marshall จาก Wired, February 10, 2017

-บทความ Public Space for Free Expression : A Letter to Mayor De Blasio จาก Vanalen, 2017

-บทความ A Dictator’s Guide to Urban Design ของ Matt Ford 

-ข่าว กทม.ได้สวนสาธารณะเพิ่ม “อัศวิน” หวังภายในปี 2575 ต้องมีพื้นที่สีเขียว 9 ตร.ม.ต่อคน จาก มติชนออนไลน์ วันที่ 30 มกราคม 2560

-ประกาศ พื้นที่สีเขียวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ จาก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022