fbpx

‘วัฒนธรรมความ(ซึม)เศร้า’ เมื่อความเศร้าเป็นสิ่งฉาบฉวย เก๋ไก๋และขายได้

บ่อยครั้งที่อาการเถลไถลพาเราล่องไปยังโลกกว้างขนาดเท่าฝ่ามือ กินเวลาข้ามวันข้ามคืนที่เอาเข้าจริงอาจมากกว่าเวลานอนทั้งคืนรวมกัน และหนึ่งในจักรวาลกว้างที่ดูดกลืนเวลาไปมากที่สุดคือ TikTok ไถปลายนิ้วมือดูคลิปวิดีโอความยาวไม่เกิน 15 วินาที แต่รู้ตัวอีกทีก็หมดไปครึ่งวันแล้ว

ระยะหลังๆ นี่เองที่เพิ่งมาสังเกตเห็นความ ‘เศร้าสร้อย’ บางอย่าง เป็นความชอกช้ำของคนร่วมยุคสมัยที่บอกเล่าประสบการณ์ร้ายแรงของตัวเองผ่านวิดีโอในแฮชแท็ก #TraumaTok สารพัดเรื่องทรอม่า (trauma) ตั้งแต่ถูกกระทำความรุนแรงใส่ตั้งแต่ยังเด็ก, การโดนกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ไปจนถึงการถูกคุกคามในมิติอื่นๆ ของชีวิต ควบคู่กันมาคือเหล่าแอ็กเคาต์ให้ความรู้เกี่ยวกับอาการทรอม่าหรือผู้ที่มีภาวะแบกรับบาดแผลทางใจ ทั้งอธิบายภาวะต่างๆ ของอาการเบื้องต้นไปจนถึงเชิงลึก

แต่ที่เป็นที่นิยมมากใน TikTok คือการ ‘เล่นเกมหุบนิ้วมือ’ ง่ายๆ ว่าเรามีอาการเข้าข่ายการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ จากภาวะทรอม่า (trauma response) หรือไม่ ด้วยการให้เรายกมือขึ้นมาตามจำนวนที่ต้นทางระบุ เช่น สิบนิ้วหรือแปดนิ้ว แล้วจึง “put a finger down if…” หรือ “เอานิ้วมือคุณลงถ้าคุณมีอาการเหล่านี้…” ก่อนที่เจ้าของแอ็กเคาต์จะค่อยๆ บรรยายเงื่อนไขต่างๆ ของอาการ เช่น เอานิ้วลงถ้าคุณกลัวที่จะเอ่ยปากปฏิเสธผู้อื่น, เอานิ้วลงถ้าคุณชอบทำให้คนอื่นพอใจ, เอานิ้วมือลงถ้าคุณมักอนุญาตให้คนอื่นเป็นคนตัดสินใจ ซึ่งไปๆ มาๆ รู้ตัวอีกทีเราก็หุบนิ้วทั้งหมดลง มองจากต้นคลิป นี่อาจตีว่าเป็นอาการที่เข้าข่ายทรอม่าได้แล้ว

แต่ใช่หรือ มันแค่นั้นจริงๆ หรือ

ก่อนอื่น สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association – APA) นิยามภาวะทรอม่าว่าเป็น “การสนองตอบทางอารมณ์ต่อเหตุการณ์รุนแรงบางอย่าง เช่น อุบัติเหตุ, การข่มขืน หรือการเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติ มักมีอาการช็อกและปฏิเสธความจริงปรากฏในระยะสั้น ขณะที่ในระยะยาวนั้นมักมีภาวะอารมณ์แปรปรวน หวนคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตึงเครียดในความสัมพันธ์ ตลอดจนเกิดอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัวหรือคลื่นไส้”

แชนนอน พาลัส คอลัมนิสต์จากเว็บไซต์ Slate ตั้งข้อสังเกตถึงปรากฏการณ์ขนาดย่อมที่เฟื่องฟูในจักรวาล TikTok ตั้งแต่ปลายปี 2021 ว่าบ่อยครั้งคนที่สร้างคอนเทนต์วิดีโอเกี่ยวกับสภาวะทางอารมณ์และจิตใจนั้นก็ไม่ได้เป็นนักจิตวิทยาโดยตรง แต่อ้างตัวว่าเป็นโค้ชหรือเชี่ยวชาญด้านดูแลสภาพจิตใจผู้อื่น และที่น่าจับตาคือบ่อยครั้งสิ่งที่คนในวิดีโอเหล่านี้ระบุในเกม ‘put a finger down if…’ ก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขหรือผลพวงจากอาการบาดเจ็บทางจิตใจทั้งหมด หากแต่เป็น ‘ปฏิกิริยาตอบสนองทั่วไปเวลาเราเผชิญความเครียด’ ไม่ว่าจะเป็นการอยากเอาใจผู้อื่น, ไม่อยากตัดสินใจบางเรื่อง ฯลฯ ซึ่งนับเป็นการด่วนสรุปไปหากเราจะฟันธงว่าที่เรามีพฤติกรรมดังที่กล่าวมานั้นเป็นเพราะ “เราล้วนมีบาดแผลทางจิตใจด้วยเหตุการณ์รุนแรงอะไรสักอย่าง” และตีความว่ามันคือการตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากภาวะบาดเจ็บทางใจของเรา ซึ่งวิธีการตีความเช่นนี้จะยิ่งส่งผลลบต่อตัวเรามากกว่าผลบวก เนื่องจากถึงที่สุดจะกลายเป็นว่า เราเริ่มทึกทักไปเองว่าปฏิกิริยาแบบมนุษย์ปุถุชนทั่วไปของเรานั้นมีที่มาจากบาดแผลสะเทือนใจบางอย่าง ซึ่งอาจโยงไปสู่ภาวะตึงเครียดในที่สุด (บทความของพาลัสยังชี้ด้วยว่าเหล่า ‘นักวิเคราะห์’ ที่มีชื่อเสียงใน TikTok นั้นสร้างรายได้ไม่มากก็น้อยจากข้อมูลพื้นฐานที่พวกเขานำมาเล่าผ่านคลิปวิดีโอ ในนามของโค้ช, ผู้เชี่ยวชาญหรือนักบำบัด)

และคู่ขนานกันไปกับเหล่าแอ็กเคาต์ที่วิเคราะห์อาการทางจิตใจแล้ว หนึ่งในปรากฏการณ์ที่น่าจับตาคือการที่ผู้คนทยอยกันบอกเล่าเรื่องราวบาดแผลในอดีตของตัวเอง โดยมีท่อนหนึ่งจากเพลง Literally My Life ของศิลปิน อีวา กูโทวสกี ดังเป็นฉากหลัง (ซึ่งตัวเพลงปล่อยมาตั้งแต่ปี 2015 แต่ก็เช่นเดียวกับอีกหลายๆ เพลงที่ได้อานิสงส์จาก TikTok นั่นคือกลับมาดังได้อีกครั้งด้วยการถูกหยิบไปเป็นไวรัลในวิดีโอต่างๆ) ซึ่งเรื่องราวที่อยู่ในวิดีโอนั้นมีตั้งแต่เหตุการณ์เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันตั้งแต่ยังเด็ก, ทะเลาะกับพ่อแม่, ถูกเพื่อนคว่ำบาตร ไปจนถึงเรื่องที่รุนแรงมากๆ อย่างการข่มขืนหรือการฆ่าตัวตาย และที่มองข้ามไม่ได้เป็นอันขาดคือ หลายคนรู้สึกว่าการได้แบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้ทางอินเตอร์เน็ต -ทั้งเล่าอย่างตรงไปตรงมา หรือเล่าผ่านห้วงอารมณ์ขันและบทเพลงต่างๆ- ทำให้พวกเขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไปนัก

“ต้องระลึกเสมอว่าการแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวลงในพื้นที่สาธารณะนั้นมีความเสี่ยง และไม่จำเป็นว่าวิดีโอนั้นจะต้องกลายเป็นไวรัลซึ่งอาจสร้างผลลัพธ์ในเชิงลบที่เราไม่ได้ตั้งใจได้” เจนนิเฟอร์ เกียร์เกล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารที่มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ VICE และแนะนำว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องเข้มงวดเรื่องการดูแลเนื้อหาที่ปรากฏ ระมัดระวังไม่ให้ไปกระทบกระเทือนจิตใจผู้ใช้งานด้วย (อย่างไรก็ตาม โฆษก TikTok เขียนแถลงการณ์ให้ VICE ว่าวิดีโอธีม ‘Literally My Life’ นั้นไม่เข้าข่ายละเมิดนโยบายของแพลตฟอร์ม โดยระบุว่าทางแพลตฟอร์มไม่อนุญาตให้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย แต่อนุญาตให้ผู้ใช้ได้แบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองเพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ผู้อื่น)

คู่กันไปกับมวลเมฆความเศร้าที่ลอยคลุมแพลตฟอร์มต่างๆ ไว้ ปรากฏการณ์หนึ่งที่สำแดงตัวตนชัดเจนคือ ‘ความงดงามของความเจ็บปวด’ หรือการ romanticising mental illness ถ้าคุณท่องโลกออนไลน์มากพอ น่าจะเคยเห็นข้อความสั้นๆ เกี่ยวกับความหม่นเศร้า, การทำลายตัวเอง, ความรวดร้าวของการดำรงชีวิต ฯลฯ ยังไม่นับว่ามีแอ็กเคาต์จำนวนมากที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อโพสต์ข้อความเหล่านี้ -ทั้งข้อความเปล่าๆ วิดีโอ ไปจนถึงภาพล้อหรือ meme- ซึ่งมีผู้ติดตามหลายล้านคน และไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มวลความรู้สึกเช่นนี้ไปเบียดขับให้วิธีคิดแบบ ‘รักตัวเอง’ กลายเป็นเรื่องเฉิ่มเชย (ซึ่งด้านหนึ่ง แนวคิดแบบ #posivibes ก็ชวนให้น่าเหนื่อยหน่ายหัวใจพอกัน เพราะหลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ได้รับความนิยมสูงลิ่ว มันก็มักปรากฏในคราบของความพยายามมองโลกบวกแบบหลอกตัวเองหรือล้นเกิน ซึ่งก็อาจจะมองได้อีกเหมือนกันว่าเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของแนวคิดที่มักถูกเข้าใจผิดหรือใช้ผิดวิธีเมื่อมันได้รับความนิยมมากๆ)

งานวิจัยจากสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) เองก็ชี้ว่าวัยรุ่นอเมริกัน 7 ใน 10 คนคิดว่าปัญหาเรื่องซึมเศร้าและวิตกกังวลคือปัญหาใหญ่ที่สุดที่พวกเขาต้องเผชิญ และชาวอเมริกัน 1 ใน 5 คนเคยมีอาการผิดปกติทางจิต (mental illness) มาแล้ว และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรา -ทั้งผู้ใหญ่ วัยรุ่นและอาจจะรวมถึงเด็กๆ- กำลังเผชิญหน้ากับความเครียดที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ผ่านแรงบีบเค้นทางสังคม ชีวิตและโลก (ซึ่งชวนเครียดขึ้นจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ เอาแค่ต้องรับมือกับความรุนแรงต่างๆ บนโลก ทั้งสงคราม สภาพอากาศ ฯลฯ โดยที่มีรัฐบาลแบบนี้ ความเครียดก็กินพื้นที่ชีวิตไปไม่รู้เท่าไหร่) แต่การ ‘จะเศร้า’ เพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมออนไลน์ซึ่งความเศร้าเป็นร่มใหญ่ที่ดูจะคลุมผู้คนไว้มหาศาล ก็อาจนำไปสู่อันตรายบางประการได้ “ยิ่งกับบางคน โดยเฉพาะถ้าคุณยังเด็ก คุณมักอยากเป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มใหญ่อยู่แล้ว แล้วคนกลุ่มใหญ่ที่ว่าคือคนที่บอกว่าตัวเองกำลังเผชิญความเครียดหรือมีอาการซึมเศร้า อันเป็นอาการที่คุณรู้สึกว่า ไม่ยากเท่าไหร่ (ที่จะเศร้า) เพื่อได้เป็นหนึ่งในพวกเขา” นาตาชา เทรซี นักเขียนเจ้าของหนังสือที่เล่าถึงภาวะไบโพลาร์ของเธออย่าง Lost Marbles ระบุ และที่น่ากลัวคือ มีแนวโน้มที่คนอายุยังน้อยที่แวดล้อมด้วยบรรยากาศเหล่านี้ จะค่อยๆ พาตัวเองดิ่งลึกไปกับอาการต่างๆ ตามที่อ่าน จนถึงที่สุดมันอาจนำพาพวกเขาไปยังเขตแดนของ ‘ความป่วยไข้ทางใจ’ จริงๆ

ยังไม่นับว่าเมื่อ ‘วัฒนธรรมความเศร้า’ ได้กลายเป็นความนิยมแล้ว มันย่อมก่อให้เกิดกระแสธารสินค้าต่างๆ ตามมาไม่สิ้นสุด ทั้งหมวก ผ้าพันคอและเสื้อยืดพิมพ์ลายข้อความเกี่ยวกับความป่วยไข้ดังกล่าว ซึ่งด้านหนึ่งมันชวนให้ตั้งคำถามว่าอะไรทำให้ ‘ภาวะ’ เหล่านี้ขายได้ในฐานะ ‘เครื่องประดับ’ ที่ผู้สวมใส่พอใจจะนิยามตัวตนลงในนั้น โดยที่ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ค่อยปรากฏในความป่วยไข้ลักษณะอื่นๆ บทความ Please Stop Merchandising Mental Illness (หยุดทำสินค้าจากโรคป่วยไข้ทางจิตใจเสียที) โดย รีอันนอน พิกตัน-เจมส์ ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ The New York Times เล่าว่าเธอเจอสร้อยคอที่มีจี้สะกดได้เป็นคำว่า ‘Anxiety’ และ ‘Depression’ ด้วยฟอนต์สวยหรูเรียบกริบ สนนราคา 48 เหรียญฯ (ราว 1,600 บาทไทย) โดยการฉายความป่วยไข้ทางจิตใจเหล่านี้ด้วยความสวยงามหรือเก๋ไก๋นั้นทำให้ความร้ายแรงของภาวะดังกล่าวดูลดน้อยลง (อย่างไม่ควรจะเป็น) และส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาวะความป่วยไข้ดังกล่าวดูกลายเป็น ‘ของขายได้’ ขึ้นมาคือสื่อต่างๆ ที่มักฉายภาพ ‘ผู้ป่วย’ ในลักษณะเดียวกันกับสินค้าเหล่านี้ คือฉาบความทุกข์ตรมไว้ด้วยความเก๋และสวย

“อย่างซีรีส์เรื่อง 13 Reasons Why (2017-2020 ซีรีส์ว่าด้วยกลุ่มนักเรียนที่ต้องเผชิญหน้ากับความตึงเครียดเมื่อนักเรียนหญิงในชั้นคนหนึ่งตัดสินใจฆ่าตัวตาย พร้อมทิ้งเทปเสียงที่บอกสาเหตุการตายของเธอไว้ 13 ม้วน) ซีซันที่สอง มีตัวละครที่เป็นเชียร์ลีดเดอร์สุดป็อปชื่อ เจสสิกา” พิกตัน-เจมส์เขียน “เจสสิกากลับมายังโรงเรียนเพื่อเจอหน้ากับคนที่ข่มขืนเธอ และเพื่อนก็ปลอบเธอด้วยคำว่า ‘เธอสวยและเศร้า คนชอบอะไรแบบนั้นนะ’ ยังกับว่าความเศร้านั้นเป็นเสน่ห์ดึงดูดของเธอ”

“การเป็นผู้ป่วยหรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับความป่วยไข้เหล่านี้แล้วต้องมาเห็นมันถูกฉาบด้วยความเก๋ไก๋ ช่างชวนให้รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันไร้สาระเหลือเกิน ความซึมเศร้าไม่ได้เป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้ชายได้ และก็ไม่ได้เป็นเหมือนที่อยู่ในบทเพลงป็อปพวกนั้น ไม่ได้เป็นภาวะที่แค่ไหลเลื่อนไปตามกระแส หรือเป็นแค่เครื่องประดับที่บล็อกเกอร์ดังๆ สวมใส่ไม่กี่สัปดาห์ โพสต์ลงอินสตาแกรมแล้วลืมเลือนไปในที่สุด”

การ romanticising mental illness จึงไม่เพียงแต่เบียดบังความเจ็บปวดของผู้ป่วย ในมุมกลับนั้นมันอาจยังสร้างความป่วยไข้ให้แก่คนใหม่ๆ ซึ่งถูกแวดล้อมด้วยเรื่องราวเหล่านี้อย่างไม่ได้ตั้งใจ แต่นี่ย่อมไม่ได้หมายความว่าเราควรหยุดพูดหรือหยุดสร้างความตระหนักรู้ต่อประเด็นเหล่านี้ในโลกออนไลน์หรือแพลตฟอร์มใดๆ หากแต่เราต้องระมัดระวังต่อความเปราะบาง อ่อนไหวต่อกลุ่มผู้ชมด้วย เหนือสิ่งอื่นใดคือการเข้าใจว่า ‘วัฒนธรรมความเศร้า’ นั้นอาจเป็นคนละเรื่องกับ ‘ความทุกข์เศร้า’ ที่ผู้ป่วยต้องเผชิญ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save