fbpx
จีนในสมรภูมิ COVID-19 กับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

จีนในสมรภูมิ COVID-19 กับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

 

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ หนึ่งประเทศที่อยู่ในความสนใจของโลกตั้งแต่ช่วงแรกๆ คือประเทศจีน ทั้งในฐานะพื้นที่ต้นการระบาดในอู่ฮั่น จนเป็นที่ตื่นตระหนกไปทั่วโลก และภายหลังก็เป็นประเทศที่ควบคุมรับมือโรคระบาดได้ก่อน นอกจากผลกระทบที่ได้รับจากโรคระบาดแล้ว หลังสถานการณ์คลี่คลาย จีนยังเป็นประเทศที่พบกับความท้าทายในเวทีโลกอีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ หรือกระแสความขัดแย้งกับอเมริกา

วิกฤตโควิดเผยให้เห็นสภาพปัญหาอะไรในจีนบ้าง และจีนรับมือกับความท้าทายเหล่านั้นอย่างไร?

101 สนทนากับ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจทั้งบทเรียนการรับมือโควิดของจีน สังคม การเมือง และเศรษฐกิจของจีนที่เปลี่ยนไป จีนกับการประท้วงในฮ่องกง ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จีน-อเมริกา และศึกทวิตภพ ‘พันธมิตรชานม’ ในรายการ 101 One-On-One Ep.140 : จีนในสมรภูมิ : COVID-19

 

จีนกับการควบคุมโควิด-19

 

พูดในฐานะคนที่ตามข่าวเกี่ยวกับจีนหลายสำนัก และไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา การบอกว่าจีนควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ก่อนประเทศอื่น มองได้หลายมุม ถ้าเราเชื่อว่าการระบาดเริ่มต้นที่จีน จีนก็ถือเป็นประเทศแรกที่รับรู้การเกิดขึ้นของโรคระบาด มีเวลาเตรียมรับมือมากกว่าคนอื่น การควบคุมการระบาดได้ก่อนก็เป็นเรื่องที่คาดว่าเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกัน จีนก็มีประสิทธิภาพในการควบคุมคนตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดแล้ว การเดินทางและการย้ายถิ่นของคนในประเทศจีนค่อนข้างซับซ้อน ความสามารถในการปิดเมืองของรัฐบาลจีนจึงมีประสิทธิภาพกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลก

รัฐบาลจีนกล้าประกาศมาตรการที่เป็นเรื่องใหญ่มากในวัฒนธรรมจีน หนึ่ง สั่งปิดเมือง สอง ห้ามฉลองตรุษจีน โดยไม่มีข้อยกเว้นยิบย่อย บอกว่าปิดเมืองก็คือปิดเมือง ไม่มีตรุษจีนก็คือไม่มีตรุษจีน เป็นมาตรฐานที่เชื่อถือได้สำหรับประชาชน เทียบกับหลายๆ ประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา จะเห็นว่าความเด็ดขาดของรัฐบาลจีนมีมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระบอบการปกครองที่ไม่เน้นความมีสิทธิมีเสียงของประชากรมากเท่าไหร่ (หัวเราะ)

ในขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าจีนเปิดเผยและยอมรับการมีอยู่ของโรคระบาดนี้ค่อนข้างช้า ไม่เปิดให้ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้าไปมีส่วนร่วมมากเท่าที่ควร เท่าที่ฟังมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น การรู้ว่าคนไข้คนแรกติดโรคมาจากที่ไหนสำคัญมาก และจะนำไปสู่ความสามารถในการคิดค้นวัคซีนและการแก้ปัญหา ซึ่งในข้อนี้จีนถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากภายในและภายนอกว่าไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร และมีการปกปิดข้อมูลหลายๆ อย่าง

นักเขียนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของจีน นามปากกาว่า ‘ฟางฟาง’ เป็นคนอู่ฮั่น และเขียน ‘อู่ฮั่นไดอารี่’ ขึ้นมา เป็นเรื่องชีวิตประจำวันในอู่ฮั่น ทั้งการล็อกดาวน์ การจัดการของรัฐบาล และสิ่งที่เกิดขึ้นโรงพยาบาล เขาไม่ได้เขียนด่ารัฐบาลนะ แค่เขียนประสบการณ์ของเขา แต่จะรู้สึกได้ว่าเขาไม่พอใจกับสภาพที่เจอ คือการจัดการช้าและไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ฟางฟางถูกโจมตีอย่างหนักทั้งจากรัฐบาลและสื่อรักชาติ ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่นักเขียนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนมาก่อน เป็นนักเขียนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนอย่างมากด้วยซ้ำ ประเทศอื่นๆ ก็ตั้งคำถามกับเรื่องนี้ และโยงไปถึงความสัมพันธ์ของจีนกับประธานองค์การอนามัยโลก (WHO) คนปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าจีนยังมีเรื่องที่ทั่วโลกทักท้วงและไม่เห็นด้วย นำไปสู่ความขัดแย้งอื่นๆ มากมาย

ในความเป็นประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการมานาน และคงจะเป็นต่อไปอีกนานพอสมควร จีนมีแนวโน้มหวงแหนอำนาจอธิปไตยของตัวเองมาก และไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในเลย เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ถ้าเป็นไปได้เขาก็จะอยากแก้ไขให้เสร็จภายในประเทศ แล้วค่อยนำเสนอข่าวว่าเกิดอะไรขึ้น ก็คาดเดาได้ว่าช่วงแรกที่เกิดโรคระบาดรัฐบาลก็ไม่อยากบอกคนอื่น หมอคนแรกที่ออกมาพูดเรื่องโรคระบาดซึ่งในภายหลังเสียชีวิตก็ถูกรัฐบาลแทรกแซงไม่ให้พูด โลกตะวันตก สหรัฐอเมริกา หรือกลุ่มคนที่เชื่อในระบบเสรีประชาธิปไตยก็มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการปกปิดข้อมูล แต่ถ้ามองจากมุมมองทางวิชาการก็ต้องบอกว่า ในเมื่อเขาเป็นประเทศเผด็จการ เขาก็ต้องทำอย่างนี้แหละ ถ้าไม่อยากให้เขาทำอย่างนี้ ก็ต้องให้เขาเลิกเป็นเผด็จการ

 

โควิด-19 กับการเมืองภายประเทศ: ปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นจุดตายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนหรือไม่?

 

ความมั่นคงอันดับหนึ่งของจีน ณ ปัจจุบันคือความมั่นคงของรัฐบาลสีจิ้นผิง และความยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจ ณ วันนี้ที่อเมริกา สหภาพยุโรป และทุกคนย่ำแย่หมด จีนอาจเป็นประเทศที่ย่ำแย่น้อยที่สุดด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นภัยคุกคามจากภายนอกไม่ใช่สิ่งที่จะล้มรัฐบาลนี้ได้ เขาไม่เปิดให้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้าไป เพราะไม่อยากให้ใครเข้าไปยุ่มย่ามกับกิจการภายในประเทศ ถ้าเป็นไปได้เขาก็ไม่อยากให้เกิดโรคระบาด หรือไม่อยากให้โรคระบาดออกจากจีนไปที่อื่น เพราะมันเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐบาล และอาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากภายในประเทศ

ความชอบธรรมของรัฐบาลจีน ความชอบธรรมของสีจิ้นผิง มาจากสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำเสนอมาโดยตลอดว่า รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้นที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจของจีนให้เจริญรุ่งเรืองมากขนาดนี้ได้ เป็นเพราะการปฏิรูป การเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิง และการพัฒนาตามแนวทางของเติ้งเสี่ยวผิงต่อมาเรื่อยๆ จึงทำให้ประชากรจีนเป็นร้อยล้านคนพ้นจากความยากจน สีจิ้นผิงได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้นำจีนไปได้จนกระทั่งเสียชีวิต เพราะสีจิ้นผิงมากับโครงการแถบและเส้นทาง (BRI) ซึ่งจะทำให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของโลก และถูกคาดหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตขึ้นอีก

ปี 2019-2020 เทรนด์การเติบโตถดถอยของเศรษฐกิจจีนยังไม่หายไป เพราะปี 2019 มีการประท้องในฮ่องกง ปี 2020 มีการเลือกตั้งของไต้หวัน ไช่อิงเหวินชนะเป็นสมัยที่สอง แล้วดูจะปอปปูลาร์ขึ้นกว่าเดิมอีก กระแสการต่อต้านจีนจากภายนอกและจากคนจีนที่อยู่นอกขอบเขตที่รัฐบาลจีนปกครองได้ดูจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศก็ไม่ได้เติบโตมากเท่าทศวรรษ 1990 หรือทศวรรษ 2000

พอปี 2020 มีโควิดเข้ามาอีก ก็กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก เพราะการปิดเมืองหมายความว่าโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องปิด การผลิตทุกรูปแบบต้องหยุดหมด แล้วจีนเป็นโรงงานของโลก ดังนั้น ถ้าถามว่าใครเจ็บจากโควิด-19 มากที่สุด บอกเลยว่าจีน ในสภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตถดถอยอยู่แล้ว การล็อกดาวน์จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตน้อยลงอีก การที่จีนจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับปี 2020 นั้นเป็นไปไม่ได้ ซึ่งอันตรายมาก เพราะตั้งแต่เปิดประเทศ ความชอบธรรมของรัฐบาลจีนอยู่ที่การทำให้ประเทศจีนมั่งคั่งร่ำรวย การทำให้คนจีนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างบ้าคลั่ง แต่เมื่อมันโตช้ามาเรื่อยๆ และปีนี้พบสภาวะถดถอยเนื่องจากโควิดอีก แปลว่ารัฐบาลจีนต้องหาความชอบธรรมอื่นแล้ว ความชอบธรรมเดิมไม่มีเหลือแล้ว

 

จีน-ฮ่องกง: ดัชนีชี้วัดความไม่มั่นใจในอำนาจของจีน

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงเป็นข้อบ่งชี้ที่น่าสนใจ อย่างตอนนี้ก็เริ่มมีการออกมาประท้วงกันอีก ปักกิ่งพยายามสนับสนุนผลักดันให้รัฐบาลฮ่องกงออกกฎหมายเพลงชาติ ให้คนฮ่องกงร้องเพลงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วประชาชนฮ่องกงก็ต่อต้าน ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็มีการจับกุมผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยของฮ่องกงไปเยอะมาก คือแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจีนพยายามใช้ความรุนแรงกับฮ่องกงมากขึ้นอีก ทั้งๆ ที่ฮ่องกงยังอยู่ในสภาพล็อกดาวน์

ทั้งหมดเป็นดัชนีชี้วัดความไม่มั่นใจของรัฐบาลปักกิ่ง เช่นเดียวกับความพยายามผ่านร่างกฎหมายการศึกษาภาคบังคับ ที่ให้เรียนวิชาหน้าที่พลเมืองแบบจีนเมื่อหลายปีก่อน แล้วทำให้เกิดการปฏิวัติร่มขึ้นมา ปีที่แล้วก็มีความพยายามจะผ่านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งก็ไม่สำเร็จ เราคิดว่าสิ่งที่จีนทำไม่ได้เกิดขึ้นมาจากสุญญากาศ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ รัฐบาลจีนก็กลัวว่าฮ่องกงจะไม่ยอมรับอำนาจของจีน แต่มันเกิดจากความไม่มั่นใจในอำนาจของตัวเองก่อน

ความไม่มั่นใจของเขาเกิดจากอะไร ส่วนหนึ่งก็เกิดจากฮ่องกงแหละ เพราะฮ่องกงมีเสรีภาพสื่อ อาจจะทำให้คนจีนที่เข้ามาเรียนหนังสือหรือมาเที่ยวฮ่องกงได้ข้อมูลที่จะทำให้ไม่สนับสนุนรัฐบาลเหมือนเดิม แต่ยิ่งไปกว่านั้น เราคิดว่าความไม่มั่นใจมาจากการที่ในประเทศจีนเองมีเสียงต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ เราค่อนข้างมั่นใจว่าถ้ารัฐบาลจีนควบคุมได้ราบคาบโดยไม่มีใครโต้แย้ง หรือไม่มีใครรู้สึกไม่ปลอดภัยจริง เขาจะไม่มาทำกับฮ่องกงดังที่ผ่านมา

 

จีนในเวทีระหว่างประเทศ และความเป็นมหาอำนาจที่อาจเปลี่ยนไป

 

โควิด-19 ทำให้เกิดวิกฤตในระบบเศรษฐกิจจีน รัฐบาลจีนมีความเชื่อมั่นในตัวเองน้อยลง แล้วนำไปสู่การพยายามควบคุมสถานการณ์ความสัมพันธ์ทางการทูตและการลงทุนกับต่างประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น

20 ปีที่ผ่านมา จีนมีความพยายามในการขยาย soft power ไปทั่วโลก ซึ่งประสบความสำเร็จมากนะ ภาษาจีนคือภาษาที่คนเรียนมากที่สุดในโลก เพราะคนคิดว่าถ้าอยากจะเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยในอนาคต ต่อไปต้องใช้ภาษาจีนทำมาหากิน นักท่องเที่ยวจีนก็เป็นส่วนสำคัญของ soft power มีคนจีนจำนวนมากที่ไปท่องเที่ยว ไปจับจ่ายใช้สอยตามที่ต่างๆ ของโลก และมีนักเรียนจีนที่ไปเรียนต่างประเทศจำนวนมาก คือจีนสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอีกประเทศนึงของโลกในศตวรรษที่ 21 แต่โควิดสั่นคลอน soft power ของจีน เพราะทำให้นักเรียนจีนต้องกลับประเทศ นักท่องเที่ยวจีนออกไปท่องเที่ยวไม่ได้ การทำร้ายคนเอเชียโดยเฉพาะคนจีนในอังกฤษก็เพิ่มสูงขึ้น คือคนจีนในต่างประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิดด้วย

นอกจากนี้ soft power ของจีนก็ผูกติดกับการขยายตัวของ BRI และการขยายตัวของอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีนในพื้นที่ต่างๆ ดังนั้น ประเทศที่แต่เดิมได้ประโยชน์จาก soft power ของจีน อาจจะไม่ได้ประโยชน์ เช่น เคสที่รบกันในทวิตเตอร์ หรือที่ไปทัวร์ลงในเฟซบุ๊กของสถานทูตจีน แง่หนึ่งก็นำไปสู่การที่คนรุ่นใหม่ในไทยหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปจะตั้งคำถามมากขึ้นกับโครงการเขื่อนแม่น้ำโขง ซึ่งแต่ก่อนแต่ไรคนกลุ่มนี้จะไม่เคยสนใจ ไม่พูดถึง หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยก็ต้องเริ่มคิดว่าเราไม่สามารถจะฝากเศรษฐกิจทั้งหมดไว้กับนักท่องเที่ยวจีนได้ เพราะเมื่อวันหนึ่งไม่มีนักท่องเที่ยวจีน เราก็ไปไม่เป็น อาจจะส่งผลให้ในอนาคตประเทศต่างๆ ต้องมีแผนสองแผนสามมากขึ้น สถานการณ์เหล่านี้ก็มีปัญหา เพราะอาจทำให้การขยายตัวและการทำ BRI สำเร็จยากขึ้น

 

จีน-อเมริกา : การเมืองภายในประเทศในคราบการเมืองระหว่างประเทศ

 

ต้องบอกว่าสถานภาพของประธานาธิบดีทรัมป์เองก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น คนไม่ชอบเขาก็เยอะ ทวิตเตอร์ของทรัมป์เป็นสิ่งที่คนอเมริกาจำนวนมากคิดว่าไม่ควรจะไปเอาจริงเอาจัง บางทีก็พิมพ์ผิด บางทีก็พิมพ์ไม่เป็นภาษา นึกจะเขียนอะไรก็เขียน และเป็นเฟคนิวส์เยอะมาก พอเกิดโรคระบาด ประธานาธิบดีทรัมป์และพรรครีพับลิกันก็ไม่สนับสนุนหลักประกันสุขภาพหรือสิ่งที่โอบาม่าและพรรคเดโมแครตพยายามทำมาโดยตลอด ดังนั้น เราต้องมองว่าที่ทรัมป์โทษจีนเรื่องไวรัสเป็นกลยุทธ์ในการป้องกันตัวเองจากการที่รัฐบาลของเขาจะต้องหันไปใช้นโยบายของโอบาม่า เพราะเขาไม่เห็นด้วย

เขาใช้วิธีมาตรฐานที่สุด คือการบอกว่าโควิดคือความผิดของจีน ในขณะที่หลายๆ คนมองว่าการที่อเมริกาจัดการกับโรคระบาดได้ไม่ดี เป็นเพราะทรัมป์ทำลายระบบหลักประกันสุขภาพไปเยอะมาก ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีได้ ทรัมป์ก็ออกมาบอกว่าไม่ใช่ มันเป็นเพราะ ‘chinese virus’ คล้ายกับการบอกว่าอย่ามาเกลียดพรรครีพับลิกัน อย่ามาเกลียดทรัมป์ ให้ไปเกลียดจีนแทน เป็นเทคนิคทางการเมืองที่แบบเบสิกมาก คือรัฐบาลห่วย ก็หาคนอื่นมาให้ด่าแทน ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ทรัมป์พูดก็เป็นการพูดเพื่อการเมืองภายในประเทศ

จีนก็เหมือนกัน จีนพยายามปล่อยข่าวว่าโควิด-19 เกิดมาจากห้องทดลองที่อเมริกา และพยายามจะห้ามไม่ให้ใครเข้ามาตรวจว่าไวรัสเกิดขึ้นในจีนจริงหรือเปล่า เป้าหมายจริงๆ ก็คือการเมืองภายในประเทศ เพราะรัฐบาลจีนไม่ต้องการจะให้คนจีนมองว่ารัฐบาลจีนล้มเหลว ดังนั้นก็ต้องโทษว่าเป็นความผิดคนอื่น ทรัมป์ทำแบบนี้เพราะว่าเดี๋ยวจะมีเลือกตั้งสมัยที่สอง เขาต้องการจะได้รับเลือกตั้ง ฝ่ายจีนก็ทำเพราะเกิดความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลจีนในหมู่คนจีนสูงมาก

ในแง่หนึ่ง การที่การเมืองภายในไปกำกับการเมืองภายนอกหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็อาจจะตอกย้ำให้อเมริกากับจีนที่โลกมองว่าเป็นคู่แข่งกัน ยิ่งเป็นคู่แข่งกันหนักเข้าไปใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็เกิดการหันมาจับมือกันของคู่ที่ประหลาดมาก อย่างกลุ่มเสรีนิยมที่ต่อต้านทรัมป์ อยู่ดีๆ ก็มาเชียร์จีนอย่างกะทันหัน ในจีนเอง กลุ่มคนที่แต่เดิมเชียร์รัฐบาล ก็เริ่มตั้งคำถามกับรัฐบาลจีนได้ ดังนั้น พอสถานการณ์ของความเกลียดชังถูกสร้างขึ้นจากสิ่งที่ไม่มีตรรกะและเหตุผลรองรับ ก็ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกากับจีนแย่ลง ธุรกิจต่างๆ ที่ทำร่วมกันก็ดำเนินต่อไป คนอเมริกันที่มาด่าจีนก็ด่าเพื่อแสดงความสนับสนุนทรัมป์ คนอเมริกันที่ไม่ด่าจีนก็เพราะตัวเองเกลียดทรัมป์ (หัวเราะ) ดังนั้น แม้กระทั่งการแสดงออกในลักษณะนี้ก็เป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศมากกว่า

และจริงๆ ก่อนที่จะมีโควิด-19 ทรัมป์ก็เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนแรกที่ไปคุยกับผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ดังนั้นทรัมป์ก็ไม่ได้ต่อต้านโลกสังคมนิยม เผด็จการ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้เลย เราคิดว่าอย่าคาดหวังให้โควิด-19 ทำให้สหรัฐอเมริกากับจีนรบกันเลย เขาคงไม่รบกัน เพราะต่างคนก็ต่างเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นข้ออ้างเพื่อส่งเสริมจุดยืนทางการเมืองภายในประเทศของตัวเอง

 

นโยบายทางการทูตของจีน และ ‘พันธมิตรชานม’

 

ก่อนหน้านี้มีบทความใน South China Morning Post ที่บอกว่ารัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศจีนมีนโยบายให้นักการทูตของจีนที่อยู่ในต่างประเทศแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวมากขึ้น ถ้าเห็นประเทศไหนมีท่าทีออกมาสนับสนุนไต้หวันหรือผู้ประท้วงในฮ่องกงอย่างเปิดเผย ก็ควรจะมี statement ออกมา คือไม่ต้องเกรงใจ ถ้าในเมืองไทยมีการพูดอย่างเปิดเผยว่าไต้หวันเป็นประเทศ ไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน ทูตจีนในประเทศไทยก็ต้องออกมาพูดอะไรบางอย่าง แต่ไม่นานนี้บทความใน South China Morning Post อีกเหมือนกันที่บอกว่า ที่ปรึกษาระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศจีนบอกให้ชะลอจุดยืนเหล่านี้ก่อน เพราะ ณ จังหวะที่จีนกำลังถูกเพ่งเล็ง หรือในฐานะที่หลายคนเชื่อว่าจีนเป็นผู้เผยแพร่โควิด-19 การแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวหรือก้าวร้าวเกินไปจะทำร้าย soft power ของจีน

ในบทความดังกล่าวของ South China Morning Post เขาพูดถึงสถานการณ์ในออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ซึ่งนักการทูตของจีนในประเทศเหล่านี้ออกมาแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อต้านรัฐบาลประเทศนั้นๆ เขาไม่ได้พูดถึงเรื่องพันธมิตรชานมเลย ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วไทยไม่ได้มีความสำคัญในโลกนี้เท่าไหร่

สิ่งที่เรารู้สึกมาตั้งนานแล้วคือ พันธมิตรชานมและสงครามในทวิตภพที่เกิดขึ้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลไทยมากกว่ารัฐบาลจีน เพราะแม้วัยรุ่นจีนจะทำผิดกฎหมายด้วยการลักลอบเล่นทวิตเตอร์ แต่เขาก็แสดงความรักชาติมาก เขาด่ารัฐบาลไทย หาวิธีการให้คนไทยเจ็บช้ำน้ำใจใหญ่เลย ดังนั้นจากมุมมองของรัฐบาลจีน วัยรุ่นจีนเหล่านี้ก็รักชาติ ไม่เป็นปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือวัยรุ่นไทย ที่วัยรุ่นไทยแสดงออกอย่างนี้แปลว่าพวกเขาไม่เชื่อโครงเรื่องที่รัฐบาลคอยบอก เช่น การบอกว่าเรามีความสัมพันธ์กับจีนอย่างไร บอกว่าเราสนับสนุนนโยบายจีนเดียว รวมถึงความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนซึ่งถูกนำเสนอออกสื่อ กระทั่งในการเรียน ที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสถาบันขงจื๊อมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งหมดนี้คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อ อยู่ดีๆ คนรุ่นใหม่ก็ออกมาพูดว่าไต้หวันเป็นประเทศ ฮ่องกงก็ควรจะเป็นประชาธิปไตย และจีนเอาเปรียบไทยในกรณีแม่น้ำโขง แปลว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะนำเสนอเรามาโดยตลอดไม่ได้ผล ซึ่งก็น่ากลัวเพราะถ้าคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อรัฐบาลไทยในเรื่องจีน น่าสนใจว่าคนรุ่นใหม่จะเชื่อรัฐบาลไทยเรื่องอะไรบ้าง เรื่องตู้ปันสุขรึเปล่า เรื่องปฏิรูปกองทัพรึเปล่า

ถ้าถามว่ามันจะย้อนกลับไปหาจีนตรงไหน คำตอบคือถ้ารัฐบาลจีนมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยด้วยความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยเอาอยู่ เขาจะมาทำเขื่อน จะมาระเบิดแก่งริมแม่น้ำโขงเพื่อทำเมกะโปรเจกต์ในประเทศไทย เขาจะทำรถไฟความเร็วสูง หรือโครงการอีกมากมายกับรัฐบาลไทย ก็เพราะเขาเชื่อว่ารัฐบาลไทยเอาอยู่ แต่การแสดงออกของวัยรุ่นไทยทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลไทยเอาไม่อยู่ เขาก็อาจจะต้องคิดใหม่ว่าถ้าเขาอยากมาระเบิดแก่งแม่น้ำโขง เขาควรจะสนับสนุนรัฐบาลนี้อยู่ไหม ดังนั้นเราจึงคิดว่ามันเป็นอันตรายกับรัฐบาลไทยมากกว่ารัฐบาลจีน

 

การทูตด้านการแพทย์ และความสัมพันธ์ของจีนกับ WHO

 

จีนส่งข้าวของ ส่งทีมแพทย์ไปช่วยต่างประเทศเยอะ และช่วย WHO เยอะจริงๆ คนที่เขาได้รับความช่วยเหลือก็ซาบซึ้งและขอบคุณจริงๆ นะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เพราะประธาน WHO ดูเข้าข้างจีนอย่างชัดเจนมาก ตั้งแต่การออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไม่ยอมรับว่าไต้หวันเป็นประเทศ นำไปสู่การไม่รวมไต้หวันในการประสานงานแก้ไขปัญหาโควิด หรือหลายๆ อย่างที่ WHO ทำก็เป็นเรื่องน่าสงสัย เช่น ทีแรกออกมาบอกว่าหน้ากากไม่จำเป็น ไม่ใส่หน้ากากก็ได้ ซึ่งทั้งไต้หวันและฮ่องกงก็ปฏิเสธอย่างแรง ยืนยันว่าจะให้คนใส่หน้ากาก หลังจากนั้นเป็นเดือนประธาน WHO ถึงออกมาบอกว่าหน้ากากสำคัญ

หรือเรื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อ เรารู้สึกว่า WHO ยึดตามตัวเลขของจีนมาก ในขณะที่คนจำนวนมากทั่วโลกตั้งข้อสงสัยว่าตัวเลขนี้จริงหรือเปล่า จีนมีประวัติศาสตร์ของการเมคตัวเลขไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งมาโดยตลอด มีคนออกมาพูดตั้งนานแล้วว่า ตัวเลขของผู้ติดเชื้อในจีนต้องเติมศูนย์ไปอย่างน้อยหนึ่งตัว คืออาจน้อยกว่าความเป็นจริงอย่างน้อยสิบเท่า มาตรฐานของการติดตามตัวเลขสถิติจากประเทศที่เป็นเผด็จการและหวงแหนการควบคุมความลับภายในประเทศตัวเอง ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้ แต่การที่ WHO ยังคงยืนยันให้ความสนับสนุนจีน และดูจะเข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายได้มากเกินไป ทำให้ความน่าเชื่อถือของ WHO ในฐานะองค์กรระหว่างประเทศลดลง

ส่วนแนวทางการให้ความช่วยเหลือของจีนในปัญหาที่เกิดจากโควิด-19 ก็เป็นแนวทางของ soft power ที่ดี ที่ปรึกษาระดับสูงของรัฐบาลจีนก็ออกมาบอกให้พวกนักการทูตในประเทศต่างๆ เบาๆ ลง การแสดงความแข็งกร้าวในจุดยืนของจีน หรือการแสดงความชาตินิยม ณ เวลานี้ไม่ถูกต้อง ไม่ถูกเวลา และจะเป็นผลเสียกับภาพลักษณ์ของจีนมากกว่า

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save