fbpx
ผจญภัยสงคราม : วงศาวิทยาของสงครามในการเมืองโลก

ผจญภัยสงคราม : วงศาวิทยาของสงครามในการเมืองโลก 

จิตติภัทร  พูนขำ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“ประวัติศาสตร์ของการล่าย่อมจะเชิดชูผู้ล่า” (The history of the hunt will always glorify the hunter) เป็นคำกล่าวของ Chinua Achebe นักประพันธ์ชาวไนจีเรียนและผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Things Fall Apart’ (1958)

ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลัก เรามักเริ่มต้นด้วยสมมติฐานของการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่าง ‘ภายใน’ กับ ‘ภายนอก’ หรือ ‘ในประเทศ’ กับ ‘ระหว่างประเทศ’ อย่างชัดเจน โดยสิ่งที่อยู่ภายในประเทศนั้นมีสถานะที่สูงกว่า ดีกว่าภายนอกหรือระหว่างประเทศ กล่าวคือ กิจการภายในประเทศนั้นถูกกำกับกำหนดด้วยชุดความสัมพันธ์ที่เป็นอธิปไตยที่มีช่วงชั้นต่ำสูง (hierarchical) ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองอย่างค่อนข้างชัดเจน ในขณะที่กิจการระหว่างประเทศนั้นถูกกำกับด้วยชุดความสัมพันธ์ที่เป็นอนาธิปไตย (anarchical) ซึ่งปราศจากอำนาจศูนย์กลางมาควบคุมสั่งการอย่างเด็ดขาด นั่นคือ ในขณะที่ภายในรัฐมีรัฐบาลกลางที่เป็นผู้ถือครองการใช้อำนาจความรุนแรงอย่างชอบธรรมแต่ฝ่ายเดียว แต่ในระบบระหว่างประเทศ กลับไม่มีรัฐบาลโลกซึ่งกำกับดูแลการใช้กำลังความรุนแรงอย่างชอบธรรม

แต่หากลองนำข้อเสนอของ Chinua Achebe มาปรับใช้ เราจะเห็นว่า สังคมระหว่างประเทศนั้นไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากสังคมภายในอย่างที่ทึกทักกันไว้ อย่างน้อยที่สุดก็คือทั้งสองต่างเป็นสังคมที่จรรโลงประวัติศาสตร์ของการล่า ประวัติศาสตร์ของสังคมระหว่างประเทศมักถูกเล่าผ่านเรื่องเล่าของ/โดย/เพื่อผู้ล่า โดยผลักดันให้เรื่องเล่าของผู้ถูกล่านั้นตกเป็นเรื่องชายขอบ หรือกลายเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญ แน่นอนว่า ‘ผู้ล่า’ ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง ย่อมเป็นผู้ชนะและ ‘ผู้กล้า’ โดยกำหนดนิยามการเล่าเรื่องที่ยิ่งสถาปนาทำให้ความเป็นผู้ล่านั้นมีสถานะทางสังคมที่สูงส่งกว่า

ภายใต้สังคมเช่นนี้ เราอาจเรียกสังคมแห่งการล่าว่าเป็นสังคมแห่งสงคราม หรือสังคมนิยมสงครามก็คงได้ บทความนี้ลองชวนสำรวจสถานะและการเปลี่ยนแปลงของสงครามในสังคมระหว่างประเทศในปัจจุบันว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร สงครามในปัจจุบันลดน้อยลงหรือไม่ และ ‘ภัยสงคราม’ ถูกนำมารับรองสถาปนาความสำคัญของสังคมนิยมสงครามอย่างไร?

 

สงคราม : มโนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลง

 

“ทุกยุคสมัยมีสงครามในแบบของตัวเอง เงื่อนไขข้อจำกัดในแบบของตัวเอง และแนวคิดเบื้องต้นแบบเฉพาะของตนเอง ด้วยเหตุนี้ แต่ละช่วงเวลาจึงยึดถือทฤษฎีสงครามของตนเอง” – Carl von Clausewitz

สงครามเป็นพื้นฐานสำคัญของพัฒนาการประวัติศาสตร์มนุษยชาติและการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนมีการจัดการเรียนการสอนที่แพร่หลายในหลักสูตรสงครามศึกษา (War Studies) ในหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ซึ่งศึกษาสาเหตุ พัฒนาการ พลวัตการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของสงคราม รวมทั้งแสวงหาแนวทางในการเปลี่ยนแปลงและออกจากสภาวะสงคราม

สงครามเคยเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมในระเบียบระหว่างประเทศช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กล่าวคือ รัฐดำเนินสงครามเพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิด หรือทำให้สิ่งผิดให้ถูกต้องได้ และสังคมระหว่างประเทศยังใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการธำรงรักษาระเบียบระหว่างประเทศ สงครามจึงไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม แต่เป็นส่วนหนึ่งหรือสถาปนาระเบียบระหว่างประเทศเสียด้วยซ้ำ ระเบียบระหว่างประเทศก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจึงตั้งอยู่บนฐานของสงคราม และอำนาจคือสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมนั่นเอง

สถานะของสงครามค่อยๆ กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ก็เมื่อกลุ่มของรัฐตัดสินใจทำให้สงครามกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ข้อตกลงระหว่างประเทศที่รู้จักกันในชื่อของ Kellogg–Briand Pact เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐต่างๆ ในยุโรปซึ่งลงนามในปี 1928 ที่กรุงปารีส โดยกำหนดให้รัฐต่างๆ ไม่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการแก้ไขข้อพิพาทหรือความขัดแย้งระหว่างรัฐ กล่าวคือรัฐใดที่ก่อสงครามนั้นกำลังทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศนั่นเอง

กระนั้นก็ดี สงครามระหว่างประเทศไม่ได้ยุติสิ้นลงด้วยเพียงการเซ็นสนธิสัญญาหรือข้อตกลงเพียงหนึ่งฉบับเท่านั้น เราเห็นการแทรกแซงทางการทหารของญี่ปุ่นในแมนจูเรียหรือการแทรกแซงของอิตาลีในเอธิโอเปีย รวมทั้งการบุกเข้าไปในเชกโกสโลวะเกียและโปแลนด์ของนาซีเยอรมนี ซึ่งนำมาสู่สงครามโลกครั้งที่สอง แต่กระนั้น Kellogg–Briand Pact ก็เป็นหมุดหมายสำคัญที่รัฐสมาชิกในสังคมระหว่างประเทศ กำหนดกติกาหรือปทัสถานใหม่ว่าการก่อสงครามนั้นจะไม่มีความชอบธรรมและผิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ในเวลาต่อมา กฎบัตรสหประชาชาติระบุให้การใช้กำลังความรุนแรงของรัฐ จะกระทำได้อย่างชอบธรรมก็เพียงแต่การปกป้องตนเองเท่านั้น และการป้องกันระเบียบและสันติภาพของโลกโดยการแทรกแซงทางการทหาร ต้องผ่านการรับรองของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ หลายคนเรียกระเบียบนั้นอย่างลำลองว่าเป็น ‘ระเบียบระหว่างประเทศแบบเวสต์ฟาเลีย’ (Westphalian international order) ซึ่งเคารพหลักอำนาจอธิปไตยและการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น

สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันคือ รูปแบบของสงครามได้แปลงรูปเปลี่ยนร่างไปอย่างมีนัยสำคัญ นักวิชาการคนสำคัญอย่างเช่น Mary Kaldor มองว่า นี่คือสงครามรูปแบบใหม่ (New Wars) ซึ่งสงครามในปัจจุบันนั้นมีลักษณะของสงครามกลางเมืองภายในรัฐ มากกว่าสงครามระหว่างรัฐ และการใช้กำลังความรุนแรงอย่างชอบธรรมยังไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงรัฐเท่านั้น แต่ถูกโอนถ่ายไปสู่เอกชนและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ กล่าวคือคู่ขัดแย้งของสงครามนั้นไม่ใช่แต่เพียงรัฐ แต่ยังเป็นกลุ่มคนต่างๆ ภายในรัฐด้วย

ในมุมมองของ Kaldor สงครามรูปแบบใหม่ได้รับการผลักดันด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ โดยทำให้อำนาจอธิปไตยมีความอ่อนลงไป และเปิดโอกาสให้กลุ่มต่อต้านหรือกลุ่มกบฏสามารถสะสมทรัพยากรทั้งเงินและอาวุธ ทั้งยังสามารถขยายวงของความรุนแรงออกไปอย่างกว้างขวาง สงครามรูปแบบใหม่ปรากฏให้เราเห็นในสงครามกลางเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นสงครามที่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือศาสนา ดังเช่นกรณีสงครามในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย วิกฤตการณ์ในรวันดาหรือซูดาน เป็นต้น

ผู้เขียนมองว่าแม้ว่ามโนทัศน์สงครามรูปแบบใหม่ของ Kaldor จะมีประโยชน์ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ในการอธิบายสงครามในปัจจุบัน ดังนี้

ประการแรก แนวคิดทั่วๆ ไปที่มองว่าสงครามระหว่างรัฐในโลกเหนือ ถูกแทนที่ด้วยสงครามกลางเมืองในโลกใต้นั้นสร้างความเข้าใจผิด เพราะในความเป็นจริงแล้ว สงครามกลางเมืองจำนวนมากถูกแทรกแซงโดยมหาอำนาจหรือตัวแสดงภายนอกอยู่เสมอ ผมขอเรียกว่าเป็น ‘สงครามกลางเมืองระหว่างประเทศ’ (international civil wars)

เส้นแบ่งระหว่างภายในกับภายนอกจึงไม่มีความชัดเจนอีกต่อไป สงครามกลางเมืองในซีเรียเป็นกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากจะมีตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอย่างกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลกลางแล้ว ยังมีตัวแสดงระหว่างประเทศ ทั้งรัฐมหาอำนาจ (เช่น รัสเซีย สหรัฐฯ) และรัฐเพื่อนบ้าน (เช่น ตุรกี อิหร่าน) ต่างเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับสงครามกลางเมืองในซีเรียด้วยอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ลักษณะของสงครามในปัจจุบันจึงมีความข้ามชาติและข้ามพรมแดนสูงมาก

ตัวอย่างของสงครามที่ถูกทำให้เป็นนานาชาติในช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา ได้แก่ กรณีคองโกตะวันออก (ซึ่งถูกแทรกแซงโดยรัฐเพื่อนบ้านแอฟริกันอีกเก้าประเทศ) มาลี (ซึ่งถูกแทรกแซงโดยฝรั่งเศสและชาด ด้วยความสนับสนุนทางด้านส่งกำลังบำรุงของสหรัฐฯ) โซมาเลีย (ซึ่งถูกแทรกแซงโดยสหรัฐฯ และรัฐใน African Union) โคลอมเบีย (ซึ่งถูกแทรกแซงโดยสหรัฐฯ) อัฟกานิสถานและทางตอนเหนือของปากีสถาน (ซึ่งถูกแทรกแซงโดยสหรัฐฯ และชาติสมาชิก NATO) ลิเบีย (ซึ่งถูกแทรกแซงโดยสหรัฐฯ ชาติสมาชิก NATO และรัฐในอ่าวเปอร์เซีย) ซีเรีย (ซึ่งถูกแทรกแซงโดยสหรัฐฯ รัสเซีย อิรัก อิหร่าน จอร์แดน ตุรกี) เยเมน (ซึ่งถูกแทรกแซงโดยสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ซาอุดิอาระเบีย และอียิปต์) ยูเครนภาคตะวันออก (ซึ่งถูกแทรกแซงโดยรัสเซีย) เป็นต้น

ประการต่อมา แม้ว่าสงครามระหว่างรัฐจะลดน้อยลงไปโดยเปรียบเทียบ แต่สงครามที่โลกเหนือกระทำต่อโลกใต้นั้นแปรเปลี่ยนเป็นสงครามเสมือนจริง (virtual war) มากขึ้นทุกที หรือที่ Michael Mann เรียกว่า ‘spectator sport militarism’

ในด้านหนึ่ง สงครามระหว่างรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างรัฐมหาอำนาจนั้น ลดน้อยลงไปตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมา Joshua Goldstein เสนอว่ามาจากเหตุปัจจัย 8 ประการด้วยกัน คือ (1) การสิ้นสุดของสงครามเย็น (2) ความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ (3) การพึ่งพาซึ่งกันและกันของระบบเศรษฐกิจโลก (4) การแพร่ขยายของปทัสถานด้านสิทธิมนุษยชน (5) การแพร่ขยายของประชาธิปไตย (6) การมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นของผู้หญิง (7) การแพร่ขยายบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs และ (8) การขยายตัวของกลไกการไกล่เกลี่ยแก้ไขความขัดแย้ง โดย Goldstein มองว่า ปัจจัยของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (peacekeeping) นั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการลดลงของสงคราม

ในอีกด้านหนึ่ง สงครามเสมือนจริงกลับแปรเปลี่ยนสงครามในปัจจุบันในหลายนัยยะ ดังนี้

หนึ่ง สงครามเสมือนจริงนั้นมุ่งเน้นเทคโนโลยีล้ำสมัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสงครามโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ (Drone Warfare) และสงครามไซเบอร์ (Cyberwarfare) เทคโนโลยีดังกล่าวแปรเปลี่ยนลักษณะของสงครามและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฆ่ากับผู้ถูกฆ่าไปอย่างมหาศาล กล่าวคือ การทิ้งระเบิดจากระยะไกลผ่านโดรนนั้นสร้างระยะห่างระหว่างผู้ฆ่าและผู้ถูกฆ่าทั้งในเชิงกายภาพ และในเชิงความรับผิดชอบ

สงครามเสมือนจริงอาศัยช่องว่างและระยะห่างนี้ ลดทอนการทิ้งระเบิดให้เสมือนเป็นการเล่นวิดีโอเกมส์เท่านั้น แม้ว่าจะลดการสูญเสียชีวิตของทหารของโลกเหนือ แต่กระนั้นก็ดี ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของนายทหารก็ยังมีอยู่มาก จากงานวิจัยจำนวนหนึ่งเสนอว่าทหารในปฏิบัติการโดรนนั้นเผชิญกับปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สอง สงครามเสมือนจริงผ่านการสังหารจากพิสัยไกล ยังผลักภาระของความตายและความสูญเสียของประชาชนในโลกเหนือไปสู่ผู้คนในโลกใต้แทน โดย Martin Shaw เรียกว่า ‘risk-transfer militarism’

สงครามที่โอนย้ายความเสี่ยงนั้นทำให้ทหารของโลกเหนือได้รับปกป้องจากการบาดเจ็บหรือสูญเสีย แต่ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงความตายและการสูญเสียของทหารหรือพลเรือนของรัฐที่ถูกมองว่าเป็นศัตรู ในทางปฏิบัติ การโจมตีทางอากาศนั้นไม่สามารถค้ำประกันได้ว่าจะไม่สังหารประชาชนพลเรือน หรือรับรองว่าจะกำจัดเป้าหมายที่เป็นผู้ก่อการร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในหลายกรณี งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าภายหลังจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศที่คร่าผู้คนบริสุทธิ์ กลับยิ่งผลักดันให้ผู้คนจำนวนหนึ่งเข้าไปร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายด้วยซ้ำ

Micahel Mann ตั้งประเด็นไว้อย่างแหลมคมว่า “ชาวตะวันตกต่างตกตะลึงกับการตัดหัวของพลเรือนโดยรัฐอิสลาม (Islamic State) ในซีเรียและอิรัก แต่กลับไม่รู้สึกอะไรมากนักกับการสังหารพลเรือนโดยปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของฝ่ายตน แน่นอนมันมีความแตกต่างอย่างมาก [ระหว่างสองกรณีนี้] … แต่สหรัฐฯ น่าจะสังหารพลเรือนมากกว่ารัฐอิสลาม การก่อการร้ายโดยรัฐน่าจะสร้างความตายมากกว่าผู้ก่อการร้ายด้วยซ้ำ”

สงครามที่โอนย้ายความเสี่ยงยังถูกโอนให้เป็นของเอกชน กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง ประเทศและบรรษัทในโลกเหนือได้ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่รัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อใช้ในการทำสงครามกลางเมืองในประเทศโลกใต้เพิ่มมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง รัฐในโลกเหนือได้จ้างวานกองกำลังเอกชนที่ไม่ใช่รัฐเข้ามาปฏิบัติการทางการทหารแทน จนกลายเป็นบรรษัทเอกชนทางด้านความมั่นคง ซึ่งให้บริการกองกำลังทหารรับจ้างในบริเวณพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลก ปรากฏการณ์กองทัพรับจ้างของภาคเอกชนเติบโตอย่างรวดเร็วมากตั้งแต่สงครามอิรักเป็นต้นมา

สงครามที่โอนย้ายความเสี่ยงยังหมายรวมถึงการควบคุมการเผยแพร่ภาพของทหารที่เสียชีวิตจากสงครามนี้ โดยทำให้สังคมไม่เห็นหรือเห็นภาพของความสูญเสียจากสงครามน้อยที่สุด นี่คือกระบวนการลดทอนความตายของสงครามปัจจุบัน ภาพของหีบศพของทหารอเมริกันที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการในอิรักหรืออัฟกานิสถาน ไม่ได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่ในโทรทัศน์หรือรายงานข่าวแต่อย่างใด

สาม สงครามเสมือนจริงนั้นมีลักษณะของการไม่ประกาศสงคราม ซึ่งทำให้สงครามนั้นไม่เข้าข่ายของความเป็น ‘สงคราม’ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และกลายเป็นปฏิบัติการทางการทหารแทน ยกตัวอย่างเช่น สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ มีเขตปฏิบัติการของสงครามครอบคลุมหลายบริเวณในโลก เช่น อิรัก อัฟกานิสถาน ปากีสถาน เยเมน เป็นต้น

นี่ไม่ได้หมายความว่าสงครามเสมือนจริงทำให้โลกสงบสุข หากคำถามคือนี่เป็นความสงบสุขของใครกันแน่ ในสงครามแบบนี้ ประเทศในโลกเหนือมีระเบียบและเสถียรภาพอย่างสันติ และในเวลาเดียวกันก็สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้แก่คู่ขัดแย้งต่างๆ ในประเทศในโลกใต้ รวมทั้งในหลายกรณีก็แทรกแซงทางการทหารในบริเวณดังกล่าวด้วย

สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นเช่นเดียวกันในช่วงสงครามเย็นที่ความสัมพันธ์ในยุโรปนั้นเป็น ‘cold peace’ ในขณะที่สงครามเย็นในโลกที่สามไม่เคยเย็น แต่เผชิญกับ ‘hot wars’ อย่างต่อเนื่อง

อาจกล่าวได้ว่า ในระเบียบระหว่างประเทศปัจจุบัน การก่อสงครามเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ต่อสันติภาพโลก สงครามที่จะมีความชอบธรรมต้องได้รับการกำกับด้วยกติกาและปทัสถานระหว่างประเทศต่างๆ กระนั้นก็ดี สงครามและการใช้กำลังความรุนแรงในระดับโลกไม่ได้ลดน้อยลงไปเลยอย่างที่นักวิชาการกระแสหลักมักเสนอไว้ หากแต่สถานะและลักษณะของสงครามก็แปรเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญต่างหาก

 

‘ภัยสงคราม’ : การแปลงสังคมสุขสงบให้เป็นสังคมนิยมสงคราม

 

เมื่อลักษณะของสงครามเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว สถานะของ ‘ภัยสงคราม’ ก็ย่อมแปรเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ในประเทศโลกใต้ในปัจจุบัน ‘ภัยสงคราม’ ที่มาจากคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น ย่อมไม่มีความหมายในโลกปัจจุบันอีกต่อไป แต่กระนั้นก็ดี ในบางรัฐ อาจมีการปลุกผีคอมมิวนิสต์หรือภัยคุกคามของ ‘สงคราม’ ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อเป้าหมายทางการเมืองหรือการทหารบางประการเท่านั้น

คำว่า ‘ภัยสงคราม’ จึงไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ทางธรรมชาติ หากแต่เป็นประดิษฐกรรมทางสังคมที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมาเอง หลายครั้ง ‘ภัยสงคราม’ ถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อแสวงหาความชอบธรรมในการทำสงคราม หรือแทรกแซงทางการทหารระหว่างประเทศ และในบางครั้ง ‘ภัยสงคราม’ ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้คนภายในประเทศ ไม่ให้ลุกฮือขึ้นขัดขืนต่ออำนาจรัฐทหาร และ/หรือสร้างความชอบธรรมให้แก่การดำรงอยู่ของสถาบันที่กำกับการใช้ความรุนแรง รวมทั้งการเรียกร้องที่จะเพิ่มงบประมาณกลาโหมนั่นเอง

หากปรับใช้แนวคิดความมั่นคงศึกษาของสำนักโคเปนเฮเกน (Copenhagen School of Security Studies) เราอาจเรียกกระบวนการนี้ว่า ‘การทำให้เป็นภัยสงคราม’ (warization) โดยรัฐได้กำหนดให้ประเด็นปัญหาบางอย่างกลายเป็น ‘ภัยสงคราม’ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่อำนาจพิเศษถูกนำมาใช้บังคับอย่างเป็นระบบ

กระบวนการทำให้เป็นภัยสงครามนั้นอาจกินระยะเวลาสั้น หรือนานจนดูเหมือนจะกลายเป็นสภาวะถาวร ภัยสงครามจะลดระดับกลับสู่สภาวะปกติก็ต่อเมื่อภัยสงครามนั้นถูกทำลายลงไปอย่างราบคาบ หรือกระบวนการประชาธิปไตยและการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจจากภาคประชาสังคมหรือสถาบันการเมือง เข้ามาปรับเปลี่ยนและทำให้ประเด็นปัญหาดังกล่าวไม่ให้เป็นภัยสงครามอีกต่อไป ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น ‘การปรับลดไม่ให้เป็นภัยสงคราม’ (de-warization) หรือการหวนคืนสู่สังคมสงบสุขอีกครั้ง

การประกาศว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็น ‘ภัยสงคราม’ จึงเป็นกระบวนการทางการเมืองที่จะกำหนดหรือสร้างนิยามความหมายว่า สิ่งใดเป็นหรือไม่เป็น ‘ภัยคุกคาม’ ต่อสังคมการเมืองหนึ่งๆ หรือต่อกลุ่มพลังทางสังคมการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งพลังทางสังคมที่กำกับดูแลการใช้กำลังความรุนแรงอย่างกองทัพด้วย

ไม่ว่าจะมีที่มาที่ไปอย่างไร เราต้องไม่ละเลยว่าคนที่ได้รับผลจากวาทกรรม ‘ภัยสงคราม’ มากที่สุด ก็คือสามัญชนคนธรรมดา ยกตัวอย่างกรณีสงครามกลางเมืองในซีเรีย เราเห็นผู้คนต้องผลัดถิ่นภายในประเทศและตกเป็นผู้ลี้ภัย หนีจากสังคมเผชิญสงครามไปทั่วโลก จนกลายเป็นวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยของโลก พรมแดนจากประเทศรายรอบซีเรียถูกปิด เช่น บริเวณพรมแดนจาเบอร์ ของจอร์แดน ซึ่งถูกปิดมานาน 3 ปี เพราะสงครามกลางเมืองที่โหดเหี้ยมในซีเรีย

 

บทเรียนจากสงครามกลางเมืองระหว่างประเทศ

 

ในฤดูร้อนที่ยาวนานในปี 427 ก่อนคริสตกาล ความขัดแย้งปะทุขึ้นในเกาะเล็กๆ ในกรีซ ได้แก่ Corcyra (ปัจจุบันคือ Corfu) ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐประชาธิปไตยอย่างเอเธนส์ กลุ่มชนชั้นสูงของเมืองได้พยายามก่อรัฐประหารเพื่อย้ายข้างพันธมิตรไปอยู่กับนครรัฐสปาร์ตา แต่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

Corcyra เผชิญกับสภาวะสงครามกลางเมืองอย่างป่าเถื่อน ระหว่างกลุ่มพลังทางสังคมที่นิยมเอเธนส์ กับกลุ่มที่นิยมสปาร์ตา สงครามกลางเมืองยุติลงได้เมื่อกองทัพเรือของเอเธนส์เข้ามาแทรกแซง และพลังฝ่ายประชาธิปไตยที่นิยมเอเธนส์ได้รับชัยชนะ ในช่วงเจ็ดวันต่อมา กลุ่มพลังที่นิยมเอเธนส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้บัญชาการกองทัพเรือเอเธนส์ ได้กำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างสิ้นซากเหนือวิหารของเทพเจ้า

แม้ว่า Corcyra เป็นเพียงสมรภูมิรบที่ไม่สลักสำคัญใน Peloponnesian War (431–404 ก่อนคริสตกาล) และในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ สงครามกลางเมืองของ Corcyra ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเลยก็ตาม แต่สำหรับนักประวัติศาสตร์และนักคิดแนวสภาพจริงนิยมอย่าง Thucydides แล้ว สงครามกลางเมืองใน Corcyra มีความสำคัญมากกว่าบริบททางการเมืองหรือการทหาร นั่นคือ มันยังสะท้อนว่าสงครามกลางเมืองนั้นแยกขาดไม่ได้กับสงครามระหว่างประเทศ/ข้ามชาติ กล่าวคือ สงครามกลางเมืองใน Corcyra มหาอำนาจภายนอกพยายามแสวงหาผลประโยชน์ผ่านสงครามตัวแทนใน ‘โลกที่สาม’ อย่างนครรัฐกรีก

นอกจากนั้น สงครามกลางเมืองยังสะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งมีด้านมืดที่มุ่งทำลายล้างซึ่งกันและกัน ดังที่ Thucydides กล่าวว่า

“หายนะภัยหลายอย่างเกิดขึ้นในนครรัฐกรีกผ่านสงครามกลางเมือง ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้ว และจะเกิดอีก ตราบเท่าที่ธรรมชาติของมนุษย์ยังคงเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงมากขึ้นหรือน้อยลงก็ตาม และความผันแปรขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละรัฐ … สงคราม ซึ่งพรากเอาความสะดวกสบายของชีวิตประจำวันไปนั้น เป็นสิ่งที่สอนเราเรื่องความรุนแรง และหลอมรวมอุปนิสัยใจคอของผู้คนเข้ากับสภาพแวดล้อมของพวกเขา”

สำหรับ Thucydides นี่คือบทเรียนด้านมืดของความรุนแรงอันเกิดจากสงครามกลางเมือง และในเวลาเดียวกันก็เป็นเครื่องเตือนใจให้มนุษย์ร่วมสังคม จำเป็นต้องตระหนักรู้และก้าวข้ามให้ได้ ถ้ามิเช่นนั้นแล้ว หายนะจะมาเยือนที่หน้าบ้านของเราอย่างมิพักต้องสงสัย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save