fbpx
เมื่อ VOGUE บุกอาหรับ

เมื่อ VOGUE บุกอาหรับ

หัวข้อต้องห้ามในวงสนทนา-ถ้าไม่อยากให้วงแตก คือเรื่องศาสนา เชื้อชาติ การเมือง สีผิว หรือแม้แต่เรื่องเพศสภาพ

 

แต่เรื่องที่ไม่คุยไม่ได้ คือการเปิดตัวของนิตยสาร VOGUE นิตยสารในเครือกองเด นาสต์ (Conde Nast International) ในคาบสมุทรอาหรับ อันเป็นดินแดนที่นับถือศาสนามุสลิมที่เคร่งครัด แต่กระนั้น ก็เป็นที่รู้กันว่ามีความร่ำรวยหรูหรา เพราะมีน้ำมันเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ สุภาพสตรีอาหรับเป็นลูกค้าสำคัญของสินค้าแบรนด์เนม แต่กระนั้นก็ยังต้องปฏิบัติตัวตามกรอบของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดด้วย

ในปี 2010 ตอนที่ภาพยนตร์เรื่อง Sex and the City 2 ต้องการนำเสนอประเด็นสิทธิสตรีและพลังหญิง ผ่านการไปเยือนเมืองอาบูดาบีของสี่สาวนิวยอร์กเกอร์ หนังให้สาวตัวแม่ หนึ่งในตัวแสดงนำอย่าง ซาแมนต้า โจนส์ ผู้เป็นพีอาร์สาวที่ไม่เคยปกปิดความปรารถนาใดๆ ของเธอ โดยเฉพาะความปรารถนาเรื่องเซ็กส์ ลุกขึ้นมา ‘ท้าทาย’ ขนบของสังคมอิสลามหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นแต่งตัวเปิดเผยในที่สาธารณะ หรือแม้แต่กวัดแกว่งถุงยางที่เธอพกพามามากกว่าโหลใส่ฝูงชนที่เป็นบุรุษ ผู้กำลังจะไปทำละหมาดที่สุเหร่า

แม้ผู้เขียนจะไม่ใช่คนมุสลิม ก็ยังรู้สึกว่าเป็นบทที่ ‘แป้ก’ และห่วยเกินไป แม้จะไม่เห็นด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องไปท้าทายต่อขนบความศรัทธาของศาสนาใดศาสนาหนึ่งในประเทศที่คุณเป็นแค่ผู้มาเยือนแล้วก็จากไป-ทิ้งไว้แต่รอยคาร์บอนฟุตปริ้นท์

แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีข่าวว่า Sex and the City กำลังจะมีการสร้างภาคที่ 3 ขึ้นมา ซึ่งก็สร้างคำถามในใจคนที่ทราบข่าว ว่าจะสร้างทำไมกันอีก เพราะตัวหลักอย่าง แครีย์ แบรดชอว์ เธอจะสามารถ carry (คำนี้เป็นแสลงในแวดวงแฟชั่น หมายถึงสวมใส่ชุดนั้นๆ-แล้ว ‘รอด’) แฟชั่นอะไรได้อีก เพราะตัวแสดงอย่างซาร่า เจสสิก้า ปาร์คเกอร์ ก็วัยไม่น้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวัยในเรื่องหรืออายุจริงๆ ของเธอก็ตามที

แน่นอนว่าแฟชั่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัย แต่บทแครีย์ เป็นบทที่สร้างแรงบันดาลใจให้หญิงสาวด้วยแฟชั่นหวือหวา ความคลั่งไคล้รองเท้าส้นสูง กระเป๋าถือที่เป็น It Bag แต่จะบอกว่า กระแสนี้มัน ‘เอาต์’ ไปจากวงการแฟชั่นแล้วด้วย

ในโลกแห่งวัฒนธรรมแฟชั่น โว้กคือหัวหอกสำคัญที่เป็นผู้นำของโลกในด้านนี้ โว้กเปิดตัวตั้งแต่ปี 1892 จึงเป็น ‘สถาบัน’ ที่เก่าแก่มากกว่าหนึ่งร้อยปี โดยเริ่มจากในสหรัฐอเมริกาก่อน ก่อนจะขยายตัวไปในประเทศอื่น โดยเริ่ม International Edition ครั้งแรกกับ British VOGUE โดยเพิ่งเปิดตัว VOGUE Arabia ไปเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง

กลับมาที่ VOGUE Arabia แม้เป็น International Edition ลำดับที่ 22 แต่ก็เป็นโว้กที่กองเด นาสต์ลงทุนเอง หลังจากเปิดตัวโว้กอินเดียเมื่อสิบปีที่แล้ว โว้กในไทยก็มีเช่นกัน แต่เป็นการซื้อลิขสิทธิ์โว้ก ไม่ใช่เป็นการลงทุนเบ็ดเสร็จของกองเด นาสต์ แบบเดียวกับโว้กจีน ออสเตรเลีย เกาหลี ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนแบบไหน ก็ต้องดำเนินรอยตามขนบของโว้กอย่างเคร่งครัด

บรรณาธิการของโว้ก อาระเบีย คือเจ้าหญิง Deena Aljuhani Abdulaziz  แห่งซาอุดิอาระเบีย ที่อาจจะแปลกสำหรับการก่อตั้งนิตยสารก็คือ โว้ก อาระเบีย เริ่มต้นด้วยการทำเว็บไซต์หรือออนไลน์มาก่อน คือตั้งแต่ประมาณช่วงปลายปีที่แล้ว ก่อนจะทำฉบับพิมพ์ออกมาในเดือนมีนาคมนี้

นี่นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะคือการผสานกันระหว่างสื่อออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเหนียวแน่น

โดยไม่ได้มานั่งมองว่า สื่อออนไลน์คือศัตรูของสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์จะทำให้สื่อสิ่งพิมพ์กลายเป็นไดโนเสาร์สูญพันธุ์แต่อย่างใด

โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าอนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์คือความหรูหรา เป็นเสมือนมงกุฏหรือการ ‘ขีดเส้นใต้’ ให้กับสื่อออนไลน์นั้นๆ เพราะตอนนี้ ใครๆ ก็เริ่มการเป็นผู้ส่งสารออนไลน์ได้ แต่สื่อสิ่งพิมพ์ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ แม้พูดกันว่า สื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะถึงจุดจบ แต่ถ้าสื่อออนไลน์สามารถมีสื่อสิ่งพิมพ์ของตนเองได้ มีใครบ้างที่จะไม่สวมมงกุฏให้ตนเองดู เพื่อให้เหนือกว่าสิ่งที่ ‘ใครๆ เขาก็เป็นกัน’

โว้ก อาระเบีย ใช้แนวคิดแบบนี้ โดยปกแรกของนิตยสารโว้ก อาระเบีย เป็นภาพนางแบบจีจี้ ฮาดิด (Gigi Hadid) สวมที่คลุมหน้าเป็นผ้าโปร่งปักลวดลายละเอียดยิบ ฝีมือการออกแบบของแบรนดอน แม็กซ์เวล (Brandon Maxwell) ซึ่งเป็นสไตล์ลิสต์ของเลดี้ กาก้า และมีแบรนด์แฟชั่นของตัวเอง โว้ก อาระเบีย ผลิตออกมาเป็น 2 ปก คือทั้งสองด้านของเล่มเป็นปกหน้าทั้งคู่ แต่เป็นปกหน้าภาษาอังกฤษกับปกหน้าภาษาอาหรับ โดยภายในเล่มมีเนื้อหาสองภาษา

เมื่อโว้ก อาระเบีย ออกวางตลาด ภาพแฟชั่นที่โดนวิพากษ์วิจารณ์มากก็คือเซ็ตแฟชั่นด้านใน ที่จีจี้ ฮาดิด สวมผ้าคลุมแบบสตรีมุสลิมหรือฮิญาบ (Hijab) ซึ่งถือเป็นการแต่งกายของสตรีมุสลิม แต่ชาวมุสลิมก็เข้าไปแสดงความคิดเห็นในอินสตาแกรมของเธอ บอกว่า ‘ให้หยุดการดึงฮิญาบลงมาเป็นแฟชั่น’

เราต้องยอมรับว่า ในโลกออนไลน์นั้น ไม่มีใครรู้เลยว่าสิ่งที่เราสื่อออกไปจะไปโผล่ที่ภูมิภาคใด ประเทศไหนบ้าง ภาพของจีจี้ ฮาดิด ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น ความรู้สึกของคนที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศต่างๆ ต่อการที่นางแบบแฟชั่นนิตยสารโว้กมาแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายตามศาสนาของสตรีมุสลิม ก็ย่อมเข้มข้นแตกต่างกันไป

แม้ว่าจีจี้ จะให้เหตุผลว่า การแบ่งปันวัฒนธรรมที่แตกต่างเป็นสิ่งสวยงาม แต่เธอก็โดนคนที่ไม่เห็นด้วยเข้ามาต่อว่าว่า-ฮิญาบไม่ใช่วัฒนธรรม

ฮิญาบไม่ใช่เครื่องแต่งกายของชาวอาระเบีย แต่เป็นเครื่องแต่งกายของสตรีมุสลิมไม่ว่าที่ไหนๆ ในโลก แต่จีจี้ไม่ใช่มุสลิม

ที่จริงแล้ว พ่อของจีจี้เป็นมุสลิม เขาเป็นชาวปาเลสไตน์ แต่ลูกๆ ของเขาเป็นชาวอเมริกันทั้งหมด โดยทั้งจีจี้และเบลลา ฮาดิด ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีกระแสต่อต้าน แม้ตัวบรรณาธิการจะออกมาให้ความเห็นว่า จีจี้ คือตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการเป็นสตรีรุ่นใหม่ก็ตาม

ฮิญาบคือผ้าคลุมศีรษะแบบดั้งเดิม เป็นผ้าคุลมที่ที่สวมใส่โดยผู้หญิงมุสลิมในสถานที่ที่มีชายที่ไม่ใช่คนในครอบครัวของพวกเธอ การสวมฮิญาบนั้นจะเห็นใบหน้าเห็นได้ แต่ผ้าจะคลุมศีรษะและลงมาปิดลำตัวช่วงบนของสตรี

ผ้าคลุมศีรษะอีกแบบเรียกว่า นิกาบ (Niqab) เป็นผ้าคลุมหน้าที่คลุมเกือบทั่วทั้งใบหน้า เว้นเฉพาะดวงตา โดยจะใส่กับชุดเบอร์กา (Burka) ซึ่งเป็นเสื้อคลุมเต็มตัว ชุดแบบนี้ ผู้หญิงมุสลิมจะสวมใส่ในสถานที่สาธารณะ โดยตรงดวงตาจะเป็นผ้ากึ่งโปร่งใสที่ ช่วยให้คนที่สวมใส่มองเห็นได้หลังผ้าโปร่งนั้น โดยจะสวมใส่ผ้าคลุมแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับความเคร่งครัดของชุมชนมุสลิมในแต่ละภูมิภาคของโลก แต่โดยมาก เบื้องหลังชุดเบอร์กา มักเป็นของใช้แบรนด์เนมหรูแทบทั้งสิ้น เพราะสตรีมุสลิมในตะวันออกกลางล้วนแต่มีฐานะดี

สำหรับโว้ก อาระเบีย แม้จะได้รับทั้งก้อนอิฐและดอกไม้ แต่นี่คือเสียงตอบรับที่ตัวบรรณาธิการจะได้นำไปปรับปรุงต่อไป แม้ว่าบรรณาธิการย่อมเจนจัดในขนบธรรมเนียมของอาหรับ แต่เมื่อ โว้ก อาระเบีย กระจายไปทั่วทั้งโลกผ่านการสื่อสารออนไลน์ เธอก็ต้องระวังและโฟกัสกับสิ่งที่จะนำเสนอต่อไป

 

‘ความอาหรับ’ นั้น ยังมีอะไรอีกมากที่สามารถนำเสนอออกมาในนิตยสารแฟชั่นเล่มนี้ได้ เชื่อว่า โว้ก อาระเบีย จะแบ่งปันวัฒนธรรมที่สวยงามระหว่างกัน ดังที่จีจี้ ฮาดิด ได้แสดงความคิดเห็นไว้ชัดเจน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save