fbpx

4 พรรคตีโจทย์อาชีวศึกษา เมื่อการศึกษาสายอาชีพคืออนาคตของประเทศ

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หุ่นยนต์ขยับเข้ามาแทนที่การทำงานมนุษย์ ทักษะความสามารถที่ตลาดแรงงานต้องการผันแปรไปอย่างรวดเร็ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกำหนดนโยบายการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษา เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในภาพใหญ่ที่จะช่วยกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ ทั้งในแง่มุมทางเศรษฐกิจและแรงงานในอนาคต

101 Policy Forum เปิดเวทีแลกเปลี่ยนในประเด็น ‘นโยบายการศึกษาสายอาชีพในโลกใหม่’ กับผู้มีส่วนกำหนดนโยบายนอกเหนือไปจากพื้นที่ในสภา โดยมีตัวแทนจากภาคการเมืองมาร่วมแลกเปลี่ยน ได้แก่ กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล, ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และกิตตินันท์ ครุฑพงษ์ ที่ปรึกษาทีมนโยบายการศึกษาเพื่ออาชีพพรรคกล้า ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

กนก วงษ์ตระหง่าน: นโยบายการศึกษาสายอาชีพต้องมุ่งเน้นความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ

กนก วงษ์ตระหง่าน

เวทีแลกเปลี่ยนเริ่มต้นด้วยประเด็นความสำคัญของนโยบายศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อไปสู่การตั้งโจทย์ที่ตรงจุดและคำตอบที่เป็นรูปธรรม กนกเกริ่นว่าแม้การรับรู้ของสังคมส่วนใหญ่ในอดีตจะมองภาพด้านลบว่าการศึกษาสายอาชีพเป็นการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่เรียนสายสามัญไม่ได้หรือมีความยากจนจึงจำต้องไปเรียนสายวิชาชีพ แต่แท้จริงแล้วการศึกษาสายอาชีพเป็นการสร้างแรงงานทักษะขั้นกลางและขั้นสูงที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะต่อความเจริญก้าวหน้า การแข่งขันของประเทศ ไปจนถึงการแก้ไขความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ

“การศึกษาสายอาชีพจึงเป็นมากกว่านโยบายเศรษฐกิจ นโยบายการศึกษา นโยบายแรงงาน ตรงกันข้ามผมย้ำว่าการศึกษาสายอาชีพคือทางรอดของประเทศ และเป็นฟันเฟืองสำคัญของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศหลังจากโควิด-19” กนกกล่าวพร้อมให้ความเห็นว่าหากมีการปรับรื้อระบบการศึกษาสายอาชีพ เน้นสร้างทักษะและสมรรถนะของการทำงานของแรงงานทุกอาชีพอย่างรวดเร็วในวันที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนผ่านจะช่วยทำให้ประเทศพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และทำให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ดีกนกมองว่านโยบายการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษามีปัญหาคอขวดใหญ่อยู่ 3 ประการ

1. โครงสร้างค่าตอบแทนที่ไม่ให้คุณค่าทักษะวิชาชีพ รายได้ของผู้ที่จบสายอาชีพ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่จบปริญญาตรีแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่หน่วยงานในภาครัฐใช้วุฒิการศึกษาเป็นเกณฑ์ด้วยโครงสร้างค่าตอบแทนนี้บังคับให้ผู้เรียนที่ครอบครัวไม่ได้มีต้นทุนการทำธุรกิจมากนักไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อการันตีรายได้ที่สูงกว่า รวมไปถึงส่งผลต่อทัศนคติของคนในสังคมไทยว่านักเรียนอาชีวศึกษาไม่เก่ง ทั้งที่ควรกำหนดค่าตอบแทนจากผลของการสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ

2. ระบบงบประมาณและระบบราชการที่ไม่ได้พิจารณางบประมาณตามภารกิจ ยกตัวอย่างว่า ครม. มีมติเห็นชอบอุดหนุนค่าอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนสายอาชีพ อาชีวศึกษาเมื่อวันที่ 24 ส.ค. พ.ศ. 2564 จากเดิมปีละ 450 บาท/คน เป็น 2,000 บาท/คน แต่สำนักงบประมาณจะไม่จัดสรรเงินอุดหนุนอาชีวศึกษาเพิ่มในสัดส่วน 4 เท่าเช่นเดียวกับเงินอุดหนุนค่าอุปกรณ์การเรียน โดยจะเพิ่มลักษณะ 2-3% ตกอยู่ประมาณปีละ 9,000-9,500 บาท/ปี

3. คุณภาพของการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา ไม่ว่าจะเป็นด้านผู้สอน หลักสูตรการเรียนและอุปกรณ์เครื่องมือในห้องปฏิบัติการที่ไม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง

กนกเสนอว่า นโยบายการศึกษาสายอาชีพเป็นควรนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เพื่อให้เกิดการบูรณาการจากหลากหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการศึกษา เทคโนโลยีและการลงทุนในอุตสาหกรรม และเสนอให้เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถูกคัดเลือกมาจากผู้ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เพื่อให้มีเวลาทำงานต่อเนื่องในการสร้างความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งควรจะพัฒนาขีดความสามารถการสร้างแรงงานที่มีทักษะในระดับดีขึ้น 100% เพื่อเพิ่มอำนาจในการแข่งขันกับต่างประเทศอย่างก้าวกระโดด ไม่แพ้ให้กับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศใกล้เคียง

กนกยังย้ำว่า นโยบายการศึกษาสายอาชีพควรจะต้องดำเนินนโยบายให้ลำดับความสำคัญเร่งด่วนในการสร้างผู้ประกอบการวิชาชีพที่มีทักษะขั้นสูงในอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparison advantage) ซึ่งเขามองว่ามี 4 เรื่อง อันได้แก่ เกษตรกรรม อาหาร หัตถกรรมและการท่องเที่ยว โดยอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพจะต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมดังกล่าว ยกตัวอย่างการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรว่าแทนที่เกษตรกรจะขายฟ้าทะลายโจรแห้งในราคาต่ำ แต่อาชีวศึกษาควรมีบทบาทในการใช้เทคโนโลยีตรวจวัดความเข้มข้นของสารแอนโดรกราโฟไลด์ สารออกฤทธิ์ที่อยู่ในผลผลิตเพื่อให้เกษตรกรขายได้ในราคาที่สูงขึ้น หรือการขายในรูปแบบสารสกัดออกฤทธิ์แทน

กนกยังเสริมเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรว่าหลักสูตรแกนกลางของอาชีวศึกษาอาจจะเหมือนกัน แต่การประยุกต์ใช้ต้องเข้ากับความเป็นจริงในแต่ละพื้นที่และเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก นอกจากนี้ต้องปรับการให้งบประมาณคิดตามภารกิจ กล้าลงทุนงบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุงห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ ยกระดับความรู้อาจารย์ที่มีอยู่และดึงอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือผู้เชี่ยวชาญมาร่วมสอน โดยมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบผลสำเร็จ (performance audit) รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างค่าตอบแทน

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร: อาชีวศึกษาต้องแปรความสนใจเป็นคุณค่าเชิงพาณิชย์ในเวทีโลก

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

“การศึกษาสายอาชีพคือกระบวนการที่เปลี่ยนจากความสนใจส่วนตัวให้กลายเป็นทักษะ และมีกลไกที่เปลี่ยนทักษะนั้นให้กลายเป็นคุณค่าทางวิชาชีพและคุณค่าทางพาณิชย์ที่สามารถจะสร้างความมั่งคั่งและเลี้ยงชีพให้มีความสุขกับการวิ่งตามความฝัน พร้อมกับสะสมความสุข-ความมั่งคั่งไปกับตัวเองและครอบครัวที่เรารักได้ด้วย” วิโรจน์กล่าวถึงมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาอาชีวศึกษา พร้อมให้ความเห็นว่าสิ่งสำคัญของนโยบายการศึกษาสายอาชีพ ซึ่งเป็นนโยบายพัฒนาคน คือจะต้องทำให้ผู้เรียนสามารถฝันถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

วิโรจน์มองว่าโจทย์สำคัญของการศึกษาสายอาชีพมี 2 ประการ

1. การผลิตช่างเทคนิคที่มีทักษะสูงตอบโจทย์ความต้องการของโลก เนื่องจากความต้องการจ้างงานช่างเทคนิคระดับสูงในตลาดของไทยมีจำนวนจำกัด อันเป็นผลจากการชะงักงันหรือการชะลอการลงทุนอุตสาหกรรมหนักตั้งแต่ยุคหลังต้มยำกุ้ง โดยปัจจุบันความต้องการช่างเทคนิคที่มีทักษะสูงมีประมาณไม่เกิน 50,000 คน/ปี ขณะที่มีการผลิตช่างเทคนิค ปวช.3 110,000 คน/ปี และปวส.2 มีประมาณ 90,000 คน/ปี ทำให้จำเป็นต้องมองไปถึงการผลิตช่างเทคนิคที่ตอบโจทย์โลก

2. การปรับระบบการศึกษาใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความฝันของคนในสังคม ระบบการศึกษาไม่ควรเป็นแบบแพ้คัดออกเหมือนในปัจจุบันที่เป็นการลดอำนาจการคัดเลือกของโรงเรียน จากเดิมที่เรียนยาก สอบยาก ผู้ผ่านการคัดเลือกได้เรียนรู้ในสายสามัญ ขณะที่ผู้ไม่ผ่านการคัดเลือกต้องเข้าสายอาชีพ ต้องปรับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสนใจ พัฒนาการศึกษาสายอาชีพให้ตอบโจทย์ผู้เรียนและความต้องการของตลาดแรงงานให้ผู้เรียนสามารถทักษะเฉพาะด้านให้เชี่ยวชาญจนเป็นทักษะวิชาชีพ เป็นคุณค่าเชิงพาณิชย์ที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

วิโรจน์เสนอว่า การปรับปรุงการจัดการเรียนรู้อาชีวศึกษาหรือสายอาชีพในประเทศไทยควรจะเปิดให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงการเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดอายุ แต่ควรมีสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเข้ามาร่วมกันทำงานกับอาชีวศึกษา เพื่อสร้างมาตรฐานวิชาชีพที่ยอมรับในระดับสากล โดยหยิบยกตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ที่ประเทศไทยควรนำมาปรับใช้อย่างวิทยาลัยเทคนิคและการศึกษาต่อเนื่อง (Technical and Further Education – TAFE) ของประเทศออสเตรเลีย อันเป็นการเรียนรู้ทักษะในเชิงเทคนิคที่วัยเรียนและคนวัยทำงานสามารถจะกลับมาเพิ่มพูนทักษะได้อีกครั้ง ผ่านการให้อิสระแต่ละรัฐกำหนดและบริหารหลักสูตรได้เอง โดยมีกรอบคุณวุฒิการศึกษาออสเตรเลีย (Australian Qualifications Framework – AQF)  เป็นมาตรฐานกลางของประเทศ และผู้เรียนสามารถเก็บหน่วยกิตเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียได้ นอกจากนี้ควรพัฒนาคุณภาพชีวิตในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโภชนาการ สุขอนามัย ความปลอดภัยไปควบคู่กับหลักสูตร

ขณะที่หลักสูตรอาชีวศึกษาจะต้องตอบโจทย์การมุ่งพัฒนาทักษะเฉพาะด้าน และทักษะที่จำเป็นในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ผ่านการเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยและเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนี้ยังควรเพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้เรียน ผ่านการบูรณาการกับศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการการอาชีวศึกษา สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนขนาดกลาง ขนาดย่อมและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย รวมไปถึงรัฐบาลต้องให้งบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน สนับสนุนครูในอาชีวศึกษาให้มีความมั่นคงทางชีวิตและติดอาวุธในการจัดการเรียนสอน เช่นเดียวกับการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มประชาคมวิชาชีพเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

“การมีงบประมาณเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าไม่มีงบประมาณก็ต้องไม่เอามาเหตุให้เรายอมจำนนกับสภาพ” วิโรจน์ยังย้ำถึงการพัฒนาหลักสูตรทวิภาคีร่วมกับภาคเอกชน โดยมีหน่วยงานกลางในการควบคุมคุณภาพของหลักสูตร เพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพในสถานการณ์จริงและพัฒนาวุฒิภาวะในการทำงานของตนเองและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช่เป็นเพียงช่องทางแรงงานราคาถูก

ณหทัย ทิวไผ่งาม: ปลดล็อกกฎหมาย พัฒนาทวิภาคีเพื่อสร้างทักษะที่ตอบโจทย์ตลาด

ณหทัย ทิวไผ่งาม

ณหทัยให้ความเห็นว่าการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพเป็นวาระเร่งด่วนในการยกระดับฝีมือ (upskill) และสร้างการเรียนรู้สำหรับอาชีพใหม่ (reskill) เพื่อให้เท่าทันกับสหัสวรรษใหม่ที่จะเกิดขึ้น

เธอได้หยิบยกเรื่องกฎหมายว่าเป็นหนึ่งในปัญหาคอขวดที่สำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาสายอาชีพ เนื่องจากไม่เอื้อต่อการปฏิบัติงานของทั้งสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน อย่างคำสั่ง คสช. ที่ 8/2559 ที่โอนสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนจากเดิมที่อยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไปสู่การบริหารรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชนจนทำให้เกิดการลักลั่นในการปฏิบัติ เช่น สถาบันอาชีวศึกษาเอกชนได้รับการอุดหนุน 75% ไม่เท่ากับสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐบาล ซึ่งกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียน

นอกจากนี้ณหทัยยังกล่าวถึงปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน โดยยกตัวอย่างผลงานของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมาอย่างนโยบายแท็บเล็ตสำหรับนักเรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ ลดช่องว่างในการศึกษาว่าเป็นนโยบายที่เร็วเกินไป เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานในตอนนั้นยังไม่มีความพร้อม แต่ปัจจุบันราคาแท็บเล็ตถูกลงและอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นจึงน่าสนใจว่าการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ทั่วถึงและมีฮาร์ดแวร์ที่เข้าถึงได้จะช่วยส่งเสริมต่อการเจริญอย่างก้าวกระโดด

ณหทัยเห็นด้วยกับกนกว่านโยบายการศึกษาสายอาชีพจะต้องทำงานร่วมกันหลายกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลและเศรษฐกิจที่จะต้องมาช่วยยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยี มีการใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based) ในการทำงานและมีนายกรัฐมนตรีเข้ามาดูแลเพื่อเร่งให้เกิดพัฒนาฝีมือแรงงานของประชาชนคนไทย นอกจากนี้ยังกล่าวถึงนโยบายเรื่องการสนับสนุนทวิภาคีที่สถาบันด้านอาชีวศึกษาต้องร่วมมือกับสถานประกอบการภาคเอกชนให้มากขึ้นผ่านการสร้างแรงจูงใจด้วยมาตรการทางภาษีของภาครัฐ เพื่อช่วยให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องลงทุนงบประมาณทั้งหมดในการผลิตแรงงานที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันผู้เรียนได้มีประสบการณ์ในการทำงานจริง รวมถึงเสนอให้อาชีวศึกษาเป็นการศึกษาภาคบังคับ ฟรีสำหรับผู้เรียนที่ต้องการเลือกสายอาชีพ

ณหทัยยังเสนอถึงการปลดล็อกและแก้ไขกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนการศึกษาสายอาชีพ และกล่าวว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 2 เรื่อง ได้แก่ ทำให้เกิดคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเกิดสถาบันพัฒนาหลักสูตรแห่งชาติ ทำหน้าที่ศึกษางานวิจัยทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ วิจัยหลักสูตรและปรับเนื้อหาให้ตอบรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อสร้างบทเรียนที่ทันสมัย ทบทวนและปรับอยู่ตลอดเวลา

“ถ้าพระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านปีหน้า นายกรัฐมนตรีเข้าใจในภารกิจว่าการศึกษาหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นหัวใจสำคัญที่จะพัฒนาขีดความสามารถของมนุษย์ และคนไทยก็คิดเช่นเดียวกัน คิดว่าจะช่วยพาองคาพยพอื่นๆ พัฒนาตามไปด้วยอย่างรวดเร็วและประสบผลสำเร็จ ความสำเร็จนี้น่าจะต้องอาศัยความเป็นผู้นำที่ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลง มีวิสัยทัศน์ในการมองระยะสั้น ระยะกลาง และให้ความสำคัญกับเรื่องประโยชน์ของประชาชนมาอันดับแรกก่อนเรื่องอื่น” ณหทัยกล่าว

ไม่เพียงเท่านั้นณหทัยยังกล่าวว่าต้องพัฒนาครูให้สอดประสานไปกับการเปลี่ยนแปลงของหลักสูตร จูงใจให้ครูไม่ต้องไปอยู่ในกรอบของคำว่าต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู แต่เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงธนาคารเครดิตเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (credit bank) ผู้เรียนอายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถเริ่มทำอาชีพ เก็บเกี่ยวประสบการณ์การเรียนรู้ โดยที่มีการเก็บข้อมูลภายใต้บัตรประชาชน มีหน่วยงานกลางรับผิดชอบอาจจะเป็นสำนักนายกรัฐมนตรี และมีการสร้างเครือข่ายข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้โดยใช้บล็อกเชนอนุญาตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าถึง เพื่อเป็นคลังข้อมูลในการคาดการณ์อาชีพในอนาคตหรือการจับคู่แรงงานกับสถานประกอบการเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

กิตตินันท์ ครุฑพงษ์: ปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่น ผู้เรียนร่วมออกแบบการเรียนรู้

กิตตินันท์ ครุฑพงษ์

กิตตินันท์ให้ความเห็นว่าโดยส่วนตัวแบ่งการศึกษาสายอาชีพเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนของการได้มาซึ่งวุฒิการศึกษา เช่น ปวช. ปวส. และส่วนที่เป็นการเรียนรู้ระยะสั้น การอบรมเพื่ออาชีพ สำหรับพรรคกล้านั้นมีมุมมองการศึกษาเพื่อการมีงานทำ อันเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สู่การสร้างเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ต้องการผลิตคนเป็นเครื่องจักรเหมือนที่เคยเป็นมา โดยระบบพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องดูแลตั้งแต่การเตรียมแรงงานอันเป็นกลุ่มวัยเรียน ในระหว่างแรงงานซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงสายงานหรืออาชีพ และหลังจากทำงาน เช่น การเกษียณ หรือลาออกจากงาน 

กิตตินันท์ให้ความเห็นว่าปัญหาคอขวดของการศึกษาสายอาชีพสามารถแบ่งเป็น 2 ประการสำคัญ

1. ระบบแนะแนวที่ทำให้เด็กไม่รู้จักตัวเองและไม่เข้าใจการเรียนสายอาชีพ กิตตินันท์ขยายความว่าครูแนะแนวส่วนใหญ่มาจากการเรียนสายสามัญทำให้ไม่มีภาพการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษามากนัก ส่งผลต่อการรับรู้และส่งต่อข้อมูลของครูแนะแนวที่อาจจะไม่เห็นภาพความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมที่เรียนสายอาชีวศึกษาไปจนถึงระดับปริญญาเอก ทำให้หลายครั้งมองว่าผู้เรียนที่ไม่ถนัดด้านวิชาการ ควรไปสายอาชีวศึกษาเพื่อให้เรียนจบ รวมถึงโรงเรียนไม่ได้ให้คุณค่ากับนักเรียนสายอาชีวศึกษาเท่ากับสายสามัญ

2. หลักสูตรของอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพที่ล้าหลัง หลักสูตรไม่ได้มีการปรับให้เข้ากับอุตสาหกรรมในพื้นที่และบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้เรียนเลือกอันดับสาขาไล่ตามระดับโควตาทำให้ทุกสาขามีผู้เรียน แม้จะเป็นสาขาที่ตกยุคไปแล้วก็ตาม

กิตตินันท์ให้ความเห็นว่าการศึกษาต้องมีคุณภาพเป็นพื้นฐาน ปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่น สามารถออกแบบการเรียนรู้ได้หลากหลายในลักษณะตัดเสื้อพอดีตัว มีการใช้แผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (personal education plan – PEP) เพื่อให้เหมาะกับการพัฒนาในแต่ละทักษะของผู้เรียน และนโยบายการศึกษาสายอาชีพที่จะต้องจัดการร่วมกัน 2 ส่วนผ่านหน่วยงานกลางที่เข้ามาบริหารจัดการ ส่วนแรกเรื่องธนาคารแรงงาน (labor bank) เป็นระบบคล้ายกับหน่วยงานทำนายความเปลี่ยนแปลงแรงงานในอนาคตผ่านการใช้เทคโนโลยี machine learning เป็นคลังข้อมูลที่จะช่วยในการวางแผนอย่างแม่นยำทั้งสำหรับผู้เรียน และผู้กำหนดนโยบาย กับอีกส่วนคือการจัดการศึกษาระบบธนาคารหน่วยกิต (credit bank) ผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากหลากหลายช่องทาง เช่น การฝึกอบรม เพื่อเอามารวมในธนาคารหน่วยกิตสังเคราะห์เป็นวุฒิการศึกษา และประกอบอาชีพต่อไป โดยที่สถานศึกษาทำหน้าที่ให้ความรู้พื้นฐานและเป็นแหล่งอำนวยความสะดวกด้านเครื่องมือ ระบบทั้งสองส่วนจะช่วยทำให้เห็นเจ้าของ เจ้าภาพ เจ้ามือในการทำงาน นอกจากนี้เขายังเสนอว่าสถาบันการอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนรวมถึงสถาบันจากสถานประกอบการต้องอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน

“อาชีวศึกษาจะต้องเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับผู้ประกอบการได้” กิตตินันท์กล่าวแและทิ้งท้ายว่าควรจะสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการการสนับสนุนค่าตอบแทนในการเรียนรู้สำหรับผู้เรียน หรือสร้างแรงจูงใจให้บุคคลทั่วไปผ่านการให้วอยเชอร์หรือให้งบในการพัฒนาตัวเอง

ประเด็นชวนขบคิด รอบรั้วสายอาชีพ

ในช่วงท้ายของการสนทนา ตัวแทนทั้งสี่พรรคการเมืองได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับอาชีวศึกษาไทย ประเด็นแรก เรื่องแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับการทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบันการศึกษา วิโรจน์กล่าวว่าไม่ควรเหมารวมนักเรียนในสายอาชีวศึกษาว่ามีการใช้ความรุนแรง มีเพียงบางสถาบันหรือบางพื้นที่เท่านั้น สำหรับแนวทางการแก้ไขเริ่มจากการทำลายอำนาจนิยมในสถานศึกษา อันเป็นต้นต่อสำคัญของการใช้ความรุนแรงผ่านการประกาศนโยบายโรงเรียนปราศจากการกลั่นแกล้งรังแกทั้งระบบ โดยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ขณะที่กิตตินันท์เสนอให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่มีองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาดังกล่าว

ด้านกนกและณหทัยมองไปที่สาเหตุว่าเด็กหรือเยาวชนที่มีปัญหาเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งตีกันเกือบทั้งหมดมีแรงกดดันภายในจิตใจของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นจากเรื่องครอบครัว การเรียน เพื่อน หรือคนรัก กนกกล่าวว่าเด็กคิดและตอบสนองในระยะสั้น เนื่องจากมองไม่เห็นอนาคตจึงควรแก้โดยการทำให้เด็กและเยาวชนเหล่านั้นมีความฝันและมองในระยะยาวมากขึ้น ขณะที่ณหทัยให้ความเห็นถึงการแก้ไขในเชิงระบบในระดับสถานศึกษา เช่น การลดหน้าที่งานเอกสารของครู เพื่อให้มีเวลาเอาใจใส่เด็กแต่ละคนมากขึ้นสามารถแก้ไขปัญหาของเด็กในเวลาอันรวดเร็ว หรือใช้ความเป็นหัวโจกของพวกเขาในด้านที่มีประโยชน์

ประเด็นที่สอง เรื่องการยุบรวมสถานศึกษาสายอาชีพ เพื่อเพิ่มงบประมาณและยกระดับคุณภาพแต่ละแห่งให้ดียิ่งขึ้น กิตตินันท์ยืนยันว่าเขาไม่เห็นด้วย โดยให้ความเห็นว่าควรกระจายสถานศึกษาสายอาชีพทั่วประเทศมากกว่า เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงโอกาสได้ง่ายกว่า ขณะที่วิโรจน์มองว่าด้วยอัตราการเกิดของประชากรไทยที่ลดลงทำให้ประเด็นนี้ถูกพูดถึงมากขึ้นทั้งในการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ อย่างไรก็ตามการควบรวมสถานศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในทักษะบางอย่างอย่างเต็มที่และมีห้องปฏิบัติการที่มีการลงทุนสูงนั้นจะต้องลงทุนเรื่องบริการขนส่งสาธารณะ ไม่ใช่มองเรื่องการยุบสถานศึกษาเพื่อเพิ่มงบประมาณต่อสถานศึกษาเท่านั้น แต่ต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการที่จะพัฒนาผู้เรียน

ประเด็นที่สาม การสนับสนุนให้เรียนอาชีวะฟรีตอบโจทย์ช่วยดึงดูดผู้เรียนแค่ไหนในเมื่อปัจจุบันมีเงินให้กู้เรียนหรือทุนการศึกษาต่างๆ กิตตินันท์และณหทัยเห็นคล้ายคลึงกันว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนไม่ใช่มีเพียงค่าบำรุงการศึกษา แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นอีก ขณะที่เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไม่ได้มีจำนวนมากนัก การสนับสนุนให้เรียนฟรีจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามต้องมีความแม่นยำในการใช้งบประมาณ  ขณะที่กนกกล่าวว่าเงินไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการเรียน แต่เรียนฟรีอาจจะไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพการศึกษาการเรียนแล้วมั่นใจได้ว่าในอนาคตจะมีรายได้เข้ามาเมื่อจบการศึกษา


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save