fbpx

การเมืองสมัยใหม่ของเวเนซุเอลา ก่อนการก้าวขึ้นมาของอดีตประธานาธิบดี อูโก้ ชาเวซ

เวเนซุเอลาในยุคสมัยปัจจุบันเริ่มเป็นที่สนใจของนานาชาตินับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดี อูโก้ ชาเวซ (Hugo Chávez) ได้รับการเลือกตั้งใน ค.ศ. 1998 เขาถือได้ว่าเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานที่สุดในลาตินอเมริกาในขณะนั้น กล่าวคือ 13 ปี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงด้วยการเป็นมะเร็งอุ้งเชิงกรานในปี 2013 เขาเป็นผู้นำของกระแสสังคมนิยม (Pink Tide) ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 2000 ของลาตินอเมริกา โดยผู้ที่สืบอำนาจต่อมาคือประธานาธิบดี นิโกลัส มาดูโร (Nicolás Maduro) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งจนถึงปัจจุบันและขับเคี่ยวกับฝ่ายค้านอย่างไม่ลดราวาศอกกันในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ ผมไม่ได้เล่าถึงการเมืองเวเนซุเอลาในยุคของซาเวซ นั่นคือนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะในช่วงข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่ (The Pact of Punto Fijo) ที่จะทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมอดีตประธานาธิบดีอูโก้ ชาเวซ อดีตทหารบ้านนอก ที่อยู่ชายขอบแห่งอำนาจ สามารถก้าวขึ้นมาเอาชนะใจประชาชนได้รับการเลือกตั้งอย่างท้วมท้นเป็นประธานาธิบดีได้ในปี 1998

ย้อนไปในปี 1958 ปีนั้นถือเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของเวเนซุเอลา เมื่อผู้นำจากสามพรรคการเมืองที่สำคัญในขณะนั้นคือ โรมูโล เบทแท็งคอร์ท (Rómulo Betancourt) แห่งพรรค Acción Democrática (AD), ราฟาเอล คาลเดรา (Rafael Caldera) แห่งพรรค Comité de Organización Política Electoral Independiente (COPEI) และ โฆวิโต วิยาลบา (Jóvito Villaba) แห่งพรรค Unión Republicana Democrática (URD) ได้เซ็นสัญญาร่วมมือเป็นพันธมิตรทางการเมืองในวันที่ 31 ตุลาคม หลังจากการล่มสลายของรัฐบาลเผด็จการทหารภายใต้การนำของนายพลมาร์กอส เปเรซ ฮิเมเนซ (Marcos Pérez Jiménez) ซึ่งยึดอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือนและปกครองประเทศระหว่างปี 1951-1958

เป้าหมายที่สำคัญของข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่ ได้แก่ ประการแรก ทั้งสามพรรคจะยอมรับผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีและจะแบ่งสรรอำนาจกันอย่างยุติธรรมตามคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับ ประการที่สอง ภายใต้ความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น ทั้งสามพรรคต้องการกีดกันพรรค Partido Comunista Venezelano (PCV) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ของคิวบา ออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเวเนซุเอลา

การเมืองสมัยใหม่ของเวเนซุเอลา ก่อนการก้าวขึ้นมาของอดีตประธานาธิบดี อูโก้ ชาเวซ
ภาพที่ 1: ราฟาเอล คาลเดรา, โฆวิโต วิยาลบา และ โรมูโล เบทแท็งคอร์ท จับมือกันเป็นพันธมิตรทางการเมืองตามข้อตกลง พุงโต้ ฟีโห่
ที่มา: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/c/cb/Punto_Fijo_Pact.jpg

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของเวเนซุเอลา ที่อำนาจการบริหารประเทศได้รับการแบ่งสรรอยู่ในมือของพลเรือนโดยเฉพาะระหว่างพรรค AD และพรรค COPEI รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ในปี 1961 ได้รับการรับรองอย่างท่วมท้นจากประชาชน และถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดของเวเนซุเอลา และมีอายุยาวนานที่สุดถึงเกือบ 40 ปี ก่อนจะถูกประกาศยกเลิกในปี 1999 โดยอดีตประธานาธิบดีอูโก้ ชาเวซ

ในช่วงระหว่างปี 1959-1974 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของการวางรากฐานการพัฒนาประเทศเพื่อนำไปสู่ความทันสมัยของเวเนซุเอลา ภายใต้การนำของโรมูโล เบทแท็งคอร์ท (Rómulo Betancourt, AD, 1959-1964), ราอูล เลออนิ (Raúl Leoni, AD, 1964-1969) และ ราฟาเอล คาลเดรา (Rafael Caldera, COPEI, 1969-1974) การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็วไม่ว่าทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจหรือทางด้านสังคม อาทิ การศึกษา และสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศ รายได้หลักของประเทศมาจากการส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมไปยังสหรัฐอเมริกา เวเนซุเอลานั้นมีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการก่อตั้งกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (Organisation of the Petroleum Exporting Countries: OPEC) ร่วมกับ อิหร่าน, อิรัก, คูเวต และซาอุดิอาระเบีย ในปี 1960

คาร์ลอส แอนเดรส เปเรซ (Carlos Andrés Pérez, AD, 1974-1979) ผู้ซึ่งมีแนวความคิดโน้มเอียงไปทางซ้ายได้ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศในปี 1974 คาร์ลอส เปเรซพยายามตีตัวออกห่างจากสหรัฐอเมริกา เขาได้ทำการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับคิวบา และประณามรัฐบาลเผด็จการฝ่ายขวาในชิลีและนิการากัว ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ คาร์ลอส เปเรซได้เข้ายึดกิจการน้ำมันของเอกชนมาเป็นของรัฐ แล้วตั้งบริษัทปิโตรเลียมแห่งเวเนซุเอลา (Petróleos de Venezuela, S.A.: PdVSA) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1976 โดยทำหน้าที่ดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมทั้งหมด

ภายหลังจากกลุ่มประเทศโอเปกประกาศลดการผลิตน้ำมันเพื่อเป็นการตอบโต้การที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนทางการทหารแก่อิสราเอลทำสงครามกับกลุ่มประเทศอาหรับ ในสงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War) ในปลายปี 1973 ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลา เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เวเนซุเอลาในทศวรรษที่ 1970 กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในลาตินอเมริกา เป็นประเทศที่รายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมันปิโตรเลียม ไม่ใช่สินค้าเกษตร อาทิ กาแฟ น้ำตาล และกล้วย เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน ฮวน เปาโล เปเรซ อลองโซ่ (Juan Pablo Pérez Alonzo) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และกิจการปิโตรเลียมในสมัยรัฐบาลโรมูโล เบทแท็งคอร์ท ถึงกับกล่าวไว้ว่า “เวเนซุเอลานั้นแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกา เราเหมือนซาอุดิอาระเบียมากกว่าเหมือนบราซิล พวกเราคือ Venezuela Saudita

การพัฒนาทางการเมืองของเวเนซุเอลาในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ยังคงเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับทศวรรษก่อนหน้า ภายใต้ข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในลาตินอเมริกาต่างประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ โดยมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากปัญหาราคาน้ำมันที่ทะยานพุ่งขึ้นสูง จนนำไปสู่ปัญหาหนี้สาธารณะกระจายไปทั่วภูมิภาค เวเนซุเอลาในฐานะประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกคือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ท่ามกลางกองหนี้ของประเทศเพื่อนบ้าน[1]

แม้ว่าการลดค่าเงินโบลิวาร์ในปี 1983 ในสมัยรัฐบาลของหลุยส์ เอเรรา แคมปินส์ (Luis Herrera Campíns, COPEI, 1979-1984) จะทำให้ระบบการเมืองแบบสองพรรค คือ AD และ COPEI  ลดความน่าเชื่อถือไปบ้าง หรือแม้ไฮเม ลูซินชี (Jaime Lusinchi, AD, 1984-1989) จะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของสหรัฐอเมริกาในสมัยของโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ที่เข้ามาแทรกแซงปัญหาสงครามกลางเมืองในอเมริกากลาง แต่โดยภาพรวมแล้ว เวเนซุเอลาในปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ได้รับการยกย่องจากรัฐบาลอเมริกันในฐานะแม่แบบของการเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบสองพรรคที่มีเสถียรภาพ และสมควรเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้

ความเสื่อมถอยของระบบการเมืองแบบสองพรรคภายใต้ข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่ เริ่มขึ้นพร้อมกับการกลับมาของคาร์ลอส แอนเดรส เปเรซ ในตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1989 เขาได้ประกาศใช้นโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจตามหลักฉันทามติวอชิงตัน (The Washington Consensus) ซึ่งรวมไปถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การปล่อยให้ราคาสินค้าปรับขึ้นลงอย่างเสรี ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคภายในประเทศ รวมถึงค่าบริการขนส่งสาธารณะและน้ำมัน เพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ประชาชนต่างพากันออกมาเดินขบวนประท้วงในกรุงการากัส เมืองหลวงของประเทศ นำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงของกองทัพภายใต้การสั่งการของคาร์ลอส  เปเรซ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1989 ส่งผลให้ประชาชนล้มตายไปกว่า 2,000 คน ถือเป็นการจลาจลที่นองเลือดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเวเนซุเอลา และเหตุการณ์ครั้งนี้ถูกบันทึกไว้ในนาม El Caracazo

การเมืองสมัยใหม่ของเวเนซุเอลา ก่อนการก้าวขึ้นมาของอดีตประธานาธิบดี อูโก้ ชาเวซ
ภาพที่ 2: กองทัพกำลังปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ El Caracazo เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1989

ความไม่พอใจต่อนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลคาร์ลอส เปเรซ ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่ความพยายามที่จะทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของเขาในเดือนกุมภาพันธ์ 1992 โดยการนำของอูโก้ ชาเวซ และอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ถึงแม้ว่าคาร์ลอส เปเรซ จะรอดพ้นจากการรัฐประหารทั้งสองครั้ง แต่ท้ายที่สุดแล้วเขาก็ถูกรัฐสภาลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 1993 ในข้อหายักยอกเงินกว่า 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เหตุการณ์นี้เองนำไปสู่จุดจบของการเมืองแบบแบ่งสรรอำนาจภายใต้ข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่

คนชั้นกลางในกรุงการากัสมองว่าข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่นั้นสร้างนักการเมืองที่ฉ้อฉล ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ขณะที่ชนชั้นแรงงานก็มองว่าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจัดสรรรายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของประเทศ นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ภาคเกษตรกรรมไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล ทำให้เกิดการอพยพหลั่งไหลของคนในชนบทเข้ามาหางานทำในเมือง ก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมามากมาย อาทิ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหายาเสพติดและโสเภณี และปัญหาการขาดแคลนสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่เพียงพอ

ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงหันไปเลือกราฟาเอล คาลเดรา อดีตผู้นำพรรค COPEI ที่ร่วมลงนามในข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่ และเคยเป็นประธานาธิบดีในช่วงปี 1969-1974 แต่ในการเลือกตั้งปี 1993 นั้น เขาลงสมัครในนามผู้สมัครอิสระ ชัยชนะของ ราฟาเอล คาลเดรา ในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงจุดบกพร่องของระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคภายใต้ข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่ ว่าไม่ได้เปิดโอกาสหรือเตรียมการให้มีการสร้างนักการเมืองหน้าใหม่หรือนักการเมืองน้ำดีขึ้นมาทดแทนนักการเมืองรุ่นเก่าเขี้ยวลากดินเลย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นธาตุแท้ของนักการเมืองว่าหาได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แน่วแน่ไม่ พวกเขาพร้อมที่จะละทิ้งพรรคการเมืองที่ตนสังกัดได้ตลอดเวลา ถ้าประชาชนหมดศรัทธาในพรรคการเมืองนั้นแล้ว

ในช่วงเวลาหกปี (1993-1998) ของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของราฟาเอล คาลเดรา เต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อเรื้อรัง ปัญหาความยากจน ปัญหาการเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดของเศรษฐกิจนอกระบบ ขณะที่ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เลวร้ายต่างๆ เหล่านี้ประกอบกับการล่มสลายของระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรคภายใต้ข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่ ได้เปิดโอกาสให้ อูโก้ ชาเวซ ที่ถึงแม้จะล้มเหลวในการทำรัฐประหารปี 1992 ได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษของประชาชนโดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลางและคนยากจนในเมืองที่ถูกมองข้ามในสมัยข้อตกลงพุงโต้ ฟีโห่ และได้กลับเข้ามาโลดแล่นในฐานะผู้นำประเทศนับตั้งแต่ปี 1998 จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงในปี 2013

References
1 โคลอมเบียเป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่ไม่ตกอยู่ในวิกฤตหนี้สาธารณะในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เพราะขนาดของเศรษฐกิจใต้ดินและเศรษฐกิจนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ ประกอบกับแนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบอนุรักษนิยมได้ฝังรากลึกในหมู่ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ทำให้โคลอมเบียสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาหนี้สินท่วมประเทศแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกาที่ต่างดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม รัฐบาลใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายโดยปราศจากวินัยทางการคลัง เพื่อหวังผลทางการเมือง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save