fbpx
ชำแหละ (ก่อนอ่าน) ‘ร่างของปรารถนา’ กับ อุทิศ เหมะมูล

ชำแหละ (ก่อนอ่าน) ‘ร่างของปรารถนา’ กับ อุทิศ เหมะมูล

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

วิวรรธน์ ทรัพย์อรัญ ภาพ

“มันคือการจดจ้องกับภาวะลุ่มหลงมัวเมา เอาเป็นเอา ตายเป็นตาย สูญเสียเป็นสูญเสีย” คือคำอธิบายส่วนหนึ่งที่ อุทิศ เหมะมูล พูดถึง ‘ร่างของปรารถนา’ นวนิยายเล่มล่าสุดที่กำลังปรากฏสู่สายตาผู้อ่านในไม่ช้านี้

 

ตั้งแต่ได้รางวัลซีไรต์จากนวนิยาย ‘ลับแล แก่งคอย’ ในปี 2552 ชื่อของเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผลงานใหม่ๆ ออกมาไม่ขาดสาย จนได้รับการยอมรับจากทั้งนักอ่านและคนในแวดวงวรรณกรรม

ที่สำคัญคือเขาสามารถสร้าง ‘เซอร์ไพรส์’ ให้คนอ่านได้เสมอ ทั้งในแง่รูปแบบการนำเสนอ เนื้อหา ไปจนถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาในงานนั้นๆ

กับ ‘ร่างของปรารถนา’ เล่มนี้ก็เช่นกัน มีหลายองค์ประกอบที่ชวนให้นักอ่านตื่นตาตื่นใจตั้งแต่หนังสือยังไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นชุดภาพเขียนอิโรติคอันร้อนแรงที่เขาวาดเองกับมือ ตัวอักษรยึกยือที่เขาคิดค้นขึ้นมาใหม่ ไปจนถึงโปรเจ็กต์ใหญ่อย่างการนำไปดัดแปลงเป็นละครเวที—ร่วมกับนักเขียนชาวญี่ปุ่น

เรานัดคุยกับเขาเพื่อ ‘อุ่นเครื่อง’ ก่อนหนังสือเล่มนี้จะวางแผง สำแดงที่มาที่ไปของแรงปรารถนา โดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนสปอยล์

แต่อาจทำให้การรอคอย (ที่จะได้อ่าน) ทรมานขึ้นอีกพอควร

 

 

กำเนิด ‘ปรารถนา’ จากท่วงท่าอันเป็นนิรันดร์

หลังปิดต้นฉบับนวนิยายเล่มหนาอย่าง ‘จุติ’ ไปเมื่อต้นปี 2558 อุทิศเว้นระยะไม่นาน ก่อนจะนั่งลงเขียนงานใหม่ที่ชื่อว่า ‘ร่างของปรารถนา’ งานที่วนเวียนอยู่ในหัวของเขามาราวๆ สิบปี

เวลาที่เขียนนิยายเรื่องหนึ่งอยู่ อีกเรื่องมันจะฟุ้งๆ ขึ้นมา คล้ายฝุ่นละอองที่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นก้อนในอากาศ จากนั้นมันก็จะค่อยๆ กลิ้ง กลิ้งจนเป็นตะกอน จนกลายเป็นก้อนที่หนาแน่นขึ้นตามวันเวลา”

ในฐานะที่จบจิตรกรรมมาจากรั้วศิลปากร อุทิศมีฝีไม้ลายมือในการวาดรูปที่ไม่น้อยหน้าใคร ทว่าวันหนึ่งที่ตัดสินใจอุทิศตนให้กับวรรณกรรม เขาก็แทบไม่ได้จับพู่กันอีกเลย

“พอเขียนจุติเสร็จ ผมมีความรู้สึกว่าอยากกลับมาวาดรูปอีกครั้ง แล้วก็คิดต่อไปอีกว่า จะวาดยังไงให้มันเป็นส่วนหนึ่งของนิยายได้ด้วย ในลักษณะที่ไม่ใช่แค่ภาพประกอบ แต่เป็นอะไรที่มีชั้นเชิงกว่านั้น”

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขากลับมาจับพู่กันอย่างจริงจังอีกครั้ง ควบคู่กับการเขียนนวนิยายเรื่องใหม่

“ตัวนิยาย เรารู้อยู่แล้วว่าเรื่องจะเป็นแบบไหน พอเอามารวมกับความปรารถนาที่จะกลับมาวาดรูปอีกครั้ง ก้อนที่เคยฟุ้งๆ ไว้ ก็ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น และเราก็ใช้การ painting นี้มาเป็นตัวชี้ทางในนิยายอีกทีด้วยซ้ำ”

สำหรับใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊คของเขาอยู่บ้าง คงเคยเห็นรูปที่เขาโพสต์อยู่เป็นระยะ ภาพเขียนที่แสดงสรีระชายหญิงในอิริยาบถร่วมรัก หรือสำเร็จความใคร่ อาจทำให้ใครหลายคนเกิดอาการวูบวาบได้ง่ายๆ

จากชื่อเรื่องและภาพวาดที่ได้เห็น หลายคนเดาว่านี่ต้องเป็นเรื่องรักๆ (ที่หนักไปทางใคร่ๆ) เป็นแน่แท้

แต่ขึ้นชื่อว่าอุทิศ ย่อมต้องมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น

“ในเรื่องนี้ ตัวเอกจะเป็นศิลปิน ซึ่งเคยผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมาสามครั้ง อันแรกเราอยากพูดถึงปัญหาทางศิลปะ พูดถึงฟอร์มหรือรูปแบบที่ศิลปินสร้างขึ้นเพื่อแช่แข็งงานศิลปะไว้ ขณะเดียวกันก็อยากพูดถึงความเป็นหนุ่มสาวที่เก็บกักวันเวลาและความปรารถนาไว้ในฟอร์มอันงดงามบางอย่าง เฉกเช่นเดียวกับฟอร์มของศิลปะอย่างจิตรกรรมหรือประติมากรรม ซึ่งเป็นฟอร์มที่ทั้งหยุดนิ่งและเป็นนิรันดร์

“จากนั้นเราก็คิดต่อไปว่า ถ้าเราจะมองภาวะรัฐประหารในบ้านเมืองเรา ว่าเป็นการหยุดนิ่ง ชะงักงัน แล้วก็แช่แข็งความปรารถนาของประเทศไว้ แช่แข็งความต้องการของผู้คนไว้ ให้อยู่ในท่วงท่าอันเป็นนิรันดร์ เสมือนศิลปินที่สร้างฟอร์มบางอย่างเพื่อแช่แข็งงานศิลปะ มันก็เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจดีเหมือนกัน”

“พอได้ไอเดียแบบนี้ เราก็ค่อยๆ งม ค่อยๆ ไล่ไป วิธีการเขียนนิยายเรื่องนี้คล้ายกับการวาดรูปเลย ก็คือค่อยๆ ร่าง ค่อยๆ ขึ้นโครงขึ้นมา

“เล่มนี้ใช้เวลาประมาณหนึ่งปีพอดี ทั้งเขียนและวาดสลับกันไป ช่วงเช้าเขียนนิยาย ตกบ่ายก็วาดรูป”

เมื่อถามที่มาของชื่อเรื่อง ‘ร่างของปรารถนา’ อุทิศบอกว่าไม่ได้ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่แรก

“ตอนแรกใช้ชื่อตัวละครเลย ก็คือ ‘เข้าสิง’ เพราะภาวะเข้าสิงนี้จะปกคลุมทั้งเรื่อง ตั้งแต่การเข้าไปครอบครอง เชิดชัก บงการ หรือการถูกกระทำโดยความปรารถนารูปแบบต่างๆ ต่อมาถึงค่อยตกตะกอนเป็นคำว่า ร่างของปรารถนา”

จากองค์ประกอบต่างๆ ที่เขาเล่ามา ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่านิยายเรื่องนี้จะ ‘ติดเรท’ สักแค่ไหนกัน

เขาบอกเพียงสั้นๆ ว่า “เอากันตั้งแต่ต้นยันจบ”

 

 

 

เมื่อ ‘ศีลธรรม’ กลายเป็นคำต้องห้าม

หากใครเคยอ่านงานของอุทิศมาบ้าง คงเคยได้เห็นบางบทบางตอนที่เป็นฉากอีโรติค กระตุกต่อมเสียวซ่านของคนอ่านอย่างเราๆ ผ่านการบรรยายหรืออุปมาอย่างมีเชิงชั้น อันเป็นจุดเด่นที่เราพบเห็นในงานของเขาเสมอ

การเขียนนิยายเรื่องนี้คือการคลายฟอร์มของคำว่า ‘ดำฤษณา’ ออกมา เพื่อให้เห็น anatomy ของมันว่า ในความลุ่มหลง ในความรัก ในความปรารถนา ในความเงี่ยน ในความอยากเอา ทำไมมันถึงมีพลังที่ขับเคลื่อนความต้องการของมนุษย์ได้มากมายเหลือเกิน

“หลายครั้งเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในมุ้ง เกิดขึ้นบนเตียง อานุภาพของมันรุนแรงมาก คราวนี้เราอยากทำความรู้จักมัน แนบชิดกับมันให้มากขึ้นกว่าเก่า”

เราสงสัยต่อว่า แล้วกับงานที่ผ่านๆ มา อย่างเช่น ‘ระบำเมถุน’ ยังไม่เรียกว่าแนบชิดหรอกหรือ

“นั่นคือการมองด้วยระยะห่างมากกว่า แต่นี่คือการเพ่งจ้องในระยะประชิดเลย เป็นการจดจ้องชั่วขณะหนึ่งของมนุษย์ที่มันหน้ามืด อิ่มเอิบ หรือสุขสันต์มากๆ มันคือการจ้องกับภาวะลุ่มหลงมัวเมา เอาเป็นเอา ตายเป็นตาย สูญเสียเป็นสูญเสีย

“หลายเล่มที่ผ่านมา เรามีความพยายามเข้าใจชีวิต พยายามเข้าใจภาวะต่างๆ แต่เล่มนี้คือช่างแม่งเลย ไม่พยายามเข้าใจ ไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่ลังเลว่าจะผิดศีลธรรมหรือไม่ จะไม่มีน้ำเสียงอะไรแบบนั้นเข้ามารบกวนเลย”

เมื่อถามว่าทำไมถึงสนใจภาวะนี้ หรือเลือกที่จะเล่าออกมาแบบนี้ อุทิศบอกว่าเขาอยากนำเสนอเรื่องเซ็กซ์ เรื่องความปรารถนา ในมุมที่ไม่ต้องแคร์คำว่า ‘ศีลธรรม’ บ้าง

“ถึงแม้นิยายเรื่องนี้จะพูดถึงเรื่องลามก สัปดน แต่เราอยากให้รู้ว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นต้องพูด แต่ต้องพูดด้วยวิธีอื่นๆ บ้าง ไม่ใช่พูดด้วยวิธีกรอกหูอยู่ตลอดเวลาว่าไม่เหมาะสม สกปรก โสมม หรือไร้ศีลธรรม

 

“ในนิยายเล่มนี้ ศีลธรรมจะเป็นเรื่องเสื่อมเสีย เป็นเรื่องอุจาด นี่คือโจทย์ของมัน”

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อนิยายเรื่องนี้โดยเฉพาะ ก็คือฟอนต์ที่ชื่อว่า ‘ปรารถนา’ ซึ่งอุทิศเป็นคนร่างแบบขึ้นมาเอง ก่อนจะจับมือกับ สมิธ สมันเลาะ แห่งบริษัทคัดสรร ดีมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบตัวหนังสือ ช่วยรังสรรค์ให้ฟอนต์ชุดนี้สามารถนำมาใช้ตีพิมพ์งานได้จริง

“เราอยากเอาฟอร์มของเรือนร่างของมนุษย์ ทั้งชายและหญิง ในท่วงท่าต่างๆ ที่เป็นกิจกรรมทางเพศ มาลดทอนเอาไว้ในตัวฟอนต์ เรารู้สึกว่าฟอร์มของเส้นที่ก่อร่างเป็นสระ พยัญชนะ มันน่าจะเอามาทำอะไรบางอย่างได้”

อุทิศเล่าว่าได้ไอเดียมาจากหนังเรื่อง ‘Fight Club’ ในฉากที่ตัวเอกเล่นแผลงๆ โดยการเอาฟิล์มภาพยนตร์มาตัดต่อใหม่ โดยใส่ภาพแปลกปลอมลงไปในบางเฟรม

“หนัง 1 วินาทีมันมี 24 เฟรมใช่ไหม สิ่งที่ตัวเอกทำคือตัดบางเฟรมออกไป แล้วใส่ภาพจากหนังโป๊เข้าไปแทน ทีนี้พอหนังฉายไปเรื่อยๆ ภาพโป๊ก็จะแว้บเข้ามาแบบเสี้ยววินาที ทำให้หนังมันสะดุด ซึ่งคนดูอาจมองไม่ทัน หรือไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่รู้สึกได้ว่ามีบางอย่างแปลกปลอม

“เราอยากเอาความคิดนี้มาปรับใช้ในนิยาย รู้สึกว่าถ้าเล่นกับตัวอักษรได้ก็น่าสนุกดี เหมือนว่าในขณะที่อ่านๆ ไป แล้วมีอยู่คำหนึ่งที่ฟอนต์มันแปลกประหลาด ทำให้การอ่านสะดุด ซึ่งคุณอาจจะหยุดแล้วเพ่งมองมัน หรือปล่อยผ่านก็ได้

“ฟังก์ชันของมันคือการเป็น propaganda การสอดแทรกความต้องการอะไรบางอย่างเข้าไปในจิตใต้สำนึก โดยที่คนรับอาจไม่ได้ทันเห็น ไม่ทันเฉลียว เหมือนเวลาที่เราเห็นคนๆ หนึ่งออกมาพูดตอนสองทุ่มทุกวัน อะไรทำนองนั้น…”

อุทิศเล่าต่อว่า ในนิยายที่มีความหนาเกือบสามร้อยหน้า จะปรากฏคำที่ใช้ฟอนต์นี้อยู่เป็นระยะ พร้อมนัยยะบางอย่างที่ซ่อนไว้

“ตลอดเวลาที่เขียนนิยายเรื่องนี้ สิ่งที่เราระมัดระวังมากๆ ก็คือ เราจะไม่ใช้ภาวะของความปรารถนาด้วยคำที่มีลักษณะที่เป็นลบ อย่างเช่น กิเลส ตัณหา ความใคร่ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่มันโผล่เข้ามา เราจะใช้ฟอนต์นี้เข้าไปสวมทันที

“เราอยากให้คนอ่านรู้สึกว่าทุกครั้งที่คำเหล่านี้ปรากฏขึ้นมา หมายความว่ามันเป็นเรื่องสัปดน ศีลธรรมนั่นแหละคือตัวสัปดน คือตัวลามก เป็นเรื่องสกปรกในพื้นที่นี้”

เซอร์ไพรส์อีกอย่างที่เขาบอกว่าวางแผนมาอย่างดี ก็คือรูปเล่มแบบปิดทึบที่ ‘ฉีกได้’

“ฉบับพิมพ์ครั้งแรกนี้ จะเป็น limited edition รูปเล่มจะถูกปิดผนึกไว้ คล้ายๆ กล่องโกโก้ครั้นช์ เปิดดูก่อนไม่ได้ ถ้าคุณอยากอ่านหรืออยากรู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างใน คุณจะต้องฉีกมันออกมา ฉีกดัง ‘แคร่ก’

“คนอ่านแต่ละคน จะมีประสบการณ์ครั้งเดียวกับนิยายเรื่องนี้ นี่คือสิ่งที่คุณกระทำต่อมัน คุณสร้างรอยแยก สร้างบาดแผลกับหนังสือของคุณเอง”

 

ขอบฟ้าใหม่ของวรรณกรรมไทย ? : เมื่อศิลปะเลื่อนไหลเข้าหากัน

หลังจากทราบที่มาที่ไปของนวนิยายเล่มนี้กันพอหอมปากหอมคอ เรายังมีข้อข้องใจอยู่เล็กๆ ว่า สุดท้ายแล้วภาพเขียนที่เขาวาดทั้งหลายนั้น จะถูกนำมาจัดวางอย่างไร หรือเป็นองค์ประกอบไหนในหนังสือเล่มนี้

คำตอบที่ได้เราทำให้แปลกใจอีกครั้ง

หนังสือจะแบ่งออกเป็นสองเล่ม เล่มแรกคือส่วนที่เป็นนิยายที่กำลังจะวางขาย เล่มนี้จะเป็นนิยายล้วนๆ ไม่มีรูปประกอบ ส่วนอีกเล่มจะออกตามมาทีหลัง เป็นลักษณะของ Art book เป็นภาพล้วนๆ โดยแต่ละภาพในเล่มจะเป็นชั่วขณะหนึ่งของนิยาย เป็นห้วงคำนึงหรือความทรงจำที่อยู่ในหัวของตัวเอก”

สำหรับเล่มที่เป็น Art book อุทิศบอกว่าจะเริ่มเผยแพร่ช่วงเดือนสิงหาคม พร้อมๆ กับการเปิด ‘นิทรรศการศิลปะ’ ที่จัดแสดงภาพต้นฉบับ รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยรูป เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ที่เติมเต็มความฝันแต่ครั้นยังเป็นศิลปินหนุ่ม

จากองค์ประกอบต่างๆ ที่ไล่เรียงมา ดูเหมือนว่าอุทิศจะสนุกกับการทดลองและค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องเสมอ

เขามองว่าทุกวันนี้ศิลปะแต่ละแขนง ไม่มีพรมแดนที่ชัดเจนอีกต่อไป ทุกอย่างสามารถเลื่อนไหลและเชื่อมโยงกันได้หมด

ในช่วงระหว่างที่เขียนนิยายไปได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นโอกาสดีที่เราได้พบกับ โทชิกิ โอคาดะ (Toshiki Okada) นักเขียน/ผู้กำกับละครเวทีชาวญี่ปุ่น ที่เคยเจอกันมาก่อนหน้านี้แล้ว เขาบอกว่าอยากทำงานศิลปะร่วมกับศิลปินไทยสักคน ก็เลยนึกถึงเรา เราก็เลยเล่าให้เขาฟังว่ากำลังเขียนนิยายอยู่เรื่องหนึ่ง ใกล้เสร็จแล้ว เนื้อหาเป็นแบบนี้ๆๆ เขาบอก เฮ้ย น่าสนใจมาก แล้วก็ถามขึ้นมาว่า พอจะเป็นไปได้มั้ยที่จะเอานิยายเรื่องนี้ไปดัดแปลงเป็นละครเวที…”

ด้วยเหตุนี้ โปรเจ็กต์ที่ไม่คาดคิดอย่างการนำไปดัดแปลงเป็นละครเวที จึงโผล่ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย และเขาก็ลุยต่อทันทีที่เขียนนิยายจบ

ประจวบเหมาะกับที่ปีนี้ ตรงกับวาระครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นพอดี ทำให้โครงการนี้ได้รับการผลักดันและสนับสนุนจาก Japan Foundation ด้วยอีกทางหนึ่ง

จนถึงวันนี้ มีการคัดเลือกตัวนักแสดงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีทั้งคนญี่ปุ่นและคนไทย วางตารางจัดแสดงไว้ตั้งแต่ช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป เริ่มจากไทย ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในเอเชียและยุโรป

ฟังแล้วก็ได้แต่เก็บความตื่นเต้นไว้ในใจ นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา และน่าจะสร้างความคึกคักให้แวดวงศิลปะบ้านเราได้ไม่น้อย

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น คงต้องค่อยๆ ติดตามกันไปทีละขั้น ว่าผลงานชุดนี้ของเขาจะสามารถเขย่าความรู้สึกนึกคิดของคนอ่านอย่างเราๆ ได้มากน้อยแค่ไหน สมปรารถนาหรือไม่

เร็วๆ นี้คงได้รู้กัน.

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save