fbpx
ปัญหาประชาธิปไตยในอเมริกา

ปัญหาประชาธิปไตยในอเมริกา

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของ “ประชาธิปไตยในอเมริกา” ดังที่หลายคนเคยรู้จักไปอย่างไม่คาดคิดมาก่อน โดยเฉพาะที่เป็นปมปัญหามากที่สุดคือความเป็นประธานาธิบดี (the presidency)

ในระบบประธานาธิบดี ประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ และโดยนัยหมายถึงการเป็นผู้นำทรงอำนาจของโลกด้วย ตำแหน่งประธานาธิบดีก่อตั้งและดำรงความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือมาจากประธานาธิบดีคนแรกคือ จอร์จ วอชิงตัน ในปี 1789 มาถึงปัจจุบันอย่างไม่ขาดตอน ด้วยการรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีของความเป็นประธานาธิบดีเอาไว้ นั่นคืออุดมการณ์ของความเป็นมหาชนรัฐ (republicanism) ที่ตอกย้ำด้วยคติค่านิยมของลัทธิโปรเตสแตนท์ในอเมริกาที่สำคัญคือลัทธิพิวริตัน (Puritanism) และถ่ายทอดผ่านลัทธิปฏิบัตินิยม (Pragmatism)

ประการแรกและสำคัญที่สุดคือ ประธานาธิบดีต้องพิทักษ์รักษาและจรรโลงหลักการแห่งรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ประการต่อมาคือทำหน้าที่เป็นผู้สร้างความเป็นเอกภาพและความสามัคคีของคนในประเทศไม่ว่าจะพรรคหรือกลุ่มการเมืองอะไรก็ตาม ประธานาธิบดีต้องสามารถก้าวข้ามความแตกแยกและลัทธิพรรคพวกและก๊กทั้งหลายให้ได้ ประการสุดท้ายประธานาธิบดีจักต้องสลายความเป็นตัวตนและความคิดอคติทั้งหลายของตนเองออกไป เพื่อทำให้ความเป็นประธานาธิบดีดำรงอยู่ในฐานะของสถาบันที่เป็นของมหาชน ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของประธานาธิบดีเอง

นับแต่วันแรกๆ ของการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากแกนนำในพรรคเอง ทั้งยังรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้เป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกันด้วยการถล่มและโจมตีผู้สมัครคนอื่นๆ ของพรรคอย่างรุนแรง กระทั่งพูดได้ว่าถึงขั้นหยาบคาย และไม่ต้องพูดถึงกิริยามารยาทของบุคคลสาธารณะ ซึ่งเขาไม่แคร์อะไรเลย

ทั้งหมดนี้เป็นตัวตนของทรัมป์มายาวนานก่อนแล้ว ทำให้พฤติกรรมด้านลบและกระตุกสังคมกลับกลายเป็นจุดขายหรือยี่ห้อแบรนด์เนมของทรัมป์ไป ซึ่งอาจเป็นแผนการและวิธีการทำเงินในแบบฉบับของแกมาแต่ไหนแต่ไรแล้วก็ได้

ยิ่งเมื่อได้ชัยชนะอย่างเฉียดฉิว แบบพลิกล็อก ทำให้ทีมทรัมป์ได้ใจและมุ่งมั่นในการดำเนินนโยบายแบบที่ไม่ต้องเกรงใจใครอีกต่อไป ดังเห็นได้จากบทบาทและคำแถลงของที่ปรึกษาอาวุโสของทรัมป์ในทำเนียบขาวคนสำคัญคือ สตีฟ แบนนอน

แบนนอนกล่าวอย่างไม่ลังเลเลยว่า สิ่งที่เขาและทรัมป์จะทำต่อไปและต้องทำให้ได้ คือการโค่นล้ม “รัฐพันลึก”(Deep State) ในสหรัฐฯ ลงไปให้ได้ คนที่อยู่นอกอเมริกาอย่างในไทยคงงุนงงว่า สหรัฐฯ ก็มีรัฐพันลึกเหมือนหรือคล้ายไทยไหม แล้วทำไมทรัมป์และพรรคพวกถึงอยากโค่นล้มมันละ เพราะรัฐพันลึกอย่างไทยก็เป็นผลประโยชน์อันแนบแน่นกับพวกนายทุนนักธุรกิจไม่ใช่หรือ

รัฐพันลึกที่แบนนอนพูดถึงนั้น หมายถึงระบบรัฐการและสถาบันทางการทั้งหลายในสหรัฐอเมริกาที่ดำรงและเป็นผู้ผลักดันกิจการของภาครัฐ (ทั้งส่วนกลางและมลรัฐ) ทำให้ฝ่ายการเมือง พรรค องค์กรเอกชนนอกรัฐ และระบบสหพันธ์ ไม่สามารถออกนโยบายและผลักดันการปฏิบัติใดๆ ที่ฝ่ายรัฐการไม่ต้องการได้อย่างเต็มที่สมตามความปรารถนา แทบทั้งหมดต้องผ่านการประนีประนอมกับบรรดาข้ารัฐการ เจ้าหน้าที่และมืออาชีพในหน่วยงานต่างๆ เรียกว่าฝ่ายการเมืองจะปกครองประเทศไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความเห็นชอบและร่วมมือจากฝ่ายรัฐการ

ต่อไปเราคงมีโอกาสมาพูดและประเมินผลการต่อสู้ระหว่างสตีฟ แบนนอน กับพวกในการต่อกรกับพรรครัฐการว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่ถึงวันนี้เราก็รู้แล้วว่า สตีฟ แบนนอน ถูกปลดออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาประธานาธิบดีแล้ว และห้ามไม่ให้เข้าไปยุ่มย่ามในทำเนียบขาวอีกต่อไป

คนที่สั่งให้จัดการแบนนอนคือนายพลจอห์น เคลลี เลขาธิการใหญ่ของสำนักประธานาธิบดีในทำเนียบขาว (White House Chief of Staff) ที่ทรัมป์แต่งตั้งแทนไรซ์ พรีบัส ซึ่งเป็นประธานของคณะกรรมการกลางพรรครีพับลิกัน (สหรัฐฯ ไม่มีตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าพ่อเหมือนในประเทศอื่นๆ) และลาออกไม่กี่เดือนหลังจากเข้ากำกับทำเนียบขาว เพราะไม่สามารถควบคุมการทำงานได้อย่างที่ทรัมป์ต้องการ ก่อนหน้านั้นนายพลไมเคิล ฟลินน์ ที่ถูกจับได้ว่ากระทำผิดกฎหมายความมั่นคงของรัฐ แล้วโกหกต่อรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ว่าไม่เคยทำอะไรผิด ก็ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของประธานาธิบดีอีกเหมือนกัน โดยอยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์เพียง 24 วัน

นี่คือสภาพของทำเนียบขาวอันปั่นป่วนและโกลาหลนับแต่วันแรกถึงวันนี้ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้มาเหนือเมฆและไม่เหมือนใครทั้งสิ้น

นับจากเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนมกราคม 2017 ทรัมป์แถลงและดำเนินนโยบาย รวมถึงออกคำสั่งของประธานาธิบดีในหลายเรื่องที่เป็นการกระทำอันตรงข้ามกับอุดมการณ์และคติ รวมถึงขนบธรรมเนียมการปฏิบัติของประธานาธิบดีที่ได้เคยปฏิบัติกันมากว่าสองศตวรรษอย่างหน้าตาเฉย ไม่สะทกสะท้านต่อเสียงคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจในตำแหน่งสูงสุดดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น การประกาศไม่ให้คนจากประเทศอันตรายในแอฟริกาและตะวันออกกลางที่ไม่น่าไว้วางใจ 6 ประเทศ บวกเกาหลีเหนือและเวเนซูเอลา เข้าประเทศสหรัฐฯ จนก่อให้เกิดการโกลาหลเป็นการใหญ่ เพราะกระเทือนถึงผู้คนจำนวนมากที่กำลังเดินทาง จะเดินทาง หรือมีกำหนดการทำเรื่องเข้าสหรัฐฯ ต้องยกเลิกโดยกะทันหัน นำสู่การประท้วง คัดค้าน ร้องเรียน

กระทั่งศาลสหพันธ์เขตที่ 4 และ 9 ในเวอร์จิเนียและแคลิฟอร์เนียมีคำตัดสินออกมาว่าคำสั่งทางบริหารของประธานาธิบดีดังกล่าวนั้นละเมิดรัฐธรรมนูญ การใช้เหตุผลทางศาสนาและเชื้อชาติมาเป็นฐานในการปฏิบัติ ถือว่าละเมิดหลักการในรัฐธรรมนูญและในกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

แม้ต่อมากระทรวงยุติธรรมนำเรื่องขึ้นสู่ศาลสูง หลังจากที่ทำเนียบขาวยอมแก้ไขถ้อยคำบางตอนในคำสั่งให้ลดระดับของการเหยียดเชื้อชาติและศาสนาลง ในที่สุดศาลสูงก็ยอมรับความชอบธรรมของคำสั่งบริหารนี้ว่าใช้บังคับได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยและมั่นคงของประเทศ แต่ความเห็นดังกล่าวนี้ไม่ได้หมายความว่าคำสั่งของทรัมป์ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยังต้องรอการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายต่อไป

นั่นเป็นการประเดิมการใช้อำนาจของประธานาธิบดีครั้งแรกของทรัมป์ และได้ผลลัพธ์ทันตาเห็น คือมีการต่อต้านอำนาจโดยประชาชน ผู้คนจำนวนมากพากันเดินขบวนต่อต้านนโยบายและแนวปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเชื้อชาติรวมถึงเพศ ข้อสังเกตคือนักกิจกรรมและคนรักความเป็นธรรมสตรีออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านทรัมป์มากเป็นประวัติการณ์

หนึ่งปีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นหนึ่งปีของความโกลาหล ตบตี ชุลมุนวุ่นวาย และความแตกแยกขัดแย้งตั้งแต่ในทำเนียบขาว แล้วแผ่กระจายไปในทุกระดับทุกสถาบันของสหรัฐฯ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

นักวิจารณ์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ กฎหมาย และประวัติศาสตร์อเมริกัน ต่างพากันออกมาให้ความเห็นต่อสถานะและอนาคตของรัฐบาลนี้เป็นการใหญ่ ส่วนมากเห็นตรงกันในด้านที่สร้างปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของระบบการเมืองที่ดำเนินมากว่าสองศตวรรษ เป็นจุดเริ่มต้นของการท้าทายต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง ประสิทธิภาพ และความเชื่อถือ ที่พลเมืองอเมริกันมีต่อระบบการเมืองของเขาอย่างรุนแรง

ปทัสถานในการเมืองอเมริกันที่ทรัมป์ละเมิดหรือไม่เคารพ ได้แก่ การไม่เคารพความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เสรีภาพของสื่อมวลชน ความเป็นอิสระของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ประณามการใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มขวาสุดขั้ว ไม่ประณามผู้นำเผด็จการในประเทศอื่นๆ คุกคามนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ในคณะรัฐบาลและทำเนียบขาว ผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างส่วนตัวและครอบครัวกับตำแหน่งประธานาธิบดี สุดท้ายคือการไม่ยึดถือในความจริง (ทวิตข้อความที่เป็นการโกหกแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 ครั้ง)

“ประชาธิปไตยในอเมริกา” ที่อเล็กซิส เดอ ต๊อกเกอวิลล์ นักการเมืองฝรั่งเศส เคยเขียนถึงอย่างอัศจรรย์ใจในความแปลกใหม่และล้ำยุค จะยังสามารถรักษาความแปลกใหม่และทันสมัยเอาไว้ต่อไปได้หรือไม่ ภายใต้อุ้งมือของประธานาธิบดีที่ไม่เหมือนใครคนนี้

ผมจะใช้คอลัมน์นี้ศึกษาและวิเคราะห์ “ประชาธิปไตยในอเมริกา” แต่คราวนี้จะเน้นไปที่ลักษณะของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในระบบการเมืองอเมริกัน (“ปัญหาประชาธิปไตยในอเมริกา”) ในหลากหลายด้านและประเด็นเท่าที่ติดตามและค้นคว้าได้ทันสถานการณ์

การศึกษาการเมืองอเมริกันนี้ ไม่ใช่เป็นจุดหมายเดียว หากแต่ผมยังมีอีกจุดหมายที่อาจสำคัญและมีความหมายต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองอเมริกันมาอย่างยาวนาน นั่นคือ การใช้ความรู้และความเข้าใจในปัญหาของสหรัฐอเมริกาเพื่อทำความเข้าใจและเป็นกลวิธีหนึ่งในการศึกษาและเข้าใจระบบการเมืองและประวัติศาสตร์ไทย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020