fbpx
ความรัก นักเขียนสองคน และหุบเขาฝนโปรยไพร ในความทรงจำของ อุรุดา โควินท์

ความรัก นักเขียนสองคน และหุบเขาฝนโปรยไพร ในความทรงจำของ อุรุดา โควินท์

นับแต่การจากไปของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2549 เรื่องราวของเขาถูกจารึกและเล่าขานในฐานะนักเขียนผู้อุทิศชีวิตให้การทำงานวรรณกรรม

ความตายในวัยหนุ่มทำให้เขาถูกเอ่ยถึงในฐานะของตำนาน ผู้เก็บตัวสร้างงานเขียนอยู่บนหุบเขาฝนโปรยไพร

น้อยครั้งนักที่เราจะได้ยินเรื่องราวของกนกพงศ์ในแง่มุมอื่นๆ–โดยเฉพาะในมุมของความรัก

สิบปีผ่านไป ชมพู-อุรุดา โควินท์ ตัดสินใจเขียนถึงกนกพงศ์ในแบบที่เธอรู้จัก ในนามของคนรัก และในนามของนักเขียน

 

ฉันอาจหาญคิด-ไม่มีใครเขียนถึงพี่ได้ดีเท่าฉัน และพร้อมกันนั้น ฉันก็เห็น ว่าชีวิตอันแสนสั้นของพี่มีค่าเพียงใด

พี่อยู่อย่างสุกสว่าง ใช้ชีวิตของนักเขียน เจิดจ้าในฝนโปรยไพร และพี่จากไปเพียงกาย เรื่องเล่าที่ฝากไว้ แม้ไม่มากเท่าที่ตั้งใจหมายมั่น แต่มันมากพอ พี่ยังอยู่ งานของพี่เกิดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อมีคนอ่าน

ถ้ามีคนถาม ฉันเขียนถึงพี่เพื่ออะไร อย่างเล่นลิ้น ฉันอาจตอบว่าคิดถึง แต่…พี่คะ ไม่มีเหตุผลที่ฉันจะไม่เขียน

นี่ไม่ใช่การเขียนถึงความตาย แต่เป็นเรื่องราวแห่งชีวิต การเกิดใหม่ในเรื่องเล่า และเป็นน้ำหวานที่กลั่นจากน้ำตา—ของฉัน

 

‘หยดน้ำหวาน ในหยาดน้ำตา’ คือผลงานที่บันทึกวันเวลาที่ทั้งสองได้ชีวิตร่วมกัน ความเจ็บปวดและคราบน้ำตาในวันนั้น ผลักดันให้เธอเขียนถึงเขาในวันนี้

นี่คือนิยายรักที่ทำให้เรารู้จักกนกพงศ์ในมุมที่มีชีวิตชีวา ขณะเดียวกันก็ทำให้รู้จักอุรุดาในมุมที่เข้มแข็ง

ในฐานะนักเขียน เธอบอกว่าบางครั้งเรื่องที่อยากเขียนที่สุด ก็เป็นเรื่องที่เขียนยากที่สุด

เรานัดพบกับเธอ เพื่อขุดรื้อความทรงจำและเหตุการณ์ที่นำมาสู่การตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ หนังสือที่ว่าด้วยความรักของนักเขียนสองคน ที่ครั้งหนึ่งเคยใช้ชีวิตร่วมกันบนหุบเขาฝนโปรยไพร

 

สังเกตว่าคุณชอบเขียนถึงเรื่องความสัมพันธ์ อยากรู้ว่ามีที่มาที่ไปยังไง

ชอบเขียนมาตั้งแต่แรกเลย เป็นไปโดยไม่รู้ตัว เรื่องสั้นแรกๆ ที่เราเขียน เรามักจะเขียนเรื่องความสัมพันธ์ จนกระทั่งเขียนไปสักพัก เป้ – วาด รวี ก็ถามเราว่า รู้ตัวไหมว่าเธอชอบเขียนเรื่องความสัมพันธ์

เออ นั่นสิ มันทำให้เราต้องกลับมาถามตัวเองเหมือนกันว่าทำไม ซึ่งเราก็ตอบไม่ได้ในตอนนั้น เพราะว่าจังหวะที่เขาถาม เรากำลังนั่งรถไปงานศพของพี่กนกพงศ์ แต่พอมาคิดทีหลัง เราพบว่าเรามักเอาความสะเทือนใจที่ได้จากความรักมาเขียน เก็บความรู้สึกจริงที่ได้จากความรักในแต่ละครั้ง เอามาสร้างเป็นเรื่องสั้น เรารู้สึกว่ามันสนุก มันน่าเขียนจังเลย ขณะเดียวกันก็คิดว่าต้องมีคนอยากอ่านแน่ๆ เลย (หัวเราะ)

 

แล้วการกลั่นเรื่องจริงออกมาเป็นเรื่องแต่ง กระบวนการเป็นยังไง ต้องบิดหรือปรับเยอะไหม

อันดับแรกเลยคือ ตัวละครที่เราเขียนถึง ควรจะจำตัวเองไม่ได้ เวลาเราเขียนถึงคนๆ นั้น เราจะคิดถึงความรู้สึกที่เรามีต่อเขา แต่ไม่ได้เขียนถึงตัวเขาจริงๆ จะบิดหมดเลย ทั้งรูปร่างหน้าตา นิสัย แต่จะเก็บความรู้สึกหรือเหตุการณ์บางอย่างไว้ เวลาเขามาอ่านแล้วเขาควรจะจำตัวเองในนั้นไม่ได้

 

ทำไม?

เราไม่อยากให้เขาจำได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาอยากเป็นตัวละครของเรารึเปล่า เวลาที่เขียนถึงคนรักเก่า คนที่เราแคร์ที่สุดคือเขา ไม่ว่าเขาจะเลิกกับเราไปนานแล้ว หรือยังไงก็ตาม เราไม่อยากให้เขาจำตัวเองได้ นอกจากว่าบางคนที่เราเขียนถึงในด้านที่ปรารถนาดี เขียนถึงเพื่อที่จะคารวะ เราก็จะจงใจเขียนแบบตรงๆ

 

พอมาถึงเรื่องล่าสุด ‘หยดน้ำหวาน ในหยาดน้ำตา’ ถือว่าเป็นเรื่องที่เขียนยากสุดเลยไหม

ยาก…ยากตรงที่ว่าเราจะเล่ายังไง เล่าแค่ไหน เล่าด้วยเสียงยังไง แล้วในแง่ความรู้สึก บางตอนที่เขียน ก็ยากในแง่ที่เราเศร้ากับมัน บางครั้งควบคุมตัวเองไม่ได้ เขียนแล้วจะร้องไห้

ความรู้สึกที่อยากจะเขียน มีมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่พี่กนกพงศ์เสีย แต่ตอนนั้นมันเศร้าเกินไป มันไม่มีสติสตังค์ ก็เลยยังไม่เขียน แต่ความคิดว่าอยากเขียนก็วูบขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วเราก็เก็บความรู้สึกนี้ไว้เรื่อยๆ จนกระทั่งวันครบรอบการตายปีที่เก้า เราเห็นคนมากมายเอาพวงมาลัย เอาดอกดาวเรือง ไปคล้องที่รูปปั้นของเขา ซึ่งแง่หนึ่งก็เป็นการแสดงความเคารพ แต่อีกแง่เรากลับรู้สึกว่าเหมือนเขากลายเป็นเครื่องสักการะไปแล้ว แล้วผู้ชายคนที่เราเคยรู้จักล่ะ หายไปไหน? เราอยากให้คนทั่วไปได้รู้จักผู้ชายคนนั้น คนที่เรารู้จักในฐานะมนุษย์ ที่มีอะไรมากไปกว่านักเขียนคนหนึ่งซึ่งตายไปแล้ว

 

เราอยากเก็บความมีชีวิตชีวาของเขา ความเกรี้ยวกราดของเค้า ความน่ารักของเขา และทุกๆ ด้านของเขาที่เรารู้จัก ไว้ในเรื่องแต่งของเรา

 

ตอนที่ตัดสินใจว่าจะเขียน เรารู้ว่าจะเขียนเป็นนิยาย แต่จะเขียนยังไง เพราะนิยายมันก็มีหลายแบบ แต่พอเราเลือกว่าจะเขียนเรื่องรัก มันก็ไปได้เร็วขึ้น เพราะเท่าที่ผ่านมาเราก็เขียนเรื่องรัก แล้วที่เราไปอยู่ที่นั่นก็เพราะความรัก มองย้อนไปมุมไหนก็เห็นความรัก รายละเอียดต่างๆ เราไม่เคยจดไว้เลย แต่พอเริ่มเขียน เรากลับจำได้เยอะมาก ภาพเล็กๆ น้อยๆ ผุดขึ้นมาหมดเลย

 

แล้วเวลาคุณเขียนถึงกนกพงศ์ มีการบิดตัวละครไหม หรือเป็นบุคลิกของเขาเลย

เป็นเขาเลย เพราะเราอยากจะเก็บเขาไว้ ถ้าพูดถึงบุคลิก นิสัย หรือเจตจำนงบางอย่างที่เราคิดว่ามันสำคัญ เราจะหาทางใส่เข้าไป พี่ขจรฤทธิ์ รักษา (นักเขียน/บรรณาธิการ เพื่อนสนิทของกนกพงศ์) แกบอกว่าบางตอนแกอ่านแล้วหัวเราะเลย เพราะกนกพงศ์เป็นแบบนี้เลย เราจะเก็บรายละเอียดของเขาได้เยอะ โดยเฉพาะอากัปกิริยาต่างๆ ด้วยความที่เขาไม่ค่อยพูด ทำให้เราต้องสังเกตเขาเยอะมาก เวลาเราอยู่กับผู้ชายที่ไม่พูด มันมีแต่ตาของเขาเท่านั้น ที่จะบอกเราได้ว่าตอนนี้เขารู้สึกยังไง

อยากถามย้อนไปถึงช่วงแรกที่มาอยู่กับกนกพงศ์ ว่าเป็นยังไง เหมือนหรือต่างจากที่คิดไว้อย่างไรบ้าง

ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยคิดเหมือนกันว่า การมีแฟนเป็นนักเขียนจะเป็นยังไง ช่วงแรกๆ ที่ไปอยู่กับเขา เราก็ตกใจนะ คือเวลาเขาทำงานมันน่ากลัวมาก บรรยากาศขมึงทึงมาก จริงจังมาก เครียดไปหมด แล้วมันไม่มีคนอื่น มีแค่เรากับเขาสองคนอยู่ในบ้าน มันทำให้บ้านทั้งหลังเครียด…

จริงๆ แล้วมันยากมากในช่วงแรก แต่พอปรับตัวได้ พอเข้าใจว่าเขาไม่ได้เครียดเพราะเรานะ ไม่ได้เกี่ยวกับเรา แต่เครียดเพราะเขากำลังทำงาน เขากำลังต่อสู้กับตัวเอง ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจหรอก ว่าทำไมมันต้องต่อสู้ ทำไมจะต้องรุนแรงขนาดนั้น พออยู่ไปสักพักถึงเข้าใจว่ามันเป็นธรรมชาติของเขา

แต่อีกแง่ เราก็ได้เรียนรู้จากเขาเยอะ โดยเฉพาะความมั่นใจในการเขียนเรื่องความรัก เขาบอกว่าเราสามารถเขียนให้มันดีได้ เรื่องรักที่ดีๆ ก็มีหลายเรื่องที่เขาชอบ เพราะฉะนั้นอย่าไปอายที่ตัวเองเป็นนักเขียนเรื่องรัก

 

ทำไมตอนนั้นถึงอายที่จะเขียนเรื่องรัก

จริงๆ ต้องบอกว่า อายที่ตัวเองยังเขียนเรื่องสั้นได้ไม่ดีมากกว่า แต่ตอนนั้นที่เรามองว่าไม่ดี เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องรัก เป็นเรื่องพื้นๆ เกี่ยวกับตัวเอง ก็เลยอาย แต่พี่กนกพงศ์เป็นคนทำให้เรามั่นใจว่าเรื่องรักที่ดีๆ ก็มี ถ้าธรรมชาติของเรามีความสนใจแบบนั้น เราก็ควรจะเป็นตัวเรา เพียงแต่ว่าเราก็ต้องหาทางพัฒนาด้วย

ถึงที่สุดแล้ว วิธีการทำงานอย่างเคร่งเครียดบ้าคลั่งของเขา มันก็ทำให้เราบอกกับตัวเองด้วยว่า เราต้องพยายามกว่านี้ ทำงานให้เยอะกว่านี้

 

ถ้าให้พูดในมุมของคุณ คุณคิดว่างานเขียนของกนกพงศ์น่าสนใจยังไง โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ๆ ที่อาจตามไม่ทัน หรือไม่รู้จักว่ากนกพงศ์คือใคร

ถ้าในแง่ของงานที่มุ่งสะท้อนปัญหาสังคม โดยเฉพาะสังคมภาคใต้ เราว่าพี่กนกพงศ์ได้ทำไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ ทั้งกลวิธี ภาษา และความเข้มข้นทางความคิด

แต่สิ่งที่ทุกคนจะได้เรียนรู้จากงานของกนกพงศ์แน่ๆ ก็คือภาษา ไม่ว่าคุณจะเข้าใจบริบทหรือเนื้อหาหรือไม่ก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ภาษาของเราดีขึ้นก็เพราะเราอ่านเรื่องสั้นของพี่กนกพงศ์นี่แหละ โดยเฉพาะเรื่องสั้นในยุคหลังที่เขาให้เราช่วยอ่านออกเสียง เราจะเห็นวิธีใช้รูปประโยค การใช้คำของเขา แล้วเราก็ซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว

 

กนกพงศ์ให้คุณช่วยให้อ่านออกเสียงให้ฟัง ?

เราอ่านทุกเรื่อง อ่านจนคอแหบคอแห้ง สามสิบหน้าก็ต้องอ่าน คือเขาก็ใช้งานเรานั่นแหละ (หัวเราะ) อันดับแรกเลยเขาจะดู ดูปฏิกิริยาของเราต่อเรื่องที่เขาเขียน ว่าเราอ่านแล้วเราชอบมั้ย จากน้ำเสียง หรือจากแววตาตอนที่เราอ่าน อันดับที่สองคือเขาจะฟัง ฟังเสียงที่ตัวเองเขียนว่ามันดีรึยัง

 

พออยู่ด้วยกันไปนานๆ พบการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเองบ้าง

เยอะ เยอะมาก จริงๆ เราก็เป็นคนลุยอยู่แล้วนะ แต่ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะทำอะไรได้มากขนาดนั้น พอไปอยู่ที่นั่น มันรู้สึกว่า เออ เราทำได้ทุกอย่างเลย ให้ผ่าฟืนเราก็ทำได้ ให้ขุดดินเราก็ทำได้ ขึ้นเขาเราก็ทำได้ แล้วเราก็กลายเป็นสาวชาวบ้านไปโดยไม่รู้ตัว เคยมีน้องคนนึงที่ไปเยี่ยมที่บ้าน แล้วทักว่า “พี่พูยิ้มเปลี่ยนไป ยิ้มเหมือนสาวชาวบ้าน” คือมันมีความอาย มีความเจียมเนื้อเจียมตัว แต่เราก็รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

ส่วนในแง่ความคิด เราว่าเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เพราะเราพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่แตกต่างจากบ้านเรามาก การที่ไปอยู่ที่นั่น เราจะถูกมองว่าเป็นคนอื่นอยู่เสมอ แม้ว่าเราจะอยู่นานแค่ไหน เราก็จะไม่สามารถและไม่มีทางเป็นพวกพ้องหรือส่วนหนึ่งของคนที่นั่นได้ ด้วยเงื่อนไขแบบนี้ มันทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น จากที่ไม่เคยรู้สึกว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ก็ได้เรียนรู้จากที่นั่น มันสอนให้เราปรับตัว ปรับวิธีคิดว่าจะอยู่ยังไง จะคานอำนาจนี้ยังไง

 

สังคมที่นั่นเป็นยังไง

เป็นสังคมที่ไม่มีใครถามชื่อเรา ไม่มีใครสนใจเรา ไม่มีใครคุยกับเรา แต่ว่าชอบมองเราจัง.. (หัวเราะ) และเราแทบไม่เคยเห็นผู้หญิงไปนั่งในวงสนทนาผู้ชายเลย คือผู้ชายเขาก็จะนั่งคุยกันเป็นกลุ่ม ส่วนผู้หญิงก็อยู่แต่ในครัว แต่เราเป็นคนที่ต้องการการสนทนาไง บางทีเราก็จะไปนั่งเจี๋ยมเจี้ยมในวงผู้ชาย ซึ่งก็อาจจะดูผิดที่ผิดทาง ถึงที่สุดแล้วเราก็ต้องปรับตัว ปรับในที่นี้ก็คือเคารพวิถีชีวิตของพวกเขา แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องเป็นตัวของตัวเองด้วย

 

แล้วในมุมของกนกพงศ์ เขาเคยบอกคุณไหมว่า ได้เรียนรู้อะไรจากคุณบ้าง

เขาบอกว่า ความงดงามทั้งหลายในชีวิตของเขาทั้งหมด เขาเรียนรู้มาจากผู้หญิงทั้งนั้น มาจากผู้หญิงที่เขารักทุกๆ คนเลย เช่น ทำให้เขาเห็นว่าโลกมันสวยยังไง ทำให้รู้ว่าความรักมันดียังไง ส่วนเรา… พี่เขาบอกว่าทำให้รู้สึกว่าอยากมีบ้าน คือก่อนหน้านี้เขาจะเป็นคนที่ชอบพเนจร อยากย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะทำงานเขียน แต่การที่เราเข้าไปอยู่ในชีวิตเขา ทำให้เขารู้สึกว่าอยากมีบ้านของตัวเอง ซึ่งจริงๆ อาจไม่เกี่ยวกับเราก็ได้ อาจเกี่ยวกับวัยของเขาด้วย (หัวเราะ)

การทำงานเขียนของกนกพงศ์ เป็นที่ร่ำลือในแง่ของความเคร่งขรึม จริงจัง และโดดเดี่ยว พอวันหนึ่งที่คุณได้ไปอยู่ใกล้ชิดกับเขา ต้องมีการรักษาระยะห่างไหม หรือแบ่งพื้นที่ส่วนตัวกันยังไง

คือเวลาเขาขึ้นไปทำงาน เราก็ไม่ควรจะขึ้นไปยุ่ง ซึ่งเขาจะไม่บอกนะ แต่เราต้องรู้เอง จับความรู้สึกเอาเอง

ตอนแรกเราก็จะไม่รู้หรอก ไม่รู้ว่าเขาขึ้นไปทำงาน พอเขาลงมาเราก็จะชวนคุยเรื่อยเปื่อย แต่พอเราสังเกตเห็นสีหน้าเขา ว่าเขาไม่พอใจที่เราชวนคุย เราก็จะค่อยๆ เรียนรู้

เขาจะเป็นคนที่ไม่พูดว่าต้องการอะไร บรรยากาศที่เขาต้องการคือเราต้องรู้เอง เราก็จะคอยสังเกตจากตาเขา ว่าเขารู้สึกยังไง เพราะเวลาเขาเขียนหนังสือ เขาจะคิดถึงมันตลอดเวลา แม้ว่าเขาจะเดินลงมาชงกาแฟ เขาก็จะคิดถึงประโยคที่กำลังจะเขียน คิดไว้อยู่ในหัว แล้วเขาจะหงุดหงิดมากถ้ามีอะไรมาขัดหรือทำให้ประโยคนั้นมันหลุดไป

สิ่งที่เราคิดเสมอ คือเราต้องไม่เป็นปัญหาในการทำงานของเขา ถ้าเขาเขียนหนังสือไม่ได้ ต้องไม่ใช่เพราะอารมณ์เสียจากเรา เราต้องเป็นคนซับพอร์ตให้เขาเขียนหนังสือได้ เราคิดว่านี่เป็นจุดสำคัญที่สุดที่ทำให้เราอยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่แค่ความรักอย่างเดียว

 

ถ่ายโดย : ธาตรี แสงมีอานุภาพ

ที่นี้ เมื่อเกิดความสูญเสียขึ้น การรับมือกับความสูญเสียนั้น ใช้เวลานานไหม

ไม่นานนะ แต่แรกๆ เราจะปฏิเสธมัน จะถามตัวเองตลอดว่าทำไมเรื่องแบบนี้ต้องเกิดขึ้นกับเรา หรือบ่อยครั้งเราก็โทษตัวเองเหมือนกันว่า ถ้าเราบังคับให้เขาไปหาหมอก่อนหน้านี้ เขาจะไม่ตายรึเปล่า ความคิดอย่างนี้วนมาเป็นร้อยเป็นพันครั้ง คล้ายว่าเรายังไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น

ช่วงงานศพเราจะไม่ค่อยได้คิดอะไร เพราะมันมีสิ่งที่ต้องทำ ต้องจัดการ ที่ยากที่สุดคือหลังจากนั้น มันเป็นทั้งความโชคดีและความโชคร้าย พอพี่กนกพงศ์เสีย ชีวิตเราก็เหมือนรีสตาร์ทใหม่ ต้องเริ่มต้นจากศูนย์อีกครั้ง ไม่มีบ้าน ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีอะไรเลย หมายความว่าถ้าเราอยากจะใช้ชีวิตต่อ ชีวิตมันไม่อนุญาตให้เราเศร้าได้ขนาดนั้น เราต้องแบ่งพลังงานมาจัดการสิ่งเหล่านี้ ต้องคิดว่าจะไปอยู่ที่ไหน จะทำอะไรต่อไป ในขณะที่ความเศร้าก็ยังมีอยู่ ไม่ได้หายไปทั้งหมด

ถึงที่สุดแล้ว เมื่อผ่านไปประมาณปีนึง เราก็เริ่มดีขึ้น ก็คือตอนที่รวมเรื่องสั้น ‘มีไว้เพื่อซาบ’ ออกมา แล้วผลตอบรับของมันค่อนข้างดี ทำให้เริ่มเห็นทางชัดขึ้นว่า นี่ไง ฉันเขียนหนังสือได้

 

ในแง่หนึ่ง ถือเป็นการทำแทนกนกพงศ์ด้วยไหม ในแง่ที่เขาไม่สามารถเขียนได้อีกต่อไปแล้ว

เราไม่ได้คิดเรื่องทำแทนนะ เราแค่คิดว่ามันมีนักเขียนคนหนึ่งซึ่งเก่งมาก ทุ่มเทมาก แล้วก็ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง แต่ไม่มีโอกาสที่จะเขียนต่อเพราะว่าตายก่อน เราคือคนที่มีโอกาสได้ใช้ชีวิต แล้วเราก็เขียนหนังสือได้ ฉะนั้นถ้าเราไม่เขียน มันน่าเสียดาย

 

สมมติว่าถ้ากนกพงศ์ได้อ่านเล่มนี้ จะรู้สึกประมาณไหน

น่าจะอายนะ แต่ก็น่าจะชอบด้วย ในแง่ที่เห็นตัวเองเป็นตัวละครที่มีชีวิตชีวา มากกว่าการเป็นนักเขียนที่ขึงขัง เพราะนั่นคือตัวเขาจริงๆ เหมือนที่เขาเคยพูดว่าตัวละครมันมีอายุยืนยาวกว่าคน

แล้วตอนที่อยู่กับเขา เราจะรู้ว่าเขาชอบเวลาที่เราร้ายๆ เช่น เวลาเราว่าเขา ดุเขา เพราะปกติเขาจะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีใครว่า เหมือนทุกคนจะให้เกียรติเขา เกรงใจเขา แต่เวลาเราอยู่กับเขา อะไรที่เรารู้สึกว่ามันไม่ดี ก็ต้องพูด

 

เวลาที่คุณดุเขา เขาตอบสนองยังไง

เขาก็เงียบ แม้เราจะด่าแค่ไหนเขาก็จะเงียบ ไม่มีการชักสีหน้า ไม่อะไรทั้งนั้น แล้วเดี๋ยวเขาก็จะพูดออกมาสักสองสามคำที่ทำให้เราหยุดหรือคิดได้เอง แล้วเดี๋ยวเขาก็จะกลับไปคิดเหมือนกัน หลังจากนั้นเขาก็จะเดินมาบอก มาอธิบายกับเรา เหมือนว่าขอบคุณที่เตือน ที่กล้าพูด ขอบคุณที่ทำให้เขาเห็น

 

ถึงวันนี้ ผ่านมา 11 ปี บทเรียนสำคัญที่คุณได้รับจากความสูญเสียครั้งนั้นคืออะไร

มันเหมือนแผล แผลที่อยู่ในใจ เราต้องมองเห็นมัน คนที่อยู่กับเราก็ต้องเห็นว่ามีแผลนี้อยู่ แล้วก็ต้องรู้ว่าจะอยู่กับมันอย่างไร

ถ้าวันนั้นเราอ่อนแอ ไม่คิดจะทำชีวิตให้ดีขึ้น แผลนั้นก็จะสร้างแต่ความเจ็บปวดให้เรา แต่ถ้าเราเรียนรู้แล้วก้าวต่อไป ทำชีวิตตัวเองให้ดี มันก็จะแผลที่มีค่า

 

การเขียนถึงคนรักเก่าหรือการเขียนถึงความสัมพันธ์ที่ผ่านไปแล้ว มีอะไรที่น่ากังวลไหม

เรากลัวอย่างเดียว ก็คือกลัวว่ามันจะกระทบต่อความสัมพันธ์ปัจจุบัน ซึ่งก็ต้องเคลียร์กัน คุยกัน

จริงๆ แล้วต้น (อติภพ ภัทรเดชไพศาล – คนรัก) เป็นคนสนับสนุนให้เขียนด้วยซ้ำ เพราะเราเคยบ่นกับเขาเหมือนกันว่า จะปล่อยให้กนกพงศ์กลายเป็นรูปปั้นแบบนี้เหรอ ต้นก็บอกว่า ถ้างั้นพูก็ต้องเขียนนะ เพราะใครจะรู้จักกนกพงศ์ในช่วงนั้นได้ดีเท่าพู เขาเป็นคนทำให้เราฉุกคิดเรื่องนี้  แต่เราก็บอกว่าเขาว่ามันต้องมีบทอีโรติคอยู่บ้างนะ (หัวเราะ) แค่ตรงนี้เองที่เราคุยกัน นอกนั้นไม่มีปัญหา

 

การที่เราเลือกใช้ชีวิตกับเขาตอนนี้ มันสำคัญกว่าการที่เราจะเขียนถึงใครอยู่แล้ว ซึ่งเราก็ดูแลเอาใส่ใจเขาเหมือนเดิม รักเขา กอดเขาทุกวันเหมือนเดิม

 

การเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ สำหรับคุณเป็นเรื่องยากไหม

ในช่วงแรกๆ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเรา เพราะคนจะติดว่าเราคือแฟนกนกพงศ์ แต่เผอิญว่าช่วงที่เจอต้น มันก็ผ่านมา 5-6 ปีแล้ว ภาพจำแบบนั้นมันก็เริ่มจางไปบ้างแล้ว

จริงๆ เรากับต้นคุยกันเรื่องนี้เยอะมาก คุยกันตั้งแต่ก่อนที่เราจะคบกันจริงๆ ด้วยซ้ำ การที่เราเป็นแฟนกนกพงศ์คืออดีตที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งความจริงในข้อนี้ ต้นต้องยอมรับและก้าวข้ามให้ได้ แต่ขณะเดียวกันเขาก็ต้องรู้ด้วยว่า เราต้องการที่จะก้าวต่อไป เราต้องการคนที่มองเห็นเราจริงๆ และเราไม่ได้เอาเขามาแทนใคร

มองย้อนกลับไป ความตายของกนกพงศ์ แง่หนึ่งก็ดูเป็นความตายที่เป็นอุดมคติพอสมควร

เรารู้สึกว่าเขาตายได้ดี ตายในจังหวะที่ดี คือยังไม่แก่ แล้วก็ไม่เจ็บ เขาเคยบอกเสมอว่าเขาไม่กลัวตาย แต่เขาไม่อยากเจ็บ ซึ่งวิธีตายของเขาก็คือหยุดหายใจแล้วหลับไปเลย ไม่เจ็บเลย ไปสบาย แต่อีกแง่หนึ่ง เราก็เสียดายที่เขาไม่ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งถ้าเขาได้เห็น ก็น่าจะผลิตงานที่ดีออกมาได้อีกมาก

หลังจากที่เขาตาย ระหว่างงานศพ ทักษิณก็ประกาศยุบสภา หลังจากนั้นก็เลือกตั้งใหม่ แล้วก็ได้เข้ามาอีกรอบ แล้วถึงมีปฏิวัติ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพี่กนกพงศ์จะเรียนรู้อะไรจากปรากฏการณ์เหล่านี้ หรือจะมีความคิดแบบไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนก็สงสัยเหมือนกัน แต่เราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปคิดหรือตอบแทนเขาได้

 

พูดได้ไหมว่าตอนนี้หลุดพ้นจากเงาของกนกพงศ์มาแล้ว

เราไม่เคยอยู่ในเงาของเขาอยู่แล้ว แต่คนอื่นอาจคิดหรือมองแบบนั้นไปเอง เหมือนเราเข้าไปอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ คนก็เห็นต้นไม้ใหญ่ก่อน เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าเราก็เป็นดอกไม้ในแบบของเราเหมือนเดิม (ยิ้ม)

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save