fbpx

CCRC คณะกรรมการทบทวนคดีอาญา ทางสู้สุดท้ายของเหยื่อกระบวนการ(อ)ยุติธรรม

เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีคดีอื้อฉาวที่เป็นข่าวพาดหัวสื่อมวลชนในสหราชอาณาจักรติดต่อกันหลายวัน สามารถแย่งพื้นที่ข่าวไวรัสกลายพันธ์ุเดลตาซึ่งกำลังระบาดอย่างรวดเร็วได้ทั้งสัปดาห์ เมื่อศาลอุทธรณ์พลิกคำพิพากษาในคดีอาญาโดยให้จำเลยหลายร้อยคนพ้นจากความผิดในคดีคดโกงยักยอกทรัพย์จากการไปรษณีย์แห่งชาติ (the Post Office) ซึ่งสื่อมวลชนรายงานว่าเป็นการพลิกคดีครั้งประวัติศาสตร์ เพราะจำเลยที่ชนะคดีมีหลายร้อยคน หลังจากศาลชั้นต้นตัดสินคดีผิดพลาด (miscarriage of justice)

นับเป็นการกลับคำพิพากษาในคดีอาญาครั้งใหญ่ที่สุดของศาลอังกฤษ โดยมีการต่อสู้กันยาวนานกว่าสิบปี จำเลยหลายคนต้องติดคุกติดตารางกันหลายปี บางคนก็เสียชีวิตไประหว่างที่ต้องโทษคดีอาญา ทั้งนี้ต้นเหตุของกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดได้สร้างความเจ็บปวดและสูญเสียให้แก่ครอบครัวของผู้บริสุทธิ์กว่าเจ็ดร้อยคน ในประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีมาตรฐานและเคร่งครัดกับกระบวนการยุติธรรม จนหลายประเทศมักจะเอาแบบอย่าง

ความสำเร็จในการต่อสู้ทางคดีความของเหยื่ออธรรมจำนวนหลายร้อยคนคราวนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของ หน่วยงานอิสระของ สหราชอาณาจักรที่เรียกว่า คณะกรรมการทบทวนคดีอาญา (the Criminal Cases Review Commission – CCRC)

คณะกรรมการชุดนี้ทำงานเป็นอิสระจากกระบวนการยุติธรรมในระบบปกติ มีอำนาจตามกฎหมายคอยตรวจสอบคดีต่างๆ ที่มีข้อสงสัยว่าเกิดความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องกลายเป็นแพะรับบาป นอกจากนี้ยังมีหน้าที่เปิดรับเรื่องร้องเรียนจากจำเลยที่เชื่อมั่นว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ตกเป็นเหยื่อของกลไกที่ผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม

CCRC มีผลงานที่โด่งดังสร้างประวัติศาสตร์มาแล้วหลายคดี ตั้งแต่ก่อตั้งมาเมื่อปี 1995 แต่คดีนี้นับเป็นคดีที่มีผู้ร่วมกันเป็นจำเลยในข้อกล่าวหาเดียวกันเป็นจำนวนมากที่สุด ถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ซึ่งคงมีการกล่าวขานกันต่อไปอีกนาน และเป็นข้อพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งว่า ประชาชนในสังคมจะอยู่ร่วมกันได้ก็ต่อเมื่อมีกลไกอันหลากหลาย ตรวจสอบกันเอง ให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรม เพราะไม่มีอะไรจะชั่วร้ายไปกว่าความผิดพลาดอันเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการยุติธรรม

คดีอื้อฉาวนี้เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 2000 ถึง 2004 เมื่อผู้บริหารของการไปรษณีย์แห่งชาติสั่งดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ประจำหรือตัวแทนสาขาสำนักงานไปรษณีย์ทั่วประเทศ จำนวนรวมกันทั้งสิ้น 736 คน ในข้อหาทำบัญชีปลอม ยักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นรายได้ของสำนักงานไปรษณีย์สาขาที่พวกเขารับผิดชอบอยู่

สำหรับสหราชอาณาจักร กิจการไปรษณีย์ถือว่าเป็นสถาบันทางสังคมอย่างหนึ่งที่ให้บริการประชาชนโดยมีประวัติยาวนานหลายร้อยปี ตั้งแต่การบริการขนส่งจดหมายด้วยรถขนส่งเทียมม้า จนถึงปัจจุบันเปรียบได้ว่ากิจการไปรษณีย์เป็นชีพจรของสังคมอังกฤษในชนบทก็ว่าได้ แม้ว่าเทคโนโลยีการขนส่งและการสื่อสารจะมีความก้าวหน้าไปมากแล้วก็ตาม แต่กิจการไปรษณีย์ก็ปรับตัวให้บริการอย่างหลากหลาย และปรับรูปงานบริหารกิจการสาขาต่างจังหวัดด้วยการใช้ outsource ทำสัญญาจ้างบุคคลในท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของร้านค้าชุมชนให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนที่เรียกว่า sub-post office ให้บริการไปรษณีย์และบุคคลเหล่านี้เองที่กลายเป็นจำเลยถูกดำเนินคดีจนเป็นเรื่องอื้อฉาว 

นอกจากขายแสตมป์ รับส่งจดหมายและพัสดุแล้ว ยังมีบริการอีกหลายอย่าง เช่น เป็นตัวแทนรับตรวจสอบ-ส่งใบสมัครทำหนังสือเดินทาง ต่อภาษีรถยนต์ รับจ่ายเงินค่าแก๊ส ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต จ่ายเงินรางวัลย่อยๆ ของผู้ที่ถูกล็อตเตอรี ขายพันธบัตรออมทรัพย์ให้รัฐบาล จ่ายเงินบำนาญให้ผู้สูงอายุ เป็นศูนย์แจกจ่ายเวชภัณฑ์ฉุกเฉินในยามเกิดโรคระบาด แลกเปลี่ยนเงินตราและส่งเงินไปต่างประเทศ เป็นต้น

ในเมืองเล็กๆ แถบชนบทของอังกฤษ สำนักงานสาขาไปรษณีย์เปรียบเสมือนศูนย์กลางของชุมชน เพราะนอกจากจะมีบริการหลากหลายดังกล่าวแล้ว ก็มักจะตั้งรวมอยู่ในร้านขายยาหรือมินิมาร์ตของชุมชนนั้นๆ ซึ่งมักจะมีเพียงแห่งเดียวในตำบล ดังนั้นในบางหมู่บ้าน สาขาไปรษณีย์จึงเปรียบเสมือน life-line ของชุมชน ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของประชาชนในชุมชนนั้น และพนักงานไปรษณีย์ประจำสาขานั้นก็กลายเป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ และเป็นส่วนสำคัญของชีพจรของชุมชนไปโดยปริยาย

ดังนั้นการที่ผู้บริหารส่วนกลางของกิจการไปรษณีย์ ตัดสินใจดำเนินคดีอาญากับพนักงานไปรษณีย์ประจำสาขาจำนวนมากจึงเป็นข่าวใหญ่ และเมื่อมีคำพิพากษาจากศาลชั้นต้นว่าพวกเขามีความผิดและต้องถูกลงโทษ จึงเป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนไปถึงวิถีชีวิตระดับรากหญ้าของชุมชนจำนวนมาก

ภาพจาก corporate.postoffice.co.uk

ที่มาของข้อกล่าวหาว่าคดโกง ยักยอกทรัพย์ มีต้นตอมาจากซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Horizon ที่การไปรษณีย์ส่วนกลางนำมาใช้ควบคุมระบบการรับ-จ่ายเงินของสาขาทั่วประเทศ ในศาลชั้นต้นฝ่ายโจทย์ใช้ข้อมูลตัวเลขจากระบบบัญชีดังกล่าวเป็นหลักฐานในการกล่าวโทษ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามหลักฐานดังกล่าวและสั่งลงโทษจำเลยไปแล้วหลายคดี

แต่เนื่องจากจำเลยจำนวนมากต้องคดีด้วยหลักฐานจากระบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์เดียวกัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าปัญหาน่าจะมาจากระบบหรือไม่ แต่ทั้งผู้บริหารส่วนกลางของไปรษณีย์และตัวแทนจากบริษัท Fujitsu ที่ได้รับสัญญาจ้างติดตั้งระบบ ให้การต่อศาลยืนยันว่าระบบบัญชีของตนไม่มีปัญหา แต่ปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์มีหลักฐานจากการสืบสวนสอบสวนไปพบเอกสารและอีเมลของผู้บริหารไปรษณีย์และทีมงาน Fujitsu ที่ยอมรับว่าซอฟต์แวร์ Horizon มีปัญหาและอาจมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ โดยก่อนหน้านี้บรรดาพนักงานไปรษณีย์สาขาก็เคยร้องเรียนและตั้งคำถามเกี่ยวกับสมรรถนะของซอฟต์แวร์ตัวนี้มาแล้ว

ก่อนหน้านี้รายการ Panorama ซึ่งเป็นรายการสืบสวนสอบสวนของบีบีซี ได้ขุดคุ้ยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าระบบ Horizon มีจุดอ่อนเปิดช่องให้ช่างเทคนิคทางไอทีเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางบัญชีของบรรดาพนักงานไปรษณีย์สาขาได้โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว แต่ผู้บริหารของกิจการไปรษณีย์ปฏิเสธ

เมื่อคดีพลิกในชั้นอุทธรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานอัยการกลางกำลังพิจารณาว่าอาจจะดำเนินคดีกับผู้ว่าการไปรษณีย์และผู้บริหารของ Fujitsu ในข้อหาให้การเท็จในชั้นศาล

สำหรับจำเลยบางคนที่มีช่องทางก็วิ่งเต้นสู้คดีเรียกร้องความเป็นธรรมตามกลไกของระบบยุติธรรม แต่ก็มีจำเลยเป็นจำนวนมากที่หลังจากโดนตัดสินคดีก็หมดเนื้อหมดตัว มีประวัติอาชญากรรม พ้นโทษก็ยังหางานทำลำบาก ชีวิตครอบครัวแตกแยก ได้รับความเสียหายทางการดำรงชีวิตและจิตใจ ตกอยู่ในสภาพไร้ที่พึ่ง

CCRC เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยรองรับไม่ให้ผู้ที่ประสบกับความผิดพลาดของระบบยุติธรรมต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หรือถูกปล่อยลืมให้หายไปกับความผิดพลาดที่กฎหมายรับรอง หน่วยงานนี้ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนกรณีสงสัยว่าอาจจะเกิดความผิดพลาดที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ถูกกฎหมายลงโทษ โดยรวบรวมข้อมูลยื่นต่อศาลอุทธรณ์ หากมีประเด็นที่เชื่อว่าการตัดสินคดีทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องรับโทษอย่างไม่เป็นธรรม

หน่วยงานนี้เป็นองค์กรอิสระ ก่อตั้งตามกฎหมายในปี 1995 และเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ปี 1997 มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเติมแล้วยื่นเรื่องกลับเข้าสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โดยทั้งเป็นผู้ริเริ่มได้เองหากมีข้อสงสัยในคดีที่มีความเป็นไปได้ในการพลิกคำพิพากษาหรือลดโทษให้กับจำเลย ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ต้องคำพิพากษาที่เชื่อว่าตนบริสุทธิ์ เพื่อดำเนินการสอบสวนหาข้อมูลหลักฐานเพิ่มแล้วนำเข้าสู่การพิจารณาในศาลอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการนำเรื่องส่งไปที่ศาลอุทธรณ์แล้ว ศาลจะต้องเปิดให้มีการไต่สวนคดีกันใหม่

ที่มาของการตั้งหน่วยงานนี้เกิดจากข้อโต้เถียงในคดีอื้อฉาวหลายคดีในช่วงทศวรรษ 1970 ที่ศาลมีคำวินิจฉัยผิดพลาดลงโทษผู้บริสุทธิ์ (miscarriage of justice) หลายคดี เช่น The Guildford Four (1974), The Birmingham Six (1975), The Maguire Seven (1976), Judith Ward (1974) คดีอื้อฉาวสี่คดีนี้เกี่ยวข้องกับบรรยากาศทางการเมืองในเวลานั้น เพราะเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม IRA อย่างคึกคัก และผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นชาวไอริช แต่ต่อมามีการค้นพบกันภายหลังว่าหลักฐานต่างๆ ที่นำเสนอต่อศาลเป็นผลมาจากการสอบสวนของตำรวจที่ประพฤติมิชอบ ความน่าเชื่อถือในรายงานของเจ้าหน้าที่นิติเวช และแรงกดดันทางการเมืองที่ต้องการตอบโต้การเคลื่อนไหวของกลุ่ม IRA

ความผิดพลาดในการวินิจฉัยคดีอื้อฉาวสี่คดีดังกล่าวแสดงให้เห็นจุดอ่อนของกระบวนการยุติธรรมของสหราชอาณาจักร นำไปสู่การก่อต้องคณะกรรมาธิการพิจารณาปรับปรุงระบบพิจารณาความคดีอาญาเมื่อปี 1991 และนำไปสู่การออกกฎหมายก่อตั้ง CCRC ในปี 1995

CCRC ทำงานอย่างเป็นอิสระโดยแท้จริง ทำงานแยกจากศาล อัยการ ตำรวจ และไม่ได้เป็นตัวแทนของจำเลยหรือผู้ร้องทุกข์ เป็นอิสระจากทุกฝ่าย เพื่อจะได้ปลอดจากการชี้นำของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย จะได้สืบสวนหาหลักฐานและข้อเท็จจริง โดยไม่เข้าข้างฝ่ายใด ไม่มีความเห็นว่าฝ่ายจำเลยผิดหรือไม่ผิด เพียงแต่ทำหน้าที่ค้นหาหลักฐานใหม่ๆ หรือข้อโต้แย้งใหม่ๆ มาเสนอ เพื่อให้คำตัดสินของศาลมีความแน่นหนาว่าจะไม่ผิดพลาด

พนักงานสอบสวนของ CCRC มีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอข้อมูลหรือคำให้การจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งตำรวจ อัยการ เจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับต่างๆ เพื่อนำมาประกอบเป็นสำนวนยื่นเข้าสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ขณะนี้มีพนักงานสอบสวนที่ทำงานเต็มเวลา 90 คน และมีคณะกรรมการที่เรียกว่า Commissioners 12 คนทำงานกำกับดูแลในด้านนโยบาย

ผลงานที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปลายเดือนเมษายนของปีนี้ ทางสำนักงานได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ถึง 762 คดี ศาลไต่สวนไปแล้ว 747 คดี และปรากฏว่ามี 214 คดีที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยพลิกคำพิพากษาให้จำเลยพ้นผิด คือประมาณหนึ่งในสามของคดีที่ยื่นเข้าไป นับว่าเป็นผลงานที่น่ายกย่องเลยทีเดียว อย่างน้อยก็เป็นหน่วยเฝ้าระวังหลัง คอยคัดกรองความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการขาดข้อมูลหลักฐานที่รอบด้าน ข้อโต้เถียงที่พลั้งเผลอละผ่านไป หรือบรรยากาศกดทับทางการเมืองที่เป็นผงเข้าตา ทำให้การวินิจฉัยของตุลาการนำไปสู่การลงโทษผิดคน (miscarriage of justice) ดังที่เกิดขึ้นในยุคที่มีการต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้น ทำให้เกิดความอยุติธรรมภายใต้ข้ออ้างของกฎหมาย

การที่มีหน่วยงานที่เป็นอิสระแบบ CCRC ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็น safety net นับว่าเป็นการเพิ่มมาตรฐานให้กระบวนการยุติธรรมของสหราชอาณาจักรยกระดับสูงขึ้น สามารถลดทอนโอกาสการลงโทษแพะ หรือการวินิจฉัยลงโทษภายใต้บรรยากาศกดทับทางอุดมการณ์การเมือง โดยละเลยข้อโต้แย้งสำคัญบางประการ แล้วปล่อยให้ผู้บริสุทธิ์ต้องรับโทษทัณฑ์โดยไม่มีใครเหลียวแล จนจบชีวิตอย่างเดียวดายในคุก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save