fbpx

ทุ่งมหาราช : สำนึกราชาชาตินิยม-ท้องถิ่นนิยม ทศวรรษ 2490 กับ พลังของฝ่ายขวาในฉากอาณานิคมสยาม ทศวรรษ 2440

ต่างไปจาก แผลเก่า (2479) ของ ไม้ เมืองเดิมซึ่งเป็นนิยายที่เกิดหลัง 2475 ไม่นาน ทุ่งมหาราช ของ เรียมเอง หรือมาลัย ชูพินิจเป็นนิยายที่เกิดขึ้นช่วงปี 2497 เล่มแรก ฉายสุ้มเสียงและจินตนาการของยุคสมัยของระบอบใหม่ การให้ความสำคัญกับสามัญชนที่เล่าบนความรักต้องห้ามระหว่างสองครอบครัว และจบด้วยโศกนาฏกรรม ท้องเรื่องเกิดแถบทุ่งบางกะปิ เขตชนบทชายขอบของกรุงเทพฯ

ขณะที่เล่มหลังนั้น เกิดขึ้นไกลห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรเหนือกรุงเทพฯ เมื่อสังคมไทยได้ผ่านความตื่นเต้นของระบอบใหม่ไปแล้ว มิหนำซ้ำยังเจอวิกฤตการณ์ระดับสงครามโลกครั้งที่ 2 การรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ 2490 อันเป็นต้นแบบของการรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน สังคมมีความสลับซับซ้อนขึ้น การเมืองถูกควบคุมด้วยคณะรัฐประหาร มีทั้งนักการเมือง ข้าราชการ ทั้งทหารและพลเรือน มีส่วนในการหาประโยชน์ ดังที่รู้จักกันในนาม ‘ทุนนิยมขุนนาง’[1] ที่เฟื่องฟูเป็นอย่างยิ่งในยุคนี้

ในอีกด้าน การขยายตัวของทุนนิยมสิ่งพิมพ์ในช่วงหลังสงครามก็ทำให้เกิดตลาดการอ่านที่กว้างขวาง พร้อมๆ กับการขยายเนื้อไปสู่การชูความงดงามของท้องถิ่น ชนบท และการย้อนหวนไปนึกถึงอดีตอันงดงามในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แบบที่เราเห็นได้จาก สี่แผ่นดิน ที่เริ่มตีพิมพ์ลงในสยามรัฐตั้งแต่ปี 2494 เช่นเดียวกับการขยายตัวของความเป็นชายในด้านวรรณกรรมในเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัย เข้าป่า ล่าสัตว์ ช่วงทศวรรษ 2490-2500 ดังเห็นได้จากผลงานของมาลัยเอง เช่น ทุ่งโล่งและดงทึบ, นาทีตื่นเต้นในดงไพร, ล่องไพร่ หรือ งานของชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ อย่าง ผจญภัยในป่าสูง, ป่าดงไพร และ เสือกินคน[2]

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่การเล่าเรื่องของมาลัย ที่มองด้วยสายตาคนปลายทศวรรษ 2490 ย้อนกลับไปจะแตกต่างจากไม้ เมืองเดิมไปแทบคนละเรื่อง คนละสถานที่ และคนละกาลสมัย

ตลาดอุดมการณ์ซ้ายที่กำลังขึ้นหม้อ ในทศวรรษ 2490 กับ รื่น สำนึกแบบฝ่ายขวาของผู้บุกเบิกและก่อร่างสร้างตัว

ก่อนเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะยึดอำนาจในทศวรรษ 2500 ตลาดวรรณกรรมไทยค่อนข้างมีอิสระที่จะนำเสนอแนวคิดต่างๆ ผ่านแผงหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นขวาจัดของกลุ่มเลือดสีน้ำเงินที่เขียนโจมตีคณะราษฎรและรัฐบาล[3] หรือกลุ่มซ้ายที่ผลิตหนังสือด้านสังคมนิยม[4] (ซึ่งจะไปบูมในทศวรรษ 2510) ท่ามกลางสถานการณ์สงครามเย็นที่ปะทุหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าที่เป็นที่รู้จักกัน ก็จะเลือกที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ผ่านข้อเขียนและปฏิบัติการทางการเมืองต่างๆ ยังไม่ต้องนับว่าขบวนการแรงงานก็ขยายตัวขึ้นอย่างมากในทศวรรษนี้ ความวิตกกังวลของรัฐบาลต่อกลุ่มนักคิดฝ่ายซ้าย ปรากฏออกมาในนามการกวาดล้างที่รู้จักกันว่า ‘กบฏสันติภาพ’ ปี 2495[5] 

ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าว มาลัยได้ผลักให้เกิดตัวละครอย่าง ‘ทิดรื่น’ ผู้กร้านโลก ชายผู้บุกเบิกคลองสวนหมากซึ่งปัจจุบันคือแถบตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ตามท้องเรื่อง ขุนนิคมบริบาล หรือกำนันรื่น จบชีวิตลงเมื่อปี 2493 สิริอายุได้ 92 ปี หากประเมินตามนิยาย รื่นอายุ 32 พบกับ สุดใจที่อายุ 16 ปี[6] ในช่วงปี 2433 อายุอานามทั้งสองต่างกันไม่น้อย รื่นเป็นคนวังแขมที่เดินทางค้าขายไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ พิษณุโลก ปากน้ำโพ มโนรมย์ หรือบางกอก[7] เขาปรารถนาจะลงหลักปักฐานที่คลองใต้ แถบคลองสวนหมากเพื่อสร้างครอบครัวและความมั่งคั่ง พ่อของสุดใจเองก็เช่นเดียวกันที่เห็นว่า “โลกสำหรับผู้ชายนี้คือสนามที่มนุษย์ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นจะผ่านพ้นออกมาในฐานะผู้ชนะ ต่างจากชาวบ้านทั้งหลายที่หล่อนรู้จักทั่วไปที่พอใจในชีวิตสันโดษของตน” [8]

ก่อนจะมีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาทให้แล้วเสร็จในต้นทศวรรษ 2500 การเดินทางของผู้คนยังใช้สายน้ำล่องจากเหนือลงใต้ เช่นเดียวกับการส่งถ่ายสินค้าจากเขตป่าเขา ของป่า ไม้สัก และไม้ต่างๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดในเขตเมืองหลวง ไม่มีอาชีพอะไรที่จะขับเน้นความเป็นชายและความเป็นผู้นำได้เท่ากับการเป็นพ่อค้าไม้อีกแล้ว

เราอาจเคยได้ฟังโมเดลวัยรุ่นสร้างตัวในร้อยกว่าปีที่แล้ว ในเรื่องเล่าเสื่อผืนหมอนใบของเหล่าเจ้าสัว แบบละคร ลอดลายมังกร แต่อาจไม่คุ้นเคยกับเรื่องราวของสามัญชนแถบลุ่มน้ำต่างๆ ที่มั่งคั่งมาจากความอุตสาหะและบากบั่นบนทรัพยากรนอกเขตเมืองว่าจะเป็นไปได้อย่างไร

เมื่อเทียบกับบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว ทศวรรษ 2430 ยังเป็นช่วงที่อำนาจรัฐสยามยังไม่กระชับมาเพื่อรวมศูนย์อย่างเต็มที่ เขตหัวเมืองเหนืออย่างกำแพงเพชร ระแหง และสองแคว ยังเป็นเขตชายแดนต่อแดนประเทศราช รื่นเติบใหญ่มาจากประสบการณ์ในการซื้อมาและขายไปตามลำน้ำต่างๆ กระนั้น ความทะเยอทะยานของเขามาพร้อมกับความเป็นไปได้ของความมั่งคั่งทรัพยากรของหัวเมืองแถบลุ่มน้ำปิงตอนล่าง ความมุ่งมั่นจะถอดกำไล หรือแต่งงานกับสุดใจ เป็นจุดเปลี่ยนแรกที่ทำให้เขาผลักดันตัวเองให้ไปสู่จุดนั้น

การเลือกสุดใจให้เป็นคู่ครองนั้นมีจุดชวนสะกิดใจก็คือ รื่นเป็นเสือผู้หญิงที่ปากว่ามือถึง การอยู่สองต่อสองกับสุดใจเป็นโอกาสอันดี แต่เป็นสุดใจเองที่ปฏิเสธการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเขาอย่างตรงไปตรงมา นี่เองเป็นสิ่งที่สุดใจไม่เหมือนหญิงสาวไหนๆ ที่เขาเคยเจอ อย่างที่เขาว่า “ไม่เคยมีผู้หญิงคนไหนเลยจะทำให้ข้าตาสว่างได้ มีแต่ข้าต้องการใคร ทุกคนยอมตามโดยไม่ขัดขืนทั้งนั้น” [9] ผิดกับจำปา ผู้เป็นเพื่อนสนิทของรื่นที่ทั้งคู่มองตาก็รู้กันว่ามีความปรารถนาต่อกัน เป็นสิ่งที่รื่นต้องการ ก็ต้องได้ จำปาจึงเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ผ่านมาของเขา เป็นผู้หญิงที่เป็นเครื่องบำบัดความกระหายทางเพศ ไม่ได้มีพันธะทางหัวใจและมีอำนาจต่อเขาเลย ขณะที่สุดใจสามารถครองอำนาจเหนือพื้นที่ของรื่นได้สำเร็จ

เสถียร ศัตรูทางการค้าและศัตรูหัวใจ กับละเมียด และจุดเปลี่ยนชีวิตของรื่น

วัยรุ่นสร้างตัวอีกคนที่จะกลายเป็นคู่แข่งของรื่นนั่นคือ ‘เสถียร’ แรกปรากฏตัวเขาทำงานให้กับพ่อค้าไม้กะเหรี่ยงผู้มากอิทธิพลอย่างพะโป้ การเปิดตัวมาราวกับตัวโกงของเขา ทำให้ผู้อ่านพอจะเดาได้ว่าคนๆ นี้ต้องมีความสำคัญต่อชีวิตของรื่นไม่น้อย เสถียรกลายเป็นภาพตัวแทนของนายทุนผู้ละโมบโลภมากที่ได้รับการหนุนหลังโดยนายอำเภอ หลวงราชบริการ ความขัดแย้งแรกเกิดจากการที่เสถียรเข้ามาในดินแดนทำกินของรื่นในนามพะโป้ อ้างว่าเขตที่ทำกินของรื่นและชาวบ้านนั้นเป็นที่สัมปทานของพะโป้ไปแล้ว ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ขณะนั้นวิธีคิดแบบกรรมสิทธิ์และสัมปทานถือเป็นเรื่องใหม่มาก กรมป่าไม้เองก็เพิ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2436 (หลังจากที่รื่นพบกับสุดใจเพียง 3 ปี) รื่นเองก็ยืนยันว่า หากพะโป้ได้สัมปทานจริง ราชการก็ต้องแจ้งมาจึงยืนยันที่จะทำกินอยู่ในแถบนั้น

ระหว่างนั้น รื่นออกเดินทางไปกับสุดใจและได้ช่วยเหลือเรือลำหนึ่งที่ถูกโจรปล้น ผู้ที่เขาได้ช่วยเหลือจะกลายเป็นผู้มีความสำคัญต่อชีวิตรื่นเป็นอย่างมาก ก็คือ ‘ละเมียด’ ลูกสาวยกกระบัตรที่กำลังจะย้ายจากนครสวรรค์ไปที่ตาก การพบปะกันครั้งนั้นทำให้ทั้งคู่หลงรักกันอย่างไม่มีใครรู้ เมื่อวันเวลาผ่านไป รื่นก็พบว่าละเมียดแต่งงานแล้ว และยังแต่งงานกับศัตรูของเขาอย่างเสถียรอีกด้วย

การพบกันกับเสถียรอีกครั้ง นอกจากข่าวร้ายของละเมียดแล้ว เสถียรยังโอ่อ่าภาคภูมิหลังจากที่เป็นเจ้าของกิจการค้าไม้ที่ใหญ่โต ภายใต้การร่วมหุ้นกับหลวงราชบริการ และครั้งนี้เสถียรไม่เพียงเอาชนะรื่นเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือร่างกายละเมียด (ที่เสถียรเองก็ไม่รู้ว่าทั้งสองก็มีใจให้กัน) แต่ยังเป็นด้านการค้า เมื่อเสถียรใช้เงินทุนที่หนากว่ากว้านซื้อไม้จากผู้ขายที่เคยต่อรองกับรื่นไว้ก่อนหน้านั้น การแพ้ชนะกันครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับวิถีการค้าที่เปลี่ยนไปด้วย จากเดิมการซื้อขายเกิดจากความไว้เนื้อเชื่อใจกัน โดยไม่ต้องมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ครานี้ เสถียรใช้สัญญาเป็นตัวผูกมัดและเสนอประโยชน์ที่สูงกว่าทำให้คู่ค้าเดิมกับรื่นต้องเปลี่ยนคู่ค้าไป

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อลูกชายของรื่นมาป่วยจนถูกตามให้กลับบ้าน รื่นติดเรือกลไฟที่กำลังจะทวนกระแสน้ำขึ้นเหนือ เช่นเดียวกับละเมียดที่จะขึ้นเหนือ แต่กลับเกิดพายุขึ้นแบบไม่มีใครคาดจนเรือล่ม ที่นั้นเองได้จัดฉากให้รื่นกับละเมียดอยู่ด้วยกันเพียงสองคน ความรู้สึกปรารถนาทางกายก็ได้รับการเติมเต็ม แต่อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้จบลงเพียงเรื่องเพศ แต่มันได้ผูกพันธะทั้งคู่เอาไว้ เช่นเคย ละเมียดไม่ได้ง่ายและปล่อยให้รื่นครอบครองอย่างที่เขาเป็นเจ้าของ ต่อหน้าละเมียด รื่นเป็นเพียงเด็กที่เชื่อฟังและบูชาละเมียด ความรู้สึกต่ำต้อยและยอมสยบต่อละเมียด ทำให้ผู้หญิงคนนี้แตกต่างจากผู้หญิงทั้งหมดที่เขาเคยพบมา ยังไม่นับว่าสุดใจเองที่นับวันจะแก่ตัว หย่อนยาน และปล่อยเนื้อปล่อยตัวไปแล้ว จึงไม่แปลกอะไรที่ละเมียดเข้าควบคุมรื่น และพยายามจะปฏิเสธการพบกันและมีความสัมพันธ์เช่นนี้อีก ดังที่เขากล่าวว่า “ผมไม่กล้าจะหวังอะไรจากคุณละเมียด รู้ดีว่าอยู่คนละโลก เกิดมาคนละชั้น” [10] ใช่แล้ว ละเมียด ไม่ใช่หญิงสาวชาวบ้าน แต่เป็นลูกข้าราชการสยามที่มีหัวนอนปลายตีน ต่างจากเขาอย่างลิบลับ

มหาดไทย กงการชีวิต การวางตำแหน่งแห่งที่ทางภูมิศาสตร์ กับผลประโยชน์เข้ารัฐและเจ้าภาษี

แม้ว่ารื่นจะพยายามปฏิเสธอำนาจบังคับอันไม่ชอบธรรมจากนายอำเภออยู่เสมอ และเห็นว่าคนอย่างเขากร่างและทำตัวใหญ่โตเทียมเจ้าเมือง แต่รื่นไม่ใช่คนหัวขบถ เขายอมรับอำนาจของราชการ และพยายามใช้อำนาจนั้นให้เป็นประโยชน์กับเขาและชาวบ้าน เขารู้หนังสือมากพอที่จะซื้อความรู้จากกรุงเทพฯ ในรูปหนังสือเล่มมาอ่าน รื่นพยายามปฏิเสธตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเรื่อยมา ในที่สุดเขาก็ต้องจำใจรับตำแหน่งนี้ อนึ่ง ผู้ใหญ่บ้านเป็นกลไกสำคัญของมหาดไทยเพื่อดูแลและสอดส่องท้องที่

ในท้องเรื่องปัญหาของหมู่บ้านที่เจอ คนแก้ไขปัญหาไม่ใช่ราชการ ไม่ใช่นายอำเภอ หรือเจ้าเมือง แต่คือชาวบ้านกันเองทั้งนั้น กลไกราชการจึงมีเอาไว้ควบคุมและแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในท้องที่ต่างๆ มากกว่าจะดูแลชาวบ้านได้อย่างทั่วถึง

เหตุการณ์ไฟไหม้หมู่บ้าน การระบาดของฝีดาษจนผู้คนล้มตายและหนีเข้าป่า น้ำท่วมจนผู้คนอดอยาก ล้วนเป็นชาวบ้านที่ดิ้นรนกันเอาเอง ไม่ใช่ราชการหน้าไหน ต้องให้เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัมปทานที่เป็นผลประโยชน์ของราชการ พวกเขาถึงยื่นจมูกเข้ามาสอดจนถึงกับเรียกชาวบ้านจากหลายพื้นที่เพื่อเข้ามาเจอกันที่ศาลากลางจังหวัด นำโดยพระยากำแพง ผู้ว่าราชการจังหวัด

การมอบหมายให้รื่นเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็คาดหวังว่ารื่นจะช่วยพัฒนาชุมชนให้ใหญ่โตกว้างขวาง ซึ่งไม่ใช่เรื่องความเจริญและอยู่ดีกินดีเท่านั้น แต่มันสัมพันธ์อยู่กับรายได้และภาษีที่รัฐจะเก็บเกี่ยวเข้าสู่ส่วนกลางอีกด้วย งานวิทยานิพนธ์ฉบับหนึ่งชี้ว่า เขตหัวเมืองตอนเหนือในตอนนั้น ระบบเกณฑ์ไพร่ได้ค่อยๆ เสื่อมลงพร้อมกับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจเงินตรา แทนที่ราษฎรจะยินยอมถูกเกณฑ์แรงงานก็แลกด้วยการจ่ายเงิน ‘ค่าแรงแทนเกณฑ์’ เช่น กรณีราชสำนักมีสารตราไปถึงเจ้าเมืองฝ่ายเหนือเพื่อขอแรงเลกไพร่ไปเป็นแรงงานก่อสร้างพระเมรุมาศ แต่เลกไพร่จำนวนมากไม่ยอมแต่ยินดีเสียเงิน บางทียอมจ่ายเงิน 1 ตำลึง 3 บาท แสดงว่าไพร่เหล่านี้มีเงินติดตัวกันอยู่บ้าง[11]

ความมั่งมีของราษฎรถือว่าอยู่ในระบบการผลิตเพื่อขาย ไม่ใช่เศรษฐกิจยังชีพล้วนๆ[12] ซึ่งระบบการเก็บภาษีใหม่ที่เกิดขึ้นแต่ไม่ปรากฏตัวละครนี้ในทุ่งมหาราชเลยคือ ‘เจ้าภาษีนายอากรคนจีน’ ที่รับประมูลภาษีจากรัฐเพื่อเข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในฐานะส่วนต่างของภาษีในท้องที่ต่างๆ ซึ่งจะมีเจ้าภาษีรายใหญ่ที่ประมูลผูกขาดไว้ เช่น ปี 2409 หลวงบริบูรณสุรากรเป็นเจ้าภาษีน้ำอ้อยตามหัวเมือง ตั้งแต่ลำน้ำเจ้าพระยาตลอดไปจนถึงเมืองกำแพงเพชร อุตรดิตถ์ และหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือ รวม 39 หัวเมือง รวมเป็นเงินปีละ 150 ชั่ง ลักษณะเช่นนี้มีอยู่ทั่วไปเมื่อพื้นที่กว้างใหญ่ จึงปล่อยให้มีการรับช่วงไปเก็บภาษีอีกทอดหนึ่ง ทั้งยังขายต่อกันไปอีกหลายทอด ทำให้อัตราภาษีเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำเป็น ผลก็คือราษฎรถูกขูดรีดอย่างหนักและสร้างความขัดแย้งในแต่ละพื้นที่[13] และดังกล่าว ไม่ปรากฏความขัดแย้งนี้ในทุ่งมหาราช

สภาวะอาณานิคมสยาม คนใต้บังคับและความเป็นเจ้านาย กับชนชั้นผู้คน

ภายใต้สิทธิภาพนอกอาณาเขต รัฐบาลสยามราวกับตกอยู่ในสภาวะอาณานิคมตะวันตก ยิ่งเมื่อชาวต่างชาติเข้ามาทำมาหากินแล้วประกาศตนว่าเป็นคนในบังคับตะวันตก การดำเนินการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจะไม่ผ่านอำนาจอธิปไตยของรัฐบาลสยาม บริเวณกำแพงเพชรมีพ่อค้ากะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษที่สามารถตั้งตัวได้อย่าง ‘พะโป้’ เขามีอิทธิพลที่กว้างขวางและเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะพ่อค้าไม้ ในนิยายเรื่องนี้ พะโป้ก็ถูกนำมาเป็นตัวละครผู้ทรงอิทธิพลที่จะมาเกี่ยวข้องกับรื่นในกิจการค้าไม้ และในข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็พบว่าราชการสยามนั้นเกรงใจต่อคนในบังคับ มีการกำชับให้เจ้าเมืองและกรมการเมืองดูแลและอำนวยความสะดวก ไม่ให้กักขังหน่วงเหนี่ยวให้เนิ่นช้า “ให้ปล่อยไปมาได้โดยสะดวก” [14] นี่เองจึงเป็นขุมกำลังทางอำนาจของพะโป้ พะโป้ไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจของรัฐ แม้จะไม่ใหญ่กว่า แต่ก็สามารถเจรจากับข้าราชการได้อย่างไม่น้อยหน้ากัน

แต่ตรงกันข้ามกับราษฎรสยาม ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเป็นข้าราชการที่มองชาวบ้านราษฎรว่าเป็นคนอีกชั้นหนึ่ง ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกเดียวกับที่รื่นคิดกับละเมียด นายอำเภอถึงกับเคยเรียกชาวบ้านว่าเป็น ‘ไพร่สารเลว’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้ดูถูกเหยียดหยาม ดังนั้นในอีกด้าน ราษฎรเหล่านี้มีลักษณะต่างอะไรกับคนบังคับสยามที่ไม่ได้มีสิทธิ์ความเป็นคนที่เสมอหน้ากัน การเรียกข้าราชการระดับสูงว่า “ใต้เท้า” บ้าง “เจ้าคุณ” บ้าง ก็ย่อมสะท้อนลำดับศักดิ์การแบ่งชั้นระหว่างชนชั้นปกครองและสามัญชนได้เป็นอย่างดี หรือกล่าวได้ว่าชาวบ้านนี่แหละคือคนที่อยู่ใต้อาณานิคมอีกรูปแบบหนึ่ง รัฐบาลที่กรุงเทพฯ ไม่ต่างอะไรกับรัฐบาลเมืองอาณานิคมที่ส่งระบบราชการ ซึ่งเป็นกลไกแบบอาณานิคมเข้าไปปกครอง นอกจากนั้น ผู้คนในท้องเรื่องยังมีทั้งลาวที่มาจากเวียงจันทน์ ลาวพวนที่อพยพเข้ามาจากนครนายก และอื่นๆ อีก

ผู้ใหญ่พูน ผู้ใหญ่บ้านคนก่อนรื่น ก็ถูกวางบทบาทให้เป็นภาพตัวแทนของลาวเวียงจันทน์ ในสายตาของมาลัยแล้ว เขาได้ประพันธ์ให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนไม่ได้เรื่อง เกิดเหตุร้ายแรงอย่างอัคคีภัยที่ไหม้ลามหมู่บ้าน ผู้ใหญ่ก็เอาแต่สวดมนต์อยู่ในบ้าน ความรู้สึกผิดของผู้ใหญ่และความน้อยเนื้อต่ำใจที่เขารู้ว่าเขาจะถูกแทนที่ด้วยรื่น ทำให้เขาต้องผูกคอตายใกล้ป่าช้าฝั่งตรงข้าม ที่น่าประหลาดใจก็คือ แกตายทั้งยังกำไม้ที่เคยใช้ตีเกราะเรียกประชุมชาวบ้านอยู่แน่น ทำให้เห็นว่าเขาผูกพันกับตำแหน่งนี้เพียงใด[15] แต่การลิขิตความตายเช่นนั้นก็อาจเป็นการตอกย้ำความไร้ความสามารถของตัวแทนชาติพันธุ์ลาวที่มักจะถูกเหยียดหยามเรื่อยมาโดยชนชั้นปกครองสยาม อย่างช้าก็คือ ลาวในขุนช้างขุนแผน กระทั่งรัชกาลที่ 5 ก็ยังให้ความเห็นว่าโอรสองค์หนึ่งนั้น “มีไอเดียเป็นลาวๆ อยู่บ้าง” [16]

กำเนิดทายาทของละเมียด และความตายของนายอำเภอ

รื่นมีโอกาสพบปะละเมียดอีกครั้งโดยบังเอิญที่กรุงเทพฯ ความสัมพันธ์ทางเรือนกายครั้งนั้นเป็นที่น่ากระอักกระอ่วนของทั้งคู่ เมื่อละเมียดเดินทางจากบ้านมาหารื่นถึงที่พัก ขณะที่พลอดรักกันอยู่ สุดใจกับจำปาก็เดินทางกลับมาก่อนกำหนด ทำให้ละเมียดต้องคลุมหน้าปลอมแปลงตัวเองหนีกลับบ้านไปอย่างน่าละอาย จากนั้น ละเมียดมิใช่คนเดิมที่เป็นคนละชั้นกับรื่นแล้ว ละเมียดรู้สึกต้อยต่ำราวกับผู้หญิงหากิน ยิ่งเมื่อเธอกลับไปพบว่าเสถียรกลับบ้านมารอเธออยู่ แต่ครั้งนั้นความลับยังไม่ถูกเปิดเผย ความรู้สึกผิดของละเมียดเริ่มมากขึ้นทุกที และยิ่งชัดเจนเมื่อเธอต้องไปเจรจากับรื่นเรื่องสัมปทานไม้ รื่นเองที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของชาวบ้าน กลับดูเป็นคนอื่นและห่างเหินจากเธอไป และก็ไม่รู้ว่าเธอกำลังอุ้มท้องลูกของเขาอยู่

อย่างไรก็ดี หลวงราชบริการที่ถูกวางให้เป็นตัวร้ายของเรื่อง ได้มีแผนสกปรกโดยออกใบเหยียบย่ำให้กับที่ดินแปลงใหญ่แห่งหนึ่งเพื่อตัดโอกาสการค้าไม้ให้กับรื่น และส่งผลประโยชน์ให้กับเขาและเสถียร รื่นก็ได้แต่รอดูท่าทีและปรามคนของเขาไม่ให้ลงมือทำร้ายหรือสังหารนายอำเภอ ขณะที่ละเมียดคลอดลูก และมีชีวิตอยู่กับความรู้สึกผิดและหวาดระแวง เธอได้นัดพบรื่นที่บ้าน แต่คนที่มาแทนคือนายอำเภอผู้ระแคะระคายว่าเธอกับรื่นอาจจะมีอะไรเกินเลย นายอำเภอจึงพยายามขมขู่ละเมียดและปลุกปล้ำ แต่ละเมียดก็คว้าปืนยิงเพื่อป้องกันตัว จากนั้นก็สลบไป เหตุหลังจากนั้น รื่นมาพบและได้รับว่าเป็นคนยิงนายอำเภอ จึงถูกดำเนินคดี

การตื่นมาของละเมียดพบว่าชีวิตของเธอไม่สามารถย้อนคืนได้อีก เมื่อเสถียรรู้ความจริง ยามที่เธอนอนพักและละเมอออกมาจนเสถียรปะติดปะต่อได้ เสถียรกลับไม่ได้แสดงว่าเขาโกรธแค้นและหวังเอาคืน เขายอมรับสภาพและพยายามปลอบประโลมตนเองให้เดินหน้าไป ขณะที่ก็คิดจะวางมือจากกิจการค้าไม้ไปด้วย เสถียรได้ตกลงกับรื่นให้ยอมรับเด็กคนนั้นเป็นลูกเสถียร และได้สารภาพความจริงต่อเจ้าเมืองเรื่องคดี

ผลของเหตุการณ์นี้ได้ส่งผลดีต่อรื่น การลงทุนไม้ของเขาประสบความสำเร็จหลังจากที่ขายไม้ได้ตามแผน ขณะเดียวกัน เรื่องของละเมียด ผู้เขียนก็ทำให้หายไปจากชีวิตรื่นไปอย่างง่ายๆ ต่างไปจากที่เขาเคยเทิดทูนบูชามาก่อน เหลือเพียงธงที่ติดตั้งบนแพของเขาที่เป็นที่ระลึกจากละเมียด นั่นหมายถึง เป็นวันที่เขาหลุดพ้นจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ต้อยต่ำกว่า ละเมียดได้แล้ว เช่นเดียวกับการทะยานขึ้นมามีอำนาจเหนือกิจการการค้าไม้แถบนั้น พร้อมกับอำนาจที่มาพร้อมกับตำแหน่งกำนัน เมื่อคลองสวนหมากได้รับการยกสถานะให้เป็นตำบล

สำนึกราชาชาตินิยม-ท้องถิ่นนิยม ทศวรรษ 2490 ในเงาทศวรรษ 2440

ดินแดนใกล้กรุงอย่างทุ่งบางกะปิของไม้ เมืองเดิม ไม่มีแม้แต่เรื่องเจ้านาย แต่ห่างไกลเมืองหลวงทวนกระแสน้ำขึ้นไป มาลัยกลับเน้นว่ากษัตริย์สยามเคยมาเยือนถึงกำแพงเพชร เมื่อปี 2449 การมาถึงของกษัตริย์ถือเป็นเรื่องใหญ่ การได้เฝ้าชมพระบารมีของคนท้องถิ่นถูกวางไว้เป็นสัญลักษณ์

การเสด็จมาของกษัตริย์แม้จะเป็นแบบลำลองที่เรียกกันว่า ‘เสด็จประพาสต้น’ ที่ไม่มีการบอกกำหนดการล่วงหน้า แต่เมื่อท้องที่-ข้าราชการรู้แล้วก็ไม่อาจนิ่งเฉยได้ คลองสวนหมากเองเคยร้างไปในช่วงโรคฝีดาษระบาด เมื่อน่าจะเป็นเส้นทางผ่าน ทำให้ข้าราชการชั้นสูงในท้องที่มิอาจดูดาย นี่เป็นเหตุผลของการที่พระยากำแพงมาขอให้รื่นนำชาวบ้านที่เคยย้ายออกจากหมู่บ้านเดิมออกไปเพราะหนีฝีดาษที่ระบาดจนผู้คนล้มตายอย่างหนัก กลับมาตั้งรกรากใหม่ เพื่อปักหมุดคลองสวนหมากให้เป็นชุมชนที่มีผู้คนอยู่อาศัยบนภูมิศาสตร์ใหม่ของสยามที่เอาใจใส่ต่อการควบคุมผู้คนและขยายอาณาเขต แม้ว่าราชการเองไม่สามารถจะดูแลพวกเขาได้อย่างที่ควรจะเป็น

หากสี่แผ่นดินจะแสดงให้เห็นการจ้องมองและรับรู้ถึงกษัตริย์ด้วยสายตาคนในอย่างแม่พลอยแล้ว ทุ่งมหาราชก็ได้แสดงให้เห็นถึงสายตาของคนนอกอย่างรื่นที่เป็นกลไกขนาดจิ๋วของรัฐในนามผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทั้งคู่ต่างถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยปลายปากกาของนักประพันธ์ช่วงทศวรรษ 2490 ทั้งคู่

ขณะที่อีกด้าน ความนิยมในราชสำนักก็กำลังขยายตัวมากขึ้นหลังจากการกลับเมืองไทยของรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2493 มีงานพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชภิเษก พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี[17] โดยความเคลื่อนไหวของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงถูกเผยแพร่ผ่านสิ่งพิมพ์ต่างๆ หรือการเสด็จเยือนต่างจังหวัดครั้งใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ เมื่อฤดูแล้งปี 2498 ก็ยิ่งทำให้เรื่องราวของกษัตริย์อยู่ในหน้าสื่อและเป็นที่โจษขานกล่าวถึงการมากขึ้น[18] เรื่องเล่าและภาพที่ชาวบ้านเอาของมาถวาย เอาผ้าขาวมาปูให้เหยียบ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความนิยมกษัตริย์ในฐานะภาพตัวแทนทางวัฒนธรรมบางประการ ดังนั้น การปรากฏตัวของกษัตริย์ในอาณาบริเวณหนึ่งจึงถือเป็นเรื่องพิเศษไปด้วย ดังที่ทุ่งมหาราชบรรยายไว้ว่า “คลองสวนหมากซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา เชื่อถือกันว่าเป็นตำบลอุบาทว์ ป่าช้า และหลุมศพสำหรับคนต่างถิ่น สิ้นเสนียดจัญไรกันที หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จดำเนินผ่านมา” ทั้งยังให้ยายแคล้วออกปากสำทับว่า “แต่นี้ไปกูไม่ตายแล้ว อ้ายทิดเอ๊ย!” [19]  

โดยเชื้อสายแล้ว มาลัยเองก็ถือว่ามีบรรพบุรุษสืบมาจากราชนิกูลอย่าง ‘บางช้าง’ และเคยรับราชการมาถึงชั้นปู่[20] การที่มาลัยเกิดที่คลองสวนหมากแลเติบโตที่นั่นจนอายุ 10 ขวบ ถึงเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ในปี 2459 ก็ย่อมทำให้เขาเป็นประจักษ์พยานความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นในขณะที่ยังเล็กอยู่ โลกในวัยเด็กที่งดงามของเขาอาจจะเป็นเรื่องเล่าของอดีตที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตของผู้คน รวมไปถึงการเสด็จประพาสต้นของเจ้าชีวิตก็เป็นได้

คำว่า ‘ทุ่งมหาราช’ อันเป็นชื่อนิยาย บ่งบอกอะไรกับเราได้บ้าง มหาราชในที่จะมีความเกี่ยวพันอะไรกับบุคลาธิษฐานของกษัตริย์หรือไม่ ในตัวบทกล่าวถึง ‘ทุ่งมหาราช’ หลังจากที่รื่นและละเมียดมีความสัมพันธ์กันหลังจากเรือกลไฟล่ม เป็นละเมียดที่หักห้ามความสัมพันธ์ว่าไม่อาจให้สิ่งต้องห้ามดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะต่างคนมีชีวิตที่ต่างไป ละเมียดเป็นเพียงสนามหญ้าธรรมดา ขณะที่รื่นเป็น ‘ทุ่งใหญ่-ทุ่งมหาราช’ [21] ที่ใครๆ จำเป็นต้องพึ่งพิง ทุ่งมหาราชจึงอาจมี 2 นัย คือ ทุ่งใหญ่ที่สร้างขึ้นโดยสามัญชน ขณะเดียวกันก็เป็นทุ่งที่ถูกประทับจากการผ่านมาของกษัตริย์สยามผู้เปี่ยมด้วยบารมีก็เป็นได้

ทุ่งมหาราช ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในมิติที่ต่างกันไป เช่น การมองในฐานะความรักและชนชั้นจากนิธิ เอียวศรีวงศ์ การมองแบบสตรีนิยมจากคำ ผกา หรือการมองในฐานะชุมชนจินตกรรมที่ชูศักดิ์ ภัทรกุลวาณิชย์ ตีความผ่านประเด็นชุมชนกับชาติ[22] แต่สำหรับบทความนี้พยายามชี้ให้เห็นถึงทัศนะของผู้เขียนที่เกี่ยวพันกับอุดมการณ์และพลังฝ่ายขวาที่กำลังขยายตัวภายใต้สนามประลองทางอุดมการณ์ทางการเมืองในทศวรรษ 2490

และนี่อาจเป็นชัยชนะอีกครั้งของอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมที่มองมาจากดินแดนชายขอบนอกกรุงเทพฯ ผ่านแว่นนิยายชั้นครูที่เราอาจปฏิเสธได้ยาก


[1] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ.2475-2503 (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, 2526)

[2] พีรณัฐ เปี่ยมศักดิ์สันติ, วัฒนธรรมนิยมไพร: ว่าด้วยเรื่องเล่า, สมาคม และความเป็นชาย ของสังคมไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2450 ถึง ทศวรรษ 2500 วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา, 2565, หน้า 87

[3] ณัฐพล ใจจริง, ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2526)

[4] Kasian Tejapira, Commodifying Marxism : the formation of modern Thai radical culture, 1927-1958 (New York : Cornell University, 1992)

[5] วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์, กบฏสันติภาพ (กรุงเทพฯ :โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2539)

[6] เรียมเอง (นามแฝง), ทุ่งมหาราช (กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2549), หน้า 30

[7] เรียมเอง (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 25

[8] เรียมเอง (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 29

[9] เรียมเอง (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 27

[10] เรียมเอง (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 260

[11] ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว, สามัญชนในหัวเมืองฝ่ายเหนือกับการก่อตัวของรัฐสมัยใหม่สยาม พ.ศ.2400-2450 วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2561, หน้า 201-200

[12] ณัฏฐพงษ์สกุลเลี่ยว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 212

[13] ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 156-157

[14] ณัฏฐพงษ์สกุลเลี่ยว, เรื่องเดียวกัน, หน้า 193-194

[15] เรียมเอง (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 216

[16] วิภา จิรภาไพศาล. “พระองค์เจ้าดิลกฯ “ดอกเตอร์พระองค์แรก” แห่งราชวงศ์จักรี”. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2566 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_29558 (29 ตุลาคม 2565)

[17] “ประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี”, ราชกิจจานุเบกษา, ตอนที่ 26 เล่ม 67, 5 พฤษภาคม 2493, ฉบับพิเศษ หน้า 10-11

[18] ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. “ทำไมจอมพล ป. จึงสนับสนุนการเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ตจว. ของรัชกาลที่ 9?”. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2566 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_84596 (17 มีนาคม 2565)

[19] เรียมเอง (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 345

[20] เรียมเอง (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 469

[21] เรียมเอง (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 267

[22] ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, “”, อ่านใหม่ (กรุงเทพฯ : อ่าน, 2558), หน้า 45-46

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save