fbpx
คุยกับ ‘ตุล ไวฑูรเกียรติ’ ว่าด้วยปรากฏการณ์คู่ขนานของการเมืองกับดนตรี

คุยกับ ‘ตุล ไวฑูรเกียรติ’ ว่าด้วยปรากฏการณ์คู่ขนานของการเมืองกับดนตรี

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล และ ภาวิณี คงฤทธิ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

หากไล่ดูลิสต์เพลงไทยในยูทูปที่มียอดวิวแตะหลักล้านในรอบปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ากระแสเพลงแร็ปกับฮิปฮอปนั้นมาแรง จนแทบจะกลายเป็นเพลงกระแสหลักของยุคสมัยไปแล้วก็ว่าได้

นอกจากการนำไปประยุกต์ผสมผสานกับดนตรีแนวอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย จุดที่น่าสนใจอีกอย่าง คือการถ่ายทอดเนื้อหาที่ตรงไปตรงมา กระทบใจ สื่อสารได้ทุกประเด็นไม่เว้นเรื่อง ‘การเมือง’ ดังเห็นได้จากกระแสของเพลง ประเทศกูมี

ไม่ว่าจะเป็นความบังเอิญหรือตั้งใจ กระแสเพลงแร็ปที่บูมขึ้นมาในระยะหลังนี้ คล้ายจะมีลักษณะบางประการที่ทับซ้อนกับการเมืองไทย โดยเฉพาะการปรากฏของตัวละครใหม่ๆ ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้วงการ

“ผมว่าการเมืองเหมือนดนตรีเลย มีแนวที่หลากหลายขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เสพได้ง่ายขึ้น แล้วม้ามืดเกิดได้เสมอ ไม่จำเป็นต้องมาจากค่ายใหญ่”

ข้างต้นคือข้อสังเกตจาก ตุล ไวฑูรเกียรติ นักแต่งเพลงและนักร้องนำแห่งวง อพาร์ตเมนต์คุณป้า ที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงดนตรีมาราวๆ 15 ปี ทั้งในฐานะคนเบื้องหน้าและเบื้องหลัง นอกจากนี้ยังชอบเขียนกวีเป็นชีวิตจิตใจ ดังที่ปรากฏเป็นผลงานรวมเล่ม หลบเวลา และ สิ่งที่อยู่นอกใจ

เหนืออื่นใด เขาเป็นศิลปินที่สนใจความเป็นไปของสังคมการเมือง ส่งเสียงและทรรศนะของตัวเองผ่านช่องทางต่างๆ มาต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร 2549

ในวันเวลาที่ประชาชนคนไทยได้ออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้งในรอบหลายปี เราชวนเขามาสำรวจปรากฏการณ์คู่ขนานของการเมืองไทยกับแวดวงดนตรี โดยเฉพาะในยุคสมัยที่พลังเงียบเริ่มส่งเสียงของตัวเองออกมา และการเมืองไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่อีกต่อไป

ตุล ไวฑูรเกียรติ

คุณมองกระแสเลือกตั้งและปรากฏการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมายังไง

รู้สึกว่าแต่ละพรรคมีเวลาหาเสียงน้อย กว่าจะรู้เรื่องรู้ราวอะไรก็ฉุกละหุก บางพรรคเพิ่งมาปรากฏตัวด้วยซ้ำ อย่างคุณมิ่งขวัญ (แสงสุวรรณ) ผมว่าเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนมีสิทธิเก็บเกี่ยวข้อมูลได้ไม่เยอะ แต่อีกด้าน เขามีสิทธิเก็บเกี่ยวความรู้สึกมานานกว่า

ในแง่ข้อมูล เขาอาจได้รับมาประมาณ 2 เดือน แต่ความรู้สึกมันได้รับมาหลายปี ก็เป็นเรื่องของการจัดบาลานซ์ให้ดีว่า เราจะเลือกตั้งด้วยข้อมูลความคิดเห็น หรืออารมณ์ความรู้สึก แต่ผมว่าคราวนี้น่าจะคึกคักที่สุดเท่าที่ชีวิตผมเคยได้เห็นมา

แม้การเลือกตั้งคราวนี้ หลายคนจะบอกว่ามันแปลกๆ ด้วยกติกาที่ไม่ปกติ แต่เราก็ยังแฮปปี้ที่จะออกไปเลือกตั้ง เพราะมันก็เป็นสิ่งสุดท้ายที่พอจะทำได้ เป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะแสดงว่าคนตัวเล็กๆ ยังมีคนรับฟังอยู่

จากบรรยากาศที่ คสช. อยู่ในอำนาจมาเกือบ 5 ปี พอมีการประกาศให้เลือกตั้ง ส่วนตัวคุณรู้สึกยังไง

ผมว่าถ้า คสช. จัดการเลือกตั้งให้เร็วกว่านี้ จริงๆ อาจเป็นผลประโยชน์ต่อการสืบทอดอำนาจของเขาด้วยนะ แต่พอยาวมาถึงตอนนี้ ความรู้สึกคนก็ผสมปนเปกันไป ยิ่งตอนนี้ลุงตู่จะลงมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เอง

แค่เห็นคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกันเยอะแยะ มืดฟ้ามัวดิน ก็เป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างเหมือนกันว่า สิบกว่าปีที่เราผจญปัญหาทางการเมืองกันมา อย่างน้อยเป็นประโยชน์ตรงที่ทำให้คนตื่นตัว ปัญหาการเมืองที่ผ่านมาน่าจะเป็นแผลเป็นที่สอนให้เรามีภูมิคุ้นกันมากขึ้น

เอาเข้าจริง สิบกว่าปีที่เรามานั่งทะเลาะกัน สุดท้ายอาจไม่เสียเปล่าก็ได้ ในแง่ที่ทำให้คนตื่นตัวเรื่องการเมือง และมองว่าเรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว

สมัยก่อนคนจะมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เด็กๆ วัยรุ่นทุกคนรู้สึกว่าว่าการเมืองเป็นเรื่องที่พูดได้ พูดง่าย แล้วเป็นเรื่องที่สนุกด้วย ไม่ใช่ซีเรียสอย่างเดียว

ในฐานะที่คุณเคยผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง ทำไมถึงมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คนตื่นตัวที่สุด

เพราะมันไม่มีมานาน อะไรก็ตามที่ไม่มีมานาน พอมันกลับมา คนจะตื่นตัว เหมือนวงดนตรีแหละ เทียบง่ายๆ ว่าวงดนตรีไหนที่หายไป 8 ปี ไม่มีเล่นคอนเสิร์ตเลย แล้วคุณกลับมารวมตัวเล่นคอนเสิร์ตอีกครั้ง มันจะ sold out อย่างล้นหลามมากกว่าวงที่เล่นอยู่ทุกวัน

เลือกตั้งก็เหมือนกัน มันไม่มีมานาน พอมี ยังไงก็ต้องล้นหลาม ยิ่งลองถ้าไม่มีเลือกตั้งสัก 20 ปี คนคงออกมาใช้เสียง 99% (หัวเราะ) มันเป็นความอัดอั้นตันใจที่เขาไม่เคยได้รับความรู้สึกนี้มานาน

ผมจำได้ว่าการเลือกตั้งตอนที่ผมยังเป็นวัยรุ่นกว่านี้ จะคึกคักเป็นช่วงๆ ทั้งเลือกผู้ว่า กทม. เอง หรือการเลือกตั้งในระดับประเทศ สำหรับ กทม. จำได้ว่าช่วงที่รู้สึกว่าชีวิตมีสีสันที่สุด คือช่วงที่พรรคพลังธรรม ของคุณจำลอง (ศรีเมือง) มาใหม่ๆ แกมาด้วยเสื้อม่อฮ่อม ป้ายโฆษณาแบบบ้านๆ มาแบบอินดี้เหมือนกันนะตอนนั้น ซึ่งสุดท้ายแกก็ได้รับความนิยมแบบถล่มทลาย ส่วนการเลือกตั้งใหญ่ ปีที่ไทยรักไทยชนะถล่มทลายก็คึกคัก ตอนนั้นพรรคไทยรักไทยก็เป็นสีสันใหม่ เป็นความหวังใหม่ของประเทศในยุคนั้น

แต่คราวนี้เราจะได้เห็นการตื่นตัวของหนุ่มสาว และคนที่เราไม่เคยคิดว่าเขาจะมาใช้สิทธิ คำว่าพลังเงียบที่เมื่อก่อนเราเคยได้ยินกัน จะเป็นพลังที่ไม่เงียบแล้ว ยิ่งเรามีโซเชียลมีเดีย ยิ่งเห็นชัด เมื่อก่อนเราเสพข่าวจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แต่ตอนนี้ทุกคนมีสิทธิที่จะเล่าเรื่องราวด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันก็จะได้ยินเสียงคนอื่นๆ เห็นอารมณ์มวลรวมของคนมากขึ้น

ตุล ไวฑูรเกียรติ

ช่วงที่คุณเป็นวัยรุ่น ถ้าเทียบพลังของคนรุ่นใหม่แรงเท่าตอนนี้ไหม

สมัยก่อนคนหนุ่มสาวชอบคิดว่าเสียงเขาไม่ค่อยมีความหมาย เขาชอบคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ณ ตอนเราเป็นวัยรุ่นนะ สมมติถ้าลองไปถามเด็กอายุ 17 ว่าปีหน้าจะได้เลือกตั้ง ตื่นเต้นไหม เขาอาจไม่รู้สึกตื่นเต้นเท่าเด็กอายุ 17 ยุคนี้

ผมว่าการเมืองเหมือนดนตรีเลย มีแนวที่หลากหลายขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เสพได้ง่ายขึ้น เมื่อก่อนเพลงในประเทศไทยก็มีอยู่ไม่กี่แบบ ตอนนี้มีเยอะ หลากหลาย แล้วม้ามืดเกิดได้เสมอ ไม่จำเป็นต้องมาจากค่ายใหญ่

เวลาผมมองการเมืองกับเรื่องดนตรี เออ มันมีความเหมือนกันอยู่ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักดนตรีหรือนักการเมือง เราพยายามจะสร้างอิมแพ็คบางอย่างกับจิตใจคน พยายามจะแสดงแนวคิดอะไรบางอย่างออกไป โดยที่ไม่รู้ว่าเขาจะมาเลือกเรามั้ย จะชอบเพลงเรามั้ย การที่คุณจะเลือกเป็นแฟนคลับใครสักคน ก็เหมือนที่เวลาคุณเลือกพรรคการเมืองหรือเลือก ส.ส. สักคน

ถ้าให้เปรียบเทียบแวดวงดนตรีกับการเมือง คุณเห็นความเหมือนความต่างอะไรบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา

คุณลองดูว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสฮิปฮอปมาแรงมาก แม้แต่เพลงที่พูดเรื่องการเมืองได้ตรงไปตรงมาที่สุด ก็คือเพลง ประเทศกูมี เป็นเพลงแร็ป เมื่อก่อนเราต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของวงร็อกหรือวงโฟล์กใช่ไหม แต่ตอนนี้ เพลงแร็ปเข้ามาแทนที่ แล้วมันทำให้พูดได้ตรงประเด็นมาก ซึ่งถูกต้อง พอเวลาผ่านไป คัลเจอร์ต้องเปลี่ยน ดนตรีก็ต้องเปลี่ยน ความคิดมนุษย์ก็ต้องเปลี่ยน

ตอนนี้ฮิปฮอปเป็นดนตรีที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะใครก็สามารถทำได้ ทำที่ภาคไหนก็ได้ บ้านใครก็ได้ คุณแค่มีคอมพ์ฯ มีไมค์ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์แพงๆ ก็ทำได้

สิ่งสำคัญอยู่ที่เนื้อหาสาระที่คุณพูด ลองคิดง่ายๆ ว่า การจะเป็นวงดนตรีร็อกสมัยนี้ มันแพงนะครับ การที่คน 4-5 คนจะมาซื้อกีต้าร์ เบส กลอง มาอยู่รวมกันเพื่อฟอร์มวง กว่าจะเก่งต้องใช้เวลาเป็นปี ยังไม่นับค่าห้องซ้อมดนตรี ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ยิ่งถ้าคุณอยู่ในชุมชนแออัด หรืออยู่กระท่อมน้อยปลายนา การทำวงร็อกยิ่งเป็นไปได้ยาก แต่ฮิปฮอปคุณทำได้ ขอแค่มีคอมพ์ฯ หนึ่งตัว มีแอปฯ ในแท็ปแล็ตที่ช่วยให้คุณทำเพลงได้ด้วยตัวคนเดียว มันง่ายกว่าเยอะ

เพลงแร็ปทำอะไรที่ดนตรีร็อกทำไม่ได้ ที่ชัดเจนคือเรื่องการเล่าเรื่อง ใน 4 นาทีของเพลงฮิปฮอปมันเปลี่ยนโลกได้ เล่าในสิ่งที่เยอะกว่าเพลงป็อปหรือเพลงร็อกหนึ่งเพลงจะเล่าได้ คุณเอาเนื้อเพลงมาเขียนก็รู้แล้ว บางเพลงนี่หนึ่งหน้ากระดาษเต็มๆ ที่สำคัญคือมันอนุญาตให้คนเล่าเรื่องในเชิงตรงไปตรงมาได้มากกว่า

ตรงนี้แหละที่ทำให้ผมคิดว่า กระแสของประชาธิปไตยที่มาแรง ก็ไม่ต่างกับฮิปฮอป เพราะคุณจะพูดเรื่องอะไรก็ได้ มันคือ free speech มันคือ freedom แล้วถ้าดูในภาพรวม ฮิปฮอปเปลี่ยนวงการดนตรีของไทยได้จริงๆ ลองดูเพลงที่ฮิตๆ อยู่ตอนนี้ จะเป็นเพลงแร็ปซะเยอะ

เราจะเห็นว่าฮิปฮอปไปควบรวมกับอะไรก็ได้ ไปผสมกับร็อกก็ได้ ไปผสมกับอีสานหมอลำก็ได้ หรือจะไปผสมกับอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ผมว่าความคิดนี้จะนำไปสู่ทิศทางอนาคตที่ว่า เราไม่จำเป็นต้อง fixed หรือทำอะไรเหมือนเดิมตลอด ต้องผสมผสานเท่านั้นเพื่อที่จะไปต่อ อะไรที่หยุดอยู่กับที่ แล้วไม่ผสมผสาน มันก็จะหยุดอยู่กับตรงนั้น

อย่างเพื่อนผมในวงเดียวกัน ชื่อคุณปั๊ม เขาก็ทำวงชื่อ Paradise Bangkok ที่สามารถนำดนตรีหมอลำไปเผยแพร่ได้หลายๆ ที่ทั่วโลก ซึ่งการที่มันเป็นไปได้ ไม่ใช่เพราะหมอลำเพียวๆ แต่เป็นเพราะการเอาหมอลำไปผสมกับฟังก์ ผสมดิสโก้

เหมือนคุณมียาเม็ดนึง คุณก็ต้องมีน้ำสำหรับย่อยยาเข้าไปด้วย ฉะนั้นผมคิดว่าวัฒนธรรมไทยก็ดี เรื่องราวที่อยู่ในชนบทก็ดี พอมันถูกนำมาผสมกับสิ่งใหม่ มันจะช่วยพาเรื่องราวเหล่านี้เข้ามาสู่กระแสหลักได้

ตุล ไวฑูรเกียรติ

ล่าสุด ผมได้ช่วยโปรดิวซ์โปรเจ็กต์ชื่อ ‘Fuse’ ที่เชิญศิลปินทั้งฮิปฮอปและไม่ฮิปฮอปมาผสมกัน ซึ่งทำให้ผมเห็นชัดเลยว่า โลกดนตรีตอนนี้ไม่ได้กระจุกอำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ อีกต่อไปแล้ว ผมได้เจอนักดนตรีที่เขามีซีนของตัวเองอย่าง คุณเต๊ะ ตระกูลตอ ที่อยู่อีสาน เขาเริ่มต้นจากการโพสต์เพลงผ่านยูทูป แล้วถูกคนเล็งเห็น แล้วชวนมาออกเพลง เขาดังจากต่างจังหวัด เป็นซูเปอร์สตาร์โดยที่ไม่ต้องมาเริ่มต้นในกรุงเทพฯ

นี่เป็นอีกจุดที่ผมเห็นว่า ต่อไปในอนาคต การเมืองก็จะต้องเป็นแบบนี้ การกระจุกอำนาจอยู่แค่ที่กรุงเทพมหานครไม่ใช่อีกแล้ว ประเทศไทยเรามีสิทธิที่จะเกิดสิ่งดีๆ ขึ้นทั่วประเทศ ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีมาถึงระดับนี้ จบแล้ว ยิ่งง่าย ต่อไปเราจะต้องมีแล้วซาวนด์ของชัยภูมิ ซาวนด์ของสกลนคร ซาวนด์ของพัทลุง มีดนตรี local ของเขา ที่บอกเล่าเรื่องราวของเขา ไม่ใช่เรื่องมีแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือที่ใดที่หนึ่ง ที่จะเหมารวมทั้งประเทศได้อีกแล้ว ในพาร์ทดนตรีเริ่มมีให้เราเห็นแล้วตอนนี้

การเมืองก็เหมือนกัน ถัดจากนี้ยังไงก็ต้องกระจายอำนาจ ไม่ใช่ศูนย์รวมอำนาจอีกต่อไปแล้ว เพราะทุกๆ ที่มีความพิเศษเฉพาะตัว ผมว่าประเทศเรามีของดีอยู่เยอะ ถ้าเราอนุญาตให้แต่ละที่ผลิตของดีของตัวเอง โดยใช้ทรัพยากรที่เขามี ไม่ว่าจะเรื่องเหล้าก็ดี เรื่องเบียร์ก็ดี ถ้าเปิดโอกาสให้คนทำได้ มันจะไม่ต่างกับฮิปฮอปเลย

เราจะมีเหล้าที่มาจากชุมชนนี้ที่อร่อยมาก ส่งไปขายระดับโลกได้ มีคราฟต์เบียร์ที่มาจากจังหวัดนี้ จังหวัดนั้น หรือสาโทที่ทำให้เป็นเกรดเอ อาจส่งมาทำแพ็คเกจจิ้งที่กรุงเทพฯ หรือส่งให้คนญี่ปุ่นทำให้ก็ได้ ตอนนี้โลกข้ามพรมแดนกันหมดแล้ว เราสามารถสร้างสรรค์อะไรก็ได้โดยไม่ต้องมีจุดศูนย์กลางไว้ที่เดียว

ยุคนี้คำว่าแมสมันจบไปแล้ว ทุกคนรู้แล้วว่าตัวเองชอบอะไร ยุคนี้จะเคลื่อนไปสู่การมี niche เยอะๆ มากกว่า

เอาเข้าจริงแล้ว การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด?

แน่นอน การเมืองอยู่ในทุกมิติของวิถีชีวิต คนอยากดูดกัญชานี่ก็การเมืองแล้ว คนที่เป็นนักศึกษาข้ามเพศแล้วอยากใส่ชุดนักศึกษาผู้หญิงไปเรียน นี่ก็การเมือง คนที่อยากการุณยฆาต เลือกวันตายให้ตัวเองได้ นี่ก็การเมือง

อีกเรื่องที่ผมรู้สึกคือ เวลาที่คนถามว่าทำไมถึงสนใจการเมือง คำตอบง่ายๆ คือเพราะการเมืองเป็นเรื่องสนุกครับ ลองดูบรรยากาศช่วงก่อนเลือกตั้งที่ผ่านมา เวลาดีเบตนี่สนุกมาก บางทีมีการแซวกับงุบงิบ น่ารัก ไม่จำเป็นว่าจะต้องมาถกเถียงกันเคร่งเครียดเสมอไป ซึ่งไม่เคยเกิดบรรยากาศแบบนี้ในอดีต

เราเห็นคุณสุวัจน์ ลิปตภัลลภ ใส่สูทแดง Balenciaga ขึ้นเวที ผมเห็นแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย เจ๋งว่ะ แค่นี้ก็สนุกแล้ว อย่างน้อยคุณสุวัจน์ได้ปฏิวัติวงการการเมืองในอีกมิติหนึ่งแล้ว ถึงแกจะไม่ได้เป็นพรรคที่ผมเชียร์ แต่ผมชื่นชมที่แกกล้า แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แค่การแต่งตัว แต่เป็นเรื่องเล็กที่ทำให้เกิดความแตกต่างได้

หรือถ้าดูเรื่องเพลง เมื่อก่อนเพลงการเมืองก็มีแต่เพลงปลุกใจ เดี๋ยวนี้ก็มีเพลงรัก มีเพลงแนวใหม่ๆ ที่หลากหลายขึ้น ผมเองยังเคยรับจ้างทำเพลงให้กับพรรคการเมืองเลย ซึ่งตอนที่ทำงานกัน มีช็อตหนึ่งที่ผมว่าน่ารักดี คือเราคุยกับคนที่จ้างเลยว่า ผมไม่ได้เลือกพรรคของพี่นะ ผมเลือกอีกอัน แต่ผมก็ทำเต็มที่ในฐานะของมืออาชีพ ซึ่งพี่เขาก็พูดกลับมาว่า นี่ถ้าฉันไม่ได้ทำงานอยู่ตรงนี้ ฉันก็จะเลือกเหมือนเธอนั่นแหละ (หัวเราะ)

นี่แหละคือความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีหลายด้าน มีสิทธิชอบได้หลายอย่าง แต่บางครั้งก็ต้องเลือกไง ไม่ว่าจะด้วยกติกา หรือด้วยบทบาทหน้าที่ที่ทำอยู่ ผมว่านักการเมืองหลายคน เวลาเขาได้ยินนโยบายพรรคตรงข้าม เผลอๆ เขาอาจจะชอบหรือเห็นด้วย แต่พูดออกมาไม่ได้ เชียร์ออกนอกหน้าไม่ได้ ต้องเก็บอาการนิดนึง

ตุล ไวฑูรเกียรติ

ในมุมของนักดนตรี คนแต่งเพลง พอเจอกับสภาวะการเมืองช่วงที่ผ่านมา มีความรู้สึกอัดอั้นหรืออยากถ่ายทอดออกมาเป็นงานเพลงบ้างไหม

มีครับ ผมมีวิธีสื่อสารของผมอยู่ แต่อาจไม่ได้ชัดหรือตรงไปตรงมาเหมือนเมื่อก่อน มีพื้นที่ของมันอยู่ ซึ่งพอทำออกมาแล้ว ผมว่าสนุกกว่าเดิม และสื่อสารได้เยอะกว่าเดิมด้วย

พื้นที่ที่ว่า คือพื้นที่ไหน

มีหลายที่ครับ แต่ถ้ายกตัวอย่างใกล้สุด ก็คืออัลบั้มชุดล่าสุดของอพาร์ตเมนต์คุณป้า ถ้าฟังหลายๆ เพลง คนอาจรู้สึกว่าไม่เกี่ยวกับการเมืองเท่าไหร่ แต่ถ้าถามผม ผมจะบอกว่ามี มีการสื่อสารเรื่องการเมืองอยู่ในอัลบั้มนี้ ซึ่งความเป็นอัลบั้ม นอกจากเพลงสิบเพลงแล้วมันมีอะไรอีก มีปกซีดีไหม แล้วในนั้นสอดแทรกอะไรเข้าไปได้ไหม สิ่งที่เราสื่อสารจำเป็นต้องอยู่แค่ในเพลงไหม

อย่างในชุดนี้ ผมเอาความรู้สึกอึดอัดเรื่องการเมือง ไปซ่อนอยู่ในเรื่องสั้นที่อยู่ในปกของอัลบั้ม เพราะเนื้อหาที่ซับซ้อนขนาดนี้ เพลง 4 นาทีอาจเอาไม่อยู่นะ แต่การที่เรามีพื้นที่อีกพื้นที่นึง เช่นปกซีดี ที่สามารถใส่รูปหรือเนื้อหาบางอย่างลงไปได้ ก็สามารถใช้แสดงออกทางความคิดได้เหมือนกัน

ประเด็นสำคัญคือ ทุกคนต้องซื้อเท่านั้น ต้องเสียเงินเยอะเท่านั้นถึงจะได้อ่าน (หัวเราะ) พวกที่ดาวน์โหลดฟรีจะไม่ได้รับรู้ตรงนี้ ของดีเราต้องให้คนจ่ายตังค์ครับ

 

ทำไมถึงเอาไปใส่ไว้ในเรื่องสั้น

เป็นฟีลลิ่งของเรา ณ ตอนนั้นด้วย ตอนทำอัลบั้มนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้พูดในลีลาหนึ่ง เราก็ต้องหันมาพูดในอีกลีลาหนึ่ง เป็นไปตามธรรมชาติของเรา ธรรมชาติของสังคม คนทำงานศิลปะมักถูกภาวะสังคมบีบให้ทำอะไรบางอย่างอยู่แล้ว เหมือนที่เราขึ้นไปแต่งอัลบั้มชุดนี้ที่ปาย ตอนแรกเราก็ไม่คาดคิดหรอกว่าจะต้องไปทำกันที่นั่น

แต่ด้วยสถานการณ์ช่วงนั้น ที่เป็นช่วงถวายอาลัย เมืองทั้งเมืองตกอยู่ในความเงียบ นักดนตรีทุกคนทำอะไรไม่ได้ แล้วพอเราขึ้นไปปาย ชีวิตผมก็เปลี่ยนโหมดเหมือนกัน เพราะปกติผมเป็นปาร์ตี้บอย แทบไม่เคยไปอยู่ในบรรยากาศที่เงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติขนาดนั้น สุดท้ายบรรยากาศเหล่านั้นก็ทำให้เกิดเป็นเพลงแบบนี้ขึ้นมา

อัลบั้มชุดนี้พูดถึงหมอกฝัน และควันเมือง ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความคลุมเครือ ความไม่ชัดเจน ของหลายๆ เรื่อง

 

คำว่า ‘หมอกฝัน / ควันเมือง’ มาจากไหน

เพราะเห็นหมอกครับ ณ ตอนนั้นที่ปาย เป็นบรรยากาศที่ตื่นมาก็เจอหมอก รวมถึงช่วงก่อนหน้านั้นที่กรุงเทพฯ ตกอยู่ในความเงียบสงัด เป็นช่วงถวายอาลัย มีคนพูดเรื่องหมอกธุมเกตุ พอกลับจากปาย เข้ากรุงเทพฯ เราก็เจอฝุ่นควันที่ไม่เคยมีมาก่อน ผมว่าบรรยากาศช่วงนั้น ไม่ว่าไปที่ไหน จะมีภาพของความหม่นๆ มัวๆ อยู่เสมอ

ที่ตอบแบบนี้ คือการที่ผมมาวิเคราะห์ตัวเองอีกทีนะ เวลาผมทำงานทุกครั้ง ผมต้องทำจนเสร็จก่อนแล้วค่อยมาวิเคราะห์ว่าทำไมผมถึงทำอย่างนั้น เพราะบางครั้งการทำงานศิลปะ เราก็ไม่ได้ตั้งใจหรือมีเป้าหมายชัดๆ เสมอไป มันมีการด้นสด อิมโพรไวซ์ อยู่เยอะ แต่แน่นอนว่าสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ยังไงก็มีผลต่อการด้นนั้น

ตุล ไวฑูรเกียรติ
อัลบั้ม ‘APARTMENT KHUNPA’ สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 5 ของวง อพาร์ตเมนต์คุณป้า

พอกลับมาวิเคราะห์ตัวเอง ค้นพบอะไรอีกไหมจากการทำอัลบั้มชุดนี้

มีเยอะครับ อย่างเพลง หยุดข้ามคืนไว้ตรงหน้าเธอจะดีไหม เนื้อเพลงพูดถึงความรักที่มีต่อหญิงสาว แต่พอคิดไปคิดมา ผมรู้สึกว่าไอ้ความงามที่ผมเขียนอยู่ในนั้น จริงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องของมนุษย์หรอก น่าจะเป็นธรรมชาติมากกว่า จากซีนที่เราได้เห็น จากบรรยากาศที่ผมไม่เคยคิดว่าจะไปขลุกตัวเองอยู่ตรงนั้น ผมเดินทางไปปายคนเดียว ใช้ชีวิตอยู่ตรงนั้นสิบกว่าวัน เป็นภาวะที่นิ่ง ได้อยู่กับตัวจริงๆ จากเดิมที่เราเป็นปาร์ตี้บอย มีคนรอบข้างมากมาย อยู่ท่ามกลางแสงสีในเมือง การออกไปอยู่ตรงนั้นแล้วสร้างงานออกมา ถือว่าแหกชีวิตตัวเองเหมือนกัน

นอกจากเรื่องนี้ ก็มีเรื่องของการต่อสู้กับตัวเองในฐานะศิลปิน ผมว่าศิลปินที่ทำงานมานาน โดยเฉพาะนักแต่งเพลง มีความน่าสงสารอยู่อย่างหนึ่ง คือนักแต่งเพลงไม่เหมือนนักดนตรีที่เขายิ่งเล่นยิ่งเก่งขึ้น นักแต่งเพลงยิ่งแต่งก็ยิ่งหมด ยิ่งทำงานยิ่งโง่ ไม่รู้จะเล่าเรื่องอะไร คิดไม่ออก เมื่อก่อนเราเขียนเพลงได้เยอะมากเลย แต่ตอนนี้เหมือนสมองเริ่มตัน

แต่ส่วนหนึ่งก็เข้าใจว่า ในชีวิตนี้เราเล่ามาแล้วหลายเรื่อง ขณะเดียวกันความเห่อหมอยก็ค่อยๆ หายไป ตอนเป็นวัยรุ่นมันอยากจะเล่าทุกเรื่อง ซึ่งเป็นเสน่ห์ของวัยรุ่น พอตอนนี้มันหายไป ผมกลับรู้สึกว่าเรื่องบางเรื่อง ไม่เห็นอยากจะเล่าเลย เก็บไว้ในใจก็ได้ นี่อีกเป็นจุดนึงที่เราวิเคราะห์ตัวเองได้

แล้วความอยากทำงานยังมีอยู่เหมือนเดิมไหม

แน่นอนครับ เราประกอบอาชีพนี้ เราอยากทำงานต่อเนื่อง แต่ถามว่าเราทำงานด้วยสปีดที่เร็วเท่าตอนวัยรุ่นไหม ไม่ แต่ในอีกด้าน เราก็มีสกิลเพิ่มขึ้น ทำงานได้เนี้ยบขึ้น ประณีตขึ้น รู้ช่องโหว่ของตัวเองมากขึ้น แต่สิ่งที่หายไป คือเรื่องที่จะกระตุ้นให้เราอยากเล่ามีน้อยลงทุกวัน ต่อให้เจอเรื่องเดิม เราก็ไม่ได้รู้สึกกับมันเหมือนเดิมแล้ว

สมมติเราผิดหวังเรื่องความรัก เราจะไม่ได้ฟูมฟายกับมันเท่าตอนวัยรุ่น เราเจอปัญหาสังคม ก็จะไม่หยิบมาเป็นปัญหาของเราเท่าตอนวัยรุ่น เรื่องไหนที่เราแก้ได้ ก็แก้ไป แต่จะไม่หยิบมาสุมไว้ในหัวใจเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราปล่อยมันได้ เริ่มมีความคิดแบบคนแก่เข้ามา (หัวเราะ) ความเฟี้ยวฟ้าวแบบวัยรุ่นน้อยลงเยอะ

ถ้าวัยรุ่นคือการสร้างตัวตน ต้องการการยอมรับ แล้วจุดหมายในวัยนี้คืออะไร

เรามาไกลกว่าที่เราคาดหวังไว้เยอะแล้ว ไม่ได้ต้องการเป็นที่ยอมรับแล้ว ตอนนี้เป้าหมายคือการเกษียณอายุ (ยิ้ม)

เอาจริงๆ ตอนนี้ ก็เหมือนผมเกษียณแล้วนะ ผมไม่ได้ทำงานด้วยเป้าหมายเรื่องการเลี้ยงชีพแล้ว แต่ทำด้วยความสนุก แล้ววงดนตรีก็เป็นครอบครัว เป็นพาร์ทที่อยู่ด้วยกันแล้วรีแล็กซ์มาก วงดนตรีอพาร์ตเมนต์คุณป้า เวลาเราเจอกัน เรามีความสุขทุกครั้ง แน่นอนว่าเรายังทำมันอย่างจริงจัง แต่เราไม่ได้มองว่าเป็นอาชีพ นี่ไม่ใช่การหาเลี้ยงตัวเอง ไม่ได้ทำสิ่งนี้เพื่อปากท้องเป็นหลัก แต่ทำเพื่อจิตวิญญาณ เปรียบง่ายๆ ว่าเป็นการพักผ่อนที่ได้ตังค์

ผมโชคดีที่มีเพื่อนร่วมวงที่เข้าใจตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเพลงเราต้องขายดิบขายดีมากมาย เราทำเท่าที่เราทำได้ แล้วมันก็ทำเงินในแบบที่พอทำได้ ทุกคนก็มีอาชีพอื่นๆ ที่ทำควบคู่กันไปด้วย บางคนเป็นครู บางคนก็เป็นโปรดิวเซอร์เบื้องหลัง บางคนมีงานประจำ อย่างผมเองก็ทำงานเบื้องหลังบ้าง ซึ่งเราจัดบาลานซ์กันได้

พอถึงอายุขนาดนี้ เป้าหมายเราไม่ได้เป็นการสร้างตัวตนอะไรอีกแล้ว อาจเป็นการละตัวตนด้วยซ้ำ หน้าที่เราคือต้องมองมันด้วยความสุข ว่าโลกก็เป็นแบบนี้แหละ ไม่มีอะไรจีรังถาวร ทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาแล้วก็ผ่านไป เราเคยเป็นที่นิยมมาก วันนี้ก็เป็นที่นิยมน้อยลง แต่ก็ยังโชคดีที่เรามีแฟนของเราที่เหนียวแน่นอยู่

ถ้าให้เลือก 1 เพลงในการอธิบายการเมืองไทยในตอนนี้ คุณคิดว่าเป็นเพลงไหน

ผมอยากให้ลองฟังเพลง สิ่งที่อยู่นอกใจ “คนเราที่แท้มีความต่าง ชีวิตจึงดูน่าสนใจ และในความใกล้ชิด มีความห่าง ระยะทางที่เราสร้างเอาไว้ เพื่อให้เราได้ลืม ว่าเราเป็นใคร เพราะว่าเรามักมองแต่สิ่งที่อยู่นอกใจ…”

ผมว่าเรามาถึงจุดที่ทุกคนต้องเข้าใจแล้วว่า โลกนี้เป็นโลกของความแตกต่าง ต่อให้คนที่ใกล้ชิดเราที่สุด ก็อาจมีความคิดที่ไม่เหมือนเราได้

 

แต่บางคนอาจมองว่าความแตกต่างมากๆ ในยุคนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง

แตกต่าง แต่ไม่ต้องขัดแย้งก็ได้นี่ครับ ผมว่าสักพักเดี๋ยวคนจะค่อยๆ ชิน ค่อยๆ ปรับตัว ผมมองในแง่บวกนะ คิดว่าเห็นสัญญาณที่ดีว่าต่อไป คนเราจะรับความแตกต่างได้มากขึ้น จริงๆ ผมว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่รับความหลากหลายได้มากกว่าหลายประเทศในตะวันตกอีกนะ เอาแค่เรื่องความหลากหลายทางเพศ ถ้าคุณไปอยู่อเมริกา ในบางพื้นที่ คุณยังอยู่ลำบากเลย แต่กับประเทศไทยเรา friendly ในเรื่องนี้มาก ผมว่าเราก็ไม่ได้ใจแคบไปหมดทุกเรื่อง

ถ้ามองในแง่ดี เราต้องขอบคุณทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมา เพราะสิ่งนั้นถึงมีสิ่งนี้ เพราะเรามีบาดแผลทางการเมืองเราถึงมีความตื่นตัวทางการเมืองเท่านี้ ลองเราไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองสิ ทุกวันนี้วัยรุ่นคงยังมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ต้องขอบคุณทุกเหตุการณ์ ทุกตัวละครที่ทำให้เกิดวันนี้ขึ้นมา ถ้ามองในแง่นี้ผมว่าดีที่สุด เหมือนเราโดนพิษงูกัด เราฉีดเซรุ่ม เซรุ่มก็ทำจากพิษงู สิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นคือภูมิคุ้มกัน ร่างกายที่ไม่เคยเจอเชื้อโรคเลยจะอ่อนแอมาก แต่ร่างกายที่ถูกเชื้อโรคบ้าง จะมีภูมิคุ้มกัน

ตุล ไวฑูรเกียรติ เปียโน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save