fbpx
ละครเวที

บันทึกถึง ‘ซ้อม 6 ปียังไม่ได้เล่น’​ : เลิกซ้อมกันสักที ถึงเวลาที่ต้องเล่น ‘จริงๆ’​ แล้ว

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ละครเวที, ซ้อม6ปียังไม่ได้เล่น
ภาพจาก Crystal Theatre

-1-

พวกเขากบดานอยู่ในนี้มา 6 ปีแล้ว

เวลา 6 ปีนานแค่ไหน ก็นานพอที่เด็กคนหนึ่งจะโตเป็นผู้ใหญ่ นานพอจะทำให้ลืมว่ารสจูบแรกเป็น​อย่างไร นานพอที่จะได้เห็นพรรคการเมืองเกิดขึ้น ตั้งอยู่​ ดับไป และหากรออีกหน่อย ก็อาจนานพอจะได้เห็นฝ้าเพดานเก่าๆ ถล่มลงมากับตา

แต่กับคนกลุ่มหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นศิลปินและเรียกตัวเองว่าหัวก้าวหน้า กลับไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการต่อบทซ้อมละครไปวันๆ เฝ้าฝันถึงการแสดงสุดบรรเจิดที่ไม่มีใครเคยเห็น และหวังว่ามันจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนโครงสร้างสังคมอันฟอนเฟะได้

ระหว่างมโนถึงอภิมหาโปรเจ็กต์อยู่​นั้น พวกเขาก็ฆ่าเวลาด้วยการหาเรื่อง​ทะเลาะกัน​ ขุดอดีตและปมด้อยมาทิ่มแทง​กัน ปลอบประโลมกัน แล้วก็ทะเลาะกันใหม่ ลงท้ายด้วยการไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน วันแล้ววันเล่า…

“เราเกิดมาในเจเนอเรชัน​ที่​ไม่​เคยลำบากเลย​สักนิดเดียว” ประโยคนี้ดูจะมีความสำคัญทีเดียว เมื่อใครบางคนพยายามท่องมันซ้ำๆ ในท่วงทำนองและอารมณ์​ที่ต่างกันออกไป

ไม่เคยลำบากเลยงั้นหรือ? ผมคิด ถ้าเข้าใจไม่ผิด พวกเขาทั้งสี่ห้าคนก็น่าจะเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับผม ลืมตาดูโลกได้ไม่นานก็มีรัฐประหาร ตามมาด้วยวิกฤต​เศรษฐกิจ​ วิกฤตการเมือง วิกฤตศรัทธา และอีกสารพัดวิกฤต​ที่ทำให้แอบคิดกับตัวเองบ่อยๆ ว่า ทำไมกูต้องเกิดมาในช่วงเวลาห่วยๆ แบบนี้ด้วย

เรื่องเฮงซวยกว่านั้นคือ ผู้ใหญ่​บางคนที่ชอบพร่ำสอนว่าเคยอาบน้ำร้อนมาก่อน กลับทำตัวไม่รู้​ร้อนรู้หนาวกับกองขยะที่พวกเขาไม่รู้​จะเอาไปทิ้งที่ไหน พยายามผลักไสให้เราหันมองไปทางอื่น ดูนั่นสิ เห็นไหม ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในรั้วในวังมีแต่คนดี ในสภามีแต่คนที่พร้อมทำงานเพื่อประชาชน

ระหว่างเทศนา พวกเขาก็สวาปามภาษีกันจนอิ่มหนำ คนตาดำๆ มองเห็น​ช้างตัวใหญ่ ได้กลิ่นศพที่หายสาบสูญ​ไป หมื่นล้านคำอยากตะโกนออกไปแค่ไหนก็ได้แต่เก็บงำไว้ในใจ

“ไป! ตาย! ไป! ไอ้สัตว์!” คำสบถประสานเสียงชัด แต่แทบไม่มีความหมาย เพราะมันก้องกังวานอยู่แต่ในห้องใต้ดินเล็กๆ นั่น

-2-

ก่อนเข้าไปดูละครเวทีเรื่องนี้ ผมติดใจกับชื่อเรื่อง ‘ซ้อม 6 ปียังไม่ได้เล่น’​ เป็นพิเศษ

ข้อแรกคือตัวเลข 6 ปี เข้าใจว่าทีมงานคงตั้งใจยั่วล้อกับระยะเวลาที่ประเทศเรามีนายกชื่อประยุทธ์​ ส่วนเนื้อหาก็พอเดาได้ว่าต้องแตะประเด็น​สังคมการเมืองแน่ๆ ยิ่งเป็นบทที่ดัดแปลงมาจากงานของผู้กำกับชาวชิลี ประเทศ​ที่มีพื้นเพทางการเมืองละม้ายคล้ายกับไทย ยิ่งน่าสนใจขึ้นอีกระดับ

“ในชิลี เรามีเผด็จการกระหายเลือดในปี ‪1973-1990 บางอย่างคล้ายกับที่นี่ ผู้คนหายตัวไป หลายคนถูกฆาตกรรม หลายคนโดนเซ็นเซอร์ ผู้หญิงหลายคนถูกข่มขืนโดยทหาร ที่เมืองไทยเองก็มีรัฐประหารหลายครั้งเช่นเดียวกับชิลี

“พ่อแม่เรามักพูดว่าเรานั้นอยู่ในยุคที่สะดวกสบาย แต่นี่มันโหดร้ายมาก เพราะพวกเขากำลังบีบให้เรารู้สึกเกลียดตัวเอง… และเมื่อมองดูรุ่นพวกคุณ คุณเองก็เคยต่อสู้มาก่อน แต่ตอนนี้คุณมีชีวิตที่สุขสบาย แล้วคุณก็หยุดสู้” เซบาสเตียน เซบายอส ผู้​กำกับชาวชิลี เคยให้สัมภาษ​ณ์ไว้ก่อนที่ละครเวทีจะเปิดม่านการแสดง แม้เติบโตมาคนละซีกโลก แต่ชะตากรรมที่เราต้องเผชิญ ความอัดอั้นที่สั่งสมอยู่ในใจ ดูแล้วแทบไม่ต่างกัน

เราเกิดมาในเจเนอเรชัน​ที่ไม่เคยลำบากเลยสักนิดเดียว​ เพราะเราเกิดมาในสังคมที่บิดเบี้ยวด้วยน้ำมือของคนเจเนอเรชัน​ก่อน​

ข้อต่อมา ผมอดคิดไม่ได้ว่าชื่อเรื่อง​นั้นสื่อถึงลางร้ายอยู่​กลายๆ คือหวุดหวิดว่าจะ ‘ไม่ได้เล่น’ เหมือนกับชื่อ

ย้อนไปช่วงต้นปี ตารางการแสดงที่วางไว้อย่างดิบดีในช่วงเดือนมีนาคม เมื่อเปิดฉากไปได้ครึ่งทางก็ต้องล้มเลิกกลางคัน เพราะเจอพิษโควิด-19 รอบที่ผมเข้าไปดูคือรอบท้ายๆ ก่อนที่ทีมงานจะตัดสินใจยกเลิกการแสดงรอบที่เหลือ ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด

“ขอบคุณ​มากที่ทำเรื่องนี้ในเวอร์ชัน​ไทย อาจโชคไม่ดีที่เจอเรื่องไวรัส แต่ส่วนตัวคิดว่า ยังไงช่วงนี้ก็เป็นไทม์มิ่งของสังคมที่เหมาะมากๆ อยู่​ดี ที่จะช่วยส่งให้ message ของเรื่องมีพลังอย่างที่ตั้งใจกันไว้” หลังการแสดงจบ ผมส่งข้อความนี้ไปให้ทีมงาน ทิ้งท้ายว่าถ้าต้องยกเลิกรอบที่เหลือจริงๆ ก็ไม่เป็นไร รอจังหวะที่ทุกอย่างพร้อมแล้วค่อยกลับมารีสเตจใหม่ เชื่อว่าทุกคนน่าจะเข้าใจ

ในมุมของคนที่เคยสัมผัสบรรยากาศของละครเวทีโรงเล็กมาบ้าง การแสดงราวหนึ่งชั่วโมงครึ่งนั้นดูเพลินและสนุกกว่าที่คาดไว้ จากที่แอบเตรียมใจว่าน่าจะมาแนวติสต์ๆ ยากๆ ต้องตีความเยอะๆ ปรากฏว่าของจริงกลับไม่ได้ติสต์และยากขนาดนั้น

ตรงกันข้าม เสน่ห์ของเรื่องนี้อยู่ที่การเสียดสีแวดวงศิลปะและสะท้อนการเมืองไปพร้อมๆ กัน ซึ่งนำเสนอออกมาได้แสบสันต์ ผ่านเคมีที่เข้ากันและพลังอันล้นเหลือของนักแสดงทั้ง 5 คน

หากจะมีสักเรื่องที่เสียดาย คงเป็นความเสียดายแทนผู้จัดที่ต้องตัดสินใจระงับการแสดงในรอบที่เหลือเอาไว้ เสียดายแทนคนดูที่จองบัตรไว้แต่ไม่มีโอกาสได้ดู

นั่นคือความรู้สึก ณ ช่วงเวลานั้น วันที่ยังไม่มีใครคาดคิดหรือคาดเดาได้ว่า อีก 4-5 เดือนถัดมา บรรยากาศของสังคมจะปะทุดุเดือดถึงเพียงนี้ มีม็อบเล็กม็อบใหญ่ที่ออกมาเคลื่อนไหวพร้อมกันทั่วประเทศ เสียงของเยาวชนคนรุ่นใหม่ดังและชัดที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และประเด็นที่เคยอ่อนไหวเปราะบาง หมักหมมอยู่ใต้พรมมาเนิ่นนาน บัดนี้ถูกขุดขึ้นมาวางอยู่กลางแจ้ง

และในเวลาไล่เลี่ยกัน ละครเวทีก็ได้กลับมาเปิดการแสดงอีกครั้ง

แม้จะเป็นบทเดียวกัน นักแสดงชุดเดียวกัน แต่ด้วยบริบทแวดล้อมที่เกื้อหนุนกันกับเนื้อหา ย่อมส่งผลให้สารที่ส่งออกมายิ่งทวีความเข้มข้นและทรงพลัง

ผมเชื่อในเรื่องจังหวะเวลา หากศิลปะคือสิ่งที่งอกขึ้นมาจากเนื้อดินของสังคม การเกิดขึ้นของเพลงบางเพลง บทกวีบางบท ภาพยนตร์บางเรื่อง กระทั่งละครเวที ย่อมไม่มีคำว่าความบังเอิญ หากแต่เกิดจากการบ่มเพาะจนสุกงอมภายใต้สภาพแวดล้อมและจังหวะเวลาอันเหมาะสม

สำหรับผม ละครเวที ‘ซ้อม 6 ปียังไม่ได้เล่น’ ได้ค้นพบจังหวะเวลาอันเหมาะสมของตัวเองแล้ว

ละครเวที, ซ้อม6ปียังไม่ได้เล่น

ภาพจาก Crystal Theatre

-3-

พวกเขากบดานอยู่ในนี้มา 6 ปีแล้ว

พวกเราก็ไม่ต่างกัน

พวกเราในที่นี้ หมายถึงคนที่ยังฝัน มีไฟ อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างแก่สังคม ไม่จมปลักอยู่กับชุดความดีความงามตามที่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เกิด

6 ปีแล้วนะ ที่ต้องอัดอั้นภายใต้บรรยากาศที่ปิด มากกว่าเปิด ต้องระเบิดระบายความขุ่นเคืองกันอยู่ในที่ลับ มากกว่าที่แจ้ง

“ถ้าอิสระที่มีขอบเขตมันทำให้เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เราก็ต้องทำลายขอบเขต…” หนึ่งในตัวละครโพล่งประโยคนี้ออกมา เป็นประโยคที่ชวนให้ฮึกเหิมดี ปัญหาคือขอบเขตที่ว่านั้นคืออะไร แต่ละคนมองเห็นขอบเขตเดียวกันหรือไม่

แล้วถ้าขอบเขตของเราไม่เท่ากัน การทำลายขอบเขตที่ว่านั้นควรเริ่มต้นจากตรงไหนดี

ในมุมของคนดูที่นั่งอยู่ในโรงละคร บทสรุปที่เผยออกมาในตอนท้ายนั้นถือว่าค่อนข้างน่าผิดหวัง และยิ่งตอกย้ำว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการเปลี่ยนแปลงสังคมแต่อย่างใด พวกเขาเพียงแค่ใช้ศิลปะเติมเต็มอัตตา แตะประเด็นสังคมแบบผิวๆ เพียงเพื่อจะได้กล่าวอ้างว่าฉันเป็นศิลปินที่มีอุดมการณ์

ระหว่างนั้นก็ฆ่าเวลาด้วยการหาเรื่อง​ทะเลาะกัน ห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตายว่าอุดมการณ์และหลักการของฉันนั้นเจ๋งกว่า ลงท้ายด้วยการไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน วันแล้ววันเล่า…

เอาเข้าจริงแล้ว จุดอ่อนอย่างหนึ่งของพวกเขา อาจมาจากการกบดานอยู่ใต้ดินนานเกินไป จนสายตาเริ่มชินกับที่อับแสง เรี่ยวแรงเริ่มถดถอย ความคิดเริ่มตีบตันเพราะไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนกับใคร ความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ก็ไม่เคยได้รับรู้

จนกระทั่งมีจดหมายฉบับหนึ่งส่งลงมา มิตรสหายแจ้งข่าวว่าบรรยากาศข้างบนนั้นได้แปรเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลทำงานอย่างแข็งขัน ประชาชนสุขสันต์หน้าใสทุกหย่อมหญ้า ไม่มีคำว่าชนชั้นทางสังคมอีกต่อไป และนั่นก็หมายความว่า ไม่มีเหตุผลอะไรให้ต้องหลบซ่อนอยู่ใต้ดินอีกต่อไปแล้ว

แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ… วันที่รอคอยมาถึงแล้วโดยที่พวกเขายังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยจริงหรือ ?

แล้ว 6 ปีที่ผ่านมาคืออะไร ?

ในมุมของคนดู ฉากดังกล่าวดูเหมือนจะขำ แต่ก็ชวนหดหู่อย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อคิดต่อไปว่า ในโลกความเป็นจริง อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามวิ่งไล่ตามอะไรสักอย่างจนสุดกำลัง เพื่อพบความจริงอันโหดร้ายในตอนท้ายว่า—เชี่ย กูวิ่งมาผิดทางนี่หว่า

แต่ถ้ามองในฐานะของคนที่เกิดมาในเจเนอเรชันที่ไม่เคยลำบากเลย-สัก-นิด-เดียว อย่างที่หนึ่งในตัวละครพูดย้ำซ้ำๆ นั่นอาจเป็นการสะท้อนในมุมกลับกันว่า เจเนอเรชันที่ดูเหมือนสุขสบายและขยันทำเรื่องไร้สาระไปวันๆ นั้น ก็คือผลผลิตจาก ‘พวกท่าน’ นั่นแหละ

และนับจากนี้ ได้โปรดจับตาดู ‘พวกเรา’ ไว้ให้ดี ถ้า 6 ปีที่ผ่านมาคือการซ้อม บัดนี้อาจได้เวลาแล้วที่การแสดง ‘จริงๆ’ จะเริ่มต้น

แต่ก่อนอื่น ขอให้สหายทุกท่านที่อยู่ข้างล่างนั่นกลับขึ้นมาข้างบนก่อน

ตอนนี้มีคนรอเล่นด้วยอีกเพียบ.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save