fbpx
Treasures of the British Library คลังสมบัติในหอสมุดแห่งชาติบริเตน

Treasures of the British Library คลังสมบัติในหอสมุดแห่งชาติบริเตน

สุนันทา วรรณสินธ์ เบล เรื่องและภาพ

 

The only thing that you absolutely need to know is the location of the library. –Albert Einstein

สิ่งเดียวที่คุณจำเป็นต้องรู้คือที่ตั้งของห้องสมุด – อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

 

หอสมุดแห่งชาติบริเตน ถ่ายจากถนน Ossulston ด้านข้าง ด้านหลังคือโรงแรม St. Pancras Renaissance
หอสมุดแห่งชาติบริเตน ถ่ายจากถนน Ossulston ด้านข้าง ด้านหลังคือโรงแรม St. Pancras Renaissance

 

หอสมุดแห่งชาติบริเตนเป็นสถานที่ที่ “คนบ้าหนังสือ” หรือ bibliophiles ห้ามพลาดหากมีโอกาสมาเยือนลอนดอน และดังที่ไอน์สไตน์กล่าวไว้ สิ่งเดียวที่คุณจำเป็นต้องรู้จริงๆ คือต้องรู้ว่าห้องสมุดอยู่ที่ไหน หอสมุดแห่งชาติบริเตน หรือ British Library (ต่อไปนี้ขอเรียกสั้นๆ ว่า BL) ตั้งอยู่บนถนน Euston Road ซึ่งเป็นหนึ่งในถนนสายหลักของลอนดอน อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟ St. Pancras, King’s Cross (ที่ที่แฮร์รี พอตเตอร์จับรถไฟไปฮอกวอตส์) และ Euston

เดิม BL เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (British Museum) และมีชื่อว่า British Museum Library อยู่ที่ห้องใต้หลังคาทรงโดมกลางพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตอนนี้เรียกว่า “ห้องอ่านหนังสือ” (Reading Room) แน่นอนว่าสถานที่แห่งนั้นคับแคบ และ BL ถูกย้ายมาที่ถนนอูสตันในปี 1997

BL เป็นที่เก็บสิ่งพิมพ์ทุกชิ้นที่เผยแพร่ในสหราชอาณาจักร ย้ำ “ทุกชิ้น” ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร แสตมป์ สิทธิบัตร แผนที่ ภาพวาด ภาพพิมพ์ บทละคร สื่อบันทึกเสียง

ทุกวันจะมี “สิ่งพิมพ์” ใหม่ๆ ส่งเข้ามาวันละประมาณหนึ่งหมื่นชิ้น และสิ่งพิมพ์จากต่างประเทศที่เผยแพร่ในสหราชอาณาจักรสัปดาห์ละหนึ่งหมื่นชิ้น BL มีสิ่งพิมพ์ทั้งหมดประมาณ 200 ล้านชิ้นในคลังสะสม พื้นที่ชั้นเก็บของยาวเพิ่มขึ้นปีละ 6 ไมล์ (หรือเกือบ 10 กิโลเมตร) หากอ้างตามวิกิพีเดีย ขณะที่ผู้นำชมหอสมุดวันที่ผู้เขียนไปเยือนบอกว่าพื้นที่ชั้นเก็บของยาวเพิ่มขึ้นปีละ 3 ไมล์ แต่ไม่ว่าตัวเลขที่แม่นยำคืออะไร ทั้งหมดนี้ก็เกินจินตนาการผู้เขียนอยู่ดี

 

โมเดลจำลองห้องสมุด แสดงห้องเก็บหนังสือใต้ดิน
โมเดลจำลองห้องสมุด แสดงห้องเก็บหนังสือใต้ดิน

 

นอกจากนี้ วิกิพีเดียยังกล่าวว่า BL เป็นหอสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อวัดตามจำนวนสิ่งพิมพ์ แต่ความจริงหอสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ Library of Congress ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสิ่งพิมพ์ 250 ล้านชิ้น ในแง่ของปริมาณ BL อาจเป็นรอง แต่ทว่าไม่แพ้ใครในแง่ของคุณภาพ

ทีนี้ ผู้อ่านคงเห็นภาพแล้วว่าห้องเล็กๆ ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณสิ่งพิมพ์และผู้ใช้บริการแม้แต่น้อย BL จึงย้ายมาตั้งในละแวกเซนต์แพนครัสบนถนนอูสตันและเปิดให้บริการใหม่ตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา

ในช่วงแรก นอกจากจะเป็นแหล่งเก็บหนังสือและสิ่งพิมพ์แล้ว BL ยังให้บริการห้องสมุดสำหรับนักวิจัย กล่าวคือ ผู้ที่จะสมัครขอเข้าใช้ห้องอ่านต้องเป็นนักวิจัยหรืออาจารย์ โดยมีจดหมายรับรองจากต้นสังกัดซึ่งเป็นสถาบันวิจัยหรือสถาบันอุดมศึกษา แต่ในปัจจุบันคนทั่วไปสามารถสมัครขอเข้าใช้ห้องอ่านได้แม้ว่าจะไม่มีที่พำนักถาวรในสหราชอาณาจักรก็ตาม เพียงแค่ยื่นเอกสารประจำตัว 2 ชิ้นที่แสดงที่อยู่และยืนยันลายมือชื่อ เช่น หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ หรือบัตรประจำตัวนักศึกษา

ห้องสมุดเปิดบริการให้บุคคลทั่วไปโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะต้องการสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า วิจัยของ “ทุกคน” โดยไม่จำกัดพื้นเพ ถิ่นที่อยู่ หรือสังกัด ดังนั้น นักวิจัยอิสระซึ่งหมายรวมถึงผู้ที่ประสงค์จะศึกษาค้นคว้าเพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้ตนเอง หรือนักศึกษาจากต่างประเทศก็สามารถเข้าใช้บริการของห้องสมุดได้

ข้อจำกัดเดียวคือผู้สมัครขอเข้าใช้ห้องอ่านควรมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หากอายุไม่ถึงเกณฑ์แต่มีเหตุผลสมควรก็อาจได้รับอนุญาตให้ใช้ห้องอ่าน ที่ผู้เขียนใช้คำเรียกผู้ใช้ห้องสมุด/ห้องอ่านเสียยืดยาวเพราะต่างจาก “สมาชิก” ห้องสมุด BL เรียกผู้ใช้ว่า “reader” ซึ่งขอบัตรผ่านเข้าใช้ห้องอ่านที่เรียกว่า reader pass ได้ฟรี ส่วนสมาชิกหอสมุดนั้นคือ “member” ซึ่งหมายถึงบุคคลทั่วไป (และอาจเป็น reader ด้วยก็ได้) ที่จ่ายเงินบำรุงหอสมุดเป็นรายปี (ค่าสมาชิกปัจจุบันปีละ 80 ปอนด์) และได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ได้รับส่วนลดจากร้านกาแฟ ห้องอาหาร และร้านขายของที่ระลึกใน BL และได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของหอสมุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

จากประสบการณ์ของผู้เขียน คนสมัครเป็นสมาชิกหอสมุดประสงค์บริจาคเงินให้หอสมุดเสียมากกว่าหวังสิทธิประโยชน์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี หากสมาชิกประสงค์เข้าใช้ห้องอ่านก็ต้องสมัครขอ reader pass

นอกจากนี้หอสมุดยังต้อนรับสาธารณะชนทั่วไปที่อยากเข้ามาเยี่ยมชมอาคาร ดูนิทรรศการฟรี นั่งเล่น หรือดื่มกาแฟ เจ้าหน้าที่ที่พาผู้เขียนชมสถานที่กล่าวว่า BL ยินดีต้อนรับทุกคน ถ้าเด็กวัยรุ่นอยากเข้ามานั่งเล่นโทรศัพท์และใช้วายฟายฟรี ทางหอสมุดก็ยินดี เนื่องจากได้รับงบประมาณจาก Department for Culture, Media and Sport และกิจกรรมดังกล่าวก็สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเจ้าของทุน

ผู้เขียนเคยได้รับความเอื้อเฟื้อจาก BL ขณะศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาช่วงปี 2001-2006 ครั้งที่ BL ยังให้บริการเฉพาะนักวิจัยเท่านั้น ผู้เขียนประทับใจบริการของ BL มากและมาสิงสถิตอยู่ที่นี่เป็นประจำ หลังผ่านประตูเข้ามาก็นำสัมภาระ (เช่น เสื้อโค้ต กระเป๋า ฯลฯ) ไปเก็บในตู้ล็อกเกอร์ เพราะอนุญาตให้นำเฉพาะกระดาษ สมุดจด ดินสอ (ปากกาก็ไม่ได้) และคอมพิวเตอร์ เข้าห้องอ่าน จากนั้นก็แสดงบัตรผ่านและเลือกที่นั่งในห้องอ่าน ซึ่งเป็นโต๊ะไม้ตัวโต นั่งสบาย มีโคมไฟและปลั๊กไฟพร้อมบริการทุกที่นั่ง เมื่อได้ที่นั่งแล้วก็ไปยังคอมพิวเตอร์เพื่อสั่งหนังสือที่ต้องการใช้และกรอกหมายเลขที่นั่ง เมื่อหนังสือมาถึงแล้ว ไฟที่โต๊ะก็จะสว่างขึ้น ผู้อ่านจึงนำบัตรผ่านไปรับหนังสือมาได้ ก่อนกลับก็นำหนังสือไปคืนหรือขอจองไว้ใช้ต่อในวันถัดไปก็ได้

ส่วนจำนวนหนังสือที่ยืมได้ในแต่ละครั้ง และจำนวนวันที่เก็บหนังสือไว้ได้นั้น ผู้เขียนจำไม่ได้และคงเปลี่ยนไปแล้ว แต่จำได้ว่าก่อนออกจากห้องอ่านทุกครั้งต้องแสดงของที่จะนำติดตัวออกจากห้องอ่านแก่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะพลิกดูสมุดจดและกรีดดูกระดาษทุกแผ่นเพื่อดูว่าผู้อ่านฉีกเอาหน้าใดหน้าหนึ่งจากหนังสือติดตัวออกไปด้วยหรือไม่ เมื่อผู้อ่านตระหนักว่าจะมีคนตรวจสมุดจดของตนอย่างละเอียด ก็ควรพึงระลึกว่าไม่ควรวาดการ์ตูนหรือเขียนข้อความที่จะทำให้ตนขายหน้าเมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจ

นั่นคือประสบการณ์ของผู้เขียนในอดีต แต่ในปัจจุบันสามารถสั่งหนังสือผ่านอินเตอร์เน็ตล่วงหน้าและมีคลังข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตอีกมากมาย อย่างไรก็ดี เพื่อนรุ่นน้องของผู้เขียนเล่าว่า มีผู้ใช้ห้องอ่านจำนวนมาก ต้องมาแต่เช้าเพื่อให้ได้ที่นั่ง และห้องอ่านจะจ่ายหนังสือให้แก่ผู้ที่มีหมายเลขโต๊ะที่นั่งเท่านั้น แม้ว่าคุณอาจยินดียืนอ่านหรือนั่งพื้นหลังพิงกำแพงก็ตาม แต่หนังสือของ BL ต้องวางบนโต๊ะไม้อย่างสมศักดิ์ศรีเท่านั้น

เมื่อเล่าถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงอนุมานได้แล้ว BL ไม่มีบริการยืมหนังสือออกนอกสถานที่ และไม่ใช่ห้องสมุดแบบที่ผู้อ่านเดินหาหนังสือเองตามชั้น BL เก็บหนังสือส่วนหนึ่งในชั้นใต้ดิน 4 ชั้น และในคลังเก็บที่ยอร์กเชอร์ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 3 ชั่วโมงทางรถไฟ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับคำร้อง ก็จะหาหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ดังกล่าวและส่งขึ้นมายังห้องอ่าน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรือ 1 วัน หากส่งมาจากยอร์กเชอร์

ทำไมจึงต้องเก็บที่ยอร์กเชอร์ คำตอบง่ายๆ คือ เพราะราคาที่ดินถูกกว่าลอนดอนมาก และด้วยจำนวนสิ่งพิมพ์ที่ BL มี และได้รับเพิ่มทุกวัน และข้อจำกัดทางกายภาพ บังคับให้ BL ต้องหาที่เก็บคลังหนังสือเพิ่ม BL ที่เซนต์แพนครัสมีเนื้อที่ 2.8 เอเคอร์ รายล้อมด้วยสถานีรถไฟ สถานีรถไฟใต้ดิน ทางรถไฟ ตึกรามบ้านเรือน ไม่สามารถสร้างเป็นอาคารสูงบดบังทัศนียภาพของเพื่อนบ้าน ไม่สามารถสร้างห้องใต้ดินลึกเพราะมีแม่น้ำฟลีตไหลอยู่ใต้ดิน

BL มีหนังสือสำคัญๆ และมีมูลค่าสูงมากมาย ผู้ใช้ห้องสมุดขอดูได้ทุกชิ้นหรือไม่ แน่นอนว่ามีวัตถุโบราณ หายาก ราคาแพง ซึ่งสงวนไว้ ไม่สามารถให้คนทั่วไปจับต้องได้ นอกจากนี้ BL ยังมีเอกสารลับ และเอกสารที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงปกปิดความลับสำหรับข้อมูลที่ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ (confidentiality agreement) เช่น หากคุณขอดูแผนผังอาคารธนาคารแห่งอังกฤษ หรือหน่วยสืบราชการลับ MI6 หอสมุดคงไม่สามารถให้คุณดูได้ หรือถ้าคุณอยากอ่านคัมภีร์ไบเบิลฉบับคิงเจมส์ดั้งเดิมเล่มแรก คัมภีร์ไบเบิลส่วนพระองค์ของพระนางแอน โบลิน หรือบทละครของเชคสเปียร์ฉบับจัดพิมพ์ครั้งแรก คุณก็คงไม่ประหลาดใจ หากได้รับคำตอบปฏิเสธอย่างสุภาพ

แม้คุณอาจไม่ได้สัมผัสหนังสือหรือเอกสารเหล่านี้ แต่คุณสามารถดูสมบัติล้ำค่าหลายชิ้นได้ในงานนิทรรศการ Treasures of the British Library ซึ่งจัดแสดงหนังสือ เอกสาร และบันทึกเสียงที่นับว่าเป็น “สมบัติ” ทั้งในแง่ของมูลค่าและคุณค่า ตัวอย่างเช่น เอกสาร Magna Carta (1215) ซึ่งคิงจอห์นถูกบังคับให้เห็นชอบ (แต่ไม่ได้ลงนาม) การลดทอนอำนาจของกษัตริย์และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของอิสรชน เดิมทำขึ้น 250 ชุดเพื่อประกาศทั่วราชอาณาจักร ปัจจุบันเหลือเพียง 12 ชุด

นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ไบเบิลฉบับโบราณหลายฉบับ เช่น Codex Sinaiticus (หรือ Sinai Book ไบเบิลฉบับที่เก่าแก่ที่สุดในโลกฉบับหนึ่ง จากศตวรรษที่ 4), Codex Alexandrinus (Book from Alexandria ไบเบิลภาษากรีกที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่ง), Guttenberg Bible, คัมภีร์พันธสัญญาใหม่ (New Testament) ฉบับของ William Tyndale ตีพิมพ์ในปี 1534 ซึ่งเป็นคัมภีร์ส่วนพระองค์ของ พระนางแอน โบลิน พระราชมารดาของราชินีเอลิซาเบธที่หนึ่ง ทำเอาผู้เขียนเกือบน้ำตาคลอ

 

ห้องจัดแสดง Magna Carta และสารจากพระสันตปาปาอินโนเซนต์ที่สาม ประกาศว่าเอกสารดังกล่าวเป็นโมฆะ
ห้องจัดแสดง Magna Carta และสารจากพระสันตปาปาอินโนเซนต์ที่สาม ประกาศว่าเอกสารดังกล่าวเป็นโมฆะ

 

เราทราบกันดีกว่า แอน โบลิน เป็นพระมเหสีองค์ที่สองของกษัตริย์เฮนรีที่แปดผู้ตัดขาดจากอำนาจคริสตจักรแห่งวาติกัน และประกาศตนเป็นประมุขศาสนานิกายใหม่ชื่อ Church of England (1533) ดังนั้นไบเบิลจึงกลายเป็น “ของร้อน” ขึ้นมา กษัตริย์เฮนรีสั่งห้ามแปล พิมพ์ เผยแพร่ และครอบครองคัมภีร์ใบเบิลฉบับใดๆ ก็ตามนอกจากฉบับคิงเฮนรี (ที่เรียกว่า the Great Bible, 1539) เท่านั้น ซึ่งพระองค์บังคับให้ทุกโบสถ์ในราชอาณาจักรซื้อในราคาที่แสนแพง และแน่นอนว่าชะตากรรมของหนังสือต้องห้ามคือกองไฟ

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายห้ามไม่ให้แปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาอังกฤษ เพราะถือว่าเป็นความคิดนอกรีต ลบหลู่ศาสนาที่นำคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์มาถ่ายทอดด้วยคำพูดของตนเอง ทินเดลผู้เชื่อว่าควรมีไบเบิลฉบับภาษา “ท้องถิ่น” เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงพระเจ้าด้วยตนเองได้ ลี้ภัยไปตีพิมพ์คัมภีร์เล่มนี้ในประเทศเยอรมนีก็ต้องโทษประหารชีวิตเมื่อถูกจับได้

 

พันธสัญญาใหม่ แปลและตีพิมพ์โดย วิลเลียม ทินเดล เจ้าของเดิมของคัมภีร์เล่มนี้คือพระนางแอน โบลิน
พันธสัญญาใหม่ แปลและตีพิมพ์โดย วิลเลียม ทินเดล เจ้าของเดิมของคัมภีร์เล่มนี้คือพระนางแอน โบลิน

 

ตัดภาพกลับมาที่ พระนางแอน โบลิน “คนใกล้ตัว” ของเฮนรีที่แปด มีคัมภีร์ใบเบิลฉบับแปลของทินเดลในครอบครอง ทินเดลทราบดีว่านี่คือของผิดกฎหมาย เขาจึงจัดพิมพ์ในขนาด “พกพา” พระนางแอน โบลิน ซุกซ่อนคัมภีร์เล่มนี้ใต้กระโปรงสุ่มหนา ถ้าถูกจับได้พระนางก็ต้องโทษถึงประหารเช่นกัน เป็นไปได้ไหมที่เฮนรีที่แปดไม่รู้เรื่องนี้

เราทราบอีกเช่นกันว่า แอน โบลิน ถูกประหารชีวิตด้วยข้อหากบฎต่อราชบัลลังก์เนื่องจากคบชู้ (ยังไม่นับข้อกล่าวหาว่าพระนางเป็นแม่มด) แต่ทว่าด้วยปาฎิหารย์ หนังสือเล่มนี้กลับไม่ถูกทำลาย รอดผ่านกาลเวลาเกือบ 500 ปี และปรากฏเป็นหลักฐานวัตถุให้เราได้เห็นในปัจจุบัน มันไม่ใช่เพียงหนังสือเก่าล้ำค่าเล่มหนึ่งในฐานะวัตถุโบราณหายาก แต่มันเป็นเครื่องแสดงถึงความมุ่งมั่นของชายคนหนึ่งที่ทำในสิ่งที่ตนคิดว่าถูกต้อง แม้ว่าจะต้องแลกด้วยชีวิต มันดูดซับอารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ของเจ้าของเดิม หญิงอาภัพที่ตกเป็นเบี้ยการเมือง ผู้ที่อาจหาญ กล้าที่จะครอบครองและอ่านหนังสือต้องห้าม แต่ก็ต้องหลบซ่อนเพราะกลัวอาญา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วพระนางก็พบกับปัญหาที่ใหญ่กว่าการอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง มันแสดงถึงสำนึก ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา ประวัติศาสตร์ หรือมนุษยชาติ ของกลุ่มคนหลายชั่วอายุที่เก็บรักษาวัตถุชิ้นนี้และนำมาจัดแสดงให้เราได้เห็นเป็นบุญตา และได้ศึกษาหรือรับรู้เรื่องราวของมัน

นอกจากคัมภีร์ไบเบิลล้ำค่าหลายฉบับ นิทรรศการ Treasures of the British Library ยังจัดแสดง Diamond Sutra (พระสูตรเพชร หรือ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร) ฉบับภาษาจีนซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในนิทรรศการนี้ ตีพิมพ์ในปี 868 (Codex ทั้งสองชิ้นที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้นับเป็น “manuscript” เขียนด้วยลายมือบนหนังสัตว์)

นอกจากเอกสารสำคัญๆ ของศาสนาต่างๆ และเอกสารสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์แล้ว ในนิทรรศการยังมีสมุดจดและวาดภาพของ ลีโอนาโด ดา วินชี ที่ชื่อว่า Codex Arundel บทละครของเชคสเปียร์ฉบับตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกหรือที่เรียกว่า First Folio ต้นฉบับลายมือนักเขียนชื่อดังหลายคน เช่น Jane Austen, Emily Bronte, Virginia Woolf, William Wordsworth และ Wilfred Owen รวมทั้งภาพนิตยสารและแผ่นเสียงหายากของวง The Beatles อีกด้วย

 

ตู้จัดแสดงผลงานของเชคสเปียร์
ตู้จัดแสดงผลงานของเชคสเปียร์

 

บันทึกเสียงในมุมวรรณคดี บางชิ้นเป็นเสียงเจ้าของผลงาน
บันทึกเสียงในมุมวรรณคดี บางชิ้นเป็นเสียงเจ้าของผลงาน

 

นิทรรศการดังกล่าวเปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน และมีทัวร์นำชมสถานที่และนิทรรศการทุกวัน โดยมีค่าเข้าชมคนละ 10 ปอนด์ วันที่ผู้เขียนไป ผู้นำชมคือเจ้าหน้าที่หอสมุดที่เริ่มทำงานที่นี่นับตั้งแต่หอสมุดเปิดในปี 1997 เล่าเรื่องสนุกสนาน ตอบคำถามน่าฟัง และได้มอบเกร็ดความรู้อื่นๆ อีกมากมาย เช่น ถ้าหนังสือเปียก ไม่ควรผึ่งลม แต่ควรแช่แข็งในถุงพลาสติกใต้ของหนักเพื่อรักษารูปทรง และเครื่องหนังจะนิ่มน่าใช้และมีอายุใช้งานนานขึ้น ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็น (เป็นเกร็ดความรู้ที่ได้จากห้องนิทรรศการซึ่งเก็บหนังสือในตู้ควบคุมอุณหภูมิ)

ผู้อ่านอาจจะไม่ “อิน” กับรายชื่อที่เอ่ยมาข้างต้น แต่ BL ยังมีสมบัติชิ้นอื่นๆ อีก จากทุกสาขาวิชาในประวัติศาสตร์การเรียนรู้กว่าสองพันปี และตอนนี้คุณก็รู้แล้วว่าห้องสมุดตั้งอยู่ที่ไหน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save