fbpx

ตรัน อันฮ์ ฮุง สนทนาด้วยถ้อยภาษาภาพยนตร์

ตรัน อันฮ์ ฮุง (Tran Anh Hung) เพิ่งคว้ารางวัลผู้กำกับหนังยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์จาก The Taste of Things (2023) และหนังเรื่องเดียวกันนี้ ยังส่งเขาเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำเป็นครั้งแรกด้วย

ความมหัศจรรย์ของหนังคือการพูดถึงอาหารในฐานะสิ่งซึ่งมีส่วนสำคัญในการกอปรสร้างมนุษย์ ไล่เรื่อยไปจนถึงความสัมพันธ์ทั้งระดับปัจเจกและสังคม หล่อหลอมยาวนานมาจนถึงปัจจุบันในฐานะวัฒนธรรม ‘อาหาร’ และ ‘การกิน’ ในหนังจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยฉายภาพให้เห็นชีวิตของตัวละครผ่านพิธีกรรมการประกอบอาหารของ โดแดง (เบอนัวต์ มาจิเมล) และ เออเฌนี (จูเลียต บิโนช) คนทำอาหารชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ค่อยๆ ถักทอผ่านมื้ออาหารและการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย

ความยิ่งใหญ่ของหนัง -และนับเป็นความทะเยอทะยานของตรันในฐานะผู้กำกับ- คือการอุทิศเวลาร่วม 30 นาทีให้ฉากลองเทคที่ตัวละครประกอบอาหารกันอยู่ในห้องครัว แทบไม่มีบทสนทนาเป็นชิ้นเป็นอัน มีเพียงการเคลื่อนไหวอันแสนสลับซับซ้อนของผู้คนในห้องเล็กแคบ รายล้อมไปด้วยวัตถุดิบปรุงอาหาร กระทะ หม้อและควันไฟ

ตัวตรันเองเป็นชาวเวียดนาม ภายหลังจากกรุงไซง่อนถูกยึด (Fall of Saigon) ครอบครัวก็พาเขาในวัย 12 ปีลี้ภัยออกมายังฝรั่งเศส ตรันหวนกลับไปยังบ้านเกิดอยู่บ่อยครั้ง หนังสามเรื่องแรกของเขาคือไตรภาคเวียดนาม (Vietnam trilogy) อุทิศให้การสำรวจแง่มุมความเป็นเวียดนามผ่านตัวละครซึ่งเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมบดขยี้พวกเขาโดยไม่อาจขัดขืนใดๆ ได้ และในขณะเดียวกัน เมื่อตรันทำหนังที่พูดเรื่องชาวฝรั่งเศสอันเป็นประเทศที่เขาเติบโตมาค่อนชีวิต มันก็ยังมีน้ำเสียงและสายตาของ ‘คนนอก’ เฝ้ามองสำรวจเข้าไปข้างใน

สิ่งนี้อาจเป็น ‘สายตา’ ที่ติดตัวตรันมาแต่แรก ในฐานะคนทำหนังที่ไม่นิยามตัวเองด้วยสัญชาติใด

หนึ่งในฉากที่เลื่องลือมากที่สุดฉากหนึ่งของหนังคือฉากลองเทคการทำอาหารความยาวหลายสิบนาที อยากชวนคุณเล่าหน่อยว่าฉากนั้นถ่ายทำอย่างไร ความท้าทายคืออะไร

ใช่ครับ เป็นฉากคนทำอาหารตั้งแต่ต้นเรื่องเลย และเป็นฉากที่ยาวมาก เราถ่ายทำกันแทบทั้งวัน โดยเราแบ่งฉากนี้ออกเป็นสามก้อนใหญ่ๆ แล้วถ่ายลากไปทีละก้อน ซึ่งก็ค่อนข้างซับซ้อนทีเดียวเพราะนักแสดงเคลื่อนไหวไปรอบๆ ห้องครัวไม่ได้หยุด และขณะเดียวกันนั้น กล้องเองก็ต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลาเพื่อถ่ายเนื้อตัวนักแสดง ถ่ายให้เห็นใบหน้า มือและทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นขณะที่ตัวละครทำอาหาร ทั้งหมดนี้จึงออกจะยากอยู่ไม่น้อยทีเดียว

มีเหตุผลไหมว่าทำไมคุณจึงอยากทำเป็นลองเทค

เพราะผมอยากให้เห็นรายละเอียดทุกอย่างให้ได้มากที่สุด ด้านหนึ่งเพราะการทำอาหารแต่ละครั้งนั้นมีอะไรต่อมิอะไรเกิดขึ้นมากมายไปหมด ซึ่งผมอยากทำให้คนดูเห็นสิ่งเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด และเมื่อคุณได้เห็นรายละเอียดต่างๆ แล้ว คุณก็จะพบว่ามันค่อนข้างซับซ้อนและละเอียดอ่อนพอสมควร

ฟังแล้วการทำงานกับผู้กำกับภาพก็น่าจะเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อยเหมือนกัน

โดยปกติแล้ว เวลาถ่ายหนัง ผมไม่เคยให้ทีมงานกับนักแสดงซักซ้อมอะไรก่อนเลย ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้วเมื่อถึงเวลา เราจะถ่ายทำเลย ความที่ผมไม่ได้วางแผนอะไรจึงมักจะหาทางทำงานกับแต่ละซีนที่ต้องถ่ายในวันถ่ายจริงทีเดียว 

แต่กับหนังเรื่องนี้และโดยเฉพาะกับฉากนี้ ผมจำเป็นต้องวางแผนการถ่ายทำล่วงหน้า เพราะทั้งซีนเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวมากมาย ตัวละครแตะข้าวของกันตลอดเวลา เราจึงต้องวางแผนอย่างละเอียดว่าจะให้ใครเคลื่อนไปทางไหน สิ่งของต่างๆ ควรวางอยู่ตรงไหน ด้านหนึ่งจึงเหมือนกับการที่นักแสดงร่ายรำไปทั่วห้องครัว 

เวลาถ่ายทำ ผมก็ไปยังสถานที่จริงเพื่อดูสถานที่ ครุ่นคิดว่าจะให้ใครเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง เอาของสิ่งนี้วางไว้ตรงนี้ ให้คนนั้นเคลื่อนไปตรงโน้น แล้วให้กล้องเคลื่อนจากฝั่งนี้ไปฝั่งนั้น ซึ่งเรามักรู้ว่าควรทำอะไรแบบไหนก็ในนาทีสุดท้ายก่อนถ่ายทำจริงนั่นแหละ (หัวเราะ) แต่เราไม่ได้ถ่ายไปหลายเทคหรอกเพราะโดยปกติผมทำงานเร็วอยู่แล้ว 

ในแง่การทำงานกับผู้กำกับภาพเป็นอย่างไรบ้าง เพราะสิ่งสำคัญของฉากนี้และอีกหลายฉากในหนังคือการเล่นกับแสงและพื้นที่ซึ่งดูเฉพาะตัวมาก

อย่างที่คุณว่านั่นล่ะ ความที่งานภาพต้องจับไปที่การเคลื่อนไหวของนักแสดงเป็นหลัก นักแสดงจึงเคลื่อนที่ได้อิสระ อีกอย่างหนึ่งที่ผมอยากเสริมคือ เราไม่ได้มีมาร์กตรงพื้นหรือบล็อกช็อตใดๆ ว่านักแสดงควรเดินไปที่ไหนหรือหยุดอยู่ตรงไหน มีแค่วางโครงไว้คร่าวๆ ว่าควรเดินไปทำอะไรบ้าง แต่นอกจากนั้นพวกเขาก็เคลื่อนไหวได้ตามใจ ขณะที่กับกล้องนี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย เราต้องหาทางที่กล้องเคลื่อนไปแล้วถูกต้องที่สุด จึงต้องมีการวางรางบนพื้นเพื่อรับกล้อง และขณะเดียวกันก็ต้องหาทางทำงานกับเรื่องข้อจำกัดด้านพื้นที่ด้วย 

ส่วนเรื่องแสง อันนี้เป็นเรื่องด้านเทคนิคเสียส่วนมาก เพราะบางครั้งเราใช้กล้องถ่ายไปยังนักแสดงโดยตรงไม่ได้เนื่องจากแสงตกบนตัวนักแสดงพอดี ทำให้ถ้าถ่ายไปตรงๆ แล้วจะติดเป็นเงา ซึ่งเราก็ต้องหาทางทำงานกับเงื่อนไขด้านนี้ให้ได้ 

งานภาพยังเล่นกับแสงและกลุ่มควันในห้องครัวอีก คุณจับภาพควันจากการปรุงอาหารและเล่นกับแสงและนักแสดงอย่างไร 

ใช่เลย (ยิ้ม) ในห้องครัวที่เราถ่ายทำนั้นแทบไม่มีแสง จะมีก็แค่แสงจากดวงอาทิตย์ด้านนอกที่กำลังลับของฟ้าและลอดเข้ามาทางบานหน้าต่างเท่านั้น เมื่อเราถ่ายทำฉากที่ตัวละครทำอาหาร แสงจึงรับกับควันซึ่งลอยขึ้นมาจากหม้อและกระทะพอดี ซึ่งผมชอบไอเดียเรื่องควันในห้องครัวมาก เพราะมันทำให้เราเห็นว่า ตัวละครทำอาหารในห้องครัวซึ่งสภาพอากาศร้อนจัด

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าคุณไม่อยากถ่ายอาหารให้ออกมาดูสวยงามนัก ประเด็นนี้น่าสนใจมากเพราะหนังส่วนใหญ่ที่เน้นเรื่องอาหาร มักถ่ายฉากอาหารให้ออกมาสวยงามน่ากิน แต่หนังของคุณไม่เป็นเช่นนั้น 

ถูกต้อง เป็นดังที่คุณพูดนั่นล่ะว่าเราเห็นฉากอาหารที่ดูสวยงามในหนังหลายต่อหลายเรื่องมาโดยตลอด ผมจึงตั้งใจจะไม่ถ่ายเช่นนั้น แต่อยากถ่ายทำให้การทำอาหารดูเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง เราจึงถ่ายทำให้เห็นว่าตัวละครเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารไปอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะผักหรือเนื้อสัตว์ ทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงไปจากรูปลักษณ์แรกเดิมของมัน และออกมาเป็นอาหารหน้าตาสวยงามดังที่เราเห็นบ่อยๆ

นอกจากนี้ หนังของคุณยังทำให้รู้สึกด้วยว่าการทำอาหารเป็นกิจกรรมที่ใช้แรงและเหนื่อยเหลือเกิน

ถูกต้องเลยครับ เราต้องใช้ทั้งเนื้อทั้งตัวทำอาหาร อุปกรณ์หลายอย่างในห้องครัวก็หนักและร้อน ดังนั้น การทำอาหารจึงเป็นกิจกรรมที่เหนื่อยและกินพลังงานมาก 

ถ้าคุณจำได้ มีฉากหนึ่งที่เออเฌนีคุยกับโดแดง ผมอยากสร้างบรรยากาศที่ทำให้คนดูเห็นว่าคนทำครัวสองคนนี้เหนื่อยกันขนาดไหน พวกเขาพูดกันช้าๆ คุยกันเบาๆ ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้เห็นว่าพวกเขาหมดแรงจากการทำงานในห้องครัวกันขนาดไหน เพราะงานครัวเป็นงานที่หนักมากเลย

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าศาสตร์การทำอาหาร (gastronomy) มีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ช่วยขยายความประเด็นนี้ได้ไหม

ได้เลย (ยิ้ม) ถ้าจำไม่ผิด ราวศตวรรษที่ 18 ฌ็อง อองแตล์ม บรีลาต์-ซาวาแรง (Jean Anthelme Brillat-Savarin -นักกฎหมายและนักการเมืองชาวฝรั่งเศส) เขียนหนังสือ The Physiology of Taste (1825) เกี่ยวกับศาสตร์การทำอาหารขึ้นมา และมันเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าวัฒนธรรมการกินในฝรั่งเศสไปเลย เพราะมันทำให้คนเริ่มหันมาพูดคุยกันเรื่องอาหารในแง่มุมของวัฒนธรรมมากขึ้น ไม่ได้คุยกับแค่ว่าอาหารจานนี้อร่อยหรือไม่อร่อย ชอบหรือไม่ชอบ หนังสือ The Physiology of Taste จึงทำให้คนหันมาคิดถึงอาหารกันอย่างจริงจัง หาถ้อยคำมาบรรยายถึงอาหารอย่างละเอียดมากขึ้น และนี่เองที่เป็นจุดตั้งต้นของวัฒนธรรมด้านอาหารของฝรั่งเศสที่เติบโตในเวลาต่อมา เช่น มันส่งผลต่อวิธีที่คนฝรั่งเศสพิจารณาอาหารที่พวกเขากิน วิธีที่พวกเขาสนทนากันเกี่ยวกับอาหาร ตลอดจนวิธีสั่งอาหารและวิธีการกินต่างๆ ซึ่งเฉพาะตัวมาก หรือกระทั่งการวางแก้ว มีด ช้อนและส้อมบนโต๊ะอาหารก็ตามที ถ้าคุณลองไปร้านอาหารในฝรั่งเศส คุณจะพบว่ากฎและมารยาทต่างๆ ที่พวกเขาใช้นั้นก็มาจากศตวรรษที่ 18 ทั้งสิ้น

สำหรับ The Taste of Things อาหารเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนัง และทำให้หนังเรื่องนี้เป็นมากกว่าความสัมพันธ์ของคนสองคนคือเออเฌนีกับโดแดง แต่มันพูดเรื่องมิตรภาพต่างๆ ของเหล่าตัวละครในหนัง เช่น ตัวละครเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นผู้สืบทอดสูตรอาหารจากเออเฌนี ผมอยากทำให้เห็นว่าการสืบทอดองค์ความรู้เป็นเรื่องสำคัญและงดงามมาก ด้านหนึ่ง อาหารจึงเป็นสัญลักษณ์ของความใส่ใจและความรักที่ตัวละครมีให้แก่กัน

คุณทำหนังที่ดัดแปลงจากงานวรรณกรรมมาหลายเรื่อง ตั้งแต่ Norwegian Wood (2010) ที่ดัดแปลงมาจากงานของ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami -นักเขียนชาวญี่ปุ่น), Eternity (2016) จากงานของ อลิซ แฟร์เนย์ (Alice Ferney -นักเขียนชาวฝรั่งเศส) และล่าสุดคือเรื่องนี้ซึ่งดัดแปลงมาจากงานเขียนของ มาร์เซล รูฟ (Marcel Rouff -นักเขียนชาวฝรั่งเศส) ทำไมคุณจึงสนใจการดัดแปลงงานเขียนมาเป็นงานภาพยนตร์ มันยากหรือง่ายกว่าการเขียนเรื่องขึ้นมาเอง

สำหรับผม การดัดแปลงงานเขียนมาเป็นภาพยนตร์ไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ยากคือการมีแค่ไอเดียบางอย่างแต่ไม่รู้จะสร้างมันออกมาอย่างไรต่างหาก

กล่าวถึงมูราคามิ ซึ่งมีแฟนๆ ชาวไทยอยู่เยอะ อะไรทำให้ในเวลานั้นคุณตัดสินใจดัดแปลง Norwegian Wood เป็นภาพยนตร์ 

มันเป็นนิยายเรื่องแรกของมูราคามิที่ผมได้อ่าน และทันทีที่อ่านจบ ผมก็ตัดสินใจว่าจะไม่อ่านงานอื่นๆ ของเขาจนกว่าจะได้ดัดแปลงเรื่องนี้เป็นหนัง ซึ่งแน่นอนว่ามันกินเวลาผมไปหลายปีทีเดียวกว่าจะหาโปรดิวเซอร์ที่ร่วมงานกันได้ 

หลังจากนั้นคุณได้อ่านงานเขาเพิ่มไหม

ครับ ช่วงกระบวนการตัดต่อ ผมก็เริ่มอ่านนิยายเรื่องอื่นๆ ของเขา คิดว่าอีกเรื่องที่น่าหยิบมาดัดแปลงเป็นหนังคือ ‘รักเร้นในโลกคู่ขนาน’

กลับมาที่การดัดแปลงงานเขียนเป็นภาพยนตร์ เข้าใจว่าการดัดแปลงถ้อยคำให้ออกมาเป็นภาพก็น่าจะเป็นงานยากอยู่นะ

ไม่เลยครับ (ตอบเร็ว) สำหรับผมแล้วมันไม่ยากเลย เพราะสิ่งที่คุณทำนั้นไม่ใช่การแปลงถ้อยคำออกมาเป็นภาพ แต่คุณต้องสร้างอารมณ์ที่คุณได้รับจากการอ่านหนังสือเล่มนั้นออกมาให้ได้ต่างหาก คุณต้องดึงอารมณ์นั้นออกมาให้ได้ ไม่ใช้คำที่ปรากฏในหนังสือ เพราะถ้อยคำนั้นเป็นของงานวรรณกรรม ขณะที่ภาพยนตร์นั้นทำงานอีกอยางหนึ่ง หนังสือมอบอารมณ์แบบไหนให้คุณ คุณก็ต้องจับเอาห้วงอารมณ์นั้นออกมาและเล่าออกมาในหนังให้คนดูรู้สึกให้ได้ 

หนังสือมอบความรู้สึกใดให้คุณ คุณก็ต้องสร้างความรู้สึกนั้นให้ปรากฏในหนัง

ความรู้สึกแรกที่คุณสัมผัสได้หลังอ่านงานของมาร์เซล รูฟคืออะไร

ผมชอบความรู้สึกที่คนพูดถึงอาหารในหนังสือของเขา ทั้งศัพท์ที่รูฟใช้เพื่อบรรยายสภาวะเหล่านั้นก็น่าสนใจมากและทำให้ผมอยากได้ยินคนพูดประโยคเหล่านั้นออกมาเป็นเสียง อยากเห็นเป็นภาพ จึงอยากทำมันออกมาเป็นหนัง

กระนั้น ผมก็ไม่พอใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังสือนัก เพราะตลอดทั้งเรื่องเกิดขึ้นหลังจากที่เออเฌนีเสียชีวิตลง เธอตายตั้งแต่ต้นเรื่องเลยทีเดียว ดังนั้น ตัวละครโดแดงจึงควานหาคนอื่นเพื่อมาเป็นคนครัวคู่กันกับเขาแทนที่เธอ ซึ่งผมไม่ชอบเรื่องลักษณะนี้ จึงอยากสร้างเรื่องราวที่พูดถึงเออเฌนีโดยตรงขึ้นมาเอง กล่าวคือเป็นเส้นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเรื่องที่เกิดขึ้นในหนังสือ

อะไรทำให้คุณสนใจตัวละครเออเฌนีขนาดนั้น

เพราะผมสนใจความรักที่เกิดขึ้นระหว่างเออเฌนีกับโดแดง ซึ่งผมว่ามันเหมือนกันระหว่างผมกับ ตรัน นู เย็น เค (Tran Nu Yen Khe) ภรรยาผม เพราะเราทำงานคู่กัน อย่างในเรื่องนี้เธอก็เป็นฝ่ายคอสตูม ดูแลเครื่องแต่งกายนักแสดงให้ผม ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เธอก็เป็นจิตรกรและนักปั้น ซึ่งผมเป็นผู้ช่วยเธอระหว่างที่เธอทำงาน ด้านหนึ่ง เราจึงทำงานคู่กันและผมว่าสิ่งนี้เองที่เกิดขึ้นใน The Taste of Things

อย่างนั้นแล้ว สิ่งที่ยากที่สุดในการดัดแปลงวรรณกรรมมาเป็นภาพยนตร์คืออะไร

(คิดนาน) มันไม่ยากเท่าไหร่นะ แต่ถึงที่สุดผมว่าเราก็ต้องพึ่งพาบทดีๆ ซึ่งจะทำให้เราทำหนังต่อไปได้ ดังนั้นสำหรับผมมันจึงไม่ใช่เรื่องยากเท่าไหร่ เพราะความยากของผมคือการที่เราต้องถ่ายทำหนังกันสามเดือนหรือหกเดือนเพราะติดขัดปัญหาบางอย่าง 

เราถ่ายทำหนังเรื่องนี้กันในเวลา 32 วันเท่านั้น ผมคุยกับผู้ช่วยผู้กำกับตั้งแต่ก่อนเริ่มการถ่ายทำเสียอีกว่าทิศทางการทำหนังของเราจะเป็นแบบไหน ผมต้องการอะไร คุยกันให้ละเอียดตั้งแต่เรื่องบท เครื่องแต่งกาย งานภาพ และจัดตารางทุกอย่างให้เป็นไปตามนั้น 

ก่อนหน้านี้ คุณทำหนังที่ว่าด้วยคนเวียดนามหรือคนเอเชียมาโดยตลอด แต่หลังจาก Eternity ก็ดูคุณหันไปเล่าเรื่องคนฝรั่งเศสแทน เป็นเพราะอะไร

ด้านหนึ่งเป็นเพราะว่าการทำหนังในเวียดนามนั้นยากมาก เนื่องจากเราถูกเซ็นเซอร์อยู่บ่อยๆ และการเซ็นเซอร์นี่เองที่ทำให้ผมไม่อาจทำหนังในเวียดนามต่อได้ หลังจาก The Vertical Ray of the Sun (2000, ว่าด้วยสามพี่น้องสาวในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนามที่สำรวจเรื่องราวของครอบครัวพวกเธอในวันครบรอบวันตายของแม่) ผมก็ไปถ่ายหนังที่ญี่ปุ่นแทน และจากนั้นก็ถ่ายทำหนังในฝรั่งเศสเพราะลูกๆ ผมเริ่มเติบโต การเดินทางออกไปถ่ายทำหนังในต่างประเทศจึงเป็นเรื่องยากมากขึ้น เราต้องดูแลลูกๆ จะพาเขาออกเดินทางไปโน่นมานี่พร้อมเราไม่ได้แล้ว เพราะพวกเขาต้องเรียนหนังสือในโรงเรียน

ตอนนั้นคุณโดนเซ็นเซอร์จากกรณีอะไร

คุณจำเรื่อง Cyclo (1995, คนถีบรถสามล้อออกตามหารถสามล้อของตัวเองที่ถูกขโมยจนชีวิตเข้าไปพัวพันกับคดีอาชญากรรม) ได้ไหม เรื่องนั้นแหละ มันถูกเวียดนามสั่งแบนไม่ให้ฉายเพราะถูกพิจารณาว่าหนังมีเนื้อหาที่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ประเทศเวียดนาม 

Cyclo เป็นภาคสองของไตรภาคเวียดนามที่คุณกำกับ อยากถามว่าสำหรับคุณแล้ว ในฐานะคนที่อพยพออกมาจากประเทศตั้งแต่ยังเด็ก มีอะไรในเวียดนามที่น่าสนใจสำหรับคุณ

ทุกอย่างที่เป็นความเป็นเวียดนามนั่นแหละครับ ทุกครั้งที่ผมกลับไปยังเวียดนาม ผมก็ได้ไอเดียมาทำหนังใหม่ๆ ทุกครั้งไป โดยสิ่งที่ผมสนใจนั้นเป็นสิ่งที่แสนสามัญ ธรรมชาติ เป็นชีวิตเรียบง่ายของชาวเวียดนาม ผมว่าผมทำหนังที่ว่าด้วยเรื่องชีวิตคนที่นั่นได้สัก 7-8 เรื่องได้มั้ง เสียดายจริงๆ ที่มันยังมีประเด็นเรื่องการเซ็นเซอร์อยู่ 

เป็นไปได้ไหมว่าคุณมองความเป็นเวียดนามในฐานะคนนอกเพราะจากประเทศมานาน ทำให้สนใจสำรวจเรื่องราวภายในด้วยการมองเข้าไป

อาจจะนะ (คิดนาน) กระนั้น ผมก็ไม่เคยพิจารณาตัวเองว่าผมเป็นคนฝรั่งเศสหรืออยู่แต่กับวัฒนธรรมฝรั่งเศสเท่านั้นเพราะไม่ได้เกิดที่ฝรั่งเศส ผมชอบวรรณกรรมญี่ปุ่นและหลงรักดนตรีเยอรมัน ผมเป็นพวกเปิดรับความหลากหลายอยู่เสมอ ทุกครั้งที่กลับไปเวียดนาม ผมก็จะพินิจเห็นสิ่งที่คนเวียดนามไม่เห็น พวกสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่ในชีวิตพวกเขามาตั้งแต่ต้นและพวกเขาก็ไม่ได้เห็นมันเป็นสิ่งสลักสำคัญอะไร แต่สำหรับผมแล้ว มันอาจจะน่าสนใจก็ได้ และก็เช่นเดียวกันกับที่ผมมองเข้าไปในคนฝรั่งเศสนั่นแหละ หลายสิ่งที่พวกเขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องเรียบง่ายธรรมดา แต่ผมก็มักจะเห็นแง่มุมน่าสนใจบางอย่างมาได้อยู่เสมอ และก็หวังอยากนำเสนอมันให้ออกมาดูน่าสนใจผ่านสิ่งที่แสนจะเรียบง่ายนั่นแหละ

ร่วมสามทศวรรษแล้วนับตั้งแต่คุณกำกับหนังเรื่องแรก มาจนถึงตอนนี้ คุณคิดว่าคุณเปลี่ยนไปจากวันแรกที่ได้กำกับหนังบ้างไหม

ไม่เลยครับ (ตอบเร็ว) เพราะผมมองหาสิ่งเดิมอยู่เสมอ สิ่งเดิมซึ่งอยู่ในภาษาภาพยนตร์ มันเป็นภาษาเดียวที่ผมรู้และอยากสื่อสารด้วยภาษานี้อย่างละเอียดอ่อนที่สุดเท่าที่จะทำได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save