fbpx
Futurising Thailand "การปรับตัวต้องเริ่มจากการมองเห็นว่า เราอยู่ตรงไหนของการเปลี่ยนแปลง" : ทศพร ศิริสัมพันธ์

Futurising Thailand “การปรับตัวต้องเริ่มจากการมองเห็นว่า เราอยู่ตรงไหนของการเปลี่ยนแปลง” : ทศพร ศิริสัมพันธ์

กองบรรณาธิการ The101.world เรื่อง

ปนัฐ ธนสารช่วงโชติ ภาพ

 

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ทฤษฎีระดับการพัฒนา (theory of stages of development) คือแนวทางหลักที่ผู้กำหนดนโยบายจากทั่วโลกยึดถือ ทฤษฎีนี้เชื่อว่า เส้นทางการพัฒนาประเทศมีแค่แบบเดียวและแบ่งเป็นลำดับขั้น โดยในขั้นแรก เมื่อประเทศยังมีรายได้ต่ำ การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ด้วยกระบวนการ ‘กลายเป็นอุตสาหกรรม’ (industrialization) ที่ใช้แรงงานราคาถูกและทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น ขั้นที่สอง เมื่อประเทศเริ่มพัฒนา ระดับค่าจ้างเริ่มสูงขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติก็เริ่มหมดลง การพัฒนาประเทศในขั้นนี้จะต้องให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ และเมื่อประเทศเข้าสู่ระดับการพัฒนาในขั้นสุดท้าย นวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ภายใต้ทฤษฎีข้างต้น การที่แต่ละประเทศจะใช้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นอยู่ในขั้นตอนไหนของการพัฒนา

ตลอดกว่า 5 ทศวรรษนับตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504) ประเทศไทยประสบความสำเร็จพอสมควรในการพัฒนาประเทศตามแนวทางข้างต้น โดยมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็น ‘คลังสมอง’ สำคัญของภาครัฐในกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

แต่ในโลกใหม่ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปในอัตราเร่ง นวัตกรรมเกิดใหม่ทุกนาที (สถิติของธนาคารโลกชี้ว่า ในปี 2559 อัตราการขอจดสิทธิบัตรเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ครั้งต่อ 1 นาที) ทฤษฎีและความเชื่อในการพัฒนาแบบเก่ากำลังใช้ได้น้อยลงเรื่อยๆ ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและปรับตัวขนานใหญ่

เมื่อประเทศถูกเรียกร้องให้เปลี่ยน นั่นยอมหมายถึงทุกองคาพยพของสังคมถูกเรียกร้องให้ปรับ และในฝั่งภาครัฐ องค์กร ‘คลังสมอง’ ย่อมถูกคาดหวังให้ปรับตัวเป็นลำดับแรกๆ

ภายใต้โครงการFuturising Thailand – สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก กับ สภาพัฒน์’ 101 ชวน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สนทนาว่าด้วย ความท้าทายของประเทศไทยในโลก 4.0 – สภาพัฒน์ตีโจทย์ความท้าทายนี้อย่างไร ประเทศไทยอยู่ตรงไหนของความเปลี่ยนแปลง และต้องทำอย่างไรประเทศจึงจะยังสามารถแข่งขันได้

 

 

สภาพัฒน์ในฐานะองค์กรคลังสมองของภาครัฐ ตีโจทย์ความท้าทายในโลกปัจจุบันอย่างไร

โลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด (exponential changes) ในส่วนของการเมืองสังคม ภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังเปลี่ยนแปลง เดิมผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องชั่วคราวหรือถาวร แต่แนวโน้มที่เห็นคือน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงในภาคเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีด้วย ก็ชัดเจนมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล

ทุกคนรู้ว่าโลกกำลังเปลี่ยน ประเด็นเหล่านี้หาข้อมูลได้ไม่ยาก แต่ความท้าทายคือ เรามองเห็นหรือไม่ว่าเราอยู่ตรงไหนของความเปลี่ยนแปลงนี้ และจะรับมืออย่างไร

 

ประเทศไทยอยู่ส่วนไหนของการเปลี่ยนแปลงนี้

โลกใหม่มีทั้งโอกาสและความท้าทาย ต้องมานั่งดูว่าศักยภาพ หรือจุดแข็งของประเทศคืออะไร ซึ่งมีอยู่หลายด้านเลยทีเดียว เช่น ถ้ามองจากมุมภูมิศาสตร์โลก ไทยมีภูมิศาสตร์ในจุดที่ค่อนข้างดีมาก อีกทั้งสถานการณ์โดยรวมของภูมิภาคก็มีเสถียรภาพและสันติภาพสูง ดังนั้น ไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการเป็นจุดเชื่อมโยง (connectivity) ได้

สภาพัฒน์มองเห็นตรงนี้จึงพยายามผลักดันให้มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่จะทำให้เรากลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในภูมิภาค โครงการต่างๆ เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง จะช่วยให้การเชื่อมต่อสมบูรณ์ขึ้น ผมอยากยกตัวอย่างแนวคิดการทำระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (southern economic corridor) ถ้าทำสำเร็จประเทศไทยจะเป็นจุดเชื่อมสองฝั่งมหาสมุทรเข้าด้วยกันได้ โดยการใช้รถไฟรางคู่เป็นตัวเชื่อม จากระนองมาที่ชุมพร และจากชุมพรขึ้นไปยังระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (eastern seaboard) และจากจุดนี้ สินค้าและบริการก็สามารถกระจายสินค้าออกไปตามเส้นทางที่เราวางแผนเอาไว้ได้ เรื่องพวกนี้อาจดูไม่น่าตื่นเต้นเร้าใจ แต่ถ้าทำสำเร็จก็จะสร้างโอกาสอีกมากมาย

ในขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานก็ไม่ใช่คำตอบเดียว เศรษฐกิจไทยจะต้องมีพลวัตมากพอที่จะสร้างโอกาสใหม่ขึ้นมาเองได้ เช่น รัฐบาลได้พยายามสร้างอุตสาหกรรมใหม่ หรือ ‘new s curve’ ทั้งหลาย อุตสาหกรรมเหล่านี้อาจถกเถียงกันได้ว่า ใช่หรือไม่ใช่อย่างไร แต่หัวใจคือการพยายามสร้างให้ประเทศไทยพัฒนาอุตสาหกรรมชั้นสูง ที่อยู่บนฐานของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เราจำเป็นต้องออกแบบและสร้างขึ้นมา

นอกจากอุตสาหกรรมใหม่แล้ว ต้องอย่าลืมว่าประเทศไทยมีสินค้าและบริการที่เป็นจุดแข็งเดิมของเราอยู่แล้ว ก็ต้องเอามาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ เช่น การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร หรือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

 

ประชาคมโลกมองไทยอย่างไร เหมือนหรือต่างจากที่เรามองตัวเองมากน้อยแค่ไหน

หนึ่งในวิธีที่ใช้ทำความเข้าใจว่าประชาคมโลกมองศักยภาพของประเทศไทยอย่างไร คือการพิจารณาตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีหลายองค์กรจัดทำขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น ดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของ World Economic Forum หรือดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ IMD และดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลก เป็นต้น

ในส่วนของสภาพัฒน์ ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเนื้องานส่วนหนึ่งคือการติดตามและวิเคราะห์ดัชนีเหล่านี้โดยตรงอยู่แล้ว

ตัวชี้วัดเหล่านี้พูดถึงจุดแข็งหลายอย่างของไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจและเราควรโฟกัสมากกว่าคือ จุดอ่อนที่เราต้องนำไปปรับปรุง โดยจุดอ่อนหลักๆ ที่ไทยควรต้องปรับปรุงมีอยู่ 2-3 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือในมิติเชิงสถาบัน เรื่องที่สองคือเรื่องของทุนมนุษย์ และสาม คือระบบของการสร้างนวัตกรรม

ในมิติเชิงสถาบัน สิ่งสำคัญที่ต้องปรับคือ การปฏิรูปกฎหมายกับการทำงานของภาคราชการ โดยหัวใจสำคัญของสองเรื่องนี้คือ การปรับกฎหมายให้มีความทันสมัย และทำกฎหมายไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ ระบบราชการก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น ต้องปรับจากเดิมที่เป็นผู้กำกับดูแล มาเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุน (facilitator) ให้มากขึ้น

ประเทศไทยจำเป็นต้องมองภาพในเชิงรุกมากขึ้น กฎหมายจำนวนมากของไทยเป็นมรดกมาจากอดีต ฉบับใหม่ๆ ก็ร่างกันมานาน เพียงแต่เพิ่งมาออกในปัจจุบัน แต่เราไม่ได้มองไปในอนาคตสักเท่าไหร่ เช่น ทุกวันนี้เรามีปัญหา Airbnb หรือ Grab ใช่ไหม ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร แต่ในอนาคตปัญหาจะยิ่งซับซ้อนกว่านี้อีก เรากำลังจะมีรถยนต์ไร้คนขับ (autonomous vehicle) เข้ามาวิ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งกฎหมายเดิมไม่รู้จักแล้ว คำถามง่ายๆ เลยคือ ใบขับขี่ยังจำเป็นไหมในระบบคมนาคมแบบนี้ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น

สิ่งที่เราต้องปรับปรุงก็คือ การทำกฎหมายให้อ่อนตัวมากขึ้น ต้องมองโลกในอนาคตให้เร็ว และพยายามออกกฎหมายในลักษณะที่ไปดักรอสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ แต่ส่วนใหญ่ของบ้านเรา จะเกิดสถานการณ์ก่อน แล้วค่อยมาคิด มาแก้กฎหมาย มันก็จะช้ากว่าสถานการณ์ที่ควรจะเป็น

 

แล้วเรื่องทุนมนุษย์เป็นอย่างไร

ในส่วนของทุนมนุษย์ รายงานล่าสุดของธนาคารโลกบอกว่า ประสิทธิภาพของทุนมนุษย์ของไทยอยู่ที่ประมาณ 60% เท่านั้นเอง เมื่อลงไปดูในรายละเอียดก็พบว่า สาเหตุที่คะแนนต่ำเป็นเพราะคุณภาพของระบบการศึกษาของเรา เขาบอกเลยว่า แม้ว่าไทยจะมีการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี แต่ถ้าดูมิติด้านคุณภาพแล้ว จะเทียบเท่ากับ 8 ปีเท่านั้นเอง นอกจากนั้น ไทยยังมีอัตราการสูญเสียของคนไทยเนื่องมาจากอุบัติเหตุในช่วงวัยรุ่น อุบัติเหตุในเรื่องของจักรยานยนต์ พอขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่หน่อย ก็มีโรคหลายโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตค่อนข้างเร็ว เรื่องพวกนี้เลยเป็นคะแนนที่หักลบมา

จะเห็นว่า การปรับปรุงแก้ไขจะต้องทำกันทั้งระบบให้สอดคล้องกัน ไม่สามารถทำเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ถ้าจะแก้เรื่องคุณภาพการศึกษา ก็ต้องยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ด้วย ทั้งในส่วนของการป้องกันอุบัติเหตุ และป้องกันโรคภัยต่างๆ

 

 

ทุกคนพูดแต่เรื่องการสร้างนวัตกรรม แต่จะสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมขึ้นมาจริงๆ ได้อย่างไร

ในส่วนของนวัตกรรมก็เช่นเดียวกัน บทวิเคราะห์จากต่างประเทศชี้ว่า ถึงเวลาที่ไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้มีนวัตกรรมมาตั้งแต่ต้น เราเป็นชาติแห่งการค้า (trading nation) ซื้อมาขายไปเป็นหลัก ดังนั้นจึงต้องการการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในระดับวิธีคิดและวัฒนธรรม

เราต้องเริ่มปรับวัฒนธรรมของการเรียน ตั้งแต่โรงเรียน ให้เน้นเรื่อง STEM เพิ่มมากขึ้น กระตุ้นให้เด็กสนใจเรื่องการค้นคว้า ทดลองทำสิ่งต่างๆ ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นให้ได้

อันที่จริง เราก็มีความพยายามในการสร้างระบบนิเวศของนวัตกรรม (Innovation ecosystem) มาโดยตลอด เช่น รัฐบาลเองก็มีมาตรการให้ภาคธุรกิจเอกชนเน้นในเรื่องนวัตกรรม มีมาตรการด้านภาษีที่สามารถหักภาษีได้ถึง 300% แล้วก็พยายามส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผ่านสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ แต่ก็ยังต้องทำต่อไปอีก เพราะระบบนิเวศมันคือสภาพแวดล้อมทั้งหมดที่จะทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นในบ้านเราได้จริงๆ  สิ่งที่เราเห็นตามสื่อไม่ว่าจะเป็นย่านนวัตกรรม (innovation district) หรือ ย่านความคิดสร้างสรรค์ (creative district) ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ว่า

ประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงดูดคนเก่งๆ มาทำงาน เพราะเรามีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างดี อาหารอร่อย ราคาไม่แพง แต่ว่าเราคงต้องสร้างบรรยากาศเหล่านี้ให้เอื้อต่อการทำงานเชิงนวัตกรรมและการทำงานเชิงสร้างสรรค์ด้วย

 

ดูเหมือนว่า การยกระดับความสามารถในการแข่งขันในโลกยุคใหม่ จะกินความกว้างขวางมาก ไม่ได้โฟกัสแค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวอีกต่อไป

ใช่ การยกระดับความสามารถในการแข่งขันเป็นเรื่ององค์รวม มิติทางเศรษฐกิจ เป็นเพียงมิติหนึ่งเท่านั้น พูดให้ถึงที่สุด การสร้างความสามารถทางด้านการแข่งขัน ก็คือการพัฒนาประเทศ ทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาตามที่เราต้องการ ฉะนั้น มันไม่ใช่เป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างเดียว แต่ต้องมีจุดหมายว่า เราต้องการที่จะพัฒนาไปเพื่ออะไร เศรษฐกิจโต แต่ความเหลื่อมล้ำสูงรุนแรงมาก คุณภาพชีวิตคนส่วนใหญ่ย่ำแย่ ก็ย่อมไม่ใช่เป้าหมายที่เราอยากจะไปถึง

 

แล้วสภาพัฒน์ในฐานะองค์กรมันสมองของรัฐ ต้องปรับตัวอย่างไร

สภาพัฒน์มองว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยในสองด้าน ด้านแรกคือเรื่องของวิธีคิด (mindset) ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด แต่ระบบคิดของเรายังติดกับดักความคิดแบบเดิม ซึ่งเป็นความคิดที่ใช้กันนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 แล้ว นั่นคือการเชื่อในเรื่องประสิทธิภาพ การลดต้นทุน การใช้แรงงานหรือวัตถุดิบราคาถูก จะเห็นว่านี่เป็นชุดความคิดที่เชื่อกันมากว่า 200 ปีแล้ว แต่ยังไม่เปลี่ยนเลย เราต้องมองให้เห็นว่าในโลกยุคใหม่ การสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนานวัตกรรมจะเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ

ด้านที่สองคือ การบริหารงาน จากเดิมที่เราติดกับดักความคิดในลักษณะที่เป็นระบบราชการแบบเดิม (bureaucratic framework) ที่เน้นเรื่องการทำงานแบบเชี่ยวชาญ ชำนาญการ และเน้นเรื่องการสั่งงานตามระบบสั่งการ (hierarchy) สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะต้องเปลี่ยนทั้งหมด ในโลกปัจจุบันวิธีการทำงานต้องมีความปราดเปรียว (agile) และมีความคล่องตัวมากขึ้น

พูดให้ถึงที่สุด สภาพัฒน์ก็ถูก disrupt จากความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ที่ผ่านมาเราก็พยายามปรับโครงสร้างการทำงานให้มีหน่วยงานที่คล่องตัว สามารถทำงานในลักษณะที่เป็น agile มากขึ้น มีการคิดถึงความเป็นไปได้ในการทำงานใหม่ๆ เช่น การตั้งสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น ‘พื้นที่’ (platform) ใหม่ให้คนของสภาพัฒน์ได้ทำงานกับคนเก่งในภาคเอกชน หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ

ทุกวันนี้ปัญหาของบ้านเมืองมีความสลับซับซ้อนเกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถแก้ได้ ต้องประสานงานกัน รวมพลังกัน ในการที่จะช่วยกันคิดและหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ

 

 


#sponsor #สภาพัฒน์ #futurisingthailand #สร้างอนาคตไทยให้ทันโลก

MOST READ

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save