fbpx

ส้วมเซฟโซน: เมื่อส้วมโอบกอดเราไว้ ในวันที่ร้องไห้และอยากหายไปเงียบๆ คนเดียว

“เมื่อรักหมดอายุ ความเย็นชาก็เข้ามาสวม ก็คงเหลือเพียงส้วม ที่ต้องใช้ร่วมกัน”

‘ส้วม’ คำนี้ แม้เมื่ออ่านหรือได้ยินแล้วจะทำให้หลายคนรู้สึกราวกลับได้กลิ่นตุๆ แตะเข้าโพรงจมูกทันที 
ทว่าจากคำร้องในท่อนแรกของเพลง “เหลือแค่ส้วมที่ใช้ร่วมกัน” ของวงดนตรีวัยรุ่น Dr.Fuu กลับสะท้อนให้เห็นว่า ในวันที่ความรักของคู่รักบางคู่เดินทางมาถึงวันหมดอายุ ท่ามกลางสรรพสิ่งของ วัตถุ สถานที่ และความทรงจำ สถานที่อย่าง ‘ส้วม’ กลับเป็นสิ่งสุดท้ายที่ได้เขาและเธอจะได้ใช้ร่วมกัน

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ‘ส้วม’ เป็นคำนาม หมายถึงสถานที่ที่สร้างไว้สำหรับถ่ายอุจจาระปัสสาวะโดยเฉพาะ และมักถูกสร้างเป็นห้อง จึงมีการเรียกกันทั่วไปว่า ‘ห้องส้วม’ เรียกกันโดยสุภาพว่า ‘ห้องสุขา’[1] และเรียกกันในลักษณะภาพรวมอีกชื่อว่า ‘ห้องน้ำ’

‘ส้วม’ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน แต่หากในความหมายของการเป็นสถานที่เฉพาะ ส้วมถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการปรับตัวไปสู่ความศิวิไลซ์ของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเครื่องบ่งชี้สถานะชนชั้นทางสังคม เป็นเกณฑ์วัดมาตรฐานทางด้านการสาธารณสุข[2] และในปัจจุบัน ส้วมบางแห่งก็อัปเกรดสถานะจากการเป็นสถานที่สำหรับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะไปสู่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

แม้ส้วมจะยังคงทำหน้าที่ในการเป็นสถานที่สำหรับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้อย่างซื่อตรงและไม่ทรยศต่อประชาชนคนไทย แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่าในปัจจุบันส้วมทำหน้าที่มากกว่านั้น โดยเฉพาะการกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) สำหรับใครหลายๆ คน 

เพราะบางครั้ง ‘ส้วม’ ก็กลายเป็นสถานที่ให้เราได้หลบหนีจากความวุ่นวาย

บางครั้ง ‘ส้วม’ ก็กลายเป็นสถานที่ให้เราได้แอบไปร้องไห้

บางครั้ง ‘ส้วม’ ก็กลายเป็นสถานที่ให้เราได้มีโอกาสหายตัวไปนั่งเงียบๆ คนเดียว 

และบางครั้ง ในวันที่แสนเศร้าและโหดร้าย ‘ส้วม’ ก็ราวกับเป็นเพื่อนผู้ที่โอบกอดเราไว้ โดยไร้ซึ่งคำสนทนายกย่องเยินยอหรือส่อเสียดทิ่มแทง

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ส้วมจะกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของใครหลายคน แต่เดิมนั้นส่วนมากส้วมของประชาชน ค่อนข้างมีภาพลักษณ์เป็นผู้ร้าย ดังเห็นได้จากภาพความทรงจำว่าด้วยส้วมในสมัยก่อน ที่เต็มไปด้วยจินตนาการแห่งความลึกลับ ห่างไกล ลับหูลับตาผู้คน และมากไปกว่านั้น ส้วมยังมีสถานะราวกับเป็น ‘คนอื่น’ (other) และ ‘ความเป็นอื่น’ (otherness) จากตัวบ้าน ไม่ได้ถูกนับรวมให้อยู่ภายในพื้นที่ของตัวบ้าน ต้องมีการสร้างแยกออกไป ไปแอบ ไปซ่อนอยู่บริเวณหลังบ้าน ซึ่งส่งผลทำให้ส้วมกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยภยันตรายจากสัตว์นานาชนิดทั้ง กิ้งกือ ตุ๊กแก ตะขาบ และบรรดาสัตว์งูเงี้ยวเขี้ยวขอ ทำให้การเดินไปเข้าส้วมในเวลากลางคืนแทบไม่ต่างจากการเดินทางบุกป่าฝ่าดงเข้าไปเผชิญภยันตรายแบบในละครอังกอร์ของผู้กำกับ ฉลอง ภักดีวิจิตร

และคงไม่มีสุภาษิตไทยสำนวนใดจะทำเห็นภาพความเข้าใจเรื่องส้วมได้ดีเท่าสุภาษิตที่ว่า “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” ซึ่งแม้จะมีผู้ให้ความเห็นแย้งว่า ‘ส้วม’ ภาษาอีสานแปลว่า ห้องนอนลูกสาว แต่ตามความเข้าใจที่คนไทยทราบกันดี สำนวนนี้มีความหมายว่า หากลูกสาวบ้านใดประพฤติตัวไม่ดี เช่น มีเรื่องชู้สาว ชื่อเสียงของครอบครัวนั้นก็จะเสื่อมเสีย เสมือนเอาส้วมที่สกปรกมาตั้งไว้หน้าบ้านและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว เพราะโดยปกติแล้วส้วมจะต้องตั้งอยู่ไกลๆ หรืออยู่บริเวณหลังบ้าน[3]

คงจะมีร้อยเหตุผลในกระบวนการเปลี่ยนผ่านภาพลักษณ์และการกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของส้วมในสังคมไทย แต่หนึ่งเหตุผลที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ ‘ส้วมเซฟโซน’ เป็นภาพปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติบริโภค การดำรงอยู่ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และ/หรือการเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ที่มุ่งเน้นการบริโภคนิยม ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะแบบครึ่งเสี้ยว ค่อนเสี้ยว หรือเต็มใบก็ตามที

การปฏิวัติบริโภคส่งผลต่อพฤติกรรมมนุษย์เป็นอย่างมากทั้งในเรื่องการกิน การดื่ม การอยู่ การอาศัย การจับจ่ายใช้สอย ไปจนถึงการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ[4] แน่ละว่าเมื่อคนเรากินมาก ดื่มมาก เที่ยวมาก การขับถ่ายของมนุษย์ก็ต้องทำงานเพิ่มมากขึ้นสัมพันธ์ไปกับการบริโภค ส่งผลทำให้มนุษย์เราจำเป็นต้องกระซิบหรือตะโกนหาส้วมมากเสียยิ่งกว่าชื่อเรื่องสั้น “เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี” ของ อิศรา อมันตกุล 

วัฒนธรรมและค่านิยมแห่งการกิน การดื่ม และการเที่ยว ได้ทำให้ส้วมกลายเป็นสถานที่สำคัญและเกิดการยอมรับว่าส้วมคือสถานที่อันแสนปกติที่จะขาดไปมิได้ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ปั๊มน้ำมัน หรือในที่สาธารณะ การปฏิวัติบริโภค ได้ทำให้ภาพลักษณ์ที่แสนลึกลับราวกับเป็นเมืองลับแลของส้วมค่อยๆ กลายเป็นพื้นที่แห่งความเป็นมิตร สะอาดและปลอดภัย 

ไม่เพียงเท่านั้น การกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของส้วมยังอาจสัมพันธ์ไปกับการแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเสมือนเรือลำหนึ่งที่ล่องไปอยู่บนมหาสมุทรแห่งระบบเศรษฐกิจทุนนิยม เหมือนๆ กับเรือของอีกหลายประเทศที่ต่างต้องฝ่าคลื่นลมในห้วงมหาสมุทรนี้ 

ไม่ว่าสังคมไทยจะถูกปัญญาชนที่อยู่บนหอคอยช้างงาเดียวหรืออยู่ริมคลองหลอดวิเคราะห์ว่าเป็นสังคมกึ่งอะไรก็ตามแต่ ย่อมปฏิเสธมิได้ว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมคือส่วนผสมหนึ่งของสังคมเศรษฐกิจไทย และภาพตัวแทนที่ชัดเจนที่สุดก็คงได้แก่ ภาพป่าคอนกรีตที่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัท ภาพมนุษย์ในชุดขาวที่ต้องต่อสู้กับอาการง่วงหงาวหาวนอนไปยืนรอขึ้นรถคันใหญ่ในตอนเช้า ภาพมนุษย์ที่เดินเข้าและออกมาจากรูตึกเหมือนกับมดที่เดินออกมาจากรูดิน

เสียงคำรามของเครื่องจักรที่ดังราวกับเหล่าเทวดากำลังมีปาร์ตี้มะม่วงน้ำปลาหวานอยู่บนสรวงสวรรค์แล้วได้ยินลงมาถึงหูขอทานที่โลกมนุษย์ ความไวเสียยิ่งกว่านกกระจอกกินน้ำของสายพานการผลิตที่หมุนอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งอันแสนปกติของชีวิตมนุษย์โรงงานและพนักงานบริษัท เป็นประจักษ์พยานสำคัญว่าสังคมไทยได้ดำเนินอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

อย่างไรก็ตาม นอกจากเครื่องจักรและสายพาน องค์ประกอบในด้านสถานที่ของโรงงานและบริษัทในปัจจุบันที่จะขาดไปมิได้เลยเห็นจะได้แก่ ห้องพยาบาลและส้วม 

ในระบบทุนนิยม อาจโชคไม่ดีนักสำหรับบางคน หากโรงงานหรือบริษัทบางแห่งราวกับเป็นขุมนรก ที่พนักงานเสมือนเป็นผู้ได้กระทำผิดเมื่อชาติที่แล้วต้องตกลงมายังนรกเพื่อชดใช้กรรม โดยมีหัวหน้าแผนกทำตัวราวกับเป็นยมบาลเจ้าขาที่ไร้ซึ่งความเมตตาปรานี มีเพื่อนร่วมงานที่ทำตัวราวกับเป็นสุวรรณผู้ทำหน้าที่ตรวจบัญชีหนังหมา คอยรายงานฟ้องท่านยมฯ อยู่ตลอดเวลา

สำหรับบางคน การตื่นเช้าไปทำงานจึงเสมือนกับการเดินทางไปลงนรกเพื่อปีนต้นงิ้วหรือลงแช่น้ำร้อนในกระทะทองแดง โดยมีแรงกดดัน คำด่า คำว่า คำขู่ ใบตักเตือนและซองขาว เป็นเหมือนหอกแหลมแทงทุกวัน ทุกวัน

โชคดีที่ว่าบนโลกมนุษย์นี้นั้นยังมีพื้นที่หนึ่งในโรงงานหรือบริษัท ที่แต่เดิมมีจุดประสงค์ไว้สำหรับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ แต่ต่อมาได้กลับกลายเป็นหลุมไว้หลบภัยให้ได้พักหายใจ ได้นั่งอยู่เฉยๆ  แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ช่วงไม่นานนัก ซึ่งพื้นที่แห่งนั้นก็คือ ส้วม 

ส้วมหรือห้องน้ำในที่ทำงานจึงมิใช่เพียงแค่สถานที่ที่ไว้สำหรับถ่ายอุจจาระปัสสาวะตามนิยามของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนจำนวนหนึ่งได้มีโอกาสแอบไปนั่งร้องไห้ หรือไม่ก็เป็นสถานที่ที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้ลิ้มรสสัมผัสกับความรู้สึกแห่งการได้หายไปเงียบๆ จากโรงงานนรก ได้มีโอกาสได้คุยกับตัวเองบ้าง แม้ว่าจะเป็นเพียงชั่วระยะเวลาไม่นานก็ตามที

เมื่อความคาดหวัง แรงกดดัน ค่านิยมและวัฒนธรรมที่ต้องคอยแสดงตนให้เป็นผู้เข้มแข็งราวกับ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน (Sylvester Stallone) ในบทบาทนักรบแรมโบ้ จึงแทบจะไม่เปิดโอกาสให้บางคนได้แสดงความอ่อนแอ ทว่าเมื่อการร้องไห้ในที่ทำงานไม่สามารถเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไปได้อีกต่อไป ส้วมหรือห้องน้ำจึงกลายเป็นเพื่อนผู้แสนอบอุ่นที่ได้โอบกอดเราไว้ในวันที่เราร้องไห้และอยากหายไปเงียบๆ คนเดียว

วิเคราะห์ได้ไม่ยากเลยว่า ในโลกแห่งระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ส้วมหรือห้องน้ำจึงกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย สำหรับคนวัยทำงาน ดังเห็นได้จากบทความจำนวนหนึ่งในโลกอินเทอร์เน็ตที่แสดงให้เห็นว่า ส้วมได้กลายเป็นสถานที่สำคัญในการรับมือเมื่อน้ำตาต้องรินไหลในที่ทำงาน[5] และกลายเป็นข้อคำถามและกระทู้ในเว็บไซต์พันทิปหรือทวิตเตอร์ (ปัจจุบันคือ X) อย่าง “ใครเคยมีฟีลแบบต้องลุกออกจากโต๊ะทำงานไปแอบร้องไห้ในห้องน้ำบ้างคะ?”[6] “ใครมีห้องน้ำเป็นเซฟโซนเหมือนเราบ้างคะ?”[7] หรืออาจเป็นประโยคเพื่อบอกเล่าว่า “ห้องน้ำคือเซฟโซนดีๆ เวลาเจอเรื่องแย่ๆ ที่ทำงาน”[8]

ในโลกแห่งระบบทุนนิยมที่เราไม่สามารถหนีไปได้ พระเจ้าหรือผีห่าซาตานยังไม่อนุญาตให้เราตาย ในวันที่เจ้านายไร้ซึ่งความเมตตาปรานียิ่งเสียกว่ายมบาล เมื่อเพื่อนร่วมงานกลับกลายเป็นอสรพิษ

ส้วม จึงได้โอบกอดเราไว้.


[1] ทัศชล เทพกำปนาท, เล่าสู่กันฟัง…เรื่อง “เรื่องน่ารู้ของ ส้วม”, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เข้าถึงข้อมูลใน http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=5405&filename=i

[2] ดูงานศึกษาประวัติศาสตร์สังคมว่าด้วยเรื่อง ส้วม ได้ใน มนฤทัย ไชยวิเศษ, ประวัติศาสตร์สังคม: ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย (พ.ศ.2440-2540), วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542.

[3] สุนันทา โสรัจจ์, ย้อนอดีตกับภาษิตสำนวน, เข้าถึงข้อมูลใน chromeextension://efaidnbmnnnibpcaj
pcglclefindmkaj/http://kids-d.swu.ac.th/dspace/bitstream/123456789/1760/13/chapter4.pdf

[4] ดูประเด็นนี้ใน ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ปฏิวัติบริโภค : จากสิ่งของฟุ่มเฟือยมาสู่สิ่งจำเป็น, พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับปรับปรุง, (กรุงเทพฯ : ศยาม, 2558).

[5] เช่น  เมื่อการร้องไห้ออกมาบ้างอาจไม่เป็นไร แต่ละคนรับมืออย่างไรเมื่อน้ำตารินไหลในที่ทำงาน?, เข้าถึงใน https://thematter.co/social/is-crying-at-work-okay/113643

[6] ดู https://pantip.com/topic/35225251

[7] ดู https://pantip.com/topic/41751327

[8] ดู https://twitter.com/yoxrgravity/status/1232229633048731648

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save