fbpx
ถกเรื่องความเหลื่อมล้ำในรั้วโรงเรียน กับ อรรถพล อนันตวรสกุล

ถกเรื่องความเหลื่อมล้ำในรั้วโรงเรียน กับ อรรถพล อนันตวรสกุล

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่อง

TEDxSilpakornU ภาพ

 

ทุกวันนี้เวลาพ่อแม่พาลูกไปสมัครเข้าโรงเรียน จะพบว่า หลักสูตรการศึกษาในโรงเรียนมักจะมีหลากหลายหลักสูตร โดยเฉพาะหลักสูตรที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษมีตั้งแต่ EP (English Program), Mini EP, IEP (Intensive English Program) ไปจนถึงหลักสูตรนานาชาติในโรงเรียน ซึ่งค่าเทอมเริ่มตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน เมื่อเด็กเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลักสูตรในโรงเรียนก็ยังคัดแยกเด็กออกไปเป็นห้อง King ห้อง Queen ห้อง Gifted และห้องเรียนเฉพาะทางอีกหลายห้อง

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ การแบ่งแยกเด็กออกเป็นห้องเรียนต่างๆ กำลังสร้างความเหลื่อมล้ำให้เด็กตั้งแต่ในรั้วโรงเรียนหรือไม่ หากเด็กๆ เหล่านี้เติบโตต่อไปในอนาคต พวกเขาจะอยู่ร่วมกันในสังคมแบบไหน และสังคมไทยกำลังจะเต็มไปด้วยเด็กเก่งที่เห็นแก่ตัว ทอดทิ้งคนที่ไม่เก่งเอาไว้ข้างหลังอยู่หรือเปล่า

101 ชวน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล  อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นักวิชาการด้านการศึกษาที่กล้าวิพากษ์ระบบการศึกษาไทยอย่างลุ่มลึก มาร่วมตอบคำถามเชิงวิเคราะห์และวิพากษ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย

 

“ขณะนี้ความเหลื่อมล้ำได้บุกเข้ามาในโรงเรียนของรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนกลายเป็นผู้ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมให้เด็กเห็น”

ทุกวันนี้ โรงเรียนมักมีหลักสูตรพิเศษต่างๆ ที่พ่อแม่ต้องจ่ายเงินค่าเทอมเพิ่มมากขึ้น อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ผมชวนมองสองประเด็น ประเด็นแรก การศึกษาเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้ เป็นงบฯ สมทบเบื้องต้นเสมอภาคกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐ คือ พวกโปรแกรมพิเศษต่างๆ  ที่พ่อแม่ต้องจ่ายเพิ่ม อาทิ ห้องเรียน EP ห้องเรียนเน้นวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนเน้นเฉพาะความถนัด เป็นต้น

คำถามก็คือ โปรแกรมเหล่านี้เป็นการผลักภาระให้พ่อแม่ต้องจ่ายเพิ่มใช่หรือไม่ และถ้าจ่ายเพิ่มแล้วมั่นใจได้หรือเปล่าว่าลูกของคุณจะมีคุณภาพการเรียนที่ดีขึ้น ทำไมการได้มีโอกาสเรียนภาษาอังกฤษกับครูที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสอนจึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องจ่ายเพิ่ม คนที่มาจากครอบครัวที่ไม่พร้อมจ่ายต้องกลายเป็นผู้ที่ขาดโอกาสเข้าถึงห้องเรียนที่ครูมีความสามารถพอที่จะใช้ภาษาอังกฤษในการสอนใช่หรือไม่

ประเด็นที่สอง โปรแกรมพิเศษเหล่านี้กำลังทำให้เด็กถูกเลือกปฏิบัติอยู่หรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น ห้องเรียนทั้งหมดมี 10 ห้อง แบ่งเป็นห้องเรียนโปรแกรมพิเศษที่พ่อแม่จ่ายเพิ่ม 5 ห้อง ถ้าเป็นหลักสูตร EP เป็นห้องเรียนติดแอร์ มีเด็กไม่เกิน 30 คน ส่วนอีก 5 ห้องเป็นห้องเรียนพัดลม มีเด็ก 40-50 คน ถามว่าเด็กที่เรียนห้องเรียนธรรมดาเพราะพ่อแม่ไม่พร้อมจ่ายจะรู้สึกอย่างไร

โปรแกรมพิเศษเหล่านี้ทำให้ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ต้องทำใจยอมรับให้ได้ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน และขณะนี้ความเหลื่อมล้ำได้บุกเข้ามาในโรงเรียนของรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนกลายเป็นผู้ผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมให้เด็กเห็น ทั้งที่การศึกษาเป็นเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน แต่ช่องว่างของคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนกำลังถ่างกว้างมากขึ้น

คุณแยกเด็กจำนวนหนึ่งออกมา กลายเป็น Education for Some ในขณะที่การศึกษาควรจะต้องเป็น Education for All แล้วในมุมกลับกัน เมื่อก่อนนี้เวลาโรงเรียนต้องการระดมทุนพ่อแม่เพื่อปรับปรุงห้องคอมฯ เพื่อเด็กทั้งโรงเรียน ก็อาจจัดงานทอดกฐินคอมฯ ผ้าป่าคอมฯ บ้าง นี่คือ All for Education แต่ตอนนี้พ่อแม่จ่ายด้วยเงินพิเศษเป็น “ท่อตรง” เพื่อลูกตนเองได้อยู่ในห้องเรียนที่มีความพร้อมมากกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งจริงๆ แล้วมันควรเป็นระบบเพื่อคนทุกคนในโรงเรียนมากกว่าเพื่อเด็กเฉพาะบางคน

 

พ่อแม่มีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องจ่ายค่าเทอมเพิ่มเพื่อให้ลูกได้เรียน English Program หรือ EP

ผมคิดว่าปัจจุบันเป็นเรื่องของค่านิยมมากกว่า เพราะโลกยุคปัจจุบัน การเรียนภาษาอังกฤษไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียนอย่างเดียว ถ้าเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น มีครอบครัวสนับสนุน หรือเด็กขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเอง ดูหนังสือฟังเพลงภาษาอังกฤษผ่านยูทูปก็ได้เหมือนกัน ถ้าเราทำให้สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนมีการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น พัฒนาคุณภาพครูไปทั้งหมดพร้อมกัน เด็กคนอี่นก็จะได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วย

แต่พอโรงเรียนเปิด “ช่องทางพิเศษ” เพื่อคัดเลือกครูเฉพาะกิจขึ้นมา ครูชาวต่างชาติก็ถูกคัดเลือกเข้ามาแทนครูไทย ซึ่งปัญหาก็คือ เรายังไม่มีเกณฑ์คัดครูต่างชาติที่มาสอนภาษาอังกฤษว่าเคยมีประสบการณ์สอนเด็กมาก่อนไหม เพราะครูสอนภาษาอังกฤษไม่ใช่ว่าแค่พูดภาษาอังกฤษเป็นก็สอนเด็กได้  มาตรฐานความรู้ด้านภาษาอังกฤษและจิตวิทยาการสอนเด็กก็เป็นเรื่องสำคัญ

จริงๆ แล้ว ปัจจุบันครูไทยที่จบครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิชาเอกภาษาอังกฤษ และมีความสามารถสอนภาษาอังกฤษมีจำนวนมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีห้องเรียนต่างหาก โรงเรียนควรหันมาให้ความสำคัญกับครูบรรจุใหม่ให้มีคุณภาพ ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง มากกว่าการจ้างครูชาวต่างชาติเข้ามาสอนแทนครูชาวไทย เพราะถ้าโรงเรียนไม่ได้พัฒนาครูจบใหม่ในช่วงปีแรกๆ ของการสอน เขาก็จะกลายเป็นครูที่มีความรู้เพียงเท่าที่เรียนจบมาไปจนเกษียณอายุราชการ

เพราะฉะนั้น ถ้าโรงเรียนจะลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพภาษาอังกฤษของเด็กทั้งโรงเรียน ก็ต้องสร้างกลไกเพื่อเด็กทั้งโรงเรียน มากกว่าการแบ่งห้องเรียนพิเศษ เพื่อรับการสนับสนุนจากผู้ปกครองที่พร้อมจ่ายเงินพิเศษ เพื่อมาเจอครูพิเศษ แล้วอยู่ในห้องเรียนที่มีความพร้อมเป็นพิเศษ

 

พ่อแม่กำลังผลักภาระให้โรงเรียนโดยใช้เงินซื้อหลักสูตรการเรียนที่แพงกว่าหรือเปล่า

พ่อแม่ส่วนใหญ่เมื่อส่งลูกเข้าโรงเรียนก็คิดว่าตนเองหมดบทบาทแล้ว เวลาระดมทรัพยากรก็เอาเงินใส่ซองให้โรงเรียนก็จบ สิ่งสำคัญคือ เราต้องพยายามสนับสนุน ให้พ่อแม่เข้ามาเป็นเจ้าของการศึกษามากกว่าเป็นผู้จ่ายเพื่อการศึกษา

ตอนนี้หลักสูตร EP คือ ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก เพราะพ่อแม่ไม่เคยเข้าไปดูว่า ครูฝรั่งที่มาสอน สอนดีหรือเปล่า หลักสูตรโอเคไหม พ่อแม่มองแค่ว่า ฉันจ่ายแล้วเป็นหน้าที่โรงเรียนจัดการไป ฉันจะรอผลที่ปลายทาง ไม่สนใจว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างทางบ้าง พ่อแม่ต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่าเทอมราคาแพงซึ่งไม่ได้รับประกันว่าลูกของคุณจะได้รับคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นหรือเปล่า

ในทางกลับกัน ถ้าไม่จ่ายในส่วนนี้ แต่นำเงินไปชดเชยคุณภาพให้ลูกในมุมอื่น อาจได้ประโยชน์มากกว่า เช่น สร้างแรงจูงใจให้ลูกได้ใช้สิ่งแวดล้อมภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน โลกปัจจุบันช่องว่าง ICT หดแคบลง เด็กมีโอกาสฟังสำเนียงภาษาอังกฤษฟรีจากยูทูปได้เยอะมาก พ่อแม่ควรต้องช่วยออกแบบการศึกษาให้ลูกด้วย ถ้าไปรอการศึกษาในระบบโรงเรียนอย่างเดียว แต่ไม่ได้แรงส่งเชิงคุณภาพจากครอบครัว  มันก็ไม่ได้มีอะไรการันตีว่าลูกของคุณจะเก่งภาษาอังกฤษ

จริงๆ แล้ว การเรียนภาษาอังกฤษต้องเริ่มจากต้นทาง คือ เริ่มต้นในวัยที่เหมาะสม ด้วยวิธีการที่เหมาะสม โตมาในสภาพแวดล้อมการเรียนที่เหมาะสม เจอครูที่ใช้ภาษาอังกฤษแบบเป็นธรรมชาติ มองว่าเป็นภาษาที่สอง แนวทางนี้ใช้ได้กับทุกวิชา ไม่ใช่เรียนเพื่อท่องจำ เพื่อใช้ทำโจทย์ข้อสอบอย่างเดียว ไม่ได้เรียนมาเพื่อใช้ในชีวิตจริง

 

“พ่อแม่ไม่เคยมองว่า ตนเองเป็นครูของลูก ผู้เรียนก็ไม่เคยคิดจะเป็นครูของชีวิตตนเอง ผลักเรื่องการเรียนรู้ให้เป็นเรื่องของการไปโรงเรียนอย่างเดียว ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูเท่านั้น”

ปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทยคืออะไร

ต้องถามกลับว่า ทุกวันนี้ใครคือเจ้าของการศึกษา พ่อแม่เองไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของการศึกษา ไม่สามารถส่งเสียงบอกได้ว่า หลักสูตรแบบไหนที่เหมาะกับลูก ถ้าพ่อแม่มาจากครอบครัวที่ไม่ได้พร้อมมาก ยิ่งไม่กล้าพูด เพราะไม่มีอำนาจต่อรอง พ่อแม่ไม่เคยมองว่า ตนเองเป็น Educator หรือ ครูของลูก รู้แต่ว่า ส่งลูกไปโรงเรียน นี่คือหน้าที่ของครู พ่อแม่ที่ชอบย้ายโรงเรียนลูกเพื่อหาโรงเรียนที่พอใจมากที่สุด เพราะคุณมองว่าตนเองเป็นลูกค้า มองโรงเรียนเป็นโรงงานที่ผลิตสินค้า แต่ไม่เคยคิดจะเป็นเจ้าของการศึกษา ไม่เคยคิดจะใช้เวลาในการเรียนรู้ร่วมกันกับลูก ผลักเรื่องการเรียนรู้ให้เป็นเรื่องของการไปโรงเรียนอย่างเดียว ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูเท่านั้น

ในมุมกลับกัน Learner หรือผู้เรียนก็ไม่เคยคิดจะเป็น Educator หรือครูของชีวิตตนเอง (ในกรณีที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว) ทุกคนคิดแต่ว่า โรงเรียนมันห่วย การศึกษามันแย่ คำถามคือ คุณก็รู้ว่าโรงเรียนมันมีปัญหา แล้วคุณไม่คิดจะแก้ปัญหาด้วยตนเองเลยเหรอ แล้วคุณก็บอกว่า ระบบการศึกษาทำให้ผมหลงทางมาทั้งชีวิต แล้วคุณรู้ตัวเมื่อไหร่ว่าตนเองหลงทาง ถ้ารู้ตัวตั้งแต่วันนั้นแล้วทำไมไม่ทำให้ตัวเองรู้ว่าต้องไปทางไหน สุดท้ายคุณก็ไม่กล้าพอที่จะเผชิญความจริงว่า​ฉันหลงทาง ยังต้องเล่นตามเกมของสังคมอยู่

แนวคิดแยกห้องเรียนเด็กที่มีปัญญาเลิศ หรือห้องกิฟเต็ด (Gifted) มีผลดีผลเสียอย่างไร

ห้องเรียน Gifted ของไทยยังมีความเข้าใจผิดอยู่มาก เพราะจริงๆ แล้วแนวคิดเรื่องห้องเรียน Gifted หมายถึงห้องเรียนสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษมากๆ โจทย์คือทำอย่างไรให้ศักยภาพที่สูงเป็นพิเศษไม่ถูกล็อคด้วยเพดานที่ต่ำ

ลองนึกถึงการเจอเด็กปัญญาเลิศคนหนึ่งในห้องเรียน แล้วเขาต้องมานั่งเรียนเรื่องที่ง่ายมาก ซึ่งเขาเข้าใจแล้ว เราก็ควรจับเขาแยกมาอยู่ในโปรแกรมพิเศษเพื่อพัฒนาให้เขาไปให้สูงกว่าเดิม แต่ห้องเรียน Gifted บ้านเรา กลับเอาไปแยกเด็กที่มีผลการเรียนสูง ถูกคัดกรองด้วยผลการเรียนจากข้อสอบปกติ ไม่ได้คัดกรองว่า เด็กคนนี้เป็นเด็กปัญญาเลิศจริงหรือเปล่า

ห้องเรียน Gifted จึงกลายเป็นห้องของคนที่พร้อมจ่ายเพื่อให้ได้ครูที่เก่งกว่า อยู่ในห้องเรียนที่มีเด็กต่อห้องน้อยกว่า และได้ครูเก่งๆ ทั้งภายในและภายนอกมาช่วยกันสอน ส่วนเด็กที่อยู่ในระดับชั้นเดียวกันที่ไม่ได้เรียนห้อง Gifted ก็จะไม่มีโอกาสได้เรียนกับครูเก่งๆ เหล่านี้ ทั้งๆ ที่ ครูเก่งๆ ควรได้สอนเด็กห้องที่ไม่เก่งด้วยเหมือนกัน เด็กที่ไม่เก่งจะได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถให้เก่งขึ้น

 

การแยกเด็กไปอยู่ห้อง Gifted ตั้งแต่ระดับประถมเป็นการด่วนตัดสินความสามารถของเด็กหรือเปล่า

บางทีพัฒนาการเด็กบางคนอาจยังช้าอยู่ เขาอาจยังไม่ค้นพบตัวเอง การจับเด็กเข้าลู่เร็วขึ้น ไม่ได้หมายความว่า เด็กจะมีโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น เราจับเขาไปอยู่ในลู่แข่งที่ไม่แฟร์ เพราะเขายังไม่พร้อม โปรแกรมพิเศษเหล่านี้จึงไม่ควรจะเข้าไปอยู่ในวัยประถม เพราะเป็นวัยที่ไม่ควรเร่งเรียน แต่เป็นวัยของการพัฒนาทักษะ และปูพื้นฐานด้านคุณลักษณะ ค่านิยม การอยู่ร่วมกันในสังคมมากกว่า

 

แล้วเด็กที่ไม่ได้อยู่ห้องเรียนพิเศษจะเป็นอย่างไร

เด็กเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเหลื่อมล้ำ ยอมเป็นคนอยู่ข้างล่าง ตระหนักในสิทธิพิเศษของคนอยู่ข้างบน นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการมีโปรแกรมพิเศษเหล่านี้อยู่ในโรงเรียน ณ วันที่มันดำเนินการอยู่ มันทำให้เกิดสองมาตรฐานในโรงเรียนแล้ว แต่ระยะยาว ลองนึกถึงเด็กกลุ่มนี้ที่เติบโตขึ้นในสังคม ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็กลายเป็นชนชั้นกลางระดับบนสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกกลุ่มหนึ่งก็ต้องถูกล็อคเอาไว้เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง สังคมที่เป็นแบบนี้ ไม่เคยพาไปสู่ความยั่งยืน เป็นสังคมที่ไม่สามารถพาให้เศรษฐกิจมวลรวมโตได้

ถ้าประเทศไทยต้องการพัฒนาไปต่อ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องย้อนกลับมาจัดกระบวนทัศน์เรื่องการศึกษากันใหม่ เลิกคิดแบบ Education for Some ประเภทห้องเรียนพิเศษ ติวเด็กโอลิมปิค เพราะเป็นตัวตอกหมุดความเหลื่อมล้ำให้ถ่างกว้างมากขึ้น เด็กที่เรียนไม่เก่งก็จะถูกเขี่ยทิ้งระหว่างทางไปเรื่อยๆ

คำถามคือ เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้น พวกเขาก็ต้องอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน สิ่งที่เป็นดาบสองคมคือ พวกเขาจะไม่มีความรู้สึกช่วยเหลือกัน เพราะเราสร้างเด็กแบบแบ่งแยกกันด้วยห้องเรียนพิเศษ โรงเรียนเฉพาะทาง เราไม่เคยปลูกฝังให้พวกเขาดูแลกัน เด็กเก่งจะไม่อยากช่วยเหลือเด็กอ่อน สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมของคนเก่งเห็นแก่ตัว ที่พยายามผลักดันให้ตัวเองสูงขึ้น แทนที่เราจะดูแลความรู้สึกซึ่งกันและกัน

ประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่ประเทศที่ปฏิรูปการศึกษาสำเร็จต้องก้าวผ่านเรื่องนี้ให้ได้ก่อนเพื่อนเลย ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศฟินแลนด์ เด็กจนเด็กรวยก็ต้องเรียนโรงเรียนเดียวกัน เพื่อทำให้เขาเป็นเพื่อนกัน เขาจะได้โตขึ้นมาช่วยเหลือกัน ไม่ทิ้งกัน

 

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับเด็กเก่งคืออะไร

เด็กเหล่านี้จะเติบโตมาด้วยสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันสูงมากขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งเขาก็จะถีบตัวเองขึ้นมาเป็นวิศวกร เป็นหมอ เพราะเป็นเด็กเก่ง แต่เขาต้องแข่งขันสูงมาก พ่อแม่พร้อมจ่ายเพื่อติวกับครูเก่งๆ เด็กเหล่านี้ต้องแข่งกันถีบตัวเองขึ้นไปให้ได้ เพราะพ่อแม่ปลูกฝังค่านิยมแบบปากกัดตีนถีบให้ คือ กัดคนข้างบนลง แล้วถีบคนข้างล่างลงไป สังคมก็จะยิ่งร้าวฉานแตกแยกกันยิ่งขึ้น

 

“เราจัดการศึกษาโดยไม่รับผิดชอบต่ออนาคตของสังคมตนเอง”

ทางออกเรื่องการศึกษาของสังคมไทยอยู่ตรงไหน

เราต้องกลับมาคิดเรื่องสิทธิพื้นฐานของการเข้าถึงคุณภาพการศึกษา ต้องไม่เฟ้นหาช้างเผือกเพื่อปั้นช้างเผือกตัวนั้นให้เด่นขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำคือ พัฒนาโรงเรียนกลุ่มล่างให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพราะในความเป็นจริงมีเด็กกลุ่มเก่งกระจายอยู่เต็มไปหมด เขาอาจเป็นเด็กกลุ่มเก่งที่มาจากครอบครัวยากจน หรือสำหรับเด็กบางคน ความเก่งของเขาอาจจะยังไม่ได้ถูกค้นพบก็ได้

ที่ผ่านมา เราถนัดแต่การศึกษาที่ใช้ตะแกรงร่อนเด็กเก่งเพื่อคัดมาเข้า “ลู่พิเศษ” โดยร่อนผลึกที่อ่อนทิ้งไป ซึ่งจริงๆ แล้วผลึกแต่ละอันก็มีความหมายในตัวเอง การใช้ตะแกรงร่อน ร่อนด้วยเกณฑ์เดียวจึงไม่ยุติธรรมสำหรับเด็กกลุ่มใหญ่ที่ถูกร่อนทิ้งไป

 

ปัจจุบันแนวคิดเรื่องการศึกษาของทั่วโลกมีกี่แบบ

ตอนนี้มีอยู่สี่แบบหลักๆ แบบที่หนึ่ง คือ การศึกษาที่เน้นการแข่งขันและสร้างแรงงาน เป็นกระแสหลักทั่วโลก มีปัญหาหมด ติดกับดักเรื่องการแข่งขันหมดเลย เน้นการสอบ เน้นการพัฒนาเด็กเก่ง เน้นโรงเรียนดังๆ ในเอเชียมีหลายประเทศ แม้แต่เกาหลีใต้ ซึ่งมีคะแนนสอบ PISA สูงมากๆ ก็ติดกับดักแบบนี้ ซึ่งนี่คือกับดักที่ใหญ่มากๆ ของการศึกษา

แบบที่สอง การศึกษาที่เน้นการพัฒนาความเป็นมนุษย์อย่างรอบด้าน เอาเด็กเป็นตัวตั้ง หรือ Child-Center Education รู้จักตัวเอง บ่มเพาะศักยภาพของเด็ก เพื่อให้เขาได้พัฒนาตัวเอง และสังคม ซึ่งหลายประเทศก้าวมาถึงตรงนี้และไปต่อกันแล้ว

แบบที่สามไปไกลกว่าแบบที่สอง คือ การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย สร้างให้เด็กมีสำนึกทางสังคม ให้เป็นพลเมือง รู้บทบาทตนเองต่อสังคมที่ตนเองอยู่ ยึดเอาค่านิยมทางสังคม การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเคารพกันและกันเป็นตัวตั้ง เหมือนอย่างที่เราเห็นในหลายประเทศ อย่างเช่น ญี่ปุ่นและฟินแลนด์ เพราะเขาต้องสร้างวัฒนธรรมรวมหมู่ สร้างสำนึกความเป็นคนกลุ่มเดียวกัน มีกฎกติกาที่ยุติธรรมร่วมกัน มีกิจกรรมที่ต้องไปบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนร่วมกัน

แบบที่สี่อาจจะดูสุดโต่งหน่อยเพราะไม่ใช่แค่การดูแลกัน แต่เป็นการดูแลโลกด้วย เป็น การศึกษาเพื่อการพัฒนาโลกให้ยั่งยืน ด้วยการเตรียมคนให้มีสำนึกในการสร้างโลกที่เป็นธรรม ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน

ตอนนี้ไทยยังติดอยู่กับการศึกษาแบบที่หนึ่ง ติดกับดักการแข่งขันอยู่ที่เดิมมานานแล้ว แล้วเราก็ไม่ยอมรับด้วยว่าในการแข่งขัน เด็กบางคนเท่านั้นที่รอด ในอนาคตอันใกล้ สัญญาณเตือนภัยมาแล้วคือ เด็กเก่งจะไม่อยู่เมืองไทย เพราะเด็กเก่งพร้อมแล้วที่จะไปอยู่ที่อื่นได้

เราจะเห็นปรากฎการณ์คนเก่งหนีทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่สังคมไทยไม่ยอมรับความจริงว่านี่เป็นผลจากอาวุธที่เราติดตั้งให้พวกเขานี่แหละ เราสอนให้เขาแยกตัวเองมาจากเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ยากจนกว่าเขา แล้วทำไมเขาจะต้องมาแบกรับคนเหล่านี้ล่ะ ในเมื่อกาวทางสังคมไม่ถูกติดตั้งเอาไว้ในจิตใจพวกเขาเลย เขาไม่มีเพื่อน ไม่ได้เติบโตมากับคนที่มีความแตกต่างทางสังคมกับเขาเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาเก่ง เขาก็จะไปไหนก็ได้นี่ ไปต่างประเทศก็ได้ ทุกคนถูกสอนให้มุ่งไปสู่อาชีพที่รู้สึกมั่นคงก่อน เราสอนให้เด็กเรียนรู้แบบนี้มาตั้งแต่เด็ก คุณไม่ได้สร้างความผูกพันกับสังคมให้เขา สุดท้าย เราก็จัดการศึกษาโดยไม่รับผิดชอบต่ออนาคตของสังคมตนเอง

สิ่งที่น่ากลัวคือ มันไม่ใช่แค่อนาคตลูกหลาน แต่เป็นอนาคตของตัวคุณเองด้วย เพราะคุณจะแก่อยู่ในสังคมนี้ ลูกหลานของเราจะต้องเจอสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เราจะกลายเป็นคนแก่ในสังคมที่มีความแตกแยกสูง คนเกลียดชังกันง่ายมากขึ้น เราจะอยู่ในสังคมที่ไม่มีความมั่นคงปลอดภัย บางคนอาจบอกว่า ฉันไม่มีลูก แต่จริงหรือไม่ว่าคุณก็ต้องแก่อยู่ในสังคมนี้

 

การศึกษา 4.0 คืออะไร

มาจากแนวคิดประเทศไทย 4.0 เปลี่ยนจากฐานการผลิตเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ มาเป็นฐานนวัตกรรม ถ้าคุณจะสร้างสังคมแบบนี้ได้ การศึกษาต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นการศึกษาที่ต้องการสร้างนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ต้องอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพ เป็นการศึกษาที่ไม่มีบล็อคเดียว แต่เป็นการศึกษาที่ยืดหยุ่นมาก ให้ทุกคนค้นพบตัวเอง

คำถามก็คือ ถ้าเด็กคนหนึ่งบอกว่าฉันชอบทำอาหารแล้วเรียนอยู่ในโรงเรียน ระบบการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันจะพัฒนาให้เขาเป็นกุ๊กที่มีคุณภาพได้ไหม เพราะปัจจุบัน การศึกษาไทยยังจัดเป็นบล็อคๆ ที่เน้นวิทย์ คณิต ห้องเรียนทั่วไป เป็นการศึกษาที่ไม่เน้นอาชีพ ไม่มีช่องให้เด็กค้นพบตัวเองเลย เพราะฉะนั้นการศึกษา 4.0 แบบไทยๆ ที่เป็นอยู่ จึงเป็นแค่ความฝัน เป็นนวัตกรรมที่เบลอ ไม่มีอะไรชัดเจน การสร้างความคิดสร้างสรรค์ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้นพบศักยภาพตนเอง

 

ดูเหมือนว่า การศึกษาทุกวันนี้ไม่ได้เน้นไปที่ความสุขของเด็กในการเรียนรู้

เป็นการศึกษาที่มองไม่เห็นเด็กเลยด้วยซ้ำ สิ่งที่สำคัญมากสำหรับการศึกษา 4.0 คือ ต้องมี Learning Motivation หรือ แรงจูงใจในการเรียน ถ้าคุณอยากสร้างนวัตกรที่มีความคิดสร้างสรรค์ คนๆ นั้นต้องเป็นเจ้าของการเรียนของตนเองได้ จมอยู่กับการทดลองที่อยากรู้ สู้ไม่ถอย อดทนอยู่กับการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อจะสร้างนวัตกรรมออกมาให้ได้ ซึ่งแรงจูงใจของแต่คนไม่เหมือนกัน มันจึงไม่อาจเกิดขึ้นกับการศึกษาที่เป็นแบบแผนเดียวกัน การสร้างแรงจูงใจ และความกระหายใคร่รู้ หรือ Passion ในการเรียนเป็นเรื่องสำคัญมาก

 

“ในสังคมไทย เด็กเริ่มไปโรงเรียนวันแรกด้วยความอยากเรียนรู้มาก สุดท้ายเรียนจบจากมหาวิทยาลัยด้วย degree with no passion ไม่มีแม้กระทั่ง passion ต่อตัวเอง ดังนั้น passion ต่อสังคมไม่ต้องพูดถึง”

ทุกวันนี้บางคนเรียนตามหน้าที่ ตามความคาดหวังของพ่อแม่ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนอาชีพตามที่ตนเองชอบ

ทุกคนมีสิทธิที่จะเปลี่ยนสายอาชีพตนเองดีกว่าให้เขาทนทุกข์กับอาชีพที่ไม่อยากทำ คำถามคือ ใครเสียหาย สังคมไทยใช่ไหม

เราปั้นหมอหนึ่งคน เงินต่อหัวช่วยนักศึกษาแพทย์เรียนกี่ล้าน รัฐบาลลงทุนกับคณะวิชาเหล่านี้ในการสร้างบุคลากรทางการแพทย์ขึ้นมา แล้วเงินเหล่านี้สูญเปล่าไปแค่ไหน ปล่อยให้เขาหลงทางในมหาวิทยาลัย แล้วก็ปล่อยให้เขาไปหลงทางอยู่ภายนอก กว่าคุณจะเรียนจบเป็นหมอ พ่อแม่ส่งเรียน EP เรียนวิทย์ คณิตมาเท่าไหร่ก็ไม่รู้ เพื่อสุดท้ายให้คุณค้นพบตัวเองว่า “ฉันอยากเป็นนักร้อง” ทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้เขาค้นพบตนเอง ให้เขาไปเดินบนเส้นทางที่เขาใฝ่ฝันตั้งแต่ยังเด็กไปเลย เขาจะได้มีความสุขในอาชีพที่เขาใฝ่ฝัน ไม่ต้องเสียเวลามาเดินหลงทาง

 

ถ้าเราตั้งเป้าหมายของการศึกษาว่า คือ การสร้าง Passion ให้เด็ก ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร

ประเทศชาติก็จะมีชีวิตชีวา เพราะคนเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองตลอดเวลา ซึ่งนี่เป็นโจทย์ที่สังคมไทยหลอกตนเองว่ากำลังทำอยู่ ทำเรื่อง Life Long Learning อยากส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ถ้าถามว่า ตอนนี้คนมีความสุขกับการเรียนรู้หรือเปล่า คิดว่าไม่นะ เพราะมันไม่เคยถูกปลูกฝังเรื่อง passion ในการเรียนรู้ แต่มันจำเป็นต้องเรียนรู้ ไม่งั้นจะอยู่ไม่รอด มันไม่ได้เกิดจากความอยากรู้

ถ้ารอจนเกษียณแล้วค่อยมาเรียน จะเหลือคนแก่สักกี่คนที่ยังมี passion หลงเหลืออยู่ ตอนนี้มีหลายประเทศที่คนแก่กลายเป็นลูกค้าของสถาบันการศึกษา ที่ญี่ปุ่นโรงเรียนสอนการแสดงมีแต่คนแก่มาเรียน เพราะฉันอยากเป็นนักแสดง ฉันเป็นใครก็ไม่รู้มาทั้งชีวิต เขามี passion จะกลับมาเรียนหนังสือกัน สำหรับเมืองไทย พอเกษียณแล้วก็ลำบาก เพราะเป็นคนจนที่ไม่มีเบี้ยเลี้ยง เพราะเราถูกติดตั้ง concept เรียนเพื่อให้มันจบได้ใบปริญญา เพื่อไปสมัครงาน ทำงานเพื่ออยู่รอด ต้องเรียนรู้ปรับตัวให้อยู่รอดในระบบการแข่งขันให้ได้ เพราะเราติดกับดักการศึกษาเพื่อการแข่งขันตลอดเวลา

 

ทำไมเด็กไทยจึงขาด Passion ในการเรียนรู้

เด็กไปโรงเรียนวันแรกด้วยความกระหายใคร่รู้เต็มร้อย แต่หลังจากเข้าระบบโรงเรียนไปสามปี ความกระตือรือร้นและความอยากรู้ที่ว่าหายหมดเลย ด้วยหลักสูตร การสอนของครู มุมมองของครู เด็กดีต้องเรียบร้อย เข้าแถวตัวตรง เด็กหมดแรงบันดาลใจไปเรื่อยๆ

ในสังคมไทย เด็กเริ่มไปโรงเรียนวันแรกด้วยความอยากเรียนรู้มาก สุดท้ายเรียนจบจากมหาวิทยาลัยด้วย degree with no passion ไม่มีแม้กระทั่ง passion ต่อตัวเอง ดังนั้น passion ต่อสังคมไม่ต้องพูดถึง มีปริญญาเยอะมาก ได้เกียรตินิยม แต่คุณไม่มี passion กับตนเอง

ครูในประเทศฟินแลนด์จะแปลกใจมากว่าทำไมประเทศอื่นไม่มีวิชาบทกวีหรือศิลปะ เขาถามว่าเป็นไปได้ยังไง คุณไม่ให้เด็กเรียนบทกวีเหรอ ตัดวิชาศิลปะออกไปเหรอ แล้วเด็กเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ได้ยังไง ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็ก แต่ลืมไปว่า ตัวเองเคยเป็นเด็ก แล้วตัวเองเป็นเด็กมองชีวิตของเด็กยังไง พอตัวเองมากลายเป็นพ่อแม่ เป็นครู ก็ไม่ได้มองเรื่อง passion ของเด็ก ลืมไปแล้วว่า ตอนตัวเองเป็นเด็กอยากเรียนยังไง แล้วตอนนี้ออกแบบและจัดการศึกษาแบบไหนกันอยู่

 

การศึกษาไทยต้องเริ่มแก้ที่ตรงไหน

เรื่องสำคัญที่คนในสังคมต้องคุยกันคือ การศึกษาเป็นของใคร เพราะทุกประเทศที่ปฏิรูปการศึกษาเริ่มต้นกันที่จุดนี้หมดเลย ญี่ปุ่นออกกฎหมายให้เด็กทุกคนเรียนใกล้บ้าน แต่รัฐต้องแก้เรื่องคุณภาพโรงเรียนใกล้บ้านให้ดีก่อน คนถึงจะอยากส่งลูกไปเรียน วันที่กฎหมายการศึกษาญี่ปุ่นบังคับว่า เด็กทุกคนต้องเรียนใกล้บ้านแล้วไม่มีใครประท้วงเพราะอะไร เพราะพ่อแม่มั่นใจแล้วว่า โรงเรียนใกล้บ้านดี หรือในประเทศฟินแลนด์ ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนหายไปแทบหมดเลย เพราะคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนของรัฐดีขึ้นกว่าเดิมมาก แล้วทำไมต้องส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชน

การทำโรงเรียนใกล้บ้านให้ดีเป็นสิ่งยากมากในเมืองไทย แม้ว่าตอนนี้จะเริ่มมีเทศบาลที่เข้มแข็ง อบจ. ที่เข้มแข็ง แต่เสียงคนกลุ่มนี้ไม่เคยดังถึงผู้มีอำนาจกำหนดนโยบาย ไม่เคยเขย่ากระทรวงสำเร็จ คำถามคือ ทำอย่างไรเสียงของคนเหล่านี้ดังขึ้น และทำให้พ่อแม่เข้ามาเป็นเจ้าของการศึกษามากยิ่งขึ้น ทำให้ทุกคนตระหนักรู้ว่าการศึกษาเป็นเรื่องอนาคตของทุกคน ต้องมาลงทุนและลงแรง ไม่ใช่ลงทุนด้วยเงินอย่างเดียว มาเป็นเรี่ยวแรงจัดการให้การศึกษามันดี เพราะไม่มีประเทศไหนที่มีการศึกษาดี โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาฯ ฝ่ายเดียว

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ สถานการณ์เรื่องครูกำลังเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ถ้าโอกาสนี้ไม่ฉวยให้ดี จะกลายเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่ เพราะเรากำลังมีครูบรรจุใหม่เยอะมาก ถ้าเราไม่รีบดูแลพวกเขา พัฒนาพวกเขา ปล่อยให้วัฒนธรรมโรงเรียน ระบบข้าราชการทำลายศักยภาพพวกเขา ก็จะเป็นความเสียหายที่ส่งผลระยะยาวไปอีกหลายสิบปีจนกว่าจะเกษียณอายุการทำงาน

การศึกษาที่น่ากลัวมาก คือ การศึกษาที่ไม่เห็นเด็กเป็นตัวตั้ง และไม่เห็นครูเป็นพระเอก เพราะเขาเป็นคนที่ใกล้ชิดเด็กที่สุด แต่เราไม่เคยเชื่อถือคุณครู ถ้าอยากให้สังคมเชื่อถือ ครูก็ต้องพิสูจน์ตนเองด้วย นั่นหมายความว่า เราต้องไปด้วยกัน ต้องพัฒนาครูให้เข้มแข็ง ให้เขาได้มีเวทีแสดงความเก่ง คืนห้องเรียนให้เป็นของเขา ให้พวกเขาใช้เวลากับห้องเรียน กับการพัฒนานักเรียนให้มากที่สุด

 

ใครคือศัตรูที่แท้จริงของการศึกษา

ศัตรูที่แท้จริง คือ ความไม่รู้ มีอยู่สองเรื่อง คือ ความไม่รู้ด้วยความฉาบฉวย กับความไม่รู้ด้วยเข้าใจว่าผิดคิดว่ารู้แล้ว สิ่งที่รู้มาถูกต้องหมดแล้ว นักปฏิรูปการศึกษาบางคนก็มีโมเดลเพียงแบบเดียว เราต้องเปิดพื้นที่ให้การศึกษาหลายๆ แบบเติบโตด้วย อย่าตั้งป้อมค่ายเป็นศัตรูกัน คิดแต่จะเอาชนะกัน เพราะศัตรูที่แท้จริง คือ ความไม่รู้ต่างหาก

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023