fbpx
ชวนส่อง 5 ดีไซน์โปรเจ็กต์ ท้าชนปัญหามลพิษทางอากาศ

ชวนส่อง 5 ดีไซน์โปรเจ็กต์ ท้าชนปัญหามลพิษทางอากาศ

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

ย้อนกลับไปอ่าน Third – Eye View ฉบับแรก ว่าด้วยงานศิลปะกำจัดฝุ่น ‘Smog Free Project’ ที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนปีก่อน จึงระลึกได้ว่าวิกฤตมลพิษ PM 2.5 อยู่กับเรามาแล้วเกือบปี ! และยังคงลอยหน้าลอยตา ต่อคิวรอเข้าไปอยู่ในปอดพวกเรา อย่างไม่มีทางรู้ว่าอากาศฝ้ามัวประหนึ่งฉากหนัง Blade Runner 2049 นี้จะอยู่ไปอีกนานขนาดไหน เพราะภาพตึกจางๆ ที่ขอบฟ้า ดูเหมือนจะจางพอๆ กับความรับผิดชอบจากรัฐบาลที่ไม่มีหนทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็น

ในช่วงเวลาที่ปอดฝ่อ เราควรรักษาหัวใจให้ฟูด้วยความหวัง Third – Eye View ฉบับแรกของปีจึงมาพร้อมกับ 5 โปรเจ็กต์จากทั่วโลกที่อาสา ‘ท้าชน’ กับปัญหามลพิษทางอากาศด้วยงานศิลปะและการออกแบบ ชวนทุกคน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องของเมืองเราไปดูว่า ทั่วโลกเขาใช้ความคิดสร้างสรรค์แก้ปัญหากันอย่างไร ที่ไม่ใช่แค่ฉีดน้ำหน้าสวนลุม !

ขอเชิญครอบหน้ากาก หลบในบ้าน และพบกับโปรเจ็กต์แรก…

 

1.ตึกกินฝุ่น

ตึกกินฝุ่น

เพราะมลพิษเกิดจากเมือง เมืองที่ดีจึงควรมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย

ตึกที่ Facade (เปลือกหน้าอาคาร) สวยเก๋มีให้เห็นทั่วโลก แต่ตึกที่ฟาสาดทั้งสวยและลดมลพิษได้ด้วย อยู่ใน Mexico City อาคารโรงพยาบาล Torre de Especialidades มีฟาสาดความยาวกว่า 100 หลา สร้างขึ้นจากวัสดุพิเศษ เคลือบเม็ดสีที่เรียกว่า Titanium Dioxide

ทันทีที่ UV จากแสงอาทิตย์มากระทบผิวฟาสาด สารเคลือบนี้จะเร่งปฏิกิริยาเคมีในสสารที่เป็นต้นเหตุของฝุ่นควันในอากาศโดยรอบอย่าง Mono-nitrogen Oxides ให้กลายเป็นสารที่อันตรายน้อยลง อย่าง Calcium Nitrade หรือน้ำ

ตึกกินฝุ่น

Elegant Embellishments บริษัทสถาปนิกในกรุง Berlin ประเทศเยอรมัน ผู้สร้างสรรค์วัสดุ ‘ฟาสาดกินฝุ่น’ บอกว่าฟาสาดนี้เป็นเพียงโมเดลการแก้ปัญหาที่ทดลองทำในพื้นที่ของโรงพยาบาลก่อน เพราะอย่างน้อยในช่วงทดลองก็สามารถทำให้อากาศในเขตโรงพยาบาลดีขึ้นได้ แต่ยืนยันจะขยายไอเดียนี้ไปสู่ระดับเมืองให้ได้ในเร็ววัน โดยเป้าหมายคือหนึ่งตึกจะสามารถลดมลพิษจากรถยนต์ ได้ 1,000 คัน จากทั้งหมด 5.5 ล้านคันใน Mexico City

จากเม็กซิโก ข้ามทวีปไปยังไต้หวัน อีกหนึ่งประเทศขึ้นชื่อเรื่องฝุ่นควัน

สองนักออกแบบจากไทเปเชื่อว่าถ้ามลพิษเกิดจากถนน ถนนก็ควรมีส่วนช่วยทำให้อากาศสะอาดขึ้น

2. แผงกั้นถนนหายใจได้

‘Barrier’ หรือแผงกั้น คือโครงสร้างพื้นฐานในถนนเกือบทุกเส้น นักออกแบบอย่าง Hsuan Ting Huang และ Tsung Ying Hsieh จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีในไต้หวัน จึงเติมฟังก์ชั่นให้ ‘BREATHING BARRIER’ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแผงกั้น แต่สามารถ ‘หายใจ’ ซับเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไปได้ด้วย

แผงกั้นถนนหายใจได้

โครงสร้างหกเหลี่ยมแบบรังผึ้งของ BREATHING BARRIER ทำหน้าที่เป็นโครงให้มอส พืชที่คุณสมบัติดั้งเดิมสามารถมีชีวิตด้วยการดูดซับสารอาหารและความชื้นจากอากาศ แผงเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นฟิลเตอร์ กรองเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กก่อนจะปล่อยอากาศที่สะอาดขึ้นสู่ภายนอก

แม้แผงกั้นหายใจได้จะยังเป็นเพียงไอเดีย แต่ก็ไปคว้ารางวัลชนะเลิศ Red Dot Design Concept Award ในปี 2018 มาแล้วเรียบร้อย

แผงกั้นถนนหายใจได้

สองโปรเจ็กต์ที่ผ่านมาแก้ปัญหามลพิษด้วยการออกแบบเมือง แต่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดอาจต้องเริ่มต้นจากคน เมื่อปัญหามลพิษยากจะมองเห็นด้วยตา และสัมผัสไม่ได้ด้วยมือ เราจะทำอย่างไรให้คนสามาถ ‘จับต้อง’ ปัญหามลพิษ และ ‘รู้สึกได้’ ถึงความสำคัญของมัน

3. มลภาวะบนเรือนร่างคุณ

Miriam Quick ศิลปินภายใต้โครงการ Better with Data จุดประสงค์ของโครงการคือนำ Data มาสร้างคุณค่าและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้คน ในโปรเจ็กต์ Air Quality+ งานศิลปะชื่อ ‘Air Transformed’ ของมิเรียมเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศจากเมือง Sheffield ในอังกฤษ เมืองโรงงานเหล็กที่ขึ้นชื่อเรื่องสภาพอากาศย่ำแย่

Touching Air

Touching Air

มิเรียมจัดการทำข้อมูลให้ ‘สัมผัสได้’ ด้วยการเปลี่ยนมันกลายเป็นเครื่องประดับอย่างสร้อยคอ ประกอบด้วยชิ้นพลาสติก 28 ชิ้นที่มีรูปทรง ขนาด และสีต่างกัน ชิ้นพลาสติกเหล่านี้แปลค่ามาจากคุณภาพอากาศที่ถูกวัดทุก 6 ชั่วโมงตลอดสัปดาห์

Touching Air

เช่น ช่วงวันที่มีคุณภาพอากาศปกติก็จะถูกแทนค่าด้วยชิ้นพลาสติกรูปก้อนเมฆกลมมนสีเขียว ช่วงที่อากาศแย่ลงมาหน่อยจะถูกแทนค่าด้วยเมฆสีน้ำเงินเข้ม รูปทรงเปลี่ยนมีความแหลมขึ้น แต่ถ้าวันไหนอากาศแย่ถึงขั้นวิกฤตจะถูกแทนด้วยชิ้นพลาสติกแหลมเปี๊ยวสีส้ม

สร้อยคอนี้มีชื่อว่า ‘Touching Air’ เพราะนอกจากเรามีสภาพอากาศแขวนอยู่บนคอ เรายังสามารถใช้นิ้วลูบเพื่อสัมผัสคุณภาพอากาศที่ขึ้นลงในสัปดาห์นั้นๆ ได้

ในซีรี่ส์ Air Transformed ยังประกอบด้วยเครื่องประดับอีกหนึ่งชิ้น ‘Seeing Air’ แว่นตาที่ประกอบด้วยเลนส์ 3 ชั้น เลนส์แต่ละชั้นพิมพ์ลายแพทเทิร์นของฝุ่นขนาดใหญ่ (PM10) ขนาดกลาง (PM2.5)  และฝุ่นขนาดเล็ก หรือ Nitrogen Oxide ขนาดของลายแพทเทิร์นจะเปลี่ยนไปตามปริมาณฝุ่นที่วัดค่าได้ ในวันที่อากาศใสสะอาด ภาพของแว่นก็จะคมชัด เพราะลายพิมพ์ที่เรียงตัวกันแบบหลวมๆ แต่หากวันที่สภาพอากาศแย่ลง ภาพที่มองเห็นก็จะพร่ามัวลงตาม ด้วยลายพิมพ์บนเลนส์ที่หนาแน่น

Seeing Air

Seeing Air

แน่นอนว่าคงไม่มีใครเอาสร้อยคมๆ และแว่นที่มองไม่ชัดไปใส่ในชีวิตจริง เพราะจุดประสงค์หลักของ Air Transformed คือการใช้ Data Visualization (การแปลงข้อมูลเป็นภาพ) ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสื่อสารเรื่องราวของปัญหามลพิษให้คนสัมผัสผ่านประสบการณ์ตรงและตระหนักถึงมันมากขึ้น

4. หมึกจากมลพิษ

หลายโปรเจกต์มีเป้าหมายคือการกำจัดมลพิษ แต่สำหรับ ‘AIR INK’ นอกจากกำจัดมลพิษ เรายังสามารถนำมันไปใช้ประโยชน์ต่อได้ด้วย

ตรงตามชื่อ นี่คือน้ำหมึกที่ผลิตจากมลพิษจากอากาศในประเทศอินเดีย ประเทศที่มีวิกฤตมลพิษติดอันดับท็อปเท็นของโลก Anirudh Sharma หนุ่มอินเดียผู้ก่อตั้ง Graviky Labs ผสมผสานกระบวนการแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ เข้ากับการแสดงออกแบบศิลปะ (ไม่แปลกใจในแนวคิดวิทย์ + ศิลป์ของเขาเท่าไหร่ เพราะ Anirudh คือศิษย์เก่าจาก MIT Media Lab สถาบันที่ขึ้นชื่อในแนวคิดนี้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก)

เขาประดิษฐ์ข้อต่อพิเศษที่สามารถติดตั้งเข้ากับปลายท่อไอเสียรถยนต์ในเมืองต่างๆ ของอินเดีย เพื่อดักจับมลพิษจากควันไอเสียก่อนจะปล่อยสู่เมือง โดยมลพิษที่ได้มาถูกนำไปผ่านกระบวนการ เปลี่ยนเป็น ‘เม็ดสี’ ในน้ำหมึก นำไปบรรจุลงในขวดและปากกา

AIR INK

หมึกและปากกา AIR INK เหล่านี้ ถูกส่งต่อให้ศิลปินทั่วโลก ใช้มันสร้างสรรค์ภาพวาดที่สื่อสารเรื่องราวปัญหามลภาวะไปสู่คนในวงกว้าง โดยมีการบันทึกผลงานและกระบวนการใน instagram (www.instagram.com/air.ink/)

นอกจากมลพิษลดลง เรายังได้คนที่ตระหนักถึงปัญหานี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

AIR INK

5. ‘หน้ากากเพื่อการเปลี่ยนแปลง

‘หน้ากากกันฝุ่น’ คือสัญลักษณ์ของปัญหามลภาวะ แต่แคมเปญศิลปะที่ชื่อ ‘Maskbook’ กำลังเปลี่ยนให้หน้ากากนี้กลายเป็นผืนผ้าใบ ให้ทุกคนจากทุกมุมโลกสามารถ ‘เล่า’ ปัญหามลภาวะที่ตัวเองประสบ หรือปัญหาที่ตัวเองกำลังอินให้คนอื่นรับรู้ได้ไม่ต่างจากการมี Facebook

งานศิลปะในแคมเปญแตกแขนงออกไปเป็นหลายสื่อ แต่ชิ้นที่ใหญ่ เยอะ และเป็นผลงานชิ้นหลักของ Maskbook คงหนีไม่พ้นภาพถ่ายใบหน้าที่ทุกคนจากทุกมุมโลกส่งเข้ามา (ขณะนี้มีมากกว่า 2,500 คน!) สวมหน้ากันฝุ่นที่ตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ หรือจะใช้คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นมา เพื่อสื่อสารถึงปัญหามลภาวะในรูปแบบของตัวเอง

Maskbook

นอกจากแคมเปญจะทำงานบนโลกออนไลน์ ด้วย Photo Gallery ในเว็บไซต์และแอพพลิเคชันมือถือที่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดมาสร้างหน้ากากของตัวเอง ยังมีกิจกรรม ‘ออฟไลน์’ ร่วมด้วย เช่นการจัดเวิร์คช็อปทำหน้ากากใน 20 ประเทศทั่วโลกมาแล้วกว่า 100 ครั้ง ไม่ใช่เพื่อให้คนทำหน้ากากเป็น แต่เพื่อเผยแพร่แนวคิดการแก้ปัญหามลภาวะไปสู่คนทั่วโลก รวมถึงนำผลงานจากแต่ละที่มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ เพื่อส่งต่อเรื่องราวไปสู่กลุ่มคนที่กว้างขึ้น และกว้างขึ้น

Maskbook

Maskbook

ไม่ว่าจะจัดการกับมลพิษด้วยการกรอง แปรรูปเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ หรือใช้งานศิลปะส่งต่อให้คนตระหนัก

นี่ขนาดเราพูดถึงแค่การแก้ปัญหาในระดับของงานออกแบบและศิลปะ ยังเห็น ‘ความเป็นไปได้’ มากมายขนาดนี้ ถ้าพูดไปถึงระดับนโยบาย คงมีอีกหลายล้านช้อยส์ให้เราได้เลือกใช้กันตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ เหมือนอย่างที่ประเทศใหญ่ พื้นที่เยอะอย่างจีนมีแผนจะทำ Forest City มาสู้มลพิษในอนาคตอันใกล้

แต่สำหรับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยตอนนี้ ก่อนที่เราจะไปถึงคำถามว่า จะแก้ปัญหากัน ‘แบบไหน’

คำถามแรกที่ควรถามทั้งผู้ว่าฯและรัฐบาล คือ ‘เมื่อไหร่’ ที่เราจะเห็นการแก้ปัญหาอย่างจริงจังเสียที

อ้างอิง

https://everwideningcircles.com/2018/12/21/air-ink-pollution-into-art/

http://www.stefanieposavec.com/airtransformed/

https://www.dealsonwheels.co.nz/trucks/news/1901/breathable-barrier-design-helps-fights-air-pollution

https://www.smithsonianmag.com/innovation/smog-eating-buildings-battle-air-pollution-180954781/

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save