fbpx

ประวัติศาสตร์หลัง 6 ตุลาฯ: “สังคมต้องจดจำขบวนการประชาชนที่กล้าหาญอย่างมากทางความคิด” – ธิกานต์ ศรีนารา

หลังฟ้าสางวันที่ 6 ตุลา 2519 รุ่งอรุณอันสว่างไสวกลับกลายเป็นความมืดมิด เมื่อรัฐและมวลชนฝ่ายขวา ‘ลงแดง’ ล้อมปราบนิสิตนักศึกษา เพียงเพราะหนึ่งในอุดมคติของพวกเขาและเธอมาจากความคิดแบบ สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ‘แสงตะวัน’ อันเป็นความความคิดผีปีศาจร้ายในสายตารัฐไทย

ไม่มีวันและไม่มีทางละเลยได้ว่าเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลาคือประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความรุนแรงโดยรัฐอย่างถึงที่สุด แต่อีกเส้นทางของประวัติศาสตร์ 6 ตุลานำพานักศึกษาไปสู่ ‘ป่า’ เขตของต้นธารความคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และร่วมปฏิวัติต่อสู้เพื่อมุ่งไปสู่อุดมคติที่วาดหวังไว้

แม้ในท้ายที่สุดอุดมคติจะล่มสลายเมื่อป่าแตก แต่ยุคหลัง 6 ตุลาก็ไว้ทิ้งมรดกอันยิ่งใหญ่ทั้งทางความคิดและการเคลื่อนไหวที่ยังไม่จบสิ้นไว้

ในวาระครบรอบ 45 ปี ‘6 ตุลา 2519’ 101 ชวน ธิกานต์ ศรีนารา อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนหนังสือ หลัง 6 ตุลาฯ ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สนทนาว่าด้วยช่วงเวลาที่ทอดยาวหลังจากการล้อมปราบสังหารหมู่นักศึกษา เมื่อกระแสความคิดฝ่ายซ้ายแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ส่งอิทธิพลต่ออุดมคติและความหวังของคนรุ่นใหม่ยุคเดือนตุลา มรดกจากยุค ‘หลัง 6 ตุลาฯ’ ที่ยังประจักษ์ชัดอยู่ในการเมืองไทย กระแสธารความคิดที่ฝ่ายซ้ายไทยฝากไว้ และเรื่องราวที่ยังไม่สิ้นสุดในการต่อกรต่ออำนาจรัฐของขบวนการประชาชน

ไม่ว่าจะมองว่าไออุ่นจาก ‘แสงตะวัน’ จะจางหายแล้วหรือยังไม่จางหาย หรืออาจมองว่าไอจาก ‘แสงตะวัน’ ได้กลายเป็นไอร้อนระอุแผดเผาจนมอดไหม้ไปแล้วก็ตาม แต่การเมืองไทยก็ยังหนีไม่พ้นจากทั้งแสงสว่างและเงา – ในนามของการต่อกรต่ออำนาจรัฐ

หลายคนอาจมองว่าประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายยุคเดือนตุลาและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นประวัติศาสตร์ที่สิ้นสุดไปแล้ว คุณมองอย่างไร เรื่องราวและความทรงจำทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนั้นยังสำคัญในยุคปัจจุบันอยู่ไหม

คนที่บอกว่าประวัติศาสตร์จบไปแล้วคือคนที่ไม่เข้าใจปรัชญาประวัติศาสตร์ ในแวดวงประวัติศาสตร์ อาจารย์ธงชัย (วินิจจะกูล) อาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) เคยบอกไว้ว่าประวัติศาสตร์มี 2 ความหมายคือ หนึ่ง อดีตที่ถูกศึกษา และสอง การพูดหรือเขียนถึงอดีต ซึ่งอย่างหลังจะเปลี่ยนอดีตเสมอ เมื่อไหร่ที่มีการหยิบยกประวัติศาสตร์ขึ้นมาพูดคุย อดีตนั้นจะกลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง เมื่อไหร่ก็ตามที่นักประวัติศาสตร์ทำงานกับเรื่องราวในอดีต ความหมายของประวัติศาสตร์ก็จะเปลี่ยนไป เราจะเอาปัจจุบันไปตีความทันทีและทำให้เกิดความหมายใหม่ขึ้นมา ประวัติศาสตร์ในความหมายที่สองจึงยังทำงานในปัจจุบันอยู่ และไม่มีวันจบสิ้น อย่างที่ E.H.Carr นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า ประวัติศาสตร์คือบทสนทนาที่ไม่รู้จบระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และระหว่างหลักฐานกับนักประวัติศาสตร์

พูดง่ายๆ อย่างที่เรากำลังจะคุยเรื่องประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา 6 ตุลา หรือ พคท. มันก็คือการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์กลับขึ้นมาอีกแล้ว การที่ผมพูดถึงประวัติศาสตร์เหล่านี้คือผมกำลังให้ความหมายใหม่กับมันนะ แน่นอนว่าเหตุการณ์จบลงไปแล้ว แต่สำนึกคิดของเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ยังไม่จบและมีอิทธิพลต่อปัจจุบันอยู่ 

ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา 6 ตุลา หรือ พคท. ยังเกี่ยวพันกับปัจจุบันอยู่ จุดสำคัญคือมันเป็นแหล่งความรู้ ประสบการณ์ และเป็นแรงบันดาลใจทางการเมืองที่สำคัญยิ่งต่อขบวนการเยาวชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปัจจุบัน คนรุ่น 14 ตุลา 6 ตุลาเอง ก่อนหน้านั้นก็เคยเป็นเยาวชนเหมือนคนรุ่นนี้มาก่อน ถ้ามองย้อนกลับไปน่าจะอายุไล่ๆ กัน สมัยที่พวกเขาทำกิจกรรมทางการเมืองก็มีความคิดทางการเมืองแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น เป็นไปได้ไหมว่าคนรุ่นใหม่สมัยนี้จะกลับไปสนทนากับคนรุ่นใหม่สมัยเดือนตุลา ทำความเข้าใจว่าเขาคิดอะไร เขาอ่านอะไร ทำไมถึงคิดอย่างนั้น ต่อสู้กับอะไร ทำไมถึงทำอย่างนั้น เขาผิดพลาดตรงไหน แก้ไขอะไรบ้าง ถูกรัฐไทยปราบปรามอย่างไร

คำถามเหล่านี้สำคัญกับปัญญาชนในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 6 ตุลา หรือ พคท. เท่านั้นนะ แต่คนรุ่นใหม่สามารถกลับไปสนทนาย้อนกับประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยคณะราษฎร มาจนถึงขบวนการทางการเมืองต่างๆ อย่างเสรีไทย หรือปัญญาชนยุคทศวรรษที่ 2490 ได้ด้วย

เวลากล่าวถึงประวัติศาสตร์ 6 ตุลา แน่นอนว่าเราไม่สามารถละเลยความโหดร้ายของรัฐไทยในการล้อมปราบสังหารหมู่นักศึกษาได้ แต่คุณกลับเลือกศึกษาประวัติศาสต์หลัง 6 ตุลา เป็นการเฉพาะ อะไรคือความน่าสนใจของประวัติศาสตร์ขบวนการประชาชนในช่วงเวลาหลัง 6 ตุลา 2519

เวลาทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ 6 ตุลา เราควรทำความเข้าใจช่วงเวลาที่กว้างไปกว่านั้น และต้องเข้าใจสิ่งที่เกิดหลังจากนั้นด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นหลัง 6 ตุลา ผมสนใจว่า นักศึกษาหายไปไหนหลังจากธานินทร์ กรัยวิเชียรขึ้นสู่อำนาจและเปลี่ยนไปใช้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการฟาสซิสต์ ไม่อนุญาตให้มีการทำกิจกรรมทุกประเภทในรั้วมหาวิทยาลัย องค์กรนักศึกษาห้ามจัดตั้งชมรม แน่นอนว่ารวมไปถึงกิจกรรมทางการเมืองด้วย การปราบหนักของรัฐเป็นอีกบริบททางการเมืองหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาตัดสินใจเข้าป่า และส่งผลต่อชีวิตนักศึกษาทั้งช่วงที่อยู่ในป่ายันออกมาจากป่า ซึ่งประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้ส่งผลต่อชีวิตและการเมืองไทยร่วมสมัยพอสมควร  

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ผมคิดว่าประวัติศาสตร์หลัง 6 ตุลามีความน่าสนใจหลายประการ อย่างแรกคือ นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่คนหนุ่มสาวชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาจำนวนมากจากในเมืองเดินทางเข้าไปร่วมทำการปฏิวัติ ใช้ชีวิตจริงอย่างยากลำบากในชนบทป่าเขากับพวกนักปฏิวัติรุ่นเก่าและชาวนาชาวไร่ในชนบท หลังจากที่เคยมอง พคท. และการเข้าป่าอย่างโรแมนติก เป็นการรวมกันอย่างเป็นเอกภาพครั้งแรกระหว่างขบวนการนักศึกษาและ พคท. หลังจาก พคท. มีอิทธิพลทางความคิดต่อนักศึกษามาตั้งแต่ปี 2518

ความน่าสนใจจึงอยู่ตรงที่ว่านักศึกษาปรับตัวอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างไร เมื่อเข้าป่าไปแล้วมีบทบาทอย่างไรบ้าง ทำไมจึงเกิดความขัดแย้งทางความคิดระหว่างนักศึกษาและนักปฏิวัติรุ่นเก่า พวกเขาได้บทเรียนอะไรจากการเข้าไปในป่า และที่สำคัญ ขบวนการปฏิวัติช่วงหลัง 6 ตุลาแตกต่างจากก่อนหน้านี้อย่างไร แตกต่างจากขบวนการปฏิวัติในที่อื่นอย่างไร ต่างจากในจีน ลาว เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซียอย่างไร เรื่องราวและประวัติศาสตร์ของขบวนการนักศึกษาหลัง 6 ตุลาจึงน่าสนใจเพราะมิติต่างๆ เหล่านี้

อย่างที่สอง เราจะเห็นว่ารัฐไทย ทหารไทย เรียนรู้อะไรบ้างและปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่มีประชาชนจับปืนเข้าป่าปฏิวัติ 

อย่างที่สาม พคท. เป็นขบวนการที่ชนชั้นล่างเข้าร่วมจำนวนมาก อย่างกรรมกร ชาวนาชาวไร่ หรือชาติพันธุ์ทางภาคเหนือ-อีสาน อย่างเช่นคนม้งหรือคนลัวะ คำถามคือทำไมเขาจึงเข้าร่วมกับ พคท. เกิดอะไรขึ้นในชนบทก่อนที่จะเข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ อะไรบีบคั้นให้พวกเข้าป่าจับปืน ที่สำคัญเขามีความคิดทางการเมืองอย่างไรก่อนเข้าป่า พคท. เข้าไปจัดการการศึกษาลัทธิต่างด้าวอย่างลัทธิมาร์กซ์ให้กับชาวบ้าน ชาวนาชาวไร่ที่ยังมีความคิดแนวพุทธศาสนา เชื่อภูตผีปีศาจอย่างไร ทำอย่างไรให้ชาวบ้านที่สังคมไทยส่วนใหญ่มองว่าไร้การศึกษาลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้ และพวกเขารับรู้ลัทธิมาร์กซ์ได้แค่ไหน ตีความอย่างไรบ้าง  

อีกอย่างที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก แต่ยังมีคนพูดถึงไม่เยอะคือเรื่องผู้หญิง จริงๆ ผู้หญิงมีบทบาทมากตั้งแต่ต่อตั้ง พคท. ขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2460 จนกระทั่งล่มสลาย ยุคหลังที่มีนักศึกษาเข้าป่าไป นักศึกษาหญิงก็เข้าไปเยอะ ช่วงประชุมสมัชชาครั้งสุดท้ายก่อน พคท. จะล่มสลาย ก็มีผู้หญิงเป็นกรรมการกลาง ตอนนี้ก็เธอยังมีชีวิตอยู่ และมีบทบาททางการเมืองด้วย 

หากมองการล้อมปราบ 6 ตุลาเป็นหมุดหมายที่นักศึกษาส่วนหนึ่งตัดสินใจเข้าป่า นักศึกษาสมัยนั้นคิดฝันอะไร การเข้าป่าจึงกลายเป็นหนึ่งในทางเลือกทางการเมือง

ช่วงก่อน 14 ตุลา 2516 กระแสความคิดแบบซ้ายเก่ายุคทศวรรษ 2490 ซึ่งมีทั้งงานสายมาร์กซิสต์นอก พคท. อย่างงานของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือสุภา ศิริมานนท์ กับงานสายฝ่ายซ้ายที่เชื่อมโยงกับ พคท. อย่างงานของ ‘นายผี’ อัศนี พลจันทร จิตร ภูมิศักดิ์ หรืออุดม สีสุวรรณ จัดว่าเป็นกระแสความคิดเล็กๆ ในหมู่นักศึกษาที่อยู่ร่วมกับกระแสชาตินิยม กระแสกษัตริย์นิยม หรือกระแสฝ่ายซ้ายใหม่จากตะวันตกเท่านั้น แต่นักศึกษาก็มีการหยิบงานฝ่ายซ้ายแบบพคท. ขึ้นมาอ่านและตีพิมพ์ซ้ำอยู่เรื่อยๆ แม้จะยังไม่ได้มีอิทธิพลมานัก

หลังผ่านพ้น 14 ตุลาคม 2516 ไล่เผด็จการทรราชย์ออกไปแล้ว โจทย์ร่วมที่ขบวนการนักศึกษาขบคิดกันคือ จะใช้แนวคิดอะไรในการวิเคราะห์สังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ตอนนั้นหนึ่งในตัวเลือกที่มีเสน่ห์ที่สุดสำหรับนักศึกษาคือระบบความคิด ทฤษฎี และชุดคำอธิบายสังคมอุดมคติแบบ พคท. ที่อธิบายว่าสังคมไทยเป็นสังคมแบบ ‘กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา’ ค่อยๆ เคลื่อนเข้ามามีอิทธิพลจนขึ้นสู่กระแสสูงในหมู่นักศึกษาช่วงปี 2518 กลายเป็นกระแสความคิดที่ครอบงำขบวนการ แต่ต้องย้ำว่า พคท. มีอิทธิพลแค่ในทางความคิดและวิธีการมองและวิเคราะห์สังคมผ่านสิ่งพิมพ์ วารสาร วรรณกรรม หรือเพลงเท่านั้น ไม่ใช่ในแง่การจัดตั้งหรือทำงานร่วมกันระหว่างองค์กร (ซึ่งมีอยู่เช่นกัน แต่ก็ไม่มีอิทธิพลมากเท่าทางความคิด)

หนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่สุดที่เปลี่ยนทิศกระแสความคิดของขบวนการนักศึกษาให้กลายเป็นซ้ายแบบ พคท. คือกรณีการโต้เถียงระหว่างนายผิน บัวอ่อน อดีตสมาชิก พคท. และ พคท.-‘นายผี’ อัศนี พลจันทร ว่าด้วยแนวทางการปฏิวัติ โดยนายผีได้ออกมาเขียนข้อเขียน โต้ลัทธิแก้ไทย ภายใต้นามปากกา อุทิศ ประสานสภา เพื่อโต้และวิจารณ์ข้อเขียนนายผินว่าด้วย แนวทาง 14 ตุลาจงเจริญ  ซึ่งเขียนด้วยภาษาแบบ พคท. ว่า การที่ผิน บัวอ่อน เชิดชูแนวทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมืองแบบ 14 ตุลานั้นไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการเชิดชูแนวทางการลุกขึ้นสู้ในเมือง พร้อมเสนอการวิเคราะห์สังคม ‘กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา’ แบบ พคท. ว่าการครอบงำของชนชั้นศักดินา ทหาร และสหรัฐฯ นำไปสู่การกดขี่ชนชั้นชาวนา และเสนอแนวทางการปฏิวัติแบบ ‘ชนบทล้อมเมือง’ ปักธงแดงกลางนครเพื่อโค่นโครงสร้างสังคมแบบนั้น ส่วน พคท. ก็ออกแถลงการณ์แก้ไขความเข้าใจว่าแนวทางที่ถูกต้องของ พคท. เป็นอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้เท่ากับว่าเป็นการแก้ความเข้าใจจากข้อเขียนของนายผิน สร้างความรับรู้และการยอมรับต่อแนวคิดและแนวทางของ พคท. ในขบวนการนักศึกษา 

นอกจากนี้ กระบวนการการสร้างวีรบุรุษ อย่างการชูเรื่องราวของเช เกวารา ปัญญาชนนักปฏิวัติ และจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งมีสถานะเป็นนักศึกษาปัญญาชนที่ตัดสินใจจับอาวุธเข้าป่าตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2500 ผ่านการตีพิมพ์หนังสือโดยชมรมหนังสือแสงตะวัน ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ของพรรคในเมืองที่ดูแลโดยนิสิต จิระโสภณ ซึ่งทำให้เห็นว่าแนวทางการปฏิวัติของ พคท. เป็นแนวทางที่ถูกต้องจนแม้แต่จิตร ภูมิศักดิ์ยังเข้าร่วม รวมถึงมีการตีพิมพ์หนังสือแนวก้าวหน้าเอียงซ้ายอื่นๆ เช่น โฉมหน้าศักดินาไทย สารนิพนธ์เหมา ฯลฯ ตลอดช่วงก่อน 6 ตุลา ทำให้เริ่มมีนักศึกษารับอิทธิพลทางความคิดและมีส่วนหนึ่งที่อยากเข้าร่วมกับ พคท. ในป่า อย่างวิสา คัญทัพก็เคยเขียนไว้ในบันทึกว่าอยากเข้าป่า แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร

แสดงว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา คือชนวนที่บีบให้นักศึกษาตัดสินใจเข้าป่า

ในมุมของ พคท. เองก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาขึ้นจนนักศึกษาต้องตัดสินใจเข้าป่า เพราะเป้าหมายของการทำงานจัดตั้งของพรรคอยู่ที่ชาวนาในชนบท พคท. มองว่านักศึกษาเป็นแนวร่วมทางความคิดในเมืองมากกว่า 

ฝ่ายรัฐอธิบาย 6 ตุลาว่าต้องกำจัดประชาชนที่เป็นภัยคอมมิวนิสต์และหมิ่นสถาบัน ส่วนฝ่ายนักศึกษาอธิบายว่า 6 ตุลาคือการล้อมปราบสังหารหมู่ อยากทราบว่าฝ่าย พคท. อธิบายเหตุการณ์ 6 ตุลาอย่างไร

มีคนจำนวนหนึ่งอธิบายว่า พคท. วางแผนสมคบให้นักศึกษาเข้าป่า แต่วิธีคิดแบบนี้มีปัญหามาก ผมบอกเลยว่า พคท. ไม่อยากให้นักศึกษาเข้าป่าถ้าเป็นไปได้ และที่สำคัญ พคท. ไม่ได้สนใจเรื่องในเมืองมากเท่ากับชนบท เพราะศูนย์กลางพรรคอยู่ที่ชนบทอย่างน่านกับสกลนคร แต่ในแง่ของการประเมินสถานการ์ทางการเมืองในเมือง พคท. ก็ทำอยู่ตลอด ในช่วงประมาณกลางปี 2519 มีเอกสารของพรรคออกมาเป็นแถลงการณ์ว่า พวกขุนศึกศักดินาอาจจะปราบใหญ่ก็ได้ แต่ก็ไม่ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ 

จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา พรรคก็ออกแถลงการณ์ตามมาในวันที่ 7 ตุลา 2519 อธิบายว่าการล้อมปราบนักศึกษาคือการที่ศักดินาพยายามจะโยนหินใส่คนอื่น แต่กลับโยนหินใส่ขาตนเอง อธิบายตรงๆ ก็คือ ศักดินาพยายามจะปราบนักศึกษา แต่การปราบกลับทำให้ พคท. เติบโตขึ้น เพราะนักศึกษาและประชาชนจำนวนมหาศาลจากเมืองหนีเข้าป่า ยิ่งกลับทำให้ พคท. เติบโตขึ้น 

ที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์มักจะบอกเราว่าขบวนการนักศึกษาที่หนีเข้าป่าไปเข้าร่วมกับ พคท. และพคท. เองล้มเหลวในเคลื่อนไหว ที่จริงแล้วในทางประวัติศาสตร์ เราสามารถประเมินตรงไปตรงมาเช่นนี้ได้หรือไม่ว่าขบวนการล้มเหลว

ที่ผ่านมา ความพ่ายแพ้กับความผิดพลาดถูกมองรวมเป็นเรื่องเดียวกัน หมายความว่าผิดพลาดเท่ากับพ่ายแพ้ แต่ผมมองว่าพคท. แพ้เพราะการปฏิวัติล้มเหลว ปฏิวัติไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นคนละอย่างกับความผิดพลาด แต่แน่นอนว่าในการเคลื่อนไหวมีความผิดพลาดแน่ๆ แต่ความผิดพลาดก็ไม่ใช่สาเหตุที่พ่ายแพ้ทั้งหมด สองอย่างนี้เป็นคนละอย่างกัน 

ที่สังคมมักรู้สึกว่าความผิดพลาดนำไปสู่ความพ่ายแพ้ เพราะแนวเล่าหลักที่วนเวียนอยู่ในสังคมมาจากบันทึกของนักศึกษาในป่าอย่างอาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) หรือจิระนันท์ (พิตรปรีชา) ที่แสดงความรู้สึกไม่อินังขังขอบกับพรรคแล้ว หรือปัญญาชนหลายคนที่เข้าป่าไปก็เกลียดและผิดหวังต่อ พคท. มากๆ ซึ่งจริง องค์กรของพรรคผิดพลาดจริง ทั้งความไม่เป็นประชาธิปไตย หรือความไม่มีอิสระ ผมไม่เถียง

ส่วนตัวผมก็ไม่อยากให้ พคท. ชนะถ้าต้องเป็นแบบลาวหรือเวียดนาม (หัวเราะ) แต่อย่างหนึ่งที่สำคัญมากและไม่ใช่ข้อผิดพลาดคือความพยายามของอุดมการณ์ที่จะทำลายโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียม มีการกดขี่ ผูกขาดอำนาจทางการเมืองเศรษฐกิจ พยายามสร้างสังคมใหม่ที่คนเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสังคมในอุดมคติที่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะต้องสร้างอย่างไร อุดมคติจึงจะเป็นจริง อันนี้ถือว่าเป็นอุดมคติที่ดีงามมาก ซึ่งที่ผ่านมา พคท. อาจผิดพลาดในแง่วิธีการที่จะไปถึงมัน

แล้วอะไรที่ทำให้ พคท. พ่ายแพ้

ความพ่ายแพ้มีที่มาหลายสาเหตุ หนึ่งคือกระแสคอมมิวนิสต์ระดับสากล พคท. ตกอยู่ภายใต้สภาวะที่รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เล่นการเมืองกับรัฐบาลจีน โดยจีนเปลี่ยนนโยบายมาร่วมมือกับรัฐบาลเกรียงศักดิ์ แล้วกดดันให้ พคท. เลิกวิพากษ์และต่อต้านรัฐบาล ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลสะเทือนต่อ พคท. ค่อนข้างหนัก ทำให้ถูกตัดความช่วยเหลือจากลาวและเวียดนาม เพราะในค่ายคอมมิวนิสต์กันเองก็มีการเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างโซเวียตและจีน ในการทำสงครามปฏิวัติ การได้รับการสนับสนุนจากสากลเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เอาง่ายๆ ถ้าคุณไม่สามารถรบเข้าไปในลาวได้ คุณลำบากทันที นอกจากนี้ กระแสคอมมิวนิสต์ในระดับโลกที่เริ่มล่มสลาย เพราะพ่ายต่อทุนนิยมก็เป็นแรงกดดันที่ใหญ่มากต่อ พคท. 

อีกสาเหตุหนึ่งคือรัฐเรียนรู้และปรับตัวที่จะหาวิธีจัดการกับ พคท. ผ่านการออกนโยบาย 66/2523 ใช้การเมืองนำการทหาร ‘แยกปลาออกจากน้ำ’ แยกมวลชนออกจาก พคท. ซึ่งนโยบาย 66/2523 ต่อยอดมาจากการผ่อนปรนทางการเมืองจากการเมืองฟาสซิสต์และใช้การทหารนำแบบธานินทร์ กรัยวิเชียรช่วงปี 2521 ในสมัยเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แนวคิดเช่นนี้เริ่มมาจากประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ในยุค 2490 ที่แยกตัวออกมาจากพรรคเพราะเสนอแนวทางรัฐสภาซึ่งขัดกับพรรค ภายหลังเขาทำงานกับรัฐบาล มีอิทธิพลต่อพวกทหารมาก แน่นอนว่าคนที่เคยเป็นระดับผู้นำพรรคย่อมรู้ไส้รู้พุงของพรรค รู้ว่าหนทางในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ต้องใช้แนวทางทางการเมืองมากกว่าการทหาร เพราะยิ่งใช้กำลัง พคท. ก็จะยิ่งเติบโต เพราะฉะนั้นต้องเปิดบรรยากาศทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยภายใต้เงื่อนไขที่ว่าทหารต้องควบคุมได้ ผ่อนปรนทำให้กิจกรรมได้ กลับออกมาจากป่าได้โดยไม่ถูกเอาผิดทางกฎหมาย 

ที่มาของความพ่ายแพ้อีกอย่างหนึ่งคือความขัดแย้งระหว่างคนสองรุ่นในป่า ระหว่างนักปฏิวัติรุ่น 2480/2490 กับนักศึกษารุ่น 14/6 ตุลา อย่างที่อุดม ศรีศุวรรณเขียนไว้ในบันทึกตอนออกมาจากป่า ส่วนตัวผมมองว่าปัจจัยนี้สำคัญมาก คนทั้งสองรุ่นมีภูมิหลังทางความคิดและประสบการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน ซึ่งทำให้คนทั้งสองรุ่นมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ที่ถาโถมเข้ามาต่างกัน

ทันทีที่ในค่ายคอมมิวนิสต์เกิดความขัดแย้งระหว่างจีน-โซเวียต แล้ว พคท. ออกตัวเข้าฝั่งจีน ระดับผู้นำซึ่งเป็นคนรุ่น 2490 ไม่ได้มีท่าทีคัดค้านอะไร ในขณะที่นักศึกษาค้านว่า พคท. ต้องวางตัวอิสระ จะตัดขาดจากลาวกับเวียดนามที่เลือกฝ่ายโซเวียตไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะนักปฏิวัติรุ่น 2490 ใช้ชีวิตในการปฏิวัติมาทั้งชีวิตตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมานาน หลายคนเคยไปเรียนที่สถาบันลัทธิมาร์กซ์ในจีน การศึกษาไม่สูง ไม่ถึงระดับอุดมศึกษา หลายคนเป็นชาวนาหรือกรรมกร และที่สำคัญ พวกเขาไม่ได้เติบโตมาในบรรยากาศประชาธิปไตย ในขณะที่นักศึกษาเติบโตมาในบรรยากาศที่ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพเบ่งบาน เพิ่งเริ่มซ้ายแบบ พคท. ช่วงปี 2518 ก่อนหน้านี้หลายคนมีความคิดทางการเมืองที่หลายหลาย รับรู้แนวคิดฝ่ายซ้ายหลายรูปแบบ ซ้ายแบบสุภา ศิริมานนท์บ้าง ซ้ายแบบมาร์กซ์บ้าง แบบเลนินบ้าง หลายคนมาจากแนวทางแบบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งพอเข้าป่าไปแล้วก็พบว่าในป่ามีระเบียบเยอะมาก อีกทั้งยังเป็นปัญญาชนชนชั้นกลาง ซึ่งในสายตาของพรรค พวกนักศึกษาคือกระฎุมพีน้อย โลเล เป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ อาจจะทำให้นักศึกษารู้สึกอึดอัดว่าทำไมตัวเองไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคสักที

หลังป่าแตก ความคิดและจุดยืนทางการเมืองของเหล่าอดีตสหายปัญญาชนฝ่ายซ้ายแตกฉานซ่านเซ็นไปคนละทิศ และยังขัดแย้งกันทั้งๆ ที่เคยร่วมอุดมการณ์เดียวกัน ภาวะเช่นนี้สะท้อนอะไร

ตอบยาก แต่เท่าที่ผมคิดได้ สภาวะเช่นนี้สะท้อนอยู่ 2-3 ประเด็น 

หลังจากป่าแตก สหายบางคนกลายเป็นฝ่ายขวาเพราะอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเติบโตและพระราชอำนาจเพิ่มพูนขึ้นในจังหวะเดียวกับที่ออกมาจากป่า อย่างที่งานวิจัยเรื่อง การสถาปนาพระราชอำนาจนำ ของอาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์เสนอว่าอำนาจของสถาบันกษัตริย์เริ่มฟื้นตัวหลังสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในช่วงปี 2500 หลังจากที่อำนาจถูกจำกัดอย่างมากหลังการปฏิวัติ 2475 และชนชั้นปกครอง (สถาบันกษัตริย์ กองทัพ สหรัฐฯ) เริ่มมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น ซึ่งการฟื้นตัวมาพร้อมกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่ลงหลักปักฐาน รวมทั้งกิจกรรมหรือกลไกทางการเมืองต่างๆ อย่างตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจพลร่ม ฯลฯ จนมา ‘ลงแดง’ จริง คลั่งจริงจนปราบนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 

นอกจากนี้ บางคนยึดอุดมการณ์การพัฒนา อุดมการณ์แบบ พคท. ที่ชูธงสังคมที่มีความพอเพียงอยู่ดีมีสุขไปสอดรับกับอุดมการณ์เศรษฐกิจพอเพียงของสถาบันกษัตริย์ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่สหายเก่าบางคนหันเหไปทางสถาบันกษัตริย์

อย่างที่สองคือ การเติบโตของทุนนิยมและการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภาตั้งแต่ช่วงพฤษภาฯ 2535 ได้เปลี่ยนการเมืองประชาธิปไตยและระบบรัฐสภากลายเป็นสัญลักษณ์ของนายทุนโลก ในสายตาของปัญญาชนฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่งที่ยังต่อต้านทุนนิยมอยู่ บางคนก็เชื่อว่าต้องร่วมมือกับสถาบันกษัตริย์ในการต่อต้านทุนนิยม เพราะลำพังมวลชนเองสู้กับทุนไม่ได้ ต้องร่วมมือกับพลังที่ใหญ่กว่าถึงจะชนะ ซึ่งผลก็ชนะจริงๆ 

คุณอาจจะเคยได้ยินเสื้อเหลืองเสื้อแดงที่เป็นสหายเก่าเขาเถียงกันด้วยนะว่าจะร่วมมือกับเจ้าล้มทุนหรือจะร่วมมือกับทุนล้มเจ้า แล้วเถียงกันเป็นเอาตายเลยนะ 

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการขยายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์และทุนนิยมที่เติบโตขึ้น นำไปสู่แนววิเคราะห์ทางการเมืองหรือการเลือกข้างทางการเมืองที่แปลกประหลาดของเหล่าสหาย

หากเทียบกับบริบทโลก ปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลังสงครามเย็นเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะคล้ายนี้บ้างไหม

ในระดับโลก เกิดปรากฏการณ์การพัฒนาลัทธิมาร์กซิสต์ที่แตกแขนงออกมาหลังจากที่ลัทธิสตาลินกลายพันธุ์ไปเป็นเผด็จการ เพอร์รี แอนเดอร์สัน (Perry Anderson) เสนอว่าปัญญาชนมาร์กซิสต์จำนวนมากที่ผิดหวังจากลัทธิสตาลินได้อพยพเข้าสู่โลกตะวันตก แล้วพัฒนาลัทธิมาร์กซ์ในแบบของตัวเองขึ้นมาให้อธิบายสังคมโลกได้สลับซับซ้อนขึ้น อย่างเช่นหลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) วอลเทอร์ เบนจามิน (Walter Benjamin) รวมไปถึงคนที่ไม่ได้อพยพเข้าสู่ตะวันตกอย่างอันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) 

แต่ปรากฏการณ์แบบในตะวันตกไม่เกิดขึ้นในไทย แนวคิดมาร์กซิสต์ในไทยรากฐานอ่อนแอมาก อาจจะมีหลายสาเหตุ ฝ่ายซ้าย 6 ตุลากับ 14 ตุลาอาจจะรับหรือตีความมาร์กซิสต์คนละแบบก็ได้ พอหลังออกมาจากป่า ในช่วงทศวรรษที่ 2520 อาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) พยายามจะนำกรัมชีเข้ามา หรือมีการพยายามนำเข้าแนวคิดทรอตสกีเข้ามาอธิบายในเมืองไทยว่าเป็นการปฏิวัติถาวร หรืออาจารย์กาญจนา แก้วเทพก็พยายามนำสำนักแฟรงค์เฟิร์ต (Frankfurt School) เข้ามา แต่สุดท้ายก็เริ่มจางหายไปในช่วงปี 2530 

หลังจากนั้นก็เริ่มมีการตีความมาร์กซิสต์แบบพุทธบ้าง สันติอโศกบ้าง หรือมีพวกที่นิยมวัฒนธรรมชุมชนบ้าง เริ่มเกิดกระแสแนวคิด ‘ปัญญาชนฝ่ายค้าน’ หลังป่าแตก หรือจะเรียกว่าแนวคิดวิพากษ์หรือแนวคิดทวนกระแสก็ได้ ตอนนั้น พคท. ล่มแล้วก็จริง แต่สังคมยังต้องการความคิดทวนกระแสในการต่อสู้อยู่ ก็เริ่มมีคนเสนอแนวคิดแบบพุทธขึ้นมา เช่น พุทธทาสเสนอแนวคิดธัมมิกสังคมนิยม ประยุทธ์ ปยุตฺโตเสนอประชาธิปไตยแบบธรรมาธิปไตย ประเวศ วะสีเสนอชุมชนธรรมาธิปไตย ซึ่งขึ้นสู่กระแสสูงมากในช่วงปี 2540 หรือสุลักษณ์ ศิวรักษ์ก็จัดว่าเป็นหนึ่งในปัญญาชนสายพุทธที่มีอิทธิพลและบทบาทสำคัญมาก

นอกจากนี้ยังมีองค์กรมีปฏิบัติงานอย่างมูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธิเสฐียรโกเศศ หรือกลุ่มศาสนาเพื่อสังคม หลายคนอาจจะลืมไปแล้ว แต่กลุ่มหรือสำนักเหล่านี้สำคัญมากๆ หลังป่าแตก เพราะเป็นกลุ่มที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่า ‘ปีกเสรีนิยม’ เพราะเป็นสายเสรีนิยมในความหมายที่ว่าไม่ซ้าย ไม่ขวา ไม่สุดขั้วในช่วงยุคเดือนตุลา แล้วค่อยๆ เติบโตขึ้นในเชิงองค์กรที่พวกอกหักจากป่า ไม่เหลืออะไรเลยจะมาพึ่งพา

นอกจากนี้ก็มีพวกองค์กรเอ็นจีโอ หรือแนวคิดประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก็เป็นแนวทางหลักที่สำคัญ เลิกชูธงสังคมนิยมแล้วเปลี่ยนไปแนวทางประชาธิปไตยรัฐสภาเพื่อผลักดันให้ทหารออกไปจากการเมืองสักที

ปัญญาชนฝ่ายค้าน เขา ‘ค้าน’ อะไร เพราะหลังป่าแตก ‘นักเมืองเลว’ ก็ยังไม่มี กระแสการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ไม่ได้เป็นประเด็นทางการเมืองเหมือนในปัจจุบัน  

ค้านทุนนิยม หลังจากป่าแตกแล้วฝ่ายซ้ายเริ่มฟื้นตัว จุดร่วมของฝ่ายค้านเหล่านี้คือต้านทุนนิยมและลดประเด็นสถาบันกษัตริย์ลง อย่างงานเขียนส่วนใหญ่ของอาจารย์พิชิต (ลิขิตกิจสมบูรณ์) ก็ต่อต้านทุนนิยม 

วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์ศึกษาปัญญาชนทวนกระแสในช่วงปี 2524-2534 หากชวนมองต่อไปในช่วงปี 2535-2560 มีปัญญาชนฝ่ายค้านสำนักใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้างไหม

เริ่มมีกระแสการเมืองภาคประชาชนมาแทนวัฒนธรรมชุมชนแล้ว กระแสประชาธิปไตยรัฐสภาเริ่มเสื่อม และสถาบันกษัตริย์เริ่มเข้าสู่กระแสสูง วิทยานิพนธ์ ทัศนะของสื่อหนังสือพิมพ์และปัญญาชนสาธารณะที่มีต่อสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ระหว่าง พ.ศ. 2535-2540 ของ กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ พยายามชี้ให้เห็นว่า แม้กระทั่งปัญญาชนอย่างอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) หรืออาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) ยังตกอยู่ภายใต้กระแสที่กลับมาคืนดีกับสถาบันกษัตริย์ ต่อต้านประชานิยม ต่อต้านนักการเมือง ใช้เจ้าเพื่อโจมตีนักการเมืองโดยมีนัยยะว่าเจ้ามีความชอบธรรมทางการเมือง ส่วนทหารตอนนั้นไม่ใช่ตัวละครที่คนด่ากันเพราะกลับกรมกองไปอยู่ จนมายุคนี้ก็กลับมาวิพากษ์เจ้าแล้ว 

ประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้ายในช่วงเวลาหลัง 6 ตุลา ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลได้หรือเปล่า

สังคมมีแนวโน้มจะมองว่าประวัติศาสตร์สมัย พคท. เป็นประวัติศาสตร์บาดแผล เพราะว่าตอน 6 ตุลานักศึกษาถูกรัฐล้อมปราบจนส่วนหนึ่งต้องหนีเข้าป่าแล้ว พอเข้าไปอยู่ในป่าก็แพ้อีก ซึ่งแนวเล่าแบบนี้เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลแน่ๆ ของสหายเก่าบางคน เพราะเขารู้สึกว่าพ่ายแพ้ซ้ำซาก หรือทุ่มเทไปก็แพ้ หากไปอ่านบันทึกจำนวนมหาศาลของคนที่ออกมาจากป่า จะเห็นเลยว่าตั้งแต่ช่วงปี 2520 เป็นต้นมาหลังออกจากป่ามาใหม่ๆ เหล่าสหายมองประวัติศาสตร์ในช่วง พคท. ว่าเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลกันเยอะมาก อย่างเสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) จิระนันท์ (พิตรปรีชา) สุรชัย (จันทิมาธร) บุญส่ง (ชเลธร) ยุค ศรีอาริยะ ธิดา (ถาวรเศรษฐ) หรือศิลา โคมฉาย ฯลฯ ต่างก็มองว่าเป็นบาดแผลหมด  

แต่ว่าพอหลังปี 2530 เป็นต้นมา จะเห็นว่าในบันทึกเริ่มมีการเขียนให้ความหมายใหม่กับการเข้าป่าแล้ว ยิ่งเวลาผ่านไปนานก็ยิ่งอธิบายว่าการเข้าป่าคือความภาคภูมิใจ เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากระดับว่าเอาเงินมาแลกก็ไม่ยอม บางคนเป็นนักธุรกิจ เป็นคนธรรมดาโนเนม เป็นคนทำมาหากิน มีชีวิตปกติธรรมดา ไม่มีวีรกรรมหรือความภาคภูมิใจอะไรเป็นพิเศษ ก็จะหวนกลับไปเล่าช่วงเวลาที่เขาเคยมีวีรกรรมยิ่งใหญ่ระดับลุกขึ้นมาจับปืนปฏิวัติ บันทึกในช่วงปี 2540-2550 อธิบายการเข้าป่าไว้ด้วยแนวเล่าแบบนี้หมด หรือชาวนาบางคนก็อธิบายว่า ดีใจมากที่ชีวิตนี้มีโอกาสได้เข้าพรรค เพราะพรรคช่วยให้เขาอ่านออกเขียนได้ เรียนหนังสือจนเป็นหมอ ซึ่งจริงๆ เราอาจจะวิพากษ์ความสุดโต่งของแนวเล่าแบบนี้ก็ได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวาทกรรมผีคอมมิวนิสต์ยังคงตามหลอกหลอนสังคมไทยอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แล้วสังคมควรมองหรือทำความเข้าใจประวัติศาสตร์หลัง 6 ตุลาอย่างที่มันเป็นอย่างไร 

ถ้าถอยออกมามองภาพรวมของประวัติศาสตร์หลัง 6 ตุลา รวมไปถึงประวัติศาสตร์ พคท. ตั้งแต่เริ่มต้นจะเห็นว่า แม้หลักคิดทฤษฎีบางอย่างและการจัดตั้งองค์กรภายในจะมีปัญหาในระดับที่เรียกได้ว่าแย่ แต่ในภาพใหญ่ มันคือประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ น่าจดจำ และสังคมต้องจดจำด้วย  

สถานะทางประวัติศาสตร์หลัง 6 ตุลา มีความคล้ายกับกบฏผู้มีบุญที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐส่วนกลางสมัย ร.5 หรือการต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมในประเทศที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจจักรวรรดินิยมของขบวนการชาตินิยม อย่างเวียดนามต่อสู้กับฝรั่งเศส ส่วนกรณี พคท. ต่อสู้กับอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นลัทธิอาณานิคมใหม่ที่พยายามเข้ามาครองประเทศไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่แค่ต่อต้านอเมริกาเท่านั้น แต่ฝ่ายซ้ายยังต่อต้านขุนศึกอย่างจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ต่อต้านศักดินาซึ่งร่วมมือกับอเมริกาในสมัยสงครามเย็น

กลุ่มอำนาจเหล่านี้ขัดขวางไม่ให้สังคมไทยพัฒนาไปสู่สังคมที่ดีกว่า ควบคุมความเปลี่ยนแปลงไว้ในมือของตัวเอง พยายามกดทับความเปลี่ยนแปลงไว้ เพื่อผลประโยชน์ของพวกตน เพราะฉะนั้น ตลอดสงครามเย็นจนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 2520-2530 ซึ่งเป็นช่วงที่ขบวนการล่มสลาย ขบวนการปฏิวัติถือเป็นขบวนการประชาชนที่แสดงบทบาทโดดเด่นและกล้าหาญอย่างมากในแง่ของความคิดและไอเดียในการต่อกรกับอำนาจรัฐ

ในช่วงเวลาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490 ต่อเนื่องมายังทศวรรษที่ 2520 นับว่าปรากฏการวิพากษ์สังคมที่โดดเด่นมากที่สุดในยุคหนึ่ง แม้แต่กระแสแบบคณะราษฎรยังเป็นเพียงกระแสเล็กๆ เมื่อเทียบกับขบวนการฝ่ายซ้ายแบบ พคท. ซึ่งรวมถึงขบวนการปัญญาชนฝ่ายซ้ายในเมืองก่อนเข้าป่าด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียนของนายผี อัศนี พลจันทร อุดม สีสุวรรณ เปลื้อง วรรณศรี จิตร ภูมิศักดิ์ และคนอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ในอักษรสาส์น รวมถึงสิ่งพิมพ์ของพรรคอย่าง มหาชน และ ปิตุภมิ รวมทั้งนักศึกษาหลัง 14 ตุลาด้วยต่างพยายามจะบอกว่า ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรีกำลังพยายามครอบงำประเทศคุณอยู่ และพยายามชูธงต่อต้านอเมริกา อาจจะเรียกว่าเป็นความตาสว่างในยุคนั้นก็ได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมอยากจะย้ำว่าเวลาเรากลับไปย้อนมองขบวนการเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์ เราอาจจะเห็นความดีงามหรือความผิดพลาดของขบวนการเยอะแยะไปหมด แต่ผมคิดว่าเราต้องมองขบวนการภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์ของมัน แล้วชื่นชม ตำหนิ วิพากษ์ภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์อันเป็นเงื่อนไขแท้จริงที่พวกเขาเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ ตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรภายใต้เงื่อนไขนั้นๆ แทนการเอาเงื่อนไขของเราในปัจจุบันไปตัดสินพวกเขา

เมื่อมองย้อนประวัติศาสตร์ช่วงหลัง 6 ตุลา แก่นของยุคสมัยดังกล่าวบอกอะไรกับเราเกี่ยวกับการเมืองไทยบ้าง

อย่างแรกเลยคือมันสะท้อนความอำมหิตของรัฐไทยและฝ่ายขวาที่พร้อมจะจัดการกับผู้ต่อต้านและเห็นต่างด้วยความรุนแรงเสมอ ไม่ว่าจะในยุคใดสมัยใดก็ตาม ที่จริงพอเริ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน ไม่ว่าจะแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือแบบราดิกัล (radical) ที่รุนแรงถอนรากถอนโคน ในที่สุดรัฐก็จะตั้งองค์กรขึ้นมาจัดการ อย่างหลัง 14 ตุลา พอนักศึกษามีความคิดไปทางฝ่ายซ้ายมากขึ้น รัฐก็จะเริ่มตั้งองค์กรขึ้นมาปราบ ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐไทยเท่านั้นที่ทำ รัฐอื่นก็ทำเหมือนกัน อย่างในอังกฤษศตวรรษที่ 17 ตอนที่พวกชนชั้นแรงงานยุคแรกๆ ลุกฮือขึ้นมาต่อสู้ก็ถูกรัฐปราบ กรณีอินโดนีเซียที่พรรคคอมมิวนิสต์ชูธงปฏิวัติกันอย่างเปิดเผยในเมืองก็ปราบรุนแรงมาก มีหลายแสนคนที่ต้องเสียชีวิตจากการปราบ ตามปราบได้จากรายชื่อสมาชิกพรรคเสียด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้อาจเรียกว่าเป็นสภาวะหรือกฎทั่วไปแล้วก็ได้ เพราะมักเกิดเช่นนี้เสมอ  

อย่างที่สอง ผมมองว่าการเข้าป่าจับปืนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อต่อสู้กับรัฐและเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นปรากฏการณ์ร่วมกันในหลายๆ ประเทศ อย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยสงครามเย็น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาวก็มีคนเข้าป่า แต่ในไทยจะมีลักษณะเฉพาะคือ มีนักศึกษาเข้าป่าจำนวนมากหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ละที่อาจจะต่างกันออกไปบ้าง แต่ในภาพรวมทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองไทยอยู่ในกระแสปรากฏการณ์การเมืองโลกด้วย จะเรียกว่าเป็นสากลก็ได้  เพราะการกำเนิด การเติบโต การเคลื่อนไหวและการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์สัมพันธ์กับกระแสการเมืองโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายต่างๆ 

อย่างต่อมา ประวัติศาสตร์ช่วงเวลาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการต่อต้านของประชาชนคนธรรมดาจากเบื้องล่างมีบทบาทและอิทธิพลสำคัญในการปรับตัวเชิงโครงสร้างหรือนโยบายของรัฐไทย ไม่ใช่ว่าเกิดจากชนชั้นนำหรือการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางเศรษฐกิจเท่านั้น อย่างการออกนโยบาย 66/2523 ใช้แนวทางการเมืองนำการทหารหลังจากพ้นระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จในสมัยธานินทร์ กรัยวิเชียรไปสู่การเมืองที่เริ่มผ่อนปรนให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น คือผลของการที่รัฐเรียนรู้ว่าจะปราบ พคท. ได้อย่างไร เห็นได้จากเอกสารหลายฉบับของรัฐไทยว่ารัฐไทยพยายามเรียนรู้ว่า พคท. คืออะไร แรกๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจ เข้าใจถูกบ้าง ผิดบ้าง หลังๆ ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นจนในที่สุดรู้ว่าจะต้องปราบ พคท. อย่างไร ดังนั้น การต่อต้านก็สำคัญเหมือนกัน การกระทำเหล่านี้ไม่ได้เสียเปล่าเพราะมันมีผลต่อรัฐไทย ทำให้รัฐไทยต้องมีความยืดหยุ่นอยู่เหมือนกัน อย่างถ้ามองการประท้วงในช่วงนี้ ก็จะเห็นว่ารัฐก็เริ่มเก็บพระบรมฉายาลักษณ์และเหลือแต่กรอบไว้แล้วเหมือนกัน 

อีกประเด็นหนึ่ง ต้องไม่ลืมว่าตัวละครในเวทีการเมืองไทยไม่ได้มีเพียงชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง หรือนักศึกษาเท่านั้น หากแต่ยังมีประชาชนธรรมดาเข้ามาแสดงบทบาทในรูปของการเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติชาวนา ถ้าไปดูหนังสือบันทึก ก็จะเห็นว่ามีการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการปราบ ซึ่งหลายร้อยหลายพันชีวิตมีแต่ชาวนาหรือกรรมกรทั้งนั้น นักศึกษาก็มีมาก ในแง่หนึ่งก็สะท้อนว่า ประวัติศาสตร์ช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนผ่านไปอย่างไม่มีใครบาดเจ็บล้มตาย ผมเชื่อว่ามีสามัญชนคนธรรมดาเสียชีวิตหลายพันคน ที่ทางทางการเมืองของกรรมกรและชาวนาในร่วมต่อต้านอำนาจรัฐนั้นสำคัญมากๆ ละเลยไปในประวัติศาสตร์ช่วงนี้ไม่ได้เสียด้วยซ้ำ

ประเด็นสุดท้าย ความคิดแบบกษัตริย์นิยมหรือหากใช้คำของอาจารย์ธงชัยก็คือแนวคิดราชาชาตินิยม มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการเมืองไทยสมัยใหม่ ปฏิบัติการต่างๆ ของรัฐและพลเรือนฝ่ายขวาล้วนแล้วแต่มาจากอิทธิพลของอุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่เริ่มฟื้นขึ้นมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่อยๆ เข้มแข็งมั่นคงขึ้นอย่างมากในช่วงจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเข้มแข็งจนสู่จุดสูงสุดในช่วงหลัง 14 ตุลา ซึ่งสถาบันกษัตริย์มีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พร้อมๆ กับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของนักศึกษา หลังจากที่พระราชอำนาจถูกจำกัดหลังการปฏิวัติ 2475 ซึ่งจะเห็นว่าแนวคิดกษัตริย์นิยมทำงานในประวัติศาสตร์ช่วงเวลาหลัง 6 ตุลาเช่นกัน

อะไรคือมรดกที่ขบวนการฝ่ายซ้ายไทยยุคเดือนตุลาและ พคท. ทิ้งไว้ให้การเมืองและสังคมไทย

อย่างแรก ผมคิดว่าข้อบกพร่องต่างๆ ของ พคท.จากความไม่เป็นอิสระจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน เดินตามรอยพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการใช้ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์ มีลำดับชั้น ห้ามสัมพันธ์กันเองในหมู่ผู้ปฏิบัติงานโดยไม่ผ่านจัดตั้งหรือผู้ปฏิบัติงานที่มีตำแหน่งสูงกว่า หรือพูดตรงๆ ก็คือความเป็นเผด็จการที่เกิดขึ้นใน พคท. ทำให้กระบวนการทางการเมืองประชาธิปไตยในยุคหลัง พยายามเรียนรู้และหลีกเลี่ยงที่จะพัฒนาโครงสร้างรวมศูนย์ เกิดการจัดตั้งองค์กรแบบแกนนอนขึ้น มีฝ่ายซ้ายที่เป็นชาวนาจำนวนหนึ่งกลับออกมาตั้งสหพันธ์องค์กรชาวนาชาวไร่ อย่างเช่นสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกยอ.) ซึ่งนคร ศรีวิพัฒน์ เลขาธิการสมัชชาก็เป็นฝ่ายซ้ายเก่า หลายองค์กรที่เกิดจากความร่วมมือของอดีตสหายที่จัดตั้งขึ้นจากการอาศัยประสบการณ์จากในป่ามาใช้ในการจัดตั้ง และทำให้กระบวนทางการเมืองภาคประชาชนค่อยๆ เติบโตขึ้น แต่ในระยะหลัง สมัชชาคนจนก็เริ่มไม่ยอมรับแนวทางการจัดตั้งองค์กรที่ยังไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย

ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าไม่มากก็น้อย ขบวนการประชาชนในยุคหลังก็จะคิดเรื่องความเป็นประชาธิปไตยในการจัดองค์กร เพราะฉะนั้น คำว่า ‘จัดตั้ง’ เริ่มกลายเป็นคำที่ภาคประชาชนปฏิเสธ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวยุคนี้ยิ่งไม่เอาการจัดตั้งเลย เคลื่อนไหวแกนนอนลูกเดียว

มรดกอีกอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากจากประวัติศาสตร์ยุคดังกล่าวคือเหล่าอดีตสหายจำนวนมากที่เปลี่ยนสถานะกลายมาเป็นตัวละครสำคัญทางการเมือง อดีตสหายเหล่านี้ตีความประสบการณ์ของตนเองและนำประสบการณ์จาก 14 ตุลาหรือ 6 ตุลา และจากในป่าเข้ามาทำงานการเมืองในปัจจุบัน และคนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยมากในช่วง 10-20 กว่าปีที่ผ่านมา อดีตสหายจำนวนมากเปลี่ยนสถานะจากคนที่ยืนอยู่ชายขอบมาสู่ผู้ที่ยืนอยู่ใจกลางของสังคมและการเมืองไทย มีสถานะระดับนำแล้ว หลายคนตอนนี้เป็นนักการเมือง ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นรัฐมนตรี หมอชื่อดัง นักหนังสือพิมพ์ นักวารสาร เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นนักวิชาการมีชื่อ อย่างเสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) เกษียร (เตชะพีระ) สุธาชัย (ยิ้มประเสริฐ) หรือชูศักดิ์ (ภัทรกุลวณิชย์) ก็เคยเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อน

หากมองลงไปในภูมิทัศน์การเมืองไทยในรอบ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งคนเสื้อเหลืองเสื้อแดงระดับแกนนำก็มีทั้งฝ่ายซ้ายอดีตสหายทั้งสองฝ่าย พรรคการเมืองต่างๆ ก็มีอดีตสหายเป็นแกนนำ อย่างพรรคเพื่อไทยก็อดีตสหายทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหล่าอดีตสหายคือมรดกตกค้างจากสมัยหลัง 6 ตุลาที่จับต้องได้มากที่สุด  

อีกมรดกหนึ่งที่สำคัญคือ จารีตทางความคิดแบบราดิกัลในการต่อต้านศักดินาและทุนนิยม เรายังเห็นศัพท์แสงทางการเมืองบางอย่าง หรือในสิ่งพิมพ์ต่างๆ จากยุคนั้นยังหวนกลับมาในการเมืองปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขบวนการคนเสื้อแดงบางส่วนที่กลับไปหยิบเอาวิธีการ วิธีคิด ศัพท์แสง หรือการตั้งชื่อสหายต่างๆ มาใช้ ในยุคนี้หนังสือโฉมหน้าศักดินาไทยก็มีการนำกลับมาตีพิมพ์ใหม่ หรือการใช้คำว่า ‘ศักดินาจงพินาศ’ ในม็อบ เอาเข้าจริงก็เป็นมรดกจากยุค พคท. เหมือนกันนะ คำว่า ‘ศักดินา’ เป็นคำศัพท์แบบซ้าย พคท. เลย แต่ถ้าศัพท์แบบคณะราษฎรต้องเรียก ‘เจ้า’ 

สุดท้ายที่สำคัญมากในการต่อสู้ทางการเมืองคือ เราต้องมองสายธารการต่อสู้ว่าเป็นความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ อาจจะนับตั้งแต่ 2475 เรื่อยมาก็ได้ จากยุคหนึ่งสู่ยุคหนึ่ง จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งมักจะมีมรดกหรือคุณูปการทิ้งไว้เสมอ อย่างการเขย่าให้รัฐเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์และโครงสร้างในอดีต ก็คือการเปิดพื้นที่ให้การต่อสู้ทางการเมืองเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้ในปัจจุบัน ถ้าไม่มี พคท. ก็จะไม่มีระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบในยุคเปรมที่รัฐต้องยอมผ่อนปรนทางการเมืองแน่ๆ ที่ให้ทหารหลีกทางให้กับระบอบเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แน่นอนว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงอยู่บนความต่อเนื่องจากการต่อสู้ของคนรุ่นก่อนหน้านั้น การต่อสู้ของคนเสื้อแดงก็ส่งคุณูปการต่อมายังคนรุ่นใหม่ที่กำลังต่อสู้อยู่ตอนนี้ และผมเชื่อว่าการต่อสู้ของเยาวชนคนหนุ่มสาวตอนนี้จะส่งมรดกต่อไปยังคนรุ่นหลังๆ เช่นกัน 

ชวนมองกลับมาในการเมืองปัจจุบัน ในฐานะที่ทั้งขบวนการนักศึกษาเดือนตุลา-พคท. และขบวนการคนรุ่นใหม่คือฝ่ายที่ต่อกรกับอำนาจรัฐ คุณเห็นร่องรอยความต่อเนื่องหรือความแตกหักอะไรบ้างระหว่างทั้งสองขบวนการ

หากมองในแง่ความคิดทางการเมือง ขบวนการนักศึกษาสองรุ่นนี้มีความคิดทางการเมืองที่อาจจะต่างกันไปเลย สมัยหลัง 14 ตุลา แนวคิดแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์แบบ พคท. ค่อยๆ มีอิทธิพล คือต้องการต่อต้านหรือโค่นขุนศึก สถาบันศักดินา และจักรวรรดินิยมลงจากจุดยืนทางทฤษฎีแบบสังคมนิยม และบรรยากาศการเมืองโลกที่ขบวนการคอมมิวนิสต์กำลังเติบโต นักศึกษาก็ได้รับอิทธิพลและแรงกระเพื่อมทางทฤษฎีมากกว่าความเป็นจริงทางสังคมด้วยซ้ำไป แต่ส่วนตัวผมมองว่าการต่อต้านรัฐของขบวนการคนรุ่นใหม่ตอนนี้เริ่มต้นจากความเป็นจริงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะต่อยอดไปสู่ทฤษฎี และยังมีจุดต่างอีกตรงที่ว่าขบวนการในปัจจุบันเน้นไปที่การต้านระบอบและสถาบันทางการเมือง มากกว่าที่จะรวมการต่อต้านระบอบเศรษฐกิจเข้าไปด้วย อย่างน้อยก็ไม่ค่อยเห็นในกระแสหลักของขบวนการ

ในอีกมุมหนึ่งก็มีความต่อเนื่องอยู่เหมือนกันคือการปลุกไฟของการต่อต้านการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐ  ซึ่งจริงๆ เริ่มมาตั้งแต่ขบวนการคนเสื้อแดงแล้ว หลังจากที่การต่อต้านและการวิพากษ์ซบเซามาเรื่อยๆ หลังป่าแตก จนกระทั่งวันหนึ่งพอขบวนการคนเสื้อแดงเริ่มเติบโต กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ก็ถูกจุดไฟขึ้นอีกครั้ง แล้วเยาวชนนักศึกษาก็รับไม้ต่อมาจากคนเสื้อแดง ประกอบกับสภาพจริงทางการเมืองที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากจุดยืนและความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยโดยตรง เพราะสภาพการเมืองแสดงออกมาอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าระบอบที่ดำรงอยู่มีปัญหาอย่างไร และทางออกก็คือการเปลี่ยนสังคมให้เป็นประชาธิปไตย

ส่วนในแง่การเคลื่อนไหว ผมคิดว่าขบวนการคนรุ่นใหม่ต่างจากขบวนการเคลื่อนไหวยุคก่อนที่ไม่มีองค์กรอยู่เบื้องหลัง สมัยก่อนยังมีองค์กรฝ่ายซ้ายนำ หรือที่ไม่ซ้ายก็มีองค์กรนำ มีลักษณะที่มีศูนย์กลางแล้วมีเครือข่ายล้อมรอบ แต่ปัจจุบันไม่มีเบื้องหลัง ทุกคนมีอิสระ แต่ละองค์กรมีชีวิตของตัวเองในการต่อสู้ แล้วไม่มีใครกล้าแสดงบทบาทนำด้วย แต่ความเป็นอิสระของขบวนการจะนำไปสู่อะไรก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง 

ในฐานะผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ขบวนการฝ่ายซ้ายไทย เห็นแง่มุมอะไรที่น่าสนใจในขบวนการคนรุ่นใหม่บ้าง

ต้องขอออกตัวก่อนว่าผมตั้งข้อสังเกตต่อขบวนการคนรุ่นใหม่บนข้อจำกัด 

ที่น่าสนใจคือการเล่นการเมืองทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนศัพท์แสงที่แฝงความศักดิ์สิทธิ์ไว้ให้กลายเป็นการล้อเลียนและลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ลง ที่เห็นชัดล่าสุดเลยคือวลี ‘หญิงเองก็ลำบาก’ ถูกนำไปล้อต่อเยอะมาก แต่ในยุคนี้จะต่างออกไปหน่อยตรงที่ว่าพื้นที่การล้อเลียนไม่ได้อยู่ในสิ่งพิมพ์ แต่แสดงออกกันตามอินเทอร์เน็ตมากกว่า ซึ่งกระจัดกระจายมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน 

แต่ที่ส่วนตัวเห็นว่ามีประโยชน์มากคือการต่อต้านอำนาจเชิงตอบโต้อย่างที่ม็อบดินแดงกำลังเคลื่อนไหวกันอยู่ มันเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจและอัดอั้นต่อการเมืองของคนหนุ่มสาวทั่วไปที่ไม่ใช่ปัญญาชน ไม่ได้มีการศึกษาที่สูงมาก หรือต่อให้พวกเขามีเงิน อยู่กินใช้ชีวิตสุขสบายก็ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองแบบปัญญาชนหรือมีประสบการณ์ทางการเมืองในระบบ 

การต่อสู้แบบนี้ทำให้ผมนึกถึงการต่อสู้ของชาวนากับชนชั้นกรรมกรในอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 17 ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ลุกฮือเผายุ้งฉางเพื่อเรียกร้องให้พ่อค้าและชาวนารวยที่กักตุนไว้ในยุ้งฉางเพื่อรอขายแพงๆ ยอมปล่อยเอาข้าวมาขายในตลาดในราคาที่เป็นธรรมในยุคข้าวยากหมากแพง หรือแรงงานที่ตกงานไปไล่วิ่งทุบทำลายเครื่องจักรในโรงงานของนายทุนให้เสียหายตอนกลางคืน เพื่อประท้วงและต่อรองอำนาจว่าตนเองต้องตกงานเพราะเครื่องจักร ม็อบดินแดงก็เหมือนกัน พวกเขาไม่พอใจระบบการเมืองปัจจุบันที่นำโดยผู้นำไร้น้ำยา แล้วยังมาไล่ปราบเพื่อนของพวกเขารุนแรงอีกจนรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง จากที่อ่านที่อาจารย์อนุสรณ์ (อุณโณ) ไปสัมภาษณ์มวลชนม็อบดินแดงบางคน คนที่ไปเข้าร่วมม็อบก็บอกว่า ต้องตอบโต้ให้เจ็บนิดๆ หน่อยๆ จะได้รู้ซะบ้างว่าเป็นอย่างไร 

เยาวชนม็อบดินแดงอาจจะดูเคลื่อนไหวกันระเกะระกะ หรือไร้เหตุผลก็จริง แต่สุดท้ายแล้วมันคือการสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐรูปแบบหนึ่ง ใช้การกระแทกกระทั้นให้รัฐต้องปรับตัว แน่นอนว่ามวลชนดินแดงเจ็บตัวไม่น้อย แต่ก็ดีกว่านั่งอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้การเมืองที่ย่ำแย่ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ต่อรองกับรัฐ อย่างกรณีชนชั้นแรงงานอังกฤษในทศวรรษที่ 17 ก็เช่นกัน อี.พี. ทอมป์สัน (E.P. Thompson) นักประวัติศาสตร์สายมาร์กซิสต์ก็อธิบายไว้เหมือนกันว่าการเคลื่อนไหวแบบตอบโต้เช่นนี้ สุดท้ายก็ทำให้เจ้าที่ดินต้องลงมาประนีประนอมกับชนชั้นแรงงาน ออกกฎหมายกำหนดเพดานราคาผลผลิต หรือห้ามกักตุนผลผลิตอะไรก็ว่ากันไป

หากมองสารธารประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าฝ่ายซ้ายจะเป็น ‘ศัตรูตลอดกาล’ ขอรัฐไทย เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น

ฝ่ายซ้ายที่ว่ามาจริงๆ นิยามได้หลากหลายมาก อาจจะหมายถึงคนที่สมาทานมาร์กซ์หรือซ้ายใหม่ก็ได้ แต่หากมองกว้างๆ คงมีแต่ฝ่ายซ้ายเท่านั้นที่มองว่าสังคมไทยคนไม่เท่ากัน มีการแบ่งชนชั้น และมีการเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น มองว่ารัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นที่เอารัดเอาเปรียบ ตอนนี้แม้กระทั่งนักวิชาการที่ไม่ได้เป็นซ้ายมากก็เริ่มผลิตคำอธิบายสังคมว่ามีชนชั้นผ่านระบอบอุปถัมภ์แล้ว เช่น ขุนนางอุปถัมภ์ไพร่สมัยก่อน ไพร่ก็ต้องพึ่งพาขุนนาง ขุนนางก็ต้องพึ่งไพร่ แต่ว่าซ้ายกว่านี้ไม่ยอมแค่เท่านี้นะ เพราะการเอารัดเอาเปรียบกดขี่ขูดรีดก็ยังอยู่ คุณต้องโค่นโครงสร้างชนชั้นลงมาสิ

หรือหากมองแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็มีกลุ่มที่อธิบายว่าการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ช่วยไม่ให้ความขัดแย้งในสังคมจบที่การนองเลือดอย่างประเวศ วะสี แต่ฝ่ายซ้ายอธิบายต่างไปจากนั้น คือต้องทำลายสภาพความต่างทางชนชั้นที่นำไปสู่การกดขี่ ส่วนจะทำอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คิดว่ามีแต่ฝ่ายซ้ายนี่แหละที่คิดอย่างนี้ 

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021