fbpx

“ผู้ใหญ่ต้องรู้ว่าเราไม่สามารถเป็นเจ้าของทุกอย่างในประเทศนี้ได้” จากเรื่องของหยกถึงเด็กทุกคน กับ ทิชา ณ นคร

จากปรากฏการณ์ของ ‘หยก ธนลภย์’ ที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคม ทั้งประเด็นเรื่องการต่อต้านกฎโดยการไม่ใส่ชุดนักเรียนและย้อมสีผมไปโรงเรียน ไปจนถึงเรื่องที่เด็กคนหนึ่งถูกผลักให้ออกจากสถานศึกษาด้วยเหตุผลที่หลายคนตั้งคำถาม

แน่นอนว่าเรื่องของหยกเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เมื่อรอยแยกระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในสังคมไทยถ่างกว้างขึ้นทุกวัน ยิ่งเมื่อผู้ใหญ่จำนวนมากมีความเห็นต่อเรื่องของหยกไปในทิศทางเดียวกันว่าก้าวร้าว ไม่รู้จักกาลเทศะ และโยนชุดคำให้คนเห็นต่างว่า “รับไปเลี้ยงเองเลยไหม” ขณะเดียวกันก็มีคนส่วนหนึ่งตั้งคำถามว่าสังคมแบบไหนที่ผู้ใหญ่ผลักไสเด็กเช่นนี้ และไม่ยอมรับฟังสิ่งที่เด็กพูดเพียงเพราะเขาไม่ทำตามขนบที่คุ้นชิน

ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของความเห็น 101 พูดคุยกับ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ผู้ทำงานกับเด็กและเยาวชนมาอย่างยาวนาน ว่าด้วยการมองปรากฏการณ์ของหยก เราจะทำความเข้าใจอย่างไร หลักการแบบไหนที่เราควรยึดถือ ผู้ใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้สามารถคิดและทำแบบไหนได้บ้าง และท่ามกลางรอยแยกแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เราจะเดินหน้าสู่สังคมที่ปลอดภัยและไม่สร้างบาดแผลให้เด็กในอนาคตอย่างไร

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ เราสามารถมองปรากฏการณ์หยกด้วยมุมมองแบบไหนได้บ้าง

เวลาเรามองหยก ณ สถานการณ์ที่เขาแสดงออกในนาทีนี้ มันไม่ยุติธรรมที่จะมองในเชิงปรากฏการณ์โดดๆ โดยไม่เชื่อมโยงกับที่มาและที่ไป ดังนั้นถ้าให้ยุติธรรมเราต้องถอยกลับไปมองว่าเกิดอะไรขึ้นกับหยก เด็กคนหนึ่งอายุ 14 ปี ถูกจับในข้อหา 112 ซึ่งเป็นข้อหาที่ทุกคนก็กลัว แต่เนื่องจากหยกเตรียมตัวมาอยู่แล้วก่อนเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมือง เขารู้อยู่แล้วว่าเรื่องนี้อ่อนไหวขนาดไหน ทำให้เขาอาจจะไม่ได้ช็อกเหมือนคนทั่วๆ ไปเมื่อถูกตั้งข้อหา 112 และถึงแม้ว่าหยกจะไม่ได้กังวลใจกับการถูกตั้งข้อหา 112 แต่ทักษะในการรับมือของเขาก็ยังไม่ได้เก่งกาจเหมือนคนอายุเยอะ ต้องมีความรู้สึกบ้าง แต่คนที่รู้สึกและมีผลกระทบต่อหยกอย่างมากเลยก็คือแม่ของเขา 

แม่ของหยกไม่ได้มีความสุขเลยหลังจากหยกถูกตั้งข้อหา 112 แล้วยิ่งทำให้ทุกคนอยู่ในภาวะหวาดกลัวมากยิ่งขึ้น เมื่อหยกถูกจับ โดยตอนแรกตำรวจยังไม่ระบุสาเหตุการจับกุม (ต่อมาจึงมีการอ้างหมายจับในคดี 112) มีการค้นตัว จนถูกควบคุมตัวไปถึงศาล ซึ่งตามกระบวนการกฎหมายต้องมีหมายจับก่อนจับกุมตัว และเมื่อไปถึงศาลแล้ว ศาลต้องตรวจสอบการจับกุมของตำรวจ แต่กระบวนการเหล่านี้หายไปในคดีของหยก หยกก็มองว่าเหตุการณ์นี้ไม่ยุติธรรม ดังนั้นหยกเลยปฏิเสธอำนาจที่เข้ามาถึงตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของตำรวจที่จับเขา อำนาจของศาลที่ไม่ได้ตรวจสอบการจับกุมของตำรวจอย่างเป็นระบบ ศาลอาจจะทำในเชิงดูเอกสาร แล้วคิดว่าโอเคแล้ว แต่สำหรับหยกซึ่งเป็นผู้เสียหายในเหตุการณ์นี้รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม เขาจึงหมุนตัวนั่งหันหลังให้ศาล ซึ่งเป็นการโต้ตอบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในกระบวนการยุติธรรม

พอเหตุการณ์นี้ปรากฏในพื้นที่สาธารณะว่าหยกหันหลังให้ศาล เป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ว่าฉันปฏิเสธอำนาจนี้นะ เพราะคุณไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับฉัน เหตุการณ์ก็เด้งไปสู่คนที่แจ้งจับหยกคือคุณอานนท์ กลิ่นแก้ว (แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน – ศปปส.) ที่พูดถึงหยกในเฟซบุ๊กไลฟ์ประมาณว่า “ถ้ามึงไม่ยอมรับในกระบวนการของศาล กูจะฆ่ามึงไอ้เหี้ย มึงก็อย่าไปแจ้งความสิ” ซึ่งเข้าใจว่าหยกอาจจะไม่ได้หวั่นไหวกับเรื่องนี้ แต่หวยไปออกที่แม่ของหยก ซึ่งตรงนี้มีการสะสมมา พอถึงวันที่แม่จะต้องมาปรากฏตัว แม่ก็ไม่ได้มา แล้วทุกคนก็ไม่ได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่หยกได้รับผลกระทบจากคนที่แจ้งจับและคุกคามเขา แต่กระโดดมาตั้งคำถามว่าทำไมแม่ไม่รับผิดชอบ แม่เลี้ยงลูกมาอย่างไร

ในความปั่นป่วนอย่างนี้ เด็กคนนี้ก็วางท่าทีของเขาได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็เป็นเรื่องปกตินะ เพราะหลายเรื่องที่คนพูดกันก็ไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร ซึ่งถ้าเราเป็นเด็กอายุ 14-15 ปี เราอาจเกรี้ยวกราดได้มากกว่านั้นนะ สิ่งที่เราเห็นคือหยกก็เกรี้ยวกราดบ้าง ไม่เกรี้ยวกราดบ้าง แต่สิ่งที่เห็นชัดคือเป้าหมายของเขาไม่เปลี่ยน เขายังเดินตรงเรื่อยๆ ไปยังเป้าหมาย ไม่ได้รู้สึกกลัวหรืออยากถอยออกมา

เหตุการณ์ของหยกเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง ตอนที่หยกโดน 112 ข่าวก็ดังประมาณหนึ่ง แต่คนในสังคมก็ไม่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง 112 เท่าตอนปีนรั้วโรงเรียนหรือไม่ยอมใส่ชุดนักเรียน ความแตกต่างนี้สะท้อนอะไร

การแสดงออกของหยก ไม่ว่าจะการแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน การย้อมสีผม หรือการปีนรั้วโรงเรียน ทั้งหมดนั้นอยู่ในกลุ่มของการปฏิเสธอำนาจนิยม เพียงแต่คนในประเทศไทยไม่ค่อยอยากพูดเรื่อง 112 เราหลบที่จะพูด ใครพูดก็จะถูกด่าเยอะ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยร่วมของสิ่งที่เราเห็นในตัวหยกก็คือข้อหา 112 นี่แหละ เราตั้งข้อหาให้เด็กซึ่งอายุยังน้อย และปล่อยให้ใครก็ไม่รู้มาตั้งข้อหาได้ ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะย้อนไปสู่การทบทวนว่าถ้าเราจะต้องแก้ไข 112 มีอะไรบ้างที่จะทำให้ปัญหานี้ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งของผู้คนในสังคมและไม่กระทบต่อสถาบันฯ

การตั้งข้อหา 112 เป็นสารตั้งต้นอันหนึ่งของของการโต้ตอบทั้งหมด เพียงแต่คนละเว้นที่จะไม่พูดถึง 112 แล้วก็มาพูดประเด็นที่รู้สึกว่าพูดได้สะดวก เช่น การปีนประตูรั้วโรงเรียน ใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน หรือย้อมสีผม มองว่าเป็นการไม่รู้กาลเทศะ ก้าวร้าว ไม่รู้จักระเบียบวินัย รับกฎเกณฑ์ของสังคมไม่ได้ เอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นหลัก

แล้วคุณมองอย่างไรกับการที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์หยกแบบนี้ เช่น ไม่ยอมรับกฎ ก้าวร้าว ไม่รู้จักกาลเทศะ ฯลฯ

ถ้าเราดูปรากฏการณ์หยก มีอยู่สองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของเป้าหมาย ที่หยกออกมาเคลื่อนไหวในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ปฏิเสธอำนาจนิยม ซึ่งไม่ว่ามันจะอยู่ในชื่อของอะไรก็ตาม กับอีกส่วนหนึ่งคือเรื่องวิธีการเคลื่อนไหวต่อต้าน ซึ่งบางคนก็อาจไม่ติดใจกับเป้าหมายของหยก ยอมรับได้ เพราะหลายคนก็เคยเป็นนักต่อสู้มาก่อน ฉันก็เคยหนีโรงเรียน เคยปฏิเสธกฎเกณฑ์ แต่ก็มักจะพูดว่าโอเคกับเป้าหมายนะ แต่ไม่ชอบที่หยกทำแบบนี้ ดังนั้นแปลว่าคนส่วนหนึ่งยอมรับเป้าหมายแต่ไม่ยอมรับวิธีการของหยก แต่คนจำนวนมากไม่ยอมรับทั้งเป้าหมายและวิธีการ

แต่ถ้าเรามองกลับไปที่หยก จะเห็นว่าเขาไม่ใช่เด็กที่โอนอ่อนผ่อนตามกระแสใดๆ เขาสามารถออกมาพูดได้ว่าพรรคก้าวไกลขยับช้า คำพูดนี้ยิ่งสะท้อนว่าที่เราคิดว่าหยกถูกล้างสมอง คิดว่าหยกทำตามใครสักกลุ่มหนึ่ง ก็น่าจะไม่สมเหตุสมผลนะ เพราะเขาก็ตั้งคำถามกับทุกคนบนความเชื่อของตัวเอง แน่นอน คำว่าตัวเองของเขาก็อาจมีกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่กับเขา ซึ่งก็ไม่ผิด มนุษย์ทุกคนก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ เรามีสมาคม มีกลุ่มของเรา

สังคมไทยในภาพรวมดูเป็นสังคมของคนใจดี ผู้ใหญ่รักเด็ก แต่ทำไมพอเกิดเรื่องหยกขึ้นมา ผู้ใหญ่เกือบทั้งประเทศกลับกลายเป็นไม่ใจดี ไม่ให้ความเมตตากับกับเด็กคนนี้เสียอย่างนั้น

สังคมไทยย้อนแย้งกับเรื่องพวกนี้ ถ้าเราไปดูหนังเรื่อง Joker ชีวิตของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมากลายเป็นฆาตกร เวลาเราเห็นโจ๊กเกอร์ในหนัง เรากลับมาเขียนวิพากษ์วิจารณ์กันบนความเข้าอกเข้าใจว่าบาดแผลของโจ๊กเกอร์คืออะไร ทำไมในที่สุดโจ๊กเกอร์ต้องลุกขึ้นมาขบถต่อสังคม เพราะเขาเป็นผู้ถูกกระทำ เขาเลยเปลี่ยนตัวเองจากเหยื่อเป็นผู้กระทำ เราเข้าใจหมดเลยนะเวลาเห็นไกลๆ เห็นในหนัง แต่เมื่อไหร่ที่เราต้องเผชิญหน้าหรือเราเป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างใกล้ชิดกับคนคนนั้น เราก็จะเปลี่ยนทันทีเลย เหมือนเราก็ไม่ได้ตรงไปตรงมากับวิธีคิดของเรา พอรู้สึกว่าเราสูญเสียบางอย่างหรือถูกกระทบ เราก็มักปฏิเสธที่จะยอมรับมัน ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้ต้องฝึกฝนฝึกฝืนวิธีคิดของตัวเองเหมือนกันนะ เพราะเรื่องของหยกเล่าชัดเลยว่าผู้ใหญ่ในประเทศนี้ไม่เสถียรทางความคิด 

เวลาเราไปอ่านความเห็นในโซเชียลฯ จะเห็นว่าหลายคนก็เคยเป็นนักเคลื่อนไหว เป็นนักต่อสู้ เคยขบถ แต่พอเห็นหยก เรากลับบอกว่าเด็กไม่รู้จักกาลเทศะ อายุยังน้อย ควรปรับวิธีการ เหมือนเราลืมไปเลยว่าวันคืนที่คนคนหนึ่งเป็นเด็ก และวันคืนที่คนคนหนึ่งกำลังต่อสู้อะไรบางอย่าง มันก็มีวิถีการต่อสู้ของตัวเอง

ผู้ใหญ่บางคนก็อาจบอกว่าคุณเป็นผู้ใหญ่ทำไมไปให้ท้ายเด็ก เห็นชัดๆ ว่าเด็กทำผิดกฎ ทำไมไม่เตือน จะมาบอกว่าเป็นวิถีการต่อสู้ได้อย่างไร

เวลาเราใช้คำว่าเป็นความผิดที่เห็นๆ นี่เป็นมายาคตินะ ไม่ใช่คำพิพากษา แล้วมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ชัดเจนว่าความผิดที่เห็นๆ คืออะไร 

ถ้าเราเข้าไปใกล้ในเหตุการณ์นั้นอีกนิด เราจะรู้ว่าเขาไม่เปิดประตูให้หยกเข้านะ เพราะเขาตีความว่าหยกไม่ใช่นักเรียนของโรงเรียนนี้ อาจารย์ใหญ่ก็เลยสั่งให้ รปภ. ปิดประตูไม่ให้หยกเข้า แต่หยกคิดว่าตัวเองยังมีสิทธิที่จะเรียน เพราะจ่ายค่าเทอมแล้ว สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็บอกว่าสิทธิในการเรียนหนังสือยังเป็นของหยกอยู่ แต่ทางโรงเรียนคิดว่าหยกไม่มีสิทธิ เพราะแม่ไม่ได้มามอบตัวให้ ดังนั้นนี่คือการใช้กฎเกณฑ์และใช้คำอธิบายคนละแบบ ถ้าเราดูอย่างห่างๆ เราก็จะเห็นแค่ภาพปีนประตูโรงเรียนท่าเดียว แล้วเราก็คิดว่ามันผิด แต่ตัวหยกเองไม่ได้รู้สึกว่าเขาผิดนะ เพราะเขามีสิทธิเรียนตามที่เขาจ่ายค่าเทอมและ กสม. ยืนยัน

เรื่องชุดนักเรียน หยกเองก็เปิดแล้วว่าถ้าเป็นกติกาที่เด็กๆ ทุกคนร่วมคิดร่วมคุย ร่วมตัดสินใจ หรือใช้คำกะทัดรัดว่า ‘อำนาจร่วม’ หยกก็รับได้ แล้วก็จะกลับไปแต่งชุดนักเรียน หยกติดใจที่มาและที่ไปของกติกา แต่ไม่ได้ติดใจตัวกติกาแท้ๆ ซึ่งเรื่องนี้ผู้ใหญ่ต้องไม่ฉ้อฉล ผู้ใหญ่ต้องเอาข้อมูลทั้งหมดมาให้เด็กช่วยกันคิด ไม่ใช่ถือข้อมูลข้างเดียวมาแล้วให้เด็กคิด อันนั้นคือการชี้นำ ผู้ใหญ่ต้องทำให้เห็นความหลากหลายในโลกใบนี้ เช่น ประเทศนี้เขาไม่แต่งชุดนักเรียน เขาเจออะไร ประเทศนี้เขาแต่งชุดนักเรียน เขาเจออะไร เอาข้อมูลที่หลากหลายมาแล้วให้เด็กตัดสินใจ

เราต้องแสดงถึงความจริงใจที่จะให้เด็กๆ เรียนรู้ก่อนตัดสินใจสร้างกติกาที่เป็นบรรทัดฐาน แต่ผู้ใหญ่มักลักไก่ เหมือนพวกที่ทำประชาพิจารณ์ ลักไก่ให้ข้อมูลด้านเดียว แล้วให้คนตัดสินใจ สุดท้ายมาบอกว่าประชาพิจารณ์นี้มาจากการตัดสินใจร่วมกันของทุกคน แต่คุณให้ข้อมูลด้านเดียว มักมีการแอบฉ้อฉลแบบนี้

เรื่องของหยกมีมายาคติและมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเยอะมากภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์ที่กว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งตรงนี้ต้องการสติของสังคมอย่างมาก ไม่ใช่เชื่อแค่ข่าวลือ ไม่ใช่อ่านแค่บรรทัดเดียวแล้วตัดสินเลย

ในอีกแง่หนึ่ง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแค่ผู้ใหญ่ที่ออกมาต่อต้านหยก แต่แม้กระทั่งคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเดียวกันกับหยกก็ยังมีบางส่วนออกมาต่อต้าน คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

เบื้องต้นคือมองให้เป็นเรื่องปกติ เพราะทุกคนคิดต่างได้ และการยอมรับความคิดต่างคือหน้าที่ของมนุษย์ในสังคมที่มีอารยะ

แต่ถ้าถามว่าทำอย่างไรให้เกิดการยอมรับความคิดต่าง อยากเสนอให้พื้นที่เล็กๆ เช่น บ้าน ห้องเรียน นำประเด็นเหล่านี้มาถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน เป้าหมายไม่ใช่ให้ทุกคนคิดเหมือนกัน แต่เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ วัฒนธรรมของการถกเถียงแลกเปลี่ยนที่จะยกระดับเป็นทุนของคน ทุนของสังคมในระยะยาว ซึ่งสำคัญมาก เพราะจุดอ่อนของสังคมไทยคือความคิดตายตัว ไม่ดำก็ขาว แต่จริงๆ แล้วความคิดแบบ fixed mindset หรือดำขาวตายตัวสามารถพัฒนาหรือเคลื่อนที่สู่ growth mindset ได้ ไม่ต้องกินยาผ่าตัด แต่ถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างมีเนื้อหา เป็นระบบ มีเป้าหมาย สม่ำเสมอ

แต่เหนือไปกว่านั้น ไม่ว่าคนอายุรุ่นเดียวกันกับหยกจะคิดเหมือนหรือต่างกับหยกอย่างไร ผู้ใหญ่ที่อยู่ในวงล้อมของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณครูที่โรงเรียนนั้น ครูโรงเรียนอื่น หรือคนเป็นพ่อแม่ ต้องทำให้เห็นว่านี่เป็นเรื่องที่ดีและเป็นเรื่องปกติที่เราจะต้องเคารพความแตกต่าง ไม่ใช่พอมีคนเห็นต่างก็เอามาใช้ทำเหนือกว่า พูดว่า “เห็นไหม มีคนไม่เห็นด้วย” เพราะเมื่อไหร่ที่เราเป็นผู้ใหญ่แบบนั้น เรากำลังสร้างรอยร้าวให้เด็กๆ ต้องมีผู้ใหญ่ที่ทำให้ความแตกต่างไม่กลายเป็นความแตกแยก ไม่กลายเป็นศัตรูกัน แต่เห็นคุณค่าของความแตกต่างในอีกมิติหนึ่ง ที่ทำให้ความแตกต่างงอกงามเติบโต แล้วเดินทางไปเรื่อยๆ ได้ 

ถ้ามองในภาพใหญ่ เราจะสร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคมได้อย่างไร เพราะตอนนี้เกิดรอยแยกระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ในสังคมเยอะพอสมควร

ปรากฏการณ์ของหยกกำลังจะบอกสังคมว่าเด็กรุ่นหลังๆ หรือเด็กเจนแซด เขามีการต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับระบบอำนาจนิยมจริงๆ นะ แม้ว่าปรากฏการณ์นี้จะแสดงออกชัดผ่านหยกเพียงหนึ่งคนในนาทีนี้ แต่ไม่ได้แปลว่ามีหยกเพียงคนเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อมันเป็นปรากฏการณ์ที่มีมวลซ่อนอยู่ข้างล่างเยอะแยะไปหมด ถ้าสังคมไทยอ่อนไหว สังคมไทยต้องการเดินทางต่ออย่างมีสติ อย่างที่ไม่ทิ้งร่องรอยแห่งปัญหาเอาไว้มากมาย สังคมไทยต้องมานั่งทบทวนโครงใหญ่ของประเทศก็คือระบบอำนาจนิยมของเรา ว่าอยู่ในจุดที่ลดลงได้ไหม หรือทำให้หายไปได้ไหม แล้วก็เพิ่มพื้นที่ของการใช้อำนาจร่วมระหว่างเรากับผู้มีส่วนได้เสีย

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน คนที่ทำงานในประเด็นสิทธิเด็ก เขามีเครื่องมือที่เรียกว่า ‘บันไดการมีส่วนร่วม’ ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ระหว่างเด็กกับชุมชน ระหว่างเด็กกับครู ตอนที่ประเทศไทยไปลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติออกแบบบันไดการมีส่วนร่วมทั้งหมด 8 ขั้น เขาบอกเลยว่าขั้นที่ 1-3 เป็นขั้นที่ไม่ได้คิดและไม่ได้ตัดสินใจ ต้องขั้นที่ 7-8 ถึงจะเป็นขั้นของการมีส่วนร่วม ซึ่งบันไดการมีส่วนร่วมเป็นปฏิบัติการที่นำไปสู่ความเป็นพลเมือง พอเรามีส่วนร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ความเป็นพลเมืองตื่นรู้ (active citizen) ก็จะทำงานภายใต้วัฒนธรรมของบ้านเมืองนั้น

แต่พอย้อนกลับมาในสังคมไทย ด้วยความที่เราอยู่ภายใต้ระบบอำนาจนิยม ผู้ใหญ่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาช้านาน ซึ่งเราก็คิดว่านี่คือความอยู่เย็นเป็นสุขของสังคมไทยแล้วใช่ไหมคะ เพราะเราชินกับมันแล้ว จนวันหนึ่งเด็กรุ่นหลังเกิดรู้สึกได้ว่าเขาไม่อยู่เย็นเป็นสุขภายใต้ระบบอำนาจนิยมนี้นะ เขาต้องการอำนาจร่วม นี่เป็นการปฏิวัติทางความคิดไปเลย ซึ่งแน่นอนว่าผู้ใหญ่ไม่เคยเตรียมตัวมาก่อนเลยว่าวันหนึ่งเด็กๆ จะมาขอใช้อำนาจร่วมกับเรา ที่คนชอบบอกว่ากฎเกณฑ์แค่นี้ยังรับไม่ได้ แล้วจะไปอยู่ในสังคมได้อย่างไร ถ้าเราฟังหยกดีๆ หยกไม่ได้ปฏิเสธกฎเกณฑ์ แต่หยกตั้งคำถามว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้มาจากไหน แล้วทบทวนได้ไหม

ยกตัวอย่างตอนที่หยกไปอยู่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี กิจกรรมหนึ่งที่เขาไม่ทำร่วมกับบ้านปรานีเลย คือสวดบทอาขยานก่อนกินข้าว ซึ่งเขารู้สึกว่าไม่มีผลอะไรต่อชีวิต หรือถ้าเป็นบ้านเด็กผู้ชาย เขาก็มีตบฉาก ซึ่งถ้าหยกมาอยู่บ้านกาญจนาฯ หยกก็อาจจะตั้งคำถาม แต่พอดีบ้านกาญจนาฯ เราก็เอาวิธีตบฉากออกไป 20 ปีแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นหยกก็ทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น กวาดบ้านกับเพื่อน ทำความสะอาดพื้นที่ในบ้านปรานี ซึ่งเป็นกิจกรรมกลุ่มที่ต้องทำในช่วงเวลาที่เขาออกแบบไว้ 

ดังนั้นไม่ได้แปลว่าหยกปฏิเสธทุกกฎเกณฑ์ในโรงเรียนหรือในที่ที่เขาไปอยู่ แต่เขาสงสัยที่ไปที่มาของกฎเกณฑ์ ซึ่งเวลาเด็กคนหนึ่งกำลังสะท้อนความเป็นพลเมืองตื่นรู้ ทำไมผู้ใหญ่ไม่ปลื้ม เรากลับมาฝึกความเป็น active citizen ผ่านการลงทุน อบรมอะไรก็ไม่รู้ แต่พอมีคนหนึ่งคนจะเป็น active citizen by heart ด้วยจิตวิญญาณของเขา เรากลับสงสัย เด็กไม่ถูกใจเรา เพราะเขาล้ำเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้อาจต้องกลับมาทบทวนทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็กอย่างเป็นระบบ ว่าสังคมไทยหลงทางตรงไหน

คุณเจอเด็กขบถมาเยอะ ซึ่งมีขบถหลายแบบ มีทั้งเด็กที่ขบถจนวันหนึ่งเขากลายเป็นอาชญากร ไปจนถึงเด็กที่ขบถด้วยการตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์ คุณมีวิธีมองเด็กที่ขบถแตกต่างกันอย่างไร

ระหว่างกระบวนการของเด็กที่ถูกกดดัน เขาถูกทำให้ไม่มีทางเลือก ไม่สามารถโต้ตอบ ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือความชอบ ระหว่างกระบวนการแบบนี้เด็กจะโต้ตอบไม่เหมือนกัน บางคนก็จะหยิบทุกการกระทำที่ตัวเองเคยถูกกระทำโต้ตอบกลับไป เช่น เคยถูกทำร้ายตบตี ก็จะเอาไปใช้ต่อกับคนอื่น ขึ้นอยู่กับทุนของเขา

การขบถของเด็กๆ มีอยู่ทุกคน แล้วถ้าเขาอยู่ในวงล้อมของผู้ใหญ่ที่เข้าอกเข้าใจ การขบถจะเปลี่ยนเป็นพลังได้ ยกตัวอย่างที่บ้านกาญจนาฯ เมื่อสองเดือนที่แล้วเรามีเด็กที่กลับบ้านตอนสิ้นเดือน พอเขากลับมามอบตัว เขามาด้วยทรงผมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในบ้านกาญจนาฯ คือไถสูงแล้วข้างหน้าดัดหยิก เป็นทรงที่วัยรุ่นกำลังฮิตอยู่ 

ยังดีที่เจ้าหน้าที่บ้านกาญจนาฯ ถูกฝึกฝนและฝึกฝืนเรื่องการจัดการกับเด็กๆ โดยไม่ละเมิดสิทธิ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เรื่องของเด็กคนนี้ก็ถูกนำเข้าที่ประชุมของเจ้าหน้าที่เพื่อคุยกันว่าเราจะบอกเด็กอย่างไรดี เพื่อให้รู้ว่าเราไม่เคยมีทรงผมนี้ในบ้านกาญจนาฯ ซึ่งเราก็ต้องถามกลับไปว่า คำว่า ‘ไม่เคยมี’ แปลว่า ‘ไม่ต้องมี’ ใช่ไหม หรือไม่เคยมีแต่ก็มีได้

ในที่สุดเราก็ถามกันว่าเราห่วงอะไร เจ้าหน้าที่ก็ตอบว่าแล้วถ้าไปศาลล่ะ เราก็บอกว่าเราข้ามเส้นนั้นมาแล้วใช่ไหมที่จะบอกศาลได้ว่าสิทธิในเนื้อตัวร่างกายเป็นสิทธิของเรา ซึ่งถึงแม้ไม่อธิบาย ศาลก็เข้าใจแล้วในช่วงหลัง แต่ถ้าเรายังกลัวอีกเพราะศาลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เราก็ต้องโยนคำถามทั้งหมดไปให้เด็ก

ในที่สุดเราก็ทำกระทู้กับเด็กว่าเราจะทำอย่างไรกับทรงผมที่อาจจะแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา ปรากฏว่าเด็กตอบว่าผมรับมือได้ครับ ป้า เจ้าหน้าที่ และบ้านหลังนี้จะไม่เดือดร้อน ซึ่งผมอาจจะแก้ปัญหาด้วยการที่ก่อนไปศาล ผมจะทำทรงผมให้เรียบร้อยพอที่ศาลจะรับได้ แต่ขอให้เชื่อว่ารับมือได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็จบตรงนี้ แต่ถ้าเราไปฝืนบอกว่า เพราะอดีตเราไม่เคยทำ เราจึงทำต่อไปไม่ได้ สุดท้ายเราก็ปะทะกัน คำถามคือแล้วเราจะไปเสียเวลาปะทะทำไม โลกนี้น่าอยู่กว่านั้นเยอะถ้าเรายอมรับซึ่งกันและกัน แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เราไม่ได้สูญเสียอะไรเลย ซึ่งเรื่องนี้ก็ผ่านไปได้เรียบร้อย ตอนนี้เขาก็ยังไว้ผมทรงนี้อยู่

ถ้าเรามองในมุมของผู้สูงอายุที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม เขาอาจกลัวว่าวันเวลาไม่ได้เป็นของเขาแล้ว ขณะเดียวกันเขาก็กลัวว่าในอนาคตเด็กประเทศไทยจะเติบโตไปเป็นคนก้าวร้าว ทำผิดกฎกันหมด แล้วยุคสมัยจะก้าวไปอย่างไร ถ้าคุณมีโอกาสคุยกับคนที่มีแนวคิดแบบนี้ คุณจะบอกอะไร

เราเจอพ่อแม่ของเด็กที่บ้านกาญจนาฯ พูดแบบนี้เสมอ เวลาลูกของเขาไปก่ออาชญากรรมที่รุนแรงมา เขาก็มานั่งร้องไห้ต่อหน้าเรา บอกว่าตอนเป็นเด็กผมไม่เคยทำแบบนี้เลย ผมก็ทำมาหากิน แล้วทำไมเด็กรุ่นนี้เป็นอย่างนี้ เราก็ถามเขาว่า “ตอนนี้พ่ออายุเท่าไหร่” พ่อบอกว่าอายุ 45 ปี เราก็ถามต่อว่า “แล้วพ่อเคยอายุ 15 ไหม” พ่อก็ตอบว่าก็ต้องเคยสิป้า เราถามต่อไปอีก “แล้วตอนที่พ่ออายุ 15 มันเหมือนตอน 45 ไหม” พ่อเขาบอกว่าไม่เหมือน เราก็เลยบอกว่า “นั่นน่ะสิ มันไม่เหมือนกัน เพราะถึงที่สุด วันเวลาจะพาเราออกเดินทางไง”

ที่พูดไปเมื่อกี้คือประเด็นแรกนะ แต่มีอีกประเด็นที่สอง คือพอเราถามพ่อแม่หลายคนว่าตอนอายุ 15 ปี ดูหนังกันที่ไหน บางคนก็บอกว่าหนังกลางแปลง บางคนก็บอกว่าไม่ได้ดูหนัง แต่ตอนนี้ลูกๆ ของพวกเขา ตอนอายุ 15 เขาดูหนังจากโทรศัพท์มือถือ

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ไม่ใช่เด็กๆ เป็นคนไปเปลี่ยนนะ แต่มีคนที่โตกว่าเขาสร้างการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แล้วเด็กๆ เป็นผู้บริโภคการเปลี่ยนแปลงนี้ ดังนั้นเราจะมามองหาความเป็นจำเลยในตัวเด็กๆ ไม่ได้ เด็กๆ ไม่ได้เป็นผู้กระทำสิ่งเหล่านี้ ถ้าพ่ออยากหาจำเลยจริงๆ ว่าทำไมพาลูกพ่อหลงทางมาไกลขนาดนี้ ก็ต้องถามคนรุ่นพ่อนั่นแหละ หรือถามคนรุ่นราวคราวเดียวกับพวกเราทั้งหมด แต่แน่นอนว่าเราไม่ต้องไปตั้งคำถามหรอก เพราะเราเรียกสิ่งที่ว่ามาในนามของความเจริญ มาในนามของเทคโนโลยี ซึ่งเราต้องอยู่กับมันให้ได้ ไม่อย่างนั้นโลกก็ต้องอยู่ในถ้ำกัน เราจะไม่ออกจากถ้ำเลยหรือ

ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่าเด็กจะรับมือกับโลกแห่งอนาคตอย่างไร ถ้าจะห่วงก็ห่วงว่าถ้าเราไปกดขี่ข่มเหง ไปครอบเขา นั่นแหละที่เขาจะไม่รอด แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาถกเถียง แลกเปลี่ยน แสวงหา ไม่ว่าจะในกลุ่มเพื่อน จากหนังสือ จากการคุยกับเรา แม้แต่โรงเรียนเองก็ต้องเปลี่ยนพื้นที่การพูดคุยให้มีโลกทัศน์และชีวทัศน์ ถ้าเปิดโอกาสแบบนี้ ไม่ต้องห่วงเลยว่าเด็กๆ จะอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ 

พ่อแม่ก็เคยห่วงเราแบบนั้นใช่ไหมในวันที่เราอายุ 5-6 ขวบ แต่ถึงที่สุดแล้วเราก็รอดใช่ไหมล่ะ แล้วเราก็มาเป็นผู้ผลิต มาเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคม จริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีมีอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยหยุดเลย แล้วเราจะไปห่วงอะไร ถ้าเราห่วงจริงๆ เราต้องลงทุนด้วยการเสริมพลังให้เด็กๆ แข็งแกร่ง นั่นแหละหายห่วงที่สุดแล้ว แต่ไม่ใช่ไปห้ามเขา แล้วเอาเขาเก็บไว้ในซอกหลืบ เพราะกลัวว่าเขาจะไม่ปลอดภัย การห่วงที่ออกมาในรูปแบบของการปิดกั้นการตั้งคำถามจะทำลายเด็กๆ ทำให้เด็กไม่สามารถเดินทางต่อได้

บางทีก็น่าเห็นใจคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม แต่จริงๆ เขานั่นแหละต้องถูกกะเทาะความคิด ซึ่งอันนี้ก็ต้องย้อนกลับไปอีกว่าถ้าสังคมไทยเต็มไปด้วยการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างจริงจังตั้งแต่ในระดับห้องเรียน เราเชื่อว่าเด็กทุกคนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ได้ ไม่ต้องกลัว 

ตอนคุณเป็นวัยรุ่น คุณดื้อไหม

ดื้อ เราเกิดปี 2495 แล้วลองบวกอายุไปประมาณ 15 ปี ช่วงปี 2510 ถามว่าการดื้อหรือแรดที่สุดในปีนั้นคืออะไร มันคือการรอดูหนังกลางแปลง พอหนังมา แล้วคอยดูว่าเด็กผู้ชายในหมู่บ้านนั่งกันตรงไหน แล้วเราก็จะชวนเพื่อนๆ ไปปูเสื่อใกล้ๆ เพราะอยากนั่งใกล้น่ะ นั่นคือแรดที่สุดแล้วของยุคนั้น แต่พอเวลาผ่านมา 50 ปี ภาพนี้ไม่มีอีกแล้ว เพราะตอนนี้เราเจอกันง่ายขึ้น เราไม่ต้องรอแบบนั้น แต่ขนาดว่าเราทำแบบนั้นในปี 2510 พ่อแม่ยังตกใจเลย ยังคอยมาดึงเสื่อเรา พาเราให้ไปนั่งในหมู่ผู้ใหญ่ แล้วเราก็จะดึงเสื่อกลับมาเพื่อนั่งใกล้เด็กผู้ชาย และเด็กผู้ชายก็จะขยับมาใกล้เรา ไม่ได้มีกะจิตกะใจดูหนังหรอก แล้วเราจะมาตั้งคำถามกับเด็กได้อย่างไร เพราะจริงๆ เราก็เคยแรด แต่เราแรดตามไทม์ไลน์ของเรา ใน พ.ศ. ของเรา

ความเปลี่ยนแปลงก็น่ากลัวหรือเปล่า ถ้ามองในอีกมุมก็อาจมองได้ว่าสังคมก็จะเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ไม่ดีขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าเราคิดว่าโลกนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพของเด็กๆ ก็เป็นเรื่องที่เราต้องหามาตรการในการเฝ้าระวัง ไม่ว่าจะเป็นในนามของกฎเกณฑ์ ระเบียบของสังคม หรือกฎหมาย แต่ไม่ใช่มาจุกจิกๆ แล้วก็กดขี่ข่มเหงเด็กๆ ถ้าเราทำแบบนี้ ในที่สุดเราจะค่อยๆ ผลักลูกหลานของเราให้ไปอยู่ในมุมที่เรามองไม่เห็น และนี่คือสาเหตุปัญหาของเด็กจำนวนมากมายในประเทศนี้ เพราะบ้านของเขาไม่ปลอดภัย บ้านของเขาเหมือนมีกล้องวงจรปิดคอยติดตาม เด็กไม่มีทางมีความสุข แล้วก็ไม่มีทางที่จะได้เป็นตัวของตัวเองในบ้านแบบนั้น และถึงที่สุด เมื่อเขาโตอีกนิด เขาจะรู้อย่างเดียวว่าไม่อยากเข้าบ้าน 

ในเฟซบุ๊กมีใครบางคนเขียนว่า “ผมเข้าใจหยกนะครับ ผมเป็นลูกทหาร ผมแทบจะไม่อยากอยู่บ้านเลย ผมอึดอัด” เห็นไหมว่ามีร่องรอยและเรื่องราวแบบนี้เยอะแยะไปหมดเลย ที่แสดงให้เห็นว่าเด็กต้องการพื้นที่ที่เป็นตัวของตัวเอง พื้นที่ปลอดภัย และพื้นที่ที่ไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจนิยม

จริงๆ เด็กไม่ได้ต้องการให้พ่อแม่ต้องรวยนะ เขาไม่ได้ต้องการเสื้อผ้าแบรนด์เนม เขาเข้าใจเงื่อนไขชีวิตของพ่อแม่ว่าให้เขาได้แค่นี้ แต่สิ่งที่เขาต้องการมากกว่านั้นคือความปลอดภัยในครอบครัว ความเป็นตัวของตัวเอง การไม่ถูกกดขี่ข่มเหง เสียงของเขายังถูกรับฟัง เด็กๆ ต้องการแค่นี้ และต้องการมากที่สุดในวันที่เขาเป็นวัยรุ่น แล้วถ้าเราไม่ให้เขา เขาก็มีศักยภาพที่จะเดินออกจากบ้านเพื่อไปหาสิ่งนี้จากที่อื่น 

เขาอาจเป็นเด็กที่ดูไม่มีอะไรเลยเวลาอยู่ในบ้าน เงียบๆ จ๋องๆ แต่ทันทีที่เขาหลุดไปอยู่ในหมู่เพื่อน เขากลายเป็นคนน่าสนใจ แล้วถามว่าเด็กปกติจะเลือกอยู่ที่ไหน เขาก็ต้องเลือกตรงที่ที่เขาเป็น someone ไม่ใช่เป็น nobody child อยู่เงียบๆ ในมุมหนึ่งของบ้าน แล้วพ่อแม่ก็คิดว่าลูกฉันเรียบร้อย ลูกฉันดี สั่งให้ทำอะไรก็ทำ

ปัญหาอยู่ที่ผู้ใหญ่เยอะนะตรงนี้ ตัวเด็กเองไม่ได้มีปัญหามากมายขนาดนั้น ถ้าเขาเติบโตในบ้านที่เข้าใจและโรงเรียนเรียนที่ปลอดภัย

มีสุภาษิตที่บอกว่า ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ อยากชวนคุณคุยถึงหมู่บ้านประเทศไทย เราจะฟูมฟักหรือเลี้ยงดูเด็กจำนวนมากที่พร้อมจะตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นเสมออย่างไร และจะทำอย่างไรให้เด็กเติบโตไปอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ

คำพูดนี้คล้ายกับที่เราพยายามพูดกันในสังคมไทยว่าสังคมที่ดีและเหมาะสมกับเด็กๆ คือสังคมที่มีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการให้เด็กดึงพลังด้านบวกและพลังด้านสว่างของเขาออกมา แต่ระบบนิเวศที่จะเอื้อต่อการดึงพลังด้านบวกและพลังด้านสว่างของเด็กออกมานั้นสร้างไม่ได้ด้วยปัจเจกบุคคล เช่น ไม่สามารถสร้างด้วยครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง หรืออย่างเก่งก็อาจมีชุมชนหนึ่งสร้างขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการตอบสนองเด็กทั้งหมด ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล

ดังนั้นพอเราพูดถึงระบบนิเวศทางสังคมที่เอื้อต่อการแสดงพลังทางด้านบวกและพลังด้านสว่างของเด็ก เราต้องโยงไปถึงนโยบายสาธารณะของรัฐบาล ต้องไปให้ถึงตรงนั้น ถ้าไปไม่ถึง เราจะให้บ้านใดบ้านหนึ่งสร้างระบบนิเวศเพื่อลูกของตัวเองอย่างเดียวนั้น มันไม่ทันและไม่พอ เราจึงต้องส่งเสียงไปถึงรัฐว่ารัฐมีหน้าที่ออกแบบในเชิงนโยบายเพื่อทำระบบนิเวศให้เด็กทั้งหมู่บ้านมีโอกาสไปอยู่ในพื้นที่สร้างสรรค์นั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในประเทศไทย

เราต้องพูดไปไกลถึงเชิงระบบ หมายถึงว่ามีงบประมาณอย่างสม่ำเสมอ มีพื้นที่จริง ไม่ใช่จัดอีเวนต์แค่ให้ใครมาเปิดงาน แต่ต้องทำเป็นปกติของทุกพื้นที่ที่จะมีสิ่งเหล่านี้ให้เด็กๆ ทั้งหมู่บ้าน ทั้งประเทศ เช่น เวลาเด็กปิดเทอม 120 วัน เด็กๆ ไม่มีที่ไป เพราะในเชิงนโยบายสาธารณะไม่ได้ออกแบบให้เด็กใช้เวลา 120 วันไปหาพื้นที่ให้ตัวเองอย่างสร้างสรรค์ มีบางครอบครัวเท่านั้นที่พาลูกไปเข้าค่ายหรือพาไปเที่ยวต่างประเทศได้ แต่เด็กอีกจำนวนมหาศาลไปไม่ได้

ดังนั้นเวลาเราพูดถึงการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตมาอย่างเป็นพลัง ไม่ใช่เป็นภาระของสังคมในอนาคต ต้องมีการลงทุนก่อน ซึ่งการลงทุนนั้นต้องตั้งคำถามกับรัฐเป็นส่วนใหญ่ ตั้งคำถามกับปัจเจกไม่ได้ ปัจเจกอาจทำได้เฉพาะลูกของตัวเอง ซึ่งไม่ทันต่อปัญหาที่รุมเร้า 

นอกไปจากเรื่องที่รัฐต้องสร้างระบบนิเวศที่ทำให้เด็กเติบโตอย่างมีพลังแล้ว ก็ยังมีบางประเด็นเรียกร้องที่แหลมคมจากเด็กรุ่นใหม่เหมือนกัน เช่น การแก้กฎหมายมาตรา 112 แต่ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็บอกว่าข้อเรียกร้องนี้ให้ไม่ได้ รัฐบอกว่าให้ไม่ได้ เรื่องนี้ควรมีทางออกอย่างไร

ก็ต้องต่อสู้ ส่วนวิถีการต่อสู้ก็ขึ้นอยู่กับกลุ่ม ข้อค้นพบ และการทบทวนประวัติศาสตร์ เวลาเด็กเขาจะเคลื่อนไหวโดยเฉพาะเรื่องยากๆ ไม่ใช่จู่ๆ เขาก็เคลื่อนไหวเลยนะ เขาก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ศึกษาคนรุ่นก่อน แต่คำถามก็คือแล้วทำไมเราสรุปว่า ‘ให้ไม่ได้’ เร็วเกินไปล่ะ

ถ้าพูดถึงเรื่อง 112 สังคมเราไม่ได้มีแค่คนล้มเจ้า แต่มีคนเกินเจ้าเยอะมาก แล้วคนเกินเจ้านี่แหละที่พยายามอย่างยิ่งที่จะอาศัยผลประโยชน์จากความจงรักภักดี ซึ่งไม่รู้ว่าจงรักภักดีจริงหรือจงรักภักดีปลอม แต่ภายใต้ภารกิจที่บอกว่าจงรักภักดีนี้มีคนซื้อ มีคนยอมรับ เมื่อมีคนยอมรับก็เลยกลายเป็นอีกกลุ่มผลประโยชน์หนึ่งเหมือนกัน คนเกินเจ้ามีอยู่จริงในสังคมไทย ถ้าเขาได้จัดงานใหญ่โต เขาก็จะมีงบประมาณมากมาย ลองไปกรีดเลือดเขาดูสิว่าจงรักภักดีจริงหรือเปล่า คำตอบคืออาจไม่ใช่ ในขณะที่สังคมไปโฟกัสที่คนล้มเจ้า แต่สังคมไม่ตั้งคำถามกับคนเกินเจ้า ดังนั้นจริงๆ แล้ว 112 จึงไม่ได้มีปัญหาในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มีปัญหาตรงการเขียนกติกา จะทำอย่างไรที่ไม่ทำให้มีกลุ่มแสวงผลประโยชน์จากเรื่องนี้

เวลาพูดเรื่องนี้ เราต้องพูดทั้งสองด้านของเหรียญ แต่สังคมไทยไม่ถกเถียงกันอย่างแหลมคม เราพูดถึงแค่ว่าคนล้มเจ้าเท่านั้นที่ต้องตาย แต่เราไม่ได้พูดถึงคนเกินเจ้าที่หาประโยชน์จนร่ำรวย ต้องมีกติกาให้ชัดว่ากฎหมายฉบับนี้จะไปในทิศทางไหนที่สมดุลทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเกินเจ้าหรือล้มเจ้า

บางคนก็บอกว่าสังคมไทยอนุรักษนิยมเกินกว่าจะคุยเรื่องนี้

ใช่ บางทีก็เกินจำเป็น เหมือนเราลงโทษเด็กเกินจำเป็น พูดอะไรบางอย่างเกินจำเป็น แต่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ เพื่อให้สังคมเดินทางต่อไปได้บนความปกติสุขในระดับที่พอดีกับทุกคน เราไม่ค่อยพูด เรามักเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง

ถ้าสมมติว่าเด็กๆ พูดเรื่อง 112 เราอย่าเพิ่งตอกฝาโลงสิว่าได้หรือไม่ได้ ก็ต้องศึกษากัน คนที่ทำในเรื่องของกติกาต้องไม่หวาดกลัวจนเกินไป ไม่ลุกขึ้นมาพูดอะไรให้ดูตันไปหมดทุกช่อง เราต้องคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ ไม่อย่างนั้นกฎหมายก็จะกลายเป็นเครื่องมือ เช่น ที่หยกโดนคุณอานนท์ กลิ่นแก้วแจ้งความ นี่เป็นเหตุผลที่คนเห็นว่าควรต้องแก้ 112

สังคมไทยชอบทำหรือคิดอะไร ‘จนเกินไป’ เช่น ถ้าไม่มี 112 คนก็จะไปวิจารณ์สถาบันฯ อย่างหนัก ถ้าไม่ให้เด็กใส่ชุดนักเรียน เด็กจะแต่งตัวโป๊ ถ้าไม่ให้เด็กตัดผมเป็นระเบียบ เด็กจะทำทรงผมแปลกๆ มาโรงเรียน ฯลฯ อะไรที่ทำให้สังคมเรามีความคิดแบบขาวดำกันขนาดนี้  

เพราะเราไม่ได้ฝึกฝนและฝึกฝืนในการอยู่ร่วมกันและถกเถียง ถ้าเราไปดูที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อนุญาตให้เด็กๆ แต่งตัวไปโรงเรียนด้วยเสื้อผ้าแบบไหนก็ได้ ผมทรงไหนก็ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าเด็กๆ ทุกคนย้อมผมกันเอิกเกริก ก็มีบ้างบางคนที่ทำ เพราะเขารู้สึกมั่นใจ

หรือแม้แต่บ้านกาญจนาฯ ก็ประกาศชัดตั้งแต่วันที่เด็กๆ มาถึงที่บ้าน ลงจากรถ เราผูกข้อมือแล้วบอกเขาเลยว่าที่นี่เสื้อผ้าหน้าผมและร่างกายเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์นะครับ ประเดี๋ยวหนูเดินเข้าไปในห้องน้ำ มองกระจก ดูสิว่าชอบผมทรงไหน ต่างหูคู่ไหน เสื้อผ้าแบบไหน จินตนาการไปเลย กอบกู้ความเชื่อมั่นทั้งหมดของหนูกลับคืนมา เลือกเลยครับ เราไม่มีหน้าที่ต้องอดทน เรามีหน้าที่ยอมรับ แต่ปรากฏว่าทุกวันนี้เด็กบ้านกาญจนาฯ ก็ยังไว้ทรงสกินเฮดกันเยอะแยะไปหมด เพราะเขารู้สึกโล่งหัวดี มีพวกผมยาวๆ ไม่เกินสองสามคน

มายาคติของเราต่างหาก ความกลัวเกินจำเป็นของเราต่างหาก ที่เราคิดว่าเมื่อใดที่คำประกาศนี้ออกมามันจะเลอะเทอะกันไปหมด ความจริงไม่ใช่เลย เด็กๆ เขาจัดการตัวเองได้ เขารู้ว่าลุคนี้เขาเชื่อมั่นในตัวเอง ต่างหูคู่นี้ เสื้อผ้าแบบนี้ เขาต้องมีสิทธิในการตัดสินใจ มีการเลือก พินิจพิเคราะห์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในทักษะของการเป็นมนุษย์ที่จะต้องเดินทางไกลในอนาคต แล้วเรากลัวอะไร ผู้ใหญ่กลัวเกินจำเป็นน่ะ ไม่เห็นต้องกลัวขนาดนั้น นี่เป็นจุดอ่อนอย่างมากของสังคมไทย คนที่จะคิดเรื่องการพัฒนาประเทศต้องนึกให้ออกว่าความกลัวที่เกินเลยและเกินจำเป็นของคนในสังคมไทยควรต้องถูกหักล้างด้วยวิธีอะไร ด้วยข้อมูลแบบไหน และด้วยท่าทีแบบไหน

มันมีอยู่จริงนะ ไม่ใช่เรื่องที่เราพูดกันเล่นๆ และยิ่งน่ารำคาญเข้าไปใหญ่ถ้าเด็กรุ่นหลังเขาเติบโตภายใต้การมีข้อมูลข่าวสารมากมาย เขาไม่ได้ดำที่สุด ขาวที่สุด แต่เขามีขาวไล่เฉดสีไปจนถึงดำ

ถ้าชวนมองในแง่ของสังคมไทยที่เป็นองคาพยพ การเปลี่ยนแปลงไม่อาจทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กได้ทุกอย่างที่ต้องการหมดเลย แต่ผู้ใหญ่ที่เคยอยู่แบบนี้ก็อาจรู้สึกไม่สบายใจ เราจะทำอย่างไรให้สังคมไทยไปด้วยกันทั้งหมดได้ ประนีประนอมกันได้ไหม

ผู้ใหญ่ทุกคนต้องรู้นะว่าเราไม่สามารถเป็นเจ้าของทุกอย่างในประเทศนี้ได้ แม้แต่ชีวิตของเรา เราก็เป็นเจ้าของไม่ได้นะ ดังนั้นอะไรก็ตามที่เราจะถ่ายโอนส่งมอบเพื่อให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดีกว่าเรา มีทางเลือกที่เยอะกว่าเรา เราต้องรีบทำตั้งแต่วันนี้ เพราะเอาเข้าจริง เราไม่สามารถหยุดสิ่งใดๆ ได้ ถึงที่สุดเราก็ต้องจากไป แต่ในระหว่างที่เรายังมีพลัง มีเสียง มีความคิด เราต้องช่วยกันทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เพื่อให้คนรุ่นต่อไปรู้สึกถึงพลังนั้น เราต้องทำเช่นนั้นจริงๆ นะ 

ไม่รู้ว่าที่คุณถามถึงมีมวลของผู้คนขนาดไหน แต่เราบอกกับเด็กๆ บ้านกาญจนาฯ เสมอ เวลาเรารับเด็กใหม่ ตอนที่เรากอดเขา ผูกข้อมือเขา จะบอกเลยว่าหนูไม่ได้มาเพื่อให้ป้าเยียวยานะลูก แต่หนูมาเยียวยาป้า ป้าเกิดก่อนหนู ป้าอ่อนแอ ป้าไม่กล้าต่อสู้ ป้าผิดพลาดเยอะแยะเลยที่ทำให้ประเทศนี้ไม่สามารถดูแลเด็กๆ ที่เกิดมาทีหลังได้ แล้วทำให้หนูต้องกลายเป็นคนที่ไปก่ออาชญากรรม ถ้าผู้ใหญ่ที่เกิดก่อนหนูอย่างป้าหรือคนรุ่นราวคราวเดียวกับป้าดูแลประเทศนี้ดี แล้วกล้าหาญกว่านี้ พยายามต่อสู้เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่ดีกว่านี้ คนที่ก่ออาชญากรรมในประเทศนี้จะน้อยลง ป้าขอบคุณที่มายืนอยู่ต่อหน้าป้า อย่างน้อยป้าได้ช่วยโอบกอดหนู ได้ทำงานกับหนู แล้วคืนหนูให้กับครอบครัวและพ่อแม่

ผู้ใหญ่ต้องสำนึกให้ได้ว่าในวันที่เรายังมีชีวิตและมีปัญญา เราต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เอื้อต่อการมีชีวิตของเด็กรุ่นหลัง ให้เขาเดินบนความไม่หวาดกลัวสักอย่างหนึ่งเลยนะ เพราะถึงที่สุด เราที่เคยถูกพ่อแม่หวาดกลัวว่าจะมีชีวิตอย่างไร เราก็รู้ว่าถ้าเราถูกดูแลมาอย่างดี มีทุนอย่างดี เราก็รับมือชีวิตได้ในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า จนถึงวันที่เราตายจากโลกนี้ไป ซึ่งก็น่าจะเป็นสูตรเดียวกันกับที่ว่าเราไม่ต้องหวาดกลัวกับเด็กมาก แต่เราดูแลเขา สร้างระบบนิเวศ เพิ่มทุนของเขาให้ดี ถึงที่สุดเขาก็จะเดินทางมาถึงตรงนี้ แล้วเดินทางต่อไปจนถึงวันที่เขาต้องหมดอายุขัย และในที่สุดก็มีเด็กรุ่นหลังตามมาอีก

บางเรื่องเราอย่าไปเกินจำเป็นกับมัน พอดีๆ กับมัน เพราะว่ายิ่งเกินจำเป็น เราก็จะเป็นพ่อแม่หรือเป็นผู้ใหญ่ที่วิตกจริตเกินไป พอเราวิตกจริตเกินไป บ้านเราก็จะอึดอัด สังคมอึดอัด โรงเรียนอึดอัด ซึ่งพออึดอัดมากๆ เด็กส่วนหนึ่งถ้าเขาไม่รู้สึกเศร้าหมองไปกับความอึดอัดนั้น เขาก็จะก้าวร้าวโต้ตอบเพื่อเรียกทุกอย่างกลับคืนให้กับตัวเอง ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นอันตรายและไม่ดีต่อเด็กๆ

เด็กทุกคนไม่เคยเป็นผู้ใหญ่มาก่อน แต่ผู้ใหญ่ทุกคนเคยผ่านวันที่เคยเป็นเด็ก ดังนั้นวันนี้เด็กอาจดูก้าวร้าว ไม่น่ารัก อีกไม่กี่ปีต่อมาเขาก็มาขอโทษเรา ซึ่งอาจจะเหมือนนาน แต่การเติบโตของคนคนหนึ่งต้องใช้เวลา

เราต้องเป็นผู้ใหญ่ที่ยืดหยุ่น โลกถึงจะน่าอยู่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save