fbpx
เรื่องเล่าเช้านี้และค่ำคืน The Handmaid’s Tale

เรื่องเล่าเช้านี้และค่ำคืน The Handmaid’s Tale

‘นรา’ เรื่อง

 

ผมเคยเขียนถึงซีรีส์เรื่อง The Handmaid’s Tale ในคอลัมน์ Deep Focus เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว แต่ในครั้งนั้นยังไม่มีโอกาสได้อ่านนิยายที่เป็นต้นเรื่องเดิม (ฉบับแปลภาษาไทยตั้งชื่อว่า ‘เรื่องเล่าของสาวรับใช้’)

ต่อมา เมื่อได้อ่านเทียบเคียง ผมยังติดภาพและเรื่องราวรายละเอียดต่างๆ จากฉบับซีรีส์อยู่มาก ความรู้สึกแรกที่มีต่อนิยายจึงเป็นความผิดหวัง

ผิดหวังที่นิยายกับซีรีส์แตกต่างกันอยู่เยอะ (ในนิยายมีเหตุการณ์น้อยกว่า และหวือหวาโลดโผนเร้าอารมณ์น้อยกว่า) พูดง่ายๆ คือ ไม่สนุกเท่า

อย่างไรก็ตาม ผมรู้ตัวเช่นกันว่า ที่ได้อ่านไปนั้น ผมอ่านอย่างรีบเร่งให้จบเร็วๆ ด้วยความใจร้อนอยากรู้เนื้อเรื่อง จนกระทั่งละเลยสิ่งสำคัญหลายๆ อย่าง ทั้งลีลาทางภาษา ท่วงทำนองการเขียน รวมถึงการพิจารณาจับต้องประเด็นสำคัญ

ต้องรอจนกระทั่งภาพจำจากซีรีส์ค่อยๆ เลือน จึงหยิบนิยายเรื่องนี้กลับมาอ่านใหม่อีกครั้ง คราวนี้รู้สึกตรงกันข้าม คือ ชอบฉบับนิยายมากกว่าซีรีส์

The Handmaid’s Tale เป็นผลงานของมาร์กาเร็ต แอตวูด ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1985 ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างท่วมท้น จนถึงปัจจุบันก็ขึ้นหิ้งเป็นนิยายคลาสสิกร่วมสมัยไปเรียบร้อยแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึง นิยายประเภท dystopian สะท้อนภาพจินตนาการถึงโลกอนาคตอันใกล้ที่ทุกสิ่งในสังคมเต็มไปด้วยความเลวร้ายระดับตกนรกทั้งเป็น The Handmaid’s Tale มักจะเป็นชื่อหนึ่ง ซึ่งได้รับการหยิบยกมาอ้างถึงเสมอ เคียงข้างไปกับผลงานอมตะอย่าง 1984 ของจอร์จ ออร์เวล, Brave New World ของอัลดัส ฮักซ์ลีย์, Fahrenheit 451 ของเรย์ แบรดบิวรี และ A Clockwork Orange ของแอนโทนี เบอร์เจสส์

นิยาย dystopian มักจำลองภาพสังคมที่ตกอยู่ใต้การปกครองคุมเข้มแบบเผด็จการเต็มใบ, จำกัดสิทธิลิดรอนเสรีภาพของผู้คนจนหมดสิ้น และตกอยู่ภายใต้การจับตามองสอดส่องติดตามทุกชั่วขณะ, การแบ่งแยกระดับชั้นของผู้คนลดหลั่นกันไปอย่างถี่ยิบ แต่ละชนชั้นแต่ละสถานะ ก็มีความเป็นอยู่และได้รับสิทธิในการดำรงชีวิตผิดแผกกันไป, สภาพสังคมที่บอบช้ำจากปัญหาทางการเมือง สงคราม โรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ มายาวนาน จนเกิดภาวะขัดสนขาดแคลนและเสื่อมโทรม, การครอบงำทางความคิดผ่านการโฆษณาชวนเชื่อล้างสมองในระดับล้างแล้วล้างอีก จนความคิดความเชื่อใดๆ ที่มีอยู่แต่เดิม ‘แทบจะ’ หายหดหมดเกลี้ยง ฯลฯ

นิยายเรื่อง The Handmaid’s Tale มีองค์ประกอบต่างๆ ข้างต้นตามขนบคุ้นเคยของงานเขียนประเภทนี้อยู่ครบครัน แต่มี 2 สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามา และกลายเป็นจุดเด่นเฉพาะตัวของนิยายเรื่องนี้

อย่างแรกคือ แง่มุมเกี่ยวกับสถานะของสตรี ซึ่งโดนกดขี่เอารัดเอาเปรียบทุกวิถีทาง นิยายเรื่องนี้สะท้อนภาพ ‘การตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ’ ของผู้หญิงได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ตั้งแต่เหตุการณ์ปลีกย่อยหยุมหยิม ไปจนถึงเรื่องราวใหญ่โต จนถือเป็นงานในแนวทางเฟมินิสต์ที่ทรงพลัง ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงทวงถามความยุติธรรมให้กับผู้หญิงได้ชัดถ้อยชัดคำมากอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างต่อมา เป็นช่วงเวลาตามท้องเรื่อง ซึ่งไม่ได้มีการระบุเจาะจงแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในปีใด (ความพร่าเลือนในการรับรู้เรื่องวันเวลา เป็นสิ่งหนึ่งที่นิยายเรื่องนี้ตั้งใจนำเสนอ) แต่ผู้อ่านก็พอจะคาดคะเนได้ไม่ยาก ว่าเป็นอนาคตที่อยู่ใกล้มากๆ ด้วยเหตุนี้ ตัวละครจึงโตทันได้สัมผัสใช้ชีวิต 2 ยุคสมัย คือ ในอดีตเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี (อันที่จริงก็ไม่ดีหรอกนะครับ แค่เป็นชีวิตปกติ และความเดือดร้อนวุ่นวายหลายๆ อย่างเริ่มปรากฎส่อเค้าให้เห็นบ้างแล้ว) กับช่วงเวลาปัจจุบัน (ของตัวละคร) เมื่ออารยธรรมเดิมๆ ล่มสลายพังทลายจนหมดสิ้น กลายเป็น New Normal ฉบับฝันร้ายเต็มตัว

การที่ตัวละครมีชีวิตคาบเกี่ยวกันระหว่าง 2 ยุคนี้ ทำให้เกิดภาพเทียบเคียงที่ขัดแย้งตรงข้ามกันอยู่ตลอดเวลา (และนำไปสู่เป้าหมายในเชิงวิพากษ์วิจารณ์อะไรต่อมิอะไรอย่างเข้มข้น) รวมทั้งมีส่วนทำให้ ‘จินตนาการติดลบ’ ต่างๆ นานาที่ปรากฎในนิยาย แลดูเป็นเรื่องใกล้ตัว และมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริง

หรือจะพูดอีกแบบก็ได้ครับ ว่ามาร์กาเร็ต แอตวูด เจตนาวาดภาพโลกอนาคต เพื่อวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนปัญหาสังคมปัจจุบัน (ในช่วงขณะที่เขียนนิยายเรื่องนี้)

ลักษณะเด่นต่อมาของ The Handmaid’s Tale คือ การเล่าเรื่องทั้งหมดผ่านมุมมองของตัวเอกชื่อออฟเฟรด แบ่งออกเป็น 2 ส่วนเล่าสลับไปมาตลอดเวลา ส่วนแรกเป็นชีวิตตอนกลางวันของตัวละคร แจกแจงให้เห็นถึงภารกิจต่างๆ ในแต่ละวัน ซึ่งต้องพบปะอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน อีกส่วนหนึ่งคือ ชีวิตยามค่ำคืน หรือช่วงก่อนเข้านอน เมื่อออฟเฟรดอยู่ในห้องตามลำพัง และมีความเป็นส่วนตัวบ้างเล็กน้อย

ทั้ง 2 ส่วนนี้ยังมีการบอกเล่าตัดสลับไปมาอีกทอดหนึ่ง ระหว่างอดีตกับปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา คล้ายๆ กับว่าผู้เล่านึกเหตุการณ์อะไรได้ก็เล่าเรื่องนั้นๆ

เรื่องในส่วนที่เป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน มีเค้าโครงจับต้องได้แน่ชัด แต่ไม่ต่อเนื่องลื่นไหล เพราะจังหวะตัดสลับแทรกเป็นระยะๆ ขณะที่เรื่องราวการรำลึกอดีต มีลักษณะเป็นเศษเสี้ยวกระจัดกระจาย มิหนำซ้ำ แต่ละเหตุการณ์อดีตยังเกิดขึ้นต่างช่วงเวลา และไม่เรียงลำดับต้น กลาง ปลายตามที่เกิดขึ้นจริง

ตลอดการอ่านนิยายเรื่องนี้ ผู้อ่านจึงต้องปะติดปะต่อเชื่อมโยง ‘ภาพรวม’ ด้วยตนเอง เหมือนการต่อจิ๊กซอว์ แรกเริ่มอาจจะสับสนเคว้งคว้างอยู่บ้าง แต่เมื่อคุ้นชินแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากต่อการทำความเข้าใจ

ผมคิดว่า การแบ่งโครงสร้างเป็นกลางวัน-กลางคืน อดีต-ปัจจุบัน ทำหน้าที่หรือเกิดประโยชน์กว้างๆ อยู่ 3 อย่าง แรกสุดเป็นการสร้างระเบียบแบบแผนทางศิลปะ (ผมนึกเทียบเคียงไปถึง pattern หรือลวดลาย นะครับ) ถัดมาคือ การเทียบเคียงเปรียบเปรย และท้ายสุด เป็นวิธีผูกเงื่อนวางปมให้เรื่องราวมีจุดเร่งเร้าน่าสนใจชวนติดตาม

เพื่อความสะดวกต่อการเล่าสู่กันฟัง ผมสรุปใจความเหตุการณ์เบื้องต้นอันเป็นที่มาที่ไป (ซึ่งในนิยายเล่าต่างกันเยอะ) ได้ดังนี้

เกิดการบุกโจมตีสังหารประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและวุฒิสมาชิก โดยกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงที่ใช้ชื่อ ‘บุตรแห่งยาโคบ’ นำมาซึ่งความวุ่นวายโกลาหล สงคราม การก่อการร้าย การปราบปราม ฯลฯ ท้ายที่สุดฝ่ายยึดอำนาจ ก็สถาปนาสาธารณรัฐกิเลียดขึ้นมา ปกครองในระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ มีเปลือกนอกเป็นสังคมเคร่งศาสนาศีลธรรมจัด นำข้อความจากพระคัมภีร์ไบเบิล มาเป็นข้ออ้างสนับสนุนการออกกฎหมายสารพัดสารพัน แบบจงใจเลือกตีความให้สอดคล้องเข้ากับการกดขี่

ในช่วงปัจจุบันของนิยาย ทั่วทั้งโลกกำลังประสบปัญหาอัตราการเกิดลดลงต่ำ เนื่องจากผลพวงจากการใช้สารเคมี และการรั่วไหลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทารกจำนวนมากเสียชีวิตตั้งแต่แรกคลอด หรือไม่ก็พิกลพิการ (และถูกกำจัดทิ้ง) นี่ยังไม่นับรวมการตั้งครรภ์ได้ยาก เนื่องจากชายหญิงจำนวนมาก ‘เป็นหมัน’

แต่ละประเทศก็มีวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว หนักเบาแตกต่างกัน ที่สาธารณรัฐกิเลียด มีการไล่ล่าค้นหาผู้หญิงที่เคยมีลูก นำตัวมาเข้าศูนย์ฝึกอบรม (เพื่อทำให้เชื่องสิ้นพยศ) จากนั้นส่งตัวไปเป็น ‘สาวรับใช้’ ประจำบ้านของผู้มีอำนาจหรือชนชั้นนำ (เรียกกันว่า ‘ผู้บัญชาการ’) ส่วนลูกๆ ของพวกเธอ ก็ถูกนำไปรับเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมของครอบครัวคนใหญ่คนโต

หน้าที่ของบรรดาสาวรับใช้ มีเพียงแค่ไปจ่ายตลาดเป็นประจำทุกวัน และประกอบ ‘พิธีกรรม’ เดือนละหน

แท้ที่จริงแล้ว ‘พิธีกรรม’ นั้นคือ การมีเซ็กซ์กับนายใหญ่ประจำบ้าน เพื่อหวังผลในการมีลูก แต่ในรายละเอียดที่เกิดขึ้นจริง มันย่ำแย่เลวร้ายยิ่งกว่าการโดนข่มขืนเสียอีก ทั้งจากการสร้างบรรยากาศให้เต็มไปด้วยความขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์เหมือนศาสนกิจหรือการบูชายัญ, ความแห้งแล้งเย็นชา ไร้อารมณ์ความรู้สึกของผู้เข้าร่วม, เป็นการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่เต็มใจแต่ต้องจำยอม เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย (มันแย่กว่าการโดนข่มขืน ซึ่งยังสามารถต่อต้านขัดขืนได้ แต่ต้านทานไม่ไหวด้วยพละกำลังที่ด้อยกว่า)

เหนืออื่นใด คือ การลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทำให้บรรดาสาวใช้มีสถานะเป็นเพียงแค่ ‘เครื่องจักรผลิตลูก’ ที่ปราศจากเลือดเนื้อชีวิตจิตใจ

พูดแบบกว้างๆ อ้อมโลก The Handmaid’s Tale เล่าถึงชะตากรรมและสภาพความเป็นอยู่ของสาวรับใช้ชื่อออฟเฟรด และความพยายามดิ้นรนขัดขืนเพื่อเป็นอิสระของเธอ

อย่างไรก็ตาม ออฟเฟรดไม่ใช่ตัวละครในแบบฉบับของ ‘วีรสตรี’ ไม่ใช่คนตัวเล็กๆ ที่พยายามลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบ แต่เป็นตัวแทนของ ‘เหยื่ออธรรม’ ที่สมบูรณ์แบบ ระดับการต่อสู้ของเธอจึงเป็นเพียงแค่พยายามกอบกู้ความเป็นมนุษย์กลับคืนมาบ้าง เท่าที่จะสามารถทำได้

ในนิยายเล่าถึงรายละเอียดที่สาวรับใช้ถูกกระทำให้หมดสิ้นสภาพความเป็นมนุษย์เอาไว้ตลอดทั่วทั้งเรื่อง ผมขอหยิบยกตัวอย่างเด่นๆ 2-3 อย่างมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

อย่างแรกคือชื่อตัวละคร ออฟเฟรดนั้นไม่ใช่ชื่อจริง แต่เป็นเพียงแค่คำเรียกแทนค่าให้ทราบว่า เธอเป็นสมบัติของผู้บัญชาการชื่ออะไร? ในหนังฉบับปี 1990 กำกับโดยโวลเคอร์ ชลอนดอร์ฟ ชื่อจริงของตัวละครคือ เคท ส่วนในฉบับซีรีส์ ชื่อจริงคือ จูน

ฉบับนิยายนั้น ตั้งแต่ต้นจนจบ เจตนาปกปิดและไม่เปิดเผยให้ผู้อ่านทราบชื่อจริงของตัวละคร ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งนิยายทำได้ลึกแยบยลกว่าหนังและซีรีส์ (ซึ่งผมเข้าใจว่า ตั้งใจจะลดความคลุมเครือ)

กล่าวคือ การมีชื่อจริงเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งยืนยันหรือแสดง ‘ตัวตน’ ของตัวละคร ขณะที่คำเรียก ออฟ…(ตามด้วยชื่อของผู้บัญชาการ) ให้ความหมายบ่งไปในทางว่า เธอเป็น ‘สมบัติ’ ในการครอบครองของใคร และแปรสภาพเป็นเพียง ‘วัตถุ’ ชิ้นหนึ่ง

ตัวอย่างต่อมาคือ เครื่องแบบของสาวรับใช้ ในนิยายเล่าไว้ว่า ‘บางคนเรียกชุดนี้ว่า แฮบิต หรือเครื่องแบบของนักบวชหญิง’ (ก็นับว่าเป็นคำที่เหมาะกับชุดนี่ดี เพราะแฮบิตยังมีนัยถึงวัตรปฏิบัติที่ยากจะยกเลิกได้)

นอกจากเครื่องแบบประจำตัว จะช่วยให้ผู้พบเห็นสามารถจำแนกแยกแยะได้ทันทีว่าเป็นบุคคลในชนชั้นใด (เพื่อที่จะเลือกปฏิบัติอย่างไรตามศักดิ์ฐานะ) แล้ว เครื่องแบบสาวรับใช้ยังมีลักษณะพิเศษคือ คลุมศีรษะด้วยหมวกสีขาวมีปีก 2 ข้าง ในด้านหนึ่งมันช่วยพรางโฉมไม่ให้มองเห็นใบหน้าของสาวรับใช้ได้ถนัดชัด แต่ในอีกด้านปีกทั้งสองก็บดบังปิดกั้น ‘การรับรู้’ และ ‘การมองเห็น’ ของพวกเธอด้วยเช่นกัน

ออฟเฟรดเล่าไว้ว่า ‘ด้วยปีกของเรา เครื่องสวมปิดสายตาทำให้ยากจะมองสูงขึ้นไป ยากจะเห็นภาพผืนฟ้าได้เต็มตา หรือภาพอะไรทั้งนั้น แต่เราทำได้ครั้งละเล็กละน้อยด้วยการขยับหัวอย่างเร็ว ขึ้นลงหันข้างและหันกลับ เราได้เรียนรู้ที่จะมองดูโลกเหมือนสูดลมหายใจเป็นห้วงๆ’

ตรงนี้เชื่อมโยงกับตัวอย่างสุดท้าย นอกจากโดนปิดกั้นจำกัดขอบเขตการรับรู้ให้หลงเหลือน้อยที่สุดแล้ว สิ่งต้องห้ามสำคัญในกิเลียดก็คือ การอ่านหนังสือ ไม่ใช่จำเพาะแต่ที่เป็นรูปเล่มเท่านั้น แต่ครอบคลุมรวมเป็นถึงอะไรก็ตามที่เป็นตัวอักษรข้อความ ดังตอนหนึ่งในนิยายที่เล่าว่า ‘ชื่อร้านคือลิลลีส์แห่งท้องทุ่ง ยังมองเห็นใต้ดอกลิลลีที่มีสีทาทับตัวอักษรไว้ เมื่อพวกนั้นตัดสินใจว่าแม้แต่ชื่อร้านก็ยังเป็นสิ่งเชิญชวนมากเกินไปสำหรับเรา เดี๋ยวนี้เรารู้จักสถานที่ต่างๆ ได้จากเครื่องหมายเท่านั้น’

การอ่านหนังสือในกิเลียด ไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับสาวรับใช้เท่านั้น แต่เกือบจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายสำหรับผู้หญิงทุกระดับชั้น แม้กระทั่งพวก ‘ภริยา’ ซึ่งอยู่ในสถานะสูงสุด ก็ไม่มีสิทธิอ่าน อาจมีข้อยกเว้นอยู่บ้างสำหรับพวก ‘น้า’ ซึ่งมีหน้าที่ฝึกอบรมสาวรับใช้ให้พร้อมปฏิบัติภารกิจ (ด้วยกรรมวิธีที่ชวนให้นึกถึงพวกพัสดีในเรือนจำ)

กล่าวโดยรวม ความเป็น dystopian ใน The Handmaid’s Tale แจกแจงพรรณนาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ผ่าน 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้คนโดยรัฐบาลเผด็จการ, การเสียดสีพฤติกรรม ‘มือถือสาก ปากถือศีล’ (หรือถ้าจะพูดให้ขลังกว่านั้นก็คือ บทบาท อำนาจ และอิทธิพลของศาสนาในการควบคุมกำกับพฤติกรรมมนุษย์ และการฉกฉวยใช้ประโยชน์ในฐานะเครื่องมือชิ้นสำคัญทางการเมือง) การกดขี่และความไม่เท่าเทียมทางเพศ

ประเด็นสุดท้ายนั้น พูดได้ว่าเล่าสะท้อนผ่านตัวละครฝ่ายหญิงทั้งหมด น้ำหนักส่วนใหญ่เล่าผ่านเรื่องราวของสาวรับใช้ แต่พร้อมๆ กันนั้น นิยายก็เล่าไว้เคียงข้างกันว่า ผู้หญิงในสถานะอื่นๆ ตั้งแต่ ภริยา, น้า, แม่บ้านมารธา, ภรรยาชั่นประหยัด, แม่หม้าย และอิสตรี ล้วนถูกกีดกัน จำกัดสิทธิหนักเบามากน่อยลดหลั่นกันไป

ตัวอย่างเป็นรูปธรรมง่ายๆ และชัดสุด เล่าผ่านข้อความสั้นๆ ว่า ‘ฉันแทบผวาเฮือก: เขาเพิ่งพูดคำต้องห้ามออกมา เป็นหมัน ไม่มีอะไรอย่างชายเป็นหมันอีกแล้ว ไม่มีอย่างเป็นทางการ มีแต่ผู้หญิงที่มีลูก หรือผู้หญิงที่ไม่อาจมีลูกได้ กฎหมายระบุไว้อย่างนั้น’

แต่ที่น่าเจ็บปวดก็คือ การสร้างกลไกการกดขี่ผ่านแนวคิด ‘…วิธีการที่ดีที่สุดและคุ้มค่ามากที่สุดในการควบคุมผู้หญิง ด้วยจุดประสงค์เพื่อการสืบเผ่าพันธุ์และอื่นๆ นั้นต้องผ่านทางผู้หญิงด้วยกันเอง’

The Handmaid’s Tale ฉบับนิยายจบลงแบบขาดห้วนฉับพลัน ทิ้งข้อสงสัยให้ผู้อ่านค้างคาใจและขบคิดไปได้ต่างๆ นานาเกี่ยวกับชะตากรรมและความเป็นไปของตัวละคร (ตรงนี้แตกต่างกับในซีรีส์ที่มีการเพิ่มขยายเหตุการณ์จำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่บทสรุปชัดเจนกว่า)

เท่านั้นยังไม่พอ หลังจบ ‘เรื่องเล่าของสาวใช้’ แล้ว ยังมีบทส่งท้ายที่ตั้งใจก่อกวนผู้อ่านอีกชั้น ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เพิ่งอ่าน ‘จริง’ หรือ ‘ปลอม’ (ตรงนี้ผมมีข้อสรุปส่วนตัวว่าเป็นเช่นไร? และรู้สึกว่ามันเป็นตลกร้ายเสียดสีนะครับ)

พูดอีกอย่างได้ว่า ตลอดทั่วนิยายเรื่องนี้ มีความจงใจสร้างความพร่าเลือน ความคลุมเครือ และทิ้งคำถามให้ผู้อ่านสงสัยเคลือบแคลงใจอยู่เต็มไปหมด ทั้งการรำลึกความหลังบางเรื่องที่ไม่แจ่มชัดของออฟเฟรด, เรื่องเล่าบางเหตุการณ์ในแบบที่เธออยากให้เป็น ซึ่งต่างกันไกลกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง, ความคลุมเครือกับบางเรื่องที่เล่าอย่างแหว่งวิ่นไม่ครบถ้วน, การปนเปกันระหว่างความฝันกับความจริง, การคาดคะเนของออฟเฟรดต่อสิ่งที่เธอไม่รู้แน่ชัด หรืออยู่นอกเหนือการรับรู้, การใช้จินตนาการแต่งเติมสมมติว่าใครอื่นกำลังคิดอ่านเช่นไร?, หรือการพยายามมองภาพกว้างภาพรวม ภายใต้การถูกปิดกั้นหรือมีโอกาสรับรู้จำกัด ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา ไม่ได้เบียดเบียนหรือบั่นทอนประเด็นเนื้อหาสาระที่นำเสนอได้เข้มข้นหนักแน่นเลยนะครับ ตรงกันข้าม ผมกลับเห็นว่า การทิ้งค้างสร้างความคาใจเยอะแยะประดามี ส่งผลบวกอย่างน้อย 2 ประการ มันทำให้เรื่องเล่าทั้งหมดมีชีวิตชีวา มีความลึก และสมจริง รวมทั้งก่อให้เกิดคำถามมากมายนำไปสู่การครุ่นคิดต่อหลังจากอ่านจบ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save