fbpx

โรงแรมผีและคนวิปลาส The Shining

เป็นเรื่องประจวบเหมาะที่ผมมีโอกาสได้ดูหนังสยองขวัญคลาสสิก ซึ่งได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดตลอดกาล 2 เรื่องในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

หนึ่งนั้นคือ The Exorcist ผลงานปี 1973 กำกับโดยวิลเลียม ฟรีดกิน ซึ่งกลับมาฉายในโรงภาพยนตร์ เนื่องในวาระที่หนังมีอายุครบ 50 ปี

ส่วนอีกเรื่องได้แก่ The Shining ผลงานปี 1980 ของอภิมหาผู้กำกับสแตนลีย์ คูบริค ซึ่งเพิ่งมาเผยใน HBO Go เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

การดูหนังชั้นครูทั้ง 2 เรื่องนี้ในเวลาไม่ห่างกันนัก ทำให้เห็นทั้งความเหมือนและความต่าง ด้านที่เหมือนคือการทำให้คนดูรู้สึกสะพรึงกลัวจากการสร้างบรรยากาศของหนัง แลดูหลอกหลอน ไม่น่าไว้วางใจ ไม่ชอบมาพากล ชวนเคลือบแคลงใจ ซุกซ่อนอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ‘บรรยากาศ’ ซึ่งให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน กลับเกิดจากวิธีทางภาพยนตร์ที่ตรงข้ามห่างไกลกันมาก

The Exorcist ใช้ศิลปะของหนัง ทำทุกวิถีทางให้ทุกอย่างที่ปรากฏโน้มเอียงไปทางสมจริง น่าเชื่อถือ เพื่อรองรับเหตุการณ์สำคัญซึ่งเชื่อได้ยาก นั่นคือ ผีสิง และแสดงฤทธิ์เดชแบบจัดเต็ม

ขณะที่ The Shining ใช้ศิลปะของหนังปรุงแต่ง ทำให้ฉาก สถานที่ และตัวละคร ดูแปลกประหลาด เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งซึ่งไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง แต่เป็น ‘ฝันร้าย’ ที่สยดสยองสมบูรณ์แบบ

จุดต่างสำคัญต่อมา The Exorcist แสดงตนแน่ชัดว่าเป็น ‘หนังผี’ และสิ่งชั่วร้ายในเรื่อง ซึ่งสามารถเรียกขานไปได้ต่างๆ นานาว่า ผี ปีศาจ ซาตาน หรือความเชื่อนอกรีตต่อต้านศาสนา ก็แสดงอิทธิฤทธิ์ร้ายกาจออกมาอย่างไม่บันยะบันยัง ผ่านพฤติกรรม คำพูดคำจา และการอาละวาด ถึงขนาด ‘แรง’ จนชวนให้รู้สึกช็อก (ตรงนี้เมื่อประกอบรวมกับบรรยากาศของหนังที่เน้นความสมจริงเป็นหลัก ทำให้งานชิ้นนี้เต็มไปด้วยความน่ากลัวเอามากๆ)

The Shining นั้นแตกต่างไปอีกทาง มันเป็นหนังที่อยู่บนเค้าโครงเรื่องว่าด้วยโรงแรมผีสิงอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่เมื่อสำรวจตรวจตรากันจริงๆ สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวมากสุด กลับได้แก่ตัวละครที่เป็นคน และสแตนลีย์ คูบริค ก็เลือกตีความให้หนังสยองขวัญมีแง่มุมทางจิตวิทยา พูดถึงความบ้าคลั่งชั่วร้ายที่ซ่อนลึกอยู่ภายในจิตใจ และค่อยๆ เผยตัวเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ขณะที่วิญญาณหรือภูตผีปีศาจสารพัดในโรงแรมเป็นเพียงทีมสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ไม่ได้แผลงฤทธิ์อาละวาด ทำร้ายเหยื่อโดยตรง หรือหากทำร้ายก็ไม่ได้หนักมือเอาเป็นเอาตาย

ด้วยลักษณะท่วงทีเช่นนี้ เรื่องเฮี้ยนหลอกหลอนทั้งสิ้นทั้งปวงใน The Shining จึงสามารถมองและตีความไปได้อีกทางหนึ่งว่าเป็นเหตุการณ์ผีหลอกในใจ หรือภาพที่เกิดขึ้นในความคิดของตัวละคร แจ็ค ทอเรนซ์ เรื่องนี้ผมจะขยายความเพิ่มเติมทีหลังนะครับ

กล่าวเฉพาะหน้า ความสยองขวัญในอรรถรสที่แตกต่างกัน ระหว่าง The Exorcist และ The Shining น่าจะเป็นหนึ่งในสองสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลตอบรับเมื่อแรกออกฉายแตกต่างตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

The Exorcist สร้างปรากฏการณ์เป็นหนังฮิตทำรายได้ถล่มทลายไปทั่วโลก และสร้างปฏิกิริยาหวาดกลัวของผู้ชมจนกลายเป็นข่าวเกรียวกราว มีทั้งที่เป็นลมด้วยความตระหนกตกใจ กลัวจนไม่อาจทนดูจบ พะอืดพะอมจนต้องอาเจียน (แน่นอนว่า อาการต่างๆ เหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จนทำให้คนที่ไม่เคยนึกสนใจมาก่อนเกิดความอยากพิสูจน์ว่าตัวหนังจะน่ากลัวมากเพียงไร)

อาจจะไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่ผมคิดว่า ณ ช่วงเวลานั้น The Exorcist ได้วางมาตรฐานใหม่ให้กับแวดวงหนังสยองขวัญ ทำให้ผู้ชมเกิดความคาดหวังว่าจะได้พบเจอความสยดสยองในระดับใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังเรื่อง The Shining ที่สร้างขึ้นในอีก 7 ปีต่อมา รวมถึงชื่อเสียงและบารมีของผู้กำกับอย่างสแตนลีย์ คูบริค

ก่อนหน้าที่จะทำ The Shining คูบริคประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง มีงานขึ้นหิ้งเป็นหนังคลาสสิกติดๆ กันถึง 8 เรื่อง ประกอบไปด้วย The Killing (1956), Paths of Glory (1957), Spartacus (1960), Lolita (1962), Dr.Strangelove or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb (1964), 2001: A Space Odyssey (1964), A Clockwork Orange (1971) และ  Barry Lyndon (1975)

ในจำนวนนี้อาจมีบางเรื่องที่ล้มคว่ำเจ๊งไม่เป็นท่า แต่ในแง่คำวิจารณ์แล้ว ทุกเรื่องล้วนได้รับคำชื่นชมสรรเสริญอย่างท่วมท้นล้นหลาม

จากรายชื่อหนังที่หยิบยกมา ผมมีข้อสังเกต 2 ประการ อย่างแรกคือ ดูจากปีที่หนังออกฉาย จะเห็นได้ว่ายิ่งนานวัน คูบริคก็ยิ่งเว้นระยะห่างในการทำหนังแต่ละเรื่องมากขึ้นตามลำดับ

ตรงนี้มีคำอธิบายง่ายๆ ว่า สแตนลีย์ คูบริคได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับประเภทแสวงหาความสมบูรณ์แบบ เนี้ยบทุกรายละเอียด รวมถึงมีความเป็นศิลปินที่บรรดาผู้บริหารสตูดิโอต้องปวดเศียรเวียนเกล้า เนื่องจากไม่สามารถควบคุมให้เขาทำงานตามใบสั่ง ต้องจำยอมเปิดไฟเขียวให้คูบริคทำหนังในแบบที่ตัวเขาเองอยากทำเท่านั้น

ข้อสังเกตถัดมาคือไล่เรียงจากผลงานที่ล่วงผ่าน คูบริคทำหนังไม่ซ้ำแนวกันเลย และทำออกมาได้ดีหมดทุกแนว

คุณสมบัติ 2 ประการ ทั้งความประณีตพิถีพิถันในการสร้างสรรค์ผลงาน และความเป็นศิลปินที่เก่งรอบด้าน หยิบจับทำอะไรก็ดีงามไปหมด รวมถึงการทำหนังสยองขวัญเป็นครั้งแรก แถมยังดัดแปลงจากนิยายฮิตที่อุดมไปด้วยความเขย่าขวัญสั่นประสาทของสตีเฟน คิง ซึ่งเป็นนักเขียนชั้นยอดในแขนงสาขาขนหัวลุก

ทั้งหมดนี้ทำให้ The Shining กลายเป็นงานที่ผู้ชมและนักวิจารณ์คาดหวังเอาไว้สูงลิบลิ่ว และผลลัพธ์ที่ติดตามมาคือ ความผิดหวังครั้งใหญ่หลวง

เป็นความผิดหวัง ด้วย 2 เหตุผลใหญ่ อย่างแรก ผู้ชมไม่รู้สึกว่าหนังน่ากลัว (อย่างจะแจ้งแรงจัดแบบที่ The Exorcist เคยทำไว้) ส่วนสาเหตุต่อมา คูบริคเปลี่ยนแปลงรายละเอียดมากมายจนแตกต่างจากนิยายไปไกล สิ่งที่ตรงกันหรือยังพออนุโลมได้ว่าใกล้เคียงคือช่วงเริ่มเรื่องประมาณ 30 นาทีแรก และเส้นเรื่องบางๆ ถัดจากนั้นอีกเล็กน้อย ขณะที่รายละเอียดระหว่างทางราวๆ 80% แทบจะเป็นการเขียนบทขึ้นมาใหม่ รวมถึงการตีความประเด็นสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังของสแตนลีย์ คูบริคเพียงลำพัง

เจ้าของเรื่องเดิมอย่างสตีเฟน คิง ซึ่งถูก The Shining ฉบับหนังกีดกันกลายเป็นคนนอกที่ไร้บทบาทปราศจากตัวตน ถึงขั้นต้องออกมาแสดงความเห็นว่าไม่ปลื้มหนังเรื่องนี้เอามากๆ แฟนๆ ที่เคยชื่นชอบฉบับนิยาย ก็น่าจะผิดหวังและรู้สึกติดลบกับหนังด้วยเหตุผลเดียวกันกับผู้เขียน

ในด้านรายได้ The Shining ไม่ล้มเหลว หนังทำกำไรไปพอประมาณ ขณะที่คำวิจารณ์นั้นก้ำกึ่งไม่เป็นเอกฉันท์ มีทั้งคนชอบและคนชัง

ความล้มเหลวหนักหนาสาหัสนั้นอยู่ที่ว่าความเห็นติดลบส่วนใหญ่มาจากนักวิจารณ์ชื่อดังและทรงอิทธิพลในขณะนั้น จนกระทั่งครอบงำและบดบังเสียงตอบรับฝั่งชื่นชมจนเลือนหายสนิท กลายเป็นหนังยอดแย่ในความรู้สึกของสาธารณชนวงกว้าง

เส้นทางน่าทึ่งชวนอัศจรรย์ใจของ The Shining เริ่มต้นขึ้นตรงนี้ จากแรกเริ่มที่โดนกระหน่ำยับเยินจมธรณี มันควรจะเป็นหนังที่ตายดับและถูกลืมในเวลาอันรวดเร็ว แต่ก็เหมือนวิญญาณร้ายที่สิงสู่อยู่ในโรงแรมตามท้องเรื่อง นอกจากจะฆ่าไม่ตายแล้ว หนังยังกลับมาเกิดอีกครั้งอย่างสง่างาม เมื่อผ่านกาลเวลาไปสมควร นักวิจารณ์รุ่นถัดมาประเมินหนังเรื่องนี้ใหม่ด้วยเสียงชื่นชมยกย่อง เช่นเดียวกับผู้ชมจำนวนมากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ผ่าน VCD และ DVD

จากหนังที่เคยโดนตราหน้าว่าชวนผิดหวังและไม่น่ากลัวเอาเสียเลย The Shining กลายเป็นหนังที่ติดอันดับต้นๆ ทุกโพยทุกสำนักที่คัดสรรเลือกเฟ้นลงคะแนนโหวต ‘หนังสยองขวัญที่น่ากลัวที่สุดตลอดกาล’ รวมทั้งทรงอิทธิพลต่อ pop culture มากมายในเวลาต่อมา ไม่เว้นแม้กระทั่งในปัจจุบัน

คำอธิบายการพลิกกลับตาลปัตรกลายเป็นหนังคนละม้วนเช่นนี้ ผมมีข้อสันนิษฐานอยู่ 2 ประการ อย่างแรกคือเมื่อเวลาผ่านไป เส้นทางของหนังสยองขวัญเกิดการคลี่คลายไปสู่รูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายยิ่งขึ้น ผู้ชมเริ่มตระหนักและจับสังเกตได้ว่า ความสยดสยองน่ากลัวนั้นมีได้หลายรูปแบบหลายวิธี และรสชาติที่เคยแปลกแปร่งอย่าง The Shining ก็เริ่มเป็นที่คุ้นเคยกลายเป็นที่ยอมรับไปในท้ายที่สุด

ส่วนอีกเหตุผลนั้นเป็นคำอธิบายแบบกำปั้นทุบดิน ทื่อมะลื่อ แต่ก็น่าจะตรงกับความเป็นจริงมากสุด นั่นคือ The Shining เป็นหนังที่เจ๋งจริงๆ ปัญหาเพียงหนึ่งเดียวคือในวันแจ้งเกิด มันมาแบบไม่ดูฤกษ์ไม่ดูยาม ผิดที่ผิดเวลา จนกลายเป็นหนังที่มาก่อนกาล

พล็อตคร่าวๆ ของ The Shining  เล่าถึงครอบครัวหนึ่ง ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก พ่อคือแจ็ค ทอร์แรนซ์ เพิ่งผ่านพ้นปัญหาติดสุราเรื้อรัง จนเป็นเหตุให้ตกงาน และพยายามกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนใหม่ เลิกดื่มโดยเด็ดขาด ตั้งใจมั่นว่าจะกลับมาเอาดีเขียนนิยายให้สำเร็จ

แจ็คสมัครงาน และได้งานเป็นผู้ดูแลที่โอเวอร์ลุค โรงแรมเก่าแก่หรูหราบนภูเขา ห่างไกลจากชุมชน และมีฤดูเปิดทำการเพียงไม่กี่เดือนต่อปี เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว (อันยาวนาน) สภาพอากาศหนาวเหน็บหิมะปกคลุมหนาเตอะ ทำให้โรงแรมแห่งนี้ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายในการเปิดให้บริการ จำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว และจำเป็นต้องมีใครสักคนคอยเฝ้าดูแลเครื่องทำความร้อน เพื่อรักษาสภาพให้โรงแรมไม่เสื่อมโทรมเสียหาย

เรื่องราวที่เหลือถัดจากนั้นคือ พ่อ แม่ ลูก (ซึ่งเป็นเด็กชายตัวน้อยที่มีพลังจิตหรือการส่องแสงตรงตามชื่อเรื่อง) ต้องมาใช้ชีวิตตามลำพัง กินช่วงเวลาอันยาวนานในพื้นที่ปิดล้อมเปลี่ยวเปล่า และเป็นโรงแรมที่มีประวัติขึ้นชื่อลือชาด้านความเฮี้ยนหลอกหลอน เนืองแน่นไปด้วยเหตุร้ายสยองขวัญคับคั่ง

ใน The Shining ฉบับนิยาย ประเด็นใหญ่ใจความหลักคือ ‘สถานที่อมนุษย์ทำให้คนดีๆ กลายเป็นปีศาจร้าย’ แจ็ค ทอร์แรนซ์คือเหยื่อรายนั้น ตลอดเส้นทางจากต้นจนจบ ตัวละครนี้ต้องตกอยู่กึ่งกลางการขับเคี่ยวระหว่างความดีกับความชั่วภายในตัวเอง

แจ็คเป็นคนจิตใจดีงาม เป็นสามีที่ดี เป็นพ่อผู้น่ารักยามปกติ แต่เมื่อเหล้าเข้าปากก็กลายเป็นอีกคน อารมณ์ร้ายแบบคุมไม่อยู่ รุนแรง กร้าวร้าว

พูดแบบรวบรัด แจ็คมีจุดอ่อนใหญ่โตเด่นชัด จนผีหรือพลังชั่วร้ายในโรงแรมโอเวอร์ลุคสามารถจู่โจมเล่นงานได้ตลอดเวลา นิยายเล่าถึงการดิ้นรนต่อสู้ขัดขืนของตัวละครนี้ ด้วยอารมณ์ทั้งน่ากลัวและน่าสงสารสลับไปมา และลงท้ายด้วยการที่แจ็คเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จากการ ‘ถูกกระทำ’ จนชีวิตครอบครัวพังพินาศยับเยิน

ฉบับภาพยนตร์ของสแตนลีย์ คูบริค เริ่มต้นด้วยพื้นเพหนหลังของตัวละครตรงกัน แต่ทันทีที่ย่างเข้าโรงแรม ผู้ชมก็สัมผัสได้ทันทีว่าแจ็คไม่ได้ถูกวิญญาณในโรงแรมกระทำย่ำยี ตรงข้าม สิ่งชั่วร้ายที่แฝงอยู่ ทำให้เขาหมกมุ่นหลงใหล เปิดใจยอมรับโดยไม่ต่อต้าน

ในฉบับหนัง แจ็ค ทอร์แรนซ์เป็น ‘ผู้กระทำ’ ไม่ใช่ ‘ผู้ถูกกระทำ’ ดังเช่นนิยาย เขามีด้านมืดในตัวเต็มเปี่ยมเป็นทุนเดิม และโรงแรมโอเวอร์ลุคก็เป็น ‘ที่ที่ใช่’ เป็นเพียงกุญแจดอกหนึ่งในการไขเปิดประตูปลดปล่อยความวิปลาสที่มีอยู่ให้ไหลหลั่งพรั่งพรูออกมาเป็นอิสระ

ผีในฉบับหนังไม่ได้อาละวาดจะแจ้งเหมือนในนิยาย แต่ปรากฏให้แดนนี ผู้เป็นลูกชายเห็น ผ่านการมีพลังจิตและผ่านการประสบพบเจอของแจ็ค (ซึ่งสามารถตีความได้อีกอย่างว่าสภาพจิตใจที่ไม่ปกติของแจ็ค ทำให้เขาเกิดภาพหลอน มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเกือบทุกครั้งที่แจ็คเจอผี จะเริ่มจากการมองเห็นผ่านกระจกเงา)

ในฉบับภาพยนตร์ ผีหลอกโดยสำรวมและลดปริมาณน้อยกว่าในนิยาย (จนเป็นเหตุให้ผู้ชมรู้สึกว่าไม่น่ากลัวเลยเมื่อแรกออกฉาย) ค่อนไปทางหลอนและสร้างภาพจำติดตามากกว่า (มีอย่างน้อย 3 ภาพที่กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของหนังเรื่องนี้ และถูกนำไปอ้างอิงเล่าซ้ำในหนังรุ่นหลังจำนวนมาก คือภาพเด็กหญิงฝาแฝดในชุดสีฟ้า, ภาพไหลผ่านประตูจนนองท่วม และภาพแจ็ค ทอร์แรนซ์ ใช้ขวานพังประตูแล้วแนบใบหน้าผ่านรอยแตกพร้อมกับรอยยิ้มเสียสติ)

ความน่ากลัวที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้อยู่ที่บรรยากาศเวิ้งว้าง ฉากและดีไซน์สวยแปลกตา หลุดพ้นจากความเป็นจริง ขณะเดียวกันก็เย็นชาไร้ชีวิตชีวา (สแตนลีย์ คูบริคเก่งกาจเป็นเลิศมากกับการสร้างบรรยากาศทำนองนี้) เต็มไปด้วยความไม่น่าไว้วางใจ

ฉากหลังเหล่านี้ บวกการใส่ดนตรีประกอบท่วงทำนองไม่เจริญหู สำเนียงอึกทึกครึกโครม เต็มไปด้วยเสียงแทรกขัดกันเอง, มุมกล้องและการจัดองค์ประกอบภาพ การเคลื่อนกล้องติดตามตัวละครอย่างกระชั้นชิด (มีข้อมูลระบุไว้ว่า The Shining เป็นกลุ่มหนังรุ่นแรกๆ ที่ใช้อุปกรณ์ในการถ่ายภาพที่เรียกว่า stedicam ซึ่งช่วยให้การถ่ายภาพแบบไม่ใช้ขาตั้ง แต่ตากล้องสามารถแบกและเคลื่อนตามตัวละคร ได้ภาพที่นิ่มนวลไม่สั่นไหว) จนผู้ชมเหมือนหลุดเข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้เหตุการณ์ในหนังใกล้เคียงกับตัวละคร

การวางตัวละครเสียจริตสุดขีดอย่างแจ็ค ทอร์แรนซ์ ลงไปในองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ The Shining กลายเป็นหนังที่ผู้ชมรู้สึกเหมือนถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลา และยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกว่าตัวผู้ชมเองและตัวละครที่ลุ้นเอาใจช่วยทวีความไม่ปลอดภัย ยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นเรื่อยๆ

The Shining ฉบับหนังน่ากลัวตรงนี้ ขณะที่ฉบับนิยายชวนยะเยือกด้วยการบรรยาย ความแปลกและช่างคิดในการสร้างสรรค์ฉากผีหลอกนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยวิธีการพิสดารแทบไม่ซ้ำกัน รวมถึงจังหวะแม่นยำในการเร้าอารมณ์แบบสั่งได้อยู่มือของสตีเฟน คิง

แม้ว่าจะต่างกันมาก แต่ทั้งนิยายและหนังเรื่องนี้ ต่างก็ยอดเยี่ยม (และน่ากลัวจับจิตจับใจ) ในแนวทางของตัวเอง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save