fbpx

เรื่องวายป่วงที่ฮาวาย The White Lotus

ผมดูมินิซีรีส์เรื่อง The White Lotus ทาง HBO GO โดยไม่รู้ข้อมูลอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพล็อตเรื่องคร่าวๆ หรือประเภทแนวทางของชิ้นงานว่าอยู่ในหมวดหมู่ใด

แรงจูงใจให้นึกอยากดูนั้นง่ายมากครับ งานชิ้นนี้เพิ่งชนะ EmmyAwards 10 สาขา (จากการเข้าชิงทั้งหมด 20 สาขา) รางวัลใหญ่ๆ ที่ได้ไปคือ มินิซีรีส์ยอดเยี่ยม, กำกับ, เขียนบท, นักแสดงสมทบชาย และนักแสดงสมทบหญิง

2 สาขาหลังน่าสนใจตรงที่รางวัลสำหรับการแสดงนั้นมีผู้ได้รับการเสนอเข้าชิง 7 ราย The White Lotus เข้าชิงสาขาสมทบชาย 3 คน เข้าชิงสมทบหญิง 5 คน

เกือบๆ จะเป็นการผูกขาดแข่งกันเองโดยไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเลยนะครับ

เมื่อได้ดูจนจบลง ผมก็เกิดความกระจ่างเพิ่มเติมว่า เพราะเหตุใดซีรีส์เรื่องนี้จึงไม่ได้เข้าชิงในสาขานักแสดงนำชายและนักแสดงนำหญิง

คำตอบก็คือ เรื่องนี้ไม่มีตัวละครทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายคนไหนเข้าเกณฑ์เป็นบทนำเลยแม้แต่คนเดียว

The White Lotus สร้างสรรค์, กำกับและเขียนบทโดยไมค์ ไวท์ ซึ่งนักดูหนังน่าจะพอคุ้นหน้าค่าตาเขามาบ้างจากเรื่อง School of Rock ที่แสดงร่วมกับแจ็ค แบล็ค (ไวท์เป็นคนเขียนบทเรื่องนี้ด้วย) งานเด่นอีกชิ้นหนึ่งของเขาที่ได้รับคำชมมาก ได้แก่ การเขียนบท (และกำกับบางตอน) ซีรีส์เรื่อง Enlightened

The White Lotus เป็นมินิซีรีส์ 6 ตอนจบ และมีลักษณะเป็น anthology คือมีหลายซีซัน แต่ละซีซันเนื้อเรื่องเหตุการณ์แยกขาดจากกัน (หรืออาจมีความข้องเกี่ยวกันบ้างเล็กน้อย) ทำนองเดียวกับ American Horror Story หรือ American Crime Story

เรื่องราวในซีรีส์เกิดขึ้นและจบลงในหนึ่งสัปดาห์ แขกวีไอพี 3 กลุ่ม เดินทางมายังเกาะแห่งหนึ่งในฮาวาย เข้าพักที่รีสอร์ตหรูหราราคาแพงชื่อไวท์ โลตัส เรื่องเริ่มต้นเมื่อพวกเขาและเธอมาถึง และจบลงเมื่อทั้งหมดกลับไปสู่วิถีชีวิตเดิมของตนเอง

ทุกตอนมีโครงสร้างแบบแผนเดียวกัน เล่าถึงกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจของบรรดาแขกทั้งหมด ตั้งแต่ตื่นนอนยามเข้า และจบลงที่การเข้านอนในยามค่ำคืน (บางตอนอาจจบที่เช้าวันต่อมา)

พูดง่ายๆ คือเรื่องเล่าหนึ่งตอนต่อเหตุการณ์หนึ่งวัน (ยกเว้นตอนจบ ซึ่งเล่าควบเหตุการณ์ 2 วัน 2 คืน)

เรื่องเริ่มต้นเปิดฉากที่สนามบินฮาวาย ขณะผู้โดยสารกำลังรอขึ้นเครื่องเที่ยวกลับ ชายหนุ่มคนหนึ่งนั่งอยู่ตามลำพัง คู่สามีภรรยาซึ่งนั่งอยู่ฝั่งตรงข้ามเอ่ยปากชวนคุยฆ่าเวลา

จากบทสนทนา ชายหนุ่มผู้นั้นเดินทางมาฮันนีมูน พักที่ไวท์ โลตัส ซึ่งเพิ่งเกิดเหตุฆ่ากันตาย (และศพผู้ถูกส่งขึ้นเครื่องในเที่ยวบินนี้ด้วย)

จากนั้นเรื่องก็เล่าย้อนกลับไปยังหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

พล็อตคร่าวๆ ของ The White Lotus เล่าถึงผู้คน 2 กลุ่ม ฝ่ายแรกคือแขกที่มาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ อีกฝ่ายคือพนักงานของไวท์ โลตัส (ซึ่งมีตัวละครสำคัญ 2 ราย คือ อาร์มอนด์ผู้จัดการโรงแรม และเบลินดาผู้จัดการสปา) ทั้งหมดพัวพันเกี่ยวข้องกันทั้งในทางดีและทางร้าย จนกระทั่งนำไปสู่บทสรุปที่เกริ่นไว้ในตอนเริ่มเรื่อง

พูดอีกแบบคือ เป็นการเล่าแสดงให้เห็นว่าจากทริปท่องเที่ยวสำราญตามปกติ มันลงเอยกลายเป็นเหตุฆาตกรรมได้อย่างไร และปมที่ผูกไว้เพื่อเร้าความสนใจของผู้ชมตั้งแต่ต้นก็คือ ใครตายและใครเป็นคนฆ่า?

ข้างต้นนี้เป็นเส้นเรื่องคร่าวๆ นะครับ เป็นเส้นบางๆ ที่เกือบจะไม่มีพล็อตให้จับต้องได้ (ด้วยวิธีเล่าซึ่งเน้นกิจกรรมของตัวละครในลักษณะวันต่อวัน) แต่ในทางตรงกันข้าม ซีรีส์นี้ก็อัดแน่นเต็มไปด้วยเหตุการณ์มากมาย

ตัวละครสำคัญทั้งหมดมี 10 คน (เป็นผู้มาเยือน 8 คน และพนักงานโรงแรม 2 คน) ทุกรายล้วนมีเรื่องราวของตัวเอง จนเหมือนประกอบไปด้วยเนื้อเรื่องย่อยๆ จำนวนมาก

เนื้อเรื่องแรก ว่าด้วยคู่สามีภรรยา เชน (ชายหนุ่มในฉากเปิดเรื่อง) และเรเชล ซึ่งเดินทางมาฮันนีมูน ทั้งสองรู้จัก คบหา ตกหลุมรัก และแต่งงานกัน ภายในเวลาเพียงแค่ 5 เดือน ฝ่ายชายเป็นลูกมหาเศรษฐี ฝ่ายหญิงเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ฐานะยากจน

การฮันนีมูนที่วาดภาพตั้งความหวังเอาไว้สวยหรู ส่อเค้าไม่ดีตั้งแต่เดินทางมาถึง ห้องชุดหรูหราที่จองไว้เกิดปัญหาสับสนจนได้ห้องชุดที่ด้อยกว่า ทำให้ชายหนุ่มเกิดอาการหงุดหงิดไม่พอใจ และโวยวายกับผู้จัดการโรงแรม กระทั่งบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งที่ลุกลามเลยเถิดไปไกล

ที่ย่ำแย่กว่านั้นคือ นิสัยเอาแต่ใจและต้องได้ทุกสิ่งตามที่ตนเองประสงค์ของเชน ทำให้เกิดการทกระทบกระทั่งมีปากมีเสียงกับเรเชลผู้เป็นภรรยา ซึ่งค่อยๆ ค้นพบความจริงต่างๆ อย่างรวดเร็วว่า ใต้เปลือกผิวภายนอกของการแต่งงานที่ทำให้เธอเป็นเสมือนซินเดอเรลลา แท้จริงแล้วคือการถูกจองจำสูญสิ้นอิสระ ไม่เป็นตัวของตัวเอง กลายเป็นนกน้อยในกรงทอง และเป็นเพียงสมบัติประดับบารมีชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง

เรื่องราวต่อมาเล่าถึงทันยา เศรษฐินีสาวใหญ่ ซึ่งเดินทางมาฮาวายเพื่อโปรยเถ้าอัฐิของมารดาที่เพิ่งเสียชีวิตไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า ทันยามีอาการสติแตกจมอยู่กับความโศกเศร้า (และมักจะเมามายตลอดเวลา)

การมาเยือนไวท์ โลตัส ทำให้ทันยาได้รู้จักกับลินดา ผู้จัดการแผนกสปา ซึ่งใช้ความเชี่ยวชาญรอบรู้ในวิชาชีพช่วยให้สาวใหญ่ผ่อนคลาย หายจากอาการจิตตกอยู่หลายครั้งหลายครา ยิ่งไปกว่านั้นเบลินดายังแสดงความใส่ใจ รับฟังปัญหาของอีกฝ่าย (นอกเวลางานของเธอ) แสดงความเห็นให้คำแนะนำต่างๆ นานาอย่างอ่อนโยน เปี่ยมไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ จนมิตรภาพของทั้งคู่งอกงาม ทันยายื่นข้อเสนอพร้อมจะออกเงินลงทุนให้เบลินดาลาออกมาทำกิจการของตนเอง

(หลายๆ) เรื่องราวสุดท้ายของฝั่งผู้มาเยือน เกิดขึ้นกับครอบครัวมอสเบเคอร์ ซึ่งมีสมาชิกที้งหมด 5 คน ดังนี้

นิโคล นักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จจนติดอันดับ 1 ใน 10 สตรีผู้ทรงอิทธิพล เธอเป็นภรรยาที่เป็นผู้นำครอบครัวตัวจริง มีรายได้มากกว่าสามี และหมกมุ่นคร่ำเคร่งกับงาน (แม้กระทั่งในการเดินทางมาพักร้อน นิโคลก็ยังเจรจาเรื่องธุรกิจ ประชุมงานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน)

มาร์ค สามีและพ่อซึ่งกลายเป็นช้างเท้าหลัง ต้องการให้คนในครอบครัวเคารพนับถือแต่ก็ล้มเหลวมาตลอด ที่ย่ำแย่กว่านั้น เขาพบอาการผิดปกติกับบางอวัยวะในร่างกาย จนหวั่นกังวลว่าตนเองอาจเป็นมะเร็ง และหลงเหลือเวลาในชีวิตเพียงน้อยนิด

ควินน์ ลูกชายคนเล็ก เป็นเด็กหนุ่มวัย 16 ปีซึ่งกำลังเคว้งคว้างสับสน ไม่รู้เป้าหมายในชีวิต หมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมและดูหนังโป๊ โดนพี่สาวกลั่นแกล้งเย้ยหยันอยู่ตลอดเวลา แม่ไม่มีเวลามาใส่ใจดูแล ขณะที่พ่อซึ่งพยายามจะใกล้ชิดสนิทสนมด้วย ก็ปฏิบัติต่อลูกชายแบบทึกทักเข้าใจไปเอง จนยิ่งทำก็ยิ่งห่างไกลและเกิดช่องว่างความไม่เข้าใจหนักข้อยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

โอลิเวีย ลูกสาวคนโต เรียนมหาวิทยาลัย มีความคิดก้าวหน้าและเป็นปัญญาชน มีจิตสำนึกทางสังคมและจุดยืนเพื่อความถูกต้องดีงาม แต่เมื่ออยู่กับครอบครัวกลับกลายเป็นเด็กสาวนิสัยเสีย ต่อต้านพ่อแม่ พูดจาเย้ยหยันแดกดันทุกคนไม่เลือกหน้า

คนสุดท้าย พอลลา เพื่อนสนิทของโอลิเวีย ซึ่งมีนิสัยคล้ายๆ กันและเข้าขาจนเป็นทีมที่ลงตัว จนกระทั่งเธอไปชอบพอกับพนักงานโรงแรมหนุ่มรูปหล่อคนหนึ่ง และปกปิดไม่ให้ใครล่วงรู้ความสัมพันธ์ดังกล่าว มิตรภาพระหว่างพอลลากับโอลิเวียก็เริ่มมีปัญหา

เรื่องราวของอีก 2 ตัวละครสำคัญคือ อาร์มอนด์และเบลินดา แทรกปนอยู่กับหลายๆ เหตุการณ์ข้างต้นนะครับ

จุดเด่นอันดับแรกของ The White Lotus คือ ฝีมือการเขียนบท ซึ่งเล่าถึงกลุ่มตัวละครหลักทุกคนสลับไปมาพร้อมๆ กันอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบผ่านเหตุการณ์ชีวิตประจำวันทั่วไป เริ่มจากแนะนำตัวละครและพื้นเพความเป็นมาในตอนแรก จากนั้นก็ค่อยๆ แสดงปัญหาออกมาทีละนิด รวมถึงการขมวดสู่จุดปะทะแตกหักและบทสรุปคลี่คลายในตอนท้าย

ผมรู้สึกของผมเองนะครับ ว่าการเขียนบทและการดำเนินเรื่องของซีรีส์นี้ มี narrative form หรือแบบแผนการเล่าเรื่องใกล้เคียงกับหนังที่สร้างออกฉายตามโรงมากกว่าแบบแผนวิธีการของซีรีส์ ซึ่งในแต่ละตอนมี ต้น กลาง ปลาย มีไคลแม็กซ์ของตนเอง รวมทั้งมีจังหวะจบแบบทิ้งค้าง เพื่อเร่งเร้าความสนใจของผู้ชมให้อยากติดตามตอนต่อไป

ใน The White Lotus มีร่องรอยของโครงสร้างวิธีแบบซีรีส์ปรากฏอยู่บ้าง แต่ไม่ชัดนัก ภาพรวมคล้ายกับหนังฉายโรงมากกว่า กล่าวคือ เริ่มด้วยการปูพื้นเกริ่นนำ ระหว่างนั้นก็มีจุดดึงดูดเร่งเร้าความสนใจอยู่เป็นระยะๆ พร้อมกับแสดงปัญหาและความขัดแย้งของตัวละคร มีจุดเปลี่ยนหักเห มีช่วงดำดิ่งตึงเครียดให้ตัวละคร การแก้ไขสถานการณ์ จนกระทั่งนำพาไปสู่ไคลแม็กซ์

ทั้งหมดค่อยๆ เกิดขึ้นตามลำดับ ไม่ได้อยู่ในตอนเดียวกัน แต่เป็นไปตามลำดับเวลาในการดำเนินเรื่อง

ลักษณะวิธีการข้างต้น ส่งผลให้มันกลายเป็นมินิซีรีส์ที่เดาทางยาก และปลอดพ้นจากความเป็นสูตรสำเร็จ ยิ่งประกอบกับการเล่าเรื่องแบบแสดงชีวิตวันต่อวันของตัวละครด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คาดคะเนไม่ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ความเก่งกาจนี้ถึงขั้นเดาไม่ได้จนกระทั่งบทสรุปทิ้งท้ายเลยนะครับ

โดยแนวทางแล้ว The White Lotus จัดเป็น comedy drama (บางคนก็เรียกรวบรัดว่า dramedy ไปเลย) ตรงนี้ผมพอระแคะระคายมาบ้างก่อนดู จึงเผลอตัวตั้งใจเตรียมขำ แต่พอติดตามไปได้สักพักกลับพบว่าไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่กะเก็งไว้

อารมณ์ขันนั้นมีอยู่นะครับ และมีในปริมาณค่อนข้างมากเสียด้วย แต่ไม่ได้มาในรูปลักษณ์เป็นแก๊กตลก ไม่ได้เป็นอารมณ์ขันที่เรียกเสียงหัวเราะอย่างจะแจ้งเด่นชัด

ความเป็น comedy จะปรากฏผ่านบรรยากาศ โทนเรื่อง ซึ่งไม่ถึงกับนำเสนออกมาใน ‘ทีเล่น’ แต่เป็นความจริงจังแบบไม่ตึงเครียดคอขาดบาดตาย และที่โดดเด่นมากคือ เป็นอารมณ์ขันที่เกิดจากการผูกเรื่องสร้างสถานการณ์ ให้เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน อิหลักอิเหลื่อ ซึ่งตัวละครต้องพบเผชิญ

เป็นสถานการณ์ในแบบทั้งขำทั้งขื่น เสียดสีเย้ยหยัน จนแม้จะรู้สึกตลกแต่ก็ฮาไม่ออกนะครับ มีสถานการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ตลอดทั่วทั้งเรื่อง (ซึ่งคิดออกมาได้เก่งกาจเหลือเกิน)

ยกตัวอย่างฉากหนึ่งที่เด่นมาก ทันยาเช่าเรือของโรงแรมเพื่อนำเถ้าอัฐิของแม่ไปโปรยลงทะเลตอนพระอาทิตย์ตกดิน ในขณะเดียวกันคู่รักฮันนีมูน เชนตั้งใจจะเซอร์ไพรส์ภรรยา วางแผนพาเธอไปล่องเรือดินเนอร์ใต้แสงเทียนท่ามกลางบรรยากาศสุดแสนโรแมนติก

และด้วยที่มาสาเหตุซึ่งผมจะไม่เปิดเผยตรงนี้ ตัวละครทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายไกลกันสุดกู่ ก็ให้มีอันต้องมาลงเรือลำเดียวกันโดยต่างฝ่ายต่างไม่ได้รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน

อารมณ์ขันส่วนใหญ่อยู่ในแถวย่านประมาณที่เล่ามา พ้นจากนี้ก็มีปรากฏในคำพูดคำจา บทสนทนาที่ถากถางแดกดันกันอย่างสนุกปาก

สืบเนื่องต่อจากฝีมือการเขียนบทอันยอดเยี่ยม ความโดดเด่นถัดมาคือ การกำกับ ที่มีจังหวะจะโคนการเร้าอารมณ์ต่างๆ แม่นยำมาก ทำให้เรื่องเล่าในแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ (และพูดเยอะ พูดมาก พูดกันอยู่ตลอดเวลา ปราศจากเหตุการณ์หรือแอ็กชันหวือหวา) เต็มไปด้วยความสนุกเพลิดเพลินชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ และทวีความเข้มข้นขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละตอน

ผมคิดว่า ความสนุกของ The White Lotus นั้น ไม่ได้อยู่ที่พล็อต แต่เป็นรสบันเทิง (ชนิดครบรสทั้งรักทั้งชังทั้งหวานและขมขื่น) อันเกิดจากการขับเคลื่อนของตัวละคร

พูดให้ตรงกว่านั้น มินิซีรีส์ที่ไม่มีใครเป็นพระเอกนางเอก ไม่มีตัวละครหลักซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเดินเรื่อง สามารถสร้างกลุ่มตัวละครเป็นหมู่คณะออกมาได้อย่างโดดเด่นมีชีวิตชีวา เปี่ยมด้วยสีสันเอามากๆ จนทำให้ทุกการตัดสลับไปมา เรื่องราวยังคงน่าติดตาม ไม่มีอาการตกหล่นหรือแผ่ว เนื่องเพราะทุกตัวละครมีความแข็งแรงมาก

บวกรวมกับการแสดงชั้นดี ดูแล้วก็ไม่น่าแปลกใจที่ 8 ใน 10 ตัวละครหลัก พาเหรดเข้าชิงรางวัลสาขาการแสดงกันเกือบจะยกทีม (ตัวละครที่ไม่ได้เข้าชิงคือ ควินน์และพอลลา)

นอกจากความสนุกสนาน ตัวละครที่โดดเด่น ชั้นเชิงฝีมือในการเล่าเรื่องแล้ว อีกสิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ ประเด็นแก่นเรื่อง ซึ่งครอบคลุมแง่มุมต่างๆ มากมายตามเนื้อเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นรอยร้าวบาดหมางและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว การจมปลักอยู่กับความทุกข์โศกจากอดีตอันเจ็บปวดเลวร้ายและการคลี่คลายหลุดพ้น เพื่อก้าวเดินใช้ชีวิตต่อไป การค้นพบตนเอง (ปรากฏในเรื่องของควินน์และเรเชล) ฯลฯ

ที่น่าสนใจคือ แง่มุมเหล่านี้คลี่คลายลงเอยแบบไม่เป็นสูตรสำเร็จ บางเรื่องก็จบสวยงามให้ความหวัง บางเรื่องก็หม่นหมองเศร้าสร้อย บางเรื่องก็ทิ้งท้ายเป็นตลกร้ายขำขื่น บางเรื่องเป็นชัยชนะ บางเรื่องตัวละครพ่ายแพ้ยอมจำนน            

ที่ยอดเยี่ยมที่สุดคือ ท่ามกลางเนื้อหาหลากหลาย ดูกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ เนื้อหาส่วนใหญ่มีจุดร่วมที่สำคัญอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่ร้อยเรียงเชื่อมโยงทุกประเด็นเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน นั่นคือ ความแตกต่างเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น และการเปลี่ยนหรือเลื่อนขั้นสถานะทางสังคม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save