fbpx
ความจริงของความทรงจำ The Sense of an Ending

ความจริงของความทรงจำ The Sense of an Ending

‘นรา’ เรื่อง

 

มีหนังสือบางเล่มที่ผมเริ่มอ่านด้วยความรู้สึกเอียงข้างไปทางติดลบ และจบลงด้วยความรู้สึกบวกแล้วบวกอีกหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งต่อมากลายเป็น ‘หนังสือในดวงใจ’

เท่าที่นึกออก นอกจาก Beloved ของโทนี มอร์ริสันแล้ว The Sense of an Ending ก็เป็นอีกเล่มที่เข้าข่ายนี้เต็มๆ

ตอนที่อ่านนิยายเรื่อง The Sense of an Ending เป็นครั้งแรกเมื่อสามปีที่แล้ว ความรู้สึกเบื้องต้นของผมหลังจากผ่านตาไปได้ไม่กี่สิบหน้าคือเกิดอาการใจเสีย เกือบๆ จะถอดใจล้มเลิกลงกลางคัน เนื่องจากวิธีเล่าที่เริ่มต้นแบบกระจัดกระจาย ไม่เป็นรูปทรง (พูดอีกแบบคือจับต้องพล็อตเรื่องได้ไม่ชัดเจนนักว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร หรืออยู่ในหมวดหมู่แนวทางไหน), บทสนทนาระหว่างตัวละคร (กลุ่มเด็กมัธยมปลาย) ที่มักจะถกถึงประเด็นเกี่ยวกับปรัชญาตามประสาเด็กร้อนวิชา, ลีลาการเขียนและสำนวนโวหารที่ต้องอ่านไป แปลไป และทำความเข้าใจตามไปด้วยแบบประโยคต่อประโยคอยู่ตลอดเวลา

พูดอีกแบบหนึ่งคือ ขณะนั้นผมคุ้นกับนิยายประเภทเบสต์เซลเลอร์ในกระแสหลัก ซึ่งมีความง่ายและตรงไปตรงมามากกว่าเยอะ เมื่อมาเจอะเจองานเขียนอีกลักษณะ ใช้ท่วงทำนองการบอกเล่าที่ไม่เป็นสูตรสำเร็จ พูดถึงประเด็นทางเนื้อหาสาระที่สลับซับซ้อนกว่า เรียกร้องสมาธิในการอ่านและกระตุ้นให้คิดตาม จึงเกิดอาการตื่นตระหนกตกใจเอาได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม ในคราวครั้งนั้น เมื่ออ่าน The Sense of an Ending จบลง ผมกลับชอบและประทับใจมากแม้จะได้รับรสเพียงแค่ครึ่งเดียว คืออารมณ์สะเทือนใจและความตกตะลึงครั้งแล้วครั้งเล่าจากการเผยความลับสำคัญหลายระลอกในตัวเรื่อง ส่วนประเด็นทางเนื้อหาสาระต่างๆ นั้นยังจับต้องและทำความเข้าใจไม่ได้เลย

จนถึงปัจจุบัน ผมอ่าน The Sense of an Ending ซ้ำอีกหลายครั้ง พบว่ายิ่งอ่านก็ยิ่งง่ายลงเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้สึกว่าไม่ใช่หนังสือที่อ่านยากอีกต่อไป และสามารถจับสังเกตเล็งเห็นคุณงามความดีต่างๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเข้าใจได้ว่าสาระสำคัญสะท้อนประเด็นแง่มุมใด

ผมคิดว่าสิ่งเดียวที่ยังคง ‘ยาก’ ไม่แปรเปลี่ยน คือประเด็นสาระสำคัญของเรื่อง ซึ่งพูดในสิ่งที่ยากและสลับซับซ้อนเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งยังเป็นแง่มุมเปิดกว้างที่ไม่มีคำตอบแน่ชัดตายตัว

The Sense of an Ending เป็นนิยายปี 2011 ผลงานของจูเลียน บาร์นส์ นักเขียนชาวอังกฤษ ซึ่งเคยมีผลงานเข้ารอบสุดท้ายรางวัล Man Booker Prize มาแล้ว 3 ครั้งจากเรื่อง Flaubert’s Parrot (1984) England, England (1998) และ Arthur & George (2005) (เล่มหลังสุดนี้มีฉบับภาษาไทยด้วยนะครับ ใช้ชื่อว่า ‘อาร์เธอร์กับจอร์จ’ แปลโดยอาจารย์นพมาส แววหงส์ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน)

หลังจากทำได้แค่เข้าชิงมาหลายปี นิยายเรื่อง The Sense of an Ending (ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า ‘ณ ที่สิ้นสุดของบางสิ่ง’ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2560) ก็ทำให้บาร์นส์ได้รับรางวัล Man Booker Prize ในที่สุด

The Sense of an Ending เล่าเรื่องโดยแบ่งออกเป็น 2 ภาค เป็นการทบทวนความจำรำลึกอดีตของตัวเอก ชายวัย 60 กว่าชื่อโทนี เว็บสเตอร์

ในภาคแรก โทนีเริ่มต้นเล่าความหลังเมื่อทศทวรรษ 1960 ขณะเขายังเรียนชั้นมัธยมปลาย พูดถึงกลุ่มเพื่อนสนิทอเล็กซ์กับโคลิน รวมทั้งการมาสมทบของสมาชิกใหม่ชื่อเอเดรียน ฟินน์ ซึ่งทำให้ทุกคนในกลุ่มทึ่งไปตามๆ กัน ทั้งความเป็นตัวของตัวเอง ความปราดเปรื่องช่างคิด และการให้เหตุผลคำอธิบายเรื่องราวต่างๆ ตลอดจนการ ‘ลองดี’ กับครูในหลายวิชา

หลังจากเรียนจบ กลุ่มเพื่อนต่างแยกย้ายไปเรียนต่างมหาวิทยาลัย บางคนทำงานสานต่อกิจการของครอบครัว โทนีมีแฟนเป็นเด็กสาวชื่อเวโรนิกา ซึ่งดูจะเหนือกว่าเขาในทุกๆ ด้าน ทั้งระดับสติปัญญา รสนิยม และฐานะความเป็นอยู่

การคบหาระหว่างโทนีกับเวโรนิกามองเห็นได้ชัดว่าฝ่ายหญิงมีบทบาทเป็น ‘ผู้นำ’ ขณะที่โทนีทำได้แค่คล้อยตาม แม้กระทั่งในเรื่องเซ็กซ์ ซึ่งเธอยืนกรานให้ไปไกลสุดเพียงแค่ ‘เพศสัมพันธ์ภายนอก’

ครั้งหนึ่งในช่วงปิดภาคเรียน เวโรนิกาชวนโทนีไปพักบ้านของเธอหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งกลายเป็นช่วงเวลาน่ากระอักกระอ่วน เป็นประสบการณ์ไม่น่าจดจำสำหรับโทนี เมื่อพ่อและพี่ชายของเธอปฏิบัติต่อเขาอย่างหมิ่นแคลน (อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดที่บอกเล่า อาจเป็นไปได้ว่า โทนีคิดและเข้าใจเอาเองว่าการแสดงความเป็นกันเอง การล้อเล่นหยอกเอินของพ่อและพี่ชายแฟน เป็นการกระทำด้วยเจตนาลบประสงค์ร้าย)

ไม่นานจากนั้น โทนีกับเวโรนิกาก็แยกทาง และจบความสัมพันธ์ลงแบบไม่อาจเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ล่วงเข้าสู่ปีสุดท้ายในชีวิตมหาวิทยาลัย ชายหนุ่มได้รับจดหมายจากเอเดรียน บอกเล่าว่าเขาคบหาเป็นแฟนกับเวโรนิกา

โทนีส่งไปรษณียบัตรตอบกลับ แสดงความยินดีกับทั้งคู่ด้วยสำนวนภาษาทีเล่นที่พวกเขาใช้ในการสื่อสารระหว่างกัน แล้วต่อมาก็ตัดสินใจเขียนจดหมายส่งไปอีกฉบับ ที่เขียนด้วยความจริงจังและเป็นทางการกว่า “ในที่สุดผมก็ตอบสนองต่อความเป็นงานเป็นการของเขา ผมเลิกใช้ภาษาใน ‘สาส์น’ อันงี่เง่านั้นเสีย เท่าที่ผมระลึกได้ ผมบอกเขาไปไม่น้อยว่าผมคิดอย่างไรถึงหลักศีลธรรมร่วมของเขาและเธอ ผมยังแนะนำเขาให้สุขุมรอบคอบด้วย…”

หลังจบมหาวิทยาลัย โทนีออกเดินทางตระเวนเที่ยวสหรัฐอเมริกานานหลายเดือน เมื่อกลับถึงบ้านก็ได้รับแจ้งข่าวว่าเอเดรียนฆ่าตัวตาย (พร้อมทั้งทิ้งจดหมายลา อธิบายเหตุผลในเชิงปรัชญา)

โทนีเริ่มต้นทำงาน แล้วได้พบมาร์กาเร็ต แต่งงานกัน และมีลูกสาวชื่อซูซีในอีก 3 ปีต่อมา ชีวิตคู่ดำเนินไป 12 ปี ทั้งคู่ก็หย่าร้าง แต่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และนัดหมายพบปะกันอยู่เนืองๆ

เรื่องราวในภาคแรกจบลงตรงที่โทนีเล่าความหลังเกี่ยวกับชีวิตตนเองมาจนถึงปัจจุบัน เกษียณจากงาน เป็นโสด มีหลักทรัพย์พอที่จะอยู่อย่างไม่ขัดสน ความสัมพันธ์กับอดีตภรรยา ลูกสาวและหลานๆ อยู่ในเกณฑ์ดี เป็นสมาชิกสมาคมประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และเป็นอาสาสมัครในห้องสมุดของโรงพยาบาล

ในภาคสอง โทนีวัย 60 เศษได้รับจดหมายจากสำนักงานทนายความ แจ้งว่าเขาได้รับมรดกจากมิสซิสซาราห์ ฟอร์ด แม่ของเวโรนิกา เธอทำพินัยกรรมมอบเงินให้เขาจำนวน 500 ปอนด์ พร้อมกับเอกสารสองชิ้น

ชิ้นแรกเป็นจดหมายสั้นๆ ของซาราห์ เนื้อความส่วนหนึ่งระบุว่าเธอตัดสินใจมอบไดอารีของเอเดรียน (ซึ่งเขียนขึ้นก่อนฆ่าตัวตายไม่นาน) ให้กับโทนี

จดหมายนี้นำมาซึ่งคำถามหลายๆ ข้อ ไม่ว่าจะเป็นบันทึกของเอเดรียนตกอยู่ในกรรมสิทธิ์ของซาราห์ได้อย่างไร อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจมอบให้กับโทนี รวมทั้งคำถามใหญ่สุด คือบันทึกนั้นจดจารเรื่องราวใดบ้าง (โทนีแอบคาดหวังไว้ว่ามันอาจจะมีร่องรอยเบาะแสบางอย่างเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของเอเดรียนปรากฎอยู่ในนั้น)

อย่างไรก็ตาม สมุดบันทึกดังกล่าวไม่ได้ส่งมอบมาด้วย และยังอยู่ในความครอบครองของเวโรนิกา

เรื่องราวหลักๆ ในภาคสองว่าด้วยการเพียรพยายามทุกวิถีทางต่างๆ ของโทนีเพื่อให้ได้สมุดบันทึกของเอเดรียน และสิ่งหนึ่งในหลายๆ อย่างที่เขาทำลงไป คือการติดต่อสื่อสารกับเวโรนิกาอีกครั้งหลังห่างหายจากกันไปนานหลายสิบปีด้วยความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างรุนแรง

เรื่องราวในภาคสอง เห็นจะพอเล่าคร่าวๆ ได้เท่านี้ เพราะมันนำไปสู่เหตุการณ์ความลับและการเปิดเผยที่น่าตกใจอยู่มากมายหลายครั้ง

ความยอดเยี่ยมแรกสุดของ The Sense of an Ending คือแบบแผนโครงสร้างในการเล่าเรื่อง เริ่มจากภาคแรกที่ดูเหมือนไร้ทิศทาง แวะไปแตะต้องกล่าวถึงสิ่งละอันพันละน้อย อย่างเช่น บทสนทนาในชั้นเรียนประวัติศาสตร์, เรื่องราวของเพื่อนคนหนึ่งชื่อร็อบสัน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับพล็อตหลัก รวมไปถึงการเลือกเน้นเล่าบางช่วงตอนอย่างละเอียด และเล่าบางแง่มุมอย่างรวบรัดรวดเร็ว

พูดง่ายๆ คือ มันแลดูเป็นโครงสร้างการเล่าเรื่องที่ดูไร้ระเบียบ ปราศจากรูปทรง จนเมื่อล่วงเข้าสู่เหตุการณ์ในภาคสอง ผู้อ่านจึงเข้าใจได้ทันทีว่า ทั้งหมดในภาคแรก คือการเล่าความทรงจำหรือสิ่งที่โทนีจดจำในลักษณะเป็นภาพรวมกว้างๆ ของชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา เพื่อเป็นตัวตั้งสำหรับเทียบเคียงกับภาคต่อมา ทุกเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะเฉไฉออกนอกเรื่องในเบื้องต้นกลับกลายมาเป็นข้อมูลสำคัญทั้งสิ้น

หนึ่งในรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งเมื่อแรกอ่านยังผลให้เกิดความสงสัยว่า ‘เล่าทำไม’ คือการถกสนทนากันในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ ที่ต่อมาผู้อ่านจะพบว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในนิยายหลากแง่มุมหลายประเด็น

ช่วงตอนหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะถือเป็นคีย์เวิร์ดในการทำความเข้าใจนิยายเรื่องนี้ก็คือ การถามตอบระหว่างครูกับนักเรียนว่าประวัติศาสตร์คืออะไร?

โทนีตอบคำถามนี้ว่า “ประวัติศาสตร์คือคำโกหกของผู้ชนะ” แต่ก็โดนครูแย้งกลับว่า “มันคือการหลอกตัวเองของผู้แพ้ด้วยเช่นกัน”

แก่นเรื่องของ The Sense of an Ending นั้น ว่าด้วย ‘ความทรงจำ’ และเป็นความทรงจำที่งานเขียนนี้แจกแจงให้เห็นว่าสามารถผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้มากมายเพียงไร ทั้งโดยความเก่านานของกาลเวลาที่ทำให้จดจำรำลึกสิ่งต่างๆ ได้พร่าเลือนไม่แจ่มชัด, มุมมองอันจำกัดที่ทำให้ไม่อาจล่วงรู้ทุกรายละเอียดโดยกระจ่าง โดยเฉพาะในส่วนที่ตัวเราข้องเกี่ยวกับผู้อื่น (ตรงนี้ก็เชื่อมโยงกับฉากสนทนาในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ ซึ่งเอเดรียนนิยามความหมายของประวัติศาสตร์ว่า “ประวัติศาสตร์ คือความแน่นอนที่ถูกผลิตขึ้น ณ จุดที่ความไม่สมบูรณ์แบบของความทรงจำมาพบกับความไม่เพียงพอของเอกสารหลักฐาน”) และเหนืออื่นใด ความทรงจำที่ผ่านการปรุงแต่งบิดเบือนของตัวเราเอง (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว)

ความทรงจำของโทนีในภาคแรกคือการผสมรวมระหว่างสาเหตุต่างๆ ข้างต้นทั้งหมด ขณะที่เรื่องราวในภาคสองนำพาไปสู่การตรวจสอบ การเทียบเคียง และการเปิดเผยความจริง จนทำให้ทั้งตัวละครคือโทนีและผู้อ่านได้ตระหนักว่า ความทรงจำที่เขาบอกเล่าขัดแย้งกับความจริงอย่างรุนแรงเพียงไร

มีอีกหนึ่งคีย์เวิร์ดที่จูเลียน บาร์นส์หยิบยื่นให้ผู้อ่านสำหรับใช้ทำความเข้าใจนิยายเรื่องนี้ นั่นคือบทสนทนาในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ เนื้อความว่า “สภาวะทางจิตนั้นอาจสรุปจากการกระทำ” และโทนีในวัยกลางคน กล่าวสมทบเพิ่มเติมว่า “คุณสามารถสรุปการกระทำในอดีตได้จากสภาวะทางจิตในปัจจุบัน”

ตรงนี้เชื่อมโยงกับที่กล่าวไว้ว่า นิยายเรื่องนี้พูดถึงแง่มุมที่ยากและสลับซับซ้อน ความยากดังกล่าว ผมคิดว่าเป็นการหาคำตอบเพื่ออธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่ผลักดันขับเคลื่อนให้โทนีทำอะไรบางอย่าง และจัดการกับความทรงจำของตนเองในอีกหลายสิบปีต่อมา

พูดอีกแบบคือสิ่งที่ The Sense of an Ending เปิดกว้างให้ผู้อ่านครุ่นคิดอย่างเต็มที่ คือการค้นหา ‘สภาวะทางจิต’ และ ‘การกระทำ’ ของโทนี แล้วนำมาอธิบายซึ่งกันและกัน

พูดแบบกว้างๆ ความทรงจำที่เข้าข่ายฉ้อฉลของโทนีไม่ได้เกิดจากเหตุผลแรงจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่งตามลำพัง แต่ผสมปนกันด้วยเหตุปัจจัยสารพัดสารพันอย่างสลับซับซ้อน ตั้งแต่ช่องว่างแตกต่างทางความคิดระหว่างช่วงวัยเด็กถึงวัยหนุ่มขณะเกิดเหตุและช่วงวัยปัจจุบันที่เขารำลึกความหลัง ซึ่งมีทัศนะในการมองโลก และความเข้าใจในชีวิต รวมถึงวุฒิภาวะที่ผิดแผกห่างไกลกัน, ความรู้สึกผิดบาปละอายใจ จนเกิดเป็นการกลบเกลื่อนปิดบังอำพรางความจริง, ความโกรธเกลียดเคียดแค้น (ซึ่งโทนีมีต่อเวโรนิกา ทั้งในส่วนความสัมพันธ์ร้าวฉานต่อกัน และอาจเป็นไปได้ว่ายังรวมถึงความเกลียดที่เวโรนิกาแย่งเพื่อนสนิทไปจากเขา แง่มุมนี้ยังมองกลับในทางตรงข้ามได้อีกว่า อาจเป็นความเกลียดหรือหึงหวงที่มีต่อเอเดรียน ซึ่งกลายมาเป็นแฟนของเวโรนิกา สาเหตุที่แง่มุมนี้ก็มีความเป็นไปได้พอๆ กัน เพราะตลอดทั้งเรื่อง โทนีแสดงตนให้เห็นชัดเจนอยู่เหมือนกันว่าเขาไม่ได้เกลียดเวโรนิกาล้วนๆ เพียงด้านเดียว แต่มีความรักฝังใจกับฝ่ายหญิงมากพอๆ กัน), ความอิจฉาริษยาต่อเอเดรียนและเวโรนิกา เพราะทั้งคู่ล้วนมีศักยภาพ ‘เหนือกว่า’ โทนีอย่างเด่นชัด, การตระหนักรู้ในความเลวร้ายของตน จนต้องหาวิธีกลบเกลื่อน หรือการสร้างกลไกป้องกันตนเอง เพื่อดำรงชีวิตต่อไป

ข้างต้นนี้ เป็นเสน่ห์สำคัญที่ทำให้ผมสามารถหยิบ The Sense of an Ending มาอ่านซ้ำได้ไม่รู้เบื่อ และยิ่งอ่านมากครั้งก็ยิ่งพบเจอคำอธิบายมากขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ประมวลและครุ่นคิดได้เป็นระบบดีขึ้นกว่าเดิม

แง่มุมทำนองนี้ ไม่ได้มีเฉพาะในตัวละครโทนีเพียงรายเดียวเท่านั้น เอเดรียนกับเวโรนิกาก็เป็นปริศนาสำคัญชวนให้ผู้อ่านค้นหาทำความเข้าใจด้วย นี่ยังไม่นับรวมถึงการมองแบบจับคู่ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างตัวละครทั้งหมด

มีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งสำคัญและสืบเนื่องเกี่ยวโยงกับแก่นเรื่องว่าด้วย ‘ความทรงจำ’ นั่นคือ การกระทำความผิด ความรู้สึกผิด ความสำนึกผิด และการไถ่ถอนตนเองออกจากอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ดังกล่าว

นอกจากความโดดเด่นยอดเยี่ยมจากแบบแผนลีลาทางศิลปะเพื่อมุ่งไปสู่เนื้อหาสาระอย่างลงลึกแล้ว จุดเด่นต่อมาซึ่งสัมผัสรับรู้ได้ง่ายกว่า คือความงามและชั้นเชิงทางภาษา มีทั้งความคมคาย อารมณ์ขันแบบจิกกัดเหน็บแนม พลังในการบรรยายสิ่งต่างๆ ได้อย่างเปี่ยมภาพพจน์และเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา

ประการสุดท้าย (ซึ่งผมคิดว่าต่อให้ไม่เข้าใจสาระสำคัญของเรื่องเลยก็ยังคงสามารถสัมผัสถึงจุดเด่นเหล่านี้ได้ง่ายดาย) คือรสชาติด้านความบันเทิงและการสร้างอารมณ์สะเทือนใจ The Sense of an Ending ขึ้นต้นแบบเรียบเรื่อยเหมือนไร้ทิศทาง แต่เมื่อผ่านไปสักพักและเริ่มคุ้นเคยกับวิธีการของผู้เขียน (หลังใช้เวลาไม่นานนัก) ก็ดึงดูดชวนติดตามอย่างยิ่ง

เป็นนิยายที่ไม่ได้สนุกด้วยการคิดพล็อตหรือการดำเนินเรื่องโดยตรง แต่ภายใต้จังหวะจะโคนแบบค่อยเป็นค่อยไป ปราศจากความจัดจ้านโลดโผน งานเขียนชิ้นนี้ก็เร่งเร้าความสนใจด้วยวิธีการบอกเล่าและชั้นเชิงการเขียน รวมถึงการผูกเงื่อนปมสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความกระหายใคร่รู้อย่างรุนแรง

หมัดหนักที่สุดของนิยายเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่าสามารถน็อกผู้อ่านได้ทั่วถึงเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นใครหรือมีรสนิยมการอ่านแบบไหนก็ตาม คืออารมณ์สะเทือนใจอันแสนวิเศษ (นี่พูดอย่างกว้างๆ ไม่ตรงหรือถูกต้องนักนะครับ เพราะยังครอบคลุมรวมไปถึงความโหดร้าย น่าตกใจ ความเจ็บปวด ความเสียหายที่ติดตามมา ความหม่นเศร้า และความรู้สึกเหมือนถูกกัดกินภายในใจ ที่อยากให้ผู้อ่านไปลองสัมผัสกันด้วยตัวเอง)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save