fbpx
เศษซากของความโศกเศร้า Beloved

เศษซากของความโศกเศร้า Beloved

‘นรา’ เรื่อง

 

ครั้งแรกที่อ่านนิยายเรื่อง Beloved ของโทนี มอร์ริสันจบลง ผมรู้สึกติดลบ คิดว่ามันเป็นหนังสือที่คนแต่งดูจะตั้งอกตั้งใจ ‘เขียนให้อ่านยาก’ หนักมือไปหน่อย

ความไม่ชอบถัดมา (จริงๆ แล้วเป็นข้อดีที่ทำให้ผมรู้สึกแย่) งานเขียนชิ้นนี้สะท้อนเนื้อหาเรื่องราวอันโหดร้าย หม่นเศร้า เจ็บปวด ออกมาได้อย่างถึงแก่น อ่านจบแล้วก็เกิดอาการ ‘จิตตก’ คล้อยตามบรรดาตัวละครไปด้วย

พ้นจากความไม่สบอารมณ์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่ติดค้างอยู่ในใจ ซึ่งผมอธิบายและตอบตัวเองไม่ได้แน่ชัดว่าคืออะไร เอาเป็นว่า มันรบกวนจิตใจมากๆ จนกระทั่งผมอดรนทนไม่ไหว ต้องหยิบนิยายเรื่องนี้มาอ่านซ้ำแก้สงสัยกันอีกครั้ง โดยทิ้งห่างจากครั้งแรกเพียงแค่ไม่กี่วัน

การอ่านครั้งที่สอง เหมือนดูหนังคนละม้วน ฟังเพลงคนละอัลบั้มเลยนะครับ ความรู้สึกข้ามฟากเปลี่ยนจากที่เคยอึดอัด หงุดหงิด รำคาญ มาเป็นความทึ่ง ตื่นตะลึง หลงใหล ประทับใจ

เบื้องต้นเลยก็คือ ในการอ่านซ้ำนั้น ผมรู้ล่วงหน้าแล้วนะครับว่า จะพบเจอกับอะไร จึงปรับตัวเตรียมใจ ‘รับมือ’ ได้ดีขึ้น

ถัดมา ใน Beloved มีการเล่าแบบกล่าวถึงบางเหตุการณ์ขึ้นมาลอยๆ ปราศจากรายละเอียดอยู่เนืองๆ เมื่อแรกเจอนั้นชวนให้งุนงงสับสนอยู่พอประมาณ ไม่รู้ว่าตัวละครกำลังพูดถึงเรื่องราวใด ต้องผ่านไปอีกหลายหน้าหลายบท กว่าจะมีการเล่าทวนซ้ำ (แบบตอกย้ำหลายๆ ครั้ง) พร้อมกับการขยายความเพิ่มทีละน้อย

การอ่านซ้ำช่วยขจัดความงุนงงเหล่านี้จนหมดไป และทำให้อ่านง่ายขึ้นกว่าเดิม (แต่สิ่งที่สูญหายไปคือ ความสับสนเคว้งคว้างขณะอ่าน ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นเจตนาของผู้แต่ง)

ผมยังยืนยันตามเดิมนะครับ ว่าโทนี มอร์ริสันเจตนา ‘เขียนให้อ่านยาก’ แต่ที่ควรต้องกล่าวเพิ่มเติมด้วยก็คือ วิธีการเขียนซึ่งเรียกร้องสมาธิและความตั้งใจจากผู้อ่านเป็นอย่างยิ่งนี้เอง คือส่วนหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้นิยายเรื่อง Beloved ยอดเยี่ยมและชวนอ่านมากๆ

ลีลาการเขียนของโทนี มอร์ริสันใน Beloved นั้น ยากแก่การสรุปความโดยรวบรัดอยู่สักหน่อย เนื่องจากมีกลวิธีที่หลากหลายผสมปนเปกันสารพัดสารพัน ตั้งแต่การใช้มุมมองของผู้เล่าเรื่องหลายแบบ (บางครั้งในบทเดียวกันก็เล่าผ่านการครุ่นคิดของหลายตัวละครสลับไปมาอย่างปุบปับฉับพลันอีกต่างหาก), การเล่าเหตุการณ์ไม่เรียงตามลำดับเวลา แต่ย้อนไปย้อนมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ค่อยๆ ปะติดปะต่อชิ้นส่วนเศษเสี้ยวของเรื่องราว จนเกิดเป็นภาพรวมกว้างๆ, การใช้ภาษาเปรียบเปรยที่มีลีลาแบบบทกวี, บางตอนก็ใช้ภาษาที่ไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ไวยากรณ์, การเล่าเหตุการณ์แบบไม่เต็มเนื้อความ มีการละทิ้งกลางคันหรือบางครั้งก็เล่าอย่างอ้อมค้อม คลุมเครือ และพูดถึงแต่น้อย (ผู้อ่านจำเป็นต้องใช้จินตนาการและการทำความเข้าใจเยอะทีเดียว), การใช้สำนวนโวหารพาดพิงหยอกล้อกับเนื้อความในพระคัมภีร์ไบเบิล ฯลฯ

ถ้าให้ผมเดา วิธีการเขียนที่กล่าวมาทั้งหมด ดูเหมือนจะทำหน้าที่สำคัญคือ ช่วยหนุนเสริมแง่มุมทางด้านเนื้อหาสาระให้เด่นชัดขึ้น

จุดใหญ่ใจความของพล็อตและแก่นเรื่องใน Beloved พูดถึงตัวละครกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหลุดพ้นจากสภาพการตกเป็นทาส มีอิสระเสรีภาพ (ในทางร่างกายและตามตัวบทกฎหมาย) แต่ชีวิตหลังจากนั้นกลับยังตกอยู่ในพันธนาการจากสิ่งที่มองไม่เห็น นั่นคือ อดีตอันโหดร้ายทารุณ ติดตามหลอกหลอนจนไม่สามารถก้าวต่อและใช้ชีวิตแบบมีชีวิตจริงๆ ได้เลย

ภาวะอิหลักอิเหลื่อทุกข์ทรมานมากสุดที่เกิดขึ้นกับบรรดาตัวละครเหล่านี้ก็คือ เขาและเธอต่างมีความทรงจำที่ไม่อาจสลัดทิ้ง ไม่อาจลบลืมให้หมดสิ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็เจ็บปวดขมขื่นเกินกว่าจะเผชิญหน้ากับฝันร้ายสารพัดสารพันในอดีต จนกระทั่งเกิดเงื่อนไขสำคัญเข้ามาทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลง นั่นคือ การปรากฏตัวของหญิงสาวลึกลับไร้ที่มา ผู้เรียกขานตนเองว่า บีเลิฟด์ ซึ่งนำพาบรรดาตัวละครใน 124 (คำเรียกขานบ้านที่ตัวละครพำนักอาศัย และมีนัยยะชวนให้นึกว่าเป็นได้ทั้ง ‘เลขที่’ ของบ้าน และ ‘ชื่อ’ ของบ้าน) ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า rememory (ในบทความของอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ใช้คำว่า ซ้ำจำ ส่วนในฉบับนิยาย แปลออกมาว่า ความจำซ้ำใหม่)

โทนี มอร์ริสันเขียนบรรยายตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาถึงตัวละครที่ไม่อยากจดจำความหลังอันเลวร้าย แต่ก็ไม่อาจสลัดลืมทิ้งไป ตัวอย่างเช่น “เธอพยายามอย่างหนักที่จะจดจำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะปลอดภัย” หรือ “สำหรับเซเธอ อนาคตคือการกักเก็บอดีตไว้ในที่ที่มันจะไม่เป็นปัญหา”

‘ความยาก’ ที่ผมรู้สึกตลอดการอ่านทุกครั้ง (จนถึงขณะที่เขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ผมอ่านไปแล้ว 3 รอบ) ไม่ใช่ความยากในการติดตามประเด็นเนื้อหาที่นิยายเรื่องนี้ต้องการนำเสนอหรอกนะครับ สาระสำคัญต่างๆ มีทั้งส่วนที่ถ่ายทอดออกมาแบบตรงๆ ไม่อ้อมค้อม จะแจ้งชัดเจน ทรงพลัง พร้อมๆ กับการสร้างเงื่อนงำ ทั้งในเชิงเปรียบเปรย การแทรกสัญลักษณ์ การสร้างความคลุมเครือเป็นปริศนา ให้ผู้อ่านต้องครุ่นคิดตีความ (ซึ่งผมคิดว่า เป็นการขยายความเพิ่มเติมจากส่วนที่สะท้อนไว้เด่นชัดอยู่แล้ว)

พูดอีกแบบคือ ต่อให้อ่านโดยไม่ตีความ ผู้อ่านก็ยังคงได้รับสาส์นที่โทนี มอร์ริสันตั้งใจจะสื่ออย่างเต็มเปี่ยม

สำหรับผมแล้ว ‘ความยาก’ ของ Beloved อยู่ที่การปะติดปะต่อเชื่อมโยงเรื่องเล่าที่แตกกระจายเป็นเศษเสี้ยวจำนวนมาก (จากปากคำมุมมองของตัวละครที่ไม่อยากจดจำความหลังอันเลวร้าย และพยายามต่อต้านขัดขืนที่จะเปิดเผยความจริงอันเจ็บปวด) ให้กลับคืนมาเป็นภาพรวมตามปกติ

มีตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นมากคือ เมื่อตัวละครชื่อพอล ดี ได้รับการบอกกล่าวความลับจากเพื่อนบ้านชื่อแสตมป์ เพด ซึ่งนำข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่ตัดเก็บไว้มาแสดงให้ดู พร้อมๆ กับความตั้งใจจะบอกเล่าอธิบาย สิ่งที่เกิดขึ้น คือ พอล ดี ยืนกรานว่าภาพหญิงสาวที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ มีปากไม่เหมือนกับเซเธอที่เขารู้จัก และพร่ำพูดเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งแสตมป์ เพด ไม่สามารถเล่าความลับที่เขาเจตนา (พูดง่ายๆ คือ ตัวละครพอล ดี ปฏิเสธที่จะรับรู้รับฟัง)

ต่อมา เมื่อพอล ดี นำเอาเรื่องนี้ไปสอบถามความจริงกับเซเธอ เซเธอกลับไปวนเป็นวงกลมไปรอบๆ ห้อง พร้อมกับตอบอธิบายแบบอ้อมโลก เฉไฉไปเล่าเรื่องอื่น อย่างความรักความปรารถนาดีที่เธอมีต่อลูกๆ จนกระทั่งเจตนาดังกล่าว สะกิดใจพอล ดี จนทราบคำตอบที่แท้จริง

มีการเล่าเรื่องเปิดเผยเหตุการณ์แบบไม่เต็มใจพูดถึงอยู่เต็มไปหมดในนิยายเรื่องนี้ และมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น กระทั่งว่า แม้แต่ตัวละครที่มีส่วนร่วมใกล้ชิด ก็ยังไม่รู้อย่างถ่องแท้และได้แต่คาดเดาไปต่างๆ นานา (ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ ชะตากรรมของฮาลเล สามีของเซเธอ)

พูดอีกอย่างหนึ่ง Beloved เป็นนิยายที่พล็อตเรื่องถูกทำให้เกิดความพร่าเลือนไม่แจ่มชัด และแตกต่างจากขนบปกติของเรื่องเล่าทั่วไป ที่เรียงลำดับ ต้น กลาง ปลาย เพื่อนำพาผู้อ่านไปสู่จุดสะเทือนใจ นิยายเรื่องนี้ ทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม ตัดหั่นเฉือนเส้นเรื่องออกเป็นท่อนๆ เป็นชิ้นส่วนปลีกย่อย จนเกิดความสะเทือนอารมณ์ในอีกรูปแบบหนึ่ง อีกวิธีการหนึ่ง

มีเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งหากเป็นนิยายเพื่อความบันเทิงทั่วไป ถือเป็นความลับที่ต้องปกปิดอย่างยิ่งยวด เพื่อนำไปสู่การสร้างความตกตะลึงเมื่อถึงจังหวะเฉลย แต่โทนี มอร์ริสันเปิดเผยให้ผู้อ่านรับทราบตั้งแต่ในคำนำ และแย้มพรายให้ผู้อ่านทราบเป็นนัยๆ อยู่เป็นระยะๆ เมื่อถึงคราวเปิดเผย ก็เล่าอย่างรวบรัดรวดเร็ว และไม่ลงลึกในรายละเอียด (ซึ่งได้ผลในการช็อกความรู้สึกของผู้อ่านด้วยนะครับ)

เหตุการณ์นั้น คือ เรื่องจริงอันเป็นต้นตอที่มาของนิยาย ซึ่งเป็นข่าวอื้อฉาวเกรียวกราวในปี 1856 ทาสหญิงชื่อมาร์กาเร็ต การ์เนอร์ ตัดสินใจกระทำการบางอย่างกับลูกๆ ของเธอ เพื่อไม่ให้เด็กๆ ต้องถูกจับตัวกลับไปเป็นทาส

พูดแบบอ้อมๆ นะครับ เหตุการณ์ข้างต้นควรนับได้ว่าเป็นเรื่องร้ายแรงขั้นสุด แต่เมื่อมันปรากฏในนิยาย โทนี มอร์ริสันก็ทำให้มันเป็นเพียง ‘หนึ่งในเรื่องเลวร้ายและหายนะ’ โดยไม่ได้ลดทอนความหนักหน่วงสูญเสียลงไปแต่อย่างไร สิ่งที่เธอทำก็คือ การสร้างเหตุการณ์อีกเยอะแยะมากมาย (ผ่านการกระทำย่ำยีที่เหล่านายทาสผิวขาวปฏิบัติต่อทาสอย่างโหดร้ายทารุณ) เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาไตร่ตรองว่า อะไรคือสิ่งที่เลวร้ายน่าสะพรึงกลัวกว่ากัน

พอจะกล่าวได้นะครับว่า ตัวละครใน Beloved เผชิญกับเรื่องเลวร้าย และคิดว่ามันผ่านพ้นไปแล้ว แต่ท้ายที่สุด กลับเกิดเรื่องเลวร้ายยิ่งกว่าเข้ามาโถมปะทะครั้งแล้วครั้งเล่าไม่มีที่สิ้นสุด

ความเก่งกาจของโทนี มอร์ริสัน คือ ยิ่งเป็นเหตุการณ์ที่เหี้ยมเกรียมไร้มนุษยธรรมมากเท่าไร เธอยิ่งใช้วิธีนำเสนอแบบพร่าเลือนซ่อนความนัย เต็มไปด้วยชั้นเชิงมากขึ้นตามลำดับ และเปิดช่องให้ผู้อ่านจินตนาการเติมรายละเอียดที่ละไว้ด้วยตนเอง ซึ่งได้ผลลัพธ์ในทางสยดสยองยิ่งกว่าการแจกแจงสาธยายโดยถี่ถ้วนมากมายหลายเท่า

(ตัวอย่างเช่น สิ่งที่ตัวละครชื่อฮาลเลประสบ จนถึงขั้นแตกสลายเสียศูนย์ไม่เป็นผู้เป็นคนอีกต่อไป ถูกเล่าแบบแนะให้ผู้อ่านทราบเพียงคร่าวๆ, การที่เซเธอถูกเฆี่ยนโบยทำโทษ จนเกิดแผลยับเยินเหวอะหวะกลางแผ่นหลัง แต่ตัวละครอื่นๆ ต่างกล่าวถึงพรรณนาบาดแผลนี้ โดยเปรียบเปรยกับต้นโชคเชอร์รีที่แผ่กิ่งก้านออกดอกเป็นลวดลายสลับซับซ้อน ฯลฯ)

ในข้อเขียนชิ้นนี้ ผมเจตนาละเว้นไม่เล่าเรื่องย่อ ซึ่งสามารถสรุปประมวลและเล่าใหม่ให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ เนื่องจากผมคิดว่า ส่วนที่เป็นความบันเทิงในการอ่านนิยายเรื่องนี้ (ถ้าหากว่ามันจะพอมีอยู่บ้าง) คือ การที่ผู้อ่านติดตามและปะติดปะต่อเชื่อมโยงเรื่องเล่าจากฝีมือการเขียนชั้นครู แล้วก่อรูปสร้างพล็อตเรื่องขึ้นมาด้วยตนเอง

สิ่งที่อยากจะเล่าสู่กันฟังก็คือ บรรดาตัวละครหลักในเรื่อง อันประกอบไปด้วย เซเธอ ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง, เบบี้ ซักส์ หญิงชราแม่สามีของเซเธอ, เดนเวอร์ลูกสาวคนสุดท้องของเซเธอ (ใช้ชีวิตอยู่กับแม่ใน 124 ซึ่งมีวิญญาณคอยหลอกหลอนอาละวาด), พอล ดี อดีตทาสในไร่สวีทโฮม ซึ่งเดินทางมายัง 124 และเริ่มต้นชีวิตใหม่กับเซเธอและลูก แต่แล้วก็ล้มเหลว และรายสุดท้าย หญิงสาวชื่อบีเลิฟด์ (ซึ่งเป็นตัวละครที่ผู้อ่านสงสัยว่าแท้ที่จริงแล้วเธอเป็นใคร จนนำไปสู่การตีความต่างๆ นานา)

กล่าวโดยสรุป ตัวละครหลักทั้งหมดนี้ ต่างมีปมในใจที่แตกต่างกัน

เซเธอเป็นตัวละครที่มีปมสลับซับซ้อนมากสุด ตั้งแต่เรื่องความเป็นแม่-ลูก, เรื่องความทรงจำเลวร้ายในอดีตที่ตามมาหลอกหลอน และปมเกี่ยวกับความรู้สึกผิดบาปในใจ เธอเติบโตมาในสภาพตกเป็นทาสมาตั้งแต่เกิด ถูกแยกพรากจากแม่ที่โดนใช้ทำงานหนัก กระทั่งไม่เคยได้รับความรักความอบอุ่นจากแม่ ส่งผลให้เมื่อเติบใหญ่กลายเป็นแม่ ความโหยหาขาดแคลนดังกล่าว ก็แปรเปลี่ยนถ่ายเทเป็นความรักที่มีต่อลูกๆ อย่างล้นเหลือ จนนำไปสู่การกระทำ ‘เพื่อลูก’ ที่โลกรอบข้างไม่อาจยอมรับ

เมื่อบีเลิฟด์ปรากฏตัวขึ้น เซเธอก็เชื่อและยึดถือว่า หญิงสาวคือลูกน้อยที่ย้อนคืนกลับมาหาเธออีกครั้ง และไม่เพียงแต่จะชักนำให้เซเธอต้องเผชิญหน้ากับความทรงจำที่เธอพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอดเท่านั้น ทว่าบีเลิฟด์ยังเป็นโอกาสให้เธอได้ชดเชย แสดงความรักของแม่ดังที่ใจปรารถนา จนท้ายสุดก็ตกอยู่ในสภาพโดนอดีตกลืนกิน สูญเสียตัวตนที่เธอเคยเป็น

เบบี้ ซักส์เป็นทาสที่ทำงานหนักจนร่างกายเสื่อมทรุด มีลูกหลายคนจากสามีหลายราย และสูญเสียลูกทุกคน ยกเว้นคนสุดท้อง ซึ่งต่อรองเงื่อนไขกับนายทาส ยอมทำงานในวันหยุด เพื่อไถ่ตัวเธอให้เป็นอิสระ (ในวันและวัยที่อิสรภาพ กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายต่อเบบี้ ซักส์) ใช้ชีวิตในถิ่นย่านที่ปราศจากทาส กลายเป็นผู้อาวุโสที่ชาวบ้านใกล้เคียงเคารพนับถือเชื่อฟัง

แต่แล้วการหลบหนีตามมาสมทบของเซเธอและลูกๆ ก็ทำให้อีก 28 วันต่อมา เกิดเหตุสะเทือนขวัญ ส่งผลให้เบบี้ ซักส์สูญเสียศรัทธาที่เคยมี พังทลายทางจิตวิญญาณ และผ่านวันคืนถัดจากนั้นในสภาพไร้ชีวิตจิตใจจนกระทั่งตายจาก

เดนเวอร์เป็นลูกที่เซเธอคลอดระหว่างการหลบหนี ด้วยความช่วยเหลือจากหญิงสาวผิวขาวชื่อเอมี และเป็นลูกคนเดียวที่ยังอยู่กับเซเธอ ณ 124 ส่วนลูกชายอีก 2 คนของเซเธอ คือ ฮาวเวิร์ดและบุกลาร์ หนีออกจากบ้านเพราะไม่อาจทนต่อการหลอกหลอนอาละวาดของวิญญาณทารกในบ้าน? (ผมใส่เครื่องหมายคำถามกำกับไว้ด้วย เพราะเมื่อเราอ่านไปเรื่อยๆ ก็จะพบอีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งชวนให้คิดว่า อะไรกันแน่ที่เป็นเหตุผลแท้จริง)

เดนเวอร์ต่างจากตัวละครหลักอื่นๆ ตรงที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์ชวนลืมจากการตกเป็นทาส เธอเติบโตมาด้วยการปกป้องของเซเธอ ซึ่งป้องกันลูกน้อยจากโลกภายนอก (รวมถึงตัดขาดจากอดีต) อย่างเข้มงวด จนกระทั่งกลายเป็นเด็กที่โดดเดี่ยว และยิ่งย่ำแย่เมื่อเกิดเหตุสะเทือนขวัญ จนทำให้เธอกับแม่ (รวมถึง 124) โดนตั้งแง่รังเกียจจากสังคมรอบข้าง

ปมในใจของเดนเวอร์ จึงกลายเป็นความปราศจากตัวตน ไม่มีส่วนร่วมในเรื่องราวใดๆ ไม่มีความทรงจำของตนเอง (ยกเว้นเรื่องเล่าหนึ่งเดียว คือ เหตุการณ์ที่เธอถือกำเนิดในขณะที่แม่กำลังหลบหนี) การมาของบีเลิฟด์ ด้านหนึ่งก็ทำให้เดนเวอร์ได้สัมผัส รู้จักกับการมีใครสักคนในชีวิต แต่อีกด้านหนึ่งก็ยิ่งตัดขาดกีดกันให้เธออยู่วงนอกมากขึ้น เมื่อเซเธอกับบีเลิฟด์ต่างทุ่มเทและโหยหาเรียกร้องความรักจากกันและกันอย่างหิวกระหาย

พอล ดี เป็นตัวละครที่โทนี มอร์ริสัน เน้นย้ำเรื่องปมเกี่ยวกับ ‘ความเป็นชาย’ อยู่ตลอดเวลา ทั้งจากการให้นิยามของนายทาส (ใจดี), การถูกย่ำยีจนสิ้นศักดิ์ศรีเมื่อตกเป็นนักโทษ จากการพยายามฆ่านายทาสคนใหม่ (โดนกักขังในกรงเหมือนสัตว์ โดนผู้คุมบังคับให้กระทำโอษฐกาม) การค้นพบว่าตนเองมีชีวิตย่ำแย่กว่าไก่ตัวผู้ (ซึ่งตอกย้ำประเด็นเรื่องปมเกี่ยวกับความเป็นชายให้เด่นชัดมากขึ้น เพราะไก่ตัวนี้มีชื่อว่า ‘มิสเตอร์’)

พูดง่ายๆ คือ ประสบการณ์ชีวิตทาส ทั้งในยามสุขสงบที่สวีทโฮม (ซึ่งต้องระบายอารมณ์ทางเพศด้วยการสมสู่กับวัว) ในยามยากลำบากเมื่อตกเป็นนักโทษ ในยามรอนแรมร่อนเร่ไร้หลักแหล่ง (และใช้ชีวิตชั่วคราวอยู่กับผู้หญิงไม่ซ้ำราย) รวมเลยมายังการเดินทางสู่ 124 เผชิญกับการปรากฏตัวของบีเลิฟด์ ซึ่งเสนอตัวให้เขามีเพศสัมพันธ์ โดยที่พอล ดี เองปราศจากความต้องการ แต่ไม่อาจต้านทาน (ในนิยายไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจน แต่ถ้าจะให้ผมเดา การที่พอล ดี แพ้ใจตัวเอง น่าจะเกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความเป็นชายของเขา)

ทั้งหลายทั้งปวงที่พอล ดี พบเจอ ส่งผลให้เขารู้สึก ‘เป็นอื่น’ และ ‘แปลกหน้า’ ต่อตนเอง รวมถึงสั่นคลอนความเชื่อเรื่อง ‘ความเป็นชาย’ ของเขาอย่างรุนแรง

รายสุดท้ายคือ บีเลิฟด์นั้น เป็นตัวละครสำคัญทำหน้าที่ขับเคลื่อนคนอื่นๆ ไปสู่การ ‘จำซ้ำใหม่’ และท้าทายให้ผู้อ่านตีความว่า แท้ที่จริงแล้วเธอคือใคร โดยปราศจากคำตอบตายตัว มองผ่านเซเธอ หญิงสาวลึกลับผู้นี้คือ การกลับคืนมาของลูกสาวที่ตายจาก, มองผ่านเดนเวอร์ นี่คือวิญญาณของพี่สาวผู้ล่วงลับ, มองผ่านพอล ดี นี่คือคู่แข่งที่แย่งชิงความรักของเซเธอไปจากเขา

และในเรื่องเล่าผ่านมุมมองของบีเลิฟด์เอง เธอไม่เป็นใครทั้งสิ้นที่กล่าวมาข้างต้น แต่เป็นคำบอกเล่าของทาสหญิงที่เผชิญความยากแค้นลำเค็ญบนเรือขนทาส เมื่ออดีตอันไกล

ชะตากรรมของตัวละครทั้งหมดนั้น สรุปโดยรวมก็คือ การสะท้อนให้เห็นถึงความชั่วร้ายของระบบทาสในแง่มุมหลากหลายแตกต่างกัน

นอกจากจะเล่ารายละเอียดยิบย่อยที่สะท้อนประเด็นเนื้อหาข้างต้นได้อย่างถี่ถ้วน และก่อให้เกิดแง่มุมความหมายมากมายนับไม่ถ้วนแล้ว ความประทับใจอีกอย่างของผมที่มีต่อนิยายเรื่องนี้ คือ การให้รายละเอียด ซึ่งสามารถตีความเอาไว้ทุกขณะ ที่เด่นชัดคือ การพูดถึงเรื่องสีสันต่างๆ (ท่ามกลางชีวิตหม่นมัวปราศจากสีสันของตัวละคร) และการเทียบเคียงสิ่งละอันพันละน้อยกับสัตว์มากมายหลายชนิด

มีการตีความอย่างหนึ่งที่ผมอ่านเจอมา และคิดว่าน่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง นั่นคือ ความหมายของ 124

อย่างแรกให้คำอธิบายไว้ว่า ตัวเลขนี้เมื่อนำมาบวกรวมกันจะได้เท่ากับ 7 ซึ่งในนิยายมีการเน้นย้ำไว้หลายครั้งว่าหมายถึง ‘beloved’ ซึ่งมีจำนวน 7 ตัวอักษร (คำนี้นอกจากจะเป็นชื่อเรื่อง ชื่อตัวละครแล้ว ยังเป็นคำจารึกบนหลุมศพลูกสาวของเซเธอด้วยเช่นกัน)

อีกการตีความ พูดถึงการเรียงลำดับ 1 2 3 4 5 … ซึ่งใน 124 ตัวเลขที่หายไปคือ 3 และนำไปเทียบเคียงกับลูก ๆ ของเซเธอ ซึ่งคนที่สามคือ คนที่เสียชีวิต

ลูกสาวคนที่สามนี้ มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นบีเลิฟด์ผู้ลึกลับคนนั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save