fbpx

บราซิล – อาร์เจนตินา : การเมือง สังคม และภาษา สู่ความเหม็นขี้หน้าในสนามฟุตบอล

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

7 แชมป์โลก 6 เหรียญทองโอลิมปิก และ 24 แชมป์ทวีปอย่างโคปา อเมริกา คือตัวเลขรวมกันที่แสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ของสองชาติมหาอำนาจแห่งวงการฟุตบอลในทวีปอเมริกาใต้อย่างบราซิลและอาร์เจนตินา และไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าทั้ง ‘เซเลเซา’ และ ‘ลา อัลบิเซเลสเต’ คือสองชาติยิ่งใหญ่ในวงการลูกหนังอย่างแท้จริง แต่กระนั้นความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติในสนามฟุตบอลกลับเป็นยิ่งกว่าการแข่งขัน

แม้จะรู้กันดีว่าบราซิลและอาร์เจนตินาคือสองคู่ปรับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเวทีฟุตบอลระดับชาติ แต่ลึกๆ แล้วความสัมพันธ์ในการเผชิญหน้าของพวกเขาซับซ้อนมากกว่าแค่การแก่งแย่งชิงดีในเชิงลูกหนังบนพื้นหญ้า โดยถ้านับแค่เรื่องราวในสนามฟุตบอลอย่างเดียวก็กินระยะเวลาเกินกว่าศตวรรษ ทว่าต้นตอของความเกลียดชังของทั้งคู่ยาวนานกว่านั้น และฝังรากลึกมาตั้งแต่ยุคสมัยการล่าอาณานิคมเมื่อหลายร้อยปีก่อน

บราซิลอาจจะดูเหนือกว่าอยู่สักหน่อยหากนับจำนวนแชมป์โลกที่ทุกคนให้การยอมรับเพราะทีม ‘แซมบา’ คว้าแชมป์โลกไปถึง 5 สมัย ไม่ใช่แค่มากกว่าอาร์เจนตินาที่ได้แค่ 2 สมัยเท่านั้น แต่พวกเขาคือชาติที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมากที่สุดกว่าชาติใดๆ แต่เมื่อกลับมามองที่แชมป์ในระดับทวีปอย่างโคปา อเมริกา กลับกลายเป็นว่าความสำเร็จส่วนมากไปตกอยู่กับอาร์เจนตินา ที่คว้าแชมป์ไปได้ถึง 15 สมัย (รวมสมัยล่าสุดในโคปา อเมริกา 2021) ทิ้งห่างบราซิลที่ได้ 9 สมัยค่อนข้างขาดลอย

ดังนั้นทั้งสองชาติถึงมีความพยายามที่จะ ‘เคลม’ และ ‘ข่ม’ ในแง่ของความสำเร็จใส่กันและกันด้วยการอ้างความสำเร็จในคนละเวที ซึ่งผลสุดท้ายก็ไม่มีทางที่จะได้ข้อสรุปว่าชาติไหนเหนือกว่ากันอย่างแท้จริง และเมื่อทั้งสองชาติมาเจอกันในสนามฟุตบอล เกมนั้นก็จะกลายเป็นจุดสนใจของคนกว่า 200 ล้านคนที่เป็นประชากรทั้งสองประเทศ ผู้คนจดจ่อและรอลุ้นให้ชาติของพวกเขาคว้าชัยชนะมาครอง

นี่จึงเป็นเป็นเรื่องราวที่มากกว่าความขัดแย้งระหว่างเมืองแบบที่ The Rivalry เคยเล่ามาในตอนก่อนหน้านี้ หากแต่มันเป็นเรื่องราวความขัดแย้งเกี่ยวกับวัฒนธรรมในระดับชาติ กับสิ่งที่ทำให้สองชาติที่คลั่งไคล้ฟุตบอลมากที่สุดในโลก เหม็นขี้หน้ากันได้มากมายจนหลายทีก็กลายเป็นความวุ่นวายและกลายเป็นการจลาจลย่อมๆ โดยอาจจะมีรากลึกย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์หลายร้อยปี

ขอต้อนรับทุกท่านไปทำความรู้จักกับเรื่องราวระหว่างบราซิลและอาร์เจนตินา ที่ถูกยกย่องให้เป็นเกม ‘ซูเปอร์กลาสิโกแห่งทวีปอเมริกา’ (Superclásico de las Américas) ที่ยิ่งใหญ่และไม่มีใครเหมือน!

สนธิสัญญาตอร์เดซีญาส์ – จุดเริ่มต้นแห่งความเป็นปฏิปักษ์

จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของความไม่ลงรอยกันระหว่างบราซิลและอาร์เจนตินา อาจจะต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนที่จะมีประเทศทั้งสอง เพราะความขัดแย้งที่แท้จริงน่าจะเริ่มจากจุดที่พวกเขาทั้งสองชาติแตกต่างกันทางด้านภาษา โดยในยุคแห่งการล่าอาณานิคม ราวศตวรรษที่ 15 โปรตุเกสและราชบัลลังก์แห่งกาสติญา (ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นจักรวรรดิสเปน) ได้เกิดข้อพิพาทด้านพรมแดนขึ้น นำไปสู่การแบ่งเขตแดนเหนือ ‘โลกใหม่’ ซึ่งก็คือทวีปอเมริกาในตอนนั้น โดยใช้เส้นสมมติที่อยู่ห่างจากหมู่เกาะกาบูเวร์ดีไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะ 370 ลีกเป็นตัวแบ่งครึ่ง ทางฝั่งตะวันออกของเส้นดังกล่าวให้ถือเป็นเขตของโปรตุเกส และทางตะวันตกให้ถือเป็นดินแดนของราชบัลลังก์แห่งกาสติญา

จากสนธิสัญญาตอร์เดซีญาส์ (Treaty of Tordesillas) ที่เกิดขึ้นในปี 1494 นี้เองที่ส่งผลให้ตลอดหลายร้อยปีต่อมา บราซิลใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาหลักประจำชาติ ส่วนอาร์เจนตินารวมไปถึงดินแดนอื่นๆ ใช้ภาษาสเปน แม้ว่าหลังจากนั้นจะมีการปรับแก้ไขรายละเอียดของสนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องของเขตแดนอีกหลายต่อหลายครั้งก็ตาม แต่สนธิสัญญาตอร์เดซีญาส์นั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามมา

เพราะเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ความแตกต่างจากการปกครองที่ต่างกันก็เริ่มชัดเจนขึ้น แม้ทางโปรตุเกสและสเปนจะไม่มีความขัดแย้งขั้นรุนแรง แต่พื้นที่ใต้การปกครองของพวกเขาก็ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่แตกต่างและที่สำคัญคือเรื่องของภาษา นำมาซึ่งความไม่เข้าใจกันมากขึ้นระหว่างคนที่อยู่ต่างกันในสองเขตการปกครอง และบางครั้งเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างในแต่ละยุคสมัยภายใต้การเป็นอาณานิคม ก็ยิ่งทำให้ประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองใช้การเปรียบเทียบกันเพื่อแสดงออกถึงความเหนือกว่า นำความไม่พอใจมาสู่อีกฝ่ายได้ไม่ยาก

ถ้าไม่นับการกระทบกระทั่งกันเล็กๆ น้อยๆ ที่บริเวณชายแดนระหว่างประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างสเปนและโปรตุเกสแล้ว ความสัมพันธ์ของอาร์เจนตินาและบราซิลก่อนที่จะได้รับเอกราช ก็เป็นในเชิงการค้ากันมาตลอด แม้จะไม่มีการแข่งขันกันอย่างชัดเจนแถมยังมีการช่วยเหลือกันในบางครั้ง แต่สำหรับประชาชนที่อยู่ภายใต้อาณานิคม พวกเขาก็เริ่มมีความต้องการที่จะเป็นเอกราช ซึ่งจุดนี้จะกลายเป็นเหตุแห่งสงครามเมื่อทั้งสองชาติได้รับเอกราชต่อไป

เอกราชที่นำมาสู่สงครามและความปฏิปักษ์ไร้เสียง

มีไม่กี่ชาติบนโลกใบนี้ที่สามารถได้รับอิสรภาพโดยไม่มีการสูญเสีย ทว่าทั้งอาร์เจนตินาและบราซิลคือสองชาติผู้โชคดีที่สามารถประกาศเอกราชได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ โดยอาร์เจนตินาเป็นฝ่ายเรียกร้องเอกราชก่อนในวันที่ 25 พฤษภาคม 1810 ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่สงบในการรบบนภาคพื้นยุโรป ซึ่งกษัตริย์แฟร์ดินานด์ที่ 8 แห่งสเปน รบพ่ายต่อจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ทำให้สเปนอ่อนแอลงซึ่งเปิดโอกาสให้อาร์เจนตินาเกิดการปฏิวัติขึ้น แต่กว่าทุกอย่างภายในประเทศจะเรียบร้อยจนสามารถประกาศเอกราชก็ต้องรอถึงอีก 6 ปีต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม 1816 

ขณะที่บราซิลก็ได้รับเอกราชจากโปรตุเกสโดยไม่ต้องทำสงครามเช่นกัน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเรืองอำนาจขึ้นมาของจักรพรรดินโปเลียนจากฝรั่งเศสคล้ายๆ กับฝั่งของอาร์เจนตินา โดยหลังจากที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองโปรตุเกสในปี 1807 ทำให้ กษัตริย์จอห์นที่ 6 ต้องลี้ภัยมายังริโอ เดอ จาเนโร และมีการพัฒนาพื้นที่ย่านนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นที่ประทับ

โดยหลังจากปี 1821 ที่โปรตุเกสขับไล่ฝรั่งเศสออกจากประเทศ กษัตริย์จอห์นที่ 6 ก็เสด็จกลับโปรตุเกส พร้อมให้เจ้าชายเปโดรเป็นคนปกครองบราซิล ทว่าปีต่อมาในวันที่ 7 กันยายน 1822 บราซิลก็ประกาศเอกราชจากโปรตุเกส โดยที่ทางโปรตุเกสก็ไม่ได้คัดค้านและยังประกาศรับรองบราซิลอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 สิงหาคม 1825 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นจักรพรรดิเปโดร นำมาซึ่งสงครามครั้งแรกระหว่างบราซิลและอาร์เจนตินาในสงครามซิสพลาทีน (Cisplatine War) ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายสูญเสียชีวิตทหารรวมกันกว่า 10,000 นาย และมีอีกหลายหมื่นนายที่ได้รับบาดเจ็บ โดยผลของสงครามครั้งนี้ทำให้จังหวัดริโอ เดอ ลา พลาตา แยกตัวออกมาเป็นประเทศอุรุกวัย (ธงชาติอุรุกวัยจึงถูกออกแบบมาจากธงชาติอาร์เจนตินา มีพระอาทิตย์ดวงเดียวกันเรียกว่า Sun of May และใช้สีฟ้าขาวเหมือนกันเพื่อเป็นเกียรติให้กับอาร์เจนตินาที่มีบทบาทในการรบครั้งนั้น เพียงแต่รูปของธงชาติอุรุกวัยได้แรงบันดาลใจมาจากธงชาติสหรัฐฯ แทน) 

การรบแพ้ในสงครามซิสพลาทีน ทำให้พระราชอำนาจของจักรพรรดิเปโดรเสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่การสละราชสมบัติในปี 1831 พร้อมทั้งให้จักรพรรดิเปโดร ที่ 2 ขึ้นครองราชย์แทน แต่จากการประกาศเลิกทาสในปี 1888 ด้วยวิธีการการหักดิบและไม่มีการจ่ายเงินให้เจ้าของทาสเนื่องจากรัฐบาลมีเงินไม่พอ สร้างความไม่พอใจให้กับชนชั้นปกครองจนนำมาซึ่งการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงบราซิลสู่ระบอบสาธารณรัฐในปี 1889 และมีการย้ายเมืองหลวงจากริโอ เดอ จาเนโร มาเป็นบราซิเลียในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย

โดยหลังจากสงครามซิสพลาทีน บราซิลกับอาร์เจนตินาก็ไม่ได้ปะทะกันเองอีก ตรงกันข้ามยังมีสงครามที่บราซิลร่วมมือกับอาร์เจนตินาและอุรุกวัยเพื่อรบกับปารากวัยด้วย แต่ลึกๆ แล้วชาวบราซิลก็จำอาร์เจนตินาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องเสียดินแดนในริโอ เดอ ลา พลาตา (อุรุกวัย) ไป ซึ่งหลักฐานคือบราซิลมักจะมีนโยบายที่พยายามแข่งขันหรือแก่งแย่งชิงดีกับอาร์เจนตินาเสมอหลังจากนั้น เช่นการให้ความช่วยเหลืออุรุกวัยในสงครามอ่าวพลาติเน หรือการออกกฎการห้ามพูดถึงความพ่ายแพ้ในสงครามซิสพลาทีน เป็นต้น

จากสนามรบสู่สนามฟุตบอล

หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ความสัมพันธ์ของบราซิลและอาร์เจนตินาก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน จากที่เคยเผชิญหน้ากันอย่างโจ่งแจ้ง ก็เปลี่ยนแปลงมาเป็นการให้ความร่วมมือกัน (แม้ในประเทศจะเหยียดใส่กันอย่างการคัดคนที่พูดภาษาโปรตุเกสออกจากภาษาสเปน) ซึ่งทำให้ฉากหน้าในเวทีโลก ทั้งสองชาติอาจจะดูปรองดองกันดี แม้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองชาติจะให้การสนับสนุนคนละฝ่ายแต่ก็ไม่มีการเปิดศึกใส่กัน แต่ลึกๆ แล้วสำหรับประชาชนทั้งสองประเทศ พวกเขาต่างไม่ชอบขี้หน้ากันสักเท่าไหร่

ในเมื่อการปะทะกันอย่างโจ่งแจ้งไม่สามารถทำได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการแข่งขันในเชิงสังคม การค้า เศรษฐกิจ และแน่นอนว่ารวมไปถึงกีฬายอดฮิตในภูมิภาคนี้อย่างฟุตบอลด้วย และความเป็นปฏิปักษ์ของทั้งสองชาติก็ถูกโอนย้ายถ่ายเทมาสู่สนามฟุตบอลอย่างช้าๆ นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 กันยายน 1914 ซึ่งเป็นวันแรกที่สองคู่อริอย่างบราซิลและอาร์เจนตินามาพบกันในสนามฟุตบอล ซึ่งผลในเกมนั้นจบลงด้วยชัยชนะของอาร์เจนตินาด้วยสกอร์ 3-0 แม้จะเป็นแค่เกมกระชับมิตร ทว่าการแพ้ต่อชาติที่พวกเชาหมั่นไส้ทำให้คนบราซิลรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้อย่างยิ่ง

โดยในยุคแรกของการเจอกันของทั้งสองทีม อาร์เจนตินาเป็นฝ่ายเอาชนะบราซิลได้เป็นส่วนใหญ่ นั่นเองที่มันค่อยๆ สั่งสมความน้อยเนื้อต่ำใจให้กับแฟนบอลของบราซิลมาเรื่อยๆ โดยหากนับตั้งแต่เกมแรกที่ทั้งคู่เจอกันจนไปถึงแมตช์ที่ 30 ในช่วงปี 1945 บราซิลเอาชนะอาร์เจนตินาได้เพียง 9 ครั้ง เสมอ 4 ครั้ง และแพ้ต่อทีม ‘ฟ้าขาว’ ไปมากถึง 17 ครั้งซึ่งเป็นจำนวนเกินครึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แฟนบอลชาวบราซิเลียนจะรู้สึกน้อยหน้าและไม่พอใจความเป็นลูกไล่ของทีมตัวเองอยู่ลึกๆ

แต่สำหรับทางฝั่งอาร์เจนตินา พวกเขายังไม่รู้สึกว่าบราซิลเป็นคู่แข่งของพวกเขาแต่อย่างใด ในยุคสมัยแรกเริ่มนั้น อาร์เจนตินามองไปไกลกว่าแค่ฟุตบอลในภูมิภาค หลังพวกเขาเอาชนะเพื่อนบ้านได้อย่างราบคาบชนิดที่เรียกได้ว่า ‘เป็นประจำ’ และ ‘สม่ำเสมอ’ ทำให้เป้าหมายของพวกเขาคือการเอาชนะทีมในแถบยุโรป แต่นั่นเองที่เป็นช่องให้เพื่อนบ้านอย่าง บราซิลค่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้นมาจนตามพวกเขาทัน และกลายมาเป็นปฏิปักษ์ที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา 

เปเล่ – มาราโดนา ความยิ่งใหญ่ของชัยชนะ

ช่วงเวลาที่ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างบราซิลและอาร์เจนตินาย้ายมาสู่สนามฟุตบอลอย่างสมบูรณ์ คือในช่วงปี 1950 เมื่อประเทศบราซิลได้รับความไว้วางใจให้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งทำให้คนบราซิลได้แสดงออกต่อหน้าคนทั้งโลกว่าพวกเขาคลั่งไคล้ฟุตบอลมากมายแค่ไหน โดยสิ่งที่พวกเขาแสดงให้โลกต้องจดจำคือการที่มีแฟนบอลเข้ามาในสนามมาราคานา สเตเดียมเกือบสองแสนคนในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกในปีนั้น

อย่างไรก็ตามในปีนั้นบราซิลไปไม่ถึงฝั่งฝัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการมาถึงของราชาลูกหนังที่ชื่อว่า ‘เปเล่’ แม้ว่าหลังจากนั้นชายคนนี้จะบันดาลความสำเร็จให้บราซิลเป็นแชมป์โลกได้ถึง 3 ครั้งในช่วงที่เขายังรับใช้ชาติ แต่ชาวบราซิลหลายคนก็ยังคงรู้สึกเสียดายที่ช่วงเวลานั้นไม่เกิดขึ้นในสนามมาราคานาที่มีแฟนบอลเกือบสองแสนคน เพราะแชมป์โลกของพวกเขาจากฝีเท้าของเปเล่ ล้วนแต่เกิดขึ้นในต่างแดน ทั้งในสวีเดน (1958), ชิลี (1962) และเม็กซิโก (1970)

ยุคสมัยแห่งความเรืองอำนาจของฟุตบอลบราซิลภายใต้เปเล่คือยุดมืดของวงการฟุตบอลอาร์เจนตินาในเวลาเดียวกัน หลังจากที่ประเทศครึ่งล่างของทวีปอเมริกาใต้ต้องเจอการปกครองในระบอบเผด็จการจากการปฏิวัติแบบรัวๆ ในปี 1955, 1962, 1966 และครั้งสุดท้ายในปี 1976 ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศขาดเสถียรนำมาสู่ความวุ่นวายและไม่แน่นอนในหลายๆ ด้าน ซึ่งรวมไปถึงเสถียรภาพในวงการฟุตบอลด้วย

ผลจากการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องทำให้สถิติที่เคยเหนือกว่าบราซิลอย่างชัดเจนของอาร์เจนตินามีอันต้องมัวหมองลงไป เพราะนับแต่เกิดการปฏิวัติขึ้น ในปี 1955 ไปจนถึงฟุตบอลโลกในปี 1982 อาร์เจนตินาเอาชนะบราซิลได้เพียง 9 นัดจาก 32 นัดที่ทั้งคู่เจอกัน และเป็นฝั่งบราซิลที่ขย่มใส่ถึง 16 นัด นอกนั้นเสมอกันอีก 6 นัด เรียกได้ว่าจากลูกพี่กลายมาเป็นลูกไล่เพราะพิษการเมืองโดยแท้

นอกจากนี้อาร์เจนตินายังมาทำเรื่องที่ชาวบราซิลให้อภัยไม่ได้อย่างถึงที่สุดหลังจากได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 1978 ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นฟุตบอลโลกที่สกปรกที่สุด หลังไล่ถล่มเปรูแบบมีนัยถึง 6-0 ซึ่งภายหลังมีการออกมาแฉเรื่องที่รัฐบาลอาร์เจนตินาในสมัยนั้นพยายามล็อกผลการแข่งขันให้เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ ผลที่เกิดขึ้นคือบราซิลพลาดการไปชิงแชมป์โลกในปีนั้น และอาร์เจนตินาเป็นแชมป์ได้ในบั้นปลาย

อย่างไรก็ตามเมื่อเรื่องราวนั้นผ่านพ้นไป การมาถึงของ ‘ดีเอโก อาร์มันโด มาราโดนา’ ก็เปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลอาร์เจนตินาไปสู่แนวหน้าโดยไม่มีกำลังภายในมาช่วยในที่สุด ‘ฟ้าขาว’ ผงาดคว้าแชมป์โลกในปี 1984 ได้สำเร็จอย่าง(เกือบ)สมภาคภูมิ(เพราะมีข้อกังขาเรื่อง Hand of God ของมาราโดนานั่นแหละ) และในทางกลับกัน เป็นฝั่งบราซิลบ้างที่โดนระบอบเผด็จการจากรัฐบาลทหารเล่นงานทำให้ห่างหายจากความสำเร็จไป และกว่าจะกลับมาผงาดเป็นแชมป์โลกได้อีกครั้งก็ต้องรอยาวนานถึง 24 ปี ในปี 1994 เลยทีเดียว

ปัจจุบันของความขัดแย้ง

ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างบราซิลและอาร์เจนตินา ในสนามฟุตบอลกลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของทั้งสองชาติไปแล้ว เพราะมันถูกหล่อหลอมด้วยประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าศตวรรษ และมีเรื่องราวข้อพิพาท เรื่องอื้อฉาว ความรุนแรง และอุบัติเหตุต่างๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทำให้การเจอกันในสนามฟุตบอลของคู่นี้บางครั้งจึงเป็นเรื่องที่เกินกว่าเกมฟุตบอลสำหรับแฟนๆ ทั้งสองชาติ

นั่นเองที่ทำให้เกมการเจอกันของคู่นี้ถึงถูกเรียกว่าเกมซูเปอร์กลาสิโก เด ลาส์ อเมริกาส์ (Superclásico de las Américas) หรือซูเปอร์กลาสิโก ดาส์ อเมริกาส์ (Superclássico das Américas) ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นภาษาของชาติใด และนั่นทำให้การเจอกันของทั้งคู่แม้จะเป็นแค่เกมอุ่นเครื่องหรือกระชับมิตรธรรมดาๆ ก็มีเรื่องราวและข้อพิพาทกันได้ไม่ยาก แถมถ้าเป็นแมตช์การแข่งขันที่มีเดิมพันสำคัญอย่างรอบชิงฯ ฟุตบอลโคปา อเมริกา ที่ผ่านมา เรื่องเล็กๆ ในสนามก็กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันนอกสนามได้ไม่รู้จบ

ในปัจจุบันแม้นักเตะของทั้งสองชาติจะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นจากการไปค้าแข่งในยุโรป และเจอกันบ่อยๆ ในฐานะคู่แข่งร่วมลีก หรือบ้างก็เป็นเพื่อนร่วมทีมของกันและกัน แบบที่เนย์มาร์กับลีโอเนล เมสซี ที่เพิ่งเจอกันในเกม โคปา อเมริกา รอบชิงชนะเลิศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11 กรกฎาคม 2021) ทั้งคู่ก็เคยร่วมงานกันที่สโมสรบาร์เซโลนามาก่อนและทั้งสองคนก็ออกมายอมรับนอกสนามว่ามีความสนิทสนมกันส่วนตัวด้วย แต่ในเกมการเจอกันของทั้งสองชาติก็ยังคงเดือดเสมอ

ความขัดแย้งบนเวทีลูกหนังกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนบราซิลกับอาร์เจนตินาไปแล้ว ดังนั้นสิ่งนี้น่าจะยังคงอยู่ไปอีกนาน แม้ปัจจุบันต้นเหตุความขัดแย้งที่มีประวัติศาสตร์หลายร้อยปีนั้นจะถูกลบเลือนไปตามกาลเวลาแล้วก็ตาม…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save