fbpx

สหรัฐอเมริกา-รัสเซีย: จากคู่ปรับทางการเมืองสู่คู่ปรับในสนามกีฬา

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา: วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

หากพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย ในสายตาคนทั่วไป ภาพที่ผุดขึ้นมาในความคิดของแต่ละคนอาจไม่ต่างกันมากนัก ทั้งในแง่ทางประวัติศาสตร์และการแข่งขันเพื่อความเป็นมหาอำนาจของโลกเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผลที่จบลงไปแล้วก่อนหน้านี้คือชัยชนะที่พี่ใหญ่แห่งค่ายประชาธิปไตยเอาชนะสหภาพโซเวียตในช่วงต้นยุค 1990 ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายกลายมาเป็นรัสเซียแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่นั่นไม่ได้ทำให้การแข่งขันระหว่าง สหรัฐอเมริกากับรัสเซียเบาบางลงกว่าเดิมสักเท่าไหร่ เพราะการแข่งขันของทั้งสองค่ายแค่แปรเปลี่ยนจากการแข่งขันทางการเมือง มาเป็นการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สังคม การทหาร และรวมไปถึงด้านการกีฬา โดยเฉพาะเวทีใหญ่ๆ อย่างมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ทั้งสองชาติแย่งชิงความเป็นเจ้าเหรียญทองกันอย่างไม่ลดละ (โดยมีจีนเข้ามาเป็นคู่แข่งอีกหนึ่งชาติด้วย)

แน่นอนว่าการแข่งขันดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากพื้นฐานเรื่องความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกใบนี้ และพยายามที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำโลกไว้เป็นส่วนสำคัญ แต่อีกส่วนที่ตามมาหลังจากนั้นคือการที่พวกเขากลายเป็นอริกันในช่วงหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันและการต่อสู้กันด้วย

การเจอกันของรัสเซียและสหรัฐอเมริกาในเวทีกีฬาโลก จึงกลายเป็นสงครามตัวแทนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหลายๆ ครั้งก็มีตำนานมากมายเกิดขึ้นในโลกกีฬา ซึ่งมาจากการแข่งขันระหว่างตัวแทนนักกีฬาจากชาติทั้งสอง และกลายเป็นเรื่องราวคลาสสิกที่ถูกเล่าขานมาจวบจนปัจจุบัน อาทิ ปาโล อัลโต แทร็ก แอนด์ ฟิลด์ ปี 1962, ปาฏิหาริย์บนพื้นน้ำแข็ง (Miracle on Ice) ในปี 1980, ร็อคกี บัลโบ vs อีวาน ดราโก ปี 1985 หรือที่ไม่นานมานี้อย่างฮอกกี้ชิงแชมป์โลกปี 2014 ที่ผ่านมา

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงราวหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้ความเป็นคู่ปรับของสหรัฐอเมริกากับรัสเซียในสนามกีฬากลายเป็นอีกหนึ่งคู่ปรับคลาสสิก ที่หากได้เจอกันทีไร ความร่วมแรงร่วมใจเชียร์ของคนในชาติจะมีมากขึ้นเสมอๆ ดุจมีศัตรูร่วมกันเลยก็ว่าได้

จุดเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ไม่มีใครไม่รู้จักสงครามเย็นอย่างแน่นอน เพราะนี่คือหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของโลกหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โลกแตกเป็นสองขั้วนั่นคือโลกเสรีประชาธิปไตยและโลกคอมมิวนิสต์ โดยมีผู้นำของทั้งสองฝ่ายเป็นสองมหาอำนาจของโลกในขณะนั้นอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต

สงครามเย็นเริ่มปรากฏเค้าลางอย่างชัดเจนหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง โดยนักวิชาการกำหนดให้วันเริ่มต้นคือวันที่ 12 มีนาคม 1947 ซึ่งเป็นวันที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แฮร์รี เอส. ทรูแมน ประกาศลัทธิทรูแมน เพื่อช่วยสกัดกั้นการขยายตัวของคอมมิวนิสต์เป็นจุดเริ่มต้น

อันที่จริงแล้ว สงครามเย็นเริ่มก่อตัวเป็นรูปร่างตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองจบลงใหม่ๆ แล้ว เพราะไม่กี่เดือนหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง สหภาพโซเวียตได้รวบรวมอำนาจการควบคุมเหนือรัฐของกลุ่มยุโรปตะวันออก โดยนำกองทัพเข้ารัฐประหารประเทศต่างๆ และพยายามเข้าแทรกแซงทางการเมืองในกรีซและตุรกี ขณะที่สหรัฐอเมริการิเริ่มใช้กลยุทธ์การจำกัดในการขยายตัวทั่วโลกเพื่อท้าทายอำนาจของสหภาพโซเวียต รวมถึงการแผ่ขยายความช่วยเหลือทางทหารและการเงินไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตกด้วย

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังพยายามแสดงอำนาจเหนือกรุงเบอร์ลินในเยอรมนี โดยทางโซเวียตปิดล้อมเบอร์ลินไม่ให้กลุ่มตะวันตกเข้าช่วยเหลือชาวเบอร์ลินตะวันตก โดยหวังว่าจะให้ชาวเบอร์ลินตะวันตกมาร่วมกับเบอร์ลินตะวันออก แต่กลุ่มตะวันตกได้ส่งของทางอากาศช่วยเหลือชาวเบอร์ลินตะวันตก ทำให้เยอรมันยังคงแบ่งเป็นสองฝ่ายต่อไป

การปิดกั้นเบอร์ลินนับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ครั้งแรกในช่วงสงครามเย็น แต่หลังจากที่สหภาพโซเวียตดำเนินการในยุทธการปิดกั้นเบอร์ลินได้เพียงแค่หนึ่งปี สถานการณ์ทางการเมืองในสงครามเย็นก็แปรเปลี่ยนไป หลังมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะฟากฝั่งเอเชีย อาทิ การสิ้นสุดอย่างเป็นทางการของสงครามกลางเมืองจีน และการเริ่มต้นของสงครามเกาหลี ที่ทั้งหมดเป็นการต่อสู้กันของฟากฝั่งคอมมิวนิสต์และเสรีประชาธิปไตย ทำให้ช่วงต่อไปของสงครามเย็นกลายเป็นสงครามตัวแทนอย่างเต็มรูปแบบ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์มากมายในช่วงไม่กี่ปีหลังจากนั้น โดยทั้งหมดของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น มีทางฝั่งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเป็นผู้ที่ยืนอยู่ด้านหลังของทั้งสองฝ่าย และทำให้เรื่องที่เกิดขึ้นรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น

โลกเสรีปะทะโลกคอมมิวนิสต์

สงครามเย็นวิวัฒนาการไปเป็นสงครามตัวแทนหลังความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาคพื้นเอเชีย ไล่ตั้งแต่ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในสงครามปลดปล่อยประชาชนชาวจีน จนส่งผลให้กองกำลังที่เหลือของพรรคก๊กมินตั๋งต้องล่าถอยไปยังไต้หวัน ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ก็มีอิทธิพลเหนือจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งส่งผลให้อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์เข้มแข็งอย่างมากในภาคพื้นเอเชีย ณ ขณะนั้น

หลังจากสงครามปลดปล่อยจบลงได้ไม่นาน สงครามเกาหลีก็อุบัติขึ้น และอย่างที่ทราบกันดีว่าเกาหลีเหนือได้รับการสนับสนุนจากโลกคอมมิวนิสต์โดยมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็พยายามคานอำนาจอย่างเต็มที่ด้วยการเข้ามาสนับสนุนเกาหลีใต้ในสงครามครั้งนี้

แม้ในภาคพื้นเอเชีย สถานการณ์ของฝากฝั่งคอมมิวนิสต์จะดูได้เปรียบกว่าฝั่งโลกเสรี แต่ในยุโรปก็มีการต่อต้านให้เห็น นั่นคือความพยายามในการปฏิวัติฮังการีในปี 1956 แม้สุดท้ายฝ่ายโซเวียตจะเป็นผู้ชนะและยับยั้งการปฏิวัติไว้ได้ แต่ว่ากันว่าในการปฏิวัติครั้งนั้นก็มีผู้เสียชีวิตเกือบ 4,000 คน และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 10,000 คน ซึ่งทำให้โลกเริ่มเกิดเครื่องหมายคำถามกับการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่

โดยหลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย อาทิ วิกฤตการณ์คลองสุเอซ ที่ทำให้อังกฤษสิ้นสุดบทบาทในฐานะประเทศมหาอำนาจลง เหตุการณ์สงครามเวียดนาม ที่คล้ายคลึงกับสงครามเกาหลีแต่ต่างกันที่ครั้งนี้การรบรู้ผลชัดเจน และเป็นกองกำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องถอนกำลังออกไปในที่สุด

นอกจากนี้ยังมีวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญที่ว่ากันว่าเกือบนำมาสู่สงครามโลกครั้งที่สามอย่างวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ซึ่งคือการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตและประเทศคิวบา ความตึงเครียดจนเกือบจะกลายไปเป็นสงครามปรมาณู เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในการเผชิญหน้าครั้งสำคัญในสงครามเย็น

โดยการเผชิญหน้าเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1962 เมื่อภาพถ่ายจากเครื่องบินสังเกตการณ์ยู-2 ของสหรัฐอเมริกา สอดแนมพบฐานปล่อยขีปนาวุธกำลังถูกสร้างขึ้นในคิวบา ซึ่งตอนนั้นมีฟิเดล คาสโตรเป็นผู้นำ โดยทางคิวบาได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตเพื่อให้สร้างปล่อยขีปนาวุธนี้ขึ้น เป็นการโต้การสร้างฐานขีปนาวุธของสหรัฐอเมริกา บริเวณพรมแดนของตุรกีที่ติดกับสหภาพโซเวียต

หลังจากการเผชิญหน้าผ่านการโต้ตอบทางการทูตอย่างดุเดือดในวันที่ 28 ตุลาคม 1962 ทั้งผู้นำสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี และผู้นำสหภาพโซเวียต นีกีตา ครุสชอฟ ต่างตกลงยินยอมที่จะถอนอาวุธปรมาณูของตนออกจากตุรกีและคิวบาตามลำดับ พร้อมกับมีการทำข้อตกลงระหว่างโซเวียตและสหรัฐฯ ว่าจะไม่มาแทรกแซงคิวบาอีก

ระหว่างนั้นเองที่การต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย ได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปเป็นการต่อสู้ในช่องทางอื่นด้วย อาทิ การแข่งขันสำรวจอวกาศระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ที่ทำให้เทคโนโลยีทางด้านอวกาศพัฒนาอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ผ่านมา และอีกเรื่องที่ขาดไปไม่ได้เมื่อพูดถึงการแข่งขันก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของกีฬา ที่ทั้งสองชาติก็แข่งขันกันอย่างดุเดือดไม่แพ้การแข่งขันในรูปแบบอื่นๆ เลย

การเผชิญหน้าในเวทีโอลิมปิกเกมส์

การแข่งขันในโลกกีฬาระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกของช่วงสงครามเย็น ในเวทีโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อนปี 1952 ซึ่งครั้งนั้นเป็นฝ่ายสหรัฐอเมริกาที่ครองเจ้าเหรียญทองด้วยจำนวน 40 เหรียญ เอาชนะ โซเวียตที่ได้ไป 22 เหรียญทองค่อนข้างขาด

แต่หลังจากนั้นในโอลิมปิกฤดูหนาวที่อิตาลีปี 1956 เป็นทางสหภาพโซเวียตที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในเวทีกีฬาและความไม่ยอมแพ้ของพวกเขาต่อสหรัฐฯ หลังคว้าเจ้าเหรียญทองไปได้สำเร็จ หลังเก็บไปได้ 7 เหรียญทอง ขณะที่สหรัฐฯ ทำได้แค่ 2 เหรียญทองเท่านั้น

โซเวียตยังโชว์ฟอร์มได้ดีในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์อย่างต่อเนื่อง เพราะอีกไม่ถึง 6 เดือนต่อมา พวกเขาก็คว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1956 ที่เมลเบิร์นได้สำเร็จ หลังทำได้ 37 เหรียญทองเอาชนะสหรัฐฯ ที่ได้ 32 เหรียญทองไป 5 ทองเท่านั้น

โอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน 1960 ในอีก 4 ปีต่อมา ที่กรุงโรมประเทศอิตาลี ตำแหน่งเจ้าเหรียญทองยังคงเป็นของสหภาพโซเวียตที่คว้าเหรียญทองไปครองได้ถึง 43 เหรียญ ทิ้งสหรัฐอเมริกาที่ได้ 34 เหรียญ ถึง 9 เหรียญด้วยกัน

อย่างไรก็ตามในโอลิมปิกเกมส์ 1964 ที่โตเกียว และโอลิมปิกเกมส์ 1968 ที่เม็กซิโก ซิตี้ สหรัฐอเมริกาก็กลับมาทวงตำแหน่งเจ้าเหรียญทองได้สองหนซ้อน ก่อนที่โซเวียตจะมาได้เจ้าเหรียญทองในอีกสองครั้งต่อมาเช่นกัน คือในปี 1972 ที่มิวนิค (สมัยนั้นยังเป็นพื้นที่ของเยอรมันตะวันตก) กับปี 1976 ที่มอนทริออล ประเทศแคนาดา

ขณะที่ในปี 1980 สหรัฐอเมริกามีการคว่ำบาตรโอลิมปิกฤดูร้อน ที่ในครั้งนั้นสหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพ หลังเกิดการรุกรานเข้าสู่พื้นที่ของอัฟกานิสถาน ทำให้อีก 4 ปีต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกาได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 1984 ทางสหภาพโซเวียต เลยบอยคอตต์ เช่นกัน

ก่อนที่ในโอลิมปิกเกมส์ในปี 1988 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่สหภาพโซเวียตเข้าร่วมการแข่งขันก่อนล่มสลายไปในปี 1991 ทั้งสองชาติได้กลับมาเผชิญหน้ากันอีกครั้งในการแข่งขันที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เป็นเจ้าภาพ ซึ่งในครั้งนี้เป็นทางโซเวียตทำได้ดีกว่า กวาดไป 55 เหรียญทอง พร้อมคว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองเอาชนะสหรัฐอเมริกาที่จบเพียงอันดับที่ 3 จากการได้แค่ 36 เหรียญทองไปอย่างขาดลอย

ขณะที่ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งอื่นๆ นอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น เป็นทางสหภาพโซเวียตทำได้ดีกว่าสหรัฐอเมริกาทั้งหมด แม้ว่าจะมีบางครั้งที่พวกเขาไม่ได้ตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในการแข่งขันก็ตาม แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่ โซเวียตได้เหรียญทองในโอลิมปิกฤดูหนาวน้อยกว่าสหรัฐอเมริกา

นั่นหมายความว่าการแข่งขันสมัยที่ยังอยู่ในยุคสงครามเย็นเป็นทางสหภาพโซเวียตที่ทำได้เหนือกว่าสหรัฐอเมริกาในเวทีการแข่งขันกีฬา เพราะเอาชนะในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนด้วยการเป็นเจ้าเหรียญทองไปได้ 5 ครั้ง ในปี 1956, 1960, 1972, 1976 และ 1988 ขณะที่สหรัฐอเมริกาเอาชนะได้แค่ 3 ครั้งในปี 1952, 1964, 1968 และไม่ได้แข่งขันกัน 2 ครั้งในโอลิมปิกเกมส์ 1980 และ 1984

ประวัติศาสตร์ในการแข่งขันที่กลายเป็นตำนานในโลกกีฬา

มีหลายเรื่องราวการแข่งขันที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตในระหว่างสงครามเย็น หนึ่งในเหตุการณ์ที่เป็นที่กล่าวขานกันมากที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นการโกงความตายของทีมบาสเกตบอลชายของสหภาพโซเวียตที่เกือบแพ้ไปแล้ว 2 ครั้ง ก่อนพลิกมาคว้าเหรียญทองในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศบาสเกตบอล ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 1972

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 3 วินาทีสุดท้ายในเกม แต่กลับกินเวลาเกือบครึ่งชั่วโมงในโลกแห่งความเป็นจริง โดยสถานการณ์ตอนนั้น สหรัฐอเมริกานำสหภาพโซเวียตอยู่ 50-49 หลังยิงลูกโทษลง 2 ลูก ทางฝั่งโซเวียตโวยขึ้นมาว่า พวกเขาได้ขอเวลานอกขณะที่สหรัฐฯ ยิงลูกโทษลูกแรกลง แต่กรรมการไม่ให้เวลานอก

เกมต้องหยุดลงหลังจากมีการโต้เถียงกันว่าฝ่ายโซเวียตขอเวลานอกจริงหรือไม่ ก่อนที่จะมีการตัดสินว่าการขอเวลานอกของโซเวียตเกิดขึ้นจริง ทำให้เกมต้องกลับมาแข่งขันกันต่อตอนเหลือเวลา 3 วินาที เมื่อเกมแข่งต่อจนเวลาหมดลง และฝั่งสหรัฐฯ ก็เฮกันแล้ว แต่เกมยังไม่ได้จบลงจริงๆ เพราะผู้ตัดสินเปิดเผยว่านาฬิกาในสนามมีปัญหา ทำให้ต้องเล่นกันใหม่อีกครั้ง

ฝั่งสหรัฐฯ ที่เฮเก้อไปแล้วสองรอบ ก็เสียสมาธิอย่างถึงที่สุดในการกลับมาเล่นรอบที่สาม ส่งผลให้อเล็กซานเดอร์ เบลอฟทำ 2 แต้มให้โซเวียต เอาชนะแมตช์นี้ไป 51-50 และคว้าเหรียญทองในกีฬาบาสเกตบอลมาครองได้

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งสหรัฐฯ มองว่าพวกเขาโดนโกง และปฏิเสธที่จะรับเหรียญเงินในการแข่งขันครั้งนั้น จนทุกวันนี้เหรียญเงินดังกล่าวยังอยู่ที่ห้องนิรภัยในสำนักงานใหญ่ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลที่สวิตเซอร์แลนด์อยู่เลย

ขณะที่อีกหนึ่งเหตุการณ์ ที่คราวนี้เป็นทางฝั่งสหรัฐอเมริกาได้เฮกันบ้าง และก็เป็นเหตุการณ์ระดับตำนานเช่นกัน โดยเหตุการณ์นี้ถูกตั้งชื่อให้ว่า ‘ปฏิหาริย์บนพื้นน้ำแข็ง’ หรือ ‘Miracle on Ice’

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1980 โดยทีมฮอกกี้น้ำแข็งของสหรัฐอเมริกาคว้าเหรียญทองในกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งมาครองได้สำเร็จ แม้ดูผิวเผินอาจจะเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่นี่เป็นเหตุการณ์ระดับปาฏิหาริย์เลยก็ว่าได้

ที่เหตุการณ์นี้เป็นที่เล่าขานกันต่อมาเพราะว่าทีมฮอกกี้น้ำแข็งของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นนั้น เรียกได้ว่า ‘ไร้เทียมทาน’ พวกเขากวาดแชมป์ไม่ว่าจะรายการเล็กหรือใหญ่มาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1954 และไม่มีการแบ่งปันหรือเผื่อแผ่ให้ชาติอื่นเลย และนั่นนับรวมในโอลิมปิกฤดูหนาวทุกครั้งที่ผ่านมาด้วย

นอกจากนั้นทีมฮอกกี้ชาติสหรัฐอเมริกา กลับไม่มีตัวทีมชาติชุดใหญ่เลยแม้แต่คนเดียวที่เล่นให้ทีมชาติในโอลิมปิกเกมส์ปี 1980 โดยผู้เล่นทั้งหมดมาจากทีมระดับมหาวิทยาลัย หรือ NCAA ที่ถูกเรียกมาติดทีมชาติกันเฉพาะกิจ เพื่อต่อกรกับโซเวียตโดยเฉพาะ

ซึ่งทางด้านเฮิร์บ บรูกส์ หัวหน้าโค้ชทีมฮอกกี้น้ำแข็งทีมชาติสหรัฐอเมริกาในชุดนั้น ให้เหตุผลที่เขาไม่เรียกตัวผู้เล่นระดับทีมชาติมาร่วมทีมเลยและใช้แต่เด็กๆ ว่าพวกที่เคยแพ้ต่อโซเวียตมาแล้วรู้จักความกลัว แต่เด็กๆ ที่เขาเลือกยังไม่รู้จักสิ่งนั้น

ไม่น่าเชื่อว่าแนวคิดชองโค้ชเฮิร์บกลับประสบความสำเร็จ และพาให้ทีมชาติสหรัฐฯ คว้าเหรียญทองแรกและเป็นเหรียญทองเดียวที่พวกเขาเคยทำได้ในกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง และเป็นการได้มาแบบปาฏิหาริย์หลังยิง 2 ประตูในพีเรียดสุดท้าย แซงเอาชนะโซเวียต ไปได้ 4-3 แบบเหลือเชื่อด้วย

เหตุการณ์ทั้งสองจึงเป็นเหตุการณ์ที่ย้อนแย้งกันอย่างบอกไม่ถูก เพราะเหตุการณ์แรกเป็นเหตุการณ์ที่โซเวียตเอาชนะ สหรัฐฯ ในกีฬาที่พวกเขาเป็นเจ้าแห่งความยิ่งใหญ่ กลับกันในขณะที่เวทีฮออกกี้น้ำแข็งก็เป็นสหรัฐฯ ที่เอาชนะสหภาพโซเวียตในกีฬาที่พวกเขาเป็นเลิศเหนือใครเช่นกัน

เหตุการณ์เหล่านี้ แม้ไม่ได้เขียนบทมา แต่ก็เหมือนเขียนบทมาแล้วอย่างแท้จริง

ปัจจุบันของความขัดแย้งกับการเผชิญหน้าหลังการล่มสลาย

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและกลายมาเป็นรัสเซียแบบที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาก็เรียกได้ว่าขาดคู่แข่งที่สูสีในเวทีกีฬาไปเลยก็ได้ เพราะนับตั้งแต่โอลิมปิกเกมส์ 1992 ที่บาร์เซโลนามาจนกระทั่งโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ซึ่งจัดไปเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ตำแหน่งเจ้าเหรียญทองเป็นของชาติจากแดนลุงแซมทั้งหมด

นอกจากนั้นแล้วชาติที่ขึ้นมาท้าทายสหรัฐอเมริกาในเวทีกีฬาโลกนั้นกลับกลายเป็นจีน ที่ทำได้ดีกว่าทางรัสเซียด้วยซ้ำไป แถมในระยะหลังมานี้ทางฝั่งรัสเซียกลับมีชื่อเสียมากกว่าชื่อเสียงในวงการกีฬา จากคดีที่องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกหรือ WADA ไปตรวจเจอว่าทางฝั่งรัสเซียรู้เห็นเป็นใจกับการให้นักกีฬาใช้สารกระตุ้นเพื่อลงทำการแข่งขัน จนเป็นเหตุให้นักกีฬารัสเซียโดนแบนในโอลิมปิก 2020 ที่ผ่านมาด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การแข่งขันในโลกกีฬาจะถูกลดทอนความเข้มข้นออกไปมาก แต่การเป็นอริทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาดูเหมือนจะมีแต่ทวีความรุ่นแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา

อันที่จริงแล้วการเมืองระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะหลังจากที่วลาดิเมียร์ ปูตินขึ้นมาอยู่ในอำนาจในปี 1999 เป็นต้นมา

แต่ชนวนความขัดแย้งในสงครามยูเครนก็เปลี่ยนแปลงทิศทางความสัมพันธ์ของชาติทั้งสองไปอีกครั้ง และครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่า ปลายทางจะไปถึงจุดไหนเช่นกัน…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save