fbpx
กาตาร์ – ซาอุดีอาระเบีย: การงัดข้อบนผลประโยชน์ของอ่าวเปอร์เซีย

กาตาร์ – ซาอุดีอาระเบีย: การงัดข้อบนผลประโยชน์ของอ่าวเปอร์เซีย

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา: วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

ฟุตบอลโลก 2022 จะเปิดฉากในอีกไม่กี่วัน และนี่จะเป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จัดในดินแดนตะวันออกกลาง ไม่เพียงเท่านั้น ฟุตบอลโลกครั้งนี้ยังกลายเป็นฟุตบอลโลกที่มี ‘ดราม่า’ เยอะที่สุดครั้งหนึ่ง ทั้งปัญหาสิทธิมนุษยชนของแรงงานที่ก่อสร้างสนามและปัจจัยพื้นฐานในการแข่งขันครั้งนี้ ตามมาด้วยปัญหาสิทธิและความปลอดภัยของแฟนบอลกลุ่ม LGBTQ+ ที่อาจจะไม่ได้รับความปลอดภัยและถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากข้อกำหนดด้านศาสนาในกาตาร์ ทั้งยังรวมถึงเรื่องความบันเทิงของกลุ่มแฟนบอลที่เข้าร่วมฟุตบอลโลกครั้งนี้ที่อาจจะไม่ได้ประสบการณ์ในการชมฟุตบอลเหมือนฟุตบอลโลกครั้งอื่นๆ เนื่องจากถูกสั่งห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในสนาม

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากระแสดราม่าที่เกิดขึ้นจะรุนแรงแค่ไหน ก็มิอาจขวางให้ฟุตบอลโลก 2022 ไม่เกิดขึ้นได้เช่นกัน และการมาถึงของฟุตบอลโลกครั้งนี้ยังจุดประกายให้ชาติพี่ใหญ่ในกลุ่มประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียอย่างซาอุดีอาระเบียต้องการก้าวขึ้นมาจัดบอลโลกให้ได้เหมือนกับกาตาร์​เช่นกัน

หากจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของซาอุฯ กับกาตาร์นั้น แม้ว่าในฉากหน้าพวกเขาจะเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ GCC แต่ในความเป็นจริง พวกเขาเป็นเหมือนลูกพี่ลูกน้องและคู่แข่งทางด้านเศรษฐกิจ โดยทางซาอุฯ ถือเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคนี้และเป็นเหมือนพี่ใหญ่ที่มีพื้นที่ประเทศมากที่สุด ซึ่งมีอิทธิพลเหนือชาติสมาชิกใน GCC ชาติอื่นๆ แม้กาตาร์จะเป็นชาติที่เล็กกว่า แต่ก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งบ่อยครั้งพวกเขามักดำเนินนโยบายอิสระที่สวนทางกับสมาชิกชาติอื่นๆ ของ GCC ซึ่งก่อให้เกิดรอยร้าวในความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติ

รอยร้าวที่เกิดขึ้น ค่อยๆ ขยายและบานปลายจนนำมาสู่การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและคว่ำบาตรกาตาร์ออกจากกลุ่ม ในปี 2017 แม้ว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับและกลับมาสู่สภาวะปกติเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างนั้นความรู้สึกของคนในชาติที่ไม่พอใจอีกฝ่ายก็ยังครุกรุ่นอยู่เสมอ และยังลงลึกไปสู่เรื่องอื่นๆ อย่างการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และแม้แต่กีฬา

ความขัดแย้งในช่วงการคว่ำบาตรกาตาร์ของกลุ่ม GCC ในปี 2017 ทำให้เกมฟุตบอลเอเชียนคัพ 2019 ระหว่างกาตาร์กับซาอุดีอาระเบีย กลายเป็นที่จับตามองของแฟนบอลจากทั้งสองชาติมากกว่าครั้งไหนๆ ว่ากันว่าไม่มีเกมฟุตบอลเกมไหนที่แต่ละฝ่ายอยากชนะอีกฝั่งมากกว่าเกมนี้อีกแล้ว และภาพทั้งหมดก็สะท้อนออกมาผ่านความดุเดือดในเกมที่มีใบเหลืองปลิวว่อนถึง 5 ใบ ก่อนที่อาลี อัลมอซจะยิงคนเดียว 2 ประตูให้กาตาร์เอาชนะ ซาอุฯ ไปได้ในเกมนั้น 2-0

ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นทำให้ซาอุฯ รู้สึกเสียหน้าเป็นอย่างมาก และตัดสินใจปลดฮวน อันโตนิโอ ปิซซีออกจากตำแหน่งหัวหน้าโค้ชในอีก 4 วันถัดมา และพยายามหาทางเอาชนะกาตาร์คืนให้ได้ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขามี จนกลายเป็น The Rivalry อีกคู่แห่งวงการฟุตบอลไปโดยปริยาย

ซึ่งในวันนี้ เราจะพาย้อนรอยความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกาตาร์ เพื่อดูกันว่าสองชาติมหาเศรษฐีแห่งอ่าวเปอร์เซียคู่นี้ มาถึงจุดที่ต้องเผชิญหน้ากันในสนามเพื่อแข่งขันในสงครามตัวแทนของคนในชาติได้อย่างไร…

จุดเริ่มต้นและความขัดแย้งของคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ

ในปี 1981 ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ โอมาน และคูเวต ซึ่งเป็นประเทศในฝั่งตะวันตกของอ่าวเปอร์เซียหรือที่มักเรียกกันว่าอ่าวอาหรับ ร่วมกันก่อตั้งคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ GCC ขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการร่วมมือกันต่อต้านอิทธิพลของอิหร่าน หลังการปฏิวัติอิสลามที่เกิดขึ้นในอิหร่านเมื่อปี 1979

การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านยังเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งครั้งใหญ่ของอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย หลังทั้งคู่กลายเป็นสองขั้วอำนาจสำคัญบนภูมิภาคนี้ ซึ่งมีอ่าวเปอร์เซียคั่นระหว่างชาติทั้งสอง ทำให้ฝั่งซาอุฯ เป็นหัวโจกในการรวบรวมชาติฝั่งตะวันตกของอ่าวเปอร์เซียรวมเป็นกลุ่ม GCC โดยเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อคานอำนาจของ อิหร่านที่อยู่อีกฟากของอ่าว

การรวมตัวของ GCC ทำให้ภูมิภาคนี้มีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น และมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี เพราะแต่เดิมซาอุดีอาระเบียก็มีฐานะมั่นคงจากการที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสหรัฐอเมริกามาแต่เก่าก่อนอยู่แล้ว ทำให้สมาชิกกลุ่ม GCC ต่างได้รับผลประโยชน์กันถ้วนหน้าในการมีซาอุฯ เป็นประเทศผู้นำ โดยกลุ่ม GCC ยังมีความพยายามในการพัฒนาสู่การเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง จากการมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงจากการเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับธนาคารโลกด้วย

แม้ตลอดหลายทศวรรษตั้งแต่การก่อตั้ง GCC การดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดูเหมือนจะราบรื่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว แต่ละชาติสมาชิกก็ไม่ได้มีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันหมด แม้จะไม่มีความขัดแย้งรุนแรงแต่หลายครั้งพวกเขาก็ไม่ได้มีความเห็นในแง่การเมืองและสังคมไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะกาตาร์ที่มักจะมีนโยบายเป็นกลางในหลายๆ เรื่อง ซึ่งพวกเขามักจะดำเนินนโยบายบางอย่างที่ไม่สอดคล้องไปกับชาติพี่ใหญ่ในกลุ่มอย่างซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะในระยะหลัง

หนึ่งในรอยร้าวสำคัญระหว่างกาตาร์กับซาอุดีอาระเบีย คือการที่กาตาร์ตัดสินใจดำเนินนโยบายในการสานสัมพันธ์กับอิหร่าน และทางกาตาร์ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brothorhood) ซึ่งให้ความช่วยเหลือปาเลสไตน์ในการต่อสู้กับอิสราเอล อันเป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับซาอุดีอาระเบียไม่ชอบใจ และมองว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมนี้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มก่อการร้ายไปในตัว

จากเหตุปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียยิ่งไม่พอใจกาตาร์มากยิ่งขึ้นจากการเป็น ‘สมาชิกแตกแถว’ ของกลุ่ม และต้องการลงโทษกาตาร์ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อสมาชิกรายอื่นๆ ของกลุ่มนี้ จนนำมาสู่การคว่ำบาตรกาตาร์ในปี 2017 จากสมาชิกรายอื่นๆ ของกลุ่มนั่นเอง

อัลจาซีรา, beIN SPORTS และ beOUTQ

ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ที่ระอุขึ้น สื่อในประเทศถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในกรณีของอัลจาซีรา (Al Jazeera) สำนักข่าวชื่อดังที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กาตาร์ ที่มักถูกมองว่านำเสนอข่าวโดยมีเนื้อหาแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศอื่นๆ ที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ โดยพวกเขามักนำเสนอข่าวการลุกขึ้นประท้วงของประเทศต่างๆ ในอาหรับเพื่อโค่นล้มผู้นำเผด็จการ อย่างในการประท้วงที่อียิปต์และตูนีเซียในช่วงก่อนการคว่ำบาตรกาตาร์ นั่นยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาติอย่างซาอุดีอาระเบียที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์อย่างมาก

นั่นทำให้หลังจากมีการมีการคว่ำบาตรกาตาร์เกิดขึ้น เนื้อหาของสำนักข่าวอัลจาซีราก็ถูกปิดกั้นในประเทศอื่นๆ ของชาติสมาชิก GCC ตามไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการโจมตีทางไซเบอร์ตามมา โดยมีรายงานว่าเว็บไซต์ของสำนักข่าวโดนแฮ็ก และโดนโจมตีในหลายๆ ช่องทาง

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งกรณีที่จะกลายเป็นประเด็นใหญ่ตามมา คือกรณีของ beIN SPORTS สื่อกีฬาชื่อดังแห่งกาตาร์ ที่ถือลิขสิทธิ์การแข่งขันกีฬาและฟุตบอลรายการใหญ่ๆ ของยุโรปมากมาย โดย beIN ยังถือลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ (Middle East and North Africa หรือที่ย่อว่า MENA) นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันด้วย

การคว่ำบาตรกาตาร์ของกลุ่ม GCC ส่งผลถึงการปิดกั้น beIN SPORTS จากการถ่ายทอดสดฟุตบอลในภูมิภาคนี้ไปตั้งแต่ปี 2017 และทำให้คนในย่านอ่าวเปอร์เซียที่สังกัด GCC ไม่สามารถดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและรวมถึงรายการอื่นๆ ที่ beIN ถือลิขสิทธิ์ได้ นั่นหมายถึงพวกเขาจะพลาดการดูฟุตบอลลีกใหญ่ทั้ง 5 ลีกของยุโรป ทั้งๆ ที่กีฬาฟุตบอลถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในย่านนี้

นั่นเองที่นำมาสู่การเกิดช่องทางละเมิดลิขสิทธิ์ที่ชื่อว่า beOUTQ ซึ่งเป็นช่องทางละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในซาอุดีอาระเบีย โดยมี 10 ช่องสัญญาณที่เริ่มออกอากาศทางผู้ให้บริการดาวเทียมอาหรับแซต (Arabsat) โดยโครงข่ายนี้ให้บริการในประเทศ GCC อื่นๆ ที่เป็นชาติสมาชิกของกลุ่มนี้ทั้งหมด

การละเมิดลิขสิทธิ์ของ beOUTQ เป็นเรื่องอื้อฉาวในวงการลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬามากที่สุดกรณีหนึ่งของโลก โดยทางการกาตาร์และ beIN SPORTS ได้ดำเนินการยื่นเรื่องดังกล่าวต่อทางการซาอุฯ ในขณะนั้น เพื่อให้จัดการกับช่องทางเผยแพร่สัญญาณของ beOUTQ ซึ่งพวกเขาสืบทราบมาว่าอยู่ในเขตอัลกิราวันในกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย แต่ทางการซาอุฯ ตอบกลับมาเพียงแค่ไม่มีเรื่องนี้ในประเทศพวกเขา และไม่มีการดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม

เรื่องฉาวดังกล่าว ลามไปถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ต้องออกมาแถลงการณ์ประณาม beOUTQ หลังพวกเขายังละเมิดลิขสิทธ์ของ beIN SPORTS อย่างต่อเนื่องจนไปถึงการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ที่ beIN ถือลิขสิทธิ์เหนือภูมิภาคนี้ แต่สุดท้ายเรื่องดังกล่าวก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข

นั่นเองที่เป็นสาเหตุให้กาตาร์ และ beIN SPORTS ผูกใจเจ็บกับทางซาอุดีอาระเบียและ beOUTQ เรื่อยมา และถ้าหากยังจำกันได้ เมื่อไม่นานมานี้ที่กลุ่มทุนพับลิค อินเวสต์เมนต์ ฟันด์ ที่มีโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งประเทศซาอุดีอาระเบีย พยายามเข้าเทคโอเวอร์สโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ทางด้าน beIN SPORTS จึงพยายามคัดค้านเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และทางพรีเมียร์ลีกก็รับฟังพวกเขา เนื่องจาก beIN ถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ถือลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกในหลายๆ ประเทศ แม้สุดท้ายการเทคโอเวอร์ดังกล่าวจะลุล่วงไปได้ก็ตาม

ความขัดแย้งในสนามฟุตบอลกับเอเชียนคัพ 2019

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ถูกลากไปเชื่อมโยงกับประด็นต่างๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไปเรื่อยๆ โดยสุดท้ายมันก็มาสู่เวทีของกีฬาอย่างที่ใครหลายคนคาดการณ์ไว้ เมื่อทีมฟุตบอลของทั้งสองชาติต้องโคจรมาเจอกันในศึกเอเชียนคัพ 2019 ซึ่งสื่อมวลชนในหลายๆ ชาติตั้งชื่อแมตช์การเจอกันของทั้งคู่ในวันที่ 17 มกราคม 2019 นั้นว่า บล็อกเกด ดาร์บี (Blockade Derby) หรือ ดาร์บีแมตช์แห่งการปิดกั้น

เกมในวันนั้นเป็นมากกว่าการแข่งขันฟุตบอลทั่วไปอย่างมาก ทางฝั่งซาอุดีอาระเบียต้องการชัยชนะเพื่อสั่งสอนกาตาร์ให้รู้ว่าใคร ‘ใหญ่’ ที่สุดในภูมิภาคนี้ และแฟนบอลของพวกเขาก็ต้องการชัยชนะเฉกเช่นเดียว ขณะที่ทางกาตาร์ก็ต้องการชัยชนะเพื่อเอาคืนในหลายๆ เรื่อง หลังจากที่พวกเขาประกาศให้โลกรู้ไปแล้วก่อนหน้านี้แล้วว่าการคว่ำบาตรจากลุ่ม GCC ทำอะไรพวกเขาแทบไม่ได้เลย

แมตช์ในวันนั้นไม่ได้มีความหมายกับแค่การเมืองระหว่างทั้งสองชาติเท่านั้น แต่ยังเดิมพันด้วยตำแหน่งแชมป์กลุ่ม E หลังจากที่ทั้งกาตาร์และซาอุดีอาระเบียเอาชนะเลบานอนกับเกาหลีเหนือมาได้ในสองแมตช์แรกทั้งคู่ ทำให้ผู้ชนะในแมตช์นี้จะคว้าแชมป์กลุ่ม E ไปครอง พร้อมหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะต้องไปเจอกับญี่ปุ่น เต็งแชมป์กลุ่ม F และยังเป็นตัวเต็งแชมป์รายการนี้ด้วย

แมตช์ดังกล่าว เล่นกันอย่างดุเดือด และมีใบเหลืองทั้งเกมรวมถึง 5 ใบ โดยหนึ่งในนั้นเป็นใบเหลืองจากการที่อาลี อัลมอซ ถอดเสื้อแสดงความดีใจจากการยิงประตูให้ทีมชาติกาตาร์ ออกนำ 1-0 ในช่วงท้ายครึ่งแรก นาทีที่ 45 ก่อนที่อัลมอซคนเดิม จะมายิงประตูย้ำชัยในนาทีที่ 80 ช่วยให้กาตาร์เอาชนะซาอุดีอาระเบีย ไปได้ 2-0 คว้าแชมป์กลุ่ม E ไปครอง ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย ต้องเข้ารอบน็อกเอาต์ไปพบกับญี่ปุ่นตามความคาดหมาย

เส้นทางของซาอุดีอาระเบียจบลงหลังจากพ่ายต่อญี่ปุ่น 0-1 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย และในวันนั้นฮวน ปิซซีหัวหน้าโค้ชของ ซาอุฯ ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งทันที แม้จะมีข่าวลือมาก่อนหน้านั้นแล้วว่าสมาคมฟุตบอลของซาอุฯ (SAFF) อยากปลดเขาออกตั้งแต่พ่ายต่อกาตาร์ เมื่อ 4 วันก่อนแล้ว แต่เมื่อคำนึงถึงการปลดแม่ทัพกลางศึกแล้ว เห็นว่าไม่ใช่การดีเท่าที่ควร พวกเขาจึงรอให้ทีมชาติของพวกตนตกรอบแล้วค่อยทำการเชือดกุนซือชาวอาร์เจนไตน์ออกจากตำแหน่ง และสมาคมฟุตบอลก็ไม่ต้องรอนานแต่อย่างใด

ตรงข้ามกับซาอุฯ เพราะกาตาร์ยังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ในทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์เอเชียในปี 2019 และพวกเขาได้โอกาส ‘ตอกหน้า’ กลุ่มประเทศที่เลือกจะคว่ำบาตรพวกเขาอีกครั้งด้วยการพบกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชาติเจ้าภาพที่เป็นคู่แข่งสำคัญในด้านเศรษฐกิจของพวกเขา ในรอบรองชนะเลิศท่ามกลางแฟนบอลยูเออีที่เต็มสนาม แต่ขุนพลกาตาร์ก็ไม่หวั่นไหวและเก็บชัยชนะแบบถล่มทลายได้ถึง 4-0 ก่อนเข้าไปทุบญี่ปุ่นในรอบชิงชนะเลิศ 3-1 คว้าแชมป์เอเชียนคัพ 2019 ได้อย่างยิ่งใหญ่

การคว้าแชมป์ในเอเชียนคัพ 2019 ด้วยการเอาชนะทั้งซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถือเป็นการเอาคืนครั้งใหญ่สำหรับสิ่งที่พวกเขาถูกกระทำจาก GCC ในมุมมองของคนกาตาร์ และนั่นยังนับเป็นการคว้าตำแหน่งเจ้าแห่งเอเชียครั้งแรกของกาตาร์อีกด้วย ถึงแม้มันจะไม่ได้มีผลกระทบต่อการคว่ำบาตรทางด้านการเมืองเท่าใดนัก แต่ผลกระทบทางด้านจิตใจที่ชาวกาตาร์ได้รับจากการคว้าแชมป์ครั้งนี้ ยิ่งช่วยยืนยันว่าพวกเขาสามารถยืนหยัดได้แม้จะไม่มีซาอุฯ คอยค้ำจุนเป็นหัวโจกก็ตาม

การคืนดีที่ไม่เหมือนเดิม

ความขัดแย้งระหว่างกาตาร์และคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับที่นำโดยซาอุดีอาระเบียเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด ในช่วงต้นปี 2021 หลังจากความพยายามหลายต่อหลายครั้งของประเทศสมาชิกอื่นๆ ในการผสานรอยร้าวระหว่างกาตาร์และชาติอ่าวอาหรับ พวกเขาจัดให้มีการพูดคุยกันทั้งในคูเวตและโอมานระหว่างชาติสมาชิก นำโดยซาอุฯ กับกาตาร์ โดยเน้นย้ำว่า การขาดเอกภาพในบรรดาชาติอ่าวเปอร์เซียจะยิ่งทำให้อิหร่านแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

จนสุดท้ายเมื่อปลายปี 2020 กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดูลาซิช อัล ซาอุด เจ้าผู้ครองซาอุดีอาระเบีย ได้เชิญมูฮัมหมัด บิน อับดุลเราะห์มาน อัล ธานี เจ้าผู้ครองกาตาร์ มาร่วมการประชุมผู้นำสุดยอดสมาชิก GCC ครั้งที่ 41 ในวันที่ 5 มกราคม 2021 พร้อมมีการประกาศบรรลุข้อตกลงในการเปิดน่านฟ้าและพรมแดนทั้งทางบกและทางทะเลระหว่างกันอีกครั้ง ทำให้กาตาร์ กลับมาเป็นหนึ่งในสมาชิกของ GCC อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การกลับมาครั้งนี้ของกาตาร์ พวกเขามีมุมมองที่เปลี่ยนไปหลังโดนคว่ำบาตรมาเกือบ 4 ปี พวกเขาเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเองจากการเป็นประเทศศูนย์กลางการบินและการท่องเที่ยว ทั้งยังมีอุตสาหกรรมที่ทำเงินอย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรทางทะเลที่เพียบพร้อม และตลาดคู่ค้าที่สำคัญของพวกเขาทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ก็ล้วนเป็นตลาดใหญ่ ทำให้พวกเขาไม่ต้องหวังพึ่งอิทธิพลของซาอุดีอาระเบียมากเท่าก่อนที่พวกเขาถูกคว่ำบาตรอีกต่อไป

นอกจากนี้กาตาร์ยังพยายามผูกตัวไปกับการเป็นชาติที่มีบทบาทในเวทีกีฬาสำคัญของโลก ทั้งการเช้าไปเทคโอเวอร์สโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมงของกาตาร์ สปอร์ตส์ อินเวสต์เมนต์ ที่นำโดยนาสเซอร์ อัล เคไลฟี ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งถูกเลือกตั้งให้เป็นประธานของสมาคมสโมสรฟุตบอลยุโรป หรือ ECA ประกอบกับฟุตบอลโลก 2022 ที่กำลังจะมาถึงก็ยังมาจัดในกาตาร์ ทำให้ภาพลักษณ์ของกาตาร์ผูกโยงกับกีฬาอย่างเข้มแข็ง และกลายเป็นโมเดลที่ชาติมหาเศรษฐีชาติอื่นๆ ในอ่าวเปอร์เซีย พยายามจะเลียนแบบ ไม่เว้นแม้แต่พี่ใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันของความขัดแย้ง

ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าทั้งกาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ต่างเป็นชาติที่อยู่เบื้องหลังสโมสรฟุตบอลขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง ปารีส แซงต์ แชร์กแมง, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด โดยโมเดลการเชื่อมโยงกับกีฬานี้กำลังถูกใช้อย่างหนักในระยะหลัง โดยประเทศที่มีเงินถุงเงินถัง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือมันถูกริเริ่มมาโดยกาตาร์

ทางซาอุดีอาระเบียกำลังเดินตามรอยที่กาตาร์ทำไว้ เพียงแต่การเป็นลูกพี่ใหญ่พวกเขาก็ต้องการ ‘เล่นใหญ่’ กว่า และทำให้ดีกว่าที่กาตาร์เคยทำ พวกเขาลงทุนผลักดันลิฟกอล์ฟ (LIV Golf) ทัวร์นาเนนต์การแข่งขันกอล์ฟรูปแบบใหม่ออกมาแข่งขันกับพีจีเอทัวร์ของสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงเสนอตัวเป็นหนึ่งในเจ้าภาพของฟุตบอลโลก 2030 ร่วมกับกรีซและอียิปต์ รวมทั้งยังได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ฤดูหนาวในปี 2019 ทั้งที่ประเทศของพวกเขาอุดมไปด้วยทะเลทราย

นั่นคือสิ่งที่ซาอุฯ เรียนรู้จากกาตาร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของประเทศ ในช่วงที่กาตาร์ใช้กีฬาเพื่อพรีเซนต์ประเทศตัวเองอย่างหนักตอนที่พวกเขาโดนคว่ำบาตร ขณะเดียวกันพวกเขาก็กำลังพัฒนาวงการฟุตบอลอย่างต่อเนื่อง เพื่อหนีกาตาร์ให้ได้ หลังจากความพ่ายแพ้ในเอเชียนคัพปี 2019 พวกเขาก็เอาคืนได้ในศึกฟุตบอลชิงแชมป์ชาติอ่าวเปอร์เซีย หรือกัลฟ์คัพ 2019 เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ ซาอุฯ จะพยายามหนักหนาขนาดไหนในการทวงความเป็นเจ้าทั้งในเวทีเศรษฐกิจและฟุตบอลเหนือกาตาร์ แต่ความเป็นอริรวมไปถึงความรู้สึกเป็นคู่ปรับระหว่างประชาชนและแฟนบอลทั้งสองชาติก็ได้เกิดขึ้นไปแล้ว และแน่นอนว่าจะดำเนินต่อไปหลังจากนี้อีกยาวนานแน่นอน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save