fbpx

สเตอัว บูคาเรสต์ vs ดินาโม บูคาเรสต์ : การปะทะกันของ ‘กองทัพ’ กับ ‘ตำรวจลับ’ ในโรมาเนีย

มีชื่อมากมายที่ถูกใช้เรียกขานแมตช์การเจอกันระหว่างสเตอัว บูคาเรสต์ (FC FCSB) กับดินาโม บูคาเรตส์ ไม่ว่าจะเป็น ดาร์บี้ตลอดกาล (Eternul Derby) ดาร์บี้ของชาวโรมาเนีย (Derby-ul României) หรือดาร์บี้อันยิ่งใหญ่ (Marele Derby) ซึ่งก็พอทำให้เราเห็นนิยามสั้นๆ ง่ายๆ ของสองสโมสรฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองหลวงของโรมาเนีย และอาจกล่าวได้ว่านี่คือสองสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศแห่งนี้

ความสัมพันธ์ของการเป็นคู่ปรับของทั้งคู่ ไม่ได้อยู่แค่ในสนามฟุตบอลเท่านั้น เพราะนอกจากทีมฟุตบอลแล้ว ทั้งสเตอัวและดินาโมยังมีทีมกีฬาอื่นๆ อาทิ รักบี้ แฮนด์บอล และโปโลน้ำอีกด้วย ซึ่งความขัดแย้งระหว่างทั้งคู่ล้วนแพร่มายังสนามกีฬาอื่นๆ อย่างยากจะหลีกเลี่ยง แม้ว่าในสนามฟุตบอลจะเป็นพื้นที่ที่มีการปะทะกันดุเดือดที่สุดและได้รับความนิยมมากที่สุดก็ตาม

ด้วยความที่สนามฟุตบอลของทั้งสองสโมสรตั้งอยู่ห่างกันแค่ราว 5.5 กิโลเมตร และเชื่อมกันด้วยถนนโซเซอัว มิไฮ บราวู เพียงเส้นเดียวเท่านั้น ดังนั้นในวันที่ทั้งคู่เจอหน้ากันในสนามฟุตบอล จึงกลายเป็นวันที่ชาวเมืองบูคาเรสต์รับรู้กันเป็นอย่างดีว่าถนนเส้นนี้จะกลายเป็นอัมพาต และอาจมีการจลาจลขึ้นได้หากมีการปะทะคารมหรือเหตุยั่วยุอันไม่คาดฝันเกิดขึ้นในการแข่งขันระหว่างสองทีม

การที่ทั้งสองสโมสรมีการเผชิญหน้ากันในสนามฟุตบอลที่ดุเดือดนั้น ไม่ใช่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นเอง หากแต่เป็นเหมือนกับ ‘The Rivalry‘ หลายคู่ที่เราเคยนำเสนอมา โดยเฉพาะเรื่องของประวัติศาสตร์ที่สั่งสมความขัดแย้งและแปรเปลี่ยนเป็นสงครามตัวแทนในสนามกีฬาในที่สุด แม้ว่าปัจจุบันหลายคนอาจไม่ได้จดจำต้นตอหรือรากเหง้าของความขัดแย้งได้แล้ว แต่ความเกลียดชังยังคงถูกส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่นและกลายมาเป็น ‘ดาร์บี้ของชาวโรมาเนีย’ แมตช์นี้อย่างที่มันเป็นอยู่

และนี่คือเรื่องราวของสองสโมสรที่มีพื้นเพแตกต่างกัน มาจากจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน แม้ว่าสนามของทั้งสองทีมจะตั้งห่างกันด้วยการเดินทางไม่เกิน 20 นาที แต่กลับกลายเป็นหนึ่งในคู่อริที่มีชื่อเสียงที่สุดในดินแดนยุโรปตะวันออก และนี่คือเรื่องราวของสเตอัว บูคาเรสต์และดินาโม บูคาเรตส์กับดาร์บี้อันยิ่งใหญ่

สเตอัว บูคาเรสต์ – สโมสรที่แบกชื่อของ ‘กองทัพ’

ปัจจุบันชื่อ ‘สเตอัว บูคาเรสต์’ ที่แฟนฟุตบอลบ้านเราคุ้นหูคุ้นตากันถูกเปลี่ยนชื่อเป็น FC FCSB เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา แต่นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนชื่อสโมสรครั้งแรกของพวกเขา เพราะแรกเริ่มเดิมทีสโมสรแห่งนี้มีชื่อเมื่อตอนก่อตั้งในปี 1947 ว่า ASA บูคาเรสต์ อันมีชื่อเต็มว่า Asociatia Sportiva a Armatei Bucuresti หรือ สมาคมกีฬากองทัพบกแห่งบูคาเรสต์

ด้วยชื่อที่ว่ามาก็ค่อนข้างจะระบุตัวตนของพวกเขาได้ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะสโมสรแห่งนี้ถูกก่อตั้งโดยความคิดริเริ่มจากบรรดาเจ้าหน้าที่ทางการทหารของโรมาเนีย โดยผู้ที่ลงนามอนุมัติให้มีการก่อตั้งสโมสรแห่งนี้ขึ้นในวันที่ 7 มิถุนายน 1947 ก็คือนายพล มิฮาอิล ลาสการ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพโรมาเนีย ซึ่งเรียกได้ว่างานนี้กองทัพชงเองกินเองครบสูตร โดยในตอนก่อตั้งนั้น สโมสร ASA บูคาเรสต์ ดำเนินการเป็นสโมสรกีฬาโดยรวม และมีทีมกีฬาในสังกัดถึง 7 ประเภท โดยหนึ่งในนั้นก็คือกีฬาฟุตบอล ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในยุโรปในขณะนั้น

หลังจากก่อตั้งมาได้แค่ปีเดียว สโมสรแห่งนี้ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเพื่อแสดงความชัดเจนขององค์กรมากยิ่งขึ้น โดนเปลี่ยนจาก ASA บูคาเรสต์ หรือ สมาคมกีฬากองทัพบกแห่งบูคาเรสต์ มาเป็น CSCA อันมีชื่อเต็มว่า Clubul Sportiv Central al Armatei ซึ่งแปลได้ประมาณว่าสโมสรกีฬากลางแห่งกองทัพบก และอีก 2 ปีต่อมาก็เปลี่ยนชื่ออีกครั้ง เป็น CCA หรือ Casa Centrala a Armatei หรือ สถาบันกลางแห่งกองทัพบก ในปี 1950

อย่างไรก็ตามในปี 1961 คำว่า ‘สเตอัว’ (Steaua) ก็ปรากฏขึ้นในชื่อของสโมสรแห่งนี้เป็นครั้งแรก โดยคำว่าสเตอัวเป็นภาษาโรมาเนียนแปลว่า ‘ดาว’ ซึ่งสื่อถึงความเป็นสโมสรในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ไม่ต่างจากเรด สตาร์ เบลเกรด หรือปาร์ติซาน เบลเกรดของยูโกสลาเวีย โดยสโมสรแห่งนี้เปลี่ยนชื่อจาก CCA มาเป็น CSA สเตอัว บูคาเรสต์ โดยมีชื่อเต็มว่า Clubul Sportiv al Armatei Steaua (สโมสรกีฬาทหารบกสเตอัว) ซึ่งก็ยังคงความเป็นสโมสรของทหารอยู่ในชื่อไม่เปลี่ยนแปลงไป

หลังจากใช้ชื่อว่า CSA สเตอัว บูคาเรสต์ มาเกือบ 40 ปี สโมสรแห่งนี้มีอันต้องเปลี่ยนชื่ออีกครั้งพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสโมสร เมื่อสโมสรฟุตบอลสเตอัว บูคาเรสต์แยกตัวออกจากสโมสรกีฬาทหารบกสเตอัวในปี 1998 และผันตัวเข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2003 อันเป็นชนวนเหตุสำคัญให้พวกเขาถูกฟ้องร้องจนต้องเปลี่ยนชื่อเป็น FC FCSB แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

โดยในปี 2017 กระทรวงกลาโหมของโรมาเนีย ซึ่งเป็นเหมือนจุดกำเนิดของสเตอัว บูคาเรสต์ ได้ออกมาฟ้องร้องต่อ FC สเตอัว บูคาเรสต์ ในขณะนั้น เพื่อยึดคืนสิทธิ์ในชื่อและตราสโมสร หลังจากที่สโมสรแห่งนี้ไม่ได้เป็นของกองทัพมาตั้งแต่ปี 2003 โดยทางกระทรวงกลาโหมอ้างว่ากองทัพโรมาเนียเป็นเจ้าของโลโก้ สี เกียรติประวัติ รวมไปถึงชื่อโดยชอบธรรมของสเตอัว บูคาเรสต์ ทำให้ในวัน 30 มีนาคม 2017 คณะกรรมการบริหารของสหพันธ์ฟุตบอลโรมาเนียได้อนุมัติคำขอแก้ไขชื่อสโมสรจากเอฟซี สเตอัว บูคาเรสต์ มาเป็นชื่อใหม่อย่าง FC FCSB

ดินาโม บูคาเรสต์ – บทบาทของ ‘ตำรวจลับ’ ในสนามฟุตบอล

ดินาโม บูคาเรสต์ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกันมาตลอดและเปลี่ยนชื่อบ่อยๆ แบบที่คู่ปรับของพวกเขาอย่างสเตอัวเป็น หากแต่ดินาโมเป็นการรวมตัวกันของสโมสรสองแห่งอย่าง ‘อูนิเรีย ตริคัลเลอร์ ไม’ กับ ‘โซซานูล บูคาเรสต์’ ซึ่งสโมสรแห่งนี้เกิดขึ้นหลังสเตอัว บูคาเรสต์ราว 1 ปี ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948

การร่วมตัวกันของสองสโมสรที่ว่ามา ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่ทั้งสองฝ่ายคิด เนื่องจากปูมหลังของทั้งสองทีมมีความแตกต่างมากเกินไป โดยอูนิเรีย ตริคัลเลอร์ ไมเป็นแผนกสโมสรฟุตบอลของกระทรวงกิจการภายในของโรมาเนีย ซึ่งแผนกกิจการภายในนี้มีหน้าที่กำกับดูแลตำรวจโรมาเนีย ซึ่งรวมไปถึงตำรวจชายแดน แผนกข่าวกรอง ตำรวจลับ และความมั่นคงภายในประเทศ โดยผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสโมสร ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในในขณะนั้นอย่างเตโอฮารี จอร์เจสคู

ขณะที่โซซานูล บูคาเรสต์ แต่เดิมมีชื่อว่า มัคคาบี บูคาเรสต์ ถูกก่อตั้งโดยสองพี่น้องชาวยิวในบูคาเรสต์อย่าง อเล็กซานดรู และ ทูรี โวเกิล โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1919 สโมสรยิวแห่งนี้เน้นการใช้งานนักเตะชาวยิว และยังมีแฟนบอลส่วนมากเป็นชาวยิวในกรุงบูคาเรสต์อีกด้วย

ในช่วงแรกที่ทั้งสองสโมสรตกลงร่วมงานกันภายใต้ชื่อดินาโม บูคาเรสต์ พวกเขายังไม่ได้รวมทีมกันอย่างสมบูรณ์ หากแต่แบ่งเป็นทีม ‘ดินาโม ทีมเอ’ กับ ‘ดินาโม ทีมบี’ แต่ใช้ทีมผู้บริหารชุดเดียวกันกับนักเตะทั้งสองทีม ซึ่งพวกเขาให้ดินาโม ทีมเอ คือนักเตะจากโซซานูลเดิม ส่วน ดินาโม ทีมบี เป็นนักเตะจากอูนิเรีย ตริคัลเลอร์ ไมเดิม

อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดก็เหลือเพียง ดินาโม บูคาเรสต์ทีมเดียวในปี 1950 เมื่อดินาโม ทีมเอถูกแยกจากดินาโม ทีมบี แล้วย้ายฐานใหม่ไปสู่เมืองบราซอฟ ก่อนย้ายอีกทอดไปที่คลูจ-นาโปกา และย้ายต่อไปยังบาเกา ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เอฟซีเอ็ม บาเกา’ ในปัจจุบัน

การที่ดินาโมเหลือเพียงทีมเดียวในบูคาเรสต์ เป็นการเปิดฉากยุคสมัยการขับเคี่ยวของสองทีมดังแห่งเมืองนี้ แม้ว่าในบูคาเรสต์ยังมีอีกทีมในสมัยนั้นอย่างราปิด บูคาเรสต์ ซึ่งเป็นทีมที่ถูกก่อตั้งโดยแรงงานสหภาพการรถไฟ แต่พลังภายในของพวกราปิดคงไม่ยิ่งใหญ่อาจหาญมาต่อต้านการปะทะกันของ ‘ทหาร’ กับ ‘ตำรวจลับ’ ในเมืองหลวงของโรมาเนียได้ ทำให้นับตั้งแต่ปี 1950 มา แชมป์ลีกโรมาเนียก็วนไปเวียนมาอยู่กับสเตอัวหรือดินาโมเป็นส่วนใหญ่ จนการขึ้นเถลิงอำนาจของนิโคไล เชาเชสกู

ความบาดหมางอันน่าละอายในกำมือของเผด็จการ

การขึ้นสู่อำนาจของนิโคไล เชาเชสกูในฐานะผู้นำของโรมาเนีย หลังได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1965 ค่อยๆ เปลี่ยนโฉมหน้าของโรมาเนียและโฉมหน้าของตัวเขาเองไปทีละน้อย หลังเขาออกนโยบายให้รัฐบาลของเขากลายเป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จได้สำเร็จในปี 1971 หลังจากนั้นรัฐบาลของนิโคไล เชาเชสกูก็ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นหนึ่งในรัฐบาลที่กดขี่ประชาชนมากที่สุดในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก เขาเริ่มออกโฆษณาชวนเชื่อและจัดตั้งลัทธิเชิดชูท่านผู้นำ มีรูปภาพของเขาติดอยู่ในทุกสถานที่ ตำรวจลับและฝ่ายความมั่นคงดำเนินการสอดแนมมวลชนและปราบปรามฝ่ายต่อต้าน นอกจากนี้ยังมีทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการควบคุมคุกคามสื่อมวลชนให้เป็นไปตามที่เขาต้องการด้วย

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่กับวิถีชีวิตของคนทั่วไปเท่านั้น เพราะอำนาจเผด็จการของเชาเชสกูยังลามมาถึงสนามฟุตบอลอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ในยุคของเผด็จการเชาเชสกู ทีมกีฬาที่เขาถือหางล้วนแต่กลายเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นสกอร์นีเชสต์ ทีมบ้านเกิดของเขา ที่เกิดบังเอิญเอาชนะคู่แข่งได้ 18-0 ได้อย่างปาฏิหาริย์ (?) ในเกมนัดสุดท้ายของดิวิชั่น ซีในฤดูกาล 1977-78 ทำให้แซงหน้าทีมคู่แข่งอย่างฟลาการา ออโตเมคานิกา โมเรนี ที่มีคะแนนเท่ากันด้วยประตูที่เหนือกว่า เลื่อนชั้นได้อย่างน่าเหลือเชื่อ (?) เท่านั้นยังไม่พอ ในฤดูกาลต่อมาสกอร์นีเชสต์ก็เอาชนะเมตาลูล บูคาเรสต์ได้อย่างน่ากังขา แซงเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จภายในปีเดียวด้วย

แล้วมันเกี่ยวอะไรกลับความบาดหมางของสเตอัว บูคาเรสต์กับดินาโม บูคาเรสต์? มันก็คงจะไม่เกี่ยว ถ้าหากลูกชายของนิโคไลอย่างวาเลนติน เชาเชสกูไม่ได้ถือหางสเตอัว บูคาเรสต์อย่างเต็มตัว และน้องชายของเขาอย่างอิลี่ เชาเชสกูก็ถือเป็นบุคคลสำคัญในกองทัพของโรมาเนีย

ว่ากันว่า วาเลนติน ลูกชายคนโต เป็นเสมือนประธานสโมสรตัวจริงของสเตอัว บูคาเรสต์ในยุคนั้น แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรงก็ตาม ขณะที่อิลี่น้องชายของนิโคไลก็เกี่ยวข้องกับสเตอัวโดยตรง ในฐานะที่เป็นนายพลของแห่งกองทัพโรมาเนีย และมีตำแหน่งสำคัญในกระทรวงกลามโหม ถึงขั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ถึงตรงนี้ก็ต้องอย่าลืมว่าสเตอัว บูคาเรสต์ ในตอนนั้นยังมีชื่อว่า ‘สโมสรกีฬาทหารบกสเตอัว’

ภายใต้ยุคของสองอาหลานแห่งตระกูลเชาเชสกู ที่มีบทบาทกับสโมสรสเตอัว ก็มีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ การหลอกล่อนักเตะมาร่วมทีมด้วยสวัสดิการและรายได้ ชนิดทีมอื่นไม่อาจสู้ไหว หรือการดึงตัวนักเตะมาจากทีมอื่นแบบ ‘ยึดไปดื้อๆ’ โดยหนึ่งในนั้น เกิดขึ้นกับสตาร์ดังอย่างจอร์จี ฮาจี ที่ตอนแรกสเตอัวตกลงกับต้นสังกัดสปอร์ตูล สตูเดนเตสว่าจะยืมไปแข่งขันกับดินาโม คีฟเพียงนัดเดียว แต่หลังจากนั้นนักเตะก็ไม่เคยกลับมายังสโมสรเดิมอีกเลย

โดยหนึ่งในเหตุการณ์อัปยศที่สุดที่เกิดขึ้นระหว่างคู่ปรับสเตอัวและดินาโมระหว่างการครองอำนาจของตระกูลเชาเชสกูคือเกมนัดชิงโรมาเนียน คัพในปี 1988 โดยในระหว่างเกมนั้น สกอร์ของทั้งคู่เสมอกัน 1-1 จนนาทีสุดท้ายของเกม สเตอัวทำประตูได้ ทว่าประตูดังกล่าวโดนยกธงเป็นลูกล้ำหน้า ทำให้ทั้งสองทีมจำเป็นต้องไปเล่นต่อในช่วงต่อเวลาพิเศษ ทว่าวาเลนตินยืนยันไม่ให้สเตอัวของเขาไปเล่นในช่วงต่อเวลา แต่กลับเรียกประชุมคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ที่ประชุมจะมีมติว่าลูกล้ำหน้าในนาทีสุดท้ายเป็นการทำหน้าที่ผิดพลาดของผู้ตัดสิน และให้สเตอัวได้แชมป์ไปด้วยสกอร์ 2-1 แบบงงๆ

นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกสักเท่าไหร่ที่ระหว่างปี 1984-1989 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วาเลนตินมีอิทธิพลเหนือสเตอัว แชมป์ฟุตบอลลีกสูงสุดในประเทศจะตกเป็นของพวกเขาทั้งหมด ขณะที่ฟุตบอลถ้วยโรมาเนียน คัพ พวกเขาก็ครองแชมป์ได้ถึง 4 จาก 5 ฤดูกาลที่ว่ามาด้วย

อย่างไรก็ตามยุคสมัยแห่งการผูกขาดก็มาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อการปฏิวัติโรมาเนียมาถึงในปี 1989 นำมาสู่การสิ้นสุดอำนาจเหนือประเทศนี้ของนิโคไล เชาเชสกู ซึ่งส่งผลให้ลูกชายของเขาอย่างวาเลนตินสิ้นสุดอำนาจเหนือสโมสรสเตอัว บูคาเรสต์ตามไปด้วย

ความเปลี่ยนแปลงหลังการปฏิวัติ

หลังจากที่ปล่อยให้คู่แข่งอย่างสเตอัว บูคาเรสต์ผูกขาดความสำเร็จอย่างต่อเนื่องยาวนานภายใต้กำลังภายในของวาเลนติน เชาเชสกู หลังจากการปฏิวัติโรมาเนีย ดินาโม บูคาเรสต์ก็ประกาศศักดาทวงคืนศักดิ์ศรีของพวกเขาด้วยการคว้าแชมป์ลีกสูงสุด 2 ฤดูกาลในเวลาไล่เลี่ยกันในฤดูกาล 1989-90 และ 1991-92 แต่หลังจากนั้นทีม ‘หมาป่าสีแดง’ ก็ต้องพบกับฤดูหนาวอันยาวนานกับขาลงของสโมสรและไม่ประสบความสำเร็จอีกเกือบทศวรรษ

ขณะที่คู่ปรับอย่างสเตอัว บูคาเรสต์กลับไม่ได้เจอขาลงยาวนานขนาดนั้น เพราะสายป่านที่ยาวกว่าและการสนับสนุนอันดีจากแฟนบอลผู้รักสโมสร ทำให้พวกเขายังสามารถกลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้อย่างรวดเร็วหลังจากหมดยุคของวาเลนติน พวกเขากลับมาเป็นแชมป์ 6 สมัยติดระหว่างปี 1992-98

อย่างไรก็ตามความยากลำบากของของสองยักษ์ใหญ่ในบูคาเรสต์บนเวทียุโรปกลับเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการปฏิวัติ สโมสรชั้นนำของยุโรปตระหนักในความสามารถและคุณค่าของนักฟุตบอลโรมาเนียและดึงไปร่วมทีมได้อย่างอิสระหลังจากไม่มีอำนาจของเชาเชสกูมาคอยกีดขวางนักเตะให้อยู่แต่กับในทีมใหญ่ในประเทศ ส่งผลให้นักเตะอย่างจอร์จี ฮาจี้, จอร์จี โปเปสคู, แดน เปเตรสคู หรือมาริอุส ลาคาตัส ได้ออกไปหาความท้าทายนอกประเทศ

พร้อมกันนั้น ฟุตบอลสโมสรยุโรปก็รีแบรนด์ตัวเองกลายเป็นยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกในเวลาไล่เลี่ยกับที่ฟุตบอลอังกฤษเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยของพรีเมียร์ลีก ทำให้การแข่งขันและเงินจำนวนมหาศาลไปลงอยู่กับบรรดา 5 ลีกใหญ่ ในอังกฤษ อิตาลี สเปน เยอรมนี และฝรั่งเศส ส่งผลให้การแข่งขันของฟุตบอลโรมาเนียในเวทีซบเซาลงอย่างชัดเจน

แต่ถึงอย่างนั้น การเจอกันของสเตอัวกับดินาโมในกรุงบูคาเรสต์ก็ยังเป็นเกมสำคัญเสมอของชาวเมืองหลวงแห่งโรมาเนีย

ปัจจุบันของความขัดแย้ง

ปัจจุบันสโมสรคู่ปรับแห่งบูคาเรสต์ ทั้งสเตอัวที่กลายเป็น FC FCSB ตั้งแต่ปี 2017 กับ ดินาโม บูคาเรสต์ ต่างไม่ใช่ทีมที่ดูแลโดยองค์กรรัฐอีกต่อไปแล้ว โดย FCSB มีเจ้าของคือจอร์จ เบกาลี ส่วน ดินาโมมีโดริน เซอร์ดีนถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นทั้งสองสโมสร ก็ต่างกลายเป็นองค์กรเอกชนไปแล้ว

นั่นหมายความว่ายุคสมัยแห่งการปะทะกันระหว่างกองทัพกับตำรวจในสนามฟุตบอลในกรุงบูคาเรสต์ก็จบลงไปแล้วเช่นกัน แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือร่องรอยความบาดหมางที่ฝังอยู่ในอดีตและประวัติศาสตร์ของทีมที่ถูกส่งต่อกันมาให้มองว่าฝั่งตรงข้ามเป็นอรินั้นหาได้เปลี่ยนไปแต่อย่างใด แฟนบอลดินาโมหลายคนยังจำความอัปยศในช่วงทศวรรษที่ 1990 ได้เป็นอย่างดี ตรงกันข้ามกับแฟนสเตอัวที่ยืนยันว่ายุคหลังปฏิวัติพวกเขาก็ประสบความสำเร็จได้มากกว่าดินาโม โดยไม่มีอำนาจนอกสนามใดๆ มาเกี่ยวข้อง และมันกลายเป็นข้อถกเถียงอันไร้จุดสิ้นสุดเมื่อมาจากปากของแฟนบอลแต่ละทีม

โดยแจ็ค แมคแกร์รี่ คอลัมน์นิสต์ จาก THESE FOOTBALL TIME แห่งสหราชอาณาจักรเล่าว่า “การเห็นพลุแฟลร์และควันไฟในสนามเป็นเรื่องปกติของเกมนี้ เสียงโห่ร้องและเยาะเย้ยท่ามกลางฝนที่ตกลงมาเป็นสิ่งที่คุณจะเห็นได้ทั่วไป และระเบิดควันถูกปาลงไปอย่างเกรี้ยวกราดก็เป็นเรื่องธรรมดา”

ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นของฟุตบอลยุโรป ที่นับวันจะบีบให้ตัวตนของทั้งสเตอัว บูคาเรสต์และดินาโม บูคาเรสต์เล็กลงเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้นการเจอกันเองของพวกเขาก็ย่อมมีความหมายเหมือนที่มันเป็นมากว่าครึ่งศตวรรษ แม้ว่าความเกลียดชังที่เกิดขึ้นจะถูกจดจำต่างออกไปจากยุคแรกแล้วก็ตาม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save