fbpx

เซอร์เวนา ซเวซดา vs ปาร์ติซาน เบลเกรด : การต่อสู้ระหว่างคอมมิวนิสต์และเผด็จการทหารในเซอร์เบีย

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

950 เมตรคือระยะทางระหว่างสนามปาร์ติซาน สเตเดียมกับสนามรัจโค มิติช สเตเดียม ซึ่งเป็นสองสนามของสองคู่ปรับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคู่หนึ่งแห่งยุโรป เกมการเจอกันในสนามฟุตบอลของทั้งคู่ถูกยกย่องให้เป็นเอเทอร์นัล ดาร์บี (Eternal Derby) หรือการเผชิญหน้าตลอดกาล นั่นคือการเจอกันของ ‘ปาร์ติซาน เบลเกรด’ กับ ‘เซอร์เวนา ซเวซดา’ หรือชื่อเดิมคือ ‘เรด สตาร์ เบลเกรด’ สองสโมสรยักษ์ใหญ่แห่งวงการฟุตบอลเซอร์เบียที่มีฐานที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงของประเทศ ซึ่งถือเป็นดินแดนแห่งวัฒนธรรมและความขัดแย้งตลอดกาลแห่งนี้

ปัจจุบันเซอร์เบียได้รับยกย่องว่าเป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยวที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปตะวันออก และกรุงเบลเกรดก็ถูกยกย่องว่าเป็น ‘เมืองสีขาว’ ที่น่าจะมีอนาคตสดใสที่สุดแห่งหนึ่งในดินแดนแถบนี้ แต่เมืองหลวงแห่งนี้ก็มีพื้นเพและประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่ที่มีการแย่งชิงทางอำนาจในการปกครองของหลายจักรวรรดิ ทั้งกรีก ฮังกาเรียน และบัลแกเรียน แม้สุดท้ายชาวเซิร์บจะชนะและได้ครองพื้นที่นี้ แต่หลังจากนั้นก็มีการรบและการนองเลือดอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งทศวรรษที่ 1990 ประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยมรดกจากสงครามนี้เอง ทำให้นักท่องเที่ยวมากมาย ทั้งในยุคก่อนหน้านี้ รวมไปถึงบางส่วนในปัจจุบัน มองเบลเกรดจากภาพจำในอดีตที่ผ่านมา

แม้ปัจจุบัน เบลเกรดจะเป็นเมืองหลวงที่สงบและงดงามมาเกือบ 3 ทศวรรษ หลังหมดยุคสมัยของสโลโบดัน มิโลเชวิช เพราะรัฐบาลในยุคหลังพยายามกู้ภาพลักษณ์ของเมืองที่อดีตเคยเป็นเมืองแห่งความขัดแย้ง ให้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยและเยี่ยมเยียนจากนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งเพิ่มโครงการก่อสร้างและพัฒนาอีกมากมาย แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของเมืองแห่งนี้ที่เคยเป็นเสมือนศูนย์กลางแห่งความขัดแย้งในความรู้สึกของใครหลายๆ คน แม้ว่าความรู้สึกเหล่านั้นจะเป็นเพียงภาพแห่งความทรงจำไปแล้วก็ตาม

ไม่ว่าเบลเกรดจะเปลี่ยนแปลงไปมากจนกลายเป็นเมืองที่สงบสุขขนาดไหน แต่สิ่งนั้นหาได้เกิดขึ้นในสนามฟุตบอลไม่ โดยเฉพาะระยะทาง 950 เมตรบนถนนมากลาจ์สก้า ที่เชื่อมระหว่างสนามของปาร์ติซาน เบลเกรดและเซอร์เวนา ซเวซดา และยิ่งเป็นวันที่สโมสรทั้งสองแห่งเจอกันเองที่สนามแห่งใดแห่งหนึ่งในสองสนามที่ว่ามาข้างต้นแล้ว พื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตรโดยรอบ จะกลายเป็นพื้นที่สำหรับการจลาจลไปโดยปริยาย

ที่เป็นแบบนั้นเพราะเรื่องราวความขัดแย้งของทั้งสองสโมสรที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นคู่แค้นตลอดนี้ มีทั้งประวัติศาสตร์และเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์ แม้ว่าระยะเวลาของความขัดแย้งระหว่างทั้งคู่จะไม่ยาวนานนับศตวรรษเหมือนคู่ปรับคู่อื่นๆ แต่ด้วยเวลาที่สั้นกว่านี้เองที่ทำให้รอยแผลที่เกิดขึ้นระหว่างแฟนบอลทั้งสองทีมยังไม่แห้งจนตกสะเก็ด ซึ่งนั่นหมายความว่าความเจ็บปวด ชอกช้ำและความเป็นอรินั้นยังชัดเจนกว่าคู่ปรับคู่ไหนๆ เช่นกัน

นี่คือเรื่องราวของสองสโมสรที่มีพื้นเพแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แม้ว่าสนามทั้งสองทีมจะตั้งห่างกันไม่ถึง 1 กิโลเมตร และเดินถึงกันได้ในเวลาไม่ถึง 15 นาที แต่ก็กลับกลายเป็นคู่อริที่มีชื่อเสียงที่สุดในดินแดนยุโรปตะวันออก และนี่คือเรื่องราวของ ปาร์ติซาน เบลเกรด กับ เซอร์เวนา ซเวซดา

สโมสรดาวแดงแห่งคอมมิวนิสต์

‘ฟุดบาลสกี คลับ เซอร์เวนา ซเวซดา’ อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูมากนัก เพราะนี่คือชื่อใหม่ของสโมสรแห่งนี้ แต่แฟนบอลอาจจะคุ้นชื่อสโมสรนี้ในนาม ‘เรด สตาร์ เบลเกรด’ มากกว่า เพราะนี่คือสโมสรแรกและสโมสรเดียวจากยุโรปตะวันออกที่เคยคว้าแชมป์ยูโรเปียน คัพ หรือที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ได้สำเร็จ โดยเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในปี 1991 ที่พวกเขาเอาชนะเหนือโอลิมปิก มาร์กเซยจากฝรั่งเศส ในการดวลลูกจุดโทษด้วยสกอร์ 5-3 หลังเสมอกันในเวลา 120 นาที 0-0 โดยเกมนัดนั้นยังเป็นเกมนัดชิงเพียงนัดเดียวที่เกิดขึ้นในเมืองบารี ประเทศอิตาลีอีกด้วย

เรด สตาร์ เบลเกรดก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 มีนาคม 1945 ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยบรรดานักเรียนและสมาชิกของกลุ่มเยาวชนต่อต้านฟาสซิสต์แห่งยูโกสลาเวีย พวกเขามีแนวคิดด้านการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ โดยในตอนนั้นพวกเขายังไม่มีทั้งนักเตะ สนาม หรือเจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน ในวันที่ 5 พฤษภาคม 1945 กระทรวงการกีฬาของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ออกคำสั่งให้มีการยุบสโมสรฟุตบอลทั้งหมดในประเทศที่ตั้งขึ้นก่อนช่วงสงครามโลกเพื่อนำทรัพย์สินเข้าสู่ส่วนกลางตามหลักแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ ทำให้บรรดาสมาชิกของกลุ่มเยาวชนต่อต้านฟาสซิสต์ ตัดสินใจเข้าไปยึดทีมที่ถูกพรรคคอมนิวนิสต์เล็งจะยุบอย่างเอสเค ยูโกสลาวิย่ามา โดยพวกเขาเอามาทั้งสนาม เจ้าหน้าที่ ผู้เล่น ไม่เว้นแม้แต่ชุดแข่งสีแดง-ขาว แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็นเรด สตาร์ เบลเกรด

ในตอนแรก บรรดาผู้ก่อตั้งสโมสรพูดคุยและถกเถียงกันอยู่นานว่าจะใช้ชื่อสโมสรว่าอะไรดี ซึ่งชื่อที่ถูกเสนอมาในตอนแรกมีทั้ง พีเพิล สตาร์, บลู สตาร์, โพรเลเตอร์, สตาลิน และเลนิน ก่อนจะมาจบที่ชื่อเรด สตาร์ จากการตัดสินใจของสองผู้บริหารทีมในยุคเริ่มต้นอย่างโซรัน ซูโยวิช และ สโลโบดาน โคซิช โดยดาวแดงถูกใช้เพื่อแสดงออกถึงอุดมการณ์ของทีม และยังเป็นการสื่อความเป็นชาตินิยมของชาวสลาฟไปในคราวเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะสงครามโลกที่เกิดขึ้น ทำให้การจัดแข่งขันฟุตบอลลีกในยูโกสลาเวียไม่ได้มีขึ้นอย่างเป็นทางการ ระหว่างนั้นมีแต่การเล่นกันแบบกึ่งกระชับมิตรของสโมสรที่ถูกก่อตั้งขึ้นใหม่เท่านั้น จนกระทั่งในปี 1951 ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของโยซิป บรอซ ติโต ฟุตบอลลีกของยูโกสลาเวียก็ถูกจัดการแข่งขันขึ้นอีกครั้งจากความร่วมมือของหลายๆ สโมสรที่ถูกก่อตั้งขึ้นใหม่หลังจากคำสั่งยุบทีมเมื่อปี 1945 ซึ่งหลังจากนั้น ชื่อของเรด สตาร์ เบลเกรด ก็อยู่ติดลมบนของวงการฟุตบอลยูโกสลาเวียมาตลอด แม้ปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนและแตกประเทศจากยูโกสลาเวียมาเป็นเซอร์เบียแล้วก็ตาม แต่ชื่อของเรด สตาร์ เบลเกรดก็ยังคงเป็นที่รู้จักเสมอมา แม้ว่าปัจจุบันสโมสรก็เปลี่ยนชื่อมาเป็นเซอร์เวนา ซเวซดาแล้วเช่นกัน

ปาร์ติซาน’ ทีมกองทัพประชาชน

เฉกเช่นเดียวกับแสงและเงาที่ต้องอยู่คู่กัน เมื่อมีคนที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ ก็ย่อมมีคนที่ต่อต้าน และนั่นคือที่มาของสโมสร ฟุดบาลสกี คลับ ปาร์ติซาน หรือที่รู้จักกันในนาม ปาร์ติซาน เบลเกรด ที่เป็นตัวแทนของระบอบทหารที่มีแนวคิดแบบเผด็จการทหาร

สโมสรปาร์ติซานถูกก่อตั้งโดยบรรดานายทหารหนุ่มแห่งกองทัพประชาชนยูโกสลาเวีย หรือ JNA ในวันที่ 4 ตุลาคม 1945 ซึ่งชื่อของปาร์ติซานมีรากศัพท์มาจากคำว่า Partisans ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่าสมัครพรรคพวก ซึ่งเป็นเหมือนการให้เกียรติแก่บรรดาเพื่อนทหารที่ออกไปสู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทหารกลุ่มนี้คือกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อช่วยประเทศยูโกสลาเวียต่อต้านการรุกรานของนาซีในช่วงนั้น

การถูกก่อตั้งโดยทหารทำให้สัญลักษณ์ของสโมสรดูเหมือนอาร์มของหน่วยรบตามไปด้วย โดยในยุคแรก จะมีตัวย่อ JA ซึ่งมาจาก Jugoslovenska Armija หรือ ‘กองทัพยูโกสลาเวีย’ อยู่ในตราสโมสรด้วย นอกจากนี้ยังมีคบเพลิงที่มีไฟกระจาย 5 แฉก แต่ละแฉกของเปลวเพลิงเป็นตัวแทนของ 5 เชื้อชาติในประเทศยูโกสลาเวีย ได้แก่ เซิร์บ โครแอต สโลวีน มาซิโดเนียน และมอนเตเนกริน นี่เป็นการอ้างอิงที่ชัดเจนถึงสัญลักษณ์ประจำชาติของยูโกสลาเวีย ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นวงกลมสีขาวตรงกลางและมีดาวสีแดงข้างใน และมีคำว่า Jugoslovenska Armija เขียนเอาไว้อย่างชัดเจน โดยไม่ใช้ตัวย่ออีกต่อไป

ปาร์ติซานแยกออกเป็นเอกเทศจากกองทัพยูโกสลาเวียในปี 1950 และมีการเปลี่ยนแปลงโลโก้เล็กน้อย โดยเอาคำว่า Jugoslovenska Sportsko Društvo ที่แปลว่า สมาคมกีฬายูโกสลาเวีย มาใส่แทน Jugoslovenska Armija ที่แปลว่ากองทัพ พร้อมเปลี่ยนสีหลักของสโมสร จากแดง-น้ำเงิน ซึ่งเป็นสีของธงชาติ มาเป็นสี ดำ-ขาว แทนที่ ก่อนที่ในปี 1992 เมื่อยูโกสลาเวียล่มสลาย คำว่า Jugoslovenska Sportsko Društvo จึงถูกเอาออกไป พร้อมใส่คำว่า Fudbalski Klub ลงไปแทนจวบจนปัจจุบัน

2 ขั้วการเมืองที่ปะทะกันในสนามฟุตบอล

การที่ทั้งสองทีม ถูกก่อตั้งโดยคนที่มีอุดมการณ์ต่างกันก็ว่าเป็นเรื่องที่น่าจะปะทะกันในสนามมากพอแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้การปะทะกันของทั้งสองทีมดุเดือดและจริงจังมากไปกว่าเดิม คือการที่สนามของทั้งสองทีมอยู่แทบจะเรียกได้ว่าติดกันและต่างอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเบลเกรด ทำให้แฟนบอลของทั้งสองทีม เจอหน้ากันได้บ่อยครั้งและมีอารมณ์ร่วมกับทีมและอุดมการณ์ของทีมได้ง่ายขึ้นไปอีก

การต่อสู้ของเรด สตาร์ เบลเกรดกับปาร์ติซาน เบลเกรดในสนามฟุตบอล ภายใต้รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของยูโกสลาเวีย เปรียบเสมือนสงครามตัวแทนของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมของประเทศแบบกลายๆ โดยฐานแฟนบอลส่วนใหญ่ของเรด สตาร์จะเป็นชาวบ้านและคนทั่วไปมีจำนวนราวๆ 40% ของคนในเมืองหลวง ส่วนปาร์ติซาน ด้วยความที่เป็นทีมทหาร ทำให้มีแฟนบอลน้อยกว่า และส่วนมากก็จะเป็นบรรดาข้าราชการทหาร รวมไปถึงญาติพี่น้องและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับทหารในทั้งในและนอกเบลเกรด

อย่างไรก็ตาม จากการที่ทั้งสองสโมสรเป็นเสมือนตัวแทนของหน่วยงานใหญ่ในประเทศ ทำให้ทั้งคู่ไม่เคยตกต่ำในวงการฟุตบอลยูโกสลาเวีย โดยนอกจากทั้งสองทีมนี้แล้ว ก็มีเพียงแค่ไฮจ์ดุก สปลิต และดินาโม ซาเกร็บ อีกแค่สองสโมสร (ปัจจุบันอยู่ในโครเอเชีย) เท่านั้น ที่พอจะต่อกรกับทั้งคู่ได้

การพบกันครั้งแรกระหว่างเรด สตาร์กับปาร์ติซานเกิดขึ้นในวันที่ 5 มกราคม 1947 โดยในเกมนั้น เรดสตาร์เอาชนะไปได้ 4-3 ว่ากันว่า เกมดังกล่าวเป็นเกมที่สนุกและดุเดือดพอสมควร แต่ในตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าความดุเดือดนั้นจะถูกส่งต่อมาถึงปัจจุบันและมันก็ยังเพิ่มมากกว่าเดิมแบบเท่าทวีด้วย

ฮีโร vs สัปเหร่อ! ยินดีต้อนรับสู่ ‘เฮลเกรด’

ด้วยความที่เป็นทีมแห่งคอมมิวนิสต์ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้เรด สตาร์ เบลเกรดเป็นสโมสรที่มีแฟนบอลเหนียวแน่นมาตลอดนับตั้งแต่สโมสรถูกก่อตั้งขึ้น และจากผลสำรจเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ระบุว่าในเซอร์เบียมีแฟนบอลที่เป็นแฟนคลับของสโมสร เรด สตาร์ หรือ เซอร์เวนา ซเวซดา อยู่ถึง 48% จากแฟนบอลทั้งหมด

โดยบรรดาแฟนตัวยงของเรด สตาร์ พวกเขาขนานนามตัวเองว่า ‘เดลิเย’ ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ฮีโร่ (Heroes) ฉายานี้ถูกใช้โดยแฟนบอลเรด สตาร์ ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งปกติแฟนกลุ่มเดลิเยมักจะเป็นแฟนบอลเดนตายของสโมสร และประจำการอยู่ในโซนมาราคานาหรือทางทิศเหนือในสนามรัจโค มิติช สเตเดียม นอกจากแฟนกลุ่มนี้จะรักสโมสรอย่างมากแล้ว พวกเขานี่เองที่มักจะก่อการจลาจลกับแฟนเดนตายของปาร์ติซานที่มีชื่อว่า ‘กรอบารี’

กรอบารีแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Gravediggers ที่แปลเป็นภาษาไทยคือ ‘สัปเหร่อ’ นั่นแหละ เป็นชื่อเล่นที่บรรดาแฟนบอลเดนตายของปาร์ติซานใช้เรียกตัวเอง เนื่องจากสีดำของสโมสรคล้ายกับเครื่องแบบของสัปเหร่อในสุสาน ขณะที่อีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่าชื่อนี้มาจากชื่อถนนด้านหลังสนามปาร์ติซาน สเตเดียม ที่มีชื่อว่า ฮุมสกา (humska แปลว่า ดินที่กลบหลุมฝังศพจนเป็นเนินขึ้นมา) โดยแฟนบอลของปาร์ติซานยังเปรียบเทียบตัวเองเหมือนเป็นสัปเหร่อที่คอยขุดหลุมฝังศพให้ทีมที่มาเยือนปาร์ติซาน สเตเดียมอีกด้วย

ว่ากันว่าชื่อของ กรอบารี ถูกนำมาใช้เรียกแฟนบอลปาร์ติซานในช่วงปลายทศวรรษ 1970 โดยแฟนบอลกลุ่มนี้ถือเป็นหนึ่งในตัวปัญหาของวงการฟุตบอลเซอร์เบีย ไม่ต่างจากเดลิเยเท่าไหร่นัก และมักขึ้นชื่อเรื่องการหาเรื่องแฟนบอลทีมอื่น โดยเฉพาะเรด สตาร์ ซึ่งบรรดาสื่อมวลชนในประเทศเรียกเขาว่า ‘ทีมก่อจลาจล’ เลยทีเดียว

กรอบารีมักจะเรียกแฟนกลุ่มเดลิเยของเรด สตาร์ ว่าชิกานี ที่แปลว่าพวกยิปซี ซึ่งถือเป็นคำดูถูก เพราะถือว่าชาวยิปซีเป็นพวกเร่รอน ไร้อารยะ ขณะที่กลุ่มเดลิเยก็จะเรียกกลุ่มกรอบารีว่าพวกนักเลงเช่นกัน แต่ทั้งสองกลุ่มก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ เพราะทั้งคู่ถือเป็นฮูลิแกนที่มีความโหดติดอันดับท็อปของวงการฟุตบอลยุโรป และมักจะมีเรื่องกันทั้งในและนอกสนามอยู่เป็นประจำ

นอกจากนั้นแล้ว ทั้งสองกลุ่มต่างเป็นกลุ่มแฟนบอลที่ชอบก่อการจลาจลในสนามเป็นว่าเล่น และส่วนมากแฟนบอลเหล่านี้ยังเป็นพวกขวาจัดที่นิยมความรุนแรง ดังนั้นการเห็นพลุแฟลร์ในสนามของทั้งสองทีมจึงถือเป็นเรื่องธรรมดามาก และการขว้างปาพลุแฟลร์ลงมาในสนาม รวมไปถึงการทำลายข้าวของ และโยนของลงมาในสนาม ก็ถือเป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไปในการแข่งขันเช่นกัน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสักเท่าไหร่ ที่เมื่อทั้งสองทีมมีคิวพบกันในสนามฟุตบอล เกมนี้จะถูกเรียกว่าเอเทอร์นัล ดาร์บี เพราะแฟนบอลเหล่านี้จะต้อนรับอีกฝ่ายเข้าสู่ ‘เฮลเกรด’ (ล้อกับคำว่า เบลเกรด) ให้จงได้

ปัจจุบันของความขัดแย้ง

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเรด สตาร์ เบลเกรด และปาร์ติซาน เบลเกรด ถือว่ายังใหม่ เมื่อเทียบกับความขัดแย้งอื่นๆ ของสโมสรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด-ลิเวอร์พูล, เอซี มิลาน-อินเตอร์ มิลาน หรือ เซลติก-เรนเจอร์ส ทำให้ในปัจจุบันยังคงยากที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในความเป็นอริของทั้งคู่ อันเป็นผลมาจากวันเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป

ปัญหาระหว่างแฟนกลุ่มเดลิเยกับกรอบารียังมีการปะทะกันให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2013 บีบีซีรายงานว่ามีการจับกุมแฟนบอลมากถึง 104 คน หลังการปะทะกันของแฟนบอลทั้งสองฝ่ายนอกสนามในกรุงเบลเกรด โดยการปะทะดังกล่าวมีการปาพลุแฟลร์และก้อนหินใส่กัน

ขณะที่ 2 ปีต่อมา เดลีเมล์รายงานว่าเกมดาร์บี้แมตช์ระหว่าง ปาร์ติซานและเซอร์เวนา ซเวซดา ต้องลงสนามช้ากว่ากำหนด 45 นาที หลังแฟนบอลทั้งสองกลุ่มปะทะกันอย่างรุนแรงนอกสนาม ทำให้มีตำรวจถึง 35 คนได้รับบาดเจ็บจากระเบิดแฟลช และอาวุธที่ทั้งสองฝ่ายปาใส่กัน

ขณะที่ในปี 2017 มีการทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรงเกิดขึ้นบนอัฒจันทร์หลังจากแฟนบอลเซอร์เวนา ซเวซดา จำนวนหนึ่งได้แอบซื้อตั๋วเพื่อขึ้นไปนั่งในที่นั่งฝั่งเจ้าบ้านของสนามปาร์ติซาน สเตเดียม โดยตำรวจเข้าแทรกแซงและจับกุมกลุ่มผู้กระทำผิด ซึ่งหลายคนเสื้อผ้าขาดหลุดลุ่ยและมีเลือดออกมาก

โดยกูรูฟุตบอลยุโรปตะวันออกของโฟร์ โฟร์ ทู อย่างแกรี พาร์คินสัน เคยพูดถึงเหตุการณ์ในเอเทอร์นัล ดาร์บี ไว้สั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “หากแม็ตช์นี้อยู่ในรายชื่อ ‘เกมฟุตบอลที่ต้องไปดูก่อนตาย’ ของคุณ คุณอาจต้องทำใจเผื่อไว้ว่า มันอาจเป็นการดูฟุตบอลครั้งสุดท้ายจริงๆ ก็ได้”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save