fbpx

โศกนาฏกรรมและวีรบุรุษ The Railway Men : The Untold story of Bhopal 1984

กลางดึกคืนวันที่ 2 ธันวาคม คาบเกี่ยวต่อเนื่องถึงช่วงเริ่มต้นวันที่ 3 ธันวาคม 1984 เกิดเหตุระเบิดในโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงของบริษัทยูเนียนคาไบด์ ทุนข้ามชาติจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาดำเนินกิจการที่เมืองโภปาล รัฐมัธยประเทศ อินเดีย

โศกนาฏกรรมดังกล่าว เริ่มต้นจากแท็งก์บรรจุสารเคมีอันตรายร้ายแรง เมธิลไอโซไซยาเนต ซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตยาฆ่าแมลง ปริมาณความจุ 40 ตัน เกิดไปผสมกับน้ำ (ด้วยสาเหตุต้นตอซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงยืดเยื้อคาราคาซังอีกเนิ่นนานหลายปีว่า มาจากความหละหลวมของบริษัท ไม่ใส่ใจต่อการดูแลความปลอดภัย ความเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หรือการก่อวินาศกรรมโดยคนงานที่ไม่พอใจบริษัท) ทำปฏิกิริยาระเหยเป็นไอ และแปรเปลี่ยนเป็นไฮโดรเจนไซยาไนด์ (พูดง่ายๆ คือ กลายเป็นก๊าซพิษชนิดร้ายแรง) อุณหภูมิสูงขึ้นจนร้อนจัด เกิดเป็นแรงดันทวีสูง จนกระทั่งระเบิดในท้ายที่สุด

หลังเหตุระเบิดผ่านไปไม่นานนัก ก๊าซพิษดังกล่าวได้ลอยกระจายปนอยู่ในอากาศ ส่งผลให้ผู้ที่สูดเข้าไปเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว

ไม่อาจระบุตัวเลขจำนวนแน่ชัด มิหนำซ้ำยอดผู้เสียชีวิตจากหลายแหล่ง รวมทั้งผลสรุปอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลก็ไม่ตรงกัน แต่สันนิษฐานและเชื่อกันว่ามีผู้คนล้มตายในค่ำคืนนั้น 2,000-3,000 คน และเสียชีวิตในเวลาต่อมาอีกมากมายเป็นจำนวนหลักหมื่น ไม่นับว่ายังมีบาดเจ็บ ล้มป่วย มีชีวิตต่อมาอย่างทุกข์ทรมานอีกหลายแสน

ในบรรดาผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ มากมายนับไม่ถ้วนเป็นเด็กและทารกเพิ่งคลอด ซึ่งรอดตาย แต่กลายเป็นคนพิการ

เหตุการณ์ดังกล่าวเรียกขานกันในเวลาต่อมาว่า ‘หายนะภัยที่เมืองโภปาล’ เป็นอุบัติเหตุและโศกนาฏรรมในแวดวงอุตสาหกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และสะท้อนถึงความไร้มนุษยธรรมของบริษัทยูเนียนคาไบด์ในการบอกปัดไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น, ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการจัดการรับมือเหตุวิกฤต การเยียวยาบรรทุกข์ให้กับผู้ประสบเหตุ แต่ที่ย่ำแย่สุด คือความย่อหย่อนในการใช้ขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อเอาผิดกับบริษัทยูเนียนคาไบด์ผู้เป็นตัวการ

ผมรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ ‘หายนะภัยที่เมืองโภปาล’ ครั้งแรก ผ่านนิยายยอดเยี่ยมปี 2007 เรื่อง Animal’s People ของอินทรา สิงห์ (ชื่อเรื่องฉบับแปลภาษาไทยตั้งไว้ว่า ‘เรียกผมว่าไอ้สัตว์’)

นิยายเรื่องนี้พิมพ์และวางจำหน่ายนานแล้วนะครับ ปัจจุบันน่าจะหายากอยู่สักหน่อย ถ้าพบเจอที่ไหน ขอแนะนำให้รีบซื้อทันที นี่เป็นหนึ่งในประสบการณ์การอ่านที่ผมประทับใจไม่รู้ลืม

ด้วยความเก่านานและหายาก จึงขออนุญาตแนะนำสั้นๆ รวบรัดดังนี้นะครับ

Animal’s People เล่าเรื่องทั้งหมดผ่านมุมมองของตัวเอกชื่อชานวร (อ่านว่า ชาน-นะ-วอน) ซึ่งถือกำเนิดก่อนเหตุก๊าซพิษรั่วเพียงแค่ไม่กี่วัน พ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทารกน้อยรอดตาย ถูกนำตัวมาเลี้ยงในสถานดูแลเด็กกำพร้า โดยแม่ชีชาวฝรั่งเศสชื่อฟรองซี

จนเมื่ออายุหกขวบ ชานวรก็เกิดอาการไข้ขึ้น ปวดร้าวไปทั้งตัว กระดูกกลางหลังคดงอบิดเบี้ยว ไม่อาจยืนตัวตรงและเดินสองเท้าได้อีก ต้องใช้มือค้ำยันคืบคลานสี่เท้าเหมือนสัตว์

ชื่อชานวร (ซึ่งแปลว่าสัตว์) ได้มาด้วยเหตุนี้

เรื่องราวใน Animal’s People ไม่ได้มุ่งเน้นบอกเล่าไปที่ความเป็นมาและต้นตอสาเหตุใน ‘ค่ำคืนนั้น’ แต่พูดถึงผลกระทบ ความเสียหายและความทุกข์ทรมานของชาวเมืองโภปาลที่ยังคงตกค้างตลอดหลายปีต่อมา

ความยอดเยี่ยมของ Animal’s People อยู่ที่เรื่องเล่าอันทรงพลัง เต็มไปด้วยชั้นเชิงชาญฉลาด แทนที่จะบอกกล่าวสะท้อนถึงโศกนาฏกรรมทั้งหมดในรูปแบบของสารคดีหรือการให้ข้อมูลต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา นิยายเรื่องนี้ใช้ ‘การมองโลก’ ของชานวร ซึ่งพิกลพิการทางกายภาพ แต่ความคิดอ่านสติปัญญายังคงเป็นมนุษย์อยู่เต็มเปี่ยม

โลกที่มองผ่านสายตาของเขาผสมปนกันอย่างหลากหลาย มีทั้งความดิบเถื่อน ละเมียดละไม สวยงาม อัปลักษณ์ เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ร่ำรวยอารมณ์ขันเย้ยหยันเสียดสีอันเฉียบคม รวมทั้งสรุปครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องราวภายหลัง ‘หายนะภัยที่เมืองโภปาล’ ได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน

ความประทับใจที่มีต่อ Animal’s People ทำให้ผมสนใจใคร่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับ ‘หายนะภัยที่เมืองโภปาล’ (นอกเหนือจากการตามค้นเพื่ออ่านข่าวย้อนหลัง) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาเกิดเหตุสดๆ ร้อนๆ

ผมดูมินิซีรีส์เรื่อง The Railway Men: The Untold Story of Bhopal 1984 โดยไม่รู้ข้อมูลใดๆ เลย นอกจากสะดุดใจตรงชื่อรอง ซึ่งทำให้ทราบว่ากล่าวถึงเหตุการณ์ที่ผมสนใจ ประจวบเหมาะที่ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน ผมเพิ่งได้ดูมินิซีรีส์ 5 ตอนจบ ชื่อ Chernobyl ซึ่งยอดเยี่ยมมากๆ

ทั้งเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่เชอร์โนบิลในปี 1986 และก๊าซพิษรั่วที่เมืองโภปาลปี 1984 แทบจะกล่าวได้ว่า ‘ซ้ำรอย’ เดียวกัน ตั้งแต่ต้นตอสาเหตุ (ความหละหลวมเลินเล่อและความบกพร่องผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และความหละหลวมของระบบรักษาความปลอดภัย จากการเลือกใช้วิธีและเครื่องไม้เครื่องมือที่สุ่มเสี่ยง ด้วยเหตุผลมักง่ายเพียงแค่ ประหยัดและมีต้นทุนต่ำกว่า) สถานการณ์คับขันหน้าสิ่วหน้าขวานและการแก้ปัญหาแข่งกับเวลา โดยมีความเป็นความตายของผู้คนมากมายเป็นเดิมพัน รวมถึงระดับความเสียหายที่หนักหน่วงร้ายแรง และผลกระทบอีกเนิ่นนานหลังจากนั้น

การได้ดูทั้ง 2 เรื่องในเวลาที่ไม่ห่างกันนัก ทำให้เห็นชัดถึงความเหมือนและความต่าง

ด้านที่เหมือนพ้องพาน หากพูดในแง่หนังและนิยาย ทั้ง Chernobyl และ The Railway Men เป็นเรื่องเล่าหรือเหตุการณ์ที่ใช้ ‘พล็อต’ เดียวกัน ข้อแตกต่างคือวิธีการเล่า จุดที่แต่ละเรื่องเลือกเน้นให้ความสำคัญ ซึ่งดีและน่าสนใจไปคนละแบบ

Chernobyl เล่าเรื่องโดยเน้นความสมจริง โน้มเอียงใกล้เคียงกับสารคดี เข้มข้น หนักแน่น มีอารมณ์สะเทือนใจอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ขับเน้นจนเด่นชัด ส่วนที่ปรุงแต่งคือจังหวะเร้าอารมณ์ลุ้นระทึก

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งโดดเด่นมาก คือลำดับการแจกแจงเหตุการณ์ทั้งหมด ตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งจบลง รวมถึงบทสรุปหลายปีต่อมา Chernobyl เล่าได้กระจ่างชัด ครอบคลุมครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม และอธิบายส่วนที่เป็นเทคนิควิชาการเกี่ยวกับฟิสิกส์ยากๆ ให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจคร่าวๆ สามารถติดตามเหตุการณ์โดยไม่สับสนงุนงง

ในขณะที่ Chernobyl มุ่งเน้นความสมจริง The Railway Men เลือกมาทางเร้าอารมณ์ เป็นงานเพื่อความบันเทิงเต็มตัว และมีองค์ประกอบทุกสิ่งทุกอย่างตามสูตรของหนังแนว ‘หายนะภัย’

The Railway Men มีทั้งหมด 4 ตอนจบ เริ่มต้นด้วยบทเกริ่นนำเหมือนสารคดี ให้ข้อมูลภาพรวมกว้างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ก๊าซพิษรั่ว และจบลงที่ความล้มเหลวในการเอาผิดกับวอร์เรน แอนเดอร์สัน ประธานบริษัทยูเนียนคาไบด์ ซึ่งพรั่งพร้อมทั้งกำลังเงิน อำนาจ และเส้นสาย จนกระทั่งเข้าอีหรอบเดิม – ‘คนชั่วลอยนวล’

บทเกริ่นสั้นๆ นี้จบลงด้วยเสียงบรรยายของตัวละครนักข่าว มีใจความว่า “…ในประเทศที่ไม่เคยลงโทษ คนที่คร่าชีวิตผู้อื่น และไม่เคยให้รางวัลคนที่ช่วยชีวิต…”

พ้นจากการเล่าถึงเหตุการณ์ใหญ่ อีกหนึ่งใจความสำคัญของ The Railway Men เล่าถึงเรื่องราวว่าด้วยผู้คนตัวเล็กๆ จำนวนหนึ่งร่วมกันสร้างวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ขณะหายนะภัยเกิดขึ้น

ตอนที่หนึ่งของมินิซีรีส์ ย้อนเวลาไปที่ 16 ชั่วโมงก่อนจะเกิดก๊าซรั่ว และค่อยๆ นับถอยหลัง กระทั่งจบลงที่นาทีเกิดเหตุ โดยมี 2 เส้นเรื่องหลัก ส่วนแรกเล่าแสดงรายละเอียดในโรงงาน แสดงถึงความไม่ชอบมาพากล และเหตุปัจจัยต่างๆ ที่นำไปสู่โศกนาฏกรรม

อีกส่วนหนึ่งเป็นการแนะนำบรรดาตัวละครสำคัญที่จะมีบทบาทในเวลาต่อมา ประกอบไปด้วยนายสถานีรถไฟชุมทางโภปาล (อิฟเทคาร์ ซิดดิกี), คัมรุดดิน ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทยูเนียนคาไบด์ ผู้ค้นพบปัญหาและข้อบกพร่องสารพัดสารพันอันเสี่ยงต่ออันตราย, กุมาวัต นักข่าวท้องถิ่นที่กำลังเจาะลึกการทำธุรกิจอย่างไร้คุณธรรมของยูเนียนคาไบด์, อิหมัด ริอัช เด็กหนุ่มที่เคยทำงานเป็นคนขับรถที่ยูเนียนคาไบด์ เคยพบประสบเหตุก๊าซรั่ว (ขั้นเบา) และเรียกร้องต่อบริษัท จนถูกไล่ออก และเพิ่งได้งานใหม่เป็นพนักงานคุมหัวจักรรถไฟ และคนสุดท้าย เป็นอาชญากรฉายา ‘โจรรถด่วน’ ซึ่งเคยก่อคดีจี้ปล้นบนขบวนรถไฟหลายครั้ง คราวที่เป็นข่าวเกรียวกราวในเวลาไม่นานนัก คือการจี้นักการเมืองบนรถไฟ ส่งผลให้ถูกตำรวจไล่ล่า และต้องตัดสินใจกบดานชั่วขณะ เพื่อเตรียมลงมือครั้งสุดท้ายก่อนหยุดพัก ด้วยการปล้นตู้เซฟที่สถานีรถไฟโภปาล โดยเลือกเวลาลงมือตรงกับคืนเกิดเหตุ

นอกจากแนะนำตัวละครหลัก ในตอนดังกล่าวยังปูพื้นบางสถานการณ์ห้อมล้อม ซึ่งจะส่งผลสำคัญในเวลาต่อมา เหตุการณ์แรกคือในวันนั้น มีการซ่อมแซมระบบสื่อสารของสถานีรถไฟที่ล่าช้าเกินเหตุ เพราะการปล่อยปละละเลยของผู้ช่วยนายสถานี จนเป็นเหตุให้เมื่อถึงเวลาวิกฤต ระบบสื่อสารทั้งหมดถูกปิดลงชั่วขณะ ไม่สามารถติดต่อกับสถานีรถไฟอื่นๆ, ในค่ำคืนเดียวกัน ช่วงเวลาใกล้กับขณะเกิดเหตุ มีขบวนรถด่วนจากโครัชปุระ (ซึ่งมีผู้โดยสารหลักพัน) ผ่านและเข้าจอดที่โภปาล, ในเวลาเดียวกัน ที่โภปาลจะมีผู้โดยสารจำนวนมาก ออกเดินทางจากที่นั่นเพื่อเดินทางไปแสวงบุญ

รวมถึงอีก 2 เหตุการณ์ หนึ่งนั้นเกิดขึ้นที่สถานีอิตารสี อยู่ห่างจากโภปาล 100 กิโลเมตร ค่ำคืนนั้น ผู้จัดการทั่วไปของการรถไฟ รติ ปันดี เดินทางมาตรวจงาน และอีกเหตุการณ์ต่อมาซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวโยงกันได้ แต่ก็ส่งผลกระทบ คือประมาณหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น อินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เพิ่งเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหาร ยังผลให้ชาวฮินดูหัวรุนแรงจำนวนมากลงมือทำร้ายชาวซิกข์ด้วยความโกรธแค้น

ตัวละครและเหตุการณ์รายล้อมเหล่านี้ มาบรรจบพบกันเป็นหนึ่งเดียวเมื่อเกิดเหตุการณ์ก๊าซรั่ว นอกจากการเล่าเสนอภาพรวมกว้างๆ ที่ผู้คนล้มตาย หลบหนี และความโกลาหลอลหม่านทั่วทั้งเมืองโภปาลแล้ว เรื่องราวหลักๆ ทั้งหมดเล่าถึงเหตุการณ์ที่สถานีรถไฟ ตั้งแต่การช่วยเหลือผู้โดยสารและคนที่อยู่รอบๆ บริเวณนั้นซึ่งแตกตื่นเสียขวัญ และแน่นอนว่าต่างพยายามเอาตัวรอด จนเกิดการแก่งแย่งอย่างไร้ระเบียบ เต็มไปด้วยความโกรธแค้นไม่พอใจ, ความพยายามติดต่อสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือจากโลกภายนอก ท่ามกลางอุปสรรคสำคัญคือระบบสื่อสารถูกตัดขาด, การหาลู่ทางอพยพโยกย้ายผู้คนจำนวนมาก ออกจากเมืองอาบสารพิษ ในสภาพเงื่อนไขที่ทุกอย่างเป็นมุมอับทางตัน

แต่อันตรายที่หนักหนาสาหัสสุด คือการยับยั้งไม่ให้ขบวนรถไฟโครัชปุระ พร้อมผู้โดยสารเต็มแน่นขบวนรถ หยุดการเดินทางมายังโภปาล

เรื่องราวในตอนที่ 2 และ 3 เล่าถึงภาวะคับขันไร้ทางออกและสิ้นหวัง การแก้ปัญหาทีละเปลาะ เพื่อพบกับอุปสรรคใหม่ๆ ปรากฏขึ้นเป็นระยะๆ ก่อนจะนำไปสู่บทลงเอยตรงครึ่งทางของตอนสุดท้าย (ส่วนอื่นๆ ที่เหลือ เป็นบทสรุปเหตุการณ์ทั้งหมด)

ความโดดเด่นแรกสุด คือการผสมผสานระหว่างรสบันเทิง ซึ่งเต็มไปด้วยฉากลุ้นระทึกเร้าใจสลับกับดรามาดีๆ อยู่เป็นระยะๆ และอารมณ์หนักอึ้งตึงเครียดจากความร้ายแรงของเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ทิศทางและอารมณ์โดยรวมของหนังอยู่ที่จุดกึ่งกลาง เข้มข้นจริงจังกว่าหนังหายนะภัยส่วนใหญ่ (ที่เป็นเรื่องแต่งเหตุการณ์สมมติ) ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หนักอึ้งขั้นสุดและลงลึกเหมือนอย่าง Chernobyl

จุดเด่นต่อมาคือ The Railway Men มีจังหวะการเร้าอารมณ์ที่แม่นยำ จัดเรียงสลับไปมาระหว่างดรามากับตื่นเต้นเร้าใจได้อย่างลงตัว

ข้อด้อยจุดอ่อน ถ้าจะมีอยู่ ก็คือหนังจงใจให้ตัวละครหลายฝักหลายฝ่ายข้องเกี่ยวพัวพัน จนเหมือนว่า ‘โลกแคบ’ เต็มไปด้วยความบังเอิญประจวบเหมาะ อย่างไรก็ตาม บทหนังก็ปูพื้นเกริ่นนำได้ฉลาดและแนบเนียน จนไม่รู้สึกว่ายัดเยียด จะเรียกว่า เป็นความบังเอิญที่มีชั้นเชิงก็คงจะได้กระมังครับ อีกเหตุปัจจัยที่ช่วยได้มากในการยอมรับความพ้องพานต่างๆ คือการดำเนินเรื่อง ความเข้มข้นเร้าใจเต็มเปี่ยมของเหตุการณ์ สถานการณ์พลิกผันไปมา รวมทั้งความกระชับฉับไวคืบหน้าตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ผู้ชมยากจะสังเกตเห็นแผลต่างๆ ที่มีอยู่

ความบันเทิงและการเร้าอารมณ์ (รวมถึงการให้ข้อมูลกว้างๆ เกี่ยวกับ ‘หายนะภัยที่เมืองโภปาล’ สำหรับผู้ชมที่ไม่เคยรู้อะไรมาก่อน) นั้น แข็งแรงและอยู่ในเกณฑ์ดีมาก

The Railway Men ใช้คำว่า ‘ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง’ ซึ่งกินความกว้างมาก จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการเสริมเติมแต่ง ปรุงรสให้จัดจ้าน เพื่อความบันเทิง โดยไม่ได้ตรงกับข้อมูลจริง (ตรงนี้ชัดมาก ในส่วนของตัวละคร ‘โจรรถด่วน’ ซึ่งสถานการณ์ผิดคาด ทำให้เขาต้องเล่นตามน้ำ ตกกระไดพลอยโจน จนกระทั่งข้ามฟากจากอาชญากรสู่วีรบุรุษจำเป็น และได้รับบทเรียนแง่คิดกลายเป็น ‘โจรกลับใจ’ ไปในท้ายที่สุด)

ลักษณะเช่นนี้ มีผลให้ The Railway Men โน้มเอียงเหมือนเรื่องแต่ง (ที่สนุกและซาบซึ้งน่าประทับใจ) มากกว่าจะรู้สึกว่า กำลังดูเรื่องที่สร้างจากเหตุการณ์จริง อย่างไรก็ตาม ฟุตเทจจริงที่ตัดสลับใส่เข้ามาช่วงท้าย รวมถึงข้อความสรุปในตอนจบ ก็ทำให้พอทราบเลาๆ ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร และมีการเปลี่ยนแปลงตรงไหนตอนใดบ้าง

มีแง่มุมน่าสนใจที่ซีรีส์เรื่องนี้เล่าผ่านๆ ไม่ได้แตะต้องละเอียดนัก นั่นคือท่าทีของผู้มีอำนาจในรัฐบาล ซึ่งรับมือกับเหตุการณ์นี้ ด้วยวิธีคิดที่ดูเป็น ‘ผู้ร้าย’ เอามากๆ รวมถึงท่าทีรู้เห็นเป็นใจให้กับบริษัทยูเนียนคาไบด์ในการดำเนินธุรกิจอย่างไม่ถูกทำนองคลองธรรม เช่น การใช้สารเคมีอันตรายผลิตยาฆ่าแมลง โดยตั้งโรงงานอยู่ติดย่านชุมชนที่มีคนพักอาศัยหนาแน่น

ผมเข้าใจอย่างนี้ครับว่ามาจาก 2 สาเหตุ อย่างแรกคือหากเล่าละเอียดจะรบกวนเส้นเรื่องหลัก อย่างต่อมา อาจเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาฟ้องร้อง

ดังนั้น เพื่ออรรถรสที่สมบูรณ์ ผมจึงขอแนะนำเป็นแพ็คเกจคือ เริ่มด้วยการดู The Railway Men ต่อด้วย Chernobyl (เพื่อการทดเผื่อจินตนาการไปถึงเหตุการณ์ที่โภปาล ซึ่งThe Railway Men เล่าแสดงอย่างรวบรัด) และปิดท้ายด้วยนิยาย Animal’s People ซึ่งเป็นการเติมเต็มที่ดีมากๆ


MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save