fbpx

‘Anwar: The Untold Story’ ดราม่าในอดีตบนจอภาพยนตร์ สู่ดราม่าปัจจุบันที่ไม่จบสิ้นของอันวาร์

Facebook – Anwar Ibrahim: ภาพประกอบ

หลังจากรอคอยกันมาพักใหญ่ ต้นเดือนนี้ภาพยนตร์ Anwar: The Untold Story ที่เล่าเรื่องประวัติชีวิตอันพลิกผันของนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) แห่งมาเลเซีย ก็ได้ฤกษ์จัดฉายรอบกาล่าที่กัวลาลัมเปอร์ไปแล้วโดยมีนายกฯ อันวาร์และครอบครัวไปปรากฏตัวเปิดงานท่ามกลางแฟนๆ คับคั่ง 

อันวาร์ให้สัมภาษณ์แสดงความรู้สึกหลังจากนั้นว่า มันยากจะให้ความเห็นหลังจากได้ชมจนจบ เพราะเขาพยายามลืมเหตุการณ์บางตอนในเรื่องที่สร้างความเจ็บปวดและความเศร้าให้กับเขาและครอบครัวมาตั้งแต่ครั้งนั้น

‘Anwar: The Untold Story’ เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท Bianglala Entertainment ของอินโดนีเซียและ Rakyat Media Sdn Bhd มาเลเซีย มีตัวตั้งตัวตีผู้ผลักดันในการสร้างคือ Zulkiflee Anwar ‘Zunar’ Haque นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองมาเลเซียชื่อดัง ผู้ลงมือหาข้อมูลทั้งด้านเอกสารและปากคำของอันวาร์และผู้เกี่ยวข้องอยางละเอียดด้วยตนเอง จับเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอันวาร์ในช่วงปี 2536-2541 หรือช่วงที่ ‘รุ่ง’  และ ‘ร่วง’ ในฐานะนักการเมืองพรรคอัมโน (United Malays Nasional Organisation: UMNO) ผู้เกือบไปถึงดวงดาวเมื่อรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลมหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) แต่แล้วก็ลงเอยในคุกจากความขัดแย้งกับนายกฯ มหาเธร์ ชะตากรรมของอันวาร์จุดกระแสเรียกร้องปฏิรูปการเมือง (Reformasi movement) ที่ย้อนกลับมาหนุนนำให้เขาได้นั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอีกกว่าสองทศวรรษให้หลัง

เพียงแค่สถานการณ์การเมืองเกี่ยวกับตัวเขาในช่วงเวลาห้าปี ก็เข้มข้นพอสำหรับพล็อตหนังดราม่าการเมืองเรื่องหนึ่งเรื่องสบายๆ ใครก็ตามที่ติดตามเรื่องมาเลเซียย่อมรู้ดีว่าไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเรื่องของอันวาร์ แต่ธรรมชาติของการเมืองมาเลเซียตั้งแต่ประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันมีความดราม่าซ่อนเงื่อนชวนติดตามพอๆ กับซีรีส์ดีๆ เรื่องหนึ่ง มิหนำซ้ำตัวละครบางคนก็ลึกล้ำเหนือกำหนด ยกตัวอย่างชัดๆ เช่นอดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ หรือตัวอันวาร์เอง ที่จนป่านนี้ยังหักเหลี่ยมเฉือนคมกันอย่างไม่ลดราวาศอก 

ผู้สร้าง ‘Anwar: The Untold Story’ อาจหวังให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่โน้มน้าวใจชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลามหรือประชากร ‘ภูมิบุตร’ ซึ่งถ้าจะถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดต่อการอยู่รอดของรัฐบาลอันวาร์นับแต่นี้เป็นต้นไป คำตอบก็คือคะแนนภูมิบุตรนั่นแหละ 

แต่ความจริงทางการเมืองที่น่าตกใจหลังนับคะแนนเลือกตั้งครั้งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วคือ แม้ว่าแนวร่วมพรรคการเมือง ‘ปากาตัน ฮาราปัน’ (Pakatan Harapan) ภายใต้การนำของอันวาร์จะได้ที่นั่งในรัฐสภาสูงกว่าใครเพื่อนคือ 85 ที่นั่ง แต่คะแนนเสียงจากชาวภูมิบุตรลดลงจากเดิมจนเหลือต่ำกว่าร้อยละ 15 เมื่อคิดว่าประชากรภูมิบุตรเป็นประชากรกว่าร้อยละ 60 ของประเทศ ตัวเลขนี้ก็ชวนให้ใจตุ้มๆ ต่อมๆ เป็นยิ่งนัก

หนึ่งสัปดาห์หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เป็นช่วงเจ็ดวันอันตรายที่มาเลเซียสั่นคลอนจากภาวะหารัฐบาลไม่ได้ แม้ว่ารัฐบาลรักษาการยังทำหน้าที่อยู่แต่ประเทศยังขาดความแน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เพราะไม่มีพรรคหรือแนวร่วมการเมืองใดมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภาพอที่จะตั้งรัฐบาลได้ (hung parliament) ในที่สุดอันวาร์ก็แสดงฝีมือประสานรอบทิศชิงเก้าอี้นายกฯ ไปครองได้สำเร็จด้วยการรับสนองพระบรมราชโองการของสมเด็จพระราชาธิบดีเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ (unity government) และจับมือกับ อาห์หมัด ซาอีด ฮัมมีดี (Ahmad Zahid Hamidi) ประธานพรรคอัมโน อดีตศัตรูทางอุดมการณ์ตัวสำคัญของแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน 

อัมโนนำเก้าอี้ในสภาฯ ติดมือมาด้วย 30 ที่นั่ง สมทบด้วยแนวร่วมจีพีเอส (GPS – Gabungan Parti Sarawak) ซึ่งเป็นแนวร่วมพรรคการเมืองในรัฐซาราวักอีก 23 ที่นั่ง สิริรวมทั้งหมดรัฐบาลอันวาร์ยึดที่นั่ง 148 ที่นั่งจาก 222 ที่นั่งในรัฐสภาซึ่งเป็นตัวเลขที่มั่นคงพอ สูตรรัฐบาลผสมสูตรนี้นอกจากจะส่งให้อันวาร์ไปถึงที่หมายคือตำแหน่งนายกฯ แล้ว อัมโนเองก็สามารถผันตัวจากพรรคมลายูนิยมที่เคยยิ่งใหญ่แต่มาเพลี่ยงพล้ำอาการร่อแร่จากการถูกแย่งฐานเสียงภูมิบุตรโดยแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านที่อนุรักษนิยมยิ่งกว่า กลายเป็น king maker ผู้ตัดสินชะตาของรัฐบาลปากาตันนับแต่นั้น 

รัฐบาลที่สมเด็จพระราชาธิบดีทรงพระราชดำริให้ไอเดียให้เป็น unity government จัดตั้งเสร็จสิ้นสมบูรณ์ด้วยพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้อันวาร์เป็นนายกรัฐมนตรี จบเกมเก้าอี้ดนตรีชิงตำแหน่งนายกระหว่างอันวาร์กับแนวร่วมพีเอ็น (PN – Perikatan Nasional) ของอดีตนายกรัฐมนตรีมูห์ยีดดีน ยาซซีน (Muhyiddin Yassin) ประธานพรรคเบอร์ซาตู (Bersatu – Parti Pribumi Bersatu Malaysia) ผู้อกหักยับเยินเกินบรรยาย รัฐบาลใหม่เร่งปิดประตูงูเห่าย้ายพรรคทันควัน  โดยการที่รัฐสภาก็ผ่านกฎหมายห้าม ส.ส. ย้ายพรรคที่เรียกกันติดปากว่า Anti-party Hopping Law ปิดประตู ส.ส.ร่วมรัฐบาลไม่ให้ดอดไปตั้งรัฐบาลใหม่กับฝ่ายค้านได้สำเร็จ.. อย่างน้อยก็ในเวลาเฉพาะหน้า

เวลาผ่านไปเกือบหกเดือน สงครามชิงเสียงภูมิบุตรยังดำเนินต่อไปเหมือนคลื่นใต้น้ำที่นักสังเกตการณ์การเมืองในมาเลเซียบางคนบอกว่ารุนแรงไม่แพ้ช่วงการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน ในยุคที่การหาเสียงแบบสร้างความเกลียดชังเป็นเรื่องธรรมดา  แนวร่วมพีเอ็น นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรีมูห์ยีดดีน ผู้ยังแค้นฝังหุ่น ที่จับมือกับ อาดี อาหวัง (Hadi Awang) ประธานพรรคพาส (PAS – Parti Islam Se-Malaysia) พรรคอิสลามเพียงพรรคเดียวของประเทศ เดินหน้าใช้ประเด็นอิสลามและมลายูนิยมสุดขั้วโจมตีรัฐบาล โดยมุ่งเป้าไปที่พรรคดีเอพี (DAP – Democratic Action Party) ซึ่งมีฐานเสียงเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ด้วยวาทกรรมว่าเป็นพรรคต่อต้านอิสลาม เป็นเอเจนต์ของยิว ดังนั้นชาวมลายูคนใดและพรรคที่มีฐานเสียงเป็นมลายูพรรคใดก็ตามที่ร่วมมือกับดีเอพี ก็ถือเป็นศัตรูผู้ทรยศต่อศาสนาอิสลามและเชื้อชาติมลายู

อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกาใช้ ‘ความกลัว‘ หาเสียงจากอเมริกันชนระดับล่าง ผู้หวาดกลัวถูกคนสีผิวและผู้อพยพแย่งงานและสิทธิต่างๆ ของตนไปได้สำเร็จฉันใด แนวร่วมพีเอ็นก็ใช้ความกลัวเรื่องศาสนาอิสลามและสิทธิพิเศษของภูมิบุตรจะถูกคุกคามได้สำเร็จในกลุ่มภูมิบุตรจำนวนมากฉันนั้น ยิ่งเวลาผ่านไป ฝ่ายค้านก็ยิ่งโหมกระหน่ำวาทกรรม ‘ศัตรูของอิสลาม-ศัตรูของคนมลายู’ โจมตีรัฐบาลอันวาร์และพรรคอัมโน โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดเพียงอย่างเดียวคือการล้มรัฐบาลที่ทุกฝ่ายรู้ดีว่าไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

แม้อันวาร์จะเดินทั้งสายวังและสายมัสยิดอย่างไม่ขาดตกบกพร่องเพื่อย้ำอัตลักษณ์ของความเป็นอิสลามและมลายูสายกลางออกสื่ออยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์วันศุกร์ร่วมกับประชาชนทุกครั้งที่มีโอกาส การเข้าเฝ้าและออกงานร่วมกับสมเด็จพระราชาธิบดี และเข้าเฝ้าสุลต่านรัฐต่างๆ ในขณะเดียวกันก็มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของพรรคพยายามหาหนทางสอดแทรกแนวคิดเรื่องอิสลามสายกลางตามแบบอินโดนีเซียและตุรกีเข้าสู่สังคมให้มากขึ้นผานการแปลและพิมพ์หนังสือ รวมทั้งการให้ความรู้ในช่องทางอื่นๆ แต่การสร้างแนวคิดอิสลามสายกลางไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องต่อสู้กับอิสลามในสายของพรรคพาสที่ก่อตั้งมานับแต่ทศวรรษ 1950 โดยมีเครือข่ายโรงเรียนสอนศาสนามากมายในพื้นที่ชนบท พาสเองไม่ได้ท้าท้ายแค่พรรคการเมืองด้วยกัน แต่ยังมีท่าทีท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วหลายกรณี

อันวาร์ ผู้ซึ่งในวัยหนุ่มเคยเป็นสหายร่วมอุดมการณ์กับ ฮาดี อาหวัง ประธานพรรคพาสคนปัจจุบัน อาจจริงจังในการสร้างวาทกรรมอิสลามก้าวหน้า (liberal Islam) ในมาเลเซีย แต่เขาย่อมรู้ดีว่าเรื่องนี้ยังไม่สามารถช่วยให้รัฐบาลปากาตันรอดได้ในสถานการณ์เฉพาะหน้า บรรยากาศทางการเมืองในมาเลเซียในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการคาดคะเนเรื่องความอยู่รอดของรัฐบาล โดยมีเรื่องใหญ่ๆ สองสามเรื่องที่ทุกคนจับตามองดังหนี้

เรื่องสำคัญเรื่องแรกคือการเลือกตั้งระดับรัฐในหกรัฐ ซึ่งเป็นรัฐที่ไม่ได้จัดเลือกตั้งพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเหมือนรัฐอื่นๆ โดยสภาฯ ระดับรัฐทั้งหกกำลังจะหมดวาระภายในเดือนสิงหาคมที่จะถึง แต่ละรัฐจึงจะทยอยเลือกตั้งระหว่างเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ผลการเลือกตั้งจะเป็นดัชนีสำคัญที่ชี้วัดความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาลอันวาร์ รวมทั้งเป็นตัวเพิ่มหรือลดความมั่นใจต่อเสถียรภาพของรัฐบาลโดยตรง

รัฐทั้งหกคือ กลันตัน ตรังกานู และเกดะห์ ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของแนวร่วมฝ่ายค้าน กับรัฐสลังงอร์ ปีนัง เนเกอรีเซิมบิลัน ที่อยู่ใต้อิทธิพลของพรรคพีเคอาร์ (PKR- Parti Keadilan Rakyat) ของนายกฯ อันวาร์เอง ถึงจะคาดคะเนกันว่าทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลจะรักษาเสียงส่วนใหญ่ในสภาระดับรัฐของตนได้ แต่ครั้งนี้มีความตึงเครียดจากปัจจัยใหม่ นั่นก็คือเสียงของชาวมลายูที่เคยสนับสนุนพรรคอัมโนที่อาจแปรเปลี่ยนไป

นักการเมืองในฝั่งรัฐบาลบางกลุ่มกำลังหวั่นใจกันว่าผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงกลุ่มภูมิบุตรในรัฐเหล่านั้นจำนวนหนึ่งอาจหันเหจากที่เคยสนับสนุนพรรคอัมโนไปเทคะแนนให้แนวร่วมฝ่ายค้านจากผลของการโจมตีพรรคอัมโนอย่างหนักว่าเป็นผู้ทรยศชาวมลายูด้วยการจับมือกับแนวร่วมรัฐบาลอันวาร์ที่มีพรรคของคนจีนอย่างดีเอพีร่วมอยู่ด้วย และถ้าที่นั่งของอัมโนในสภาระดับรัฐถูกพรรคพาสและเบอร์ซาตูกวาดไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสลังงอร์และปีนังซึ่งเป็นฐานเสียงที่เข้มแข็งแนวร่วมปากาตัน ก็แน่นอนว่ารัฐบาลระดับรัฐที่แนวร่วมปากาตันคุมอยู่ก็ย่อมเสียรังวัดไปด้วย 

แม้แต่ ลิม กิต เสียง (Lim Kit Siang) นักการเมืองอาวุโส อดีตหัวหน้าพรรคดีเอพี ยังเคยออกมาเตือนว่า ถ้าหากฝ่ายค้านตีกินพรรครัฐบาลได้ในรัฐเหล่านี้ ก็จะใช้ชัยชนะดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการถล่มความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐเนเกอรีเซิมบิลันซึ่งเวลานี้ยังเป็นของพรรคพีเคอาร์ แต่ฝ่ายค้านประกาศชิงจัดตั้งรัฐบาลระดับรัฐแล้วอย่างเปิดเผย

ถ้ามองจากจุดของพรรคอัมโน ความน่าหวาดเสียวอยู่ที่ว่า หากที่นั่งของอัมโนถูกกวาดเรียบในการเลือกตั้งระดับรัฐครั้งนี้ ก็จะส่งผลให้ความมั่นคงภายในพรรคของซาฮีด ประธานพรรค ต้องสั่นคลอนอย่างไม่ต้องสงสัยจากปีกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามในพรรคที่ย่อมไม่ลังเลจะฉวยโอกาสท้าทายอำนาจของเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่อัมโนทำกันมาแต่นมนานจนชิน ส.ส. กลุ่มนี้อาจท้าทายกฎหมาย Anti-party Hopping ด้วยการย้ายมุ้งออกจากพรรคไปจับมือกับฝ่ายค้าน หรือที่แย่ไปกว่านั้นอาจกดดันให้ซาฮีดลาออกแล้วย้ายพรรคอัมโนออกจากรัฐบาลทั้งพรรค ไม่ว่าจะเป็นทางใด รัฐบาลอันวาร์ก็อาจจบเห่เอาง่าย ๆ

ความเสี่ยงประการที่สองของอันวาร์คือแรงกดดันจากพรรคอัมโนที่เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้ยื่นเรื่องถวายบังคมขอพระราชทานอภัยโทษต่อสมเด็จพระราชาธิบดีให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก (Najib Razak) ผู้สร้างความเสียหายต่อมาเลเซียด้วยการยักยอกเงินจำนวนมหาศาลเป็นประวัติศาสตร์จากกองทุน 1 Malaysia Berhad (1MDB) นายกฯ นาจิบเวลานี้ถูกตัดสินจำคุก 12 ปีในกรณีทุจริตและใช้อำนาจในทางที่ผิดกรณีหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ 1MDB และในขณะเดียวกัน นาจิบก็ยังมีคดีเกี่ยวกับ 1MDB ติดตัวอยู่ราว 40 คดีซึ่งทำให้เขาต้องวนเวียนไปขึ้นศาลเป็นว่าเล่น 

การขอพระราชทานอภัยโทษของพรรคอัมโนสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนผู้สนับสนุนปากาตันอย่างรุนแรง รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ แต่สำหรับอันวาร์เองที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการพิจารณายื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ยังมีท่าทีที่คลุมเครือไม่รับไม่ปฏิเสธ ล่าสุดเขาให้สัมภาษณ์แบบต้องถอดรหัสว่า จะมีการพิจารณาเรื่องนี้เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม โดยต้องคำนึงว่าผู้ได้รับโทษทุกคนมีสิทธิในการอุทธรณ์ และจะต้องพิจารณาเรื่องนี้ “บนฐานของความเห็นอกเห็นใจ มีความเป็นมืออาชีพ และปราศจากอคติ”

สรุปแล้วคือไม่มีใครรู้ว่าอันวาร์จะเอาอย่างไรกับนาจิบ ท่ามกลางความจริงทางการเมืองอันเจ็บปวดก็คือ รัฐบาลอันวาร์ไม่สามารถขาดพรรคอัมโนได้ แต่ถ้าหากเขาโอนอ่อนผ่อนตามอัมโน ก็ไม่แน่ว่าประชาชนผู้สนับสนุนที่ยังเชียร์เขาอย่างสุดขาดดิ้นจะยังเทใจให้เขาจนหมดหน้าตักเหมือนเดิมหรือเปล่า ที่แน่ๆ คือถ้านาจิบได้รับพระราชทานอภัยโทษ ก็เท่ากับแผ้วถางทางรอดให้ประธานพรรคอัมโนอย่างซาฮีด ผู้ยังติดคดีทุจริตใหญ่อยู่หลายคดีเช่นกัน

เกิดเป็นอันวาร์ไม่น่าจะง่าย เวลานี้คงต้องงัดวิชาการเมืองประสานรอบทิศหนักกว่าอดีตนายกฯ แทบทั้งหมดที่ผ่านมา มิหนำซ้ำการเป็นนายกฯ ที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในบริบทที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำ ค่าครองชีพพุ่งสูง อันว่าต้องโชว์ผลงานแก้ปัญหานี้ให้เป็นรูปธรรมบ้างในเร็ววัน เพราะไม่มีอะไรจะบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลใดๆ ได้ชะงัดเท่ากับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแนวร่วมฝ่ายค้านโยงเอาปัญหาเศรษฐกิจเข้ากับเรื่องเชื้อชาติ โดยพูดถึงปัญหาค่าครองชีพว่ารัฐบาลนี้ทำให้ ‘ชาวมลายู’ เดือดร้อน แทนที่จะเป็น ‘ชาวมาเลเซีย‘ เดือดร้อน 

ท่ามกลางคลื่นลมที่เริ่มโหมกระหน่ำ อันวาร์ยังถือไพ่เหนือฝ่ายตรงข้ามและพรรคอัมโนอยู่อย่างน้อยสองอย่าง นั่นคือการสนับสนุนจาก ‘วัง’ ซึ่งไม่ใช่เพียงสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ปัจจุบัน แต่ยังเป็นสุลต่านจากหลายรัฐ รวมทั้งสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์ ซึ่งจะทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีหรือประมุขของประเทศพระองค์ต่อไป ในเดือนมีนาคมหลังจากที่อันวาร์เข้าเฝ้า พระองค์ทรงให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ The Star ของมาเลเซียว่าพระองค์ทรงเข้ากับอันวาร์ได้ดีและทรงแลกเปลี่ยนความเห็นกับอันวาร์เป็นประจำผ่านการพบปะและทางโทรศัพท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนารัฐยะโฮร์ และยังทรงกล่าวว่า รัฐบาลอันวาร์จะต้องตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนในเรื่องการปราบการทุจริต ซึ่งพระองค์ทรงเรียกว่า ‘มะเร็ง’ 

นับว่าอันวาร์เป็นนายกรัฐมนตรีที่เข้ากับวังได้อย่างราบรื่นเมื่อเทียบกับอดีตนายกรัฐมนตรีอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาเธร์ผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสถาบันสุลต่านมาตลอด เหตุผลคือเขาอาจมีบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตนและประนีประนอมกับกระแสพระราชดำริ บวกกับปัจจัยช่วยคือท่าทีต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ลอยลมมาจากพรรคพาส ที่แม้แต่สถาบันประมุขของประเทศก็จำต้องหาแนวร่วม 

ไพ่ใบสุดท้ายและใบสำคัญในการอยู่รอดของอันวาร์คือประชาชนชาวมาเลเซียหลากหลายเชื้อชาติที่ทุ่มเทสนับสนุนผู้สนับสนุนวาระปฏิรูปการเมืองตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา คนเหล่านี้เป็นฐานเสียงสำคัญของแนวร่วมปากาตัน ฮาราปัน ที่ขณะนี้ยังยอมผ่อนปรนกับความล่าช้าในการปฏิรูปของรัฐบาล และการจับมือกับศัตรูเก่าอย่างพรรคอัมโน และยังเดินหน้าปกป้องรัฐบาลอันวาร์อย่างแข็งขันด้วยความกลัวว่า การกลับเข้ามาของแนวร่วมอนุรักษนิยมมลายูนิยมสุดโต่งจะทำให้ฝันเรื่องการปฏิรูปประเทศสลายไปตลอดกาล

ไม่มีใครคาดคะเนได้ว่ารัฐบาลปากาตัน ฮาราปัน จะรักษาความมั่นคงได้แค่ไหนจนกว่าผลการเลือกตั้งระดับรัฐทั้งหกรัฐจะสรุปอย่างเป็นทางการ ผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวตัดสินใจของทั้งนายกฯ อันวาร์, ซาฮีดแห่งพรรคอัมโน และมูห์ยีดดีน ยาซซีน ผู้นำแนวร่วมฝ่ายค้าน ในการหาสูตรที่ดีที่สุดเพื่อความอยู่รอดในเกมอำนาจ

ใครใคร่ชมภาพยนตร์ชีวประวัติอันวาร์ก็คงจะได้ชมในเร็ววัน แต่นั่นมันเป็นอดีตไปแล้ว ที่แน่ๆ คือดราม่าการเมืองไม่มีวันจบ อันวาร์และการเมืองมาเลเซียยังมี ‘untold stories’ รออยู่อีกมากมาย


อ้างอิง

https://says.com/my/entertainment/anwar-ibrahim-movie-in-may

https://www.nst.com.my/news/politics/2022/12/860512/kit-siang-lists-six-challenges-anwars-continued-leadership

https://www.malaysiakini.com/columns/663754

https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2023/04/07/umno-asks-king-to-consider-granting-najib-royal-pardon/

https://www.thestar.com.my/news/nation/2023/05/01/anwar-najib039s-royal-pardon-request-to-be-considered-when-time-is-right

https://www.thestar.com.my/news/nation/2023/05/01/anwar-najib039s-royal-pardon-request-to-be-considered-when-time-is-right

https://www.malaymail.com/news/malaysia/2023/03/23/johor-sultan-says-working-well-with-anwar-compared-to-past-pms-wants-putrajaya-to-get-rid-of-corruption-cancer/61111

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save