fbpx

เศรษฐกิจจีน: กี่ปีตึง กี่ปีคลาย

คนจีนชอบเปรียบเทียบเศรษฐกิจว่าเป็นเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา ดังภาษิตจีนที่ว่า สรรพสิ่งเมื่อไปสุดทางหนึ่ง ก็ยอมทวนกลับไปอีกทาง ความหมายก็คือ เมื่อจีนผ่อนคลายเศรษฐกิจเสรีจนถึงระดับหนึ่ง กระแสก็จะทวนกลับมาสู่การจัดระเบียบอย่างเคร่งครัดรัดกุม และเมื่อถึงจุดหนึ่ง กระแสก็จะพลิกกลับไปเปิดเสรีปล่อยผ่อนคลายอีกครั้ง

คำถามที่คนสนใจตอนนี้ก็คือ ใกล้ถึงเวลาผ่อนคลายอีกครั้งหรือยัง ตอนนี้มีการพูดกันสองแบบ แบบแรกชี้ว่าหากดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่การเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิงเป็นต้นมา จีนจะตึงและคลายสลับกันทุก 10 ปี ในช่วงแรกของการนำของเติ้งเสี่ยวผิงเป็นช่วงเปิดเสรีภายใต้การบริหารโดยนักปฏิรูปมือทองอย่างจ้าวจื่อหยาง แต่พอเกิดวิกฤตเทียนอันเหมินขึ้น จีนก็พลิกกลับมาปิดตัวเองอย่างเคร่งครัดรัดกุม ก่อนจะกลับมาเปิดเสรีผ่อนคลายอีกครั้งในเวลาต่อมา หากพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าพลิกกลับไปมารอบละประมาณ 10 ปี หากนับช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา จะเห็นว่า 10 ปี แรกในยุคหูจินเทาเป็นยุคเสรีผ่อนคลาย แต่ 10 ปี ถัดมาในยุคสีจิ้นผิงเป็นยุคที่กลับมาเคร่งครัดรัดกุม บัดนี้จึงอาจถึงเวลาที่ลูกตุ้มนาฬิกาจะหมุนกลับทิศไปสู่ยุคผ่อนคลายอีกครั้ง

แต่มีการพูดอีกแบบหนึ่งที่ดูตรงกันข้ามและหวาดเสียวไม่น้อยสำหรับนักลงทุน คือจีนจะตึงและคลายสลับกันทุก 30 ปี เพราะ 30 ปีแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตงเป็นยุคของเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ที่ตึงเต็มที่ จนค่อยมาผ่อนคลายเปิดเสรีส่งเสริมเอกชนในยุคเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเป็นช่วงของการ ‘เปิดและปฏิรูป’ ต่อเนื่องมาอีก 30 ปี แต่บัดนี้สีจิ้นผิงได้ประกาศเข้าสู่ ‘ยุคใหม่’ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งย่อมหมายความว่าจะไม่ผ่อนคลายเปิดกว้างเหมือน 30 ปี ก่อนหน้านี้อีกต่อไป หากเป็นไปตามแนวคิดนี้ ฤดูหนาวทางเศรษฐกิจของจีนอาจเพิ่งจะเริ่มต้น

หลายคนชี้ความแตกต่างจากในอดีตว่า สีจิ้นผิงจะเป็นผู้นำคนแรกที่ต่ออำนาจยาวนานกว่า 10 ปี ทำให้ยากที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการเมืองและเศรษฐกิจ แตกต่างจากยุคก่อนที่ผู้นำยังมีการสลับกันทุก 10 ปี ทำให้เปิดโอกาสให้มีการทบทวนและเปลี่ยนทิศทางนโยบายได้

บางคนที่เคยใจชี้นจากการฟังนายกฯ จีนหลี่เค่อเฉียงออกมาปลอบใจตลาดว่า จีนจะไม่เดินกลับทางเก่าเด็ดขาด โดยที่ ‘การเปิดและปฏิรูปประเทศ’ จะไม่มีทางย้อนกลับ เสมือนแม่น้ำแยงซีเกียงที่ไม่เคยไหลย้อนทิศ แต่พอทราบว่านายกฯ หลี่เค่อเฉียงกำลังจะปลดเกษียณในปีนี้ หลายคนก็เริ่มไม่แน่ใจว่าท่านเพียงต้องการพูดไว้ลายเสือก่อนลงจากเวทีหรือไม่

ตัวผมมีความเห็นที่อาจจะแปลกแหวกแนวเสียหน่อย คือผมมองว่าทั้งสองแนวคิดอาจมีส่วนถูก นั่นคือ ในภาพใหญ่ 30 ปี ต่อจากนี้จีนจะไม่หวือหวาในทางเศรษฐกิจเหมือนช่วง 30 ปี ก่อนหน้า ซึ่งก็ด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายอย่างที่ไม่เป็นบวกกับจีน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากรที่หดตัว และการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นกับสหรัฐฯ ซึ่งนำมาสู่สงครามการค้าและการกีดกันทางเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกันในภาพจุลภาคและหากมองระยะสั้น การต่ออายุวาระที่สามของสีจิ้นผิงนี้น่าจะพาจีนเข้าสู่ยุคผ่อนคลายขึ้นกว่าช่วงสิบปีแรกที่เขาปกครอง โดยมีเหตุผลหลัก 2 ข้อ

ข้อแรกคือ การจัดระเบียบได้ดำเนินการไปมากแล้วในหลายภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำกับดูแลเรื่องข้อมูลในภาคเทคโนโลยี หลายคนในแวดวงเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจีนจึงมักจะบอกว่าไม่น่ามีอะไรเซอร์ไพรส์ตลาดได้อีกแล้ว เพราะจัดการไปเรียบร้อยหลายอย่างแล้ว จริงๆ กลายเป็นว่าในตอนนี้ ความเสี่ยงเรื่องกฎเกณฑ์การกำกับดูแลของจีนอาจน้อยกว่าในฝั่งตะวันตกเสียด้วยซ้ำ เพราะในขณะที่ทางฝั่งตะวันตกยังคงมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่และความปลอดภัยของข้อมูลอยู่อย่างต่อเนื่องในวงนโยบายของจีนได้ออกมาเป็นกฎเกณฑ์ป้องกันการผูกขาดและกฎเกณฑ์คุ้มครองข้อมูลครบถ้วนเรียบร้อยเมื่อปีที่แล้ว

ข้อที่สองคือ เศรษฐกิจจีนตอนนี้เป็นขาลงอย่างชัดเจน ด้วยปัจจัยระยะสั้นอย่างมาตรการ Zero Covid บวกกับบรรยากาศตลาดที่เป็นลบจากการจัดระเบียบเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยยาแรงของรัฐบาลจีนในปีที่แล้ว สำหรับประเทศจีนแล้ว ไม่ว่าอย่างไรเศรษฐกิจก็ยังมีความสำคัญต่อความชอบธรรมและคะแนนนิยมทางการเมือง ดังนั้นหากสีจิ้นผิงยังต้องการรักษาอำนาจต่อไป เขาย่อมจำเป็นที่ต้องหาทางกลับทิศเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นบวกให้ได้ และต้องพึ่งทีมงานเศรษฐกิจมืออาชีพเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ย่ำแย่ไปมากกว่านี้

ลูกตุ้มจะถูกผลักไปทางไหน แน่นอนว่าส่วนหนึ่งขึ้นกับความคิดของผู้นำ แต่อีกส่วนหนึ่งปัจจัยทางเศรษฐกิจการเมืองในเวลานั้นก็มีผลมหาศาลด้วย ดังที่ก่อนหน้านี้ สาเหตุที่ผลักจีนไปในทิศทางอนุรักษ์นิยมด้วยการจัดระเบียบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และภาคเทคโนโลยีอย่างเคร่งครัด ก็มาจากปัญหาหมักหมมหลายอย่างที่ก่อตัวมาจากการเปิดเสรีและผ่อนคลายทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ ปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาอิทธิพลของบริษัทเทคโนโลยี แต่เมื่อการกำกับดูแลและการจัดระเบียบตึงจนเกินไป จนกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็ย่อมจะกลับมากดดันให้มีการผ่อนคลายเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวให้ได้อีกครั้ง

แน่นอนว่า ในภาพใหญ่แล้ว เศรษฐกิจจีนยังคงจะเผชิญแรงเสียดทานที่ทำให้ไม่สามารถเติบโตได้รวดเร็วและในระดับสูงดังเดิม และรัฐบาลจีนย่อมจะสนใจความมั่นคงและปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์มาก่อนเศรษฐกิจเสมอ นี่กลายเป็น ‘ความปกติใหม่’ (New Normal) ในยุคที่จีนแข่งขันเรื่องความมั่นคงกับสหรัฐฯ ซึ่งย่อมแตกต่างจากยุคก่อนหน้าที่จีนสนใจเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก แต่ในภาพจุลภาคและระยะสั้น ช่วงภายหลังการประชุมพรรคในเดือนตุลาคมก็น่าจะผ่อนคลายขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านี้ที่จีนตึงมากทั้งจากนโยบาย Zero Covid และการจัดระเบียบเศรษฐกิจและสังคมตามแนวคิดรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) ของสีจิ้นผิง

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นแน่ชัดจากประวัติศาสตร์จีนก็คือ มังกรนั้นพร้อมเปลี่ยนสีเสมอ หากใช้วลีเด็ดของเติ้งเสี่ยวผิง แมวขาวพร้อมเปลี่ยนเป็นแมวดำ ในขณะเดียวกันแมวดำก็พร้อมเปลี่ยนเป็นแมวขาว ขอเพียงให้จับหนูได้เป็นพอ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save