fbpx

ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญอยู่ที่การทรยศของคนในชนชั้นปกครอง

ความเคลื่อนไหวและขัดแย้งกันอย่างหนักระหว่างสถาบันหลักสามเสาของระบบการเมืองประชาธิปไตยอเมริกากำลังเผยให้เห็นน้ำยาหรืออำนาจจริงๆ ว่าเป็นของใครกันแน่ ทั้งตำราและนักการเมืองอเมริกันต่างเทศนาและปฏิบัติหลักการที่ถูกสั่งสอนให้ทั้งคนอเมริกันและคนทั่วโลกรับรู้และเคารพด้วยความเลื่อมใสว่า อำนาจอธิปไตยของระบบการเมืองอเมริกันนั้นแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทั้งสามสถาบันต่างมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญและใช้อำนาจนั้นไปตามที่กำหนดไว้ ทำให้เกิดการถ่วงดุลและแก้ไขความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่จุดจบของรัฐธรรมนูญหรือจุดจบของแต่ละสถาบันได้ นั่นคือการสูญเสียความชอบธรรม

หลักการและประสบการณ์ทางการเมืองประชาธิปไตยของอเมริกาในรอบสองศตวรรษมา กล่าวได้ว่าดำเนินไปตามหลักการและขยายความหมายในเชิงปฏิบัติตามแต่สถานการณ์โลกได้อย่างน่านับถือ กระทั่งผมได้ข้อสรุปของการเมืองประชาธิปไตยอเมริกาว่าเป็น ‘ลักษณะเฉพาะ’ ของสังคมและประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เพราะมันไม่อาจนำไปปฏิบัติได้อย่างจริงจังและได้ผลอย่างที่ตำราว่าไว้ในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในโลกที่สามทั้งหลาย อย่างมากก็ได้แค่ ‘ดีแต่พูด’ หรือไว้สำหรับการสัมมนาหรือประชุมปฏิบัติการของนักวิชาการเท่านั้น

อนุสนธิจากการตัดสินใจของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการเคลื่อนขบวนคัดค้านต่อต้านผลการเลือกตั้งที่โจ ไบเดนแห่งพรรคเดโมแครตได้ชัยชนะเมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่ทรัมป์และพรรคพวกหาทางและเดินสายไปฟ้องศาลมลรัฐให้ประกาศผลคะแนนเลือกตั้งเป็นโมฆะ แต่ไม่สำเร็จ แผนการสุดท้ายคือในวันที่ 6 มกราคม 2021 อันเป็นวันประชุมร่วมของรัฐสภาในการพิจารณาผลคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง และหากไม่มีปัญหาอะไรก็จะดำเนินไปสู่มาตรการสุดท้ายคือการรับรองผลคะแนนนั้นว่าถูกต้องและผู้ชนะก็ได้เป็นประธานาธิบดีอย่างสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ กลุ่มมวลชนขวาสุดขั้วที่สนับสนุนทรัมป์พากันเดินขบวนไปล้อมสภาคองเกรส และโดยไม่คาดฝัน พวกนั้นไม่หยุดแค่ชุมนุมประท้วงอยู่ภายนอก หากทำการบุกและโจมตีตำรวจรัฐสภา เพื่อเข้าไปในห้องประชุมที่รองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์ทำหน้าที่ประธานการประชุมอยู่ จุดประสงค์ของพวกม็อบคือการทำให้ไมก์ เพนซ์ประกาศว่าผลคะแนนไม่ถูกต้องและให้กลับไปดำเนินการใหม่ในมลรัฐที่มีปัญหา หรือถ้าเขาไม่ทำตามนั้นก็ให้ “แขวนคอไมก์ เพนซ์” อันเป็นคำปลุกระดมที่พวกประท้วงตะโกนในการบุกเข้าในยังห้องประชุม หลักฐานดังกล่าวสร้างแรงสะเทือนไม่น้อยเมื่อถูกเปิดเผยในที่สาธารณะ เพราะมันเท่ากับบอกว่ากลุ่มผู้ประท้วงของทรัมป์นั้นมีการวางแผนถึงขั้น ‘เก็บ’ ไมก์ เพนซ์ หากเขาไม่ทำตามความต้องการ นั่นมันเป็นการวางแผนเพื่อสังหาร เป็นอาชญากรรมที่ผิดกฎหมายเหมือนกับการวางแผนฆ่าคนอื่น นี่ไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยเสรีที่สงบสันติและมีอารยธรรมตามที่เราได้เรียนรู้กันมา

เรื่องราวของการจงใจกระทำการอันละเมิดและขัดขวางบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของนายโดนัลด์ ทรัมป์กับคณะ จริงๆ แล้วไม่ได้มีการถ่ายทอดและเล่าเรื่องในหน้าสื่อสาธารณะหรือส่วนตัวอย่างเป็นระบบและชัดเจนอย่างที่ผมเพิ่งเล่ามานี้ ทั้งหมดนี้และยังมีรายละเอียดอีกมากที่ค่อยๆ ปรากฏและต่อภาพจิ๊กซอว์ของการประท้วงที่รุนแรงในหน้ารัฐสภาภายหลังจากที่คณะกรรมการพิเศษของคองเกรสในนามคณะกรรมาธิการ 6 มกราคม (the January 6th Committee) ซึ่งจัดตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร โดยให้มีกรรมการจากทั้งสองพรรคการเมืองคือเดโมแครตและรีพับลิกัน เพื่อให้เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ฝ่ายรีพับลิกันต้องการให้สมาชิกขวาสุดขั้วได้เป็นกรรมาธิการ จะได้ค้านและรวนคณะกรรมาธิการจนไม่อาจบรรลุภารกิจได้ ประธานสภาฯ แนนซี เพโลซีจึงขัดขวางแผนการนี้แล้วเสนอชื่อ ส.ส.รีพับลิกันให้เลยคือ ลิซ เชนีย์ (Liz Cheney) และอดัม คินซิงเจอร์ (Adam Kinzinger) ซึ่งสองคนคัดค้านทรัมป์มาแต่แรกแล้ว นั่นคือที่มาของการตั้งคณะกรรมาธิการประวัติศาสตร์นี้

กล่าวโดยรวม คณะกรรมาธิการ 6 มกราคมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากและมียุทธวิธีในการหาทางทำให้บรรดาผู้นำทหารระดับสูง เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาระดับสูงของโดนัลด์ ทรัมป์ และสุดท้ายคือสมาชิกรีพับลิกันที่จงรักภักดีในทรัมป์ยอมมาให้ปากคำหรือสัมภาษณ์ในกิจกรรมและเหตุการณ์ที่นำไปสู่การประท้วงรุนแรงวันที่ 6 มกราคม เราจึงเห็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงเช่นมาร์ก มีโดวส์ (Mark Meadows) หัวหน้าคณะทำงานในทำเนียบขาว อีกคนที่คาดไม่ถึงคือแพต ซิปปอลโลน (Pat Cipollone) ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีในทำเนียบขาว ก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ระดับล่างออกมาให้ปากคำก่อน โดยเล่าถึงรายละเอียดเหตุการณ์สดๆ ที่ได้เกิดขึ้นในห้องทำงาน ‘ปีกตะวันตก’ (West Wing) อันเลื่องชื่อ ของบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งหลายที่มาสุมหัวกันวางแผนรวมทั้งตัวประธานาธิบดีด้วย ซึ่งหมายความว่าทั้งหมดนั้นจะเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับทรัมป์ได้ในอนาคต ตรงนี้คือจุดไม้ตายของฝ่ายเดโมแครตที่สามารถเจาะลงไปยังหลักฐานข้อมูลสำคัญที่จะบอกว่าทรัมป์ได้ทำอะไรหรือไม่ทำอะไรลงไปในเหตุการณ์วันที่ 6 มกราคม ผมนั่งดูรายชื่อและบางตอนของการให้ปากคำหรือสัมภาษณ์ของอดีตคนใกล้ชิดทรัมป์ด้วยความระทึกใจและไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ จุดนี้เองที่ให้แสงสว่างแก่ผม ในการทำความเข้าใจและวิเคราะห์การเมืองอเมริกันในยุคหลังโลกาภิวัตน์ที่ใหม่จากเดิม

ประการแรกคือความศักดิ์สิทธิ์และสถาพรของรัฐธรรมนูญอเมริกัน ใครที่เคยเรียนประวัติศาสตร์หรือการเมืองอเมริกัน ต้องได้เรียนเกี่ยวกับความเป็นมาและการยึดมั่นในหลักการรัฐธรรมนูญของนักการเมืองและนักปกครองสหรัฐฯ มากว่าสองศตวรรษ พวกเราที่มาจากประเทศหลังเขาได้แต่อ้าปากค้างและพูดไม่ออกว่าทำไมรัฐธรรมนูญของอเมริกันถึงได้ศักดิ์สิทธิ์ขนาดนั้น เขาทำได้อย่างไรเพราะอะไร มีคนให้คำตอบและอรรถาธิบายมากมาย เช่นมันเป็นจารีตของระบบกฎหมายที่รับมาจากยุโรป แบบแผนการปกครองและบริหารก็ดำเนินไปตามกฎกติกาที่ร่างกันเองโดยผู้แทนไม่ใช่จากกษัตริย์และพรรคอนุรักษ์เอียงข้างเจ้าฝ่ายเดียว ทำให้กฎหมายสูงสุดจึงอยู่รอดปลอดภัยมาได้ ในกรณีของสหรัฐฯ หลังจากได้เอกราชยิ่งชัดเจนว่าเป็นประเทศที่ไม่มีพื้นฐานและรากเหง้าของระบบฟิวดัล (หรือศักดินาฝรั่ง) อยู่เลย ทำให้รัฐธรรมนูญนับแต่ประกาศใช้ก็ถือกันว่าเป็นฉบับของประชาชน (We the people…) อำนาจอธิปไตยก็มีการแบ่งเป็นสามสถาบันและมีการถ่วงดุลกันมาตลอด การใช้อำนาจตามใจผู้มีอำนาจหรือวาสนานั้นจึงไม่เป็นที่ยอมรับกันและปฏิบัติไม่ได้

อีกข้อคือพลเมืองอเมริกันมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองสูงมาก นอกจากการไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอแล้ว ที่สำคัญยังออกมาประท้วงเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้านเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์แก่พวกตนได้ตลอดเวลา เป็นการเมืองนอกรัฐสภา ทำให้การควบคุมและกำกับอำนาจของนักการเมืองและพรรคการเมืองทำได้อย่างจริงจังมาโดยตลอด แม้กระนั้นก็ตาม ระบบการเมืองประชาธิปไตยอเมริกาที่แสนวิเศษก็ยังมีการเหยียดผิวและเชื้อชาติอยู่ไม่น้อย บ้างช่วงก็โจ่งแจ้ง เช่นการกีดกันขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้งของคนผิวดำมายาวนาน การกีดกันขัดขวางสิทธิการเมืองของสตรีก็ไม่น้อย หลายเรื่องมีการหมกเม็ดมองแทบไม่เห็นเพราะมันฝังอยู่ภายในระบบกฎหมายและการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันจริงๆเป็นต้น

ทั้งหมดนี้ถูกโดนัลด์ ทรัมป์เหยียบย่ำทำลายลงด้วยการตีความใหม่ตามใจตัวเองและกระทั่งฉีกบางมาตราเพราะไม่ต้องการให้มันมีอำนาจสูงสุดเหนือนักการเมืองจริงๆ ต้องกล่าวว่านี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีความพยายามและลงมือกระทำการอันเป็นการขัดขวางและบิดเบือนหลักการรัฐธรรมนูญเพื่อรองรับความต้องการและผลประโยชน์เฉพาะของตัวผู้นำเพียงคนเดียวอย่างชัดเจนและอย่างเป็นประจักษ์นิยม

คำถามแรกๆ คือทำไมอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ถึงเชื่อว่าเขาจะสามารถปู้ยี่ปู้ยำและตีความหลักการรัฐธรรมนูญตามใจเขาได้โดยไม่หวาดเกรงอำนาจและประเพณีอันยอมรับกันมาได้

ผมก็ทึ่งและมึนงงกับพฤติกรรมและการกระทำรวมถึงคำพูดในวาระต่างๆของเขามานับแต่วันแรกที่ได้รับตำแหน่งประมุขทำเนียบขาวอย่างไม่น่าเชื่อ แรกๆ ก็คิดว่าคงไม่นานที่ทรัมป์ต้องถูกตอบโต้และตีกลับจากแวดวงการเมืองและธุรกิจทุนอันใหญ่โตซึ่งคงไม่ยอมสูญเสียผลประโยชน์ของระบบที่เคยให้กำไรมหาศาลแก่พวกเขามายาวนาน ผลคือผมเดาผิดและเข้าใจการเมืองอเมริกันใหม่อย่างไม่ถูกต้อง เพราะยังเชื่อและคิดตามทฤษฎีการเมืองประชาธิปไตยอเมริกันแบบเก่า ซึ่งบัดนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่ถูกและไม่เป็นไปตามสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเมืองใหม่

 ข้อแรกนี้จึงนำไปสู่การละเมิดและลบล้างหลักการรัฐธรรมนูญใหม่โดยทรัมป์และพรรคพวกในกลุ่มทุนใหญ่ของเขาและแน่นอนด้วยการสนับสนุนจากบรรดานักวิชาการกฎหมายจำนวนหนึ่งและนักกฎหมายและผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมอีกจำนวนหนึ่ง รวมๆ แล้วบวกกับการช่วยโฆษณาและฟอกข้อมูลโดยสำนักข่าวอย่างฟ็อกซ์นิวส์และในโซเชียลมีเดียส่วนตัวจำนวนมหาศาล เอาแค่ทวิตเตอร์ส่วนตัวของทรัมป์ก็มีผู้ติดตามถึง 88.3 ล้านคนก่อนที่จะถูกปิดบัญชีหลังจากเขาปลุกระดมให้มวลชนออกมาสร้างความรุนแรงในวอชิงตันดีซี ทำให้มติและวิธีวิทยาการอ่านและตีความไปถึงการใช้รัฐธรรมนูญอย่างเข้าข้างตัวเองของทรัมป์และคณะสามารถสถาปนาเสียงของปวงชนที่มีน้ำหนักและการยอมรับได้ในระดับที่ไม่น้อย

ผมสรุปในประการแรกนี้ว่า ก่อนนี้ที่เราเคยเรียนและเชื่อมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญอเมริกานั้นศักดิ์สิทธิ์โดยตัวมันเองและเป็นหลักการอันประชาชนสามารถไว้วางใจและยึดถือเป็นที่พึ่งในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเสมอภาคเท่าเทียมกันนั้น บัดนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแล้วว่าไม่เป็นความจริงอีกต่อไป แน่นอนมันยังมีน้ำยาและความน่าเชื่อถือและเคารพอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ว่า การอ้างว่ามันไม่อาจถูกบิดเบือนหรือขัดขวางกระทั่งถูกฉีกไม่ได้นั้น ไม่เป็นจริงหรือเป็นสัจธรรมอีกต่อไป หากจะพูดอย่างกว้างในระบบโลก ก็ต้องพูดว่ารัฐธรรมนูญอเมริกาก็มีปัญหาและจุดอ่อนเหมือนกับรัฐธรรมนูญในประเทศอื่นๆ ที่อาจถูกทำลายบิดเบือนและฉีกทิ้งได้ หากไม่มีระบบประชาธิปไตยอันเข้มแข็งและมั่นคงรองรับอย่างจริงจัง นั่นหมายถึงการค้ำจุนและให้ชีวิตแก่มันโดยสถาบันยุติธรรมและการใช้กำลังอำนาจรัฐในการลงโทษผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญด้วย ปราศจากกองหนุนที่ให้ความชอบธรรมทางกฎหมาย โอกาสที่มันจะเลื่อนไหลหลุดไปยังหลุมดำเช่นรัฐธรรมนูญไทยและพม่าก็อยู่ไม่ไกล

ข้อสังเกตประการที่สอง ผมสงสัยมานานว่าทำไมกติกาและกฎหมายรัฐธรรมนูญอเมริกาถึงรักษาความบริสุทธิ์ในตัวมันเองมาได้ แม้จะมีความไม่ลงรอยกันระหว่างสองภาคในเรื่องทาสก็ตาม เหตุใดการฉีกหรือทำลายรัฐธรรมนูญถึงยากเย็นกว่าในประเทศสยามและอื่นๆ บัดนี้ผมได้คำตอบจากทรัมป์และคณะ นั่นคือความศักดิ์สิทธิ์ของหลักการทางกฎหมายดำรงอยู่ตราบเท่าที่ชนชั้นนำและเครือข่ายของพวกนั้นยอมรับและทำตามแม้ไม่เต็มใจก็ตาม แต่ก็ไม่ออกปากหรือจัดตั้งขบวนต่อต้านออกไปวิพากษ์และหาทางโค่นล้มมันลงไป มาถึงวันนี้ที่ทรัมป์และคณะตัดสินใจไม่ทำตามและไม่ยอมตามข้อกำหนดในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เช่นเรื่องการให้การยอมรับคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง เป็นครั้งแรกที่ทรัมป์วางแผนให้โกงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งด้วยการล้มการประชุมแล้วให้กลับไปตั้งคณะผู้เลือกตั้งในรัฐที่มีปัญหากันใหม่ ซึ่งเขาเตรียมจัดวางตัวคนเอาไว้แล้วให้สวมรอยตั้งกันขึ้นมาเป็นคณะผู้เลือกตั้งใหม่ และพวกนี้ก็จะมาโหวตให้แก่ทรัมป์แทนไบเดน

ว่าไปแล้วข้อค้นพบประการที่สองนี้ ผมได้มาจากการเปรียบเทียบการใช้และความศักดิ์สิทธิ์ระหว่างรัฐธรรมนูญอเมริกันกับรัฐธรรมนูญไทย ซี่งแน่นอนมีความแตกต่างมากมายในเรื่องประวัติความเป็นมาของการสร้างรัฐธรรมนูญ ความต่างในสถาบันหลักของชาติ แต่เมื่อตัดเอาปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นออกไป เหลือไว้แต่ปัจจัยอันเป็นแก่นสารภายในของอำนาจรัฐธรรมนูญ ก็สรุปได้ว่าคือการยอมรับและปฏิบัติตามโดยบรรดาชนชั้นนายทุนใหญ่และนักการเมืองทั้งหมดไม่ว่าระดับมลรัฐหรือชาติ พูดอย่างภาษาง่ายๆ คือรัฐธรรมนูญอเมริกามีความหมายและอำนาจศักดิ์สิทธิ์เพราะชนชั้นนายทุนใหญ่และน้อยล้วนยอมรับหลักการเหล่านั้นโดยดุษณี ไม่ใช่เพราะพวกเขาเข้าใจ หรือมีความคิดหลักแหลมฉลาดดีกว่าคนชั้นนายทุนและข้าราชการผู้ใหญ่รวมถึงคนชั้นกลางและล่างๆ ของไทย หากแต่เพราะพวกนั้นมองเห็นผลประโยชน์ที่ได้จากการทำตามรัฐธรรมนูญต่างหาก ถ้าเช่นนั้นทำไมคนชั้นนายทุนไทยจึงไม่ปกปักรักษารัฐธรรมนูญของตน เพราะพวกเขามองไม่เห็นผลประโยชน์อะไรที่จะได้จากการมีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. …นั้นๆ ในสังคมเศรษฐกิจไทยหรือ

การแหกกฎกติกาที่เคยยอมรับกันมาของทรัมป์และคณะ หมายความว่าตอนนี้การทำตามรัฐธรรมนูญไม่ให้ประโยชน์แก่พวกเขาเหมือนเดิมหรือ ตอบอย่างสั้นๆ ก็ว่าใช่ ถ้าทำตามกฎหมายอะไรที่เคยได้มากก็จะไม่ได้มากเต็มตามที่ต้องการ แสดงว่าพวกนายทุนฝ่ายทรัมป์กำลังตกอยู่ในสถานเดียวกับพวกนายทุนข้าราชการไทย ที่ขืนทำตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญก็จะไม่ได้ตามที่ต้องการนั่นเอง ส่วนสาเหตุมาจากอะไร เรื่องมันยาว เอาอย่างสั้นๆผมคิดว่า อานุภาพของระบบทุนโลกาภิวัตน์มันมหาศาล ที่สำคัญคือการปฏิวัติเครื่องมือในการผลิตทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา ทำให้กิจการและพื้นที่ของระบบการผลิตทุนนิยมไม่หยุดนิ่งหากแต่ต้องปฏิวัติอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ผลประการหนึ่งคือการให้พลังและการต่อรองแก่บรรดาคนและแรงงานและทุนในที่ต่างๆ ทั่วโลกสามารถเข้าร่วมกระบวนการผลิตและผลิตซ้ำได้อย่างเสรี ความขัดแย้งแตกแยกกันระหว่างทุนด้วยกันเองจึงแตกตัวไม่หยุด อำนาจรัฐและกลไกรัฐอย่างอเมริกาที่พร้อมจะรับรองและสนับสนุนการเติบใหญ่ของทุนโลกทำให้การทำตามรัฐธรรมนูญเริ่มเป็นอะไรที่ไม่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจแก่กลุ่มทุนเก่าบางกลุ่มและคณะโดยเฉพาะพวกทรัมป์ที่เป็นทุนผูกขาดที่อาศัยเทคโนโลยีแบบเก่าหรือไม่ก็ทุนพาณิชย์ที่เป็นกาฝากของรัฐ บรรดาทุนที่มีเทคโนโลยีล้ำยุคอย่างแอปเปิล กูเกิล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอื่นๆ ถึงพากันออกมาประท้วงบอยคอตไม่สนับสนุนทรัมป์ให้มีอำนาจรัฐอีกต่อไป เพราะพวกนั้นตระหนักว่าแท้จริงแล้วทรัมป์คือศัตรูของทุนยุคใหม่และผู้บริโภคใหม่ทั่วโลก

จุดจบของโดนัลด์ ทรัมป์จะเกิดขึ้นไหม เป็นคำถามที่หลายคนยังไม่สามารถตอบได้ แม้กระทั่งคณะกรรมาธิการพิเศษวันที่ 6 มกราคมที่มีอำนาจหน้าที่เต็มตามกฎหมายในการดำเนินการสอบสวนรวบรวมข้อมูลหลักฐานของการทำความผิดต่อรัฐธรรมนูญของทรัมป์และพรรคพวก แต่ที่พวกเขายังไม่มั่นใจ เพราะมันไม่เคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยอเมริกาสองศตวรรษกว่า ที่ประธานาธิบดีไม่ว่าอยู่ในหรือนอกตำแหน่งแล้วก็ตาม ที่เคยถูกนำขึ้นศาลไต่สวนความผิดทางอาญา เพราะรัฐธรรมนูญให้อำนาจในการปกครองและบริหารประเทศผ่านรัฐบาลแก่ประธานาธิบดีอย่างเต็มที่ มาตราที่ระบุการลงโทษก็มีแต่ในเรื่องการถอดถอน ซึ่งรัฐสภาได้กระทำลงไปถึงสองครั้งในการสอบสวนประธานาธิบดีทรัมป์ แต่เขาก็หลุดรอดมาได้เพราะเสียงข้างมากในวุฒิสภายังเป็นของรีพับลิกันอยู่ แม้คนที่ฟังการถ่ายทอดสดการสอบสวนไต่สวนพยานในการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญของทรัมป์พากันเห็นด้วยในข้อกล่าวหาของพรรคเดโมแครต แต่ก็ลงโทษประธานาธิบดีไม่ได้เพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกล่าวถึงเพียงหลักการและข้อความที่กว้างราวมหาสมุทร จนทำให้ข้อกล่าวหาที่เป็นรูปธรรมทั้งหลายไม่มีน้ำหนักและแรงบีบให้วุฒิสมาชิกต้องใช้วิจารณญาณอันเที่ยงธรรมจริงๆ ข้อนี้เองที่ทำให้ทรัมป์เหิมเกริมในวันเลือกตั้งว่าเขาจะดลบันดาลผลการเลือกตั้งตามใจได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดละเอียดถึงหลายเรื่องที่เขาอาจตีความใหม่ได้  สุดท้ายคณะกรรมาธิการสอบสวนเหตุการณ์วันที่ 6 มกราคม ได้แต่หวังว่าข้อมูลหลักฐานทั้งหมดนี้ จะทำให้กระทรวงการยุติธรรมลงมือเข้ามาทำการไต่สวนความผิดของทรัมป์อย่างจริงจังได้แล้ว และนั่นจะเป็นอนาคตของประชาธิปไตยในอเมริกาว่าจะยังรุ่งโรจน์หรือกำลังจะเป็นดาวร่วง

ข้อสังเกตสุดท้ายของผมต่อประเด็นว่าทำไมกฎหมายและรัฐธรรมนูญอเมริกาถึงมีน้ำยา และทำไมถึงไม่มีในกรณีไทยและที่อื่นๆ นั่นคือการที่คนใกล้ชิดและเคยมีความจงรักภักดีต่อทรัมป์ยอมเข้ามาให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการสอบสวน 6 มกราคมในการทำให้ความจริงปรากฏ แม้นั่นจะเป็นการเล่นงานทรัมป์ในเวลาต่อไปก็ตาม แต่หากคนในชนชั้นปกครองเองไม่ยอมออกมาปกป้องรักษาและทำให้รัฐธรรมนูญธำรงความศักดิ์สิทธิ์ของมันต่อไป ก็ไม่มีทางอื่นใดที่ระบบประชาธิปไตยเสรีจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีความหมาย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save