fbpx
มายาของปัจจุบันขณะ

มายาของปัจจุบันขณะ

ความเปลี่ยนแปลงเป็นเครื่องยืนยันของสิ่งที่เรียกว่า ‘เวลา’ (Time) ได้เป็นอย่างดี เพราะว่าหากไม่มีเวลา การเปลี่ยนแปลงก็ไม่เกิดขึ้น

 

และเมื่อพูดถึงเวลา คำที่หลายคนมักจะนึกถึงก็คงหลีกหนีไม่พ้น 3 คำนี้ นั่นคือ ‘อดีต’ ‘ปัจจุบัน’ และ ‘อนาคต’

ตลอดประวัติศาสตร์ นักคิด นักปรัชญา รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์ที่หลงใหลเกี่ยวกับ ‘เวลา’ มักชอบขบคิดเกี่ยวกับ 3 คำนี้อย่างเอาเป็นเอาตาย โดยพวกเขาเชื่อว่า หากมนุษย์เข้าใจ 3 สิ่งนี้อย่างถ่องแท้ นอกจากจะทำให้เราเข้าใจโลกธรรมชาติได้ดีขึ้นแล้ว มันยังสามารถช่วยไขปริศนาหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับตัวมนุษย์เองได้อีกด้วย เป็นต้นว่า จริงหรือไม่ที่มีมนุษย์จากอนาคตเดินทางข้ามเวลากลับมาหาเรา

ในบรรดา 3 สิ่งนี้ สิ่งที่ศึกษาและเข้าใจได้ยากที่สุดเหมือนจะเป็น ‘ปัจจุบัน’ ถ้าพูดให้ชัดหน่อยก็คือ ‘ปัจจุบันขณะ’ (now หรือ present) ที่หมายถึง ‘ตอนนี้’ หรือ ‘เดี๋ยวนี้’ นั่นเอง  ส่วนหนึ่งเพราะนักวิชาการยังตกลงกันไม่ได้ว่าหน้าตาของ ‘ปัจจุบันขณะ’ เป็นอย่างไรกันแน่ ก็ทุกครั้งที่พยายามหยุด ‘ปัจจุบันขณะ’ เพื่อศึกษา มันก็วิ่งจากเราไปเสียแล้ว เป็นต้นว่า ขณะที่คุณอ่านมาถึงตรงนี้ ‘ปัจจุบันขณะ’ ที่ผมพูดไปก็ดูเหมือนจะกลายเป็น ‘อดีต’ ไปเสียแล้ว

นักคิดนักวิชาการจำนวนมากจึงบอกว่า “คุณไม่มีทางศึกษา ‘ปัจจุบันขณะ’ ได้หรอก เพราะตัวมันเองคือความเปลี่ยนแปลง ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

พูดง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ‘ปัจจุบันขณะ’ มันไม่น่าจะมีจริง และถ้าจะมีจริง มันก็คือ เส้นแบ่งบางๆ (Hyperplane) ระหว่างมิติของอนาคต (Future) ที่กำลังเข้ามา และมิติของอดีต (Past) ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ซึ่งไม่รู้ว่าชาตินี้พวกเราจะศึกษาไอ้เส้นแบ่งนี้อย่างแม่นยำกันอย่างไร – กว่าจะศึกษาได้ เราคงต้องสร้าง Time Machine ให้ได้เหมือนในหนังหรือการ์ตูนหลายๆ เรื่องเสียก่อนกระมัง

ด้วยเหตุนี้ ความหวังในการเห็นและศึกษา ‘ปัจจุบันขณะ’ คงต้องสูญสลายไป แต่เดี๋ยวก่อน ความจริงแล้ว เราอาจพอเห็น ‘ปัจจุบันขณะ’ ได้อยู่นะครับ

ถ้าไม่เชื่อ คุณลองสังเกตตัวเองดูสิครับว่า เคยจับจ้องอยู่กับปัจจุบัน หรืออยู่ในห้วงของปัจจุบันบ้างหรือไม่ แน่นอนว่าหลายคนคงเคยเกิดความรู้สึกเช่นนั้น

 

ปัจจุบันขณะไม่มีจริง?

Marcelo Gleiser ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และปรัชญาธรรมชาติ แห่งวิทยาลัยดาร์ตมัธ (Dartmouth College) ได้อธิบายไว้ว่า ‘ปัจจุบันขณะ’ ที่พวกเรารู้สึกนั้นคือ ‘ภาพลวงตาของปัจจุบันขณะ’ (Illusion of Now) ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของสมองอันซับซ้อนของเรา

Gleiser บอกว่า จริงๆ แล้ว ในขณะที่พวกเราอ่านหนังสือ และกำลังเห็นว่าเรากำลังอ่านตัวหนังสือตรงหน้าอยู่ ‘ภาพตัวหนังสือ’ ที่เกิดขึ้นบนจอประสาทตาของเรานั้น ไม่ได้เป็นตัวแทนของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ณ ขณะนั้นอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ก็เพราะว่า ‘ภาพตัวหนังสือ’ เป็น ‘แสง’ ที่สะท้อนมาจากหนังสือ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางกว่าจะมาถึงจอประสาทตาของเรา ดังนั้น ภาพที่เราเห็นจึงไม่ได้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ แบบแนบกันสนิท สิ่งที่เรารับรู้จึงเป็นอดีตที่เพิ่งผ่านพ้นไปเท่านั้น

ลองนึกถึงเวลาที่ เรามองดวงดาวยามค่ำคืน หรือพยายามฝืนตามองดวงอาทิตย์ในตอนกลางวันสิครับ ภาพดวงดาว หรือดวงอาทิตย์ที่เราเห็นนั้นเป็นภาพของสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเท่านั้น โดยสำหรับดวงอาทิตย์ เราเพียงเห็นภาพของมันเมื่อ 8.5 นาทีที่แล้ว (ดังนั้น ดวงอาทิตย์ที่เราเห็นจากบนโลกทุกวันนี้ ก็ไม่เคยเป็นดวงอาทิตย์ดวงปัจจุบันเลย) ส่วนดวงดาว เราก็เห็นภาพของมันเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว (ฉะนั้น ดาวบางดวงที่เห็นตอนนี้ ในความจริงก็อาจไม่มีจริงๆ แล้วในตอนนี้)

ย้อนกลับมาเรื่องการรับรู้ปัจจุบันขณะของเรากันก่อนครับ หลายคนอาจจะบอกว่า “ไม่จริงหรอก สิ่งที่เราเห็นตรงหน้านี้ มันก็คือ ปัจจุบันนั่นแหละ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเลยสักนิด ยังไง ภาพที่เห็นมันก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับสิ่งทีมันสะท้อนมานั่นแหละ” แต่ถ้ามองในเชิงคณิตศาสตร์ Gleiser บอกว่า ไม่มีทางที่เราจะเห็นภาพพร้อมๆ กับสิ่งที่มันสะท้อนอย่างแน่นอน และถึงแม้ว่าแสงจะเดินทางเร็ว 300,000 กิโลเมตร ต่อวินาที และเราจะเห็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้าห่างจากตัวเราไม่ถึง 2 ฟุต ในความเป็นจริง ภาพและสิ่งที่มันสะท้อนก็ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันอยู่ดี เพราะถ้าเรายืดเวลาด้วยการแบ่งหน่วยเวลาระดับวินาทีเป็นหน่วยย่อยๆ เช่น นาโนวินาที ยังไงเสีย ‘สิ่งที่ภาพสะท้อน’ จะเกิดขึ้นก่อน ‘ภาพ’ ในช่วง ‘เสี้ยวของเสี้ยวของเสี้ยววินาที’

Gleiser เสริมว่า ในแง่การทำงานของสมองมนุษย์ (ซึ่งหลายคนก็บอกว่ามันเป็นสิ่งเลิศล้ำที่สุดในจักวาล) สมองมนุษย์ก็ยังมีขีดจำกัดในการประมวลผลเพื่อแยกแยะความต่างของช่วงระยะเวลาระหว่างภาพและสิ่งที่มันสะท้อนได้อย่างแม่นยำ จึงทำให้เรารับรู้ได้ยากว่าอะไรเกิดขึ้น ‘เดี๋ยวนี้’ หรือ ‘เดี๋ยวนั้น’ กันแน่

อย่างไรก็ดี พวกเราก็ยังพอแยกได้อยู่ว่าอะไรเกิดขึ้นไปแล้วบ้าง ซึ่งสิ่งที่ช่วยให้เราแยกว่าอะไรเกิดขึ้นไปแล้วนั้นก็คือ ‘Sphere of Now’ ซึ่ง Gleiser อธิบายว่ามันคือ ขอบเขตการรับรู้ของพวกเราที่มีต่อแสงที่สะท้อน ดังนั้น หากมีรถกำลังเคลื่อนที่อยู่ในขอบเขตของ Sphere of Now ของเรา เราก็จะมองเห็นว่ามันเป็นปัจจุบัน แต่หากว่ารถคันนั้น เคลื่อนไหวนอก Sphere of Now เมื่อไหร่ ภาพของรถคันนั้นที่เราเห็นก็จะเริ่มเป็นภาพจากอดีตอย่างชัดเจน ซึ่งศาสตราจารย์ Gleiser ได้นิยามขอบเขตของ Sphere of Now ไว้สองมิติ

สำหรับมิติแรกคือ ‘การรับรู้ภาพ’ เขาได้กำหนดให้เท่ากับวงรัศมีที่มีขนาดเส้นรัศมียาวถึง 300,000 กิโลเมตร (เท่ากับระยะทางที่แสงเดินทางในหนึ่งวินาที) ส่วนสำหรับมิติที่สองคือ ‘การรับรู้เสียง’ ก็ได้กำหนดให้เท่ากับวงรัศมีที่มีเส้นรัศมียาว 346 เมตร (เท่ากับความเร็วของเสียงที่เดินทางในหนึ่งวินาที เมื่อบรรยากาศมีอุณหภูมิ 25°C) อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Gleiser บอกว่าพวกเราส่วนใหญ่จะมีขนาด Sphere of Now ของตนน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของร่างกายตนเอง และสภาพแวดล้อมที่พวกเราอาศัยอยู่

แล้วอะไรคือ ‘Illusion of Now’ กันละ? มันก็คือ ผลรวมของภาพสะท้อนจากสิ่งที่เกิดขึ้นใน Sphere of Now นั่นแหล่ะ แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใน Sphere of Now จะมีหลากหลายมากและต่างช่วงเวลา แต่ด้วยสมองเราไม่สามารถประมวลความยุ่งเหยิงของปัจจุบันขณะของแต่ละสิ่งได้ (Chaos of Now of Things) อย่างแม่นยำ สมองเราจึง ‘ลักไก่’ ด้วยการสร้าง ‘ภาพลวงตาถึงปัจจุบันขณะ’ โดยทำเสมือนว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน Sphere of Now ต่างกรรมต่างวาระนั้น กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันนั่นเอง

แต่นี่ก็ยังตอบได้ไม่สมบูรณ์ว่าทำไมเราถึงรับรู้ถึง ‘ปัจจุบันขณะ’ เป็นแบบห้วงๆ ได้อย่างสมบูรณ์

 

ปัจจุบันขณะจากความรู้สึกของเรา

Hinze Hogendoorn ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยอูเทรกต์ (Utrecht University) ได้เผยให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าสมองของเราจะชอบทำงานไม่ซื่อสัตย์และชอบลวงตาเจ้าอยู่เสมอ แต่มันก็มีความวิเศษที่น่าทึ่งอยู่ไม่น้อยเหมือนกันนะครับ พูดอย่างตรงตรงมาก็คือ สมองของเราไม่ได้ทำงานเป็นเพียงเครื่องรับภาพแบบภาพนิ่ง แต่มันทำงานโดยรับภาพแบบเคลื่อนไหวคล้ายๆ ‘ภาพวิดีโอ’

Hogendoom บอกว่าทุกครั้งที่เรารับภาพสิ่งใดอยู่ เราไม่ได้เห็นภาพนั้นเป็นภาพนิ่งๆ เท่านั้น แต่เราจะเห็นมันเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีความต่อเนื่อง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราจะเห็นภาพเคลื่อนไหวที่เป็นผลรวมระหว่างความทรงจำของภาพที่เพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อไม่กี่เสี้ยววินาทีและการคาดเดาถึงภาพของสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึงวินาที

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเสมือนเคลื่อนไหวตลอดเวลา จนกลายเป็นว่า ‘ภาพเคลื่อนไหว’ นั้นคือ ‘ปัจจุบันขณะ’ ซึ่งในความจริงแล้ว มันมีเศษเสี้ยวของความทรงจำจากอดีตและการคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นผสมอยู่ด้วยกัน

Hogendoom อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่สมองของมนุษย์ทำงานเช่นนี้ ก็เพราะเป็นผลจากวิวัฒนาการนั่นเอง (Evolutionary Brain) มันคือความพยายามของสมองบรรพบุรุษของเราที่ต้องการเพิ่มโอกาสในการมีชีวิตรอดของพวกเรานั่นเอง การที่สมองประมวลผลโดยผสมผสานความทรงจำจากอดีต และการประมาณการถึงภาพในอนาคต เหตุผลสำคัญคือ ต้องการให้เราได้มีโอกาสรับรู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นรอบตัวได้ล่วงหน้า และจะได้หลบหลีกได้ทัน (แม้เป็นเสี้ยววินาทีก็ยังดี)

นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไม เราถึงมองปัจจุบันขณะเป็นห้วงๆ (Duration) (ที่ผสมระหว่างอดีตและอนาคต) ทั้งนี้เคยมีคนประเมินว่า การรับรู้ถึงปัจจุบันขณะนั้นสามารถเป็นช่วงเวลาระหว่าง 2-3 วินาที ได้เลยทีเดียว

ถึงกระนั้น การเห็นปัจจุบันขณะเป็นห้วงๆ ก็ยังเป็นภาพลวงตาอยู่ดี ลวงตายังไง? ลองนึกถึงตอนที่เรากำลังตบตีแมลงวันสิครับ ทำไมเราถึงไม่สามารถตบแมลงวันด้วยมือเปล่าได้สักที ทั้งที่พยายามเล็ง และมันก็อยู่ตรงนั้น และมันกำลังบินไปทางโน้น แต่เมื่อเรากำลังง้างมือไปตบ มันกลับไม่ได้ไปทางนั้น ทั้งนี้ เพราะว่าภาพที่เราเห็นว่าแมลงวันกำลังบินไปนั้น ไม่ได้เป็นภาพสะท้อนของแมลงวันจริงๆ แต่มันคือ ภาพลวงตาที่เรา ‘มโน’ ขึ้นมาเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น – เราถึงตบพลาดในที่สุด

 

ด้วยเหตุนี้แหละครับ ปัจจุบันขณะจึงไม่ได้เกิดขึ้น ณ เดี๋ยวนี้จริงๆ หรือบางที มันอาจจะไม่มีจริงๆ เสียด้วยซ้ำ แต่มันเป็นผลรวมของอดีตและอนาคตในเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น แต่ก็อีกนั่นแหละ อย่างที่ได้อธิบายไป สมองของเราก็ช่างพิเศษเหมือนกันนะครับ นั่นคือ มันก็ทำให้อดีตและปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่อยู่ด้วยกันได้ และกลายเป็น ‘ปัจจุบันขณะ’ อย่างที่เรารับรู้กันทั่วไปในที่สุด

 

เอกสารอ้างอิง

บทความ There Is No Now โดย Marcelo Gleiser จาก PBS

บทความ Time Insight โดย Hinze Hogendoorn

บรรยายเรื่อง Time and the brain: the illusion of now  โดย Hinze Hogendoorn

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save