fbpx
“สันติวิธี” ที่สูญหาย

“สันติวิธี” ที่สูญหาย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

 

ในคราวการเคลื่อนไหวในห้วงเวลาของเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ผลพวงประการหนึ่งซึ่งสืบเนื่องต่อมาก็คือ แนวคิดและปฏิบัติการทางสังคมที่เรียกว่า “สันติวิธี” กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

ไม่เพียงเฉพาะความสำเร็จในการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เท่านั้น ภายหลังจากนั้น สันติวิธีกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่บรรดา “ภาคประชาชน” ได้หยิบฉวยมาใช้ในการสร้างความชอบธรรมกับเคลื่อนไหวของฝ่ายตน ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายเกษตรกรรายย่อย สมัชชาคนจน การต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน การเรียกร้องสิทธิของกลุ่มชนเผ่า เป็นต้น ขณะที่แวดวงวิชาการก็มีการนำเสนอบทเรียน การแลกเปลี่ยน การถกเถียงกันอย่างคึกคัก มีการจัดตั้งสถาบันและหลักสูตร ซึ่งเกี่ยวข้องกับสันติวิธีขึ้นในหลายแห่ง

กล่าวโดยรวม การเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีเป็นเครื่องมือหนึ่งของประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างออกไปในประเด็นต่างๆ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ การเลือกใช้สันติวิธีก็ด้วยความเชื่อว่าจะสามารถสร้างความเห็นใจจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ในระดับปัจเจกบุคคล หรือจะสามารถโน้มน้าวให้เกิดความเห็นชอบกับความเห็นของฝ่ายตนได้ในระดับสาธารณะ ทั้งนี้ ปฏิบัติการของสันติวิธีอาจจะเป็นสิ่งที่เหลื่อมๆ หรือละเมิดต่อกฎหมายก็ได้ในบางครั้ง

การปิดถนน ล้อมทำเนียบรัฐบาล ล้อมศาลากลางจังหวัด เดินขบวนบนท้องถนน ฯลฯ ภายใต้การนิยามว่าการกระทำดังกล่าวเป็น “สันติวิธี” กลายเป็นภาพของการเคลื่อนไหวที่มีพลังให้อำนาจรัฐต้องสนใจไม่มากก็น้อย

อาจกล่าวได้ว่าสันติวิธีเป็นแนวทางที่ถูกใช้อย่างเด่นชัดในช่วงปลายทศวรรษ 2530 จนถึงทศวรรษ 2540 ก่อนที่จะค่อยๆ เบาบางลงเมื่อเกิดระบอบทักษิณในปลายทศวรรษ 2540 และถูกลืมเลือนหายไปท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างเหลือง-แดงในทศวรรษ 2550

น่าสนใจว่าภายหลังการรัฐประหารปี 2557 อันนำมาซึ่งระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมและส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรงในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะกระบวนการยุติธรรม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แนวนโยบายการพัฒนาที่ปราศจากการมีส่วนร่วม การคอร์รัปชั่นในระบบราชการ และอีกจำนวนไม่ถ้วน แต่ก็น่าสนใจว่าไม่ปรากฏกระบวนการเคลื่อนไหวที่สามารถคัดง้างกับอำนาจรัฐได้อย่างมีพลัง อาจมีการตอบโต้ โต้แย้ง คัดค้านกับอำนาจรัฐเกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ เช่น การถือป้าย การจัดชุมนุม การฝ่าฝืนคำสั่งของผู้มีอำนาจ หรืออาจมีการชุมนุมบ้างในบางประเด็นที่มีมวลชนเข้มแข็ง แต่ทั้งหมดก็ยุติลงด้วยการถูกจับกุมหรือดำเนินคดีกันไปโดยไม่อาจนำมาซึ่งการสร้างประเด็นในทางสาธารณะให้เกิดขึ้น

การเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีจึงดูราวกับว่าจะตกอยู่ในภาวะอันหงอยเหงาไม่น้อย คำถามที่มีขึ้นก็คือในยามสถานการณ์ที่ระบอบประชาธิปไตยไม่อาจทำงานได้ ทำไมสันติวิธีกลับอยู่ในสภาพไร้น้ำยาไปด้วยพร้อมกัน

ใช่หรือไม่ว่าในสังคมที่ไม่เปิดช่องทางใดๆ ในการแสดงความรู้สึก ความต้องการ ของผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง ย่อมเป็นช่องทางให้ไปสู่วิธีการอื่นๆ อันนำมาซึ่งความรุนแรงได้ง่ายกว่า ปรากฏการณ์ “หมาป่าลุยเดี่ยว” ในหลายแห่งหลายสังคมก็สืบเนื่องมาจากการมองไม่เห็นหนทางและความเป็นไปได้ในการเรียกร้องอย่างสันติมิใช่หรือ

คำถามสำคัญคือ มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้สันติวิธีตกอยู่ในภาวะอันเสื่อมโทรมเช่นที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทย ผู้เขียนเสนอว่าอาจพิจารณาจาก 3 ปัจจัยที่มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิด

ประการแรก การแตกแยกกันอย่างลงลึกภายในสังคมไทย

ในประเด็นนี้ John Rawls (ผู้เขียนหนังสือ Theory of Justice) ได้เคยกล่าวเตือนว่าปฏิบัติการฝ่าฝืนกฎหมายของประชาชนอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นมโนธรรมด้านความยุติธรรม (sense of justice) ของสังคมให้บังเกิดขึ้น ถ้าในสังคมนั้นๆ มีการแบ่งแยกหรือแบ่งฝักฝ่ายอย่างเด่นชัด เนื่องจากการแตกแยกจะเป็นผลให้การมองเห็นปรากฏการณ์บางอย่างถูกบดบังด้วยประเด็นที่สร้างความเป็นฝักเป็นฝ่ายมากกว่า

กรณีของสังคมไทยนั้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการแบ่งแยกเป็นฝ่ายเหลือง/แดง มีผลกระทบต่อการกระตุ้นมโนธรรมของผู้คนอย่างสำคัญ มีการละเมิดสิทธิของผู้คนอย่างที่ยากจะเกิดขึ้นในภาวะปกติ เช่น การจับกุมตัวบุคคลโดยปราศจากข้อหาหรือหลักฐานที่ชัดเจน แต่ปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดเสียงคัดค้านขึ้นกว้างขวางแต่อย่างใด กลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ บางกลุ่มเท่านั้นที่ส่งเสียงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะบ่อยครั้งหรือรุนแรงอย่างใดก็ยังคงจำกัดกลุ่มคนที่รู้สึกรู้สาอยู่ไม่ต่างจากเดิม

ประการที่สอง การปรากฏตัวของเผด็จการเชิงเครือข่าย (dictator network)

หลังรัฐประหาร 2557 การใช้อำนาจของคณะรัฐประหารไม่ได้ดำเนินไปโดยกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว แต่กลับมีบุคคล องค์กร และสถาบันจำนวนมากเข้ามาเป็นกลไกของการใช้อำนาจ กรณีแม่น้ำห้าสายเป็นตัวอย่างอันดีของการแสดงให้เห็นถึงเครือข่ายอันกว้างขวาง

ในด้านของการใช้อำนาจรัฐกระทำต่อประชาชน เมื่อมีการควบคุมตัวบุคคลที่ต่อต้านกับรัฐบาลก็จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ตำรวจ อัยการ และศาล เข้ามาทำหน้าที่ไปอย่างเป็นลำดับ โดยที่องค์กรต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่ได้มีท่าทีในการปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหาร ทำให้การใช้อำนาจในการคุกคามเสรีภาพประชาชนกระจายไปยังองค์กรต่างๆ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่คณะรัฐประหารอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น ในระยะหลังทางคณะรัฐประหารไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจของศาลทหาร เพราะกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ก็ไม่ได้ปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหารแต่อย่างใด

อำนาจของคณะรัฐประหารจึงมิใช่เพียงแค่ คสช. หากเป็นเครือข่ายที่มีหลายกลุ่มหลายองค์กรเข้ามาสัมพันธ์ อันทำให้เป้าหมายของการวิจารณ์กระจัดกระจายไปตามองค์กรมากกว่าจะรวมศูนย์เพียงองค์กรเดียว

ประการที่สาม ความอับจนของความรู้ด้านสันติวิธีในสังคมไทย

แนวคิดสันติวิธีแพร่หลายในสังคมไทยภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แต่ดูเหมือนว่าการศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับสันติวิธีไทยอาจไม่ได้เคลื่อนตัวไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในสังคม สันติวิธีมักถูกให้ความสำคัญในการเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐเป็นด้านหลัก มีงานจำนวนไม่น้อยที่พยายามขบคิดปัญหาความขัดแย้งในลักษณะเช่นนี้ แต่สันติวิธีดูจะไม่สามารถเป็นหนทางในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเองได้

น่าสนใจว่านับตั้งแต่ความขัดแย้งเสื้อสีขยายตัวขึ้น การอ้างอิงถึงความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวมักไปผูกกับสิทธิตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ขณะที่สันติวิธีกลับถูกให้ความสำคัญไม่มากนัก แม้ว่าในระยะเริ่มต้นอาจจะมีแนวโน้มของการตระหนักถึงอยู่บ้างก็ตาม แต่ทั้งหมดก็จบลงด้วยความรุนแรงทั้งจากมือของรัฐและประชาชนด้วยกันเอง

น่าคิดว่าในยามสถานการณ์เช่นนี้ อะไรคือข้อจำกัดที่ต้องพยายามก้าวข้าม หากยังเห็นว่าสันติวิธีมีความจำเป็นสำหรับการจัดการความขัดแย้งในสังคม มากกว่าการโยนเอาสันติวิธีทิ้งไปด้วยความเชื่อว่ามันไม่มีน้ำยาสำหรับสังคมไทยอีกต่อไปแล้ว

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023