fbpx
The Mauritanian: กระบวนการยุติธรรมต้องไม่ถูกชี้นำโดยความกลัว

The Mauritanian: กระบวนการยุติธรรมต้องไม่ถูกชี้นำโดยความกลัว

เหตุการณ์ 9/11 กลายเป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาที่ส่งผลสะเทือนระดับโลก เหตุก่อการร้ายนำมาซึ่งความตายของผู้คนเกือบสามพันชีวิต ตามมาด้วยการพยายามหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังและปฏิบัติการทางการทหารของสหรัฐฯ

คุกกวนตานาโมของฐานทัพเรือสหรัฐฯ ในคิวบาเกิดขึ้นหลังจากนั้นเพื่อคุมขังผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ด้วยเหตุผลสำคัญคือสิ่งที่เกิดขึ้นในคุกแห่งนี้จะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ

หนึ่งในนักโทษที่ถูกส่งตัวมายังคุกนี้คือ โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี (Mohamedou Ould Slahi) ชาวมอริเตเนียน เขาเคยได้รับทุนไปเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าที่เยอรมนีและเคยร่วมฝึกระยะสั้นกับนักรบมุญาฮิดีนที่อัฟกานิสถานเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐฯ ต่อมาซาลาฮีถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้จัดหาคนก่อเหตุ 9/11 เพราะมีความเชื่อมโยงกับญาติที่เป็นคนใกล้ชิดอุซามะฮ์ บิน ลาดิน

ซาลาฮีถูกจับตัวจากมอริเตเนียไปกวนตานาโมโดยไม่มีการตั้งข้อหาและไม่ได้ขึ้นศาล จนเขาได้พบ แนนซี ฮอลแลนเดอร์ (Nancy Hollander) ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ช่วยต่อสู้คดีจากการถูกสหรัฐอเมริกาคุมขังโดยมิชอบ รวมถึงมีการสอบสวนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ระหว่างอยู่ในคุก ซาลาฮีเขียนหนังสือ Guantánamo Diary (2015) บอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง ในการตีพิมพ์ครั้งแรกทางการสหรัฐฯ เซ็นเซอร์ข้อความจำนวนมาก ด้วยเหตุผลว่าเป็นข้อมูลละเอียดอ่อน โดยที่ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้จับหนังสือจนกระทั่งถูกปล่อยตัวออกมา หนังสือของเขากลายเป็นหนังสือขายดีในหลายประเทศ เรื่องของโมฮัมมาดู โอ ซาลาฮีถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ The Mauritanian (2021) กำกับโดย Kevin Macdonald ซึ่งเพิ่มเติมมุมมองจากฝ่ายทนายและอัยการทหาร จนทำให้เห็นมุมมองรอบด้านว่าจุดบกพร่องในกระบวนการยุติธรรมสามารถย่ำยีชีวิตคนคนหนึ่งได้เพียงใด

นักแสดงนำใน The Mauritanian คือ ทาฮาร์ ราฮิม (Tahar Rahim) รับบท โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี, โจดี ฟอสเตอร์ (Jodie Foster) รับบท แนนซี ฮอลแลนเดอร์, เชลีน วูดลีย์ (Shailene Woodley) รับบท ทนายเทรี ดังแคน, เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (Benedict Cumberbatch) รับบท พันโทสจ๊วต เค้าช์ อัยการทหาร และ แซกคารี เลวี (Zachary Levi) รับบท เนล บัคแลนด์ เจ้าหน้าที่รัฐบาล โดยโจดี ฟอสเตอร์ พาบททนายฮอลแลนเดอร์ไปคว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำ ปี 2021 ได้

ภาพยนตร์ The Mauritanian ชวนให้ผู้ชมกลับมาคิดถึงเรื่องความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง โดยเฉพาะการยืนยันที่จะรักษาหลักนิติธรรม ผ่านการปกป้องสิทธิผู้ต้องหาที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อการร้ายในคดีสะเทือนขวัญคนทั้งโลก

ไม่น่าแปลกใจที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะชวนให้หันกลับมามองสังคมไทยในภาวะที่กระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงที่สุด ในวันที่ประชาชนเกิดคำถามว่าองค์กรต่างๆ มุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนจริงหรือไม่


‘อคติ’ ในกระบวนการยุติธรรม


หลังเหตุการณ์ 9/11 ซาลาฮีถูกควบคุมตัวโดยตำรวจมอริเตเนียภายใต้ความร่วมมือกับ FBI เขาถูกส่งตัวไปกักขังที่จอร์แดนและอัฟกานิสถาน ก่อนจะมาถึงคุกกวนตานาโมเดือนสิงหาคม 2002 โดยไม่ผ่านกระบวนการศาลและไม่ถูกตั้งข้อหา

ภาพสุดท้ายของซาลาฮีที่ครอบครัวจดจำได้คือการถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปและไม่มีข่าวใดๆ ส่งกลับมา ไม่สามารถติดต่อได้ ไม่มีโอกาสเข้าถึงทนายและต้องติดคุกโดยไม่มีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง

กระบวนการยุติธรรมไม่ถูกหยิบใช้ มีเพียง ‘ความเชื่อ’ ของเจ้าหน้าที่ว่าได้จับคนเลวมาลงโทษ โดยไม่สนใจว่าคนที่พวกเขาเชื่อว่าเลวนั้นก็เป็นมนุษย์ มีชีวิตจิตใจ มีครอบครัว มีสิทธิที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ผ่านกระบวนการยุติธรรม และสมควรจะได้รับการปกป้องจากกฎหมาย

หลังผ่านไปหลายปี ครอบครัวของซาลาฮีขอความช่วยเหลือจากทนายความสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ เพื่อเข้าถึงตัวลูกชายในคุกกวนตานาโม จนแนนซี ฮอลแลนเดอร์รับทำคดีนี้และไปพบซาลาฮีที่กวนตานาโม ก่อนจะพบเรื่องราวที่ไม่อาจยอมรับได้ภายใต้การดำเนินการของกองทัพสหรัฐฯ ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายรูปแบบระหว่างการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้ายหลายร้อยคน โดยมีผู้ต้องขังจำนวนมากที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

“ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์หนึ่งคน”

คำพูดของ Sir William Blackstone นักกฎหมายชาวอังกฤษถูกหยิบยกมาใช้อธิบาย ‘หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์’ อันเป็นหนึ่งในหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกร่วมเป็นภาคี รวมถึงประเทศไทย

หลักการนี้มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญไทยให้เป็นสิทธิของปวงชนชาวไทยว่าจะปฏิบัติต่อใครอย่างผู้กระทำผิดไม่ได้ ก่อนจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

เช่นเดียวกับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งสอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ โดยการสั่งไม่ให้ปล่อยตัวต้องมีเหตุที่เชื่อได้ว่าจะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ก่อเหตุอันตราย หลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน-พิจารณาคดี

ตัวอย่างกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงเหตุผลที่ขัดต่อหลักสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งการต้องถูกคุมขังโดยยังไม่มีการวินิจฉัยคดีเป็นอุปสรรคต่อผู้ต้องหาในการหาพยานหลักฐานมายืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่อาจกล่าวได้ว่าวางอยู่บนหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ อันเป็นสิทธิที่หลายประเทศร่วมกันรับรองว่าจะนำไปใช้ หากแต่เป็นการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด ซึ่งนำมาสู่การละเมิดผู้ต้องหาให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้เต็มความสามารถ


‘สอบสวนวิธีพิเศษ’ เปลี่ยนผู้บริสุทธิ์เป็นคนผิด


ปฏิบัติการที่คุกกวนตานาโมได้ชื่อว่าเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี โดยเฉพาะการซ้อมทรมานผู้ต้องขังหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือคำรับสารภาพ ดังที่มีการใช้ ‘โปรเจ็กต์พิเศษ’ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รับใบอนุญาตจากทางการสหรัฐฯ ให้ใช้การสอบสวนแบบพิเศษ เช่น การให้นอนในห้องที่หนาวเหน็บและเต็มไปด้วยเสียงรบกวน บังคับให้อดนอน บังคับให้ยืนต่อเนื่องหลายชั่วโมง ขู่ทำร้ายครอบครัว สร้างความอับอายทางเพศ รบกวนประสาทด้วยเสียงอย่างต่อเนื่อง กรอกน้ำ หรือกระทั่งทำร้ายร่างกาย

เช่นเดียวกับซาลาฮีที่ยอมเซ็นชื่อรับรองคำรับสารภาพว่าตัวเองเป็นผู้ก่อการร้ายทุกกรณีที่ถูกตั้งข้อสงสัย ทั้งที่เขายืนยันกับทนายซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ แน่นอนว่านั่นเป็นการรับสารภาพที่ไม่ได้มาจากความยินยอม

“ตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ ผมถูกบอกตลอดว่า ‘แกทำผิด’ ไม่ใช่จากสิ่งที่ผมทำหรือสิ่งที่ถูกพิสูจน์ แต่มาจากความสงสัยและการเชื่อมโยง” ซาลาฮีอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างถูกจองจำหลายปีโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล

การต้องพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ขณะถูกจองจำเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก โดยเฉพาะในกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องการหาคนผิดมาลงโทษเพื่อปิดคดี ชีวิตหลังลูกกรงไม่มีทางหาพยานหลักฐานมาคัดง้างข้อกล่าวหา ยิ่งการอยู่ในเรือนจำในฐานะ ‘ศัตรู’ ของชาติ ยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่รีดเร้นข้อมูลโดยไม่สนใจความเป็นมนุษย์

วิธีการทรมานผู้ต้องขังที่กวนตานาโม เป็นวิธีที่ CIA ใช้กับผู้ต้องสงสัยว่าก่อการร้าย คล้ายกันกับวิธีการทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมถึงไทย เช่นที่ปรากฏใน รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ศึกษากรณีการซ้อมทรมานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ช่วงปี 2557-2558 โดยเก็บข้อมูลจาก 74 กรณี พบว่าระหว่างที่เจ้าหน้าที่ซักถามมีการทำร้ายร่างกาย ใช้วอเตอร์บอร์ด (waterboarded) คือการราดน้ำบนใบหน้าที่คลุมด้วยผ้าขนหนู ทำให้เกิดอาการสำลักน้ำเหมือนจมน้ำ ใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวให้หายใจไม่ออก บังคับให้ยกแขนหลายชั่วโมง ล่วงละเมิดทางเพศ โดยระหว่างนั้นก็บังคับให้รับสารภาพ

กรณีผู้เสียหายจากการซ้อมทรมานที่มีคำตัดสินของศาลคือ อิสมาแอ เต๊ะ ประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ที่ถูกจับกุมตามกฎอัยการศึกโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาขณะเป็นนักศึกษาเมื่อปี 2551 มีการควบคุมตัวเกินกำหนดเวลาและมีหลักฐานว่าถูกทำร้ายร่างกาย โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กองทัพจ่ายค่าชดเชยผู้เสียหายแต่ไม่สามารถฟ้องคดีอาญาได้ เนื่องจากจำหน้าคนทำร้ายร่างกายไม่ได้เพราะถูกปิดตา

อีกตัวอย่างจากกรณีของ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เด็กมัธยมที่ถูกตำรวจซ้อมให้รับสารภาพคดีวิ่งราวทอง จนป่วย PTSD (Post-traumatic stress disorder) ซึ่งศาลอุทธรณ์ตัดสินลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 8,000 บาทต่อตำรวจหนึ่งนายที่ทำร้ายร่างกายและบังคับให้รับสารภาพ

การซ้อมทรมานกลายเป็นรูปแบบหนึ่งในการสอบสวนของเจ้าหน้าที่รัฐไทย จึงนำมาสู่การเรียกร้องให้มี พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน – อุ้มหาย เพื่อป้องกันไม่ให้วิธีการเช่นนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมไทย

การซ้อมทรมานนอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงแล้ว ยังไม่เกิดประโยชน์ใดต่อการค้นหาความจริงในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าผู้ต้องหานั้นจะเป็นคนผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ตาม หลักฐานที่ได้มาจากการซ้อมทรมานไม่ใช่พยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่สามารถยอมรับในการพิจารณาได้

เรื่องที่เกิดขึ้นในกวนตานาโมของ โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี ยังนับว่ามีความหวังในกระบวนการยุติธรรม เมื่อศาลยุติธรรมสหรัฐฯ ยึดมั่นในหลักการแบ่งแยกอำนาจและยึดถือการคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างไม่ยกเว้น แม้แต่การพิจารณาคดีผู้ถูกกล่าวหาว่าก่อการร้ายที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์หลายพันคนก็ตาม

เช่นเดียวกับที่ทนายฮอลแลนเดอร์เชื่อมั่นว่า การว่าความคดีซาลาฮีถือเป็นการปกป้องกระบวนการยุติธรรมสหรัฐฯ เพื่อให้การละเมิดสิทธิโดยกองทัพต้องยุติลง แม้ว่าเธอจะถูกกล่าวหาเป็น ‘ทนายผู้ก่อการร้าย’ ก็ตาม


ศรัทธาในความยุติธรรม มิอาจเกิดได้ด้วยความกลัว


“ผมเชื่อว่าศาลนี้ตัดสินโดยกฎหมาย ไม่ใช่ความกลัว ผมจึงยอมรับคำตัดสินไม่ว่าจะออกมาอย่างไร”

ถ้อยแถลงต่อศาลของซาลาฮีบรรจุด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ แม้เขาต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะนอกกฎหมายมาหลายปีและถูกข่มขู่คุกคาม แต่เขายังคงเชื่อว่ากฎหมายในหลายประเทศสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าจะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองประชาชน

แม้จะผ่านเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดจากเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ แต่ซาลาฮีมีความหวังว่ากระบวนการยุติธรรมที่ทำงานอย่างเที่ยงตรงจะเป็นทางออกจากความเลวร้ายทั้งปวง

เหตุผลเป็นเพราะผู้พิพากษาต้องตัดสินด้วย ‘กฎหมาย’ มิใช่ ‘ความกลัว’ เพราะความกลัวนี้เองที่ทำให้คนบริสุทธิ์ถูกขังคุกโดยไม่มีทางต่อสู้ ตั้งแต่ความกลัวในเชื้อชาติ กลัวสูญเสียเกียรติภูมิ กลัวสูญเสียตำแหน่ง กลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวการต่อต้าน…กลัวความจริง

ด้วย ‘ความกลัว’ นี้เองที่ทำให้เกิดสภาวะยกเว้นต่างๆ ตั้งแต่ยกเว้นจากการใช้กฎหมาย ยกเว้นจากการเคารพสิทธิของประชาชน ยกเว้นจากการดำเนินคดีตามปกติ ยกเว้นจากการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน ยกเว้นจากการถูกวิจารณ์

หากสังคมเชื่อมั่นว่าการอำนวยความยุติธรรมควรมีองค์ประกอบและการตรวจสอบอย่างไรบ้าง สภาวะยกเว้นต่างๆ ที่สร้างขึ้นนั้นก็คงไม่อาจสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้

กระบวนการยุติธรรมที่ถูกบังตาด้วยอคติและความเกลียดชังไม่เป็นประโยชน์ต่อใครและยิ่งถ่างความขัดแย้งให้ขยายออก เมื่อผู้คนคิดว่ากำลังอยู่ภายใต้ระบบที่เอนเอียงและพร้อมเข้าข้างคนบางกลุ่มโดยไม่สนใจความถูกต้องเป็นธรรม

แม้ว่าภาพยนตร์ The Mauritanian จะเล่าเรื่องที่ชวนหดหู่ใจผ่านประสบการณ์เลวร้ายของนักโทษจากกวนตานาโม แต่สิ่งที่ทำให้โมฮัมมาดู โอ ซาลาฮี แตกต่างจากนักโทษคนอื่นๆ ที่ผ่านเรื่องแบบเดียวกัน คือการเป็นมนุษย์ผู้มีความหวังและเขาค้นพบว่าการทำงานอย่างเที่ยงธรรมของกระบวนการยุติธรรมจะจุดประกายความหวังถึงความเป็นธรรมในสังคม…แม้กระทั่งในวันที่มืดมนที่สุด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save