fbpx

คดีความผิดมาตรา 112 กับกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไปไม่ค่อยเป็น

ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ต่อจากนี้ผู้เขียนจะเรียกโดยย่อว่า ‘ความผิดมาตรา 112’) เป็นฐานความผิดที่ถูกกล่าวถึงและมีการบังคับใช้อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ซึ่งฐานความผิดนี้ นอกจากจะเป็นบทกฎหมายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในประเด็นปัญหาความชอบธรรมทางด้านเนื้อหาถึงความสอดคล้องกับหลักนิติรัฐและความสมเหตุสมผลในการดำรงอยู่ของฐานความผิด ดังที่นักวิชาการหลายท่านได้ตั้งข้อสังเกตไปแล้ว ฐานความผิดดังกล่าวก็ยังมีข้อสังเกตถึงประเด็นปัญหาสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือประเด็นปัญหาในเรื่อง ‘ความซื่อตรงในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม’ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีในชั้นเจ้าพนักงานตำรวจ อัยการ และศาล

ในการดำเนินคดีความผิดอาญามาตรา 112 นั้น มีข้อสังเกตอยู่หลายประเด็นที่ปรากฏว่ากฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมา แต่กลับถูกปรับใช้ในลักษณะที่ตกๆ หล่นๆ หลักกฎหมายที่เคยมีการบังคับใช้อย่างถูกต้องสม่ำเสมอกลับไม่ถูกหยิบยกมาใช้บังคับโดยไม่มีเหตุผล หรือแม้แต่คำพิพากษาศาลฎีกาบรรทัดฐานที่ได้รับการยึดถือเป็นแนวปฏิบัติอย่างเหนียวแน่นตลอดมาก็ถูกหลงลืมไปอย่างดื้อๆ ไม่นำมาบังคับใช้กับคดีความผิดมาตรา 112 เสียอย่างนั้น อีกทั้งการให้เหตุผลทางกฎหมายตลอดทั้งกระบวนการก็มีความบกพร่องทางตรรกะที่ละทิ้งความสมเหตุสมผลทั้งปวง เพื่อที่จะลงโทษผู้ต้องหาให้ได้ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงในคดีนั้น ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายให้อำนาจแต่อย่างใดเลยแม้แต่น้อย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมไทยในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับการดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจ พนักงานอัยการ หรือศาล ที่เป็นไปอย่างแปลกประหลาด เสมือนกับคนเสียอาการที่ทำอะไรผิดๆ ถูกๆ เมื่อต้องเจอกับบุคคลหรือเหตุการณ์ที่ทำให้ตนเกิดอาการหวั่นไหว หลักกฎหมายและทักษะการให้เหตุผลทางนิติศาสตร์ที่เคยร่ำเรียนศึกษามาเกิดการขัดข้องไม่สามารถนำออกมาใช้ได้อย่างที่เคยทำตลอดมา จนกระทั่งนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายที่ผิดเพี้ยนในลักษณที่ ‘ไปไม่เป็น’ เลยเสียทีเดียว

แม้ความผิดตามมาตรา 112 จะยังไม่ได้มีการแก้ไขหรือถูกยกเลิกด้วยกระบวนการทางนิติบัญญัติ อันส่งผลให้การดำเนินคดีความผิดดังกล่าวยังคงสามารถเกิดขึ้นได้โดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมจะมีอำนาจดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 โดยกล่าวอ้าง ‘ประโยชน์ความมั่นคงของรัฐ’ ตามรัฐธรรมนูญเสมือนประหนึ่งใบอนุญาตให้ดำเนินคดีได้ในทุกกรณีที่มีความเกี่ยวพันกับบุคคลในราชสำนัก หากแต่ต้องพิจารณาเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ผู้เขียนจะเสนอข้อสังเกตของประเด็นปัญหาดังกล่าวในรูปแบบที่อ่านเข้าใจได้ไม่ยาก ซึ่งเป็นการสรุปสาระสำคัญจากบทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4748/2561[1] และ 3998/2563[2] (ต่อไปนี้จะเรียกโดยย่อว่า ‘ฎีกาปี 61’ และ ‘ฎีกาปี 63’ ตามลำดับ) ของผู้เขียนที่ตีพิมพ์ในวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 3 ปีที่ 51 พ.ศ. 2565[3] และฉบับที่ 4 ปีที่ 50 พ.ศ. 2564[4]

1

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความหมายของสถานะ ‘รัชทายาท’

ในประเด็นนี้ถือเป็นข้อสังเกตที่สำคัญที่สุด เพราะประชาชนหรือแม้แต่เจ้าพนักงานของรัฐ ก็ยังมีความเข้าใจถึงสถานะการเป็น ‘รัชทายาท’ ที่ยังไม่ถูกต้อง จนนำไปสู่การแจ้งความกล่าวโทษและการดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 โดยผิดหลงไปอย่างกว้างขวาง เนื่องจากแท้ที่จริงแล้วมาตรา 112 ให้การคุ้มครองเฉพาะแต่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ 4 สถานะเท่านั้น คือ 1.พระมหากษัตริย์ 2.พระราชินี 3.รัชทายาท และ 4.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งหมายความว่า ถ้าบุคคลที่ถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่ได้มีสถานะบุคคลเป็นหนึ่งในสี่ดังกล่าวนี้แล้ว มาตรา 112 ก็จะไม่ได้ให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้นั้น

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้นนิยามของสถานะการเป็น ‘รัชทายาท’ เป็นสถานะถูกเข้าใจความหมายอย่างคลาดเคลื่อนอยู่บ่อยครั้ง เพราะในความเข้าใจของบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษากฎหมายนั้นจะเข้าใจไปว่า ‘รัชทายาท’ หมายความถึง ‘พระบรมวงศานุวงศ์’ พระประยูรญาติใหญ่น้อยทั้งหมดทุกราชสกุลที่มีอยู่หลากหลายพระองค์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะ สถานะการเป็น ‘องค์รัชทายาท’ ที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีได้แต่ ‘รัชทายาท (the crown prince)’ ที่เป็น ‘มกุฎราชกุมาร’ หรือ ‘มกุฎราชกุมารี’ เพียงองค์หนึ่งองค์เดียวเท่านั้น กล่าวคือ เฉพาะแต่บุคคลที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมมติขึ้นเพื่อเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 มาตรา 4 เท่านั้น[5]

ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงในคดีฎีกาปี 61 ที่จำเลยทำการหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุนั้น เนื่องจากวันที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมาตรา 112 โดยการหมิ่นประมาทบุคคลในราชสำนักทั้งสองพระองค์ คือวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เพราะฉะนั้นบุคคลที่เป็นรัชทายาทในขณะนั้นจึงเป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[6] ที่ได้รับการสถาปณาโดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515[7] บุคคลในราชสำนักพระองค์อื่นที่ไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไม่ได้มีสถานะเป็น ‘รัชทายาท’ ที่จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากแต่มีสถานะเป็นบุคคลใน ‘พระบรมวงศานุวงศ์’ ที่ยังคงได้รับความคุ้มครองจากความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เฉกเช่นบุคคลทั่วไปเพียงเท่านั้น

เพราะฉะนั้น การที่จำเลยหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ตามที่ปรากฏในฎีกาปี 61 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 112 ตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัย เพราะเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลใน ‘พระบรมวงศานุวงศ์’ ไม่ใช่การหมิ่นประมาท ‘รัชทายาท’ แต่ยังคงเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาทั่วไปตามมาตรา 326 เท่านั้น (ส่วนจะดำเนินคดีความผิดฐานนี้ทดแทนความผิดมาตรา 112 ได้หรือไม่ผู้เขียนจะได้อธิบายต่อไป)

ทั้งนี้ แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องความผิดมาตรา 112 ก็ตาม แต่การดำเนินคดีความผิด 112 นี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกแล้ว เพราะการกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดมาตรา 112 โดยชัดแจ้งตั้งแต่ต้น ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อสังเกตต่อเนื่องไปอีกว่า แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวจะไม่เป็นความผิดอย่างชัดเจน แต่พนักงานอัยการก็ยังคงสั่งฟ้องไปโดยคาดเห็นอยู่แล้วว่าศาลก็ต้องยกฟ้อง ทั้งๆ พนักงานอัยการมีอำนาจดุลพินิจโดยชอบตามกฎหมายในการทำคำสั่งไม่ฟ้องคดีสำหรับการกระทำที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดโดยชัดแจ้ง ซึ่งผู้เขียนจะยกข้อสังเกตนี้แยกอธิบายต่อไป

2

รัฐหลีกเลี่ยงที่จะยืนยันถึงขอบเขตของสถานะ ‘รัชทายาท’ ให้ชัดเจน

ฎีกาปี 61 นั้นได้มีการกล่าวไว้ว่า การกระทำของจำเลยที่เป็นการหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปเท่านั้น ไม่ใช่การหมิ่นประมาทที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะ “ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112” แต่ทั้งนี้คำพิพากษาฎีกาปี 61 นี้ก็ไม่ได้อธิบายเหตุผลให้ชัดแจ้งเลยว่าองค์ประกอบความผิดที่ขาดหายไปนี้ คือองค์ประกอบความผิดส่วนใดกันแน่ หากละการให้เหตุผลในส่วนนี้ออกไปอย่างน่าประหลาดใจ ผิดกับคำพิพากษาฎีกาหลายฉบับในอดีตที่มีการอธิบายอยู่สม่ำเสมอว่าเหตุใดการกระทำของจำเลยในคดีจึงขาดองค์ประกอบความผิด แต่ถึงกระนั้นหากพิจารณาจากคำพิพากษาฎีกาปี 61 แล้ว เมื่อการหมิ่นประมาทของจำเลยยังคงครบถ้วนสมบูรณ์ องค์ประกอบความผิดที่ขาดหายไปก็คงจะเหลือแต่ความไม่สมบูรณ์ขององค์ประกอบความผิดในส่วนสถานะของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองในฐานะ ‘รัชทายาท’ ตามมาตรา 112 นี้เอง ดังที่ผู้เขียนได้อธิบายข้างต้น

เพราะฉะนั้น ฎีกาปี 61 ฉบับนี้จึงสามารถเป็นคำพิพากษาที่ยืนยันในตัวเองแล้วว่า ‘พระบรมวงศานุวงศ์’ ไม่ใช่ ‘รัชทายาท’ จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 112

เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ไม่ได้มีสถานะเป็น ‘รัชทายาท’ แล้ว การหมิ่นประมาทบุคคลทั้งสองจึงไม่อาจที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 112 ได้ คงเป็นแต่ความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งเป็นความผิดที่ยอมความได้และมีอัตราโทษน้อยกว่า มาตรา 112 อยู่มาก อย่างไรก็ตาม เมื่อฎีกาปี 61 ไม่ได้กล่าวไว้ให้ชัดแจ้งอย่างเป็นทางการให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจแล้ว ปัญหาเรื่องความเข้าใจของประชาชนและเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องเกี่ยวกับนิยามสถานะการเป็น ‘รัชทายาท’ ก็มีแนวโน้มที่จะยังคงคลาดเคลื่อนอยู่ต่อไปว่าความผิดมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองพระบรมวงศานุวงศ์ในราชสำนักทุกพระองค์

และด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของประชาชนและเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับความหมายที่แท้จริงถึงสถานะ ‘รัชทายาท’ ประกอบกับการละเว้นของศาลฎีกาในการยืนยันถึงขอบเขตสถานะดังกล่าวให้ชัดเจน ส่งผลให้การดำเนินคดีความผิด มาตรา 112 เกินขอบเขตเงื่อนไขตามกฎหมายที่จำกัดไว้ไปอย่างมาก เกิดการกล่าวหาดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 อย่างพร่ำเพรื่อ ทั้งๆ ที่การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถจะเป็นความผิดมาตรา 112 ได้อยู่แล้วตั้งแต่แรก เพราะผู้ถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่ได้มีสถานะที่ได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เมื่อใดก็ตามที่การกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีการอ้างอิงหรือเกี่ยวโยงถึงบุคคลในราชสำนักหรือพระบรมวงศานุวงศ์แล้ว การดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 ก็จะทำงานทันที โดยไม่พิจารณาองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายของมาตรา 112 ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ซึ่งแม้ในท้ายที่สุดศาลจะพิพากษายกฟ้องผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยเหตุดังกล่าว แต่ผู้ที่ถูกกล่าวหาก็ต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างในการต่อสู้คดีที่ไม่อาจประเมินเป็นเงินได้เลย

3

การดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาทั่วไปตามมาตรา 326 แทนมาตรา 112 โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นจะมีการแบ่งประเภทความผิดอาญาออกเป็น 2 ประเภท คือ ‘ความผิดต่อส่วนตัว’ (ความผิดอันยอมความได้) และ ‘ความผิดต่อแผ่นดิน’ (ความผิดอันยอมความไม่ได้) ซึ่งสำหรับความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะมีเงื่อนไขการเริ่มคดีอยู่ที่ตัวผู้เสียหายเป็นสำคัญ หากผู้เสียหายไม่ทำการร้องทุกข์แก่เจ้าพนักงานด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปร้องทุกข์แทนตนแล้ว การดำเนินคดีความผิดต่อส่วนตัวก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้เลย หากมีการดำเนินคดีความผิดต่อส่วนตัวโดยที่รัฐเป็นผู้ริเริ่มโดยปราศจากการร้องทุกข์ของผู้เสียหายหรือโดยการกล่าวโทษของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้เสียหายหรือตัวแทนของผู้เสียหายแล้ว การดำเนินคดีความผิดส่วนตัวนั้นย่อมเป็นการดำเนินคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตรงกันข้ามกับความผิดต่อแผ่นดินซึ่งเป็นความผิดอาญาที่รัฐสามารถดำเนินคดีได้โดยไม่อยู่ภายใต้การตัดสินใจของผู้เสียหาย กล่าวคือ รัฐมีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินคดีเสมอ ไม่ว่าผู้เสียหายจะประสงค์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหรือไม่

ทั้งนี้ เนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เป็นความผิดต่อส่วนตัว เพราะฉะนั้น การดำเนินคดีสำหรับฐานความผิดดังกล่าวจึงต้องผ่านเงื่อนไข ‘การร้องทุกข์’ โดยผู้เสียหายที่ถูกหมิ่นประมาทเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วพนักงานสอบสวนก็จะไม่มีอำนาจสอบสวนฐานความผิดนี้ หากยังคงฝ่าฝืนทำการสอบสวนต่อไปก็จะกลายเป็นการสอบสวนโดยปราศจากอำนาจซึ่งส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจดำเนินคดี เพราะเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เปรียบเสมือนกับไม่มีการสอบสวนมาก่อนเลย ซึ่งต่างจากความผิดตามมาตรา 112 ที่ถูกกำหนดให้เป็นความผิดต่อแผ่นดินที่รัฐหรือบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้เสียหายสามารถเริ่มดำเนินคดีได้โดยปราศจากความสมัครใจของผู้เสียหาย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อไม่ได้มีข้อเท็จจริงปรากฏในฎีกา ปี 61 เลยว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุได้ทำการร้องทุกข์ด้วยพระองค์เอง หรือได้มีการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปร้องทุกข์แทนพระองค์ การดำเนินคดึความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาทั่วไปตามมาตรา 326 จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่ถึงกระนั้นศาลฎีกากลับวินิจฉัยในคดีดังกล่าว ให้การสอบสวนความผิดมาตรา 112 ในตอนแรกครอบคลุมไปถึงการสอบสวนความผิดมาตรา 326 ไปโดยไม่ต้องผ่านการร้องทุกข์ของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งสองพระองค์และลงโทษจำเลยตามมาตรา 326 ทดแทนมาตรา 112 ทั้งๆ ที่ในอดีตนั้นศาลฎีกาก็ได้เคยวางหลักการวินิจฉัยไว้เองว่า ในกรณีที่การกระทำของจำเลยจะไม่เป็นความผิดต่อแผ่นดินแต่ยังคงเป็นความผิดต่อส่วนตัวในตัวเอง การจะลงโทษจำเลยความผิดอาญาต่อส่วนตัวนั้นจำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณาถึงต้นกระบวนการว่าผู้เสียหายได้ทำการร้องทุกข์หรือไม่ ถ้าผู้เสียหายไม่ได้ทำการร้องทุกข์ตั้งแต่แรกแล้ว แม้ศาลจะพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดต่อส่วนตัวก็ตาม ศาลก็ไม่อาจลงโทษได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4906/2543 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16081-16083/2555)

แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้รับการยอมรับยึดถือปฏิบัติตามมาโดยตลอดจึงกลับถูกพักการปรับใช้ไปเสียอย่างดื้อๆ โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใดเลยว่าเหตุใดศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยดังเช่นแนวคำพิพากษาในอดีต ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีฎีกาปี 61 ก็เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถเทียบเคียงกันได้ หากมีแต่การกล่าวอ้างหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐตามรัฐธรรมนูญอย่างเลื่อนลอยเพื่อให้มีอำนาจลงโทษจำเลย แต่สถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐที่ศาลฎีกากล่าวถึงในฎีกาปี 61 นี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามอำเภอใจโดยเพิกเฉยต่อทุกสิ่ง ทั้งหลักกฎหมาย แนวคิดทฤษฎีต่างๆ หรือแม้แต่แนวทางการวินิจฉัยที่ตนได้วางเอาไว้เอง

4

การพยายามบรรยายฟ้องให้เป็นความผิด ทั้งๆ ที่ไม่อาจเป็นความผิดได้

ประเด็นปัญหานี้ปรากฏในฎีกาปี 63 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาคดีความผิด มาตรา 112 ได้ข่มขู่ผู้เสียหายโดยอ้างอิงว่าตนเป็นญาติกับ ‘พระวรชายา’ ของรัชทายาทซึ่งเป็นการหาประโยชน์โดยมิชอบโดยแอบอ้างว่ามีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับ ‘พระวรชายา’ ซึ่งแม้เป็นการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่อาจทำให้พระวรชายาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอันเป็นการหมิ่นประมาทก็จริง แต่เมื่อพระวรชายาไม่ได้เป็น ‘ราชินี’ ที่เป็นคู่สมรสของพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ และไม่ได้เป็น ‘รัชทายาท’ แต่อย่างใด ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีทางจะมีความผิดตามมาตรา 112 ได้เลยอยู่แล้วตั้งแต่แรก (ส่วนการดำเนินคดีมาตรา 326 ทดแทนนั้น ไม่อาจกระทำได้ดังที่ผู้เขียนอธิบายหลักกฎหมายไว้ในคดีฎีกาปี 61 เพราะไม่ปรากฏว่าพระวรชายาได้ทำการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีความผิดดังกล่าวด้วยพระองค์เองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทน) ซึ่งศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องสำหรับข้อหาความผิดมาตรา 112

อย่างไรก็ดี แทนที่พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องในข้อหาดังกล่าวเพราะพระวรชายาไม่ใช่บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 ตั้งแต่แรก แต่พนักงานอัยการในคดีนี้ก็หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ แต่ยังคงสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดมาตรา 112 โดยบรรยายฟ้องในทำนองว่า การแอบอ้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระวรชายาถือเป็นการจาบจ้วงให้รัชทายาทเสื่อมเสียพระเกียรติ อันเป็นการหมิ่นประมาทรัชทายาทไปด้วยในตัวเอง ซึ่งการบรรยายฟ้องดังกล่าวนี้เป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดความสมเหตุสมผลอย่างร้ายแรง เพราะบุคคลที่ถูกผู้ต้องหาพาดพิง คือ ‘พระวรชายาของรัชทายาท’ แต่เพียงผู้เดียว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานว่ามีการพาดพิงหรือแอบอ้าง ‘องค์รัชทายาท’ โดยตรงแต่อย่างใดเลย แต่พนักงานอัยการกลับพยายามบรรยายฟ้องให้ผลของการแอบอ้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระวรชายาของรัชทายาท ถือเป็นการดูหมิ่นและหมิ่นประมาทองค์รัชทายาทโดยอ้อมไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยตรรกะและเหตุผลด้วยประการทั้งปวง เพราะถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้วก็เท่ากับว่าการใส่ความผู้หนึ่งให้เสียชื่อเสียงจะถูกถือว่าเป็นการใส่ความบุคคลอื่นในครอบครัวของผู้นั้นให้เสียชื่อเสียงไปโดยอัตโนมัติซึ่งไม่สามารถหาความเชื่อมโยงหรือความสมเหตุสมผลใดๆ ได้เลย

แม้การแอบอ้างว่าตนมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระวรชายาของรัชทายาทจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมก็จริง แต่ก็ไม่อาจอธิบายได้เลยว่าการกระทำดังกล่าวจะสามารถเป็นการแสดงความรู้สึกดูถูก เหยียดหยาม หรือสบประมาทอันเป็นการดูหมิ่น หรือการใส่ความ ‘องค์รัชทายาท’ ต่อบุคคลที่สามอันเป็นการหมิ่นประมาทอย่างไร

5

การฟ้องคดีโดยที่รู้อยู่แก่ใจว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

ในฎีกาปี 61 และปี 63 ทั้ง 2 คดี ได้ปรากฏว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้น (ในฎีกาปี 61) และศาลอุทธรณ์ (ในฎีกาปี 63) มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดมาตรา 112 แล้ว พนักงานอัยการก็ไม่ได้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยข้อหาความผิดตามมาตรา 112 แต่กลับปล่อยให้เป็นที่ยุติในชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ไปเฉยๆ อย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้สะท้อนว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีไปโดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำของจำเลยไม่มีทางเป็นความผิดมาตรา 112 ตั้งแต่แรก เพราะถ้าพนักงานอัยการเชื่อมั่นอย่างแท้จริงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเช่นว่านั้น พนักงานอัยการก็ย่อมจะต้องทำการฎีกาในประเด็นความผิดมาตรา 112 ที่ถูกยกฟ้องต่อไป เพื่อให้ศาลฎีกาพิพากษากลับลงโทษจำเลยในความผิดมาตรา 112 คงไม่ปล่อยให้ยุติไปโดยง่ายดังที่ปรากฏนี้

อนึ่ง อำนาจการสั่งคดีเป็นอำนาจของพนักงานอัยการโดยเฉพาะ กล่าวคือ ไม่ว่าพนักงานสอบสวนจะทำความเห็นในคดีมาอย่างไรก็ตาม พนักงานอัยการก็มีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีของตนเอง ในการที่จะใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีก็ได้ อันเป็น ‘อำนาจการสั่งคดีตามดุลพินิจ’ โดยพนักงานอัยการต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของสำนวนการสอบสวน และพิจารณาสั่งสำนวนโดยละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและข้อกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้ หากพนักงานอัยการพบว่าสำนวนของพนักงานสอบสวนเป็นความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา ทั้งๆ ที่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่า การกระทำดังกล่าวไม่ครบองค์ประกอบความผิดอาญาตามมาตรา 112 อันเป็นการตั้งข้อหาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรกแล้วพนักงานอัยการก็ควรมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา แล้วให้กระบวนการตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการได้ดำเนินการไปตามกฎหมาย

6

การละเลยการหยิบยกประเด็นปัญหาเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัย

ในฎีกาปี 63 นั้นศาลได้มีการยกฟ้องในข้อหาความผิดมาตรา 112 สำหรับการข่มขู่ผู้อื่นโดยการอ้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระวรชายาของรัชทายาท แต่ยังคงพิพากษาลงโทษความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 ทดแทน ซึ่งก็เป็นการลงโทษโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายเช่นกัน เพราะหากศาลจะลงโทษฐานความผิดดังกล่าวแทนความผิดมาตรา 112 จะต้องปรากฏว่าผู้เสียหายได้มีการร้องทุกข์หรือฟ้องคดีความผิดมาตรา 309 ภายในอายุความตามที่กฎหมายกำหนดด้วย และเนื่องจากความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่มีอายุความ 3 เดือนนับตั้งแต่รู้เรื่องรู้ตัว ดังนั้น เมื่อเหตุเกิดเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 แต่ผู้เสียหายมาแจ้งความกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 1 ปีแล้ว การดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 309 จึงขาดอายุความตั้งแต่แรก สิทธิในการดำเนินคดีอาญาสำหรับความผิดดังกล่าวจึงระงับไปแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน พ.ศ. 2556 ซึ่งประเด็นนี้ศาลฎีกาก็เคยวินิจฉัยวางหลักเอาไว้เอง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16081-16083/2555)

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการขาดอายุความนั้นในทางกฎหมายนั้นเรียกว่าเป็น ‘ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย’ ซึ่งศาลสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองโดยไม่ต้องรอให้คู่ความฝ่ายใดหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างให้ศาลวินิจฉัย เพราะฉะนั้น แม้จำเลยจะไม่เห็นข้อต่อสู้คดีในประเด็นนี้แล้วไม่ยกเรื่องอายุความมาต่อสู้ หากศาลเห็นเอง ศาลก็สามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแล้วทำการยกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุของการขาดอายุความได้ ซึ่งในคดีอื่นๆ นั้น ศาลก็ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการหยิบยกปัญหาเรื่องการขาดอายุความขึ้นวินิจฉัยเองขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดมา แต่อย่างไรก็ตาม ในคดีฎีกาปี 63 นั้น ศาลไม่ได้ทำการหยิบยกปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขาดอายุความนี้ขึ้นวินิจฉัยแต่อย่างใดเลย กลับปล่อยปละละเลยไม่ทำการวินิจฉัยอย่างรอบคอบดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในอดีต และยังคงดึงดันจะลงโทษจำเลยทั้งๆ ที่สิทธิในการดำเนินคดีอาญาจำเลยระงับไปเป็นเวลานานแล้ว

บทส่งท้าย

ข้อสังเกตจากคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองฉบับนี้เป็นเพียงตัวแค่ตัวอย่างความ ‘ไปไม่เป็น’ ของกระบวนการยุติธรรมไทยที่เกิดขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมเมื่อจะต้องเผชิญกับคดีความผิดมาตรา 112 ซึ่งเป็นอีกประเด็นปัญหาหนึ่งที่ไม่อาจคลี่คลายได้ด้วยการแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกความผิดมาตรา 112 แต่เพียงเท่านั้น หากแต่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและความซื่อตรงต่อหลักวิชาของผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ หากหน้าที่การสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ การสั่งคดีของพนักงานอัยการ และการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้นไม่ได้มีการดำเนินไปตามกฎหมายแล้ว การรักษาความมั่นคงสงบเรียบร้อยของรัฐที่ถูกหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างในการดำเนินคดีตามที่ปรากฏในคำพิพากษาก็คงเป็นเพียงความมั่นคงสงบเรียบร้อยบนกองเศษซากสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพียงเท่านั้น ไม่ใช่ความมั่นคงสงบเรียบร้อยของสังคมในอุดมคติที่ผู้คนใฝ่หาแต่อย่างใด


[1] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4748/2561 ฉบับเต็ม

[2] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3998/2563 ฉบับเต็ม

[3] คลิกเพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4748/2561 (การหมิ่นประมาทที่ไม่อาจถูกลงโทษได้ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)

[4] คลิกเพื่ออ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3998/2563 (ปัญหาการดำเนินคดีอาญาสำหรับการข่มขืนใจผู้อื่นโดยแอบอ้างความสัมพันธ์กับบุคคลในราชสำนัก)

[5] กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในกฎมณเฑียรบาลนี้ ท่านว่าให้บรรยายไว้ดังต่อไปนี้ (1) ‘พระรัชทายาท’ คือ เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมมตขึ้นเพื่อเปนผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป”

[6] ในขณะนั้น ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณสยามมกุฎราชกุมาร

[7] ‘พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร’, ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 89, ตอน 200 ก, ฉบับพิเศษ (28 ธันวาคม พ.ศ. 2515), 1.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save