fbpx
ความสำคัญของเดดไลน์

ความสำคัญของเดดไลน์

1

เคยส่งงานเกินเดดไลน์ไหมครับ?

 

ผมว่าหลายคนในที่นี้น่าจะเคยทำกันบ้างนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการส่งการบ้านให้คุณครูหรือส่งรายงานให้เจ้านาย

หลายคนคงผ่านประสบการณ์ทำนองนี้มากันบ้าง

แน่นอนว่าในยุคสมัยนี้ การส่งงานเกินเดดไลน์เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ใช่ครับ! ใครเขาจะยอมรับกันได้ล่ะ เพราะว่าการส่งงานเกินเดดไลน์ นอกจากจะบ่งบอกว่าผู้ส่งไม่มีความรับผิดชอบ ทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่ทันเวลาแล้ว มองในภาพใหญ่ หากไปทำงานร่วมกับผู้อื่นในองค์กรใหญ่ๆ การส่งงานเกินกำหนดของคนเพียงหนึ่งคนแค่นิดเดียว อาจหมายถึงหายนะขององค์กรได้ง่ายๆ เลยนะครับ

เห็นไหมว่า การทำงานให้ตรงเดดไลน์ นั้นสำคัญขนาดไหน

 

2

แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนที่โลกเราจะมีสิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) มนุษย์ยังไม่รู้จักคอนเซ็ปท์ที่เรียกว่า ‘การทำงานแบบออนไทม์ หรือห้ามเลยเดดไลน์’ กันหรอกนะครับ

การทำงานให้เสร็จภายในวันเวลาเท่านี้เท่านั้นไม่มีนะครับ เพราะคนยุคก่อนเขาทำงานโดยดูฤดูกาลกัน เช่น ฤดูกาลนี้จะปลูกพืชชนิดไหนดี เลี้ยงสัตว์ประเภทนี้ดีไหม และถ้าปลูกพืชชนิดนี้แล้ว จะปลูกไปถึงฤดูไหนดี เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวต่อไป

ด้วยลักษณะการดำรงชีวิตที่วางอยู่บนพื้นฐานของการทำกสิกรรมของคนยุคก่อน ที่มักจะไปขึ้นอยู่กับการกำหนดของฤดูกาล และสภาพอากาศ ประกอบกับกิจกรรมที่พวกเขาต้องทำยังไม่มีความหลากหลายมากนัก จึงทำให้คนทั่วไป (ชนชั้นแมสๆ นะครับ ไม่ใช่พวกชนชั้นนำ) ไม่มีคอนเซ็ปท์เรื่องเวลาที่ละเอียดในระดับวัน ชั่วโมง นาที และวินาทีอยู่

แต่ใช่ว่าคอนเซ็ปท์เรื่องเวลาชนิดละเอียดจะไม่มีอยู่เลยนะครับ มันมีอยู่บ้าง แต่ก็เฉพาะในชนชั้นนำจำนวนน้อยในสังคมเท่านั้น ที่คนเหล่านี้ต้องมีคอนเซ็ปท์เรื่องเวลาแบบละเอียด ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นชนชั้นปกครองที่มีกิจกรรมหลากหลาย ในแต่ละวันจึงต้องจัดสรรเวลาให้ละเอียดเพื่อทำกิจกรรมให้เสร็จสิ้นตามที่เหมาะสม

 

3

พอสังคมนุษยชาติวิวัฒนาการมาสู่ระดับที่ประชากรขยายตัวมากขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดรับกับความต้องการของมนุษย์มากขึ้น แล้วที่สุดก็เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้น โดยเริ่มที่อังกฤษก่อนในช่วงปี 1750 – 1850

สมัยก่อนโน้น สังคมที่เน้นการผลิตแบบกสิกรรม (ล่าสัตว์และปลูกพืช) สามารถสร้างพลังงานเพื่อหล่อเลี้ยงคนในสังคมในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อสังคมมีจำนวนประชากรมากขึ้น การผลิตแบบอุตสาหกรรมที่นำเอาเครื่องจักรมาช่วยผลิต จึงตอบโจทย์ได้มากกว่า

การเกิดขึ้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม นอกจากจะสร้างวิถีการผลิตแบบใหม่แล้ว (Mode of Production) ยังทำให้เจ้าของปัจจัยการผลิตสะสมทุนได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งต่อมาก็เป็นที่มาของลัทธิทุนนิยม (Capitalism)

เป้าหมายของวิถีการผลิตแบบใหม่นี้ คือ ต้องการให้เกิดผลผลิตทีละมากๆ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ต้องมีการรวบรวมปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะแรงงานและเครื่องจักรให้มาทำงานร่วมกันมากขึ้น เมื่อแรงงานเข้ามารวมกันทำงานมากขึ้น ขนาดขององค์กรจึงใหญ่มากขึ้นตามไปด้วย กิจกรรมหรืองานในกระบวนการผลิตหนึ่งๆ จึงมีความเยอะ และซับซ้อนเป็นเงาตามตัว “โรงงาน” จึงกลายเป็นสถานที่สำคัญของวิถีการผลิตแบบใหม่

และเพื่อให้การทำงานของโรงงานสามารถผลิตสินค้าได้ปริมาณทีละมากๆ ได้ทันเวลา แรงงานที่อยู่ในระบบการผลิตต้องมีแนวคิดเรื่อง ‘เวลา’ ที่ละเอียดกว่าเมื่อก่อนด้วย จากที่เคยทำงานให้ได้เป้าหมายตามฤดูกาล ก็ต้องหัดมาทำให้เสร็จโดยดูเวลาในระดับ เดือน วัน ชั่วโมง นาที หรือแม้กระทั่งวินาทีแทน

ถ้าไม่มีแนวคิดเรื่องเวลาแบบนี้ แรงงานก็ยังทำงานโดยดูเวลาตามฤดูกาลแบบเดิม ผลก็คือกิจกรรมต่างๆ ไม่สามารถดำเนินไปด้วยความรวดเร็วได้ โรงงานคงผลิตสินค้าไม่ทันตามความต้องการของลูกค้าแน่ๆ

หากมองกันอย่างลึกๆ แล้ว อาจพูดได้ว่าคอนเซ็ปท์เรื่องเวลาแบบละเอียด และการทำงานภายในเวลาที่กำหนด ไม่เกินเดดไลน์นี่แหละ คือ หัวใจสำคัญของการผลิตแบบใหม่นี้

ยิ่งสังคมใดให้คุณค่ากับการทำงานตามเดดไลน์ได้มากเท่าไร สังคมนั้นก็จะผลิตสินค้าได้มากขึ้น เมื่อมีสินค้ามากขึ้น สังคมนั้นก็จะมีพลังทางเศรษฐกิจมากขึ้น และสามารถเจริญรุดหน้าไปไกลกว่าประเทศอื่นๆ

เดดไลน์เลยสำคัญไงครับ!

 

4

เมื่อหันมามองปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า ‘แนวคิดเรื่องเดดไลน์’ รัฐของประเทศอุตสาหกรรม (ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นประชาธิปไตยด้วย) เป็นเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญอย่างมาก สังเกตได้จากแนวคิดนี้จะได้รับการปลูกฝังสู่ประชาชนอย่างเป็นระบบผ่านการศึกษามวลชน

รัฐ (รวมถึงนายทุน) ได้ใช้แนวคิดการทำตามเดดไลน์ ควบคุมให้ทุนมนุษย์ในกระบวนการผลิต ทำงานได้ตรงตามเวลาที่กำหนด มองอีกแง่หนึ่ง การทำงานให้ได้ตรงตามเวลา ยังสะท้อนถึงการคาดการณ์ได้ (predictability) รัฐสามารถใช้ลักษณะนิสัยการทำงานให้ตรงเวลา เพื่อคาดการณ์พฤติกรรมอื่นๆ ของทุนมนุษย์ (ประชาชน+แรงงาน) ได้อีกด้วย

ดังนั้น การทำงานเกินเดดไลน์หรือส่งงานเลยเดดไลน์ ลึกๆ แล้ว (ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว) จึงเป็นการท้าทายอำนาจของผู้ที่อยู่เหนือกว่าไปในตัวด้วย ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขากำลังก่อกวน ‘ระเบียบ’ การทำงานของผู้มีอำนาจ ทำให้ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าเกิดสภาวะที่ไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลย สภาวะโกลาหล (chaos) คือ สิ่งที่ผู้มีอำนาจเกลียดที่สุด ดังนั้น การทำงานเกินเดดไลน์ (แม้แค่นิดเดียว) จึงมีความหมายกับผู้มีอำนาจเอามากๆ

แต่ถ้าเป็นการ ‘ทำงานเกินเดดไลน์’ ของ ‘ผู้มีอำนาจ’ เองล่ะ เช่นสัญญาว่า ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ แล้วตอนนี้เลยเวลาที่ ‘ไม่นาน’ มานานแล้ว มันบอกอะไรกับเราบ้างหรือเปล่า

จะเห็นได้ว่า ในบริบทสังคมไทย ทั้งกลุ่มคนที่มีอำนาจและคนทั่วไป (เช่น นักเรียนที่ส่งการบ้านช้า พนักงานบริษัทที่ส่งงานช้า ฯลฯ) รู้จักการต่อรองขยับเส้นเดดไลน์อย่างช่ำชองกันทั้งสิ้น จนผมอดคิดไม่ได้ว่า ศิลปะแห่งการขยับเส้นตายอาจเป็นคุณลักษณะหนึ่งของความเป็นไทยก็ได้

ลองสังเกตดูนะครับ ประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมและประชาธิปไตยส่วนใหญ่มักจะซีเรียสกับเดดไลน์เอามากๆ

 

เดดไลน์จึงบอกอะไรๆกับเราได้ไม่น้อย!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022