fbpx

กระจกเงิน ผ้าเช็ดหน้า และขวดยาขี้ผึ้ง The Forty Rules of Love (บัญญัติสี่สิบประการแห่งรัก)

ระหว่างการอ่าน The Forty Rules of Love ผมนึกเฉไฉไปถึง The Alchemist (ฉบับภาษาไทยมี 2 สำนวนแปล ใช้ชื่อ ‘ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน’ และ ‘ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน’) ของเปาโล คูเอลญู อยู่เนืองๆ

ทั้ง 2 เรื่องมีพล็อต ฉากหลัง และเนื้อหาสาระแตกต่างกัน แต่ที่ละม้ายคล้ายกันคือกลิ่นอายแบบนิทานพื้นบ้าน และความเป็นวรรณกรรมที่ตั้งอกตั้งใจสั่งสอน (มีบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งพูดถึง The Alchemist ไว้ว่า ‘more self-help than literature’) คุณสมบัติประการหลัง ทำให้เมื่อประมาณหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมอ่าน The Forty Rules of Love ไปได้ราวๆ 100 กว่าหน้าก็ตัดสินใจเลิกรากลางคัน เพราะนอกจากภูมิแพ้ต่องานที่กระเดียดไปทางฮาว ทู แล้ว ความยำเกรงต่อเรื่องลัทธินิกายซูฟี ประวัติศาสตร์ดินแดนอนาโตเลียช่วงศตวรรษที่ 13 ซึ่งผมไม่มีความรู้ใดๆ เลย ก็ทำให้ผมรีบตีตนไปก่อนไข้ เกิดอาการถอดใจได้โดยง่าย

มีคำกล่าวที่ว่า ‘อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก’ ในกรณีนี้ใช้ไม่ได้กับผมนะครับ เพราะปกหนังสือฉบับภาษาไทยสวยดึงดูดสะดุดตาผมมาก และเชิญชวนให้นึกอยากอ่านเป็นที่สุด ในที่สุด ผมจึงหยิบจับมาอ่านอีก ครั้งนี้ติดตามจนจบลุล่วงด้วยดี ความรู้สึกว่าเป็น ‘วรรณกรรมสั่งสอน’ ยังคงมีอยู่เต็มเปี่ยม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือภายใต้บทเทศนามากมายนับไม่ถ้วน งานชิ้นนี้ก็ไม่ได้นำเสนอแก่นสารสาระสู่ผู้อ่านในลักษณะ ‘ป้อนใส่ปาก’ ดื้อๆ ทื่อๆ

ตรงกันข้าม กลับมีชั้นเชิงและกลวิธีทางศิลปะรองรับอยู่อย่างแข็งแรงแน่นหนา ยิ่งไปกว่านั้นคือคำสอนทั้งปวงที่ปรากฎ ไม่ใช่คำตอบเบ็ดเสร็จตายตัว ไม่มีคำอธิบายกระจ่างชัดหมดจดจนสิ้นสงสัย แต่เป็นคำสอนที่นำไปสู่คำถามลึกซึ้งสำหรับขบคิดใคร่ครวญต่อ

สารภาพว่าเมื่ออ่านจบแล้ว ผมเข้าใจคำสอนต่างๆ เหล่านี้เพียงน้อยนิด ทราบพอเลาๆ ว่ากล่าวถึงสิ่งใด แต่จะเข้าใจให้ถ่องแท้นั้นคงต้องใช้เวลาไตร่ตรองอีกนาน

เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ผมควรต้องรีบกล่าวว่า The Forty Rules of Love เป็นนิยายที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย (และอ่านสนุกด้วยครับ) ในแง่ของการติดตามเหตุการณ์เรื่องราวว่าอะไรเป็นอะไร ความยากนั้นไปตกอยู่ที่เนื้อหาสาระ ซึ่งข้องแวะกับเรื่องการแสวงหาความสงบสุขทางจิตวิญญาณ การตีความคำสอนทางศาสนา การพูดถึงความรักในหลากหลายมิติอย่างลึกซึ้ง การดำรงอยู่ของพระเจ้า และอีกสารพัดสารพัน

หากว่ากันตามบางช่วงตอนที่นิยายได้กล่าวไว้ ความเข้าใจต่อแง่มุมต่างๆ ข้างต้นมีอยู่หลายระดับขั้น นิยายเรื่องนี้สามารถนำพาผู้อ่านไปสู่การตระหนักรู้ได้สำเร็จ เพียงแต่จะเป็นขั้นตอนใดระดับไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สุดแท้แต่พื้นฐานต้นทุนของแต่ละคน (เปิดเผยได้ครับว่าความเข้าใจของผมอยู่ในระดับอนุบาล) ที่กล่าวว่า ‘อ่านยาก’ ผมคิดว่าเป็นความยากในแง่นี้มากกว่านะครับ

อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างและเปลี่ยนไปเมื่ออ่านจบก็คือนิยายเรื่องนี้กลายเป็นงานเขียนที่ผมชอบและประทับใจมาก ๆ

The Forty Rules of Love เป็น ‘นิยายซ้อนนิยาย’ เล่าถึง 2 เหตุการณ์ต่างช่วงเวลา ต่างสถานที่ ส่วนแรกเป็นเหตุการณ์ปี 2008 เล่าถึงชีวิตของเอลลา รูบินสไตน์ แม่และภรรยาวัยย่างสี่สิบ อาศัยอยู่ในเมืองนอร์ธแทมป์ตัน แมสซาชูเซตส์

ค่อนข้างเป็นไปตามสูตร เอลลาแต่งงานมา 20 ปี สามีเป็นทันตแพทย์มีรายได้ดี ลูกๆ เติบโตตามครรลองอันควรเป็น ฐานะความเป็นอยู่มั่นคง ชีวิตดำเนินไปด้วยกิจวัตรราบเรียบ ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวแลดูราบรื่น เป็นชีวิตที่มองจากภายนอก ใกล้เคียงกับคำว่าเพียบพร้อม สมบูรณ์แบบ อย่างน้อยที่สุด ตลอดเวลาที่ผ่านมา เอลลาก็ใช้เวลาหมดไปกับกิจวัตรต่างๆ ในชีวิตเช่นนี้ด้วยความพึงพอใจ

เรื่องเริ่มต้นด้วยหลายๆ เหตุการณ์ประเดประดังเข้ามาพร้อมๆ กัน เอลลาระแคะระคายมาเป็นเวลาพอสมควรแล้วว่าสามีนอกใจ แต่ก็สงบนิ่งวางเฉย ลูกสาวคนโตซึ่งกำลังเรียนมหาวิทยาลัยพบรักและตัดสินใจจะแต่งงานกับชายหนุ่มที่เพิ่งคบหารู้จักกันได้ไม่นาน เอลลาไม่เห็นด้วย จนนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งหนักหน่วง และกระทำ ‘ล้ำเส้น’ จนเกิดความผิดพ้องหมองใจรุนแรงระหว่างเธอกับลูกสาว และที่สำคัญคือ เอลลาเพิ่งเริ่มงานพาร์ตไทม์กับบริษัทตัวแทนวรรณกรรมในเมืองบอสตัน ทำหน้าที่อ่านและตรวจสอบนิยายเรื่อง ‘คำหมิ่นอันสุขี’ เพื่อเขียนรายงานประเมินความเห็น

ท่ามกลางหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้น จู่ๆ เอลลาพลันพบว่า เธอไม่มีความสุข

ยิ่งไปกว่านั้นคือ (หน้า 14) ความรักมาสู่เอลลาอย่างปุบปับและหุนหันพลันแล่น ราวกับมีหินก้อนหนึ่งถูกขว้างปามาจากที่ไหนสักแห่ง แล้วตกลงไปในบ่อน้ำอันเงียบสงบของชีวิตเธอ

เรื่องราวอีกส่วนหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ‘คำหมิ่นอันสุขี’ ฉากหลังคือเมืองคอนยาในดินแดนอนาโตเลียและแบกแดดช่วงศตวรรษที่ 13 ระยะสมัยแห่งความขัดแย้งทางศาสนาและศึกสงคราม ทางทิศตะวันตก นักรบครูเสดบุกเข้ายึดครองและปล้นสะดมคอนสแตนติโนเปิล ทางทิศตะวันออก กองทัพมองโกลแผ่ขยายอาณาเขตลรุกคืบมาทุกขณะ ส่วนดินแดนตรงกลาง เต็มไปด้วยความโกลาหลอลหม่าน คริสเตียนรบกับคริสเตียน คริสเตียนรบกับมุสลิม และมุสลิมรบกับมุสลิม

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ‘คำหมิ่นอันสุขี’ เล่าถึงการพบกันของ 2 บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ (ซึ่งมีตัวตนอยู่จริง) คือ ปราชญ์ชาวอิสลามนามว่า ญะลาลุดดิน รูมี และชัมส์แห่งตาบริช

รูมีเป็นครูสอนศาสนาและผู้นำทางจิตวิญญาณที่ได้รับความเคารพนับถือ อาศัยอยู่ที่เมืองคอนยาในดินแดนอนาโตเลีย ขณะที่ชัมส์แห่งตาบริช เป็นเดอร์วิชที่จาริกไปตามถิ่นที่ต่างๆ ไร้หลักแหล่งพำนักถาวร

เรื่องราวการพบกันของทั้งสอง เล่าสรุปรวบรัดไว้ครบถ้วนในบทนำของ ‘คำหมิ่นอันสุขี’  ตั้งแต่ความเป็นมาเบื้องต้น ไปจนถึงบั้นปลายว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและสรุปลงเอยเช่นไร

พูดง่ายๆ คือมีการเฉลยตอนจบไว้แต่แรก ตัวนิยาย ‘คำหมิ่นอันสุขี’ เป็นการขยายความลงสู่รายละเอียดให้แก่บทนำ เล่าถึงเส้นทางและชีวิตแรกเริ่มก่อนพบกันระหว่างรูมีกับชัมส์ การเดินทางรอนแรมยาวไกลที่นำพาทั้งคู่มาพบกัน จนเกิดเป็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งที่เปรียบได้กับการบรรจบของสองมหาสมุทร

และหัวใจสำคัญคือการถกสนทนาธรรมของทั้งสองที่นำไปสู่ความรู้แจ้งเพิ่มพูน และการที่ชัมส์แห่งตาบริซก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาลในชีวิตของรูมี จากผู้เคยเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธา กลายมาเป็นคนที่มีพฤติกรรมน่าเคลือบแคลงสงสัย ตกเป็นเป้าครหานินทาว่าร้ายของผู้คน เผชิญกับความสูญเสียต่างๆ นานา ทั้งเกียรติยศชื่อเสียง เหนือสิ่งอื่นใดคือรูมีต้องพบเจอกับความทุกข์โศกเจ็บปวดแสนสาหัส จนท้ายที่สุดก็บรรลุสัจธรรมไปอีกระดับขั้น และกลายเป็นกวีผู้ยิ่งใหญ่ดังที่โลกได้ประจักษ์ในเวลาต่อมา

เรื่องราวของเอลลา ซึ่งในบทต่อๆ มาหลังจากเปิดฉากเริ่มเรื่องผ่านพ้น เล่าถึงความสัมพันธ์ของเธอกับอาซีส แซด. ซาฮาร่า (ผู้เขียนนิยายเรื่อง ‘คำหมิ่นอันสุขี’) ดำเนินไปโดยตัดสลับกับความสัมพันธ์ระหว่างรูมีกับชัมส์อยู่ตลอด

ความน่าสนใจอันดับแรกของ The Forty Rules of Love คือการใช้โครงสร้าง ‘นิยายซ้อนนิยาย’ ทำหน้าที่เทียบเคียงเรื่องราวอดีตกับปัจจุบัน ในลักษณะเหมือนกระจกส่องสะท้อนกันและกัน ยิ่งไปกว่านั้น โดยภาพรวมของนิยายเรื่องนี้ยังเต็มไปด้วยกระจกบานเล็กๆ จำนวนมากส่องสะท้อนกันหลายชั้น ไม่ว่าจะเป็นเอลลากับอาซิส เอลลากับเจนเน็ตต์ (ลูกสาวคนโต) รูมีกับชัมส์ ฯลฯ

พูดง่ายๆ คือ ผู้อ่านสามารถจับคู่ตัวละครได้มากมาย ทั้งเพื่อค้นหาความสอดคล้อง และพิจารณาความแตกต่างตรงข้าม

แต่หลักใหญ่ใจความสำคัญคือ การเทียบเคียงระหว่างคู่ของเอลลาและอาซิส กับ คู่ของรูมีและชัมส์นะครับ ความสัมพันธ์ของ 2 คู่นี้ ส่องสะท้อนไปสู่แง่มุมเด่นชัดเกี่ยวกับความรักอันลึกซึ้ง การก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิต การลุกขึ้นเผชิญหน้ากับความท้าทายต่อการถูกโลกรอบข้างตัดสินและมองในแง่ลบ ความเจ็บปวดสูญเสีย การเติบโตทางความและความสงบสุขในจิตวิญญาณ ครอบคลุมไปถึงการค้นพบพระเจ้าในตนเอง

ตลอดรายทางที่เทียบเคียงให้เห็นแง่มุมต่างๆ ข้างต้น งานเขียนชิ้นนี้ก็ถ่ายทอดหลักธรรมคำสอนอยู่เป็นระยะๆ ผ่าน ‘บัญญัติสี่สิบประการแห่งรัก’

ก่อนอ่าน ผมเข้าใจว่า ‘บัญญัติสี่สิบประการแห่งรัก’ จะเป็นไปในท่วงทำนองฮาว ทู ว่าด้วยข้อพึงปฏิบัติหรือกฎเกณฑ์สำหรับความรักและชีวิตคู่ แต่สิ่งที่ปรากฎนั้นไม่ใช่และไม่ใกล้เคียงกับที่ผมนึกคะเนไว้เลย

เป็นเรื่องยากสำหรับผม ที่จะนิยามสรุปว่า ‘บัญญัติสี่สิบประการแห่งรัก’ นั้นพูดถึงสิ่งใด แต่กล่าวแบบกว้างๆ ไม่รัดกุม เป็นการพูดถึงความรักและพระเจ้าในขอบเขตที่กว้างขวางครอบคลุมไปได้กว้างไกล

ยกตัวอย่างจากบัญญัติที่ผมชอบนะครับ (หน้า 128) “หมอตำแยรู้ว่าเมื่อไร้ความเจ็บปวด ทารกน้อยก็จะไม่มีทางได้ลืมตาดูโลกและผู้เป็นมารดาไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ ฉันใดก็ฉันนั้น การจะให้ตัวตนใหม่ได้ถือกำเนิด ความเหนื่อยยากเป็นสิ่งจำเป็น เหมือนโคลนเลนที่จำต้องผ่านความร้อนระอุเพื่อก่อรูปแข็งแรง ความรักจะสมบูรณ์แบบได้ก็ต่อเมื่อผ่านความเจ็บปวดมาแล้วเท่านั้น”

‘บัญญัติสี่สิบประการแห่งรัก’ ที่เสนอไว้ตลอดทั่วนิยายเรื่องนี้ รวมถึงฉากสนทนาหลายๆ แห่งที่แฝงปรัชญาลึกซึ้งค่อนข้างมีเนื้อความยากแก่การทำความเข้าใจ แต่นิยายก็ช่วยผู้อ่านได้ระดับหนึ่ง ด้วยเรื่องเล่าสั้นๆ เชิงเปรียบเปรยเกี่ยวกับคติธรรมนั้นๆ เป็นเครื่องมือให้ผู้อ่านนำไปครุ่นคิดทำความเข้าใจต่อ

กล่าวได้ว่า เนื้อหาสาระของนิยายนำเสนอด้วยความทะเยอทะยานมาก และเป็นส่วนที่น่าประทับใจสูงสุด

พูดแบบสารภาพบาปและเอาตัวรอดด้วยโวหารได้นะครับว่า แม้จะห่างไกลจากความเข้าใจโดยถ่องแท้ถึงเนื้อหาสาระเบื้องลึก แต่ก็พอระแคะระคายได้หลังจากอ่านจบว่า เป้าหมายปลายทางของนิยายเรื่องนี้มุ่งชี้ไปยังแง่มุมใด

และโดยความเข้าใจอันริบหรี่เลือนลางนี้ นำมาซึ่งความรู้สึกอิ่มเอมใจเป็นอย่างยิ่ง

มีอีก 2-3 ประเด็น ซึ่งผมลืมกล่าวถึงในช่วงต้นๆ ของบทความ (และน่าจะยังมีแง่มุมที่ผมตกหล่นอีกเยอะทีเดียว) นั่นคือ การทำสงครามกับอัตตาตนเอง และคุณค่าความหมายของความว่างเปล่า ทั้ง 2 แง่มุมนี้มีกล่าวไว้ละเอียดในเรื่อง ขออนุญาตผ่านข้ามไม่พูดถึงนะครับ

สำหรับประเด็นที่ผมอยากกล่าวถึงก็คือ ช่วงเวลาที่เรื่องราวเกิดขึ้น (ทั้งในปี 2008 และศตวรรษที่ 13) เป็นยุคสมัยที่โลกเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ทั้งจากความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม และคำสอนทางศาสนา

ในแง่นี้ The Forty Rules of Love นำเสนอแจกแจงความขัดแย้งนานัปการออกมาได้อย่างถี่ถ้วน และที่ยอดเยี่ยมมากก็คือ เมื่อตัวละครส่วนหนึ่ง อ้างข้อความในคัมภีร์หรือหลักคำสอนแบบเคร่งครัดตามตัวอักษร ซึ่งชวนให้รู้สึกตะขิดตะขวงใจหรือเห็นแย้งแตกต่าง ตัวละครชัมส์แห่งตาบริชจะแสดงทัศนะตีความในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งเปิดกว้าง เป็นมิตร อ่อนโยน และชวนให้เลื่อมใสคล้อยตาม

ที่สำคัญคือทั้งหมดนี้นำไปสู่ทัศนะว่าข้อขัดแย้งไม่ลงรอยมากมายระหว่างคำสอนของศาสนาต่างๆ นั้น แท้ที่จริงแล้วสอดคล้องตรงกัน และมุ่งไปในทางสร้างสรรค์ดีงาม ผู้อ่านที่นับถือศาสนาหนึ่งสามารถติดตามอ่านและชื่นชมเข้าถึงแง่งามของศาสนาอื่นๆ ได้ โดยไม่ขัดต่อความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่

มีความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ อีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาที่อ่านนิยายเรื่องนี้ นั่นคือการที่ผู้เขียนเล่นกับจำนวนตัวเลข 40 อย่างมากมายและแพรวพราวตลอดทั่วทั้งเรื่อง

ตอนหนึ่งในนิยาย (หน้า 165) พูดถึงความสำคัญและดีงามของตัวเลขจำนวน 40 นี้ไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนและน่าทึ่ง สรุปย่นย่อก็คือเลข 40 เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์โลก ตำนานต่างๆ รวมถึงช่วงตอนเปี่ยมความหมายในชีวิตมนุษย์ รวมความแล้วเป็นตัวเลขที่ดี เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

เมื่ออ่านแล้ว ผมอยากทำ 2 สิ่ง อย่างแรกคือกลับไปอ่านนิยายเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อค้นหาว่ามีตรงไหนแห่งใดบ้างที่เกี่ยวเนื่องกับตัวเลข 40

อันนี้ยังไม่ได้ทำนะครับ เมื่อคำนึงถึงความขยันแบบตัวเป็นขนและสันหลังยาวของผมเอง น่าจะเป็นไปได้ยาก

อย่างต่อมานั้นง่ายกว่า นั่นคือเปิดหนังสือชื่อ ‘คัมภีร์แห่งตัวเลขของโรเจอร์สัน’ (Rogerson’s Book of Numbers) เพื่อค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลข 40 ซึ่งพบว่ามีอีกเยอะที่นิยายไม่ได้กล่าวไว้ เช่น โมเสสใช้เวลา 40 วันบนภูเขากับพระผู้เป็นเจ้าก่อนกลับลงมาพร้อมบัญญัติ 10 ประการ ฯลฯ

ที่น่าสนใจคือหนังสือคัมภีร์ตัวเลขตั้งคำถามและพยายามอธิบายว่า อะไรอยู่เบื้องหลังการเคารพยกย่องตัวเลขเหล่านี้

คำตอบและคำอธิบายที่แจกแจงออกมานั้นยังไม่หนักแน่นกระจ่างชัดหรอกนะครับ แต่มีข้อหนึ่งที่ผมคิดว่าเข้าเค้าเกี่ยวข้องกับนิยายเรื่อง The Forty Rules of Love นั่นคือ ตัวเลข 40 อยู่ในคำสอนอันลี้ลับของลัทธิซูฟี ในหนังสือ ‘Rivival of Religious Sciences’ ของอัล-ฆอซาลี (ซึ่งนิยายเรื่องนี้ได้เอ่ยอ้างพาดพิงถึงด้วยเช่นกัน) มีจำนวน 40 บท

ผลพวงอีกประการที่เกิดขึ้นกับผม หลังจากอ่านจบ ก็คือไปเสาะหาบทกวีของรูมีมาอ่าน (มีฉบับแปลภาษาไทย ใช้ชื่อว่า ‘รูมี กวีลำนำรัก’) ตรงนี้ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า The Forty Rules of Love ยังมีความโดดเด่นมากๆ อีกประการหนึ่ง

คือเป็นนิยายรักที่มีลีลาเป็นบทกวีอันลุ่มลึกและสวยงาม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save