fbpx

สองเราและภูเขาไฟ Fire of Love

สารคดีเรื่อง Fire of Love เคยเข้าฉายในบ้านเราด้วยจำนวนโรงจำกัด เมื่อประมาณต้นปี 2022 ที่ผ่านมา ผมได้ดูตั้งแต่ตอนนั้น และชอบมากจนเลือกให้เป็น 1 ใน 10 หนังยอดเยี่ยมแห่งปี

แต่ด้วยจังหวะไม่ประจวบเหมาะ (น่าจะเป็นเพราะความล่าช้าของผมเอง ซึ่งดูหนังไม่ค่อยทันต่อสถานการณ์ และยิ่งเชื่องช้ากว่านั้นในการนำมาเขียนถึง) หนังเรื่อง Fire of Love จึงเข้าฉายแล้วลาโรงไป โดยที่ผมไม่ทันมีโอกาสได้เล่าสู่กันฟัง

จนเมื่อเร็วๆ นี้ (สำหรับมนุษย์พันธุ์ช้าอย่างผม หมายถึงราวๆ 3-4 เดือน) สารคดีเรื่องนี้มาปรากฏใน Disney+ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ทบทวนซ้ำอีกครั้ง เพื่อเขียนเชิญชวนแนะนำให้ไปดูกัน

สรรพคุณเบื้องต้นของ Fire of Love คืองานชิ้นนี้ได้รับคำวิจารณ์ดีมาก ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากสถาบันต่างๆ มากมาย

ที่ได้ไปเรียบร้อยแล้วก็คือ สารคดียอดเยี่ยมจากเทศกาลหนัง Sundance, Critics’ Choice Documentary Awards (ชนะรางวัลในสาขาฟุตเทจยอดเยี่ยม), Chicago Film Critics Association (สารคดียอดเยี่ยม), Directors Guild of America Awards หรือ DGA (ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมประเภทสารคดี)

ล่าสุดคือได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ซึ่งขณะที่ผมเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ยังไม่ประกาศผล

Fire of Love เป็นผลงานกำกับของซารา ดอซา เล่าเรื่องเกี่ยวกับคู่สามีภรรยานักภูเขาไฟวิทยาชาวฝรั่งเศส คาเทียและมอริซ คราฟต์

พูดโดยรวมกว้างๆ ได้ว่าเป็นสารคดีประเภทสำรวจชีวิตและงานของบุคคล (ที่น่าสนใจ) ซึ่งมีให้ดูกันเยอะแยะมากมาย

อย่างไรก็ตาม งานชิ้นนี้ก็มีความพิเศษเฉพาะตัวสารพัดประการที่ทำให้โดดเด่นและแตกต่างจากสารคดีส่วนใหญ่ในหมวดหมู่เดียวกัน

ประการแรกคือตัวบุคคลที่หยิบยกมาเล่าขาน มีอาชีพการงาน วิถีการใช้ชีวิต ‘ไม่ปกติ’ เมื่อเทียบกับมาตรฐานทั่วไป คาเทียกับมอริซใช้เวลาส่วนใหญ่รอนแรมตระเวนไปยังภูเขาไฟทั่วโลกที่กำลังปะทุ เพื่อศึกษา สังเกตการณ์ บันทึกทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เก็บตัวอย่างหินและร่องรอยหลักฐานต่างๆ มาวิเคราะห์ เพื่อเขียนหนังสือ ควบคู่ไปกับการทำหนังสารคดี

ดูเผินๆ ก็ยังปกติ ไม่มีอะไรพิลึกพิลั่นพิสดาร แต่ภาพจากหนังที่ทั้งสองบันทึกไว้ ก็บ่งชัดถึงความสุ่มเสี่ยงเข้าขั้นบ้าระห่ำ จากการมุ่งเข้าหาภูเขาไฟที่ลาวากำลังเดือดพล่านในระยะ ‘ใกล้มาก’ (พูดอีกแบบคือเข้าไปประชิดติดมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้) กระทั่งโน้มเอียงเป็นการผจญภัยท้ามฤตยูมากกว่าการทำงานในฐานะนักวิทยาศาสตร์

ด้วยการใช้ชีวิตเช่นนี้ คู่สามีภรรยาดังกล่าวจึงเป็นบุคคลพิเศษ ในลักษณะเดียวกับนักปีนเขาในสารคดีเรื่อง Free Solo ซึ่งหลงใหลต่อการใช้ชีวิตในแบบที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า ‘อันตราย’ และ ‘น่ากลัว’

เนื้อหาส่วนหนึ่งของ Fire of Love มุ่งหาคำตอบและคำอธิบายว่า เพราะเหตุใดพวกเขาพึงพอใจกับการใช้ชีวิตที่เฉียดใกล้กับความตายอยู่ทุกชั่วขณะ?

คำตอบเท่าที่ปรากฏผ่านปากคำของคาเทียกับมอริซ ซึ่งตอบแบบทีเล่นทีจริง จนผู้ชมไม่แน่ใจว่าจริงเท็จประการใดก็คือ พวกเขาเติบโตมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งผ่านพ้นไปได้ไม่นาน สภาพบ้านเมืองบอบช้ำเสียหายยังคงมีร่องรอยให้เห็นเต็มไปหมด รวมทั้งความยากแค้นวุ่นวายทางสังคมสารพัดสารพัน บวกรวมกับความหลงใหลรักชอบที่มีต่อภูเขาไฟมาตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งคู่จึงเลือกหันหลังให้โลก หลบหนีความโหดร้ายต่างๆ นานาเข้าสู่อีกโลกหนึ่ง (ซึ่งทั้งคู่รู้สึกว่าสงบสุขและเป็นมิตรมากกว่า) นั่นคือการมุ่งไปสู่ภูเขาไฟ

พูดอีกแบบคือเป็นเรื่องของคนสองคน ซึ่งไม่สามารถใช้ชีวิตปกติในสังคมเมือง ต้องปลีกวิเวกไปหาความสงบเย็นในจิตใจ จากความร้อนระอุประมาณ 1200 องศาเซลเซียสจากลาวาภูเขาไฟ

ปัจจัยต่อมา ซึ่งทำให้สารคดีเรื่องนี้ไปไกลเกินกว่าการบอกเล่าเกี่ยวกับชีวิตและงานของใครบางคน ก็คือวิธีที่ใช้ในการเล่าเรื่อง ตรงนี้เป็นเครดิตของซารา ดอซา ผู้กำกับอย่างจะแจ้งเด่นชัด

เทียบเคียงกับสารคดีส่วนใหญ่ ซึ่งดำเนินเรื่องด้วยการใช้เสียงบรรยาย ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์จำนวนมาก Fire of Love ยังคงนำเสนอด้วยรูปแบบวิธีเดียวกัน แต่ที่ผิดแผกชัดเจนคือมันเป็นสารคดีที่พูดน้อย ไม่พยายามระดมป้อนข้อมูลต่างๆ สู่ผู้ชม ไม่มีการหยิบยื่นความรู้เกี่ยวกับภูเขาไฟอย่างละเอียดถี่ถ้วนและเป็นวิชาการ

พูดง่ายๆ คือหลังจากดูจบแล้ว ความรู้เกี่ยวกับภูเขาไฟของผมไม่ได้งอกงามเพิ่มเติมขึ้นมาจากความรู้เท่าหางอึ่งที่เคยมีอยู่ (ควรต้องบอกด้วยครับ ว่าหางอึ่งของผมเป็นลูกอึ่งตัวสุดท้องที่ขาดสารอาหารอีกต่างหาก)

นอกจากจะพูดน้อย หลายๆ ช่วงตอนยังปราศจากบทสนทนาและเสียงบรรยายเล่าเรื่อง ปล่อยให้ภาพทำหน้าที่เล่าเรื่องโดยลำพัง (ตรงนี้โดดเด่นมากขึ้นด้วยฝีมือการตัดต่อ การเลือกใช้ดนตรีและเพลงประกอบ)

ที่แปลกแตกต่างอีกอย่างคือผู้บรรยาย สารคดีเรื่องนี้ให้เสียงเล่าเรื่องโดยมิแรนดา จูลาย ผู้หญิงเก่งระดับสารพัดช่าง เป็นทั้งผู้กำกับหนัง, คนเขียนบท,นักร้อง, นักแสดง และนักเขียน

เสียงบรรยายในสารคดีมีความเฉพาะตัวมากๆ ไม่ใช่เพียงแค่การเลือก ‘ศิลปิน’ อย่างมิแรนดา จูลาย มาทำหน้าที่นี้เท่านั้น แต่น้ำเสียงของเธอ ซึ่งบรรยายใจความต่างๆ ยัง ‘ออกแบบ’ (ตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่าเป็นความคิดของผู้กำกับหรือคนให้เสียง) จนฟังดูประหลาด กล่าวคือเป็นเสียงบรรยายที่เนิบช้า ทุ้มต่ำแหบเครือ ฟังดูหม่นๆ ระคนแห้งแล้งไร้อารมณ์ และเป็นโมโนโทนสม่ำเสมอระนาบเดียวไปตลอด (มีผู้ชมจำนวนไม่น้อยแสดงความเห็นใน imdb โจมตีเสียงบรรยายของมิแรนดา จูลาย ว่าเป็นตัวการทำลายสารคดีเรื่องนี้จนพังไม่เป็นท่า แต่โดยส่วนตัวของผม ไม่รู้สึกติดขัดอันใด และเห็นว่าเสียงเล่าเรื่องที่แปลกประหลาดสอดคล้องไปด้วยกันได้ดีกับชีวิตที่เกินเลยความธรรมดาของคาเทียและมอริซ คราฟต์)

เท่านั้นยังไม่พอ ถ้อยคำที่เสียงบรรยายบอกเล่า นอกจากจะเล่าความตามปกติแล้ว บ่อยครั้งยังดูเหมือนบทรำพึงรำพัน กระเดียดไปทางบทกวีอีกต่างหาก ตัวอย่างเช่น “ในโลกอันหนาวเย็น นาฟิกาทุกเรือนเริ่มหยุดนิ่ง ตะวันผลุบๆ โผล่ๆ ระหว่างพายุหิมะ ซึ่งลบทิศทางทั้งหมด ในโลกนี้มีไฟอยู่ และในที่นี้ คู่รักสองคนได้พบบ้าน” (ข้อความนี้เป็นสำนวนแปลที่ผมยกมาจากคำบรรยายไทยในหนัง)

ที่พิเศษอีกอย่างคือ ในสารคดีเราได้ยินได้ฟังเรื่องราวต่างๆ ผ่านปากคำของคาเทียและมอริซ ผ่านฟุตเทจที่ทั้งสองไปปรากฏตัวให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ และการเดินสายขึ้นเวทีบรรยาย แต่ก็มีเนื้อความอีกส่วนหนึ่งเป็นบันทึกงานเขียนของเขาและเธอ

ในช่วงเริ่มเรื่อง พ้นจากบทเกริ่นนำไปแล้ว หนังเปิดฉากด้วยภาพเคลื่อนไหว แล้วหยุดเป็นภาพนิ่ง เสียงบรรยายเล่าว่า “นี่คือคาเทีย นี่คือมอริซ วันที่ 2 มิถุนายน 1991 พรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายของพวกเขา”

Fire of Love เปิดเผยความลับสำคัญให้ผู้ชมทราบตั้งแต่ต้น คาเทียและมอริซ คราฟต์ เสียชีวิตในวันที่ 3 มิถุนายน 1991 จากเหตุการณ์ภูเขาไฟอันเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ระเบิดอย่างรุนแรง ที่เศร้าสะเทือนใจยิ่งขึ้นไปอีกคือ หลังเหตุการณ์สงบลง พบนาฬิกาข้อมือของมอริซ เข็มหยุดเดินชี้ไปที่ 16.18 น.

การเผยความลับนี้ส่งผลให้ผู้ชมติดตามดูเรื่องราวและภาพเหตุการณ์ทั้งหมด โดยรู้ล่วงหน้าว่าท้ายที่สุดจะเกิดอะไรขึ้นกับคาเทียและมอริซ ส่งผลให้เกิดเป็นความหม่นเศร้าแปลกๆ อยู่ตลอดเวลา

ผมเล่าค้างไว้ตรง มีบันทึกที่คาเทียกับมอริซเขียนเก็บไว้ หนังเลือกใช้ข้อความจำนวนมากมาใช้เล่าเรื่องได้อย่างชาญฉลาด แทนที่จะเสนอเป็นภาพข้อความลายมือ หรือใช้เสียงบรรยายของมิแรนดา จูลาย อ่านข้อความเหล่านี้ หนังเลือกอีกวิธีหนึ่งคือ คัดเลือกนักแสดง อัลการ์ บัลเบียร์ และกิลโญม เทรมเบล์ย มาอ่านข้อความดังกล่าวโดยไม่ปรากฏตัว (ตรงนี้มีการบอกกล่าวให้ผู้ชมรับทราบตั้งแต่แรก)

น้ำเสียงและวิธีพูดจา (และการแสดงโดยไม่ปรากฏตัว) ของนักแสดงที่เลือกมา ใกล้เคียงกับตัวจริงของคาเทียกับมอริซมาก ดังนั้นหลังจากติดตามไปสักพัก ช่วงที่อ่านข้อความจากบันทึก ผู้ชมก็ติดพันคล้อยตามการเล่าเรื่องและเหตุการณ์ จนลืมการจำลองเหตุการณ์นี้ไปสนิท รู้สึกราวกับคาเทียกับมอริซมาให้ปากคำบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ด้วยตนเอง

ตรงนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าคนทำสารคดีเรื่องนี้เก่งมากๆ

ผมเล่ามายืดยาวหนักไปทางสาธยายความแปลกและต่างจากสารคดีส่วนใหญ่ จนอาจทำให้ผู้อ่านสงสัยว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร และมีคุณงามความดีอย่างไร?

ปุจฉาแรก วิสัชนาได้ว่า สารคดีมีพล็อตหรือเส้นเรื่องบางๆ ไม่ได้ลำดับความอย่างต่อเนื่อง แต่นำเอาเศษเสี้ยวเหตุการณ์ปลีกย่อยจำนวนมากมาปะติดปะต่อกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อติดตามไปจนจบครบถ้วน พอจะประมวลได้ว่า หนังเริ่มด้วยการแนะนำให้ทราบว่าคาเทียกับมอริซเป็นใครมาจากไหน? ทำงานอะไร? และน่าสนใจอย่างไร? แล้วย้อนไปยังการพบเจอกันของทั้งคู่ ก่อนจะตกลงปลงใจแต่งงานใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน (เหตุการณ์ตรงนี้เหมือนหนังรักที่โรแมนติกเอาการทีเดียว) อุปนิสัยและบุคลิกที่แตกต่างตรงข้ามกัน การเข้าคู่กันอย่างเหมาะเจาะ กระทั่งไม่อาจขาดกันและกันตลอดหลายสิบปีต่อมา และมาถึงส่วนสำคัญคือ การใช้ชีวิตส่วนใหญ่ผจญภัยกับภูเขาไฟทั่วโลก จุดเปลี่ยนจากการระเบิดอย่างรุนแรงของภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 ซึ่งก่อความเสียหายเหลือคณานับ กลายเป็นแรงผลักดันให้สองสามีภรรยาใช้ชีวิตถัดจากนั้น ติดตามศึกษาภูเขาไฟที่ปะทุเป็นสีเทา (ซึ่งเป็นภูเขาไฟประเภทอันตราย) เพื่อค้นหาวิธียับยั้งป้องกันภัย กระทั่งนำพาทั้งสองไปสู่จุดจบน่าเศร้าสะเทือนใจ

ท่ามกลางเส้นเรื่องบางๆ ข้างต้น ด้านหนึ่งของสารคดีเรื่องนี้ นำพาผู้ชมไปพบกับการสำรวจอีกโลกหนึ่งซึ่งไกลตัวเราๆ ท่านๆ ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ และชวนติดตามมาก (จริงๆ แล้วมันเป็นสารคดีที่ดูสนุกมากๆ แต่ครั้นนึกถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับคาเทียและมอริซแล้ว ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากใจที่จะใช้คำว่าสนุก)

อีกด้านหนึ่งซึ่งยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน และน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สารคดีเรื่องนี้จับอกจับใจผู้ชมเป็นอันมากก็คือ มันเป็นหนังรัก ว่าด้วยคู่แท้ที่ต่างกันสุดขั้ว ต่างฝ่ายต่างโดดเดี่ยวแปลกแยกจากคนส่วนใหญ่ มาพบ รู้จัก และรักกัน เติมเต็มอีกฝ่ายจนชีวิตครบถ้วน เคียงข้างกันตลอดเวลา ตราบจนลมหายใจสุดท้าย

แง่มุมความรักในเรื่อง เล่าแบบไม่ได้ขับเน้นหรือจงใจเร้าอารมณ์ แต่สะท้อนผ่านคลิปและฟุตเทจต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นภาพการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป (นอกจากจะบันทึกภาพภูเขาไฟปะทุแล้ว หนังที่ทั้งคู่ถ่ายไว้ รวมถึงกล้องจากเพื่อนร่วมงานในบางวาระ ยังถ่ายทอดกิจกรรมยามว่าง การหยอกล้อ และชีวิตนอกเวลางานเอาไว้มากมาย)

พูดอีกแบบคือในภาพเหตุการณ์เบ็ดเตล็ดปลีกย่อยเหล่านี้ ผู้ชมได้เห็นและสัมผัสถึงความรักที่ซาบซึ้งตรึงใจระหว่างคาเทียกับมอริซ ปริมาณมากมายนับไม่ถ้วน ส่งผลให้ Fire of Love กลายเป็นสารคดีประเภทชีวิตและงานของบุคคล ที่เปี่ยมไปด้วยเลือดเนื้อและมีชีวิตจิตใจอย่างล้นเหลือ

ความโดดเด่นต่อมา และเป็นหัวใจสำคัญสูงสุดในสารคดีเรื่องนี้คือ คาเทียกับมอริซจากไป โดยทิ้งมรดกล้ำค่าจำนวนมากไว้ให้กับคนรุ่นหลัง สิ่งเหล่านั้นประกอบไปด้วยฟิล์มภาพยนตร์มากมายที่ถ่ายเก็บไว้ งานเขียนในเชิงวิชาการ หนังสารคดีมากมายหลายเรื่อง ภาพถ่ายจำนวนหลายพัน รวมทั้งข้อสังเกตและคำถามนับไม่ถ้วน เกี่ยวกับความพยายามคลี่คลายปริศนาลึกลับเกี่ยวกับภูเขาไฟ (ซึ่งจนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ)

ผลพวงจากการอุทิศชีวิตเพื่องานของคาเทียกับมอริซ ทำให้มีคนเปรียบเปรยว่า Fire of Love เป็นสารคดีในฝัน ซึ่งคนทำหนัง (สารคดี) ทุกคนอยากพบเจอและได้รับโอกาสงามๆ เช่นนี้

กล่าวคือ มันเป็นสารคดีที่มั่งคั่งไปด้วยวัตถุดิบดีเยี่ยม มีภาพฟุตเทจสุดวิเศษที่หาดูจากแหล่งไหนอื่นใดไม่ได้เลย เป็นจำนวนปริมาณมหาศาลเหลือเฟือ

ความยอดเยี่ยมของ Fire of Love อยู่ตรงนี้เองครับ อยู่ที่การเลือกสรรฟุตเทจต่างๆ  (ซึ่งผ่านการซ่อมแซมบูรณะฟิล์มจนมีสภาพคมชัด) มาร้อยเรียงกันได้อย่างเป็นระบบระเบียบภายในเวลาอันจำกัด (หนังมีความยาวเพียงแค่ 98 นาที แต่ก็เล่าความแง่มุมประเด็นต่างๆ ได้ ‘เกือบ’ ครบถ้วนสมบูรณ์ หัวข้อที่อาจขาดหายไปเป็นด้วยข้อจำกัดที่ว่า สารคดีสร้างขึ้นหลังจากที่คาเทียกับมอริซเสียชีวิตไปเนิ่นนานแล้ว) จนกลายเป็นสารคดีที่คับคั่งไปด้วย ‘ภาพหาดูยาก’ ที่น่าตื่นตา ทั้งงดงามชวนตกตะลึง และน่าสะพรึงกลัวไปพร้อมๆ กัน ภาพต่างๆ ที่สะท้อนแง่มุมตรงข้ามเหล่านี้ ยิ่งขับเน้นให้ประเด็นว่าด้วย ความหลงใหลต่อภูเขาไฟเข้าขั้นหมกมุ่น ความเสี่ยงภัย ความกล้าและความกลัว รวมทั้งการใช้ชีวิตแบบพร้อมที่จะเผชิญกับความตายได้ทุกเมื่อของคาเทียและมอริซ ทวีความเด่นชัดขึ้น

แม้ว่าจะจบด้วยอารมณ์สลดเศร้า แต่ Fire of Love ก็ทิ้งข้อมูลเล็กๆ ให้พอปลอบประโลมใจได้บ้างว่า จากความพยายามและทุ่มเทของคาเทียกับมอริซ หนังบันทึกภาพการระเบิดปะทุของภูเขาไฟประเภทสีเทา ช่วยให้ผู้ชมตระหนักต่อความรุนแรงน่ากลัวและอันตรายในระดับหายนะภัย ส่งผลให้การแจ้งเตือนและอพยพโยกย้ายผู้คนในอีกหลายๆ กรณีหลังจากนั้น เป็นไปด้วยดีและมีประสิทธิภากมากขึ้นกว่าในอดีตกาล

พูดง่ายๆ คืองานค้นคว้าและการลงภาคสนามของคาเทียกับมอริซ ในด้านหนึ่งอาจยังไม่คืบหน้าเข้าใกล้คำตอบคลี่คลายปริศนาของภูเขาไฟ แต่ในอีกด้าน ความเพียรพยามของพวกเขาก็ไม่ได้สูญเปล่า และมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ไปแล้วจำนวนหลายหมื่นคน

ตรงนี้ย้อนโยงไปยังคำพูดหนึ่งของมอริซที่กล่าวไว้ในระหว่างเรื่อง เขาพูดถึงการใช้ชีวิตหันหลังให้กับสังคม หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน บางทีเหตุผลที่แท้จริงอาจเป็นได้ว่า เมื่อถอยห่างอยู่ไกลออกมา อาจเป็นวิธีหนทางหนึ่งในการเรียนรู้ที่จะรักมนุษย์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save