fbpx

อักษรไทในเวียดนามกับกำเนิดอักษรไทยสยาม?

ผมศึกษาอักษรไทในเวียดนามตั้งแต่ ค.ศ. 2002 ครั้งเมื่อทำปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา ทำให้พบกับความหลากหลายมากเสียจนผมหมดปัญญาที่จะเรียนรู้ได้ทั้งหมด ผมได้แต่ตั้งสมมติฐานไว้อย่างหนึ่ง ถึงความเชื่อมโยงระหว่างอักษร วรรณคดี และการเมือง ถึงกระนั้น สมมติฐานนั้นก็วางอยู่บนความเข้าใจถึงถิ่นฐานของอักษรราว 2 ชุด ที่ผมพอจะสรุปถึงความสัมพันธ์ของอักษร-วรรณคดี-การเมืองได้ ผมเก็บความสงสัยต่อข้อเสนอของตนเองมาเรื่อยๆ และพยายามหาคำตอบเพิ่มเติม จนใน 4-5 ปีนี้เอง ที่ผมมีโอกาสได้กลับไปเก็บข้อมูลอย่างจริงจังอีกครั้งในพื้นที่ที่ผมไม่ค่อยคุ้นเคยนักมาก่อน จนทำให้ได้ข้อสรุปที่มั่นใจมากขึ้นว่า ข้อเสนอเรื่องอักษร-วรรณคดี-การเมืองของกลุ่มชนชาวไทในเวียดนามของผมเมื่อ 20 ปีก่อนไม่น่าจะผิดไปจากที่คิดไว้นัก

นอกจากนั้น ผมเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อความรู้เรื่องต้นกำเนิดและพัฒนาการของอักษรไทยในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จากที่เดิมเคยรับรู้ และผมเองก็เคยเชื่อตามนั้นว่า อักษรไทยในประเทศไทยนั้นพัฒนาจากอักษรขอมหรือเขมร (ค.ศ. 7-10) ที่พัฒนาจากอักษรปัลลวะจากอินเดียใต้ (ค.ศ. 6-10) แล้วกลายเป็นอักษรสุโขทัย (ค.ศ. 13)[1] ซึ่งส่งอิทธิพลให้ล้านนา ล้านช้าง รวมทั้งรัฐไทขนาดเล็กในเวียดนาม ไปพัฒนาต่อเป็นอักษรลาว (หรือที่ในไทยมักเรียกว่าอักษรไทน้อยอันมีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดใน ค.ศ. 14)[2] อักษรฝักขาม (ใช้ในภาคเหนือของไทย ค.ศ. 15-19)[3] และอักษรไทในเวียดนาม ที่ไม่มีหลักฐานเก่าแก่เป็นจารึกยืนยันได้ชัดเจน ส่วนในที่ราบลุ่มเจ้าพระยาก็พัฒนาอักษรสุโขทัยเป็นอักษรไทยสยามดังที่เราใช้เป็นอักษรทางการในประเทศไทยปัจจุบัน

แต่ด้วยความหลากหลาย เฉพาะถิ่น และดาษดื่นของเอกสารภาษาไทในเวียดนาม (บางคนเรียกว่าอักษรไทตังเกี๋ย) ต้นฉบับลายมือที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ผมจึงอยากเสนอให้พิจารณาว่า อักษรสุโขทัยอาจจะมิได้เป็นต้นกำเนิดของอักษรที่ใช้เขียนภาษาตระกูลไทในถิ่นอื่นๆ นอกเหนือสุโขทัยและลุ่มน้ำเจ้าพระยา หากแต่คนที่ใช้ภาษาตระกูลไทในถิ่นต่างๆ ก็ประยุกต์อักษรอินเดียใต้ หรือใหม่กว่านั้นคืออักษรจามปา อักษรขอม และมอญ เพื่อใช้เขียนภาษาพูดของพวกเขามายาวนาน อาจจะในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันกับรัฐของคนพูดภาษาไทในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่าง อักษรเหล่านี้จึงมีความหลากหลาย เฉพาะถิ่น และมีอย่างดาษดื่น โดยเฉพาะในเวียดนามเหนือ อีกทั้งความหลากหลายนั้นยังเป็นระบบและสอดคล้องกับการก่อตัวของรัฐของกลุ่มคนพูดภาษาไทในหุบเขาอีกด้วย

เดิมทีนั้น (ตั้งแต่ ค.ศ. 2002) ผมทำวิจัยในถิ่นภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ที่ภาษาเวียดนามมักเรียกว่าเต็ยบั๊ก (Tây Bắc) หากว่ากันตามลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ก็เรียกว่าอยู่ในลุ่มน้ำดำหรือน้ำแต๊ (ถ่ายเป็นไทว่า น้ำแท ภาษาเวียดเรียกตามไทว่า Sông Đà) แต่หากจะเรียกดินแดนนั้นว่าลุ่มน้ำก็ดูจะไม่ตรงนัก เพราะน้ำแต๊ไหลผ่านหุบเขาและที่ราบลุ่มขนาดไม่กว้างนักที่อยู่ระหว่างภูเขาสูง แขนงของน้ำแต๊มีหลายลำน้ำเล็กๆ แต่ละลำน้ำเล็กน้อยเหล่านั้นไหลผ่านที่ราบระหว่างเขาสูงชัน ก่อเกิดชุมชนทางผลิตและสังคมที่คนไทเรียกว่าเมืองต่างๆ เช่น น้ำลา ก่อเกิดเมืองลา (เซอนลา) น้ำไลก่อเกิดเมืองไล (ลายเจิว) น้ำหม้วยก่อเกิดเมืองหม้วย (ถ่วนเจิว)แต่ก็มีหลายน้ำที่ไม่ได้เกาะเกี่ยวกับน้ำแต๊โดยตรง เช่น น้ำมาก่อเกิดเมืองน้ำมา 

เมืองหล่านี้สัมพันธ์กันใกล้ชิดผ่านการแต่งงานของเจ้าเมือง และการถ่ายทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น รวมราวๆ 12 เมืองบ้าง หรือ 16 เมืองบ้าง (แล้วแต่ยุคสมัยที่จะนับว่าเมืองใดเป็นเมืองขึ้นต่อเมืองใด) จึงถูกเรียกกันว่า สิบหกเจา (หรือจุ) ไทบ้าง สิบสองเจา (จุ) ไทบ้าง โดยที่เจาหรือจุ (ภาษาเวียดใช้คำว่า châu) คือหน่วยการปกครองที่ประกอบไปด้วยเมืองกลางเมือง 1 เมือง และเมืองนอกเมือง 4-5 เมือง แต่ละเมืองมี 3-4 โส่ง กลุ่มเมืองเหล่านี้เองที่คนไทยสยามรู้จักกันในนาม “สิบสองจุไท”[4]

ปัจจุบันเมืองเหล่านี้มีขนาดเป็นอำเภอหนึ่ง ส่วนเขตเทศบาลก็นับเป็นเทศบาลหนึ่ง ถูกจัดเป็นจังหวัดหลักๆ ได้แก่จังหวัดเดียนเบียนฟู (มีคนไทราว 2 แสนกว่าคน) ลายเจิว (มีคนไทราว 1 แสน 5 หมื่นคน) เซอนลา (มีคนไทราว 6.6 แสนคน)[5] และบางส่วนทางตะวันตกของจังหวัดเอียนบ๋าย ฝูเถาะ และหว่าบิ่ญ 

แผนที่ 1 : เวียดนามเหนือรายจังหวัด[6]

ในช่วงปี 2018 และปีนี้ ถิ่นที่ผมเดินทางไปสำรวจและเก็บข้อมูลเพิ่มเติม คือถิ่นคนไทในภาคตะวันตกของจังหวัดแท็ญหวา (Thanh Hoá) และจังหวัดเหงะอาน (Nghệ An)[7] ใต้ลงไปกว่านี้ไม่มีคนไทอยู่อาศัยเป็นชุมชนแต่เดิมอีกแล้ว ทั้งสองจังหวัดนี้มีคนไทอยู่อาศัยอยู่รวมทั้งสิ้นเกือบ 6 แสนคน[8] ถิ่นนี้ไม่ได้ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิบสองจุไท ถิ่นนี้เป็นถิ่นที่แทบไม่ได้ถูกรับรู้โดยชาวไทยสยามมากนัก คนไทยรู้จักซัมเหนือ ซัมใต้ ซึ่งเป็นถิ่นของลาวพวนและบางส่วนของคนไทถิ่นจังหวัดแท็งหวาของเวียดนาม แต่น้อยคนนักที่จะสนใจหรือรู้ว่ามีคนไทอยู่ในจังหวัดทั้งสอง ซึ่งอยู่ใต้ลงมาจากถิ่นสิบสองจุไทในเวียดนามด้วยเช่นกัน เดิมทีนักวิชาการตะวันตกมักเรียกคนไทส่วนหนึ่งในถิ่นนี้ว่า ‘ไทแดง’ นักวิชาการไทยและเวียดนามบางส่วนก็รับสมมติฐานนี้บ้างเช่นกัน[9] หากแต่เมื่อดูรายละเอียดดังที่ผมจะยกข้อมูลจากเรื่องภาษา อักษร อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ และประวัติความสัมพันธ์ทางการเมืองแล้ว ก็ยากที่จะเรียกคนไทเหล่านี้ด้วยชื่อรวมๆ ได้โดยง่าย 

เมื่อดูให้ละเอียดลงไปด้านภาษาและการแบ่งกลุ่มย่อยทางชาติพันธุ์ ในจังหวัดแท็ญหวาสามารถแบ่งคนไทออกได้เป็น 2 กลุ่มตามถิ่นที่อยู่ คนไทที่อยู่ทางเหนือของจังหวัดนี้ ซึ่งตั้งบ้านเมืองตามลำน้ำมา (Sông Mã ในภาษาเวียด แม่น้ำนี้มีขนาดใหญ่ ไหลมาจากประเทศลาว ผ่านเมืองน้ำมาของสิบสองจุไท) คนไทถิ่นนี้มักเรียกตนเองในยามที่จะแบ่งแยกตนออกจากคนไทถิ่นอื่นว่า ไทเมือย (Tay Mươi) หรือถูกเรียกว่า ไทแท็ญ (Tay Thanh) (เอกสารทางการมักระบุว่าเป็นไทดำ) หรือหากพวกเขาจะระบุให้ละเอียดลงไปอีก พวกเขาจะระบุตามเมืองย่อยลงไป เช่น เมืองกายา เมืองแดง เมืองคอง คนไทอีกกลุ่มซึ่งมีประชากรที่อยู่ในจังหวัดแท็ญหวาน้อยกว่ากลุ่มแรก คือกลุ่ม ไทเอยาะ (Tay Dọ) (เอกสารทางการมักระบุว่าเป็นไทขาว) ซึ่งจะอยู่ทางใต้ลงมา ในอำเภอเถื่องซวน ญือซวน และเจี่ยวเซอน

ส่วนในจังหวัดเหงะอาน ถิ่นของคนไทแบ่งออกได้เป็นอีก 2 กลุ่มใหญ่ ตามลำน้ำ 2 สาย ตอนบนของจังหวัดเหงะอาน (ซึ่งติดกับแท็ญหวา) ตามลำน้ำเหียว (Sông Hiếu) ในอำเภอกุ่ยเหิบ กุ่ยเจิว และเกว๋ฟอง เรียกตนเองว่า ไทเหมื่อง (แปลว่า คนในเมือง) (Tay Mường) ซึ่งหมายถึงคนที่ตั้งบ้านเมืองมีอำนาจอยู่ก่อน (เอกสารทางการมักระบุว่าเป็นไทขาว) ส่วนในตอนใต้ของเหงะอาน ตามลำน้ำปาว (Sông Lam ในภาษาเวียด) ในอำเภอเตืองเยืองและอำเภอกอนกวง เป็นชาวไทเมืองที่อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานที่หลัง หรือบางกลุ่มก็เป็นไทแท็ญอพยพมาจากแท็ญหวาตอนบนหรือจากลาว คนไทในเหงะอานกลุ่มนี้จึงเรียกตนเองว่า ไทแท็ญ (Tay Thanh) (เอกสารทางการมักระบุว่าเป็นไทดำ)[10]

แผนที่ 2 : ถิ่นคนไทในแท็ญหวาและเหงะอาน

กล่าวในแง่ของภาษาถิ่นของภาษาพูดแล้ว สำหรับผมเองซึ่งไม่ได้รู้ภาษาพูดของทั้งสามถิ่นนี้เลย แต่จากการเปรียบเทียบกับเสียงในภาษาไทดำของถิ่นสิบสองจุไทที่ผมเรียนมา และเทียบกับภาษาไทขาวในอำเภอมายเจิวจังหวัดหว่าบิ่ญที่ผมคุ้นเคยอยู่บ้างแล้ว ถิ่นไทแท็ญตอนบนในจังหวังแท็ญหวามีความสัมพันธ์หรือคล้ายคลึงกันกับถิ่นภาษาไทในจังหวัดหว่าบิ่ญซึ่งอยู่ทางเหนือของแท็ญหวาขึ้นไป มากกว่ากับถิ่นไทเหมื่องตอนใต้แท็ญหวาและตอนเหนือของเหงะอาน ในขณะที่ตอนใต้ของแท็ญหวาและตอนเหนือของเหงะอาน ก็กลับจะแตกต่างจากตอนใต้ของเหงะอานไปอีก 

ความแตกต่างของภาษาพูดมีส่วนทำให้อักษรของทั้งสามถิ่นแตกต่างกัน จากที่ผมเคยศึกษาเปรียบเทียบอักษรในภาษาถิ่นไทดำและไทขาวในสิบสองจุไท รวมทั้งของถิ่นไทขาวในเมืองมุน จังหวัดหว่าบิ่ญ พบว่า สำเนียงพูดที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่ใช่เพียงเสียงวรรณยุกต์หรือถ้อยคำที่ใช้ หากแต่ยังเป็นเสียงสระ เสียงพยัญชนะต้น และเสียงพยัญชนะสะกด องค์ประกอบทางภาษาทั้งหมดนั้นมีส่วนทำให้ระบบการเขียนของทั้งสามถิ่นไม่สามารถใช้อักษรชุดเดียวกันร่วมกันได้ เช่น เสียงสระกะอือ ในถิ่นไทขาวเมืองไลและไทดำเมืองลา (เขียนเทียบได้กับสระ ‘ใ’ ในภาษาไทยสยาม) ออกเสียงเป็นสระเออในภาษาไทขาวถิ่นเมืองมุน นอกจากนั้นยังมีเสียงพยัญชนะต้นที่ไทดำและไทขาวสิบสองจุไทมีไม่เหมือนกัน เช่น ไทดำใช้ ส กับ ข ในคำหลายคำที่ไทขาวใช้ ส ข ฃ ฉ หรือไทดำถิ่นสิบสองจุไทไม่มีเสียง พ ขณะที่ไทขาวสิบสองจุไทมีเสียง พ และจึงมีอักษรสำหรับเขียนเสียงนี้ ส่วนไทขาวสิบสองจุไทไม่มีเสียงสระเอียและเอือ จึงไม่มีรูปอักษรทั้งสอง 

สำหรับไทถิ่นทั้งสามในจังหวัดแท็ญหวาและเหงะอานนั้น ต่อไปนี้จะขอเรียกว่า สานไต (แท็ญหวา) ลายไต (เก้าห้อง) ลายปาว (น้ำปาวเหงะอาน)[11]

ภาพ 1 : สานไต (แท็ญหวา) จากอำเภอบ๋าเทื๊อก พบเมื่อปี 2023 โดยผมและ ดร.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ

ภาพ 2 : ลายไต (เก้าห้อง) จากอำเภอกุ่ยเจิว เหงะอาน พบเมื่อปี 2023 โดยผมและ ดร.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ

ภาพ 3 ลายปาว (น้ำปาว เหงะอาน) เอกสารนี้พบตั้งแต่ ค.ศ. 1912

หากดูเผิน ๆ ผู้อ่านก็คงจะเข้าใจว่าตัวอย่างที่สองวางภาพผิด แต่ที่จริงแล้ว อักษรลายไต (เก้าห้อง) ในภาพ 2 เป็นอักษรที่เขียนจากบนลงล่าง จากซ้ายไปขวา แบบเดียวกับอักษรจีนโบราณ และหากดูเผิน ๆ หลายคนอาจสงสัยและผมก็ถูกถามเช่นนี้อยู่บ่อยครั้งว่า ความแตกต่างกันนี้เป็นเพียงแค่ลายมือหรือเปล่า แต่ความจริงไม่ง่ายเช่นนั้น 

ผมก็จะขอยืนยันอีกว่า ไม่ใช่แค่ความแตกต่างของลายมืออย่างแน่นอน อักษรเหล่านี้ได้รับการศึกษามาแล้วอย่างดี แม้แต่ลายมือเอง หากนำตัวอย่างเอกสารที่ผมรวมรวมมาได้นับร้อยเล่มมาเทียบเคียงกัน ก็จะเห็นอย่างชัดเจนว่า แม้แต่ลายมือที่ใช้ในการเขียนอักษร 3 ชุดนี้ก็ยังมีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง อักษรสานไตแท็ญจะมีความกลมกลืน มีน้ำหนักในลายเส้น และสะบัดหางทอดยาวได้ คล้ายอักษรไทดำและไทขาวในสิบสองจุไทมาก ส่วนอักษรลายไตจะมีความเหลี่ยม มีลายเส้นสม่ำเสมอ หางไม่ยาว ส่วนลายปาว จะแหลมเรียวและมีน้ำหนักลายเส้น หากแต่ไม่สะบัดหางยาวเท่าสานไตแท็ญ 

หากนำตารางเทียบอักษรที่ผมเคยพิมพ์ในวารสารวิชาการว่าด้วยภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อสิบปีก่อน[12] ก็จะพบว่าอักษรบางตัว เช่น สระ ‘ใ’ ที่เขียนเหมือนไม้ม้วนไทยและเหมือนสระ ‘อะ’ ‘อือ’ ในภาษาไทดำสิบสองจุไท แต่สำหรับถิ่นแญหวาจะออกเสียงเป็น ‘เออ’ ส่วนสระที่เขียนด้วย ‘เ’ แล้วมีขีดด้านบนคล้ายสระอิ เช่นคำว่า เมิง จะใช้แทนเสียง ‘เอือ’ คำที่เขียนว่า ‘เมิง’ จึงอ่านว่า ‘เมือง’ นอกจากนั้นยังมีอักษรหลายตัวที่เขียนต่างจากอักษรไทยสยามและไทดำสิบสองจุไท เช่นอักษร ‘ก’ สูง ซึ่งเทียบเท่ากับอักษร ‘ค’ ในภาษาไทยสยาม จะเขียนด้วยรูปอักษรคล้าย ‘ก’ แล้วมีขีดข้างใต้ ดังอักษรตัวแรกบรรทัดที่ 4 ในภาพ 1 

ส่วนอักษรลายไต (เก้าห้อง) นั้น จะเห็นได้ว่ามีอักษรที่คล้ายกับอักษรไทยสยามหลาย เช่น ตัว ‘ม’ จะมีรูปคล้ายตัว ‘พ’ แต่หากกลับไปเทียบกับอักษรสุโขทัยก็จะคล้ายตัว ‘ม’ ของสุโขทัยมาก ส่วนตัว ‘ข’ ก็คล้าย ‘ข’ อักษรสุโขทัย หรือตัว ‘น’ ก็จะคล้าย ‘ม’ อักษรลาวมาก หากแต่ตัวอักษรอื่นๆ หลายตัว แทบจะเทียบกันได้ยากมาก 

นอกจากรูปอักษรที่มีความเฉพาะตัวสูงมากแล้ว ลายไตยังมีความพิเศษที่วิธีเขียนและการวางสระ สระหากไม่ถูกวางไว้ด้านข้างขวาของพยัญชนะก็จะวางไว้ด้านล่างพยัญชนะ เช่น สระอิ ก็จะเขียนต่อลงมาด้านล่างพยัญชนะ เช่น คำว่า มี จะเขียน ‘ม’ ไว้ด้านบน แล้วต่อด้วยสระอิด้านล่างตัว ‘ม’ หรือสระเอา ก็จะเป็นขีดเดียวคล้ายสระอุอักษรไทยสยาม แต่เขียนไว้ข้างๆ ด้านล่างพยัญชนะต้น หรือสระเอียก็คล้ายเครื่องหมาย + ของอักษรไทดำสิบสองจุไท แต่ลายไต (เก้าห้อง) วางไว้ข้างขวาด้านล่างพยัญชนะต้น 

ส่วนลายปาวนั้น แม้ว่าจะเขียนตามแนวนอนจากขวาไปซ้ายเช่นเดียวกับสานไต (แท็ญหวา) แต่รูปอักษรก็แตกต่างออกไปอีก หากแต่ก็มีเค้าของอักษรที่ดูว่าจะมีรากร่วมกันได้บ้าง เช่น อักษร ‘ข’ ที่เขียนเหมือน อักษร ‘v’ ที่มีช่องด้านล่างแบบอักษรตัวที่ 4 บนบรรทัดที่ 4 ของภาพ 3 หรือสระออ ก็ใช้รูป ‘o’ คล้ายตัว ‘อ’ ในอักษรไทหลาย ๆ ชนิด สิ่งที่เฉพาะตัวอย่างหนึ่งของลายปาวคือการเขียนคล้ายกับอักษรลายไต (เก้าห้อง) ด้วยการนำสระมาต่อจากพยัญชนะ เพียงแต่ว่าเป็นการต่อในเส้นบรรทัดแนวนอน แต่ลายไตต่อตามแนวตั้ง 

เช่นหากจะเขียนคำว่า ‘แม่’ ลายปาวจะเขียนว่า ‘มแ’ เขียนคำว่า ‘เมีย’ ก็จะเอาสระเอีย ซึ่งก็ใช้รูปแบบ + วางต่อจาก ‘ม’ เป็น ‘ม+’ หากมีพยัญชนะสะกดก็เขียนตามสระมา อย่างไรก็ตาม มีสระบางตัวที่วางไว้เหนือตัวพยัญชนะ เช่น สระเอือ จะเขียนเป็นขีดเหมือนไม้หันอากาศไทยสยามไว้เหนือพยัญชนะ เช่นคำว่า ‘เรือ’ ก็จะใช้อักษร ‘ฮ’ ของลายปาว ใส่ขีดคล้ายไม้หันอากาศเหนือ ‘ฮ’ นั้น คล้ายกับเขียนว่า ‘ฮั’ 

ดังนั้น นอกจากลายมือแล้ว ความแตกต่างกันในด้านรูปของตัวอักษร การเลือกใช้ตัวอักษร และวิธีการลำดับอักษร ดังที่อธิบายไปข้างต้นนั้น จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบอย่างยิ่ง ทั้งตามระบบเสียง ระบบการเขียนที่สืบทอดกันมาและใช้กันอย่างสม่ำเสมอในถิ่นหนึ่ง ในแง่ของรูปอักษร แม้ว่าอักษรลายปาวจะดูมีการเรียงลำดับการสะกดราวกับอักษรโรมัน จนทำให้คิดว่าอาจจะเป็นอักษรใหม่ที่คิดขึ้นเมื่อคนไทได้พบกับชาวตะวันตก หากแต่เมื่อเทียบกับอักษรลายไตถิ่นเก้าห้อง ก็กล่าวได้ว่ามีการเรียงพยัญชนะและสระที่คล้ายคลึงกันมาก เพียงแต่เรียงตามลำดับคนละแนวเท่านั้น หากศึกษาโดยละเอียดลงไปอีกเราอาจจะพบว่า อักษรลายปาวและอักษรลายไตมีระบบและรูปอักษรที่คล้ายคลึงกันอย่างยิ่งก็เป็นได้ 

ความแตกต่างกันเหล่านี้อาจอธิบายได้จากความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นตามตำนานการย้ายถิ่นฐานของผู้คน เช่น ตำนานว่าด้วยพี่น้องสามคนที่อพยพลงมาจากจังหวัดหล่าวกาย จังหวัดติดชายแดนเวียดนามกับจีนริมฝั่งแม่น้ำแดง ในพี่น้องสามคนนี้ คนหนึ่งตั้งบ้านเมืองที่เมืองหมอก-เมืองสาง (อำเภอหมกเจิว) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดเซอนลา อีกคนตั้งบ้านเรือนที่เมืองมุน (อำเภอมายเจิว จังหวัดหว่าบิ่ญ) อีกคนอยู่ที่เมืองคอง (อำเภอกวานหวา จังหวัดแท็ญหวา) สามเมืองนี้เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน ปัจจุบันแยกจากกันด้วยการแบ่งเขตการปกครองเป็นจังหวัด นี่จึงเป็นสำนึกร่วมของคนในถิ่นนี่ที่ นอกจากพูดสำเนียงคล้ายกันแล้ว ยังไปมาหาสู่สัมพันธ์ใกล้ชิดกันทางการเมือง จนทำให้เลือกพัฒนอักษรชุดเดียวกันขึ้นใช้ติดต่อกัน 

ส่วนในถิ่นไทเอยาะ-ไทเหมื่องนั้น มีตำนาน ‘เก้าเมือง’ ที่เล่าขานและนำไปสู่การสร้างศาลบูชาผีเมืองทั้ง 9 ทั้งในอำเภอญือซวน ตอนใต้ของจังหวัดแท็ญหวา และในอำเภอเกว๋ฟองตอนเหนือของจังหวัดเหงะอาน ทั้งคู่ต่างก็เรียกศาลของตนว่า ‘ศาลเก้าห้อง’ (Đền Chín Gian ในภาษาเวียด) ทั้งสองถิ่นมีตำนานเรื่อง ‘นางสีดา’ ซึ่งนับเป็นธิดาของแถนที่มาจุติเป็นเทพีคุ้มครองเมืองทั้งเก้า 

ศาลเก้าห้องที่อำเภอญือซวนแท็งหวา
ศาลเก้าห้องที่อำเภอเกว๋ฟองเหงะอาน

จากที่เล่ามายืดยาวนั้น ทำให้ขอผมสรุปย้ำในสิ่งที่เคยได้สรุปมาแล้ว หากแต่ด้วยข้อมูลที่มากขึ้นว่า จากหลักฐานของอักษร-วรรณคดี-การเมืองของสิบสองจุไทและไทในจังหวัดแท็ญหวาและเหงะอาน จึงกล่าวได้ว่า คนไทในดินแดนนี้เคยสร้างสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ชุมชนจินตกรรมยุคแรกเริ่ม (proto-imagined communities) ขึ้นในหุบเขา อันเนื่องมาจากการสร้างเครือข่ายการเมืองและการค้าทางไกลระหว่างกัน ผ่านการใช้อักษรและภาษาพูดถิ่นเดียวกัน พวกเขาแต่ละถิ่นยังได้พัฒนาตัวตนและสำนึกอักตลักษณ์ร่วมของผู้คนในแต่ละถิ่น ผ่านวรรณคดีที่พวกเขาเล่าขานผ่านคำบอกเล่า เพลงขับ และการจดจารด้วยอักษร จนกลายเป็นหนังสือจำนวนมากในแต่ละถิ่น

นอกเหนือจากข้อเสนอเรื่องชุมชนจินตกรรมแรกเริ่ม ผมยังอยากชวนให้คิดกันด้วยว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าคนไทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะคิดริเริ่มดัดแปลงอักษรปัลลวะจากเอเชียใต้ ที่แพร่เข้ามาแล้วพัฒนาเป็นอักษรขอม อักษรจามปา อักษรมอญ เพื่อใช้เขียนภาษาพูดของตนเอง จนในที่สุดคนพูดภาษาไทแต่ละกลุ่มก็สร้างอัตลักษณ์อักษรขึ้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับการออกเสียงตามถิ่นของตนเอง และได้สร้างถิ่นของอักษร-วรรณคดี-การเมือง ผ่านความสัมพันธ์ที่แนบแน่นทางการเมือง การค้า และสังคมของแต่ละกลุ่มต่อไป จนทำให้อักษรไทในเวียดนามมีความหลากหลายมาก แม้ว่าปัจจุบันประชากรพวกเขาจะมีรวมกันแล้วทั้งสิบสองจุไทและจังหวัดแท็ญหวา-เหงะอานก็ประมาณ 1.5 ล้านคน แต่พวกเขากลับมีชุดอักษรใช้อย่างน้อยๆ ก็ 5 ชุดด้วยกัน


[1] https://www.omniglot.com/writing/thai.htm#alphabet

[2] https://www.omniglot.com/writing/lao.htm

[3] https://www.finearts.go.th/hariphunchaimuseum/view/23545-จารึกอักษรฝักขาม

[4] หาอ่านเพิ่มเติมจาก Yukti Mukdawijitra (2007). Ethnicity and multilingualism: The case of ethnic Tai in the Vietnamese state. PhD Disteration, University of Wisconsin-Madison.

[5] ข้อมูลปี 2019 https://www.bandantoc.kontum.gov.vn/dantoc/NewsDetail.aspx?id=5

[6] http://bgpride.org/ban-do-hanh-chinh-63-tinh-thanh-viet-nam/

[7] ผมไปจังหวัดเหงะอานและแท็ญหวา 3 ช่วงด้วยกัน (1) ช่วงแรก ไป 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 1998 และปี 2003 ด้วยการสนับสนุนจาก รศ.สุมิตร ปิติพัฒน์ อดีตอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2) ช่วงต่อมา ไปเหงะอาน 2 ครั้งในปี 2018 ด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งไปทำวิจัยสำรวจแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในถิ่นคนไทยจังหวัดเหงะอาน ขอขอบคุณ ผศ.ดร.โสรัจจ์ ประวีณวงศ์วุฒิ, อาจารย์ ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี และอาจารย์ สุริยันต์ สุรเกรียงไกร ที่ได้ให้โอกาสและสนับสนุนการเดินทางใน 2 ครั้งนั้น (3) ช่วงล่าสุด ได้เดินทางไปจังหวัดแท็ญหวาและเหงะอานอีก 2 ครั้งในปี 2023 ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ที่ให้ผมเดินทางไปสำรวจเอกสารไทโบราณร่วมกับ รศ.ดร.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอขอบคุณอาจารย์อัจฉริยาที่ชวนไปร่วมทำวิจัยและร่วมเดินทางไปเก็บข้อมูลด้วยกัน

[8] ข้อมูลปี 2019 https://www.bandantoc.kontum.gov.vn/dantoc/NewsDetail.aspx?id=5  

[9] ดู Robert, R. (1941). Notes sur Les Tay Dèng de Lang Chánh (Thanh-hoá – Annam). Institut indochinois pour l’étude de l’homme.Gedney, W. J. (1989). A Comparative Sketch of White, Black and Red Tai. In R. J. Bickner, J. Hartmann, T. J. Hudak, & P. Peyasantiwong (Eds.), Selected Papers on Comparative Tai Studies (pp. 415-461). Michigan: Center for Southeast Asian Studies, Michgan University. สุมิตร ปิติพัฒน์. (2545). ไทแดง: การปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์กลุ่ม. วารสารธรรมศาสตร์26(3), 42-53. Vi, V. A. (2017). Người Thai ở Miềnn Tây Nghệ An.

[10] https://m.khxhnvnghean.gov.vn/?chitiet=1823&mot-so-dan-toc-tieu-bieu-o-nghe-an.html , https://bdt.nghean.gov.vn/cac-dan-toc-thieu-so-tinh-nghe-an/dan-toc-thai-431700 , https://vhnt.org.vn/ve-ten-goi-cac-nhom-thai-o-thanh-hoa-va-tay-bac/ 

[11] ผมใช้แหล่งข้อมูลจำนวนมากในการเทียบเคียงอักษรเหล่รนี้ ทั้งจากเอกสารโบราณ ตำราที่รวบรวมขึ้นใหม่ และข้อมูลจากผู้รู้อักษรเหล่านี้ในแหล่งต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

[12] Yukti Mukdawijitra. (2011). Language ideologies of ethnic orthography in a multilingual state: the case of ethnic Thái orthographies in Vietnam. Journal of Southeast Asian Language Society, 4(2), 93-119.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save