fbpx

The Doraemon Exhibition: จากการ์ตูนถึงการสร้างชาติของคนญี่ปุ่น

“มีสิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมเกี่ยวกับโนบิตะมาก

แม้เขาเป็นคนที่ทำอะไรไม่ค่อยถูกที่ถูกทาง

แต่หลายครั้ง เขาก็คิดถึงสิ่งที่เขาทำและคิดว่าเขาอยากเป็นคนที่ดีขึ้น

ฉันคิดว่าในเรื่องนี้ เขาเป็นเด็กที่น่าชื่นชมมาก”

– ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ 

ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมมีเรื่องต้องเดินทางไปทำงานที่สิงคโปร์ ซึ่งก็นับเป็นโชคดีของผม เพราะนอกเหนือจากงานที่ต้องทำ ยังมีงานที่อยากไปดูรออยู่ด้วย นั่นก็คือนิทรรศการ ‘The Doraemon Exhibition Singapore 2022’ จัดแสดงอยู่ที่ National Museum of Singapore นิทรรศการนี้เคยจัดที่ญี่ปุ่นช่วงปี 2017-2020 ในหลายเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นและเคยมาจัดแสดงที่สิงคโปร์มาครั้งหนึ่งในช่วงปี 2020 แต่ด้วยสถานการณ์โควิดและกลับมาเปิดการให้ชมอีกครั้งหลังจากที่เปิดประเทศ

ทำไมถึงเป็นนิทรรศการที่น่าสนใจนัก 

นอกเหนือจากที่ผม (และเชื่อว่าคนใน Gen X ร่วมรุ่น) โตมากับโดราเอม่อน ทั้งอ่านการ์ตูนตั้งแต่สมัยที่เป็นการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์ มาจนถึงเป็นการ์ตูนเล่มถูกลิขสิทธิ์ เลยมาถึงเป็นการ์ตูนอนิเมะ ฉายทุกเก้าโมงเช้าวันเสาร์อาทิตย์ จริงๆ โดราเอม่อนคือเพื่อน คือความบันเทิงในวัยเด็กที่ไม่ได้มีตัวเลือกมากนักในยุค 30-40 ปีก่อน การได้ไปดูโต๊ะทำงานของคนที่สร้างสรรค์โดราเอม่อนได้เห็นลายเส้นจริงๆ ของฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ (Fujiko F. Fujio) นักเขียนผู้ที่ทำให้แมวสีฟ้าไม่มีหูตัวนี้มีชีวิตขึ้นมา เป็นความรู้สึกที่แค่นึกก็ตื่นเต้นแล้ว  

แต่สิ่งที่พิเศษกว่านั้นคือ มีการนำเอาโดราเอม่อนมาตีความใหม่โดยศิลปินร่วมสมัยของญี่ปุ่นหลายสิบคน โดยหยิบประสบการณ์ที่ตัวเองมีต่อโดราเอม่อนมาเล่าใหม่ แล้วแต่รสนิยม สไตล์งานหรือสิ่งที่เขาได้สัมผ้สรับรู้และจำได้เกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้ ซึ่งอันนี้ที่น่าสนใจมากสำหรับผม

การนำเอาการ์ตูนหรือคาร์แรคเตอร์จากการ์ตูนมาตีความในแง่งานศิลปะ หากวัดจากมาตรฐานศิลปะแบบตะวันตกอาจรู้สึกถึงความไม่ลงรอยกันอยู่พอสมควรนะครับ เพราะตะวันตกจะคุ้นเคยกับการแยกระหว่าง Commercial Art กับ Fine Art ออกจากันอย่างชัดเจน การนำสองอย่างนี้มาปนกันไม่ใช้วิถีของมัน นอกจากนี้ก็สะท้อนออกมาจากการเล่าเรื่องเช่นกันที่มักมีการแบ่งตัวละครชัดเจนระหว่างคนดีคนเลว แต่สำหรับญี่ปุ่นดูจะแตกต่างไป เส้นแบ่งระหว่างสองอย่างนี้ไม่ชัดเจน รวมถึงการเล่าเรื่องเองก็ไม่ได้มีการแบ่งคนออกเป็นสองฟากแบบขาวกับดำ ทุกอย่างมีความเป็นมนุษย์มากกว่า ไม่สามารถแบ่งสีขาวสีดำได้ขนาดนั้น ยกตัวอย่างเช่นตัวละครอย่างไจแอนท์หรือซูเนโอะ เราก็นิยามไม่ได้นะครับว่าตกลงเราควรจัดไจแอนท์อยู่ในหมวดเด็กดีหรือเด็กไม่ดี ลักษณะเช่นนี้เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของการ์ตูนญี่ปุ่น หรือจะบอกว่าเป็นวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นเลยก็น่าจะได้

บทบาทของการ์ตูนในสังคมตะวันตกเป็นผลผลิตของอุตสาหกรรมบันเทิงที่รายได้คือเป้าหมาย และหากโชคดีก็อาจสร้างกระแสจนกลายเของวัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัย แต่ไม่ได้มีความหมายในแง่คุณค่าทางศิลปะ นึกภาพว่าเราไม่มีทางเห็นศิลปินดังๆ ในโลกตะวันตกมาร่วมงานกับค่ายมาร์เวล ทำนิทรรศการศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากไอ้แมงมุม Spider Man หรือเอาสิ่งเหล่านี้ไปใส่ในพิพิธภัณฑ์ อย่างมากเราก็อาจเห็นการผลิตซ้ำในรูปแบบใหม่ เช่นว่าทำสวนสนุกหรือมาทำเป็นหนังที่แสดงจากคนจริง แต่ก็ยังเป็นรูปแบบของการตีความบนพื้นฐานของการทำธุรกิจเพื่อความบันเทิง ไม่ใช่ของที่มีคุณค่าทางจิตวิญญาณหรืองานศิลปะ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือผมยังรู้สึกว่านี่คือสินค้ามากกว่าจะมีคุณค่าในมิติอื่น

แต่กับญี่ปุ่นผมคิดว่ามันไปไกลกว่านั้น ไม่ใช่ว่าญี่ปุ่นไม่สนใจเรื่องธุรกิจ พวกเขาก็ทำไม่แตกต่างกัน แต่ตัวละครเหล่านี้สำหรับคนญี่ปุ่นดูเหมือนมันมีคุณค่าทางสังคมมากกว่าเป็นแค่สินค้าที่ทำเงินแต่เพียงอย่างเดียว จะเรียกว่าเป็นความภูมิใจของชาติก็ว่าได้ 

อย่างที่หลายคนน่าจะทราบว่า ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่แพ้สงคราม แถมยังเป็นประเทศเดียวในโลกจนถึงปัจจุบันที่แพ้อย่างราบคาบด้วยการโดนนิวเคลียร์ถล่มถึง 2 ลูก เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงต่อสังคมญี่ปุ่น ทำลายความภาคภูมิใจในชาติไปอย่างสิ้นเชิง การสูญเสียพลเมืองนับล้านรวมถึงสภาพบ้านเมืองที่ต้องก่อร่างสร้างกันใหม่เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส ช่วงเวลานั้นเอง การกำเนิดขึ้นของแอสโตร บอย (Astro Boy) โดยเทตสึกะ โอซามุ มังงะแนวไซไฟเรื่องแรกของญี่ปุ่นได้กลายเป็นทั้งสิ่งปลอบประโลม ทั้งความภาคภูมิใจและรวมไปถึงกลายเป็นเบ้าหลอมของศิลปะวัฒนธรรมของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

แอสโตร บอย หรือที่มีชื่อภาษาไทยว่า ‘เจ้าหนูปรมาณู’ เป็นการ์ตูนที่พูดถึงหุ่นยนต์ที่ต้องการหยุดสงครามระหว่างคนบนดาวโลกกับคนที่มาจากดาวอื่น ดอกเตอร์เทนมะผู้สร้างแอสโตร บอย คิดไปว่า ‘คนอื่น’ นั้นจะมาแย่งทรัพยากรจากดาวโลกไป แอสโตร บอย จึงต้องขัดขวางเพื่อไม่ให้เกิดสงครามขึ้น เอสโตร บอย เริ่มพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1952 เพียง 7 ปีหลังจากญี่ปุ่นโดนนิวเคลียร์ถล่มและกลายเป็นประเทศแพ้สงคราม สิ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นภูมิใจมากก็คือ แอสโตร บอยกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ของญี่ปุ่น คนจำนวนมากโดยเฉพาะตะวันตกรับรู้ญี่ปุ่นผ่านแอสโตร บอย ในปี 1963 มีการขายลิขสิทธิ์ให้กับสถานีโทรทัศน์ NBC สหรัฐอเมริกา ยิ่งทำให้แอสโตร บอยมีแฟนอยู่ทั่วโลก มังงะของญี่ปุ่นก็เริ่มจากตรงนั้น

ส่วนโดราเอมอนตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1969 จะเห็นได้ว่าอิทธิพลของแอสโตร บอยนั้นส่งมาถึงโอราเอม่อน มีการปรับการเล่าเรื่องจากตอนขนาดยาวเป็นตอนสั้นๆ เพื่อให้เข้าถึงเด็กๆ มากขึ้น ความตั้งใจของฟูจิโกะ ผู้เขียนนั้นต้องการให้เด็กเข้าใจได้ ฉะนั้นจึงนำเสนอกิจกวัตรซ้ำๆ ที่คุ้นเคย เช่น อยู่บ้าน ไปโรงเรียน ไปเล่นที่สนามเด็กเล่น (ที่มีท่อคอนกรีตวางอยู่สามท่อซ้อนกัน) เจอปัญหาในชีวิต (แบบเด็กๆ) และจบลงด้วยการหาทางออกด้วยของวิเศษจากโดราเอม่อน ของวิเศษนี่เองที่เปิดโอกาสให้เขาใส่ความแฟนตาซีเข้าไปในเนื้อเรื่อง พร้อมกับสอดแทรกค่านิยมที่ผู้เขียนต้องการปลูกฝังให้กับผู้อ่าน ทั้งเรื่องความพยายาม ความคิดสร้างสรรค์ การมองโลกในแง่บวก ฯลฯ  

ฟูจิโกะพูดไว้เสมอ แม้กระทั่งในนิทรรศการเองเขาก็บอกไว้ว่า หลายครั้งเขาคิดว่าตัวเขาเองนี่แหละคือโนบิตะ เด็กชายผู้อ่อนแอ ขี้แยและขี้เกียจ เขาโดนเพื่อนๆ แกล้งเป็นประจำ เนื่องจากเป็นเด็กตัวเล็กกว่าใครเพื่อนแต่ก็ต้องพึ่งพาคนอื่นเสมอๆ แต่ก็ซ่อนค่านิยมบางอย่างในตัวโนบิตะไว้ที่กลายเป็นแบบอย่างให้เด็กๆ รุ่นนั้นทำตามก็คือ การมีความคิดสร้างสรรค์ ความพยายามอย่ายอมแพ้ การหาทางเอาตัวหาทางสู้ในแบบของตัวเอง ซึ่งนั่นคือเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ในญี่ปุ่นนับล้านคนมากว่า 60 ปีแล้ว โดราเอม่อนได้รับการยกย่องเทียบเท่ากับวรรณกรรมเยาวชนในฝั่งตะวันตก เทียบเท่ากับเจ้าชายน้อย อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี หรือต้นส้มแสนรักของโจเซ่ วาสคอนเซลอสก็ว่าได้ ถือเป็นการ์ตูนสำหรับเด็กที่ดีที่สุดตลอดกาล 

กลับมาที่นิทรรศการ

สิ่งที่ผมชอบมากในนิทรรศกาลครั้งนี้คือการนำเอาการ์ตูน ซึ่งในมุมหนึ่งมันคือ Commercial goods มาตีความโดยศิลปินญี่ปุ่นต่างอายุต่างรุ่น ทุกคนจึงมีมุมมองต่อโดราเอม่อนที่แตกต่างกันไป เราจึงได้เห็นมุมมองของศิลปินตีความออกมาแบบไม่มีใครที่เหมือนกันกันเลย ซึ่งสำหรับผมเป็นการยกระดับคุณค่าของโดราเอม่อนไปอีกขั้น

งานแนวนี้ญี่ปุ่นทำได้ดีกว่าฝรั่งไปมาก แถมยังส่งอิทธิพลไปยังวิธีคิดใหม่ๆ ในแวดวงศิลปะและบันเทิงของคนตะวันตก โดยเฉพาะการเบลอเส้นแบ่งระหว่างศิลปะ งานกราฟฟิกดีไซน์และการทำศิลปะให้เป็นสินค้า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากเช่น การร่วมมือกันระหว่างแบรนด์ LOEWE กับ GIBLI Studio ในการนำเอาตัวละครใน Spirited Away มาพิมพ์ลงบนกระเป๋า หรือการร่วมงานกันระหว่างหลุยส์ วิตตงกับยาโยอิ คุซุมะหรือ ทาเคชิ มุราคามิ ทั้งสามอย่างที่เอ่ยมาได้ทั้งกระแสและยอดขายได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับเวอร์ซาเช่เอาภาพวาดของแวนโกห์มาใช้ในสินค้าของตัว

ในนิทรรศการงาน งานชื้นเด่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น My Summer Vacation with My Little Brother and Doraemon ของทาคาชิ มุราคามิ (Takashi Murakami) งานวาดสีอะคริลิคบนผ้าใบขนาด 3×6 เมตร เขาอธิบายไว้ว่า เขานึกถึงภาพของการเล่นกับพี่ชายในวันต้นฤดูร้อนแรกในช่วงปี 1970 ในวัยนั้นเขารู้สึกว่าโดราเอม่อนเป็นเพื่อนที่พาเขาหนีออกจากความเป็นจริง

Shizuka’s Cave โดย โทโมโกะ โคโนอิเคะ (Tomoko Konoike) ตีความโดราเอมอน ผ่านบทบาทของชิซูกะ และหยิบยืมเอาความคิดของการวาดรูปบนผนังถ้ำของคนยุคโบราณมาตีความ เป็นการตีความที่แปลกและทำให้เราต้องหยุดดู งานของเธอยังวาดบนหนังหลายๆ แผ่นแล้วนำมาต่อกัน ให้ควาวมรู้สึกถึงศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตามผนังถ้ำ แต่สายเส้นเป็นแบบการ์ตูนมังงะ 

DORAMICHAN’s ribbon was taken by GIAN โดย โยชิโมโตะ นารา (Yoshitomo Nara) นาราเลือกตีความโดราเอม่อนผ่านโดเรมีจัง ซึ่งเป็นน้องสาวของโดราเอม่อน จินตนาการว่าหากเธอโดนขโมยริบบิ้นผูกผม (ซึ่งจริงๆ ต้องบอกว่าเป็นริบบิ้นผูกหู) โดยไจแอนท์ เธอจะเป็นอย่างไร นาราตีความออกมาหลากหลายแบบ หลากหลายงานและหลากหลายช่วงเวลา มีทั้งงานเขียน งานสเก็ตช์ที่จัดแสดง รวมไปถึงงานปั้น เป็นงานที่ศิลปินทำออกมาได้น่าสนใจเพราะยังคงรักษาเอกลักษณ์ของงานตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกันก็มีมุมใหม่ๆ ให้เราได้รู้ว่าการ์ตูนเรื่องหนึ่งสามารถส่งผลไปถึงคนจำนวนมากได้ขนาดไหน

ในนิทรรศการมีการแบ่งการตีความของศิลปินออกเป็นส่วนๆ โดยภัณฑารักษ์ น่าจะให้โจทย์แต่ศิลปินไม่เหมือนกัน เช่น งานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนมังงะ งานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการ์ตูนที่เป็นภาคพิเศษ (นำเสนอเนื้อเรื่องใหม่ โดยกำหนดสถานการณ์ให้โดราเอมอน โนบิตะและเพื่อนๆ ต้องเข้าไปช่วยกันแก้ปัญหา มีทั้งในรูปแบบภาพยนตร์และเป็นมังงะ) ภาพที่ผมชอบมากในโจทย์นี้เป็นของโทโมโยชิ ซาคาโมโตะ (Tomoyoshi Sakamoto) โดยตีความจาก Doraemon:Nobita’s Little Space War (การ์ตูนในปี 1985 แต่ถูกนำมาทำเป็นหนังใหญ่ในปี 2021) เป็นรูปของชิซุกะที่โดนไฟฉายขยายส่วน ให้กลายเป็นคนยักษ์ ภาพนี้ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากโดราเอมอนที่เรารู้จัก

รูปนี้เป็นของ Tomoyoshi Sakamoto ตีความจาก Doraemon Nobita’s Little Space War

พลังทางวัฒนธรรมหรือ Soft Power ของญี่ปุ่น ถือว่ามีเอกลักษณ์ะเฉพาะไม่เหมือนใครและยากมากที่ใครจะเลียนแบบ เกาหลีใต้อาจกำลังมาแรงในเรื่องหนัง ละคร หรือเพลง แต่หากเป็นเรื่องการสร้างคาแรคเตอร์ การ์ตูน แอนิเมชั่น มังงะและเกม แม้จะมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ทั้งจากจีน ไทย เกาหลีใต้ที่พยายามตีตลาด แต่ยังไม่มีใครสามารถเทียบชั้นได้กับมังงะที่มาจากญี่ปุ่น การต่อยอด เช่น นิทรรศการโดราเอม่อนนั้นสำหรับผมมันแยบยล เป็นส่วนผสมที่ลงตัว เพราะมันทำให้คุณค่าของสิ่งที่ถูกสร้างมาแล้วไม่ได้หายไปไหน ตรงกันข้าม มันเป็นการเปิดกว้างทางความคิด การเปิดโอกาสให้ศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย ยังคงร่วมสมัยอยู่ได้แถมยังเข้าถึงง่ายและเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนสองยุคได้เป็นอย่างดี

ผมพยายามนึกถึงบริบทแบบนี้ในสังคมไทยเราว่า มีคุณค่าอะไรของเราไหมที่จะเปิดทางให้คนในแวดวงศิลปะตีความคุณค่าเก่าๆ ในแบบที่ญี่ปุ่นทำกับโดราเอม่อนได้บ้างไหม มีอะไรที่เราหยิบยกเอามาเล่าใหม่เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นเนื้อหนังที่เราจะไม่โดนด่า ทำให้มันน่าสนใจ มีความเป็นสากลได้ไหม หวยไปตกที่อาหารไทยน่าจะเป็นความหวัง

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น คงต้องพยายามให้คนไทยในประเทศได้กินของที่สะอาดปลอดภัยให้ได้ก่อน หาเจ้าภาพที่ไม่เกี่ยงงานหวงงานกันให้ได้ก่อน ก่อนจะไปถึงเรื่องการขาย soft power ให้คนอื่น 

คิดแล้วก็ยิ้มอ่อนๆ พร้อมน้ำตา

หมายเหตุ

ผู้ใดสนใจนิทรรศการ The Doraemon Exhibition Singapore 2022 เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่นี่ งานมีไปจนถึง 5 กุมภาพันธ์ 2023 นะครับ (ปิดวันจันทร์)     

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save