fbpx
หญิงปากกล้าและเรื่องต้องห้าม The Blind Assassin

หญิงปากกล้าและเรื่องต้องห้าม The Blind Assassin

‘นรา’ เรื่อง

 

นอกเหนือจากนิยายแนวดิสโทเปียนเรื่อง The Handmaid’s Tale และ The Testaments อันเป็นภาคต่อ (เรื่องนี้ได้รางวัล Booker Prize ในปี 2019) แล้ว ผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของมาร์กาเร็ต แอตวูดก็คือ The Blind Assassin ซึ่งได้รางวัล Booker Prize เมื่อปี 2000

The Blind Assassin เป็นนิยายที่ระบุหมวดหมู่แน่ชัดค่อนข้างยากอยู่สักหน่อย มันเป็นได้ทั้งนิยายประวัติศาสตร์, เรื่องลึกลับที่มีกลิ่นอายนิยายนักสืบอยู่จางๆ, นิยายวิทยาศาสตร์, นิยายสิบสตางค์ราคาถูกแบบที่เรียกกันว่า pulp fiction, นิยายรักต้องห้าม, นิยายชีวิตของผู้หญิงที่โดนกดขี่เอารัดเอาเปรียบ และอีกสารพัดสารพัน

ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องด้วย ‘วิธีการเล่าเรื่อง’ ซึ่งเป็นจุดเด่นอันดับต้นๆ ของงานเขียนชิ้นนี้

พูดโดยรวบรัด มันเป็นนิยายซ้อนนิยาย เป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าหลายลำดับชั้น และนำเสนอผ่านมุมมองการเล่าหลายๆ แบบ มีตั้งแต่การเล่าผ่านตัวละครบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งเป็นนางเอกของเรื่อง (ตรงส่วนนี้ยังมีการเล่าสลับไปมาระหว่างปัจจุบันกับอดีต), ข่าวและบทความจากหน้าหนังสือพิมพ์ และที่สำคัญคือ เนื้อความจากนิยายเรื่อง The Blind Assassin (ชื่อเดียวกับหนังสือเล่มนี้) ซึ่งเขียนโดยตัวละครสำคัญชื่อ ลอรา เชส (มิหนำซ้ำ ในนิยายเรื่องนี้ก็ยังมีลักษณะเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าอีกต่างหาก)

ฟังแล้วชวนให้รู้สึกสับสนงุนงงอยู่สักหน่อย แต่การตั้งชื่อบทและแบ่งตอน ก็ทำให้ผู้อ่านสามารถจำแนกแยะแยะได้ไม่ยาก ว่าอะไรเป็นอะไร

เพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ ผมจะเรียกขานนิยายของมาร์กาเร็ต แอตวูด โดยใช้ชื่อ The Blind Assassin และจะเรียกนิยายที่เขียนโดยลอรา เชสว่า ‘มือสังหารบอด’

จุดใหญ่ใจความของ The Blind Assassin คือ การนำเอาแต่ละส่วนมาค่อยๆ ประกอบรวมกัน กระทั่งกลายเป็นเรื่องราวชีวิตของหญิงสาวสองพี่น้อง ไอริสกับลอรา

ผมควรต้องออกตัวดังเอี๊ยดไว้ล่วงหน้าด้วยนะครับว่า The Blind Assassin นั้นเล่าเรื่องย่อได้ยาก ไม่ใช่เพราะวิธีการเขียน แต่สืบเนื่องจากพล็อตหลักๆ เกี่ยวโยงกับการเปิดเผย ‘ความลับ’ และการเล่นกับประเด็นเรื่องความจริงความลวง การปกปิดและคำกล่าวเท็จอยู่ค่อนข้างมาก ทั้งหมดนี้สามารถเล่าสู่กันฟังได้ไม่ยาก ถ้าหากจะแนะนำเชิญชวนให้นึกอยากอ่าน แต่จะกลายเป็นเรื่องยากลำบากทันที เมื่อต้องการจะกล่าวถึงแง่มุมสาระสำคัญ (ซึ่งจำเป็นต้องแตะต้อง พาดพิงถึงความลับสำคัญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง)

ผมปวดหัวกับการตัดสินใจเลือกอยู่หลายวัน จนได้ข้อสรุปดังนี้ คือ จะเล่าแบบเก็บรักษาความลับ และพูดถึงการตีความประเด็นเนื้อหาสาระต่างๆ แบบกว้างๆ และหยิบยกตัวอย่างคำอธิบายเท่าที่จะทำได้ในส่วนที่หลีกเลี่ยงการบั่นทอนอรรถรสของท่านที่ยังไม่ได้อ่าน

The Blind Assassin เปิดฉากเริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับความตายของลอรา น้องสาวของผู้เล่าเรื่อง (ในเบื้องต้น ผู้อ่านไม่ทราบกระทั่งว่า ใครเป็นผู้เล่าเรื่อง) เพียงไม่กี่วันหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง จากนั้นก็ตามมาด้วยข่าวมรณกรรมต่างช่วงเวลาของตัวละครรายล้อมอื่นๆ อีกหลายคน รวมทั้งเหตุการณ์บทแรกๆ ในนิยาย ‘มือสังหารบอด’

วิธีเปิดเรื่องของ The Blind Assassin นั้น ทำเอาผมสับสนงุนงงอยู่บ้าง (แต่ก็พอจะรู้และคาดเดาได้ว่า ถัดจากนั้นจะมีการคลี่คลายสร้างความกระจ่าง ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น) ผมคิดว่าวิธีดังกล่าว ทำหน้าที่อยู่ 2 ประการ คือ สร้างปมฉงนเพื่อดึงความสนใจของผู้อ่าน และเล่าถึงความจริงอย่างเป็นทางการแบบผิวเผิน ซึ่งเป็นสิ่งที่สาธารณชนรับรู้ (โดยเฉพาะบรรดาข่าวต่างๆ จากหนังสือพิมพ์)

ในบทตอนลำดับต่อๆ มา ความลับอย่างแรกที่เฉลยก็คือ ตัวละครซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องในลักษณะ ‘คำให้การ’ หรือ ไอริส เชส ในวัยชรา (ปี 1998) ผู้รู้ว่าตนเองหลงเหลือวันเวลาในชีวิตอีกไม่มากนัก จึงตัดสินใจเขียนบอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ทิ้งไว้

เทียบเคียงง่ายๆ บรรดาข่าวจากหนังสือพิมพ์ เป็นเสมือนการเกริ่นล่วงหน้าให้ทราบคร่าวๆ ว่า มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ขณะที่เรื่องเล่าของไอริส เล่าถึงความจริงและรายละเอียดในอีกแง่มุมหนึ่ง (ซึ่งหลายครั้งก็แตกต่างห่างไกล จนกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน)

ขณะที่เรื่องราวใน ‘มือสังหารบอด’ ก็ทำหน้าที่เป็นภาพเปรียบกับเรื่องเล่าจากปากคำของไอริส ในลักษณะเล่าเป็นนัยๆ และเปิดกว้างให้ผู้อ่านทำหน้าที่เทียบเคียงเอาเอง ว่าใครเป็นใคร? อะไรเป็นอะไร?

แกนกลางและเส้นเรื่องหลักอยู่ที่คำบอกเล่าของไอริส จากตรงนี้เธอเริ่มตั้งแต่พื้นเพความเป็นมาของตระกูล ไล่ลำดับตั้งแต่รุ่นปู่ย่ามาจนถึงช่วงชีวิตของพ่อกับแม่ แล้วจึงค่อยโฟกัสไปที่เรื่องของเธอกับลอราผู้เป็นน้องสาว ตั้งแต่วัยเด็กจนเติบใหญ่

กล่าวโดยย่นย่อ ตระกูลเชสนั้นเข้ามาตั้งรกรากที่เมืองพอร์ท ทิคอนเดอโรกา (ประเทศแคนาดา) ทำกิจการโรงงานผลิตกระดุมจนมีฐานะร่ำรวย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 กลายเป็นปัจจัยเกื้อหนุน) แต่แล้วภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1930 ก็ทำให้ทุกอย่างพลิกผัน โรงงานต้องปิดตัวลง ไอริสต้องแต่งงานโดยปราศจากความรักกับนักธุรกิจชื่อริชาร์ด เพื่อกอบกู้ฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัว และมีชีวิตแบบ ‘นกน้อยในกรงทอง’ ไร้ปากไร้เสียง มีสภาพเป็นเหมือนวัตถุชิ้นหนึ่งของสามี จนนำไปสู่บทลงเอยที่เต็มไปด้วยความสูญเสียสารพัดสารพัน (ซึ่งข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ เกริ่นให้ทราบแล้วตั้งแต่ต้น)

ท่ามกลางเส้นเรื่องดังกล่าว The Blind Assassin ขยายความลงลึกในรายละเอียดไปอีก ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้องไอริสกับลอรา ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดตั้งแต่เล็กจนโต พร้อมๆ กันนั้นก็มีความแตกต่างด้านนิสัยใจคอโดยสิ้นเชิง

ไอริสเป็นเด็กหัวอ่อน ทำตัวอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ (และสามี) ตรงข้ามกับลอรา ซึ่งเป็นเด็กช่างคิด ชอบตั้งคำถามกับทุกสิ่ง และเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด จนกระทั่งถูกใครต่อใครมองว่า เป็นคนประหลาด ไม่ปกติ

พอจะกล่าวได้ว่า The Blind Assassin นั้น เล่าถึงเส้นทางชีวิตของผู้หญิงสองคน ที่เกิดและเติบโตในยุคสมัยอันเต็มไปด้วย ‘กรอบ’ ซึ่งกำหนดขึ้นโดยสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ คนหนึ่งโอนอ่อนผ่อนตาม คนหนึ่งต่อต้านการกดขี่ จนกระทั่งนำพาไปสู่โศกนาฏกรรม

โศกนาฏกรรมนี้ ผมหมายถึงมันเกิดขึ้นกับตัวละครทั้งคู่ ลอราพังทลายทางกายภาพ ขณะที่ไอริสอยู่ดีเป็นปกติ แต่บาดเจ็บเสียหายทางจิตใจ

อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘โศกนาฏกรรม’ ที่ปรากฏในนิยาย The Blind Assassin ไม่ได้รันทดสลดโศกอย่างเด่นชัด แต่เป็นไปตามที่ตัวละครไอริสอธิบายไว้ว่า “…เรื่องพวกนี้ดูจะไม่เข้ากันกับโศกนาฏกรรมมากนัก แต่โศกนาฏกรรมในชีวิตจริงก็ไม่ใช่การกรีดร้องโหยหวนยืดยาวในครั้งเดียว โศกนาฏกรรรม คือ การรวมเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่นำมาสู่บทสรุปดังกล่าวต่างหาก ช่วงเวลาที่ไม่ได้สำคัญชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า แล้วทันใดนั้นเองก็เกิดเหตุการณ์ขึ้น การแทงด้วยมีด กระสุนปืนใหญ่ระเบิด รถดิ่งลงจากสะพาน…”

ตัวละครสำคัญอีกรายที่ขับเคลื่อนให้เรื่องราวมุ่งสู่ความเป็นโศกนาฏกรรมก็คือ อเล็กซ์ โทมัส ชายหนุ่มผู้มีประวัติความเป็นมาคลุมเครือ นิยมความคิดทางการเมืองแบบมาร์กซิสม์ และเดินทางมายังเมืองพอร์ท ทิคอนเดอโรกา แล้วได้พบปะรู้จักกับหญิงสาวสองพี่น้อง (เรื่องเล่าบ่งชัดว่า ลอราน่าจะตกหลุมรักอเล็กซ์ตั้งแต่แรกพบ) รวมทั้งเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการก่อเหตุร้ายวุ่นวายในเมือง จนต้องใช้ชีวิตหลบซ่อน (ด้วยความช่วยเหลือของไอริสกับลอรา)

เรื่องราวถัดจากนั้นของอเล็กซ์ ถือเป็นอีกหนึ่งในความลับสำคัญของ The Blind Assassin

ข้างต้นนี้ คือเรื่องราวคร่าวๆ เท่าที่พอจะเล่าได้ของ The Blind Assassin ถัดมาคือ เรื่องย่อของ ‘มือสังหารบอด’ นิยายที่เขียนโดยลอรา เชส ได้รับการตีพิมพ์หลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้ว และยังยืนยงคงทนได้รับความนิยม มีการตีพิมพ์ซ้ำเนืองๆ ในอีกหลายสิบปีต่อมา

จากแรกเริ่มที่ไม่ได้มีใครใส่ใจไยดีมากนัก แต่แล้วเนื้อหาอันล่อแหลม ขัดต่อศีลธรรมอันดี และความอื้อฉาว (จากความตายด้วยสาเหตุอันคลุมเครือของผู้เขียน) ก็ทำให้นิยายเรื่องนี้ค่อยๆ กลายเป็นที่สนใจในวงกว้างเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ไอริสนิยามถึงนิยาย ‘มือสังหารบอด’ ของน้องสาวไว้ว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเพียงไร มันยังยืนยงคงทนประกาศความเป็น ‘หญิงปากกล้าและเรื่องต้องห้าม’ อย่างแข็งขัน

‘มือสังหารบอด’ เป็นนิยายรักต้องห้าม ระหว่างเขากับเธอ ซึ่งไม่มีการระบุชื่อตัวละคร เขาหลบหนีซ่อนตัวด้วยเหตุผลที่ไม่แน่ชัด เธอแอบลักลอบ (จากสิ่งใดหรือใคร นิยายไม่ได้บอกกล่าว) มาพบปะกัน มีสัมพันธ์สวาทกัน และแทบทุกครั้ง เธอจะฟังนิยายที่เขาแต่งขึ้น เป็นนิยายวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์บนดาวไซครอน และอาณาจักรซาเคียล-นอร์น ซึ่งมีการนำตัวหญิงสาวไปบูชายัญต่อเทพเจ้า และมีการกดขี่ใช้แรงงานเด็กผู้ชายให้ถักทอพรมลวดลายวิจิตร จนกระทั่งตาบอด จากนั้นก็ถูกนำไปขายบริการทางเพศ บางคนที่สามารถหลบหนีไปได้ แปรเปลี่ยนเส้นทางชีวิตกลายเป็นมือสังหารบอด

เรื่องราวใน ‘มือสังหารบอด’ นั้น แสดงตัวแน่ชัดว่า เป็นเรื่องเล่าอีกฉบับของเหตุการณ์ใน The Blind Assassin ถ้าจะสรุปโดยย่อก็คือ เป็นการแสดงออกและการกระทำอีกด้าน เป็นเรื่องของผู้หญิงที่กล้าลุกขึ้นมาทำตัวนอกกรอบศีลธรรม กล้ารักกล้าแค้น รวมทั้งสะท้อนถึงการกดขี่ต่อเด็กและสตรีผ่านเรื่องเล่าของเขา (ซึ่งบางครั้งเธอก็โต้แย้ง และแต่งเรื่องของเธอขึ้นมาคัดค้าน)

การเล่าตัดสลับไปมาระหว่าง เนื้อเรื่องหลักของ The Blind Assassin และ ‘มือสังหารบอด’ เป็นการรับ-ส่งที่มีความหมายสำคัญ ด้านหนึ่งมันทำให้ผู้อ่าน (รวมทั้งไอริส) ค่อยๆ เข้าใจความคิดอ่านและพฤติกรรมประหลาดของลอรา (ซึ่งโดนสังคมตีตราประทับว่า ‘มีสภาพจิตใจไม่ปกติ’) พร้อมๆ กันนั้น ‘มือสังหารบอด’ ก็ทำหน้าที่บอกเล่าโดยอ้อม ถึงสิ่งที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดของไอริสผู้เป็นพี่สาว จนกระทั่งเกิดการตกผลึกแปรเปลี่ยนจากหญิงสาวหัวอ่อนยอมจำนน กลายเป็นคนที่สามารถใช้ชีวิตแบบ ‘เป็นตัวของตัวเอง’ โดยแท้จริง

ในแง่ของความบันเทิง The Blind Assassin ไม่ได้สนุกชวนติดตามเหมือนกับนิยายจำพวกเบสต์เซลเลอร์หรอกนะครับ มันเล่าเรื่องอย่างอ้อมค้อม แม้จะไม่ถึงกับคลุมเครือ แต่คำเฉลยหรือคำอธิบายหลายๆ อย่างก็บอกกล่าวอย่างสั้นกระชับ ไม่ได้เร้าอารมณ์แบบบีบคั้น แต่เข้มข้นสะเทือนใจอยู่ลึกๆ

สิ่งที่ชวนอ่านและเป็นความรื่นรมย์ของ The Blind Assassin หลักๆ แล้วอยู่ที่วิธีการวางโครงสร้างการเล่าเรื่องเอาไว้อย่างสลับซับซ้อน, การค่อยๆ เผยความลับชวนตกตะลึงอยู่เป็นระยะๆ รวมทั้งรสชาติทางวรรณศิลป์ในการบรรยายและเปรียบเปรยอันคมคายของมาร์กาเร็ต แอตวูด

พ้นจากนี้แล้วก็คือ การพาผู้อ่านไปสู่ประเด็นทางด้านเนื้อหาสาระ ซึ่งอุดมไปด้วยแง่มุมให้หยิบจับได้เยอะแยะมากมาย เนื้อหาที่เด่นชัดสุดคือ ผู้หญิงที่มีชีวิตตกอยู่ใต้การกดขี่ ถูกกระทำ เอารัดเอาเปรียบ ซึ่งสะท้อนปรากฏอยู่ตลอดทั่วทั้งเรื่อง

ถัดมาคือ เรื่องการเสาะหาตัวตนของตัวละคร ทั้งไอริสและลอราต่างเผชิญปัญหากันคนละแบบ ไอริสนั้นถูกสภาพแวดล้อมกระทำหรือหล่อหลอม จนกระทั่ง ‘ไร้ปากไร้เสียง’ ต้องผ่านการตัดสินใจผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า พบเจอความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่า กว่าจะพบพื้นที่ของตนเอง

ขณะที่ลอรานั้นตรงกันข้าม เธอมีตัวตนแน่ชัดมาตลอด แต่การแสดงออกและพฤติกรรมที่ชัดเจนของเธอ เป็นสิ่งที่สังคมรอบข้างยอมรับไม่ได้ และค่อยๆ โดนกัดกร่อนทำลาย จนกระทั่งตัวตนลบเลือนหายไป (ก่อนจะกลับมากอบกู้ได้อีกครั้ง ผ่านการมีอยู่ปรากฏขึ้นของนิยาย ‘มือสังหารบอด’)

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมชอบมากใน The Blind Assassin คือ เรื่องความจริงความลวง และจินตนาการ มาร์กาเร็ต แอตวูดเขียนเอาไว้ในตอนหนึ่งผ่านคำบอกเล่าของไอริส (หน้า 645) ว่า

“ฉันมองย้อนกลับไปยังสิ่งที่เขียนไปแล้วและตระหนักได้ว่ามันผิด ไม่ได้ผิดเพราะเรื่องที่ฉันเขียน แต่ผิดเพราะเรื่องที่ฉันไม่ได้เขียนต่างหาก สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในนี้มีตัวตนอยู่เหมือนแสงสว่างที่ขาดหายไป

แน่นอน คุณคงต้องการความจริงสินะ คุณต้องการให้ฉันฟันธงลงไป แต่การฟันธงลงไปก็ไม่จำเป็นว่าจะทำให้ได้ความจริงเสมอไป การฟันธงมีค่าเท่ากับเสียงข้างนอกหน้าต่าง การฟันธงมีค่าเท่ากับลม นกที่มีชีวิตไม่ใช่กระดูกที่ติดป้ายคำอธิบายของมัน”

อาจเนื่องจากทัศนะดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าใน The Blind Assassin หรือ ‘มือสังหารบอด’ ความจริงกับความลวงจึงเหลื่อมซ้อนกัน รวมทั้งมีการผสมปนด้วยจินตนาการหรือเรื่องสมมติของผู้เล่าเรื่องปรากฏอยู่เนืองๆ

กระทั่งว่าใน ‘คำให้การ’ ของไอริส ก็ยังมีการโกหกผู้อ่านอย่างเราๆ ท่านๆ ในประเด็นสำคัญ

ผมสนุกกับการอ่านและจับสังเกตแง่มุมทำนองนี้มากนะครับ เสียดายอยู่เหมือนกันที่พรรณนาลงรายละเอียดได้ไม่ถนัดนัก

นอกจากประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมา The Blind Assassin ยังเสนอเนื้อหาอีกหลายแง่มุม อาทิเช่น การสะท้อนสภาพสังคมกว้างๆ (ซึ่งเป็นเหตุผลให้มีการจัดประเภทให้งานเขียนเรื่องนี้เป็นนิยายประวัติศาสตร์) พูดถึง ชีวิตความเป็นอยู่และผลกระทบจากสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง, เหตุการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ, การเรืองอำนาจของพรรคนาซีและคอมมิวนิสต์, สงครามกลางเมืองในสเปน ฯลฯ

รวมทั้งประเด็นอื่นๆ อย่างเช่น โศกนาฏกรรมความรัก อันเกิดจากความแตกต่างทางชนชั้นของตัวละคร, การกดขี่และการต่อต้าน (ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องสิทธิสตรีที่ได้กล่าวไปแล้ว), ความรุนแรงและความตาย ซึ่งปรากฏเยอะในส่วนของ ‘มือสังหารบอด’ รวมทั้งอีกไม่มากครั้งใน The Blind Assassin แต่เต็มไปด้วยความสะเทือนอารมณ์ จนทำให้ได้รับการจัดประเภทว่าเป็นนิยายอาชญากรรมหรือเรื่องลึกลับ

นี่ยังไม่นับรวมการใช้สัญลักษณ์ และรายละเอียดที่เล่าซ้ำแบบตอกย้ำจนเกิดเป็น motif ซึ่งมีอยู่เต็มไปหมด ตั้งแต่การตั้งชื่อบ้านว่าอาลิวิญง, เรือชื่อวอเตอร์ นิกซี, ขนมปัง, โดนัท ฯลฯ

ผมคิดว่าในบรรดาสัญลักษณ์ทั้งหมด สิ่งที่โดดเด่นสุดคือ ชื่อเรื่อง The Blind Assassin (รวมถึงตัวละครนักฆ่าใน ‘มือสังหารบอด’) ส่วนจะมีความหมายเช่นไร เป็นการบ้านที่ผู้อ่านแต่ละท่านขบคิดตีความกันตามอัธยาศัยนะครับ

มีบทพูดตอนหนึ่งที่ผมชอบมาก และคิดว่าอธิบายถึงแรงขับแรงจูงใจในการกระทำของตัวละครได้ดียิ่ง นั่นคือ ตอนที่บริกรชาวฝรั่งเศสพูดกับไอริสว่า

“ความรักคืออาชญากรรม” เขาพูดพร้อมกับตบไหล่ฉัน “แต่ถ้าไม่มีมันเราแย่ยิ่งกว่า”

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save