fbpx

ไพรมารีโหวตอันขรุขระของรีพับลิกัน: ความพ่ายแพ้ของผู้ชนะ

ฟังข่าวการรณรงค์เลือกตั้งไพรมารีในอเมริการะหว่างผู้สมัครตัวเต็งของพรรครีพับลิกันปีนี้แล้ว อดรู้สึกไม่ได้ว่าการเมืองอเมริกันนับวันยิ่ง ‘น้ำเน่า’ ใกล้กับของประเทศหลังเขาโลกที่สามทั้งหลายเข้าไปทุกวัน

การเลือกตั้งขั้นต้นของรีพับลิกันลงเอยด้วยชัยชนะที่ไม่เกินความคาดหมาย แต่ผลที่ตามมาอาจไม่นำไปสู่หนทางที่สดใสสำหรับพรรคและบรรดาผู้เล่นมีระดับทั้งหลายในการเลือกหนทางเข้าสู่การเป็นประธานาธิบดี เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ได้สร้างแบบแผน พฤติกรรม และสาปให้พรรครีพับลิกันกลายเป็นบุคลิกของทรัมป์และความคิดของเขาไปอย่างแน่นเหนียว มันไม่ใช่อุดมการณ์และความคิดทางการเมืองของคนส่วนมากในประเทศและในพรรคเองด้วย ทำให้โอกาสในการปลูกฝังและบ่มเพาะผู้นำการเมืองรุ่นใหม่ต่อไปเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง เป็นเรื่องพิสดารอย่างมาก ปกติพรรคจะเป็นผู้สร้าง เปลี่ยนแปลงตัวสมาชิกให้เข้ากับอุดมคติและบุคลิกของพรรค ในกรณีนี้ตรงกันข้าม กลับเป็นว่าผู้นำคนเดียวเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในพรรคให้เป็นไปตามความต้องการของเขาคนเดียว ยิ่งกว่าพรรคเผด็จการอำนาจนิยมทั้งหลายที่ผ่านมา

ชัยชนะของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นเรื่องที่ไม่ประหลาดใจแก่คนทั่วไป หากเขาพ่ายแพ้ในไพรมารีแรกที่มลรัฐไอโอวาจึงจะเป็นข่าวใหญ่และนักวิจารณ์ข่าวต้องวิ่งหาเบื้องหลังข่าวกันจ้าละหวั่น คำถามที่นักสังเกตการณ์ตั้งไว้คือเขาจะชนะมากเท่าไร คราวนี้เขาได้ร้อยละ 51 ส่วน รอน เดอซานติส ผู้ว่าการมลรัฐฟลอริดาได้ร้อยละ 31 ในขณะที่ นิกกี เฮลีย์ อดีตทูตสหประชาชาติได้ร้อยละ 19 ถ้านับจากผลการลงคะแนนเสียงวันนั้น ชัยชนะของทรัมป์ที่เหนือกว่าคู่ต่อสู้ถึงร้อยละ 30 ถือว่าเป็นการชนะที่สูงมาก ปกติมักไม่ทิ้งห่างกันเกินสิบ ระยะหลังๆ บางมลร้ฐออกกฎว่าถ้าใครได้คะแนนเกินร้อยละ 50 ก็ให้ได้รับคะแนนตัวแทนของรัฐนั้นไปหมดเลย แต่ไอโอวายังไม่ใช้กฎใหม่นี้

หากพิจารณาจากข้อมูลของรัฐไอโอวา ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว ศาสนาคริสเตียนโปรเตสแตนต์ อุดมการณ์การเมืองค่อนไปทางอนุรักษนิยม ทั้งหมดนี้ไม่ทำให้ไอโอวาเป็นตัวแทนของคนอเมริกันส่วนใหญ่ได้เลย ยิ่งลงไปดูกระบวนการเลือกตั้งก็พบว่าพวกเขาไม่ได้ใช้ระบบไพรมารีเหมือนรัฐอื่นๆ หากแต่ใช้ระบบคอคัส (caucus) เหมือนเป็นกลุ่มพรรคพวกกันนัดมาพบกันแล้วลงมติ สถานที่ก็ไม่ใช่เป็นทางการ หากแต่อาจนัดเจอกันที่โบสถ์ ห้องประชุมหรือบ้านใครก็ได้ที่ใหญ่พอ เวลาที่นัดพบกันก็หัวค่ำหนึ่งทุ่ม ยิ่งปีนี้อากาศหนาวมากกว่าปกติ ทำให้การเดินทางยิ่งยากลำบาก สมาชิกพรรครีพับลิกันที่ออกไปลงคะแนนจึงต้องเป็นคนที่มีศรัทธาและเชื่อมั่นในผู้สมัครที่พวกเขาจะไปลงคะแนนให้ ผลปรากฏว่าคนที่ออกไปคืนนั้นมีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมดแล้ว ชัยชนะของทรัมป์ก็ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นประการใด คะแนนเสียงที่เขาได้ก็มาจากแฟนพันธุ์แท้ที่ติดตามเขามาหลายปีแล้ว ไม่ได้รับคะแนนใหม่เพิ่มเติมเลย นักวิเคราะห์จึงสรุปว่าอย่าเพิ่งดีใจไป ยังไม่มีอะไรแปลกใหม่ที่ทำให้คนตกตะลึง

ถ้าเช่นนั้นการเลือกตั้งขั้นต้นของไอโอวามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ผมคิดว่าการรณรงค์เลือกตั้งขั้นต้นของรีพับลิกันดำเนินไปอย่างพิลึก ประการแรก มีตัวเก็งคือทรัมป์ที่ล่องลอยอยู่เหนือกาละและเทศะ อาศัยบารมีที่เขาสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะสมัยที่ได้เป็นประธานาธิบดีอย่างคาดไม่ถึง เพราะแหวกกฎขนบประเพณีของพรรคการเมืองอเมริกันไปอย่างไม่แยแส และสามารถดึงคะแนนเสียงจากมวลชนอนุรักษนิยมและอเสรีนิยมที่กำลังหมดหวังกับ ‘ความฝันของคนอเมริกัน’ ที่ใช้กล่อมเกลาความคิดจิตใจคนอเมริกันที่ยากไร้และสิ้นไร้ไม้ตอกในแถบอุตสาหกรรมเก่าที่กำลังตกเวทีโลก เพราะสร้างมลภาวะที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เช่น เหมืองแร่ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ทั้งหมดนี้โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศให้การสนับสนุนทันทีที่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี

การที่มีมือพระกาฬยืนคร่อมเวทีการเลือกตั้งอยู่ นำไปสู่การเกิดปรากฏการณ์ประหลาด นั่นคือทรัมป์ไม่ได้เดินทางไปหาเสียงในไอโอว่าด้วยตนเองเลย ไม่ปรากฏตัวในการโต้วาทีระหว่างผู้สมัครซึ่งถือว่าเป็นเวทีสำคัญสำหรับการเสนอนโยบายที่ดีกว่าคู่ต่อสู้  ส่วนผู้สมัครอีกสองคนคือเดอซานติสกับเฮลีย์ แทนที่จะช่วยกันถล่มทรัมป์ให้จมดิน กลับทำในสิ่งตรงกันข้าม กล่าวคือทั้งสองคนไม่กล้าวิจารณ์ทรัมป์อย่างเอาจริงเอาจัง ด้วยการเปิดโปงจุดอ่อนและข้อผิดพลาดของทรัมป์ซึ่งมีให้เห็นในที่สาธารณะอย่างเหลือเฟือ หากแต่ยังพยายามพูดอย่างเกรงอกเกรงใจ ในขณะที่ทั้งสองคนกลับหันเข้าหากันแล้วแลกหมัดกันอย่างดุเดือด ทำให้ทรัมป์ยิ่งลอยตัวว่าจะจัดการกับใครคนไหนก่อนและด้วยท่าทีอย่างไร

คนที่เสียแต้มและอนาคตในการเลือกตั้งนี้อย่างหมดท่าคือ รอน เดอซานติส จากจุดยืนที่ยังอาศัยและเกาะกระแสทรัมป์ในหมู่คนใต้และตะวันตกตอนกลาง (มิดเวสต์) ทำให้เขาไม่กล้าเอ่ยปากวิจารณ์หรือเสนอนโยบายอะไรที่ตรงข้ามกับทรัมป์ กลายเป็นลูกแหง่ในกำมือทรัมป์ ทำให้น้ำเสียงและภาพลักษณ์ของเขาที่เป็นตัวของตัวเองไม่ปรากฏออกมาอย่างเด่นชัด เรื่องที่เขาอาศัยในการหาเสียงเป็นหลักคือนโยบายการศึกษาที่ต่อต้านฝ่ายก้าวหน้าและคนผิวสีที่ทำให้การศึกษาเป็นเรื่อง ‘วิพากษ์ชาติพันธ์ุ’ (critical race theory, CRT) แต่นโยบายดังกล่าวไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไปนัก อีกเรื่องคือต่อต้านสิทธิในการทำแท้ง ก็ไม่มีพลังอะไรต่ออนาคตเศรษฐกิจของคนขาวยากจน รอน เดอซานติสจึงปิดฉากในการเลือกตั้งไพรมารีนัดแรกที่ไอโอวา ด้วยการประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขันต่อไปอย่างสิ้นเชิง เพราะคะแนนที่ได้รับพ่ายแพ้ทรัมป์ถึงกว่าร้อยละ 30 น้อยเกินกว่าจะเกลี้ยกล่อมให้ทุนใหญ่สนับสนุนเงินหาเสียงต่อไป

อีกคนคือนิกกี เฮลีย์ที่เริ่มต้นอย่างไม่หวือหวาและไม่มีจุดขายมากนัก นอกจากเคยเป็นอดีตทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การสหประชาชาติกับเป็นอดีตผู้ว่าการมลรัฐเซาท์แคโรไลนามา 2 สมัย เธอได้รับเงินทุนสนับสนุนน้อยมากจากคณะกรรมาธิการรณรงค์การเมือง (political action committee, PAC) โดยเฉพาะการหาเสียงจาก super PAC ซี่งบริจาคโดยนายทุนใหญ่ที่ไม่มีเพดานการบริจาค กระทั่งหลังการโต้วาทีกับรอน เดอซานติสที่นักวิจารณ์เริ่มให้น้ำหนักแก่เธอมากขึ้น จำนวนเงินบริจาคเริ่มเข้ามาอย่างคาดไม่ถึง จากจำนวน 1.3 ล้านเหรียญในเดือนตุลาคม เพิ่มเป็น 4.4 ล้านเหรียญในเดือนพฤศจิกายน พุ่งถึง 15.2 ล้านเหรียญในเดือนธันวาคม เงินเหล่านั้นเกือบทั้งหมดมุ่งไปสู่การโค่นล้มเดอซานติสซึ่งหมายมั่นอย่างเต็มที่ในการกวาดชัยชนะในไอโอวา นี่เองที่ทำให้นิกกี เฮลีย์ได้รับกองทหารที่เข้มแข็งซึ่งลำพังเธอเองคงไม่มีโอกาสสร้างขึ้นมาได้ 

กลุ่มทุนใหญ่ที่หนุนหลังเฮลีย์ได้แก่ตระกูล Koch ในกิจการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากมาย ยอมควักกระเป๋าลงขันให้นิกกี เฮลีย์หลายร้อยล้านเหรียญ เข้าใจว่าทุนกลุ่มนี้ไม่ถูกชะตากับทุนฝ่ายทรัมป์มากนัก ทำให้เฮลีย์มีน้ำหนักและมีพื้นที่ในหน้าสื่อและหน้าจอทีวีมากขึ้น เธอเริ่มมีคำวิจารณ์ทรัมป์มากขึ้น จนถึงวันเลือกตั้งที่กล้าออกมาท้าทายอำนาจของทรัมป์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่หลังจากความพ่ายแพ้ในไอโอวาและนิวแฮมป์เชียร์ สมาชิกกลุ่มทุนใหญ่นี้เริ่มสงสัยในความสามารถของทีมเฮลีย์ที่จะโค่นทรัมป์ได้และให้คำวิจารณ์เฮลีย์ว่าเป็นเหมือน ‘การยิงดวงจันทร์ด้วยหนังสติ๊ก’ (half-baked moonshot) พวกนั้นเชื่อว่า “ถ้าหากทรัมป์ยังไม่เป็นศพ ไม่มีหนทางไหนเลยที่เฮลีย์จะได้รับการเสนอชื่อ โอกาสเป็นศูนย์ “

หลายคนเริ่มมองโลกในแง่ร้ายว่าโดนัลด์ ทรัมป์คงจะมาแน่ ทั้งการได้รับเสนอชื่อเป็นผู้สมัครแข่งขันประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน และน่าจะได้รับชัยชนะในเดือนพฤศจิกายนนี้ เข้ายึดครองทำเนียบขาวอีก 4 ปี ประชาชนก็เตรียมตัวย้ายออกไปอยู่ต่างประเทศกันได้แล้ว แต่ผมไม่มองอย่างนั้น ไม่ใช่เพราะมองในด้านบวก หากแต่พิจารณาจากผลสะเทือนด้านลึกจากการเลือกตั้งไพรมารีของรีพับลิกัน ซึ่งบัดนี้คงมีคู่แข่งสองคนคือ โดนัลด์ ทรัมป์กับนิกกี เฮลีย์ ซึ่งใครๆ ก็เดาได้ว่าทรัมป์มีคะแนนนำเฮลีย์อย่างไม่ต้องสงสัย ข้อที่ผมคิดคือผลสะเทือนจากการหาเสียงโจมตีกันระหว่างสองผู้สมัครนี้จะเปิดแผลและรอยแผลเก่าของทรัมป์ออกมาให้ลึกและกว้างไกลกว่าที่คณะของทรัมป์ประเมิน 

หมายความว่าคะแนนเสียงที่ทรัมป์จะได้รับนั้นจะไม่มาจากผู้ลงคะแนนเสียงหน้าใหม่แม้ในกลุ่มคนขาวกลางและล่างก็ตาม ส่วนคนผิวสี เชื้อชาติต่างๆ ก็จะไม่เพิ่มขึ้นจากที่เขาเคยได้รับมาก่อน ประเมินจากการลงคะแนนเสียงในมลรัฐไอโอวาและนิวแฮมป์เชียร์ เขาไม่ได้คะแนนเพิ่มจากคนผิวขาวเลย กลับยังเสียคะแนนเพราะพวกอิสระในนิวแฮมป์เชียร์ออกมาลงคะแนนให้นิกกี เฮลีย์เป็นแสนคน (การเลือกตั้งไพรมารีในนิวแฮมป์เชียร์แปลกว่าที่อื่นคือยอมให้คนที่ประกาศเป็นอิสระมาลงทะเบียนเพื่อลงคะแนนเสียงได้ จึงมีหลายคนบอกว่าไม่เป็นเดโมแครตแล้ว ตอนนี้ขอเป็นอิสระ ก็ไปลงคะแนนให้เฮลีย์ได้เพื่อสกัดทรัมป์)

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมวิเคราะห์ว่า ในที่สุดแม้ทรัมป์จะชนะได้รับการเสนอชื่อจากพรรครีพับลิกันในการประชุมใหญ่กลางปีนี้ แต่ชะตาของเขาจะไปไม่ถึงดวงดาว ยังไม่นับว่าอาจถูกสอยจากศาลสหพันธ์และรัฐนิวยอร์กและจอร์เจียในข้อหาหนักหน่วงระดับก่อการจลาจลเพื่อเปลี่ยนผลการเลือกตั้งปี 2020 การข่มขู่พนักงานนับคะแนนเลือกตั้งเพื่อโกงคะแนนเสียง และคดีความมั่นคงของรัฐในการขโมยเอกสารความลับขั้นสูงสุดเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทั้งหมดนี้หากทรัมป์ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาจะทำให้ตำแหน่งเลือกตั้งที่เขาอาจจะได้นั้นมีความชอบธรรมทางกฎหมายต่อไปหรือไม่  ยังไม่มีใครให้คำตอบที่แน่นอนว่าจะเป็นอย่างไร เพราะมันไม่เคยเกิดคดีและการกระทำอย่างทรัมป์มาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ยาวนานของประชาธิปไตยในอเมริกา

คดีการเมืองอย่างนี้ ถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการเลือกตั้งไทยดำเนินการให้ก็จะเรียบร้อยอย่างไม่ต้องเถียงกันให้เหนื่อยสมอง แต่คนอเมริกันชอบคิดและชอบเถียง รัฐและผู้กุมอำนาจรัฐในอเมริกาก็ไม่มีอำนาจอันสัมบูรณ์ในการทำอะไรก็ได้ เรื่องจึงจะไม่ยุติลงอย่างง่ายดายเช่นของไทย เป็นบรรยากาศทางการเมืองที่ ‘น้ำเน่า’ พอกัน แต่ต่างกันอย่างสำคัญที่สถาบันและระบบกฎหมายว่าของใครจะธำรงรักษาและสืบทอดความยุติธรรมของประชาชนได้ดีกว่ากัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save